วันเกิด ที่ลืมไปได้!!!!

7 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 1 มิถุนายน 2011 เวลา 2:37 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1525

วันนี้เป็นวันที่ 1 มิถุนายน ตื่นขึ้นมา  ก็รู้สึกคล้ายๆกับวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในอดีต  แต่ก็นึกไม่ออกว่าเป็นวันอะไร  พอนึกไม่ออกก็จะ “ช่างมัน” เป็นอย่างนี้เสียทุกครั้ง  ที่นึกอะไรไม่ออก  ไม่ค่อยชอบขุดคุ้ย  อะไรผ่านมาก็ปล่อยให้มันผ่านไปดีกว่า  เอามายุ่งหัวสมองเปล่าๆ

นั่งเล่นเนตอ่านเวปโน้น เข้าเวปนี้ไปพลางๆเพราะช่วงเช้าจะว่างงาน ไม่ค่อยมีอะไรทำ   งานที่เกี่ยวกับโรงเรียนช่วงนี้  จะเป็นการเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มต่างๆ ตอนบ่ายโมงเสียเป็นส่วนใหญ่      อย่างวันนี้  ก็จะมีประชุมกับกลุ่ม อนุบาลอังกฤษ   ซึ่งเขาจะประชุมกันทุกวันพุธ   เข้าเนตก็ไม่ได้เล่นเฉยๆ  เจอเรื่องราวหรือบทความดีดี  ก็จะนำไปถ่ายทอดให้กับกลุ่มที่ประชุมด้วย 

 

ราวๆสิบเอ็ดโมง  ผ.อ. โจ๊ก โทรเข้ามาถามว่าแม่อยู่โรงเรียนสาขาศรีจันทร์หรือเปล่า  มีอะไรให้ดูหน่อย  ก็ตอบไปว่าอยู่ เพราะจะรอเข้าประชุม โจ๊กบอกแม่อย่าเพิ่งไปไหนนะ  มีอะไรมาให้ดู

และนี่คือ สิ่งที่โจ๊กเอาเข้ามาให้ดู 

แม่ใหญ่ถึงกับงงไปเลย  cake อันนี้  คุณพ่อของนักเรียนชั้นประถมหนึ่งท่านหนึ่ง คือคุณอริศร์   ยังประภากร  คุณพ่อของน้อง ไมก้า เป็นคนส่งมาให้  เพราะท่านจำวันเกิดของโรงเรียนได้  เนื่องจากครูโจ๊ก เพิ่งเอาไปทายปัญหาใน Patanadek Fanpage เมื่อหลายเดือนก่อน

ถ้าคุณพ่อไม่ได้ส่ง cake มาให้ สงสัยว่า วันนี้ พวกเราทั้งโรงเรียน คงจะลิมวันนี้ไปเสียแล้ว

เราไม่เคยได้ฉลองวันเกิดหรือที่เรียกว่าวันครบรอบปีของโรงเรียน   เพราะจริงๆโรงเรียนควรจะเปิด วันที่ 17 พฤษภาคม 2520   แต่ในปีนั้น โรงเรียนเรายังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์  เลยต้องขอ เลื่อนวันเปิด ไปอีกสองอาทิตย์  ดังนั้น เราจึงจำได้ แต่ปี พ.ศ. ที่เปิด   ไม่ได้จดจำวันที่สักเท่าไหร  การฉลองก็เลยไม่ได้ทำเพราะเป็นวันเปิดเรียน ทุกๆคนก็ทำงานกัน จนไม่เคยได้ฉลอง 

แต่วันนี้ คุณอริศร์ได้มา เตือนความทรงจำของแม่ใหญ่อย่างจัง

พูดถึง คุณอริศร์   อยากจะขอชื่นชมสักหน่อย   คุณอริศร์ เป็น คุณพ่อที่น่ารัก เอาใจใส่ ลูกเป็นอย่างดี  และชอบโรงเรียนของเรามากๆ มาร่วมกิจกรรมของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ  แต่……..เรื่องที่จะชื่นชมนี้  ไม่ใช่ เรื่องที่ว่าคุณอริศร์ เป็นผู้ปกครองที่ดี

