บทเรียนจากการไปกวางเจา - กวางเจาตอนที่ 4
อ่าน: 17653จากการเดินทางไปร่วมงาน 2012 Guangzhou International Award for Urban Innovation ครั้งนี้ได้เรียนรู้หลายเรื่อง
การจัดงานของผู้จัด อาจทุ่มทุนมากไปหน่อย ใช้คนมากไปหน่อยแต่เราก็ได้เรียนรู้หลายๆเรื่อง ทางจีนคนต้องการสร้างภาพและชิงความเป็นผู้นำโดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศต่างๆทั่วโลก มีบทเรียนให้จีนได้เรียนรู้จากเมืองต่างๆทั่วโลก และเป็นการฝึกคนของจีนเองให้มีประสบการณ์การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติเอง
กรณีการทำงานของนักศึกษาอาสาสมัคร พบว่ามีการฝึกอบรมกันมาล่วงหน้า มีการคัดคนที่ใช้ภาษาของแต่ละประเทศมาเป็นผู้อำนวยความสดวกให้เมืองต่างๆ จากเทศบาลนครเชียงรายนักศึกษาอาสาสมัครพูดภาษาไทยได้ชัดมาก(มีอาสาสมัครดูแลคนละชุดกับเทศบาลนครพิษณุโลก) นักศึกษาที่มาดูแลเทศบาลนครพิษณุโลกพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก และดูจะมีวุฒิภาวะสูงทั้งๆที่ยังเรียนอยู่ปี 2 ปี 3 กัน
สังเกตการทำงาน จะไม่เห็นอาจารย์มายุ่มย่ามกับเด็กๆเลย แต่จะมีการสรุปมอบหมายงานกันมาก่อน สามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ตลอดเวลา และมีสรุปการทำงานกันทุกวันเพื่อเรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน ก่อนเข้านอนจะพบเด็กๆยืนเข้าแถวสรุปงานประจำวันกัน
ความเจริญของบ้านเมือง พบว่าสามารถทำตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่วางไว้ เช่นในการเป็นเจ้าภาพ Asian Games ก็สามารถเนรมิตที่พักนักกีฬาและสนามแล้วเสร็จใน 6 เดือน (ไม่เปรียบเทียบกับเมืองไทยเรานะครับ) ไม่นับรวมที่นครอื่นๆที่สามารถพัฒนาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น เซี่ยงไฮ้ ในการเตรียมการจัดงาน Expo 2010 Shanghai อาจารย์ ดร.นิกร วัฒนพนม เคยกล่าวไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า ในอนาคตจีนจะเป็นมหาอำนาจของโลกทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นความจริงแล้ว
มีโครงการให้นักศึกษาเรียนเกษตรกรรม เรียนจบแล้วก็ส่งกลับไปเป็นผู้ใหญ่บ้าน เด็กพวกนี้ก็ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาพัฒนาการเกษตร ด้วยการพัฒนาการผลิต การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ การตลาด การขนส่ง ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีฐานะดีขึ้น เด็กพวกนี้ก็มีโอกาสไต่เต้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคในท้องถิ่น เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ (ฟังเรื่องนี้แล้วคิดถึงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่น่าเสียดายที่หลักสูตรนี้ยังไม่สามารถสร้างเครือข่ายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และดึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วยให้หลักสูตรนี้เข้มแข็งขึ้น
คุณสุนี (ไกด์ท้องถิ่นที่แอบพาเราออกไปท่องเมืองบ้างตามสมควร) เล่าให้ฟังว่า รถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุสูงมาก เสียงดังและเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม วิ่งราว ทางนครกวางเจาจึงเริ่มบังคับให้ย้ายโชว์รูมออกไปอยู่นอกเมือง ไม่ต่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ใช้อยู่บริเวณในเมือง จนปัจจุบันนี้ไม่มีจักรยานยนต์วิ่งในนครกวางเจาแล้ว แต่นอกเมืองยังคงอนุญาตให้ใช้
การเดินทางครั้งนี้มีโอกาสแว๊บไปซุกซน เดินตะลอนๆตามตลาดหรือดาวน์ทาวน์น้อยมาก แต่ทุกสถานที่ที่ไปจะพบว่าจีนมีการพัฒนาขึ้นมาก มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วซึ่งสังเกตได้แทบทุกครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมจีน เสียดายไม่มีโอกาสใช้บริการรถไฟใต้ดินของกวางเจาซึ่งมีถึง 8 สาย สถานีก็อยู่ใกล้ๆโรงแรมที่พัก
ทางด้านวิชาการ มีการนำเสนอแนวคิดและโครงการต่างๆที่นครและมหานครอื่นๆดำเนินการ เช่น
นคร Melbourne นำเสนอ “Innovation needs Information” แนวคิดมาจากการนั่งดื่มกาแฟแล้วแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆกันอย่างง่ายๆ ชิวๆ เลยพัฒนา application ในมือถือเพื่อใช้ควบคุมอาคาร –Herritage Control เรียกว่า Heritage Smartphone app. สามารถใช้ได้ทั้งการท่องเที่ยว การอนุรักษ์อาคาร การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ฯ ทั้งนี้เป็นการให้บริการข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้่อมูลข่าวสารได้สดวกและรวดเร็ว
ฯลฯ ……………….เล่าไม่ไหว อิอิ
คนไทยจำนวนมากยังยึดติดกับความคิดเดิมๆว่าจีนเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศล้าหลัง ไม่เจริญ มีคนกล่าวว่าคนไทยชอบดูถูกคนชาติอื่น ทั้งๆที่บางครั้งเราก็เจริญสู้เขาไม่ได้
ไม่ได้ชอบหรือชื่นชมจีนหรือประเทศอื่นอย่างออกหน้าออกตานะครับ อะไรของเขาดีก็นำเอามาประยุกต์ ปรับใช้ อะไรไม่ดีก็เป็นบทเรียนที่ดีของเรา ดีกว่าถ้าถูกใจก็ชอบ ชื่นชมอย่างไม่มีเหตุผล ไม่ถูกใจก็ด่าว่าเขาอย่างไม่มีเหตุผล สุดท้ายสังคมไทยถึงเป็นแบบนี้
จบยังงี้ได้ไงเนี่ย…….อิอิ