สวดมนต์ข้ามปี จะสวดไปทำไม - ลองคิดเล่น และ เห็นต่าง จากคำ ผกา
อ่าน: 5584ได้เห็นคนพูดถึงรายการเทปนี้แล้วจึงไปหาฟังใน Youtube เมื่อได้ฟังจบแล้วจึงต้องขอแสดงความ “คิดเล่น” เป็นตัวหนังสือออกมาบ้าง
และแน่นอนว่าเป็นการ “เห็นต่าง” จากสิ่งที่คุณคำ ผกา แสดงความเห็นไว้
ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่คนที่เข้าวัดเข้าวา หรือเข้าถึงศาสนาอะไรมากมายนัก บทความนี้จึงเขียนจากความรู้ความเข้าใจเท่าที่มี
และยินดีที่จะให้ทุกท่านแสดงความเห็นที่แตกต่างได้อย่างเต็มที่ครับ และโดยที่ผมเคยช่วยชักชวนคนมาสวดมนต์ข้ามปี แต่ก็ทำด้วยศรัทธามิได้ใช้งบประมาณของหน่วยงานไหนหรือรับเงินค่าทำแคมเปญมาจากใครทั้งสิ้น
ในรายการ “คุณแขก” (ชื่อเล่นของคุณ คำ ผกา) ได้พูดถึงศัพท์คำว่า เทคอิท ฟอร์ แกรนท์เต็ด “take it for granted” ว่าเป็นการคิดเองเออเอง ว่าเรื่องนั้นเป็นสัจธรรม ลองมาค้นดูศัพท์คำนี้ดูครับ
Take it for granted
to believe that something is true without first thinking about it or making sure that it is true
เป็นการเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างเป็นเรื่องจริงโดยไม่ฉุกคิด หรือ ทำให้มั่นใจว่าเป็นเรื่องจริง << ก็น่าจะแปลได้ว่า คิดเองเออเอง หรือ ทึกทักเอาเอง
ถ้าผมจะกล่าวว่า ในเทปรายการนี้มีจุดที่พิธีกรของรายการนี้ “คิดเองเออเอง” อยู่มาก เกี่ยวกับเรื่องการสวดมนต์ข้ามปี และเรื่องศาสนาพุทธ คุณก็อาจจะคิดว่า ผมทึกทักเอาเองละมั้ง? งั้นก็คงต้องมาดูกันเป็นจุดๆนะครับ โดยผมขออ้า่งอิงจากเทปรายการที่ค้นเจอมาในยูทูป
เทปช่วงเปิดรายการมีการกล่าวเรื่องอื่นในช่วงต้น เราข้่ามมาฟังช่วง “สวดมนต์ข้ามปี จะสวดไปทำไม” ในนาทีที่ 7.30 กันเลย
พิธีกรมีการชงคำถามว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ห่างไกลจากความเป็นวัตถุนิยมจริงหรือไม่?” โดยพิธีกรอีกท่านก็รับลูกทันทีว่า “อันนี้ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ไม่จริงนะครับ” (พูดยิ้มๆ) จากนั้นคุณแขกจึงขยายความต่อถึงการสร้างพระพุทธรูปใหญ่มาก และวัตถุมงคล, พระเครื่อง, จตุคามรามเทพ, ร้านสังฆทาน,ปล่อยนกปล่อยปลา ฯลฯ
ถึงจุดนี้คงต้องถามกลับละครับว่า พิธีกรทั้งสอง กำลัง “take it for granted” เอาเลยใช่หรือไม่ว่า สิ่งของและการกระทำเหล่านี้คือ “ศาสนาพุทธ”
ชาวพุทธทราบดีว่า แก่นแท้ของศาสนาพุทธมีแค่สามสิ่ง ที่เรียกว่า ไตรรัตน์ คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ เท่านั้น
