ผลการทำนาแบบไม่มีน้ำขัง (ดินต้องดี)

อ่าน: 4616

ปีนี้ (๒๕๕๓) เป็นปีที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดตั้งแต่ผมหัดทำนามาปีที่ ๕ แล้ว คือ

ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมา มีฝนตกเหนือนา พอน้ำไหลเข้านาเล็กน้อย ในเดือนมิถุนายน เพียงครั้งเดียว

แต่ก็พอทำให้ข้าวที่ผมหว่านทิ้งไว้ในแปลงที่ ๓ วันพืชมงคล (๕ พฤษภาคม) โดนปลาตะเพียนขึ้นมากินไปบางส่วน

แต่แปลงที่ ๒ ที่มีปลาอื่นๆอยู่ด้วย รวมกับปลาตะเพียน กลับไม่โดนปลากิน ยังงอกงามดี

สำหรับแปลงที่ ๑ ผมยังจัดการหญ้าไม่เสร็จดี ก็เลยหว่านใหม่ไม่ทัน ตอนนี้ก็ใช้เป็นแปลงออกกำลังกาย ตัดหญ้าทุกวันเมื่อมีโอกาส หรืออยากออกกำลังกาย

Rice1y2010mow

แปลงที่ ๑ ปลูกข้าวไม่ทัน

เก็บไว้เป็นแปลงออกกำลังกาย (ตัดหญ้า) ยามว่าง

สรุปว่า

แปลงที่ ๑ ที่ผมทำงานผิดพลาดมาตั้งแต่ปีแรก ที่ไปซื้อแกลบโรงสีมาใส่นั้น เมล็ดหญ้าที่ติดมาก็ยังงอกไม่หมด มีปัญหาต่อเนื่องมา ๕ ปีแล้ว ปีนี้เลยยังหว่านข้าวไม่ได้ เพราะน้ำไม่พอกดหญ้าไม่ให้งอกใหม่

ผมจึงถือโอกาสว่าปีฝนแล้ง ปล่อยให้หญ้างอก ตัดทุกสัปดาห์ไม่ให้ออกดอก กะว่ามีฝนมาจะจัดการให้หมดในปีนี้ ปีหน้าน่าจะจบ แต่ก็ต้องคอยดูอีกที

แปลงที่ ๒ มีหญ้าประปราย ไม่มีปัญหากับการแข่งกับข้าว ตอนนี้ข้าวสูงประมาณเมตรกว่า แค่เดินถอนก็หมด แต่ผมปล่อยไว้บ้าง เพื่อเป็นอาหารหนู เพราะผมสงสัยว่าถ้าไม่มีหญ้าในนา หนูนาอาจจะกัดข้าวผมแทนก็ได้ จึงยังไม่ตัดสินใจถอนหญ้าให้หมด

Rice2y2010s

แปลงที่ ๒ ดินปรุงดีแล้ว ไม่ต้องมีน้ำก็สูงเป็นเมตร

ในภาพ: นศ. ต่างชาติมาศึกษาการจัดการการเกษตรที่แปลงนา

เลยกลายเป็นคนงานถอนหญ้าให้ผมแบบไม่รู้ตัว

จากการเดินถอนหญ้าผมได้รับบทเรียนว่า หนูนาชอบกินหญ้าที่กำลังออกดอก โดยกัดกินทั้งต้นและดอก แต่ไม่กินข้าว คาดว่าข้าวยังอ่อนเกินไป ไม่มีคุณค่าอาหารเท่าต้นหญ้าที่กำลังออกดอก

นอกจากนี้ยังพบรังนกอยู่ตามกอข้าวประปราย น่าจะเป็นกลุ่มนกกินแมลง

แปลงที่ ๓ เป็นแปลงที่ผมมีปลาตะเพียนมาก ปีที่แล้วพยายามชวนเพื่อนๆ และญาติพี่น้องมาวิด และทานกัน ก็มีแค่ไม่กี่คน แค่ลองจับปลาจากบ่อเล็กๆ ในแปลงที่ ๔ ได้แค่ ๒๐ กก. กว่าๆ ก็ทานกันไม่หมดแล้ว เลยเลิกล้มความคิดที่จะวิดปลาบ่อใหญ่แปลงที่ ๓ จึงทำให้มีปัญหาเหมือนเดิมคือ ปลากินข้าวหมดไปเกือบครึ่งแปลง