คุณอริศร์   เกิดมาจากครอบครัวคนจีนโพ้นทะเล ที่เข้ามาสร้างเนื้อสร้างตัวในเมืองไทย   มีโรงสี มีฟาร์มจรเข้   ทำธุรกิจจนมีกิจการมั่นคงอยู่ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น  วันหนึ่งเมื่อเอาลูกมาฝากเรียนที่โรงเรียน   ได้ไปเห็นในรายชื่อ บุคลากรของโรงเรียนว่า แม่ใหญ่ นามสกุล “สุวรรณศร” ก็พยายามถามหาว่า คนไหนคือแม่ใหญ่  เพราะแม่ใหญ่ในช่วงห้าหกปีหลังนี้  ไม่ได้เข้าไปประชุมกับผู้ปกครองเลย มอบหน้าที่ให้ลูกๆเป็นคนดำเนินการ โดยตลอด

แม่ใหญ่ก็ไม่ได้นึกอะไรมาก    คิดว่า เขาน่าจะเป็นลูกศิษย์เก่า หรือไม่ก็ เป็นเครือญาติห่างๆ ที่มีเชื้อสาย “สุวรรณศร”มาด้วยกัน ถึงได้มาถามหา   แต่ก็ไม่ได้พบกันจนแล้วจนรอด   เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา แม่ใหญ่ได้รับของขวัญ เป็นกระเป๋าใส่สตางค์ หนังจรเข้ อย่างดี จากคุณอริศร์ จนแม่ใหญ่ต้องไปถามหาตัว เพื่อจะขอบคุณ    แต่ก็ยังไม่ได้เจอตัวกันอีก จนวันหนึ่งขณะเดินเล่นอยู่ที่ central ขอนแก่น  ก็มีชายหนุ่ม  หน้าตาดีคนหนึ่ง  ใส่แว่น  มีลักษณะผิวพรรณ บอกว่าเป็นเชื้อสายจีน  เข้ามาสวัสดี และแนะนำตัวเอง  บอกว่าเป็นคนที่ตามหาแม่ใหญ่ และที่แม่ใหญ่ตามหานั่นเอง

แม่ใหญ่ถือโอกาส ขอบคุณที่เขาส่งของขวัญปีใหม่มาให้  แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าเราเคยรู้จักกันมาก่อนที่ไหน  ลองถามเขาว่าเคยเรียนกับแม่ใหญ่ที่ ม.ข. หรือเปล่า ก็ไม่ใช่  คุณอริศร์ได้เฉลยข้อสงสัยที่ทำให้แม่ใหญ่อึ้ง คือ

” ผมมีความผูกพันกับนามสกุล”สุวรรณศร” เพราะพลตำรวจตรี ชัย สุวรรณศร  ผู้การสันติบาลในสมัยนั้น  เป็นคนเซ็นต์ในใบอนุญาตต่างด้าวของคุณปู่ผม จนทำให้คุณปู่สามารถเข้ามาทำมาหากินได้ในประเทศไทยได้   ใบอนุญาตที่มีลายเซ็นต์ ผมยังเก็บใส่กรอบมาไว้จนทุกวันนี้”

แม่ใหญ่ก็เลยถึงบางอ้อ  ด้วยประการนี้แล  จริงๆแล้ว  พลตำรวจตรีชัย สุวรรณศร  ซึ่งเป็นอาของแม่ใหญ่  ก็คงทำไปตามหน้าที่แท้ๆ  แต่ทำไมคนๆนี้จึงมีความรู้สึกเหมือนกับเป็นบุญเป็นคุณต่อครอบครัวของเขาได้ถึงเพียงนี้

ความกตัญญูรู้คุณคน   เป็นลักษณะประจำตัว ประจำชาติ ของคนจีนจริงๆ  แม้คุณอริศร์จะเกิดและโตในประเทศไทยก็ยังได้รับอิทธิพลในเรื่องนี้ติดตัวมาอย่างไม่เสื่อมคลาย

