Positive Thinking ของดีที่ต้องใช้ให้เป็น

3 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 6 มกราคม 2011 เวลา 6:03 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, การศึกษา, ชีวิต #
อ่าน: 1410

    ใครๆก็มักพูดถึงความคิดเชิงบวกหรือ Positive Thinking และมองว่า Negative Thinking นั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงมีพึงเป็น ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะใครเล่าจะชอบการถูกตำหนิ แต่ก็พึงระวังว่า Positive จนเกินพอดีก็มีผลเสียได้เหมือนกัน อาจทำให้คนที่เราหวังดีไม่มีโอกาสเห็นความจริงในตน หรือกว่าจะเห็นหรือรู้สึกได้ก็สายเสียแล้ว .. เพราะมัวแต่โอ๋หรือถนอมน้ำใจกัน

    Positive Thinking สุนทรียสนทนา หรือการหยิบความสำเร็จแม้เพียงเล็กน้อยของผู้คนมาชื่นชม มาให้กำลังใจกัน เป็นสิ่งที่ผมชื่นชมเช่นที่หลายๆคนชื่นชอบ และก็ใช้สำเร็จมาหลายครั้งแล้วทั้งในระดับห้องเรียน และการทำงานโครงการใหญ่ๆดูแลงานวิจัยกว่า 30 โครงการ จึงขอยกมือให้ทุกท่านที่สนับสนุนเรื่องแนวนี้

    การตำหนิติเตียนมันบั่นทอนกำลังใจ ไม่มีใครชอบ ไม่มีใครต้องการได้รับ แต่จากประสบการณ์อีกมุมหนึ่ง ในกลุ่มเพื่อนฝูงที่รู้ใจ และครูบาอาจารย์ที่เราเคารพบูชา เราใช้หมัดตรง หรือของแข็ง กันมากเหมือนกันและได้ผลดีมากเสียด้วย เช่นท่านอาจารย์ถามว่า ทำไมคุณโง่อย่างนั้น? .. เป็นอาจารย์เขา ทำได้แค่นั้นหรือ ? ฯลฯ

    สรุปแล้วของแต่ละอย่างคงต้องเลือกให้เหมาะกับคนและสถานการณ์ .. ดีสำหรับคนหนึ่งอาจเลวร้ายสำหรับอีกคนหนึ่งได้เสมอ .. สรุปอีกทีก็คือจง ระวัง ระวัง และ ระวัง

     ถ้าผมกำลังจะตกหลุมลึกโดยไม่รู้ตัวและมีใครสักคนกระโดดถีบจนผมล้มลงและรอดพ้นจากการตกหลุม ผมจะขอบคุณการถีบของเขาอย่างจริงใจ ผมไม่ต้องการให้ใครมาปลอบโยน ให้กำลังใจในภาวะวิกฤติเช่นนั้น .. ในที่สุด คิดบวก หรือ คิดลบ ไม่มีทางสู้ “คิดเห็นตามที่เป็นจริง” ได้หรอก ผมเชื่อเช่นนี้


เพราะสลัดพิธีกรรม เราจึงทำ(งาน)กันด้วยความผ่อนคลาย

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 19 ธันวาคม 2010 เวลา 8:34 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1269

    ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือกระบวนการจัดการความรู้ ที่มีการรวมคน ร่วมคิดร่วมเรียนรู้  หลายเวที ติดรูปแบบ ติดพิธีกรรม จนสาระสำคัญหดหายไป ซึ่งน่าคิดว่า จำเป็นอะไรที่ต้องทำเช่นนั้น ผมเชื่อและศรัทธาในวิธีการที่เป็นธรรมชาติ และผ่อนคลาย ได้ทำสิ่งที่น่าพอใจมากๆ ก็ตอนร่วมงานกับคุณหมอทวีศักดิ์ นพเกษร ครับ
   ปีงบประมาณ 2548 ผมเป็นหัวหน้าโครงการใหญ่ เป็นผู้ประสานงานระดับประเทศ ทำงานให้ สกอ. ดูแลชุดโครงการวิจัยอันประกอบด้วย โครงการย่อย 37 โครงการ ที่กระจายอยู่ตาม ม.ราชภัฏ ที่มี 8 Nodes 8 ภูมิภาค และแต่ละ Node เป็นผู้ประสานงานต่ออีกชั้นหนึ่ง ในการอบรม 5 วันเพื่อพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเชิงคุณภาพ ทั้งที่มีเรื่องหนักที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนมาก แต่ทุกคนก็ไม่เครียด งานก็สำเร็จด้วยดี … ดู 3 ภาพนี้ก็คงพอมองเห็นว่าเราเล่นกันอย่างไร

 แต่งกายตามสบาย เพื่อให้ผ่อนคลาย

 

จะนั่งจะนอนยังไงก็ได้ ขอให้ได้งาน

โอกาสเช่นนี้ พิธีกรรม ไม่ใช่สิ่งจำเป็น หรือใครว่าไม่ใช่ครับ.