Rice3y2010s

นักศึกษาต่างชาติมาศึกษาวิธีการทำนาขี้ระแหงที่แปลง ๓

ด้านหลังมีข้าวขี้ระแหงขึ้นเต็มตามรูระแหงและรอว่าจะได้เกี่ยวหรือไม่

ด้านข้างๆ เป็นข้าวหว่านวันพืชมงคลที่รอดจากการกินของปลาตะเพียน

ทุกปัญหาย่อมมีโอกาส เพราะเมื่อเกิดช่องว่างในแปลงนาที่แตกระแหง ผมก็เลยได้ลองหว่านข้าวลงร่องแตกระแหง ทำให้พบว่า ข้าวในรูระแหงทนแล้งได้ดีกว่าบนผิวดิน (ที่งอกอยู่เดิม)  เลยเรียกวิธีการทำนาแบบใหม่ว่า

 การทำนาแบบ “ข้าวขี้ระแหง” ดังรูป

Rice3y2010d

แปลงที่ ๓ ดินยังไม่สมบูรณ์มากนัก และใช้ข้าวหอมนิลที่ต้องการดินดี ข้าวจึงยังมีปัญหาในปีฝนแล้ง

ในภาพเปรียบเทียบข้าวหว่านวันพืชมงคลที่งอกอยู่เดิม กับข้าวขี้ระแหงที่งอกใหม่ (สวยกว่าเก่า)

ปีนี้แล้งก็จริง ไม่มีน้ำขังเลย มีแต่ฝนปรอยแบบนับเม็ดได้มาบ่อยๆ

ผมเลยพยายามหาความหมายใหม่ของวิธีการวัดน้ำฝนและขอรายงานว่า

ที่นาผมมีฝนตก ประมาณ ๒๐๐-๑๐๐๐ มม. เกือบทุกวัน

อย่าตกใจครับ

๒๐๐ มม. คือ ๒๐๐ เม็ดต่อตารางเมตรครับ

ข้าวพอได้ละอองฝนบ้างพออยู่ได้ ประกอบกับดินที่ฟื้นตัวแล้วของแปลงที่ ๒ ทำให้ผมทำนาได้โดยไม่ต้องมีน้ำขัง

สภาพดินและน้ำแปลง ๒ เมื่อวันที่ ๒๖ กค ๕๓

ข้าวแตกกอดี เดินถอนหญ้าง่ายๆ แล้วโยนลงบ่อปลา

น้ำในบ่อ(บางจุด)เหลือแค่ท่วมหลังปลาครับ

ปัจจุบันต้นข้าวหอมพันธุ์กุหลาบแดง ทนแล้งดีมาก ไม่มีน้ำขัง อยู่กับขี้ระแหง แบบ

“ข้าวขี้ระแหง”

 แต่ก็สูงประมาณเมตรกว่าๆ แล้ว แต่จะเป็นอย่างไรต่อก็ต้องคอยดูต่อไป

แต่ปลาในบ่อทั้งสามแปลงนะซิ จะไม่มีน้ำว่าย

สงสัยจะกลายเป็น “ปลาแห้ง” ถ้าฝนยังตกแบบนี้ต่อไป

Rice2y2010

นาแปลง ๒ ที่กำลังงาม หวังว่าจะได้เกี่ยวครับ

ยังไงก็ดีกว่าที่นาที่อยู่รอบข้างๆนาผม ที่ยังไม่เริ่มทำเลยครับ

ข้าวเรี่ยแบบนาผม เขาก็มี สูงไม่เกินฟุต เพราะเป็นนาเคมี ดินไม่เคยปรุง ข้าวต้องรอปุ๋ยเป็นหลัก รากลงลึกก็ไม่ได้ เลยเหี่ยวง่ายทุกวัน

ผมสังเกตอีกอย่าง

ข้าวที่ผมดำซ่อมบางจุดในแปลงสอง ตอนที่น้ำไหลเข้านาในเดือนมิถุนายน ก็เหี่ยวง่ายเหมือนกัน แสดงว่าข้าวนาดำแข็งแรงสู้นาหว่านไม่ได้จริงๆ

ตั้งแต่ผมมาเรียนการทำนาเอง ก็เรียนรู้มากขึ้นกว่าเก่าทุกวัน และมีเรื่องตื่นเต้นทุกวันกับการเรียนรู้

และหวังว่าวันหนึ่ง……

“ผมจะมีความรู้พอใช้

เหมือนอย่างที่ครูบาสุทธินันท์เคยจั่วหัวข้อไว้ทุกครั้งที่ท่านบรรยาย

วันนี้ ผมรู้มากขึ้นกว่าเมื่อวาน แต่ก็ยังไม่พอใช้ครับ กำลังหาเรียนไปเรื่อยๆ

คาดว่าจะหยุดเรียนก็ตอนหมดลมกระมังครับ

อิอิ


พ่อขุนรามคำแหงมหาราชน่าจะประสูติที่ “นครไทย”????