และมาวันนี้อีกเช่นกันที่ คุณอริศร์  ทำให้แม่ใหญ่อึ้งอีกเป็นครั้งที่สอง ด้วยการนำ cake วันเกิดโรงเรียนมามอบให้  ประเดี๋ยวตอนบ่ายสามโมงวันนี้    จะเชิญบรรดาผู้บริหาร(ลูกๆ)  มาร้องเพลง Happy Birthday ให้โรงเรียนกันเสียหน่อยแล้ว  ไม่เคยฉลองมาตั้งสามสิบกว่าปีแล้ว ต่อไปนี้ คงจะต้องฉลองกันทุกๆปีเสียแล้ว

ขอให้คุณอริศร์และครอบครัวมีความสุขความเจริญด้วยนะคะ

 


สภาการศึกษา ก็สนใจ การศึกษาเอกชน(เหมือนกัน)

1 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 เวลา 12:18 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1958

เป็นเรื่องน่ายินดี  ทีทางสภาการศึกษาหยิบยกเอา ร่าง “ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษา”  เข้าระเบียบวาระ  เรื่องที่จะพิจารณา  เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554   ในร่างดังกล่าว  ได้อ้างไว้ในบทนำ  ถึง

  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550  ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาเอกชนทุกประเภท ได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐฯ
  • พรบ.การศึกษา พ.ศ. 2545 กำหนดให้เอกชนสามารถจัดการศึกษาอย่างอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตามและประเมิน คุณภาพเช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐบาล และให้ส่งเสรืมการมีส่วนร่วม สนับสนุนด้าเงินอุดหนุน  ยกเว้นภาษีและสิทธิประโยชน์  สนับสนุนด้านวิชาการให้สถานศึกษาเอกชนมีมาตรฐาน และพึ่งตนเองได้
  • กฎกระทรวง พ.ศ. 2548  กำหนดให้ สช.อันเป็นหนวยงานของรัฐฯ   มีหน้าที่ส่งเสริมประสานงาน เสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนพัฒนา ตลอดจนกำหนดกฎ ระเบียบ และเกณฑ์มาตรฐาน  สนับสนุนด้านวิชาการ การประกันคุณภาพ  คุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ของครู กำหนดให้ เขตพื้นที่การศึกษา ส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนเอกชนในเขตรวมทั้ง ประกาศใช้  พรบ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550

(หมายเหตุ  ถ้อยคำต่างๆของกฎหมายนี้เป็นการสรุปของแม่ใหญ่เอง  เพราะไม่อยากยกเอาภาษากฎหมายยาวๆมาให้อ่านกัน  ท่านผู้ใดสนใจอยากเปิดดูกฎหมายตัวจริง    ให้ไปเปิดหาเอาใน google เองก็แล้วกัน)

 กฎหมายทั้ง 4 ฉบับ  ล้วนแล้วแต่มีความสอดคล้องกัน นั่นคือให้รัฐ ส่งเสริม สนับสนุน  เพื่อให้การศึกษาเอกชนดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด   

 แต่ในความเป็นจริง  ได้ก็มีการออกกฎ ออกระเบียบ ที่มีระบุใน พรบ.การศึกษาเอกชน พ.ศ. 2550  หลายกฎเกณฑ์บีบบังคับโรงเรียนเอกชน  แทบจะไมให้หายใจ  อาทิเช่น 