               

     ส่วนตัวผมนั้นสบาย คอยกระตุ้น ส่งเสริม
อำนวยความสะดวก ให้ทุกอย่างเดินไปและได้ผลตามที่ตั้งความมุ่งหวังเอาไว้

 

 


หรือว่า คะแนน คือ มารร้ายของการเรียนรู้

3 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 18 กันยายน 2010 เวลา 6:23 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1251

    ผมตื่นมาตีสามกว่าๆ กะว่าจะเข้าไปสำรวจ ดูแลงานขีดเขียนของนักศึกษาที่ไปสอนมาเมื่อสัปดาห์ก่อน และเข้าไปทักทาย บอกกล่าวเรื่องที่น่าจะเติมเต็มให้กัน ก่อนที่จะขับรถออกจากบ้านในระยะทางประมาณ 70 กม. เพื่อไปสอนนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งในวันนี้  แต่แล้วก็มีอันให้ต้องสะดุดหยุดลง ไม่ได้ทำตามที่ตั้งใจเนื่องจากไปเจอบันทึกใน Blog ของนักศึกษาท่านหนึ่งซึ่ง มีอาชีพเป็นครู และเรียนจบจากสถาบันชื่อดังจาก กทม.เสียด้วย  เขากระทำการอันกระทบกระเทือนจิตใจผมค่อนข้างมากทีเดียวครับ ที่รู้สึกมากกว่าปกตินั้นเพราะเขาไม่ใช่นักศึกษาธรรมดา แต่เป็น ครู ที่มาเรียนต่อในหลักสูตร ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ครับ

   ผมไม่มีเจตนาร้ายต่อตัวลูกศิษย์ มีความรัก เมตตา ปรารถนาดีให้เต็มเปี่ยมเสมอครับ ไม่เช่นนั้นคงไม่ทรมานสังขารตัวเองขับรถและเดินทางไกลๆไปสอนทั้งที่สุราษฎร์ ชุมพร และกระบี่โดยไม่เคยถามถึงค่าตอบแทนหรอกครับ 

   สิ่งที่จะบอกกล่าวในบันทึกนี้ที่จะว่ากันต่อไปนั้น ผมทำไปด้วยเจตนา ชี้ทางสว่าง หรืออีกนัยหนึ่งคือการพยายามดึงคนที่ผมรักออกมาเสียให้ไกลๆจากปากเหวแห่งความเสื่อมเท่านั้นครับ  จึงจะไม่อ้างอิงชื่อบุคคล หรือนำเสนอสาระละเอียดของสิ่งที่พบ แม้จะบันทึกหลักฐานทั้งหมดไว้แล้วก็ตาม เพราะเราอยากสร้าง ไม่ได้อยากทำลายครับ

   ทุกตัวอักษรในบันทึกที่ผมพบ เมื่อตรวจสอบดูแล้วปรากฏว่า เป็นการไป Copy เอาสิ่งที่บุคคลอื่นเขียนแสดงความรู้และประสบการณ์ไว้ใน Web board แห่งหนึ่งครับ โดยเอามาลงเสมือนว่าเป็นเรื่องของตัวเอง และไม่มีการอ้างอิงใดๆ และเมื่อติดตามต่อไปก็ได้พบอาการเดียวกันอีกในบันทึกอื่นของเขา ที่ผมผิดหวังก็เพราะเราได้ใช้เวลาพูดคุยกันไม่น้อยถึงสิ่งพึงปฏิบัติ และละเว้น ใน “การประยุกต์ใช้ ICT เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และจัดการความรู้” ตามหัวข้อที่ผมเสนอไว้ ผมได้ชี้เหตุแห่งความเจริญและความเสื่อมไว้อย่างชัดเจน แต่แล้วมันก็ยังไม่มีพลังพอที่จะเอาชนะอะไรบางอย่างได้

   อะไรบางอย่างได้แก่อะไรบ้าง  ผมมานึกๆดูแล้วน่าจะมีหลายรายการ

  • ความมักง่าย อยากได้รับผล แต่ไม่อยากออกแรงสร้างเหตุเพื่อผลอันนั้น จึงหาทางลัด และกลโกงเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เกิดความสำเร็จ
  • ความเคยชินกับความสำเร็จปลอมๆ ที่ระบบการศึกษามอบให้ อันนี้หมายถึงระบบการประเมินที่หละหลวม ที่ทำให้คนลอกเก่ง เลียนเก่ง Copy เก่ง กลายเป็นคนได้เกรดดีๆ แถมมีเกียรตินิยมมาอวดชาวบ้านได้อีกด้วย
  • การหลงผิดคิดว่าคะแนนคือเป้าหมายสูงสุดของการเรียน ข้อนี้นับว่าเป็นโรคร้ายที่ไม่ค่อยเห็นใครคิดเยียวยารักษา

    จากสิ่งที่พบทำให้ผมรู้สึกว่าจะต้องปรับปรุงคำบอกกล่าวที่ไปทักทายนักศึกษาในบันทึกแรกๆของพวกเขาเสียแล้ว และผมก็ได้ปรุงขึ้นมาชุดหนึ่งดังนี้

