ฝีมือคนไทย
อ่าน: 4024ในการไปประเมินผลการอบรมหลักสูตรการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน (CBM - Community Based Solid Waste Managemant) ที่ไปเป็นวิทยากรให้องค์การบริหารหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) Designated Areas of Sustainable Tourism Administration -DASTA และสำนักงานให้ความร่วมมือทางวิชาการของสหพันธรัฐเยอรมัน – GTZ ซึ่งจัดในพื้นที่ที่สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งพื้นที่เป้าหมายหลักคือเกาะช้าง เกาะกูดและเกาะหมาก
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นการติดตามงานที่เกาะช้าง ช่วงเช้าก็ไปติดตามดูผลงานที่ Amari Hotel ซึ่งเดิมทางโรงแรมก็เริ่มดำเนินการคัดแยกขยะอยู่แล้ว แต่หลังจากที่ทางโรงแรมส่งพนักงานไปอบรม ก็มีความชัดเจนในการดำเนินงานมากขึ้น ที่ชัดเจนก็คือมีการคัดแยกขยะอินทรีย์โดยเฉพาะเศษกิ่งไม้ใบหญ้าและเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก ทำให้ทางโรงแรมมีขยะให้เทศบาลมาเก็บน้อยลง แถมลดการใช้ปุ๋ยคอกลงเดือนละ 2 ตัน ประหยัดลงเดือนละ 2,600 บาท นอกจากนี้ทางโรงแรมยังสนใจที่จะทำไบโอก๊าซจากเศษอาหารอีกด้วย ซึ่งทางโครงการก็จะสนับสนุนทางวิชาการต่อไปอีกด้วย
แต่ที่จะเล่าให้ฟังเป็นเรื่องของการหมักปุ๋ยของทางโรงแรม ซึ่งเดิมพนักงานที่ไปอบรมก็หมักแบบต้องกลับกอง แต่เบื่อต้องกลับกองปุ๋ยก็เลยประยุกต์วิธีไปเป็นแบบไม่ต้องกลับกอง ในการอบรมเคยแนะนำการทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศของผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูล ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ (จอมป่วนก็เคยไปอบรมเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ แถมได้ประกาศนียบัตรมาด้วยนะ อิอิ ) แต่ระบบของอาจารย์ได้รับรางวัลจากสภาการวิจัยแห่งชาติด้วยวิธีนี้ต้องใช้ปั๊มอัดอากาศเข้าไปในกองหมักด้วย เรียกตามหลักวิชาการว่าเป็นแบบ Active Aerated Static Method
พนักงานของโรงแรมก็เลยประยุกต์บ่อหมักปุ๋ยเอง เป็นแบบไม่ต้องกลับกองปุ๋ย แถมไม่ต้องใช้ปั๊มอัดอากาศเข้าไปในกองหมัก ซึ่งเป็นแบบที่ทางเทศบาลนครพิษณุโลกได้ทำการศึกษาทดลองไว้ ทางวิชาการเรียกว่าเป็นแบบ Passive Aerated Static Method
พอเห็นแป๊บก็นึกถึงบ่อหมักปุ๋ยที่เคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียตนามซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญฝรั่งไปเป็นที่ปรึกษาให้ แหมช่างคล้ายคลึงกันเหลือเกิน รู้สึกทึ่งในภูมิปัญญาของคนไทยมาก เลยเอารูปเปรียบเทียบกันมาให้ดูฝีมือคนไทยครับ
« « Prev : เรื่องเล่าจากเกาะหมาก
Next : แว๊บนึง » »
9 ความคิดเห็น
อัดอากาศร้อนหรืออากาศเย็นจะดีกว่ากันครับ
วิธีใช้ปั้มลม น่าสนใจถ้าจะพัฒนาไปสู่เรื่องงการทำปุ๋ยมูลสัตว์
ตามทฤษฎี จะควบคุมอุณหภูมิของกองหมักให้อยู่ระหว่าง 90-140 องศาF ความชื้นอยู่ที่ 40-60% ครับ
ปกติถ้าทำถูกวิธีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ลมร้อน แต่ถ้ามีลมร้อนก็จะเป็นประโยชน์ในบางกรณี เช่นความชื้นสูงไป เช่นโดนฝนมากๆกรณีที่หมักไว้กลางแจ้ง หรือวัสดุที่ใช้หมักมีความชื้นสูงมาก ฯ
การทำจะเน้นใช้พลังงานน้อยที่สุด อิอิ
การเลือกวิธีที่ใช้ก็มีข้อควรพิจารณาหลายประเด็นครับ
