อินกับหัวอกชาวนา
อ่าน: 1783ช่วงนี้คนรอบข้างแอบนินทาแม่ใหญ่ว่า แกไม่พูดเรื่องอื่น นอกจากเรื่องทำนา ใครจะนินทา ก็ชั่งเขาเถอะ เรากำลังได้เรียนรู้จริงๆ แต่ไม่ใช่แค่วิธีการปลูกข้าวต่างๆที่ทำการศึกษามาโดยลำดับเท่านั้น แต่ตอนนี้กำลังเรียนรู้ความรู้สึกของชาวนาจริงๆ ไม่ได้มาทำแล้วไม่รู้หรอก เหมือนคนไม่เคยกินน้ำตาล ไม่เคยกินมะดัน ใครบอกว่ามันหวาน มันเปรี้ยว ก็คงนึกไม่ออก
ตั้งแต่เริ่ม ปลูกต้นกล้า ในกระบะพลาสติค เฝ้า รอดูมันงอกวันละเล็กละน้อย จนครบสิบห้าวัน จนถึงวันที่พานักเรียนไปโยนเรียบร้อยไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว รู้สึกโล่งไปหนึ่งเปลาะ แต่ก็ยังติดตามไปดูทุกเย็น จนเห็นว่า กล้าที่โยนไป เริ่มตั้งตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่พบว่า พื้นนาที่เราให้เขาเอารถแทร๊กเตอร์มาไถและคราดนั้น ยังทำพื้นไม่ได้ระดับ เมื่อฝนตกมาคืนก่อนวันโยนกล้า จึงเกิดเป็นแอ่งตื้นๆ ไม่เป็นเทือกเรียบๆอย่างที่เราต้องการ ทำให้ต้นกล้าโผล่ขึ้นมาไม่เสมอกัน ( เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันในการทำนาคราวหน้า)
แต่เมื่อคืนนี้ ฝนตกหนักจริงๆ ตื่นกลางดึก พอรู้ว่าฝนตก ใจมันแว๊บไปที่นาทันที ข้าวเพิ่งตั้งตัว ฝนตกขนาดนี้ กล้าจะลอยไหมหนอ หรือว่ามันจะจมน้ำไปเลย ขณะที่เขียนนี้ ยังเช้าอยู่จึงยังไม่ได้ไปดู ประเดี๋ยวคงต้องออกไป แต่ได้รับความรู้สึกของชาวนาขึ้นมาเต็มๆว่า ”ฝนตกน้อยก็กลัวข้าวไม่ขึ้น พอฝนตกมาก ก็กลัวน้ำท่วมข้าว” เขาคงต้องมีความรู้สึกแบบนี้มาทุกครั้ง ทุกปี ที่เขาลงมือปลูกข้าว เพราะขั้นตอนแทบทุกอย่างของเขา ต้องขึ้นกับดินฟ้าอากาศเท่านั้น น่าเห็นใจจริงๆ
« « Prev : วันนี้ที่รอคอย (ภาค 1)
Next : ความภูมิใจของคนเป็นครู » »
11 ความคิดเห็น
“ไม่ได้มาทำแล้วไม่รู้หรอก” เป็นคำอมตะจริงๆ เห็นด้วยครับ การสัมผัสจริงเป็นประสบการณ์จริง ทำให้เราเข้าใจชีวิตชาวนามากขึ้น บางทีอธิบายไม่ได้ แต่เข้าใจได้ รู้สึกได้ จากรูปนั้นหากฝนไม่ตกซ้ำจนท่วม อีกสองวันต้นข้าวก็จะตั้งต้นเอง ไม่ล้มพับเช่นรูป ข้าวเป็นพืชมหัศจรรย์ ทน แกร่ง พอสมควรทีเดียวและต้นแค่นี้ แต่ให้เมล็ดที่เป็นอาหารเรามากมาย หากแม่ใหญ่เห็น “ข้าวฟางลอย” ภาคกลาง จะเห็นความมหัศจรรย์ของต้นข้าว ไม่ว่าน้ำจะลึกท่วมหัว เขาก็พยายามยืดตัวเองโผล่น้ำขึ้นมาจนได้ พอน้ำแห้งเขาก็นอนราบเมื่อเราไป ถกซังข้าวซึ่งภาคกลางจะเอาต้นข้าวนั่นแหละที่เกี่ยวเอารวมข้าวออกไปแล้วมาฝั้นเป็นเกลียวเอาไปใช้มัดฟ่อนข้าวต่อได้อีก ภาคอีสานใช้ “ตอก” ซึ่งสั่งเข้ามาจาก ลาว หรือภาคเหนือ ไผ่พื้นบ้านจะหมดแล้ว
หากข้าวแก่แล้วลองให้เด็กไปนับซิครับว่า ข้าว 1 รวงมีกี่เมล็ด…? ข้าวต่างพันธ์จำนวนเมล็ดก็ต่างกันไปอีก…