    สวัสดีครับ

■  มายินดีต้อนรับสู่โลกแห่งการเรียนรู้ นามย่อว่า G2K ครับ
■  พื้นที่ตรงนี้จะมีพลัง บันดาลอะไรได้มากมาย หากเราตั้งใจและใช้มันอย่างถูกต้อง ไม่เชื่อให้ลองติดตามอ่านเรื่องที่ชอบ ตามแนวทางที่สนใจของใครต่อใครดูได้ครับ
■  การไปทักทาย ต่อยอดความรู้ความคิดกับ “ญาติๆ” เหล่านั้นด้วย มิตรภาพอยู่สม่ำเสมอ ก็จะยิ่งทำให้เครือข่ายเหนียวแน่นและขยายวงกว้างยิ่งขึ้น
■  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะยิ่งขยายวงกว้างออกไปไม่สิ้นสุดครับ
■  สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความสุจริต ความจริงใจและให้เกียรติผู้อื่น เช่นมีการอ้างอิงเสมอเมื่อนำข้อมูลจากแหล่งใดมาเผยแพร่
■  เราต้องจะไม่ “ชุบมือเปิบ” เช่นไปยกข้อความอันเป็นความคิดเห็นหรือข้อเขียนของผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นอันขาด เพราะตัวอย่างของความเสื่อมเพราะเรื่องแบบนี้มีมาหลายรายแล้วครับ 
■  พึงระลึกไว้เสมอว่า ในโลกอินเตอร์เน็ต เก็บความลับได้ยากครับ   ”

   

     เมื่อพูดถึงเรื่องคะแนน ผมรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา  มาถามว่าทำอย่างไรถึงจะได้คะแนนดีๆ  และบ่อยครั้งมากที่เห็นเขากุลีกุจอกันทำงานเพื่อส่งอาจารย์แบบทุ่มเทกำลังกายใจและทุนทรัพย์ชนิดไม่อั้น เพียงเพื่อ เข็นอะไรบางอย่างที่จะต้องดูดี เข้าตากรรมการ และให้เสร็จทันเวลาที่กำหนด แล้วความสุขสูงสุดก็คือการได้รู้ว่าได้คะแนนมากๆหรือ ได้เกรดดีๆ .. ส่วนได้เรียนรู้อะไร มีประโยชน์ มีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไรนั้น มักไม่มีใครถามถึง เพราะได้ถึงเป้าหมายสูงสุดของการเรียนไปแล้ว คือ คะแนน หรือ เกรด นั่นเอง

    ช่วยกันหน่อยเถอะครับ คนละไม้คนละมือ อย่าให้ “คะแนน” ต้องกลายเป็น “มารร้ายของการเรียนรู้” เลย  สักวันหนึ่งเราอาจช่วยให้นักศึกษาเขาปลดแอกอันหนักอึ้ง และสร้างทุกข์มาให้เขายาวนานได้เสียที เขาจะได้เรียนเพื่อเข้าถึงความรู้และจัดการอย่างเหมาะสมจนเป็นความรู้ที่สามารถใช้แก้ปัญหาในชีวิตและการงานได้ ไม่ใช่ไล่คว้าความว่างเปล่าแห่งตัวเลขคือคะแนนอย่างเช่นที่เป็นมา 


จาก “กาฝาก” ถึง “Deep Watching”

1 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 20 กรกฏาคม 2010 เวลา 7:52 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1428

ผมเคยต่อยอดคำว่า ” Deep Listening ” มาเป็น ” Deep Reading ” ซึงท่าน คนไร้กรอบ หรือ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ เคยบอกว่าชอบ 

    วันนี้ผมสร้างใหม่อีกคำแล้วครับ มันคือ ” Deep Watching

   สืบเนื่องจากบันทึกที่แล้วเรื่อง กาฝาก พืชจอมเนรคุณ ได้มีผู้เข้ามาให้ข้อคิด ความเห็นที่น่าสนใจอยู่หลายราย เป็นเหตุให้ผมมีแรงบันดาลใจที่จะมาเขียนขยายผลต่อในบันทึกนี้

   ผมยอมรับว่าตอนจั่วหัวชื่อบันทึกด้วยข้อความ กาฝาก พืชจอมเนรคุณ นั้น ผมมีความตั้งใจอยู่ 2 ประการคือ

     1. เพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์ ซึ่งผมมีต่อพืชชนิดนี้  ที่กระทำกับไม้ผลคือส้มโอต้นเดียวที่บ้านผม จนแทบเอาชีวิตไม่รอด  แถมยังได้เห็นต้นชมพู่ที่บ้านญาติติดๆกันที่เหลือแต่กิ่งตายแล้ว เพราะโดนกาฝากรุมทึ้ง  ก่อนต้นชมพู่ตายผมเคยไปสำรวจดูว่าที่เห็นเขียวๆนั้นมีใบชมพู่อยู่ตรงไหนบ้าง  ก็หาแทบไม่เจอ  พาให้คิดไปถึงเรื่องการพึ่งพิง อิงอาศัยว่า ที่ถูกต้องนั้นมันจะต้องเป็นทั้งการให้ และการรับ ที่สมดุลกัน มีการเกื้อกูลกัน ไม่ใช่ขออาศัยหน่อย แต่พอได้จังหวะก็สูบเลือด สูบเนื้อจนผู้มีพระคุณต้องตายไปอย่างน่าสมเพช .. ที่จริงตอนหลังนี้ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องต้นไม้แล้วล่ะครับ คิดถึงอะไรที่มากกว่านั้นอีกเยอะ