2914 ความคิดเห็น โดย แสวง เมื่อ 13 February 2010 เวลา 12:26 am ในหมวดหมู่ การศึกษา, การเรียนกรสอน
อ่าน: 17901

ไฟล์:Ramkhamhaeng the Great.jpg

ตั้งแต่วันที่ผมไปเยี่ยมชมอำเภอนครไทย เมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ที่เกี่ยวข้องกับการก่อกำเนิดของราชวงศ์พระร่วงและกรุงสุโขทัย

ทำให้ผมได้มีโอกาสคิดใคร่ครวญถึงว่า พ่อขุนรามคำแหง น่าจะประสูติที่เมืองนี้ และไม่น่าจะไกลจากต้นจำปาขาว ที่พ่อขุนบางกลางท่าวได้ปลูกเป็นอนุสรณ์ไว้ เมื่อกว่า ๗๐๐ ปีมาแล้ว

และบริเวณนี้ปัจจุบันเป็นวัดกลาง อยู่ริมแม่น้ำเดิมที่เป็นลำน้ำสำคัญของเมือง ในบริเวณตัวอำเภอเมืองนครไทยนั่นเอง

ที่ผมคิดเช่นนี้เนื่องมาจากพ่อขุนบางกลางท่าวอพยพมาตั้งกองกำลังอยู่ที่เมืองบางยางตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๗๗๘ และ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็ประสูติเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๗๘๒

เมื่อพ่อขุนบางกลางท่าวได้ครองกรุงสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๑๗๙๒ นั้น พ่อขุนรามคำแหง ก็อาจย้ายตามไปอยู่กรุงสุโขทัย เมื่อพระชนมายุ ๑๐ พรรษา

และ หลังจากนั้นท่านก็ได้เข้าศึกษาที่เมืองละโว้ ร่วมชั้นกับพระยาเม็งรายมหาราช และพ่อขุนงำเมือง แห่งเมืองพะเยา ณ สำนักพระสุตทันตฤๅษี

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๑ เมื่อท่านมีพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา ได้ชนช้างชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด จนได้ครองราชย์ในปี พ.ศ. ๑๘๒๒ ถึง ๑๘๔๑ รวม ๑๙ ปี โดยประดิษฐ์ “ลายสือไทย” ในปี พ.ศ. ๑๘๒๖

จากลำดับเหตุการณ์ทั้งในเชิงเวลาและสถานที่ที่มีผู้สันนิษฐานไว้

แม้จะมีข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย แตกต่างออกไป

แต่ภายใต้เงื่อนไขนี้

ผมจึงขอสันนิษฐานต่อว่า บริเวณวัดกลาง หรือใกล้เคียงบริเวณนั้นน่าจะเป็นสถานที่ประสูติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชครับ

ไม่ทราบว่าท่านผู้รู้ มีข้อมูลชัดกว่านี้ไหมครับ

ขอบคุณมากครับ


เหรียญ ๑๒ นักษัตรของจีน สำหรับคนเกิดปีขาล

13798 ความคิดเห็น โดย แสวง เมื่อ 11 February 2010 เวลา 4:35 am ในหมวดหมู่ ปรัชญาชีวิต
อ่าน: 94339

ในปี ๒๕๕๓ เป็นปีขาล ที่ถือว่าเป็น “ปีชง” สำหรับคนเกิดปีขาล

และบังเอิญผมมีเหรียญประเภทนี้อยู่ชุดหนึ่ง ตั้งแต่สมัยที่ผมทำตัวเป็นนักสะสมเหรียญกษาปณ์

ได้มีคนนำมาให้ ผมก็เก็บไว้แบบนักสะสมมากกว่าที่จะนำมาใช้จริงๆ

เหรียญทั้งหมดเป็นเหรียญที่กำกับไว้ด้วยภาษาจีน

Coin001

ด้านหลังของทุกเหรียญ มีสัญญลักษณ์หยินหยาง ล้อมรอบด้วยตราประจำนักษัตร

Coin003

สำหรับคนที่เกิดปีขาล นั้น ผมได้ข้อมูลมาว่า

เหรียญที่ควรพกพาให้ถูกโฉลก ก็คือ

Coin002

และ นักษัตรที่เป็นบริวารของคนปีขาล ก็คือคนปีจอ

Coin004

สิ่งที่ควรพกพาเสริมบารมี ของคนปีขาลก็ยังมี สัญญลักษณ์รูปม้า

Coin005

และ สัญญลักษณ์รูปหมู

Coin006

โดยมี “กวนอู” เป็นเทพเจ้าประจำราศี

ที่อาจใช้รูป รูปหล่อ รูปแกะสลัก หรือลูกปัดที่มีรูปของกวนอู แขวนก็ได้

Coin00001

ลูกปัดรูปเทพเจ้ากวนอู

 

