เรื่องแปลกๆ และความรู้ใหม่ที่ได้ในการเดินทางไปเอธิโอเปีย (๒)

โดย แสวง เมื่อ 6 November 2008 เวลา 10:18 am ในหมวดหมู่ การศึกษา, การเรียนกรสอน, ปรัชญาชีวิต
อ่าน: 58804

ก่อนจะเดินทางไปประเทศเอธิโอเปีย เพื่อนต่างชาติที่ทำงานด้วยกัน และแม้กระทั่งครอบครัวของผมก็เตือนผมให้นำหม้อข้าว ข้าวสาร และอาหารแห้งมาเตรียมไว้รับประทานเอง เพื่อป้องกันความ “อดอยาก”

ดังที่มีข่าวเสมอๆ ทุกวันว่า ประเทศนี้ อดอยากขาดแคลน ยากจน

ในตอนเตรียมตัวเดินทางนั้น ด้วยความรีบร้อนแบบ “วินาทีสุดท้าย” ก็เลยข้ามประเด็น “อาหาร” ไป

ในใจขณะเตรียมตัวจัดกระเป๋าเดินทางนั้น ก็คิดว่า ถ้า “ขาดแคลน” จริงๆ ผมมีแผนจะทำ ๒ อย่าง

1. ลดน้ำหนักให้ได้ตามแผนที่วางไว้นานมาแล้ว ให้ต่ำกว่า ๗๐ กก. (ตอนนี้ นน. เกิน…. เท่าไหร่ไม่บอก อิอิ)

2. ไปปฏิบัติธรรมด้านการบริโภคอาหาร (มีอะไรก็บริโภค ไปตามนั้น ทั้งจำนวน ชนิด และรสชาติ) และถ้าจำเป็นก็ลดการบริโภคให้เหลือมื้อเดียว แบบถือศีลแปด ไปซะเลย

และคิดว่า ถ้าคนที่เชิญผมไปประชุมจะปล่อยให้ผมอดอยาก ก็จะได้รู้กันในครั้งนี้ คราวหน้าจะได้ไม่ต้องคบกันอีก

ดังนั้นสาเหตุหนึ่งที่ไปขึ้นเครื่องบินช้าก็คือ ตั้งใจ เตรียมตัวที่จะเดินทางไปเผชิญสภาพการ “ขาดแคลน” จึง ค่อยๆ ละเลียดรับประทานอาหารที่เก็บมาจากนา และ “ข้าวกล้อง” แบบ “พุงกาง” รองรับวิกฤติ เลียนแบบพระมหาชนก ตอนเรือแตก เลยละครับ ทำให้รับประทานอาหารได้มาก (จริงๆ) แบบ หมดหม้อเลยละครับ

(แต่ พอถึงสนามบิน ก็ยังแอบซื้อกล้วยฉาบ ถุงละครึ่งกิโลกรัม ราคาตั้ง ๑๐๐ บาท ใส่กระเป๋าเดินทาง แบบ “เผื่อว่า” ไว้เหมือนกัน และตอนนี้ก็ยังไม่ได้เปิดเลยครับ)

ด้วยความกังวลเล็กๆในใจ เจอใครก็ถามดะ ตั้งแต่บนเครื่องบินมาเลย ว่าประเทศนี้ ขาดแคลนแค่ไหน

ก็ได้ความ (แบบข้อมูลมือ ๒) ว่า

  • เคยขาดแคลน
  • แต่ตอนนี้ดีขึ้น
  • สงครามก็ไม่มีแล้ว
  • แถมมีความช่วยเหลือจากประเทศผู้ร่ำรวยน้ำมันมาช่วยอีกมากมาย เพราะเขาถือว่าเป็นคนศาสนาเดียวกัน อย่างที่เล่าไปวันก่อนนั้นแหละครับ

หลังจากมาถึงประเทศเอธิโอเปีย ผมก็ตั้งใจว่าจะศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ให้ได้ ว่าสาเหตุของการขาดแคลนที่ว่านั้นคือ อะไรกันแน่

พอเครื่องบินจะลงตอนหกโมงเช้ากว่าๆ ก็เริ่มมองเห็นสภาพภูมิประเทศ

ใจผมคิดว่า น่าจะมีแต่ทะเลทราย อะไรประมาณนั้น (อุตส่าห์จองที่นั่งริมหน้าต่างตั้งแต่ตอนไปรับตั๋วเครื่องบิน กะถ่ายรูปวิวตอนเช้า ซะด้วย)

