พระอัจฉริยภาพเจ้าฟ้าหญิงน้อย

107 ความคิดเห็น โดย putarn เมื่อ 19 สิงหาคม 2011 เวลา 7:48 (เย็น) ในหมวดหมู่ เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 2054

 

 

คงเป็นตัวการ์ตูนต่างๆและตุ๊กตุ่นตุ๊กตาที่ล้อมรอบตัว ทำให้สนใจสิงสาราสัตว์ รวมทั้งชีวิตยามเด็กที่มีโอกาสอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ วังสวนจิตรลดาฯกว้างถึง ๑ ตารางกิโลเมตร ไม่ได้เต็มไปด้วยผู้คนและอาคารเหมือนทุกวันนี้ แต่เป็นที่ที่มีต้นไม้สมบูรณ์ มีอีกามาก(ยังมากมาจนถึงทุกวันนี้) ข้าพเจ้าพายเรือไปไหนๆตามคลองกับเด็กๆเพื่อนเล่นได้โดยอิสระ ยิ่งเวลาไปอยู่เชียงใหม่ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ล้อมรอบด้วยป่า เป็นแหล่งสร้างจินตนาการ เมฆหมอกที่ปกคลุม ต้นไม้ใหญ่ๆ น้ำตก นกหลากสี รวมทั้งผีเสื้อ ตัวแมลงแปลกๆรูปร่างเหมือนกิ่งไม้ ใบไม้ บางตัวก็มี “ตาดุ” เหมือนตาผีคอยจ้องเรา

ตอนนั้นข้าพเจ้าป่วยบ่อยไปหน่อย เลยต้องอยู่นิ่งๆ อันเป็นผลให้ได้อ่านหนังสือเยอะแยะเท่าที่จะมีได้ในตอนนั้น รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับป่าซึ่งคุณหมอบุญส่งแต่ง เล่มที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง “ชีวิตของฉัน-ลูกกระทิง” เป็นเรื่องของลูกกระทิงตัวน้อยๆที่เที่ยวไปในป่า เที่ยวคุยกับสัตว์ต่างๆชนิดที่อยู่ในป่านั้น ทำให้รู้วิถีชีวิตของสัตว์เหล่านั้น บางอย่างก็อ่านไม่เข้าใจ เพราะข้าพเจ้าอายุแค่แปดขวบ

เผอิญเกิดไปเจอคุณหมอบุญส่งเข้าที่โรงเรียนจิตรลดา คุณหมอจะไปทำไมที่นั่น ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้แล้ว ก็เลยไปถามที่ไม่เข้าใจ คุณหมอบุญส่งชอบใจมาก ก็เลยรับที่จะพาข้าพเจ้าดูนกในสวนจิตรฯนั่นเอง วิธีการดูคือใช้กล้องสองตาส่องดูตามต้นไม้ เห็นนกอะไรก็ดูเทียบกับหนังสือนก เราก็จะทราบชื่อสามัญของนก ชื่อวิทยาศาสตร์ ข้อมูลเกี่ยวกับนกชนิดนั้น และจะจดเอาไว้ว่าวันที่ดูนกเป็นวันที่และเวลาใด ที่ไหน ลักษณะของสถานที่ บางที่ก็จะถ่ายภาพนกเอาไว้ เช่นรูปนกฮูก น่าเสียดายที่ข้าพเจ้าหาที่จดเอาไว้ไม่พบเลย ที่สวนจิตรฯมีต้นไม้มาก น่าจะมีนกมาก แต่ก็ไม่มีมากเท่าที่ควร เพราะว่ามีอีกาแยะ คอยรังแกนกเล็กๆ

เวลาไปเชียงใหม่ คุณหมอบุญส่งไปด้วยเป็นบางครั้ง และพาดูนกบริเวณพระตำหนักภูพิงค์ฯ คุณหมอแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักคุณกิตติ ทองลงยา นักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(ตอนนั้นดูเหมือนจะเรียกว่าสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์) คุณกิตติท่านนี้เป็นคนพบ “นกเจ้าฟ้าสิรินธร” ที่บึงบอระเพ็ดและตั้งชื่อนกตามชื่อข้าพเจ้า เจอค้างคาวที่เล็กที่สุดในโลกที่เรียกว่า “ค้างคาวกิตติ” และเจอตัวอะไรต่างๆอีกหลายอย่าง ตอนนั้นคุณกิตติกางเต็นท์อยู่แถวๆดอยปุย เช้าขึ้นพวกเราเด็กๆก็ไปหาคุณกิตติ ที่ข้างเต้นท์มีตาข่าย ทุกวันมีนกมาติดตาข่าย เขาจะแกะนกจากตาข่ายมาดู ทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับนก ใส่ห่วงที่ข้อเท้านกเพื่อศึกษาว่านกไปไหนบ้าง ข้าพเจ้าชอบไปช่วย(ยุ่ง)