  • ให้ทุกโรงเรียนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  
  •  ให้ยกที่ดินเดิมที่เป็นของส่วนตัวให้เป็นของนิติบุคคล 
  •  ให้แบ่งสัดส่วนกำไร เพื่อพัฒนาโรงเรียนตามกำหนด (จำไม่ได้แล้วว่ากี่เปอร์เซ็นต์ เพราะในความเป็นจริง  เราใช้พัฒนาโรงเรียนมากกว่านั้น) 
  • ให้ครูต้องมีใบประกอบวิชาชีพ (จนเกิดการซื้อใบ ป.บัณฑิตครูกันอย่างกว้างขวาง)
  • ให้ผู้บริหารต้องจบปริญญาโททางบริหารการศึกษา (จนมีนักการเมืองที่รู้แกว เปิดมหาวิทยาลัย เพื่อสนอง กฎข้อนี้  มีลูกค้าเป็น ผู้บริหารที่ไม่มีวุฒิ  มาเรียนวันเสาร์อาทิตย์  แบบที่เขาเรียกกันว่า “จ่ายครบ จบแน่”  แต่เรียนครบหรือไม่นั้น  ไม่ทราบ )  
  •  ให้ครูชาวต่างประเทศต้องมีวุฒิทางครู  หรือมาสอบเอาใบประกอบวิชาชีพครู   มิฉะนั้นไม่ต่อวีซ่าให้  กฎเหล็ก  ข้อนี้เป็นกฎที่ไล่ฝรั่งไปทำมาหากินที่ลาว เขมร ญี่ปุ่น เกาหลี  เกือบค่อนประเทศ   เพราะฝรั่งที่จบครูแท้ๆตามเมืองนอก เขาก็ไม่ค่อยพออยู่แล้ว  โอกาสที่จะหลุดมาเมืองไทยย่อมน้อยมาก จนเกือบจะไม่มี   
  • ฯลฯ  และอื่นๆอีกหลายประเด็น  แม่ใหญ่เล่าเท่าที่จำได้ สมัยที่ยังบริหารโรงเรียนอยู่เมื่อหกปี่แล้ว  มาถึงตอนนี้ อาจจะมีกฎ หรือระเบียบ   ที่เขียนขึ้นแบบไม่ดูตามม้าตาเรือ   ออกมาอีก ก็เป็นได้

ถึงแม้จะถูกบีบและมีข้อจำกัดอย่างไรก็ตาม     ผลการประเมินวัดผล  ระดับประเทศ ก็ยังแสดงว่า  ค่าเฉลี่ย  NT. (National Test)  ของเด็กนักเรียน ตั้งแต่ระดับ  ประถม  จนถึงมัธยม ของโรงเรียนเอกชน ยังสูงกว่า โรงเรียนรัฐบาลอยู่ดี

นั่นเป็นเพราะว่า   โรงเรียนเอกชนของเรา   ต้อง ส่งเสริม ประเมิน และประกันคุณภาพ ของตนเองอยู่แล้ว  เพราะผู้ปกครองที่เป็นลูกค้าของเรา เขาจ้องเราอย่างใกล้ชิด   ถ้าโรงเรียน ไม่ดีจริง   เขาก็คงไม่ส่งลูกเขามาเรียนกับเรา 

แต่เมื่อ สภาการศึกษาแห่งชาติ  ได้มีความพยายาม   นำเรื่องโรงเรียนเอกชนมาเข้าวาระ  และถึงกับยกร่าง  “ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษา”  ขึ้นมานี้   จึงนับว่าเป็นเรื่องดี 

ก็ได้แต่หวังว่า สภาการศึกษาแห่งชาติ   คงไม่เป็นเพียง  “เสือกระดาษ” ทีวาดแผนดีดี ออกไป  แล้วปฏิบัติไม่ได้  ในความเป็นจริง  เพราะเท่าที่อ่าน ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการ  ก็ไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่มากนัก  ได้มีความพยายามทำกันมาตั้งแต่สมัยปฏิรูปการศึกษา แล้ว  แต่อะไรๆมันก็ยังเป็นอย่างที่เห็นๆกันอยู่นี้แล

(ต้องขอขอบคุณผู้มอบรายงานการประชุม ของสภาการศึกษาแห่งชาติ  ณ  วันที่ 6 พฤษภาคม 2554   มาให้อ่านด้วยนะคะ)

 


เอาของเก่ามาเล่าใหม่

1 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 6 พฤษภาคม 2011 เวลา 7:18 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1481

บทความนี้เขียนใน gotoknow ตั้งแต่สองปีที่แล้ว  ตอนที่ย้ายแผนกอนุบาลไทยไปไว้อีกที่หนึ่ง ซึ่งเราไปซื้อกิจการโรงเรียนเดิม  ที่เขากำลังจะเลิกกิจการ   พร้อมทั้งเช่าพื้นที่ โดยทำสัญญา สิบปี  สถานที่แห่งเดิมคับแคบที่เล่นเด็กไม่พอ จะสร้างใหม่ ทุนรอนก็ยังไม่อำนวยจึงไปเช่าเขามาปรับปรุงดีกว่า