แต่พอมองออกไป กลับเป็นพื้นที่เขียวชอุ่มไปหมด พยายามถ่ายรูป ก็ได้แค่ลางๆ ไม่ชัด เสียดายจริงๆ เพราะเมฆมาก และฝนก็ปรอยๆ

พอมาถึงที่พักก็รีบสังเกต ดูดิน ดูต้นไม้ ดูน้ำ ดูสภาพฝน ก็ได้ความว่า

· ดินดำแบบเดียวกับดินลพบุรีของเราเลย ไม่ยักกะเป็นดินทรายอย่างที่คิด

· ต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ ที่พักก็มีตะไคร่น้ำ และ ไลเคน (Lichens) ตามลานปูนในสนามที่เขาแต่งไว้ ก็มีมอส (Mosses) คลุมเต็มไปหมด หญ้าก็เขียวสด แบบไม่มีร่องรอยการให้น้ำ แสดงว่า ความชื้นที่นี่สูงมาก

· อากาศเย็นประมาณ ๑๑- ๑๕ องศา แต่บางวันที่แดดจัด อุณหภูมิจะขึ้นถึง ๒๕ องศาเซลเซียส

 

เอ๊ะ หรือว่า อากาศเย็นเกินไป เมฆมากเกินไปเลยผลิตอาหารไม่ค่อยได้

 

แต่ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะยุโรปเย็นกว่านี้ แสงน้อยกว่านี้ ก็ยังผลิตได้นี่นา

 

จะว่าเทคโนโลยีไม่พอ ก็ยิ่งไม่น่าจะใช่ เพราะคนที่นี่ครอบครองพื้นที่ ต้นแม่น้ำไนล์ และอยู่กันมายาวนานกว่า ๓๐๐๐ ปี พอๆ กับ ประเทศอียิปต์ ไม่แน่จริงคงสูญพันธุ์กันไปหมดแล้ว

 

ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ เลยใช้วิธีถามดะ ตั้งแต่เด็กเสิร์ฟ กุ๊ก คนที่เจอที่ร้านอาหาร ว่าที่นี่อดอยาก จริงหรือไม่ เพราะอะไร

 

ตั้งแต่ไปโรงอาหารรวม ที่ศูนย์วิจัยที่เขาจัดประชุม ก็เริ่มสังเกต และถามๆๆๆ และถาม

 

เห็นเขาจัดอาหารพื้นเมือง ปนกับแบบตะวันตก ให้นักวิจัยนานาชาติ ก็เดาไปว่า

อาจเป็นการจัดแบบ “เอาใจ” ต่างชาติ ละมั้ง

 

เพราะอาหารมีมาก แบบเหลือเฟือ กินแบบ Buffet ได้ไม่อั้น ทุกมื้อ

…………………………………………….

 

ผมก็เลยคิดไปเองว่า

ทำไมต้องเอาใจต่างชาติขนาดนั้น ทั้งที่ประเทศตัวเองก็อดอยาก น่าจะจัดแบบตามมีตามเกิด หรือ อย่างน้อย ก็ประหยัดกว่านี้หน่อย

 

พอได้พบกับนักวิจัยชนเผ่า “อัฟริกา” ไม่รู้ใครเป็นใคร ชาติไหนบ้างผมแยกไม่ออก

 

ผมก็โยนคำถามแบบเป็นขบวน หนึ่ง สอง สาม สไตล์นักสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง

 

โดยอาศัยหลักที่เรียน สอน และพัฒนามาด้วยตนเอง เป็นเวลาหลายปี

ที่

· เริ่มจาก “ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว” –ขาดแคลนแบบอดตาย ที่ดินเสื่อมโทรม

· ตามด้วย “สังเกต”-อุดมสมบูรณ์ ดินดี น้ำดี อากาศก็ดี

(อ้าว ทำไมขัดแย้งขนาดนี้ แล้วจะเดินต่ออย่างไร)

ผมเลยย้อนกลับไปใช้ข้อมูลมือสอง ว่า “มีการสู้รบ และกีดกันผลประโยชน์ของชนเผ่าต่างๆ” ที่ได้ข่าวมาเสมอๆ แทน-คิดเข้าข้างตัวเองไปโน่น