     2. ผมเจตนาจะเสนอการ “มองมุมเดียว” ของตัวเอง เพื่อแสวงหา “มุมต่าง” จากผู้แวะมาอ่าน แล้วก็ได้พบจริงๆ และมีคุณค่ามากด้วยครับ

     ข้อสรุปที่ได้มีทั้งระดับเบื้องต้น คือเรื่อง กาฝาก และระดับที่สูงขึ้น คือ การมีวิจารณญาณที่เพียงพอ ต่อสรรพสิ่งที่ปรากฏ หรือบังเกิดขึ้น

     เรื่องกาฝาก ข้อคิดที่ควรได้ก็คือ จงจัดการกับเขาอย่างพอเหมาะ ตามเงื่อนไข และสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่มีบทสรุปตายตัวว่าควรทำอย่างไร แค่ไหน “ความพอดี” ในสถานการณ์ที่ต่างกัน ย่อมแตกต่างกันไปด้วย

     จะ .. ฟันทิ้งไม่ให้เหลือซาก  …  ตัดออกเสียบ้าง  หรือ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ล้วนเป็นความพอเหมาะ พอดี ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เหตุการณ์เกิดที่ไหน กับอะไร และเราต้องการผลอะไรเป็นสำคัญ

     เรื่องที่สูงกว่า “กาฝาก” ก็มีครับ .. คือว่า ในชีวิตคนเรานั้น เมื่อเห็นการกระทำของใครในเรื่องใดๆก็ตาม เราไม่ควรด่วนสรุป หรือพิพากษา หาคำตอบว่า ผิด-ถูก ดี-ชั่ว ในทันทีที่ได้รับรู้  ในฐานะผู้ดู เราควรทำการ “ Deep Watching ” ก่อนเสมอ เมื่อพิเคราะห์โดยรอบด้านแล้ว ก็จะได้คำตอบที่ถูกต้องออกมา เป็นความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องได้ในที่สุด

      Deep Watching แปลว่าอะไร .. ผมว่ามันก็แนวเดียวกับ Deep Reading และ Deep Listening นั่นแหละครับ

                                                             สวัสดี


ธรรมะจัดสรรค์มากมายอย่างนี้ ทำอย่างไรดีผมจะบันทึกได้หมดจด

2 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 28 มิถุนายน 2010 เวลา 6:45 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1412

   

   จวนจะหกโมงเย็นแล้วเมื่อผมเริ่มเขียนบันทึกนี้  จากร่มไม้ชายหาดทะเลพุมเรียง บริเวณแหลมโพธิ์เมืองไชยา ถิ่นเก่า บ้านเกิดของตัวเอง

   ในช่วงนี้มีอะไรดีๆ ให้ผมได้คิด ได้ทำ และที่สำคัญที่สุดคือได้พบ ได้สัมผัส ได้ช่วยเหลือ แบ่งปัน เชื่อมความสัมพันธ์กับกัลยาณมิตร  เพื่อนร่วมแนวคิด และอุดมการณ์ได้มากมายจริงๆ แถมในเรื่องของ Timing แต่ละครั้งแต่ละเรื่องก็ช่างลงตัว เหมาะเจาะไปเสียหมด 

   ผมขอเล่าไปแบบสะเปะสะปะตามที่นึกได้ก็แล้วกัน  หากช่วยกันปะติดปะต่อดีๆ เชื่อว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่จะเล่าต่อไปนี้  เข้าข่ายมหัศจรรย์ก็เป็นได้

    1. วันก่อนผมขับรถเข้าปั๊มแก๊สแถวสุราษฎร์ พบรถ Ford รุ่นเดียวกันเติมแก๊ส LPG อยู่ข้างๆ  ชายหนุ่มรุ่นน้องผู้ขับรถดังกล่าวลงจากรถและเดินมาหาผม ชวนคุยเรื่องปัญหาและประสบการณ์การแก้ไขอะไรบางจุดของรถสมรรถนะดีรุ่นนี้ คุยไม่กี่คำก็แยกย้ายกันไป รู้แค่ว่าเป็นคนนครสวรรค์ เขยไชยาและทำงานที่สนามบินสุราษฎร์ และเป็นสมาชิก Ford Club เหมือนกัน ท่านมีชื่อใน Net ว่า Morn