ซื้อกิจการโรงเรียนเก่า ต้องรับเหมาครูเขามาด้วย  5 คน  กับเด็กที่เหลืออีกราว 30 คน  แม่ใหญ่จึงต้องปรับปรุงและจัดการสัมนาครูเก่าและครูใหม่ให้ทำงานร่วมกันตามแนวของ “พัฒนาเด็กทางสายกลาง ”  ตามชื่อของบล๊อกนี้ใน gotoknow   กลับไปอ่าน แล้วก็ยังชื่นใจ  ที่มาวันนี้เราเห็นผลจากครู 5 คนที่มาอยู่กับเรา  และได้รับการสนับสนุนพัฒนา อย่างต่อเนื่อง  ทุกวันนี้ เขาเป็นครูพัฒนาเด็กที่เรารู้สึกภูมิใจได้อย่างเต็มตัวแล้ว

และนี่ คือบทเริ่มต้น….

พัฒนาเด็กทางสายกลาง

ละลายพฤติกรรม
ได้จัดสัมนาเชิงปฎิบัติการให้กับครูและครูผู้ช่วยทุกท่าน ในหัวข้อ “พัฒนาเด็ก ทางสายกลาง”ไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อให้ครูจากโรงเรียนเดิมที่มีอยู่ 5 คน และครูของโรงเรียนพัฒนาเด็กที่ย้ายมายังสถานที่แห่งใหม่ ได้รู้จักมักคุ้นกันยิ่งขึ้น ก่อนเริ่มงานด้วยกันในปีการศึกษาหน้า
       กิจกรรมเริ่มจาก การรู้จักตนเอง ด้วยการให้เขียนฉายาที่เหมาะกับตนเอง ใส่กล่อง ให้เพื่อนหยิบออกมา แล้วทายว่าเป็นใคร ให้เจ้าตัวให้เหตุผลว่าทำไมถึงตั้งฉายาเช่นนั้น ใช้เวลาไม่นานในกิจกรรมนี้ แต่ก็ทำให้ได้เห็นตัวตนของแต่ละคนได้ ไม่น้อยเลยทีเดียว
         ต่อมาเป็นกิจกรรมให้รู้จักสมองของเด็ก รู้ว่าเด็กใช้สมองส่วนไหนเรียนรู้ และข้อมูลต้องมีความหมายอย่างไร เด็กจึงจะเรียนรู้ได้อย่างดี เมื่อรู้ทฤษฎีแล้ว ก็หาตัวอย่างมาให้คุณครู ลองสำรวจตัวเองว่ามีความโน้มเอียงไปทางสมองซีกซ้ายหรือซีกขวา แล้วก็สรุปว่าครูแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เวลาสอนจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิธีการเรียนรู้ของแต่ละคนด้วย     
          กิจกรรมช่วงบ่าย เป็นกิจกรรมนวด กิจกรรมกอด ซึ่งให้ครูรัน หนุ่มเดียวในกลุ่มครูสาวๆเป็นผู้นำ โดยใช้เพลงเป็นตัวนำการนวดการกอด ซึ่งกิจกรรมสามารถนำไปใช้กับเด็กๆได้ ให้ครูสรุปถึงประโยขน์ของการสัมผัสอย่างใกล้ชิดว่ามีประโยชน์อย่างไร หรือไม่ แล้วให้ถามตัวเองว่า สอนเด็กเป็นเทอม เคยไหมที่ไม่ได้กอดเด็กๆเลยสักครั้งเดียว
          หลังจากเป็นกิจกรรมเบาๆมาบ้างแล้วก็ถึงกิจกรรมหนักไปทางวิชาการ ด้วยการแนะนำให้ครูทั้งหลายได้รู้แนวการสอนของโรงเรียนพัฒนาเด็ก ครูหลายคนก็รู้อยู่แล้ว จึงไม่ได้เน้นมากนัก ให้รับทราบแบบทบทวน ว่าโรงเรียน  “สอนให้คิดมากกว่าจำ และทำมากกว่าพูด” แต่มีเบื้องหลังเป็นหลายๆทฤษฏี เช่น ของ Montessori, Neo-humanist, Whole Language and Project Approach โดยนำมาประยุกต์เป็น “พัฒนาเด็กทางสายกลาง” เพื่อให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย
           การสัมนาเป็นไปอย่างสนุกสนานไม่เครียด แม่ใหญ่สรุปตบท้ายด้วย เรื่องศิลปการพบผู้ปกครอง ซึ่งถือเป้นศิลปขั้นสูงของครูโรงเรียนอนุบาล ทำอย่างไรจะให้ผู้ปกครองไว้ใจ สบายใจ จะพูดอย่างไรเมื่อต้องบอกผู้ปกครองว่าลูกของเขามีพฤติกรรมที่ต้องปรับปรุง ต้องเตรียมการอย่างไรบ้างก่อนที่จะพบผู้ปกครองในวันประเมินฯลฯ ซึ่งหัวข้อนี้ สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตนั้นมักจะไม่ค่อยได้สอน แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องยากทีเดียวในชีวิตการเป็นครูอนุบาล ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับปีการศึกษาหน้า ตรงกับความเชื่อที่ว่า เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
กลับไปอ่านเจอ  แล้วเลยไปก๊อบปี้มาเผยแพร่อีกสักครั้งในลานปัญญา คงจะไม่โบราณเกินไปนะคะ