คุณหมอบุญส่งมีนกชนิดต่างๆที่สตั๊ฟฟ์ไว้มาก ก็ได้เอามาศึกษาดูด้วย

เมื่อวันก่อนจะทูลลากลับจากเชียงใหม่ สมเด็จแม่ประทับทรงงานอยู่ มองออกไปข้างนอกเห็นนกตัวเล็กๆสีแดงและสีเหลืองเกาะอยู่ที่ต้นสน ข้าพเจ้าก็เลยกราบทูลว่านี้คงเป็นนกพญาไฟ ตัวผู้สีแดง ตัวเมียและลูกนกสีเหลือง(แต่ก่อนเคยเห็นมันบินเป็นฝูงใหญ่มาบ่อยๆ) ความรู้เก่าไม่ทราบว่าผิดหรือถูก ที่สวนจิตรฯมีนกขมิ้น(ไม่เห็นตั้งนานแล้ว) ตัวผู้สีเหลืองอ่อน ตัวเมียสีออกเขียว

นอกจากนกแล้ว คุณหมอบุญส่งก็ยังสอนเรื่องสัตว์อื่นๆด้วย แถมเอาตัวจริงๆมาให้ดู เช่นตัวหมาหริ่ง บอกว่าจะให้ขอยืมเอาไว้เล่นสักสองสามวัน เล่นเอาพี่เลี้ยงร้องเสียงหลงไม่ให้เลี้ยง หรือบอกว่าให้ดูค้างคาวบินไปมาน่ารัก มีหนังสือให้ด้วยทั้งสมุดระบายสีสำหรับเด็ก หนังสือเรื่องสัตว์ส่วนมากเป็นหนังสือฝรั่ง หนังสือที่คุณหมอแต่งเอง ส่วนมากจะเซ็นให้ด้วย ยังอยู่ในห้องหนังสือข้าพเจ้าทุกวันนี้

ตอนอยู่ป.๔ ข้าพเจ้าหัดแต่งกลอนกับครูกำชัย แต่งแล้วเอามาอวดคุณหมอ ได้รับคำชมว่าแต่งยังกับเจ้าฟ้ากุ้ง ข้าพเจ้าไม่ทราบหรอกว่าเจ้าฟ้ากุ้งแต่งอย่างไร คุณหมอก็ชมไปอย่างนั้นเอง

เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือตอนอยู่ป.๔ นี่เอง ที่นักเรียนชั้นพี่หญิง(อยู่ม.ศ.๑) ชั้นพี่ชาย(ป.๗) และชั้นข้าพเจ้าได้ไปเที่ยว(ทัศนศึกษา)น้ำตกสามหลั่นที่สระบุรี ข้าพเจ้ารีบไปจองเป้ ซึ่งโตกว่าที่เขาให้เด็กใช้(เพราะอยากใส่ขนมมากๆ) มีกระติกน้ำ ในกระเป๋ามีขนมเต็มไปหมด มีสมุดที่ครูบอกให้ไปจดความรู้ต่างๆ

จำได้แต่ว่ามีน้ำตกอยู่ใกล้ๆกันหลายแห่ง มีหินดาด โตนเกือกม้า โตนอะไรอีกอย่าง(จะชื่อต้นไทรหรือรากไทรอะไรก็จำไม่ถนัดแล้ว) ที่จำอะไรไม่ค่อยได้เห็นจะเป็นเพราะข้าพเจ้าไม่ฟังใครเลย(แต่ก็ยังจำได้ว่าครูกำชัยเป็นลม ต้องขี่คอครูสำเริงไป และครูโยมูระไล่ตักผีเสื้อ) มิไยคุณหมอบุญส่งพยายามอธิบายต้นไม้ข้างทางว่า “นี่เรียกว่ากูดงอดแงดพะยะค่ะ” แล้วต่อว่า “อ้าว! ไปไหนแล้ว…”(ตรงนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบ เพราะวิ่งไปแล้ว ผู้ใหญ่เล่าข้าพเจ้าดูแต่กูดงอดแงด เมื่อดูเห็นแล้วก็วิ่งต่อไปเลย)

ตอนที่น้ำหมด จะเอาน้ำในน้ำตกมาดื่มก็ไม่ได้ เพราะน้ำไหลผ่านหินปูน ขุ่นขาว คิดกันว่าต้องไปเอาที่ต้นน้ำ ข้าพเจ้าก็ปีนขึ้นไปกับเด็กผู้ชาย(ที่โตกว่า) ต้องมีผู้ใหญ่ขึ้นไปตามวุ่นวายไปหมด ตกน้ำตกท่าเปียกไปหมด