    2. ผมเคย Post เรื่อง “วิชาผักพูม” ไว้ในบันทึกหนึ่งนานมาแล้ว  มีคนมาอ่านและ Comment บ้างเล็กน้อย แต่พอไปสอนที่ มรภ.สฎ. และต้องมีกิจกรรมการสร้าง Blog ก็ให้บังเอิญไปพบว่าท้ายบันทึกดังกล่าวมีคนไปนำเสนอเรื่องราวเรื่องผักพูมไว้ยาวๆถึงสองสามครั้ง นอกจากจะแสดงความดีใจที่เห็นผมกลับมาอยู่บ้านและสนใจเรื่องผักพื้นบ้านแล้ว ยังเชิญชวนให้ไปหา และรับต้นกล้าผักพูมไปปลูกได้เต็มที่ตามที่ต้องการ ท่านใช้ชื่อในนั้นว่า “ภูผา ตาปี” สังกัดกลุ่ม “สายธารอนุรักษ์” ที่บ้านปากกิ่ว ต.ตะกรบ อ.ไชยา ซึ่งเป็นถิ่นที่ผมยังไม่เคยไปมาก่อน ทั้งที่อยู่อำเภอเดียวกัน  จึงตั้งใจมุ่งมั่นว่าสักวันจะต้องไปหาและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ให้ได้

   3. อีกด้านหนึ่งผมได้พบคนดี ครูดี ที่ก้าวมาทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเล็กๆ แต่คุณภาพคับแก้ว แห่งหนึ่งในอำเภอไชยา ท่านมีชื่อว่า ผอ.พรศักดิ์  อ่ำใหญ่ เขยไชยา เลือดกาญจนดิษฐ์ ผู้ที่ความดีความเสียสละ ความรักงาน และการทำหน้าที่ด้วยหัวใจของท่าน เป็นที่เลื่องลือ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย จนทำให้ชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียนต่างมีความรัก ความศรัทธาให้ท่านผู้บริหารคนนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  และเพราะน้อง Website ได้ย้ายจากกทม.มาเรียนต่อ ป.2 ที่โรงเรียนนี้  ผมจึงมีโอกาสเรียนรู้โดยตรงเพิ่มเติมด้วยตัวเองมากมายถึงความจริงดังกล่าว เมื่อได้เข้าไปสัมผัสสภาพจริงด้วยตัวเอง ได้พูดคุยกับคุณครูและท่านผู้บริหารบ่อยๆเข้า ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่นไปโดยอัตโนมัติ

    วันหนึ่งพอรู้ว่าโรงเรียนอันคับแคบแห่งนี้กำลังจะโชคดีที่มีผู้จะขายที่ดินติดกับโรงเรียนประมาณ 600 ตารางวาให้โดยคิดราคา 600,000 บาท  ท่านผอ.ตื่นเต้น ดีใจยิ่งนัก แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน แต่ก็คิดอะไรไว้ในใจ แล้วจึงเชิญตัวแทนผู้ปกครองมาร่วมหารือ โดยมีผมเป็นแขกรับเชิญด้วยคนหนึ่ง

   ในการประชุมครั้งแรกมีข้อสรุปว่าจะขอบริจาคจากผู้ปกครองตามศรัทธา และจะจัดหาทุนด้วยการจัดงานเลี้ยงน้ำชาเพื่อระดมทุนในวันเสาร์ที่ 26 มิย.53 อันเป็นวันที่ผมมีสอนที่ราชภัฏสุราษฎร์ ตั้งแต่ 8:30 - 14:30 น. และตั้งใจว่าสอนเสร็จจะบึ่งรถกลับไชยา ให้มาทันร่วมงานที่ รร.วัดแก้วให้ได้

   4. ผมนำความดีของผอ.พรศักดิ์ และเรื่องการจัดซื้อที่ดินแพร่ข่าว ผ่าน บันทึก ใน Blog ด้วยหวังจะให้สหายและกัลยาณมิตรทั้งหลายได้มีโอกาสทำกุศลตามกำลังศรัทธา  ปรากฏว่าได้ผลเกินคาดหมาย  มีญาติๆในเครือข่ายโอนเงินมาให้หลายราย ตอนนี้รวมๆแล้วได้ น่าจะเกิน 15 ตารางวาครับ วาละ 1000 บาท  ยกเว้น ป้าจุ๋ม ซึ่งในที่สุดป้าก็สามารถมาร่วมงานและพบท่านผอ.ได้ถึงโรงเรียน และสนับสนุนใส่ซองไป 3 ตารางวาเท่ากับของผม

    ตอนประชุมครั้งสุดท้ายก่อนวันงานท่านผอ.รายงานว่า มีเงินเข้ามากว่า 4 แสนบาทแล้ว ไม่น่าจะรบกวนชาวบ้านอีกด้วยวิธีการอื่นๆ เพราะถึงวันงานน่าจะได้เงินรวมทะลุเป้า 6 แสนบาท  วันนั้นผมแสดงความไม่เห็นด้วย โดยบอกว่าหากไม่มีอะไรไปกะเกณฑ์ บีบคั้นชาวบ้าน  เงินบริจาคได้มาเกินเป้าเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น  เพราะนอกจากจะได้นำเงินไปถมที่และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่องานของท่านแล้ว  ยังเป็นการสื่อให้คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาอื่นๆได้งุนงง สงสัย และจะได้เรียนรู้ว่าที่นี่เขาเป็นอย่างไร ความร่วมมือจากชุมชนและกัลยาณมิตรจากต่างถิ่นแดนไกลจึงมีได้มากมายถึงเพียงนั้น