ผมได้ข้อมูลมาประมาณนี้ครับ


พระพุทธรูปยุคทวาราวดี คือต้นแบบของพระกรุ และพระพุทธรูปปัจจุบัน

7518 ความคิดเห็น โดย แสวง เมื่อ 10 February 2010 เวลา 7:12 pm ในหมวดหมู่ การศึกษา
อ่าน: 33491

ในระยะสองสามเดือนที่ผ่านมา ผมมีวาสนาที่ได้รับพระกรุยุคทวาราวดีมาบูชา เป็นจำนวนหลายองค์ ที่นับได้ว่ามากพอที่จะจัดหมวดหมู่ทั้งในเชิงของวัสดุ และศิลปะ ได้อย่างหลากหลาย

เนื่องจากผมมีพรรคพวกในวงการพระเครื่อง ที่รู้ว่าผมชอบพระ “ทวาราวดี” ก็เลยนำมาให้บ่อยมาก จนเกือบจะเป็นทุกวัน

ทำให้ผมสามารถศึกษารูปแบบของพระพุทธรูปได้

เช่น ที่ผมเคยเขียนไปแล้วก็คือ พระจุฬามณี ที่เป็นทั้งต้นแบบของพระนางพญา และพระพุทธชินราช และพระหลักๆของเมืองพิษณุโลก

Shinarat024small

พระจุฬามณี ที่เป็นต้นแบบของพระนางพญาพิษณุโลก

Chulamanee3

ลักษณะของซุ้มพระจุฬามณี ที่เหมือนซุ้มของพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก

เมื่อหลายเดือนก่อนผมก็ได้ พระทวาราวดีของภาคกลาง ที่มีเค้าร่างของพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง

007

พระทวาราวดีไม่ทราบที่ ที่มีเค้าของพระศิลปะอู่ทอง

เมื่อเดือนที่แล้วก็ได้พระกรุดอยคำ ที่เป็นเค้าร่างของพระรอด

Evolution013

พระกรุดอยคำ ยุคทวาราวดี

เมื่อวันก่อนผมก็ได้พระทวาราวดี ที่เป็นเค้าร่างของพระร่วงนั่ง

Sritep5

พระทวาราวดี ไม่ทราบที่ ที่เป็นต้นแบบของพระร่วงนั่งสมัยลพบุรี

 005

พระยุคทวาราวดี ไม่ทราบที่ ที่เป็นต้นแบบของพระร่วงยืนลพบุรี

 

เมื่อวานผมก็ได้พระทวาราวดี ที่มีลักษณะคล้ายพระศิลปะเชียงแสน (ดังรูป)

Coin007

พระทวาราวดี ที่คล้ายกับพระศิลปะเชียงแสน

เมื่อมีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันซ้ำๆ หลายครั้ง

ผมจึงได้สรุปคร่าวๆว่า พระทวาราวดี น่าจะเป็นต้นแบบของพระกรุในระยะหลังๆ ตั้งแต่ยุคลพบุรี เชียงแสน ลำพูน สุโขทัย และอยุธยาตามลำดับ

ที่เป็นวิวัฒนาการของศิลปของการสร้างพุทธรูปที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ถูกผิดอย่างไรก็หวังว่าผู้รู้จะชี้แนะครับ


เรียนประวัติ “กรุงสุโขทัย” จากการเดินทางไป “นครไทย”

15421 ความคิดเห็น โดย แสวง เมื่อ 10 February 2010 เวลา 12:55 am ในหมวดหมู่ การศึกษา, การเรียนกรสอน
อ่าน: 91423

เมื่อวันที่ ๘ กพ ๒๕๕๓ ผมได้มีโอกาสไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ที่ผมศึกษามาตั้งแต่ชั้นประถม แต่ไม่เคยเข้าใจเท่าวันนี้

ในประเด็นการก่อกำเนิดของกรุง “สุโขทัย” ที่เราเริ่มนับว่าเป็น “ไทย” ซึ่งแม้ปัจจุบันผมก็ยังไม่ทราบว่าทำไมเริ่มจากยุคสุโขทัย

เพราะจากการศึกษาประวัติศาสตร์แถบนี้ ผมคิดว่าชนชาติที่เป็นต้นตระกูลของเรา น่าจะย้อนไปถึงยุคบ้านเชียงเป็นอย่างน้อย