ประเมินครู

3 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 6 พฤษภาคม 2011 เวลา 6:19 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1418

และแล้วก็มาถึงวันประเมินการขึ้นเงินเดือนครูประจำปีการศึกษา 2553   ที่อื่นๆเขาทำกันอย่างไรไม่ทราบ แต่ที่นี่ เราล้อมวงกันคุยทั้งผู้บริหารและครูในแผนกนั้นๆ รวมทั้งผู้ช่วยครูด้วย  บรรยากาศก็นั่งๆนอนกันตามสบาย  มีเครื่องมือเป็นกระดาษหนึ่งแผ่น   ดังตัวอย่าง

ชื่อครู

วันทำงาน(๕)

ความร่วมมือทั่วไป(๕)

รู้จักเด็กเอาใจใส่เป็นรายบุคคล(๕)

มนุษยสัมพันธ์กับผู้ปกครอง(๕)

มนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (๕)

ความสนใจใฝ่ เรียนรู้เพิ่มเติม(๕)

ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในกิจกรรม(๕)

การจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ(๕)

งานเอกสารต่างๆ(๕)

งานวิจัย

(๕)

รวมคะแนน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แล้วเราก็ขอให้คุณครูเล่าสิ่งที่ตัวเองทำ มีหลักฐานมาประกอบ  การเล่า(เพื่อป้องกันการโม้เกินเหตุ)   เป็นการมองตัวเอง ในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา ให้คะแนนตัวเองลงในช่องต่างๆ  ตามที่ตัวคิดว่าควรจะได้  คนอื่นๆก็ฟังแล้วให้คะแนนตามความคิดของผู้ฟังตามที่ได้ยินและได้เคยสัมผัสมาด้วยวิจารณญาณของแต่ละคน

คนหนึ่งให้พูดประมาณ 15-20 นาที  ถ้าใครทำท่าจะเกิน  ก็จะมีระฆังธิเบตเสียงหวานๆเคาะพอให้รู้ตัว

แผนกหนึ่งมีคนเข้าร่วมประเมินไม่มาก 12-15 คน  ดังนั้นเราจึงได้ฟังกัน ได้เต็มที่  มีอาหาร ว่าง กาแฟ ไว้ให้ไปหยิบทานได้อย่างอิสระ   ดังนั้นทุกคนจึงพูดอย่างสบายๆไม่มีเรื่องอะไรมาทำให้ต้องตื่นเต้นจนพูดไม่ถูก

ใช้เวลาเพียง 9 โมงถึงเที่ยง สำหรับกลุ่มอนุบาลอังกฤษ  หรือที่เราเรียกว่า KG. (kindergarten)  ช่วง 11 โมง เราให้ครูและผู้ช่วยใหม่เข้ามานั่งฟังด้วย  เขาจะได้ทราบว่าปีหน้าเขาต้องเข้ามาทำแบบนี้เหมือนกัน