(ก็ไม่ทราบจะคิดอย่างอื่นๆ ได้อย่างไร คิดได้แค่นั้นจริง)

· จึงตามด้วยการ “สัมภาษณ์” ดะ (แบบกึ่งโครงสร้างด้วยนะครับ)

 

ผมเริ่มพบว่าข้อมูลสัมภาษณ์สอดคล้องกับการสังเกต ก็คือ

ดี ไม่มีปัญหา

 

อ้าวแล้วข้อมูลมือสอง มายังไง “อดอยาก ยากจน”

ผมไม่รีรอ รีบถามดะ ว่า “คุณคือใคร ชาติไหน”

 

ถ้าบอกว่าเป็นชาวเอธิโอเปียแล้ว ผมจะโยนคำถามเรื่องเกษตรกรรม และอาหารทันที

 

แต่ก็แบบนิ่มๆ ค่อยๆถาม ไม่ด่วนสรุป (แบบเดียวกับที่ผมสอนคนอื่น- ผมจะด่วนสรุปเองก็อายตัวเองครับ)

 

ก็ได้ความว่า

เกษตรกรรมของประเทศเอธิโอเปีย มีการปลูกพืชอาหารประเภทธัญพืช พืชหัว ข้าวโพด ผักต่างๆ ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ และ เลี้ยงสัตว์ ได้ดี

แต่เนื่องจากมีประชากรมุสลิมมากพอสมควร จึงไม่ค่อยมีสุกร มีแต่วัว แพะ แกะ ลา (ไว้ขนของ- เสียดายถ่ายไม่ทัน รถวิ่งเร็ว)

การบริโภค ก็มีทั้งทำเป็นแผ่นแป้งทอดแบบโรตี เรียกว่า อินเจอรา (Injera) ทำจากเมล็ดธัญพืชที่เรียกว่า Teff ทอดหน้าเดียวแบบ pancake เวลารับประทาน จะรองบนจาน แล้วตักอาหารอื่นๆ วางไว้ข้างบน ทานด้วยมือเป็นส่วนใหญ่

 

อาหารอื่นๆทีนิยม ก็มีผักสลัดแบบต่างๆ เนื้อตุ๋น ถั่วตุ๋น (lentil) ปรุงรสเผ็ดคล้ายอาหารไทย แต่มีเครื่องเทศมากแบบอาหารแขก

 

ข้าวมีบ้าง แต่เขาว่าซื้อมาจากแถวบ้านเรา เลยแพง และเป็นอาหารคนมีเงิน

ดังนั้น ผมสังเกต (อีกแล้ว) ว่าเวลาคนเอธิโอเปียมารับประทานอาหารแบบ Buffet จะเน้น “ตักข้าว” มากกว่าจะหยิบ “อิจารา” คงเป็นแบบ “กินของแพงและหายากไว้ก่อน” ละมั้ง (แบบเดียวกับที่ผมเน้นหยิบ ปลาดิบ อาหารญี่ปุ่น ตอนไปทานอาหาร buffet ตามโรงแรม ในเมืองไทย อิอิ)

 

หลังจากได้ข้อมูลเบื้องต้น และ มั่นใจว่า “ไม่น่าจะพลาด” ว่า

 

“เอธิโอเปียโดยรวม ไม่ได้ขาดแคลนอาหาร” ตาม ข้อมูลมือสอง ที่ได้ยินมา

 

การขาดแคลนมีอยู่บ้างแถบชายแดนกับโซมาเลีย ที่มีปัญหาการต่อสู้ของชนเผ่า ทำให้ไม่มีเวลาทำมาหากิน และมีปีญหาภายในเชิงชนเผ่า ที่รัฐบาลกระอักกระอ่วนใจในการแก้ไขปัญหา และยังมีปัญหาการช่วยเหลือจากต่างประเทศ ที่ทำให้การจัดการปัญหาภายในทำได้ยากขึ้นไปอีก

 

ก็เริ่มมั่นใจ ยิงคำถามแบบฟันธง ไปกับสมาชิกชาวเอธิโอเปีย ว่า

ทำไม จึงมีข่าว และข้อมูลออกไปทั่วโลก ว่า เอธิโอเปียโดยรวม อดยาก

นักวิจัยที่ทำงานด้านประชาสัมพันธ์ตอบผมแบบฟันธงเหมือนกันว่า

“เป็นการเลือกมุมที่แย่ของประเทศมานำเสนอ”