แล้วก็ไล่เลียงมาถึงเมืองโบราณต่างๆต่อมาจากนั้น อีกหลายร้อยเมือง ที่ไม่ปรากฏชื่อจริง มีแต่นามสมมติแบบเดียวกับบ้านเชียง

หรือแม้กระทั่งใต้ถุนบ้านผมเองในปัจจุบันก็เป็นเมืองเก่า ที่กำหนดเป็นชื่อใหม่ว่า “โนนชัย”

แต่โดยยุคแล้วเราก็น่าจะนับย้อนไปถึงยุค ศรีเกษตร ยุคฟูนัน ยุคทวาราวดี ยุคลพบุรี อีกด้วย

ที่มีเมืองมีชื่อจริงปรากฏอยู่มากมาย เช่น จำปาศรี (นาดูน) คันธาระ (กันทรวิชัย) ฟ้าแดดสงยาง (กมลาไสย) ศรีมหาโพธิ์ ศรีมโหสถ ฯลฯ

แต่ก็ไม่เป็นไร จะเริ่ม สุโขทัยก็สุโขทัย

และเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยทราบมาก่อนว่าเมืองบางยางอยู่ในหุบเขา แบบเดียวกับเมืองราด (ของพ่อขุนผาเมือง)

ที่น่าจะเป็นที่ที่เหมาะสมในการตั้งกองกำลังซ้องสุมผู้คน ที่คนภายนอกบุกรุกได้ยาก แต่บุกไปโจมตีผู้อื่นภายนอกหุบเขาได้ง่าย เพราะมีแนวเขาเป็นกำแพงเมืองตามธรรมชาติ

และเมื่อผมพยายามเชื่อมโยงทั้งสองเมืองเข้าด้วยกัน ก็พบว่า ทั้งสองเมืองเกือบจะเป็นเมืองแฝด

ที่อยู่ในหุบเขาทั้งคู่ ที่น่าจะติดต่อกันเป็นประจำ เมื่อจะต้องรบ ก็คงช่วยกันรบ

 

Bangyang001

อนุสาวรีย์ พ่อขุนบางกลางท่าว

Bangyang002

ประวัติย่อของพ่อขุนบางกลางท่าว

จากประวัติที่ว่า มีการซ่องสุมไพร่พล ข้อนี้ผมเพิ่งทราบ เพราะที่เรียนมาก็แค่เป็นเจ้าเมืองที่ถูกกดขี่ ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมากมาย จึงยกกำลังเข้าสู้

ที่อาจแตกต่างไปเล็กน้อย

และการยกไปตีเอากรุงสุโขทัย (เมืองหน้าด่านของขอม) ก็เป็นเรื่องใหม่ที่ผมเพิ่งเข้าใจ

ว่า เดิมที่นั่น คงจะเป็นเมืองขอม เมื่อยึดได้ก็ตั้งเป็นเมือง “ไทย” โดยถือว่าราชวงค์และพสกนิกรของพ่อขุนบางกลางท่าวเป็น “ต้นตระกูลไทย”

แล้วครองราชต่อมาอีกหลายรัชกาล จนกะทั่งศูนย์ขั้วอำนาจเปลี่ยนไปเป็นกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา

ที่ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้ก็น่าจะเป็นเผ่าไทยเช่นเดียวกัน

แต่ทำไมเราจึงไม่นับเผ่าไทยเหล่านั้นเป็นต้นตระกูลไทยด้วย

ข้อนี้ผมก็ยังคงเป็นข้อสงสัยเช่นเดิม

แต่ เอาเป็นว่า

พ่อขุนบางกลางท่าว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั้น ได้มีชัยภูมิของการตั้งกองกำลังที่ดี อยู่ในหุบเขา มีแนวเขาเป็นกำแพงเมือง เข้าออกยาก

สามารถรบได้ดี จนได้ชัยชนะเหนือ “ขอม” และควบคุมเมืองอื่นๆ ให้อยู่ใต้อำนาจ จนมีการเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจในระยะต่อๆมา

นี่คือบทเรียนที่ผมได้จากการไปกราบไหว้อนุสาวรีย์ของท่าน

ที่วัดกลาง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ครับ

วันหลังจะไปเยื่ยมชมเมืองราด และเมืองศรีเทพ ที่ผคิดว่าน่าจะไขปริศนาได้อีกหลายประเด็นครับ

แล้วจะมาเล่าให้ฟังครับ



Main: 0.54845595359802 sec
Sidebar: 0.81003594398499 sec