จุดประสงค์หลักของการทำเทือกก็เพื่อให้นามันเรียบเสมอกันนี่แหบะครับ ไม่งั้นบริเวณที่น้ำไม่ท่วมขังก็จะเกิดการงอกของหญ้าได้
ฝ่ากโจทย์แม่ใหญ่อีกเรื่องครับ ช่วยบันทึกเรื่องการเติบโตเป็นรายวันเลยนะครับ ผมสนใจอยากรู้ว่า การโยนมันจะทำให้ข้าว “ช้ำ” มากกน้อยเพียงใด คือถ้ามันช้ำมากในช่วงแรกๆ มันจะไม่เติบโต มันจะชะงักตัวนั้นเอง (นอนเลียแผล) ผมว่าทันน่าสนใจว่า การโยน การดำ การหยอดหล่น อย่างไหนจะโตไวกว่ากัน (นับแต่วันเริ่มหยอดเมล็ด) และอย่างไหนจะทนทานโรคกว่ากัน ผมเชื่อว่าหยอดหล่นจะมาที่ 1 นาดำจะมาที่สอง นาโยนที่สาม
ผลผลิต่อไร ก็หยอด ดำ โยน
ความเหนื่อยาก ดำ โยน หยอด
ถ้าผลออกมาแบบนี้ มันอาจช่วยเปลี่ยนโฉมการทำนาไทยก็ได้นะครับ
มานั่งคิดว่า มันน่าจะมีวิธีง่ายๆ ในการวัดความราบของเทือก เช่นในขณะเอาไม้ลากปาด เราก็มีสายยางใส่ลูกน้ำวัดระดับซ้ายขวาไปด้วย อย่าให้ไม้ปาดเอียง ถ้ามันเอียงเราต้องเร่งแก้ไขและอาจปาดซ้ำในบรเวณนั้น
ตอนนี้ผมได้ออกแบบเครื่องหยอดเม็ดข้าวแล้ว (ไม่ใช่หยอดหล่นนะครับ) จะยิ่งทำให้ง่ายลงไปอีก โดยจะปาดเทือกและหยอดเม็ดข้าวพร้อมกันไปเลย ก็เชื่อว่าจะทุ่นแรงไปอีกโขเลยครับ การหยอดจะหยอดเป็นหลุมนะครับ ดังนั้นผลที่ได้จะออกมาแบบนาดำ เรื่องหญ้าจัดการได้ดังที่ได้เคยอธิบายไปแล้วครับ โดยเฉพาะการปลูกแบบนี้รากไม่ช้ำโตเร็ว เราสามารถปลูกปลายกค.ได้ เพื่อให้หญ้างอกให้หมดเสียก่อน
พบข้อด้อยของนาโยนอย่างหนึ่งแล้วนะแม่ใหญ่ คือถ้าฝนมาเร็ว อาจลอยได้
เครื่องหยอดเม็ดข้าว ยังอยู่บนกระดาษครับ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ทำ (ขึ้นอยู่กับจะได้นศ.ไหม) อย่างเร็วสุดก็จะเริ่มทำเอาเดือนตุลาครับ อีกทางผมอาจขอทุนนวัตกรรมภายในของม. แล้วเอาไปจ้างเขาทำให้สิ้นเรื่องสิ้นราว
ทวิช
2 สค. ผมสอนช่วงเช้า บ่ายว่างครับ กลไกไม่ซับซ้อนมากนัก (ผมชอบทำอะไรทีมันง่ายๆ ซับซ้อนไม่ค่อยชอยอยู่แล้วครับ) แต่อาจต้องปรับแต่งแบบ ลองผิดลองถูกหลายครั้ง สำหรับข้าวสายพันธุ์ต่างๆ พอควร เพื่อให้มันหยอดได้ 2-4 เม็ด เพราะเม็ดข้าวมีขนาดไม่เท่ากัน ตั้งแต่หอมมะลิ ยันเจ๊กกระโดด ยังกะมดกะช้าง
แม่ใหญ่โทรมาเลยเด๊อครับ เอาตอนเย็นๆ ก็ได้ จากนั้นจะได้เลี้ยงส่งก่อนกลับเมืองไม้ขอน ร้านหน้ามอเปิดใหม่หลายร้านมาก แต่ผมยังไม่เคยไปกินสักร้าน จะได้อาศัยบารมีแม่ใหญ่ไปลองซดสักมื้อ …อ้อ..หนีบเอาพ่อใหญ่มาด้วยก็ดีนะ จะได้มาระลึกความหลังกันสักเอื๊อก อิอิ (เอ้าลืมไป ช่วงเข้าพรรษา ไม่เป็นไร สัตตหะ ได้ หุหุ )
แม่ใหญ่ครับ ฝากระวังปูกับหอยเชอรี่ด้วยเด้อครับ
แปลงนาสาธิตลุงเปลี่ยน ปีนี้พี่น้องมารายงานว่า “อาจาน นาเจ้าโดนกะปูไท กับหอยไทกัดหมดแล้ว” เลยบอกไปว่า บ่เปนหยังกะปูไทกัด เดี๋ยวคนไทยจะไปปลูกซ่อม