กลุ่มอนุบาลไทย เริ่มตอนบ่ายโมงครึ่ง  ไปจบเอาราวๆสี่โมงเย็น  บรรยากาศก็ไม่แตกต่างจากตอนเช้า ครูอนุบาลไทยเราค่อนข้างมีอายุ ไม่ซิ่งเหมือนครูภาคภาษาอังกฤษ เพราะสอนมาคนละ 20-30 ปีแล้ว แต่คารมคมคายตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆที่นำมาเล่า ก็ไม่เบาเหมือนกัน

ใบประเมิน  ของแต่ละแผนก    นำมาคำนวณโดยผู้บริหาร    รวมคะแนนจากผู้ประเมินที่ให้คะแนนครูแต่ละคน  แล้วหารด้วยจำนวนผู้ประเมิน   ออกมาเป็นคะแนนเฉลี่ยเท่าไหร่  ก็เรียงลำดับคะแนน  ผู้บริหารนำมาพิจารณาอีกครั้ง  โดยเทียบจากคะแนนปีที่แล้วของแต่ละคนในแต่ละหัวข้อด้วย เพื่อจะดูว่า  ครูได้พัฒนาจากปีที่แล้วไปบ้างหรือไม่   ไม่ได้ดูแค่คะแนนรวมอย่างเดียวเท่านั้น    ใครจะได้ สองขั้น ขั้นครึ่ง หนึ่งขั้น  ก็ว่ากันไปตามเกณฑ์ที่โรงเรียนมีไว้แล้ว  บางปีไม่มีครูได้ขั้นเดียวสักคน    เพราะคะแนนเกินเกณฑ์ไปเสียทุกคน เลยได้ขั้นครึ่งกับสองขั้นไปทั้งแผนก

ด้วยการประเมินแบบนี้ ครูก็สบาย ผู้บริหารก็สบาย ทุกอย่างโปร่งใส ไม่มีข้อกังขา

ข้อที่คะแนนอ่อนที่สุดสำหรับเกือบทุกคน  และเขาเองก็ยอมรับ  ก็คือเรื่อง  การสนใจไฝ่เพิ่มเติมความรู้  กับเรื่องงานวิจัย  ครูบอกว่า ทุ่มเทกับเด็กและการสอน จนไม่มีเวลาไปทำสองเรื่องดังกล่าว  แต่แม่ใหญ่ก็บอกไปว่า คุณครูไม่ควรจะอยู่กับที่นะ เพราะมันจะเหมือนถอยหลัง สมัยนี้ การหาความรู้มันหาได้ไม่ยาก  ควรให้ความสนใจหน่อย คอมพิวเตอร์ก็มีไว้ให้ทุกห้องแล้ว  เข้าไปดูอย่างอื่น เช่น ลานปัญญา (แอ้ม..โฆษณาเสียหน่อย)        นอกจากเฟสบุคบ้างก็ได้นะจ๊ะ……จะบอกให้

ขอส่งท้ายด้วยเรื่องต่อเนื่อง……หลังจากที่แม่ใหญ่ วิ่งหาครูอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่สองวัน  ….ในที่สุดเราก็ได้ ครูศิลปจบการศึกษาคณะศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาเรียบร้อยแล้ว  ไชโย  รอดไปอีกปี

 


โดนอีกจนได้

3 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 4 พฤษภาคม 2011 เวลา 3:17 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1357

กลับเข้าเรื่องโรงเรียนอีกครั้ง พร้อมเสียงบ่นกระปอดกระแปด ประสาคนแก่นะ   ใครขี้เกียจอ่านก็ข้ามไปเถอะค่ะ  ขออนุญาตบ่นสักหน่อย  