   5. อีกด้านหนึ่ง ป้าจุ๋ม เสร็จภารกิจการร่วมงานแต่งงานลูกทีมวิจัยที่ชุมพรแล้ว สามารถเดินทางไปสุราษฎร์ ไปทานข้าวกลางวันกับผมที่ร้านที่ผมสุดประทับใจ ชื่อว่า ”อีสานเรือนไทย” และได้รู้จัก พบปะ พูดคุยกับ เพื่อนที่เป็นเพื่อนที่สุด ของผม  แถมภาคบ่ายยังได้ “ร่วมสอน” นักศึกษาของผมผ่านการเล่าเรื่อง เกี่ยวกับประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย ก่อนพากันบึ่งรถไปไชยา ร่วมงานที่โรงเรียนได้ทันเวลา ตามที่ตั้งใจไว้ทุกประการ

    บรรยากาศที่โรงเรียนเต็มไปด้วยความสุข และความแจ่มใสทั้งในหมู่ผู้ต้อนรับและผู้มาเยือน โดยเฉพาะท่านผอ.ดูจะเก็บความปลื้มใจเอาไว้ไม่อยู่เมื่อมาบอกผมว่านึกไม่ถึงที่ยอดเงินรวมที่บริจาค ตอนนั้น เกิน 1.4 ล้านบาท แล้ว

     … ยังมีต่อครับ หลานเหลน โขยงใหญ่ 7-8 คน กำลังขึ้นจากทะเลกันมา และมืดค่ำแล้ว จะมาเพิ่มเติมให้จบอีกครั้งครับ .. ขอสัญญา

    มาแล้วครับ เพื่อเขียนต่อ (4:20 น. 28 มิย. 53)

   6. เสร็จงานจาก รร.วัดรัตนาราม ผมพาป้าจุ๋ม คุณนง น้องเว็บไซต์ น้องนพพร และหลานจุมพล ตรงไปร้าน ราตรีซีฟู้ดที่ชายทะเลพุมเรียงได้ทันเวลาตามที่ตั้งใจไว้คือไม่ให้เย็นเกินไป  ไปร้านนี้มานับครั้งไม่ถ้วน  ไม่เคยรู้ว่าเจ้าของเป็นพี่สาวของเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่น ที่ปลีกเวลาจากกทม. ไปทำสวนใกล้ๆบ้านของผมที่ไชยา  และเพิ่งพบกัน และได้ข้อมูลมาเมื่อสองวันก่อน  วันนั้นเลยไปบอกเจ้าของร้านว่าเป็นเพื่อนกับคุณอัมพวัน  ราคาอาหารเลยเปลี่ยนไปจากธรรมดาเล็กน้อย โดยไม่ตั้งใจ

   7. ผมตัดสินใจให้ป้าจุ๋มนอนบ้านน้าทองมาก ผู้เป็นเหมือนพ่ออีกคนของผม  เพราะผมอยู่กินที่นี่ ช่วยการงานที่บ้านนี้  มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และทุกคนที่นี่รู้สึกและปฏิบัติกับผมเหมือนสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งตลอดมา  น้าทองมากเคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดธารน้ำไหล (สวนโมกข์) และใกล้ชิดท่านอาจารย์พุทธทาสมายาวนาน  น้องนพพรก็รับช่วง เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนนั้นจนปัจจุบันนี้ น้องขวัญจิตร น้องสะไภ้ที่เป็นเหมือนน้องจริงๆของผมก็เป็นครูสอนอยู่รร.ไชยาวิทยา หลานจุมพลนั้นเล่าก็วิศกรไฟฟ้าหนุ่มจากแถวๆหัวตะเข้า ลาดกระบัง ผู้เคยหิ้วกล้วยเล็บมือนางกว่า 10 หวีไปยื่นให้ป้าจุ๋มและคณะของครูบาสุทธินันท์ ที่ขบวนรถไฟ คราวที่กลุ่มดังกล่าวเดินทางไปทำกิจกรรมบางอย่างที่กระบี่เมื่อไม่นานมานี้ 

     แผนผมสำเร็จทุกประการ เพราะเมื่อมาร่วมทานอาหารเช้าวันรุ่งขึ้น เห็นคุณป้าของเรา สนิทสนมพูดคุยและทำกิจกรรมอยู่ในห้องครัวกับหมู่ญาติของผม เหมือนสมาชิกในบ้าน  และเห็นกอดกันตัวกลมเมื่อลาจาก ตอนเย็นเมื่อวานนี้  ทั้งๆที่ไม่เคยรู้จัก พบเจอกันมาก่อน