ขากลับหมดแรง นอนหลับหนุนตักครูสุนามันตลอดทาง

ข้าพเจ้าถูกผู้ใหญ่ทูลฟ้องว่าซนมากที่สุดในขบวน ความรู้อะไรก็ไม่เห็นได้มา ที่ให้จดก็ไม่ได้จด แถมสมุดตกน้ำเปียก สมเด็จแม่ไม่กริ้วเลย ขำไปเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณหมอบุญส่งกับต้นกูดงอดแงด แต่ก็ไม่ให้ไปไหนอีก ทั้งๆที่คนที่ไม่เข็ดเลยก็คือคุณหมอบุญส่ง และพยายามจะขอพาข้าพเจ้าไปแก่งคอยอีก ซึ่งขอไม่สำเร็จ

ภายหลังข้าพเจ้าเรียนหนังสืออย่างอื่น ก็เลยอดดูนกเที่ยวป่า เจอคุณหมอบุญส่งน้อยลง คุณหมอยังให้หนังสืออยู่บ้าง

เมื่อข้าพเจ้าโต เรียนจบ ทำงาน คุณหมอบุญส่งป่วย ก็เลยไม่ได้ติดต่อกันอีก ข้าพเจ้าอยากไปเยี่ยม แต่ก็ไม่กล้ารบกวน เลยไม่ได้พบกันอีก ได้เพียงแต่รำลึกในโอกาสนี้ว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ให้คุณค่าแก่ชีวิตวัยเยาว์ของข้าพเจ้า เป็นความสุข สร้างความรู้ความคิด ที่เป็นพื้นฐานสำหรับการก้าวต่อไปในชีวิตในโลกกว้างแห่งนี้

