จิตตปัญญาศึกษา
อ่าน: 2160
สืบเนื่องจากการไปงานระพีเสวนา: การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เจอหนังสือ “จิตตปัญญาศึกษา : การศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์ ” เลยซื้อมาอ่าน ป้าจุ๋มเดินตามมาก็เลยซื้อตามเหมือนตามรอยตอนถ่ายรูปเลย
มาราชการที่นครศรีธรรมราช เลยเอามาอ่านด้วย เป็นหนังสือรวมบทความการประชุมวิชาการประจำปี 2551 เรื่องจิตตปัญญาศึกษา:การศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ จัดพิมพ์โดยโครงการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
เป็นหนังสือที่ดีมากอยากแนะนำให้อ่านกันครับ โดยเฉพาะคุณครู อาจารย์ทั้งหลาย รวมทั้งคนที่สนใจเรื่องกระบวนกร การฝึกอบรม การพัฒนาบุคลากร
จากการฟัง อาจารย์รพี สาคริก, อาจารย์หมอประเวศ วะสี และอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ และอ่านหนังสือเล่มนี้ ติดตามข่าวคราวรวมทั้งการสนทนากับอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ทำให้ทราบว่ามีความพยายามที่จะผลักดันให้นำเอาจิตตปัญญาศึกษามาใช้ในวงการ ศึกษาทุกระดับ มีเครือข่ายที่สนใจและนำเอาไปใช้หลายเครือข่ายแล้ว รวมทั้งมีการเปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาจิตตปัญญศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ของมหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้วนึกถึงหนังสือที่ อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ มอบให้เมื่อคราวงานคนหน้าตาดีปะทะเฮฮาศาสตร์ รวมทั้งการได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ อาจารย์บอกว่าเราสอนและเรียนด้าน Hard Side หรือด้านวิชาการกันมาก แต่ขาดการสอนและการเรียนด้าน Soft Side ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ หรือความเป็นคนกันน้อยไป ทำให้การเรียนการสอน การทำงานและการใช้ชีวิตของพวกเราแข็ง ไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีหัวใจ ทำให้สังคมของเราเกิดวิกฤติ การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมามุ่งปฏิรูปแต่โครงสร้าง แนวโน้มใหม่ก็จะมีการเอาแนวจิตตปัญญาศึกษามาใช้ในการเรียนการสอน
ทาง สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายต่างๆก็เห็นความสำคัญและสนับสนุนการฝึกอบรมจิตตปัญญาศึกษา ให้กับผู้บริหารระดับอุดมศึกษามาหลายรุ่นแล้ว
ท่านอาจารย์และคุณครูทั้งหลายก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้เลยนะครับ คงจะเหมือนกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ที่จะเป็นนโยบายผลักดันต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ครับ
หมายเหตุ
จิตตปัญญาศึกษา – Contemplative Education
การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง – Transformative Learning
Next : การทำงานแบบมีส่วนร่วม » »
7 ความคิดเห็น
แหม ผมไปเปิดดูเหมือนกันครับ แต่ดันไม่ได้หยิบมาเพราะถุงหนักแล้ว เลยแห้วเลย
อิอิ
จำไม่ได้ว่าใครเป็นคนแปล Contemplative ว่าการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ..แต่เป็นการแปลที่ทำให้เบิร์ดชะงักด้วยความรู้สึกว่า”ใช่”ค่ะ
Contemplative Education..ที่จดไว้จากการแปลของท่านผู้นั้น มีนัยหมายถึง “กระบวนการ ” ที่มีความเป็นพลวัต ไม่หยุดนิ่ง โดยไม่เอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงกันในสามภาคคือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ
ผู้แปลเขาบอกว่าความรู้ที่แท้จริงคือประสบการณ์จากทุกสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักเพื่อนใหม่ การเดินทางท่องเที่ยว การอ่านหนังสือดีๆซักเล่ม การได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นๆ ฯลฯ แบบที่พี่ตึ๋งโยนตัวกวนอุตลุตนี่ไงคะ
เมื่อเราเพิ่มมิติของการใคร่ครวญด้วยใจเข้าไป ก็จะเห็นความขยายขึ้นของใจ เรียนรู้ที่จะรัก เรียนรู้ที่จะให้ เรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่าง ..จากตัวตนที่เล็กลงของเราเอง
การเชื่อมโยงของสามภาคคือภาคความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ และกระบวนการมากกว่าท่องจำตำรา ก่อเกิดการเติบโตข้างในที่งอกงามขึ้นมาถึงจุดหนึ่งก็จะทำให้เข้าใจถึงความหมายของงานหรืออาชีพว่า เป็นความตั้งใจที่จะทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ก่อเกิดพลังสร้างสรรค์ในทางที่ตนถนัด เป็นการทำงานด้วยความรัก ความสนุก และความดีไปพร้อมๆกัน เกิดเป็นภาวะความสุขทางจิตวิญญาณค่ะ และการเรียนรู้ที่พูดถึงจะเกิดขึ้นได้ในสิ่งแวดล้อมที่เห็นคุณค่าของการเรียนรู้จากด้านใน มีการรดน้ำใจให้กันจากคนรอบข้าง ..เอ..ไม่ได้พูดถึงเฮฯนะเนี่ยแต่ทำไมเริ่มคล้ายๆล่ะคะ อิอิอิ
ป่วนๆๆๆๆ
ศาสตราจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ซึ่งเป็นราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน เป็นผู้แปล contemplative education เป็นภาษาไทยว่า “จิตตปัญญาศึกษา” ครับ
คนที่เป็นครู อาจารย์ น่าจะเข้าใจจิตตปัญญาศึกษา และบทบาทกระบวนกรเป็นอย่างดีครับ
ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยม ผมตามไปอ่านบันทึกของอาจารย์และ อ. ไร้กรอบแล้วครับ
ขอบคุณมากครับที่แนะนำบันทึกดีๆ สั้น อ่านง่าย รูปสวย เข้าใจง่าย อิอิ
[...] เคยเขียนบันทึกเรื่องจิตตปัญญาศึกษาไว้ครับ วันนี้บ่ายไปประชุมคณะกรรมการประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม แปลกดีเหมือนกันนะครับ เรียนแพทย์ ทำงานเกี่ยวกับขยะ แต่มาเป็นคณะกรรมการประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร [...]