มีพระพุทธเจ้า และ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า กับ หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย นั่นคือพระสงฆ์ (ส่วนใครที่ห่มเหลืองแต่ภายนอกโดยไม่ปฎิบัติตามพระธรรมวินัยนั้นจะใช่พระสงฆ์ไปได้อย่างไรครับ)
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งอิสระเสรีภาพ ด้วยการสร้าง “ปัญญา” ในการอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทัน เพื่อบรรลุ วัตถุประสงค์ อันสูงสุดคือ นิพพาน คือการไม่มีความทุกข์ อย่างที่สุด หรือ การอยู่ในโลกอย่างไม่มีทุกข์ คือกล่าวว่า ทุกข์ทั้งปวงล้วนเกิดจากการยึดถือ ต่อเมื่อ “หมดการยึดถือ” จึงไม่มีอะไรจะให้ทุกข์ (แก้ที่ต้นเหตุของทุกข์ทั้งหมด)- Wikipedia Thai
ในศานาพุทธไม่มีการสร้างและคำสอนเรื่องรูปเคารพแต่อย่างใด พระพุทธรูปนั้นมาทีหลังเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ตามประวัติศาสตร์ว่าล่วงมาถึงห้าร้อยปีคือราว พศ.500 จึงได้มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา ด้วยผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา อยากจะมีสิ่งที่จะทำให้รำลึกถึง หรือเป็นสัญญลักษณ์ขององค์ศาสดา เพื่อที่จะบอกกล่าวเล่าขาน เรื่องราวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงศึกษาค้นคว้าหาทางดับทุกข์ และทรงชี้แนะสอนสั่งผู้คน หากสร้างเป็นขนาดเล็กคล้องคอหรือตั้งโต๊ะหมู่บูชาเพื่อก็จะเป็นพระเครื่องหรือวัตถุมงคลต่างๆ
เป็นความจริงที่ในยุคทุนนิยมระยะหลัง ทุนนิยมได้เข้ามาแทรกแซงแม้กระทั่งเรื่องของศาสนา จากเดิมที่การบริจาคเงินโดยศรัทธาเพื่อสร้างองค์พระ หรือ การปล่อยปลาปล่อยเต่าเป็นทานบารมี ได้กลายเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของคนบางกลุ่ม พ่อค้าแม่ค้า หรือแม้แต่ผู้ที่อาศัยผ้าเหลืองและศาสนามาทำเป็นธุรกิจกันมากมาย แต่กลับนำเอาเรื่องปลายเหตุเหล่านี้ มา ทึกทักเอาเองได้หรือว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นวัตถุนิยม” ในเมื่อจุดมุ่งหมายของศาสนาพุทธคือ นิพพาน
การนับถือศาสนาพุทธ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่ผู้นับถือจะต้องไปสร้างพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าได้สิ้นไปแล้ว 500 ปีกว่าจะมีการสร้างพระพุทธรูป ท่านจึงไม่ได้สอนให้ใครสร้าง “วัตถุ” เป็นสิ่งที่ผู้คนในยุค “ทุนนิยม” ต่างนำเรื่องนี้ไปหากินทั้งสิ้น เราควรโทษศาสนาหรือโทษคนที่นำความเชื่อไปหาเงิน???
ที่สำคัญที่สุดคือ ในนาทีที่ 11.32 ของคลิป พิธีกร (คุณแขก) พูดว่า “การสวดมนต์ข้ามปีเพิ่งมีมาเป็นปีที่ 2 เราก็เชื่อมโยงได้ทันทีหรือว่านี่คือวัฒนธรรมไทย?”