เลือกวิธีที่ประหยัด ทำง่าย เน้นการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายน้อยครับ
-ความจริงการทำปุ๋ยหมักหรือการหมักวัสดุอินทรีย์นั้น ขบวนการย่อยสลายที่เกิดขึ้นต้องมีจุลินทรีย์(micro organism)เป็นพระเอก ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในดินและอากาศค่ะเป็นตัวย่อยสลาย ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้จะมีทั้งชนิดใช้อ๊อกซิเจน(aerobic micro organism)และไม่ใช้อ๊อกซิเจน(anaerobic micro organim) แต่ขบวนการย่อยสลายปุ๋ยหมักหรือวัสดุอินทรีย์นั้นเราต้องการกิจกรรมที่เกิดจากจุลินทรีย์กลุ่มใช้อ๊อกซิเจน(aerobic micro organism)มากกว่า และเวลาเกิดการย่อยสลายก็มีความร้อนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการย่อยสลายด้วยซ้ำไปค่ะ เนื่องจากจุลินทรีย์กลุ่มนี้เป็นชนิด thermophillic micro organism จะทนความร้อนที่เกิดจากขบวนการย่อยสลายนี้ได้ดีค่ะ แต่จะมีการใช้อ๊อกซิเจนมาก ดังนั้นเดิมๆก็จะมีการกลับกองปุ๋ยซึ่งเป็นงานใหญ่ การกลับกองปุ๋ยก็คือการเติมอากาศหรือเติมอ๊อกซิเจนนั่นเองค่ะ ปัจจุบันมีการพัฒนาแบบปั๊มอากาศเข้าไป นั่นคือการเติมอ๊อกซิเจนค่ะ ตรงนี้จะตอบคำถามของคุณLogos ค่ะว่าลมอุณภูมิปกตินี่แหละค่ะใช้ได้ หรือแม้กระทั่งไม่กลับกองปุ๋ยเลยก็ได้(ถ้าทำแบบธรรมชาติ) แต่ต้องคอยรักษาระดับความชื้นให้ได้ราว 40-60 % แต่จะใช้เวลานานกว่านิดหน่อย แต่ถ้าทำใช้เองเหมือนที่บ้านก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร มีต้องระวังอีกหน่อยหากเป็นไม้ชนิดที่มีC/N Ratio สูง กลุ่มนี้จะย่อยสลายช้าจึงควรมีการเติมปุ๋ย Urea ไปเพื่อทำให้ค่า มีC/N Ratio ต่ำลงจะได้ย่อยสลายเร็วขึ้นค่ะ
-ในช่วงการเติมอากาศนั้นมีความสำคัญอีกข้อคือหากไม่เติมหรืออ๊อกซิเจนไม่พอจุลินทรีย์อีกชนิดคือพวกไม่ใช้อ๊อกซิเจน(anaerobic micro organim) จะเจริญเติบโตดีกว่าซึ่งอันนี้จะทำให้เกิดการเน่าเหม็น(rotten)แทนการย่อยสลาย(decoposed)ที่ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นค่ะ
-ดังนั้นการออกแบบกองปุ๋ยหมักปัจจุบันจึงพยายามหาวิธีที่ทำให้มีอากาศเข้าไปในกองปุ๋ยหมักได้ทั่วถึงค่ะ หรือแม้กระทั่งใช้วิธีปั๊ม ซึ่งไม่เห็นว่าจำเป็นเพราะเป็นการสิ้นเปลืองไฟฟ้าไปอีก เรื่องเราควรให้ความสำคัญเรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วยค่ะ
-โครงการนี้น่าสนใจมาก สมควรได้รับการสนับสนุนทั่วประเทศค่ะ
สวัสดีคับ ผมเป็นสมาชิกใหม่ มีความสนใจในเรื่องการจัดการขยะเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ปฎิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสุขาภิบาล เทศบาลเมืองมุกดาหาร ซึ่งมีระบบจัดการขยะแบบ ฝังกลบธรรมดา ปัจจุบันบ่อฝังกลบ ก็ใกล้จะเต็มเต็มทีแล้ว จึงอยากขอคำแนะนำเทคโนโลยีในการจัดการขยะด้วยครับ ข้อมูลบ่อฝังกลบขยะ มุกดาหาร มีพื้นที่ทั้งหมด 45 ไร่ครับ เป็นส่วนที่ฝังกลบขยะ ประมาณ 30 ไร่ ที่เหลือเป็นบ่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ และอาคารสำนักงานครับ
#6 ขอสนับสนุนความสนใจของคุณครับ เชิญท่านจอมป่วนและทีมงานมาบรรยายซิครับ
ยกทีมมาดูงานที่เทศบาลนครพิษณุโลกเลยครับ ยินดีต้อนรับ อิอิ
ขอบพระคุณมากครับท่านจอมป่วน ผมจะหาโอกาสยกทีมงานไปเยี่ยมเยือนท่านให้ได้เลยครับ