เขายอมรับว่า

อาจจะมีคนที่อดอยากอยู่บ้างในชนบทห่างไกล ที่ต้องอดมื้อกินมื้อ ที่มีทุกแห่ง ทุกชนชาติในโลกนี้ แม้กระทั่งอังกฤษ อเมริกา หรือประเทศที่ร่ำรวยขนาดไหนก็ตาม ก็อาจจะมีครอบครัวแบบนี้อยู่บ้าง “เป็นธรรมดา” และยิ่งมีปัญหาการต่อสู้และชนเผ่าเข้ามาอีก ทำให้การแก้ปัญหายากยิ่งขึ้น

 

 

แต่ด้วยการช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆ นั้น ทำให้ในเขตทีลำบากที่สุด วันหนึ่งจะมีอาหารรับประทานไม่ต่ำกว่า ๒ มื้อ

 

ทำให้ผมย้อนคิดถึงรายการทีวีเมืองไทย บางรายการที่นำครอบครัวแย่ๆ มานำเสนอเพื่อขอความช่วยเหลือจากสังคม (หลายท่านคงทราบดี)

 

หรือแม้กระทั่งเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ที่มีข่าวว่า “เด็กที่ศรีสะเกษ” อดอยาก จนต้องกินดินเป็นอาหาร มีการกระพือข่าวอย่างมากมาย ทั้งๆที่ความจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (คนที่ตามข่าวนี้คงทราบดีนะครับ ว่าอะไรเป็นอะไร)

 

เมื่อผมได้ยินอย่างนั้น คำถามผมจึงเข้มข้นไปอีกระดับหนึ่งว่า

 

เมื่อประเทศเอธิโอเปียโดยทั่วไป ไม่อดอยาก ขนาดนั้น แล้ว

 

· ทำไมจึงมีคนไปประโคมข่าวขนาดนั้น

คำตอบที่ได้ (เขาว่านะครับ) มีคนต้องการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศของเขา โดยพิจารณาจาก

 

· ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ที่เสนอเป็นบางมุมของสังคม

· และ อาจเป็นงานของคนบางกลุ่มที่ต้องการผลประโยชน์บางประการ จากการทำข่าวแบบนั้น

และผมก็เลยถามแบบทีเล่นทีจริงว่า

แล้วรัฐบาลของคุณรู้สึกอย่างไร”

เขาก็ตามแบบทีเล่นทีจริงเหมือนกันว่า

 

“ก็คงชอบอยู่บ้าง เพราะได้เงินและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ” แต่ก็ทำให้การปกครองประเทศมีปัญหา

ผมมาถึง “บางอ้อ” ว่า

 

“ในระดับโลก” เขาเล่นการอย่างนี้เอง

 

ผมมีทั้งดีใจและผิดหวังในการเดินทางมาครั้งนี้ครับ

 

ดีใจที่ไม่ต้องเผชิญภาวะ “อดอยาก” ที่แม้ผมจะไม่อด แต่เห็นชาวบ้าน หรือ ขอทานอดอยาก เต็มไปหมด ผมคงทานอาหารแบบไม่มีความสุขสักเท่าไหร่ (อันนี้คิดไปเองครับ)

ผิดหวัง ที่ไม่มีโอกาส “ลดน้ำหนัก” หรือ “ปฏิบัติธรรมในการรับประทานอาหาร “คุณภาพต่ำ” (จินตนาการไปเอง อีกนั่นแหละ)

 

แต่วันนี้ ผม “โง่น้อยลง” อีกนิดหนึ่งแล้วครับ

และขอแจ้งให้ทราบว่า ใครจะไปเอธิโอเปีย ควรลดน้ำหนักล่วงหน้าไว้ก่อน

เพราะเมื่อท่านมาถึง

มีแต่อาหารอร่อยๆ จะได้ทานแบบไม่ต้องเกรงใจ “พุง” อิอิ

ตอนนี้ผมรู้สึกว่า “น้ำหนักเพิ่มครับ” อิอิ

วันหน้า มีเรื่องเด็ด กว่านี้ครับ ขอเชิญติดตามได้ครับ

วันนี้ต้องรีบไปประชุมอีกแล้ว อิอิ

สวัสดีครับ

 


6813 ความคิดเห็น