  8. เช้าเมื่อวานที่บ้านน้าทองมาก ผมไปร่วมทานอาหารเช้าโดยพกพาผักปลอดสารที่ปลูกเองรอบๆบ้านติดมือไปด้วย พร้อมทั้ง “น้ำชุบเคี่ยว” ของโปรดที่พี่สาวสุดสวาทของผมทำให้ เพื่อให้ป้าจุ๋มได้ทดลองชิม และเหนือกว่านั้นยังพกส้มโอปัตตาเวียลูกเดียวจากทั้งต้น ที่ผมมาปราบกาฝากจนสิ้นซาก และทนุถนอมเอาไม้ค้ำยันไว้ตั้งแต่เพิ่งย้ายมาอยู่ วันก่อนพอคุณป้าจุ๋มไปดู บอกว่ากำลังน่าทานพอดี ส้มโอผลเดียวจากต้นนี้ จึง “เสร็จป้าจุ๋ม” ไปเรียบร้อย (ความจริงท่านแค่ช่วยเก็บให้) 

    ทานข้าวเสร็จ จึงได้ทานส้มโอที่แสนอร่อยกันอีกด้วย ผักปลอดสารอันได้แก่มะเขือ  ถั่วฝักยาวสีม่วง มะเขือพวง และยอดสะเดา เป็นต้น ได้รับการ “จัดการ” โดยป้าจุ๋มและพวกเรา  ดูแล้วให้สบายใจยิ่งนัก

  9. อิ่มแล้วผมลองเสี่ยงโทรหาคุณ “ภูผา ตาปี” ซึ่งเป็นใครก็ยังไม่รู้ เพราะได้ชื่อนี้มาจากการอ่าน Comment ท้ายบันทึกของผม ตามข้อ (2.) เมื่อสามสี่วันก่อน เห็นว่าเป็นกลุ่ม “สายธารอนุรัษ์” เพาะกล้าพืชผักที่ผมอยากได้ และเชิญชวนให้แวะเวียนไป  ผมเห็นเจ้าแม่สมุนไพร มาเยี่ยมผม จึงอยากพาไปพบ ไปคุย ไปชมสิ่งที่ท่าน”ภูผา ตาปี” และสมาชิกทำดูว่าเป็นอย่างไร 

    เหลือเชื่อจริงๆครับ คุณ”ภูผา ตาปี” รับราชการอยู่กรุงเทพฯ แต่ลงมางานศพญาติที่ไชยา และตอนนั้นนั่งคุยกันอยู่ที่บ้าน เลยบอกผมว่าดีใจมากจริงๆที่จะได้พบกัน ผม ป้าจุ๋ม คุณนง และน้องนพพร จึงออกเดินทางสู่บ้านปากกิ่ว ต.ตะกรบ เพื่อพบญาติคนใหม่เป็นครั้งแรกทันที

    เส้นทางยังไม่ชัดเจนนัก  พอถึงหน้าโรงเรียนบ้านห้วยพุน ผมจึงหยุดรถ เพื่อจะโทรถามว่าไปยังไงต่อ  แต่พอยกโทรศัพท์จะกดโทร ก็มีสายโทรแทรกเข้ามาก่อน คุณ”ภูผา ตาปี”นั่นเอง  ถามว่า “อาจารย์ถึงไหนแล้วครับ ผมยืนรออยู่หน้าบ้านหัวหน้ากลุ่ม เลยแทงค์น้ำประปาไปนิดเดียว”  ขับไปอีกราว  2 กม. เราก็ได้พบกัน

  10. คุยกันมันมากครับ  แลกเปลี่ยนควมรู้และประสบการณ์ และแนวทางที่จะช่วยกันทำให้ “โลกใบเก่ากลับมา” ด้วยการทำจริง จากสิ่งเล็กๆ โดย “เริ่มจากสิ่งที่มี ที่เป็น”

    คุณ”ภูผา ตาปี” พาพวกเราเข้าบ้านเพื่อไปรับกล้าผักพูม และต้นไม้หายากอย่างอื่น และทานข้าวกลางวันด้วยกันที่นั่น มีการไปเก็บเห็ดเผาะ สดๆจากธรรมชาติมาล้างและแกงกันเดี๋ยวนั้นด้วย  พอผมโม้ว่าพี่สาวรู้ว่าผมชอบผักพูม เลยทำให้กินหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ไชยาแค่ 2 เดือนกว่า โดยพี่จะนำยอดผักพูมมาทำเป็นกำเล็กๆ และมัดด้วยใบตะไคร้ ต้มกับกระทิสด ทานกับน้ำพริกกะปิ … แล้วในบัดดล หวานใจคุณ “ภูผา ตาปี” ก็ยกกับข้าวอีกจานมาเสริม มันคือ พักพูมต้มกระทิ ที่มัดด้วยใบตะไคร้ เหมือนที่ผมว่าไว้ทุกประการ .. อะไรจะขนาดนั้น