ตรงนี้แหละครับที่ “คิดเอง เออเอง” มากที่สุด เพราะการสวดมนต์ข้ามปีนั้นมีมานานมากแล้วครับ วัดหลายๆแห่งจัดสวดมนต์ข้ามปีมาอย่างต่อเนื่องกันหลายปี แม้กระทั่งวัดตำหนักใต้ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านผมก็มีมาแล้วร่วม 20 ปี
ส่วนประเด็นความสุขที่แท้จริงนั้นผมขอที่จะไม่วิจารณ์เพราะมันหยุมหยิมเหลือเกิน คำพูดในการรณรงค์สวดมนต์ข้ามปี คือการเสนอ “ทางเลือก” ว่ายังมีความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อหามาให้เลือกในช่วงปีใหม่ ส่วนใครจะเลือกไปแสวงหาความสุขแบบใช้เงินก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งไม่หน่วยงานเหล่านี้ไม่ควรออกมารณรงค์ให้คนไปแสวงหาความสุขด้วยการใช้จ่ายอยู่แล้วนอกจากจะเป็นธุรกิจต่างๆที่เขาต้องทำยอดขาย การพยายาม “ดิสเครดิต” กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ด้วยการชักแม่น้ำต่างๆมามากมายผมฟังแล้วก็ได้แต่ยิ้มๆเพราะมันไม่เกี่ยวกัน เป็นความพยายามในการใช้วาทศิลป์มาโน้มน้าวให้คนที่คิดไม่ทัน ได้คล้อยตามเท่านั้น เพราะในการรณรวค์ก็ไม่ได้บอกว่า การสวดมนต์ข้ามปี คือ การแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องไปแก้เรื่องอื่นอีกแล้วสวดมนต์อย่างเดียวพอ อย่างที่สองพิธีกรพยายามจะโน้มน้าวให้คนเข้าใจอย่างนั้น
กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี แค่ให้คนได้มีทางเลือกว่าจะก้าวออกจากบ้านไปหาความสุขแบบเสียเงิน จากการซื้อหา หรือ เสียสติ จากการเสพสุรา และอาจนำไปสู่โอกาสที่จะเสียใจ จากอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท และอื่นๆ หรือจะหาความสุขสงบทางใจ ได้มีสติ เพื่อที่จะเกิดปัญญาต่อไป หากมีคนจำนวนแสนคนคิดได้และเลือกเช่นนั้น ก็จะส่งผลดีต่อสังคมและตัวผู้ปฎิบัติเองอย่างแน่นอน ส่วนปัญหาอื่นๆที่พิธีกรทั้งสองว่ามา เช่น ปัญหาหมอกควัน (ซึ่งเกิดทีหลังปีใหม่), รถติดและ อื่นๆ ก็ต้องแก้ไขกันไปในวาระอื่นๆและวิธีการอื่นๆ ถูกไหมครับ?
นาทีที่ 13.20 พิธีกรพูดว่า “การที่บอกว่า ไม่ต้องทำอะไร นะฮะ สวดมนต์ข้ามปี เริ่มต้นดี ชีวิตดี” (พูดโดยที่ตามองกระดาษราวกับอ่าน)
ถึงตอนนี้ ขอเรียนถามว่า คำว่า “ไม่ต้องทำอะไร” นี่ เป็นข้อความรณรงค์ของการสวดมนต์ข้ามปี หรือ เป็นคำที่พิธีกร เติมลงไปเอง ครับ? เพื่อที่จะโยงไปสรุปต่อไปจนถึงวาทกรรมที่จะดิสเครดิตว่า “การรณรงค์ให้คนมาสวดมนต์นี้ มันคือการวางยากล่อมประสาท”
คลิกอ่านเนื้อหาข่าวได้ที่นี่ การรณรงค์นี้จะเน้นที่การลดอุบัติเหตุและลดการเสพสุรา เปิดทางเลือกให้เยาวชนแทนที่จะเที่ยวปีใหม่หลายที่ต้องกินเหล้าทั้งๆที่ไม่อยากจะกิน ให้มีกิจกรรมทางเลือกบ้าง แต่ก็ถูกพิธีกรปรามาสว่าเป็นการรณรงค์ที่ไร้สาระ และมีการนำไปเปรียบเทียบกับโครงการวัตถุนิยมอื่นๆ ซึ่งผมก็เคารพว่า โครงการอื่นๆที่ท่านพูดมาเป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน
ช่วงต่อมาน่าสนใจขึ้นครับ พิธีกรใช้เทคนิค “ตบหัวแล้วลูบหลังแล้วตบหัวซ้ำ” หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ เพราะหลังจากที่ได้ยัดเยียดแนวคิดตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็เริ่มต้นด้วยการพูดว่า อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า คุณแขกว่าสวดมนต์นี่ไม่ดีนะ เพราะตัวแขกเองก็ชอบอย่าหนังสือสวดมนต์ค่ะ (ลองฟังแบบเต็มๆดูครับ) เขาเน้นว่ามันเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น พูดอีกโนมน้าวราวกับว่า
การรณรงค์สวดมนต์นั้น เขารณรงค์ให้สวดมนต์กัน “อย่างเดียว” ไม่ต้องไปแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นกันล่ะ “มีปัญหาอะไรให้สวดมนต์อย่างเดียว”
พิธีกรพูดเองเออเองอยู่อย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขารณรงค์กันเอง เมื่อยัดเยียดคำพูด (ซึ่งเขาไม่ได้พูด) เสร็จแล้ว จึงปล่อยวรรคทอง
ที่มีคนนำไป quote เป็นภาพที่ผมนำมาแปะไว้นี่แหละครับว่า
“..ต่อให้คุณสวดมนต์อย่าว่าแต่สวดมนต์ข้ามปีเลย สวดมนต์กัน 24 ชม. 365 วัน ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาอาชญากรรมลดลง ไม่ทำให้คนจนลดลง ไม่ได้ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง อยากให้ตั้งคำถามเพราะแขกรู้สึกว่า นโยบายที่รณรงค์ให้คนมาสวดมนต์นี้ มันคือการวางยากล่อมประสาทให้กับประชากรในสังคม มันคือการวางยากล่อมประสาทให้คนลืมนึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง แล้วก็แทนที่จะมาช่วยตั้งคำถามกันว่าเอ๊ะประเทศเราปัญหาที่แท้จร…ิงมันอยู่ที่ไหน ก็หลับหูหลับตาสวดมนต์กันไป แล้วก็ปล่อยให้ประเทศชาติดำเนินต่อไปแบบนี้ ลืมไปเลยว่ามีความไม่ยุติธรรมอยู่ที่ไหนบ้าง..”
กล้องตัดมานาทีที่ 1.55 “ก็หลับหูหลับตาสวดมนต์กันไป ปล่อยให้ประเทศชาติดำเนินไปแบบนี้ นะฮะ ลืมไปเลยว่ามีความไม่ยุติธรรมอยู่ที่ไหนบ้าง..” บลาๆๆ “ฉันสวดมนต์ข้ามปีแล้วประเทศมันจะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ“
ภาพ : มติชน
“ยากล่อมประสาท” ขนานเดียวที่ผมเห็นจากรายการ คิดเล่น เห็นต่าง นี้ คือ สิ่งที่ พิธีกร ได้ยัดเยียดข้อหาไว้ตั้งแต่ต้น (เริ่มจากการอ่านเนื้อหาจริง แล้วค่อยๆหยอดเติมยากล่อมประสาทตามที่ตัวเองต้องการบิดเบือนสาระที่แท้จริงลงไปเรื่อยๆๆๆ) มาจนถึงที่ไฮไลท์สีน้ำเงินไว้ นั่นแหละครับ
เมื่อยาออกฤทธิ์กล่อมคนดูจนได้มึนงงแล้วว่า กา่รรณรงค์สวดมนต์ข้ามปี ซึ่งผู้รณรงค์หวังเพียงจะให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการฉลองปีใหม่ ถูกบิดเบือนให้คนเข้าใจว่า ”ไม่ต้องทำอะไร สวดมนต์อย่างเดียว แก้ปัญหาทุกอย่างได้”
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้มีอยู่ในสาระของการรณรงค์สวดมนต์ข้ามปี แต่อย่างใด
เป็นการ take it for granted - คิดเอง เออเอง ทั้งหมดนี้เลยละครับ
ปล. ช่วงท้ายของรายการมีพูดถึงศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ ถ้าจะโต้แย้งเห็นต่างเรื่องนี้คงต้องยกไปว่ากันต่ออีกตอนแล้วละครับ