 

~~~

ข้างต้นเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นสิริมงคลแด่หนังสือของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล “ชีวิตของฉัน ลูกกระทิง” เนื่องในโอกาสที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการบรรจุเป็นหนังสืออ่านเล่นนอกเวลาเรียน(จากคำนำลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๔) ที่เพิ่งมีโอกาสได้อ่านเป็นครั้งแรก

ให้นึกแปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกันว่าเหตุใดจึงไม่เคยได้ยินกิตติศัพท์หนังสือดีๆอย่างนี้มาก่อน

ไหนจะสำนวนเล่าง่ายๆอ่านแล้วเพลิดเพลินราวกับกำลังเดินป่าท่องไพรที่ไหนสักแห่งด้วยตัวเองของคุณหมอบุญส่ง…ที่เล่าเรื่องราวของชีวิตสัตว์ป่านานาชนิดผ่านการเจริญเติบโตเรียนรู้ชีวิตอื่นๆในป่าของตัวเอกซึ่งเป็นเจ้ากระทิงเกิดใหม่

แล้วไหนจะพระราชนิพนธ์อันหาค่ามิได้ของเจ้าฟ้าหญิงน้อยข้างต้นนี้อีก

ช่างน่าเสียดายที่หนังสืออันทรงคุณค่าอย่างนี้ได้หายไปจากวงการศึกษาไทย

 

 


ค้างคาว pteropus alecto : พาหะโรคติดต่อจากม้าสู่คน

2 ความคิดเห็น โดย putarn เมื่อ 14 สิงหาคม 2011 เวลา 5:55 (เย็น) ในหมวดหมู่ เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1808

 

หลายปีหลังมานี้ ที่นี่มีไวรัสตัวหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตทั้งคนทั้งม้า  

ซึ่งถ้าหากไม่มีการคุกคามถึงขั้นเสียชีวิตของสัตวแพทย์ที่ดูแลม้าเกิดขึ้น

เรื่องราวก็คงไม่ลุกลามใหญ่โตถึงเพียงนี้  

เรื่องของเรื่องก็สืบเนื่องมาจากตัวพาหะอย่างดีเช่นค้างคาวชนิดกินพืช pteropus alecto 

ที่เมื่อกินผลไม้คือเคี้ยวแปรรูปน้ำตาลในผลไม้ให้เป็นพลังงานเสร็จแล้วก็คายกากทิ้ง(เพื่อที่ตัวมันเองจะได้มีน้ำหนักเบาไม่เป็นอุปสรรคต่อการบิน)   

จากนั้นม้า(ที่เข้าใจว่าได้รับอาหารไม่เพียงพอ)ก็กินกากนั้นต่อ

นั่นหมายถึงมันต้องกินไวรัส Hendra ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำลายค้างคาวที่ตกค้างเข้าไปด้วย  

แล้วต่อมาผู้ที่ต้องคลุกคลีกับม้าเหล่านั้นเช่นคนเลี้ยงม้า หรือ สัตวแพทย์ ก็ได้รับไวรัสเข้าสู่ร่างกายเต็มๆเพราะปราศจากการสวมใส่เครื่องป้องกัน

และ กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว    

งานนี้มีรายงานการค้นคว้าออกมาอยู่เนืองๆหากยังไม่ประสบผลสำเร็จในแง่การควบคุมได้เด็ดขาดเพราะยังไม่ทราบว่า ทำไมหรืออะไรที่ช่วยให้ตัวพาหะอย่างค้างคาวไม่ได้รับอันตรายจากไวรัสชนิดนี้เลย              

ดังนั้นความหวาดผวาวิตกจริตก็จึงยังคงเขย่าขวัญผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจที่เกี่ยวกับม้าๆอันมีมูลค่ามหาศาลต่อไป   

แต่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องก็ไม่ยอมจำนนต่อปัญหาง่ายๆ

เพราะปีหน้าบรรดาม้าในอาณาบริเวณที่มีค้างคาวเจ้าปัญหาเหล่านั้นจะได้รับการฉีดวัคซีนแก้ไวรัสชนิดนี้ทุกตัว(ตอนนี้กำลังเร่งผลิตวัคซีนกันอยู่)       

โชคดีบ้านเราที่ไม่มีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น  

 

 

 


แม่มดเจ้าเสน่ห์

117 ความคิดเห็น โดย putarn เมื่อ 8 สิงหาคม 2011 เวลา 6:01 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2144

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อาเธอร์ถูกตัดสินประหารชีวิต

แต่กษัตริย์ทรงชี้แนะด้วยเมตตาว่าเขาจะเป็นอิสระถ้าหากเขาสามารถตอบปัญหาแสนยากข้อหนึ่งได้… 

“สิ่งที่ผู้หญิงต้องการจริงๆคืออะไร”

 

เขานำปัญหานี้ไปปรึกษากับนางแม่มดคนหนึ่ง

และโดยมีข้อแม้ว่าเขาต้องยอมแต่งงานกับเธอก่อน

หลังจากที่เขายอมตกลง นางแม่มดก็เฉลยคำตอบว่า…

“สิ่งที่ผู้หญิงต้องการจริงๆก็คือการได้เป็นตัวของตัวเอง”

 

ปรากฏว่าอาเธอร์รอดพ้นจากโทษประหาร

 

ตกค่ำของวันส่งตัว…

หญิงสาวแสนสวยนางหนึ่งก็เย้ายวนอาเธอร์อยู่เบื้องหน้า

ตอนหนึ่งเธอเอ่ยว่า…

เพราะอาเธอร์ช่างแสนดีกับเธอ ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจ ครึ่งหนึ่งของวันเธอจะอยู่ในสภาพที่น่ารังเกียจ และในอีกครึ่งหนึ่งของวันเธอจะอยู่ในเรือนร่างที่แสนสวยนี้

หากปัญหาก็มีว่า เวลาไหนเธอควรอยู่ในสภาพใด

เธอให้อาเธอร์เป็นคนตัดสินใจ
              

ช่างเป็นปัญหาที่โหดร้ายยิ่งนักสำหรับอาเธอร์ เขาจะตัดสินใจอย่างไรดี…

? หญิงสาวแสนสวยตอนกลางวันเพื่ออวดเพื่อนฝูงได้ หากแต่ตอนกลางคืนเมื่ออยู่สองต่อสองก็เป็นแม่มด

หรือ

? เขาควรจะเลือกให้เธอเป็นแม่มดตอนกลางวัน เพื่อที่จะได้มีสาวสวยเป็นเพื่อนเริงระบำในยามค่ำคืน 
              

ในที่สุด หลังจากที่ต้องคิดหนัก เขาก็จึงตัดสินใจไม่ตัดสินใจโดยบอกเธอว่า…

“ก็แล้วแต่คุณ ขอให้คุณเป็นผู้ตัดสินใจเองก็แล้วกัน”

 

สาวแสนสวยเมื่อได้ยินดังนั้น ก็จึงประกาศว่า…

เธอจะสวยตลอดเวลา เพราะอาเธอร์ได้ให้ความเคารพในการตัดสินใจของเธอและปล่อยให้เธอเป็นตัวของตัวเอง

 

(รอดตัวไปนะอาเธอร์ ;D)

 

 



Main: 0.080363988876343 sec
Sidebar: 0.00012898445129395 sec