ครูที่ลาไปสอบบรรจุสองคน   ตกลงไม่ติดทั้งคู่ กลับมาเข้าทำงานตามปกติเหมือนที่คุยกันไว้ เด็กสองคนนี้ ไปลา มาไหว้  เราก็ชื่นชม และยินดีต้อนรับกลับมา แม้ว่าจะรับครูใหม่ไว้แล้วเรียบร้อยก็ตาม   เราก็ไม่อยากปฏิเสธครูเก่า เพราะเราฝึกฝนเขามาตั้งสี่ปีแล้ว  เรื่องอะไรจะปล่อยให้ไปหางานที่อื่น  มีครูดีดี  แม้ ตำแหน่งงานจะล้นไปหน่อย  ก็ไม่เป็นไร เป็นผลดีกับเด็กอยู่แล้ว

แต่เรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นจนได้  เมื่อครูศิลป ที่ทำงานกับเราได้สองปี  กระมิดกระเมี้ยนมาแจ้งเมื่อวานว่า   “หนูไปสอบบรรจุได้แล้วค่ะ ขอลาออก”   แม่ใหญ่ปรอทแตกดังเปรี๊ยะไปชั่วขณะ  แต่ไม่นานก็เรียกสติกลับมาทัน  แล้วก็ปลงกับตัวเองว่า ยังดีที่มาบอกเมื่อวานนี้ ทำให้เรายังมีเวลาอีก  13 วันที่จะวิ่งหาครูเข้ามาแทนตำแหน่งนี้  

วันนี้ก็เลยติดต่อหาครูทั้งวัน  โดยโทรไปหาคนที่เคยรู้จัก  และอยู่ในแวดวง หลายๆคน  ให้ช่วยป่าวประกาศ ว่าเราจะรับสมัครครูศิลป  ลงประกาศในเฟสบุค   ประกาศตามเวปไซด์หางานต่างๆ    และเข้าไปพบหัวหน้าภาควิชาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ซึ่งท่านก็น่ารักมา ขอเบอร์โทรศัพท์แม่ใหญ่เอาไว้     บอกว่าจะติดต่อลูกศิษย์ที่เพิ่งจบใหม่ให้โดยด่วน ภายในวันศุกรที่จะถึงนี้

ก็หวังว่า  เราจะได้ครูสมใจก่อนวันเปิดเทอม 18 พฤษภาคม นี้

 บ่นไปยังงั้นเอง  แต่แม่ใหญ่ก็คิดแผนสองแผนสามเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อแก้สถานการณ์  หากไม่มีใครมาสมัครจริงๆ  เรายังมีครูที่ไม่ได้จบโดยตรง แต่เก่งศิลป  อีกหลายคน  ถ้ามันจำเป็นนัก ก็คงต้องขอโยกเอามาขัดตาทัพไปก่อน 

การทำโรงเรียนเอกชน จะจ้างครูให้พอดีๆกับห้องไม่ได้ ต้องมีตัวสำรอง  เกินๆเอาไว้เสมอ  จับพลัดจับผลู เกิดปัญหาอะไรขึ้นมา  จะได้มีทางแก้ขัดไปได้ 

นึกถึงเมื่อตอนเปิดโรงเรียนใหม่ๆ ที่รับตำแหน่งทีเดียวสามตำแหน่ง คือ ผู้รับใบอนุญาต  ครูใหญ่ และ ผู้จัดการ  วันไหนครูขาดก็เข้าสอนแทน  วันไหนคนรถขาดก็ไปขับแทน  แม้แต่ภารโรงขาด ยังต้องไปกวาดถูด้วยก็เคย   แต่ตอนนั้นเด็กยังน้อย ครูก็ไม่มากคนนัก  สังขารก็ยังอำนวย  เลยทั้งวิ่งทั้งกระโดดได้เต็มที่   ทำอะไรมันสนุกไปหมด ไม่เคยท้อ ไม่เคยถอย ไม่รู้สึกเป็นเรื่องลำบาก 

 34 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก    นึกขึ้นมาอีกที ปัญหาที่เพิ่งบ่นไปข้างบนนั้นมันก็จิ๊บจ้อยนะ  ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อตอนเริ่มก่อร่าง สร้างโรงเรียน

แต่บ่นแล้วบ่นเลย ไม่ลบทิ้งหรอก  ไหนๆก็เขียนมาจนจบแล้ว



Main: 0.33337092399597 sec
Sidebar: 0.084315061569214 sec