    อิ่มแล้ว คุณ”ภูผา ตาปี” แจกแผ่น CD ผลงานเพลงแนวอนุรักษ์ที่ทำกันเอง ร้องกันเอง จะร่วมบริจาคสมทบเท่าไหร่ก็ไม่ยอม  บอกแต่ว่ามอบให้ด้วยใจ  แล้วก็พาพวกเราไปชมแปลงเพาะผักพูม และให้เราเลือกหยิบกล้าพืชผักจากแปลงเพาะ  บอกให้เอาไปมากๆตามอัธยาศัย  ผมก็ขอว่าไม่ต้องมากเกินไป มันจะได้กระจายไปหลายทิศทาง ให้หลายๆคน จากหลายๆที่จะดีกว่า  กระนั้นก็ตาม หลังจากแบ่งให้ป้าจุ๋ม และน้องนพพรไปแล้วเล็กน้อย  กล้าผักพูมของผมยังเหลือถึง 19 ต้น กะว่าจะแจกลูกหลานไปบ้าง เพื่อช่วยกัน “ทำให้คงอยู่” ในหมู่บ้าน และตำบลของเรา ก่อนกลับเรายังได้ไปเดินป่า ชมต้นผักพูมตามธรรมชาติที่เขาขึ้นเอง แบบอิงอาศัยร่มเงาพุ่มไม้ใหญ่ ทำให้ได้คิดว่าตอนไปปลูกต้องไม่ให้เขาอาบแดดมากเกินไป

11. ผมซื้อตั๋วรถไฟเตรียมส่งป้าจุ๋มกลับกทม.ตั้งแต่วันเสาร์ กะว่าจะพาป้าไปอีกสองสามที่ รวมทั้งดูผ้าไหมพุมเรียง แต่ข่าวดีกว่าก็คือ น้อง”ภูผา ตาปี” (ผมเปลี่ยน คุณ เป็น น้อง เพราะเราตกลง และรู้สึกอย่างนั้นกันเรียบร้อยแล้ว) จะเดินทางเข้ากรุงเทพวันนี้ โดยจะขับรถที่ “ทุกชีวิตปลอดภัยฯ” ไปคนเดียว  ผมก็เลยบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไร ตั๋วรถไฟคืนได้  พี่ไปกับน้องเขานะ” ซึ่งป้าจุ๋มและน้อง”ภูผา ตาปี” ต่างก็ยินดียิ่งนัก

12. ผมนัดให้น้อง”ภูผา ตาปี” มารับป้าจุ๋มราว 16.30 น. ที่ร้าน นาโนแอร์ ของหลานจุมพลที่อยู่ข้างวัดเวียง ปากทางไปรร.ไชยาวิทยา โดยให้ป้าอยู่บ้านน้าทองมาก และอาบน้ำ แต่งตัวรอ  ส่วนตัวผมเองทำหน้าที่ “ขนเด็ก” คือลูกหลาน 6-7 ชีวิตกลับไปบ้านที่โมถ่าย หลังจากมาเรียนพิเศษภาคบ่ายที่หน้าบ้านน้าทองมากกันแล้ว  และมีคิวจะ “ขนคนเพิ่ม” เป็น 8-9 ชีวิตพาไปเล่นน้ำทะเลที่พุมเรียง เพราะไม่ได้ไปกันมานานแล้ว

   ผมมาถึงบ้านกุน แวะร้านกรองจิตต์ไข่เค็ม คุณนงลงไปหิ้วมา 2 กล่อง ผมโทรถามน้อง “ภูผา ตาปี” ว่าอยู่ไหน คำตอบคือเพิ่งมาถึงหน้าวัดเวียง กำลังมองหาร้านนาโนแอร์อยู่ .. อ้อเจอแล้วครับ .. แล้วผมก็โทรหาป้าจุ๋มกลัวเขาจะมารอนาน อยากให้ป้าเดินออกจากบ้านมาตอนนั้น .. แต่ที่ไหนได้ ป้าก็ตอบแบบเดียวกันว่า .. “พี่มาถึงร้านแล้ว กำลังมองหาน้องเขาอยู่ .. อ้อๆๆ เจอแล้ว”  ผมเลยบอกว่าผมอยู่ห่างพี่แค่ 1 กิโล รอแป๊บเดียวก็จะถึงแล้ว  จนในที่สุด ผมก็พาเด็กๆ ทุกคนมาทัน ยกมือไหว้ Say Goodbye กับป้าจุ๋มและน้อง”ภูผา ตาปี” แถมยังได้ถ่ายรูปดีๆ “คนกอดกัน” ได้อีกหลายรูป ก่อนแยกย้ายกันไปคนละทาง (ผมไปทะเล - ป้าจุ๋มกลับกทม.)

    อย่านึกว่าเรื่องดีๆจะจบลงง่ายๆแค่นี้นะครับ .. Shot สุดท้ายนี่ก็เหลือเชื่อจริงๆ นั่นคือพอเราจอดรถที่แหลมโพธิ์  คุณนงมองเห็น Escape สีดำคันหนึ่งจอดอยู่เบื้องหน้าห่างไปราว 10 เมตร พลันบอกว่า “โน่นเพื่อน” ผมดูแล้วก็เฉยๆ  แต่สักครู่เมื่อเด็กๆและคุณนงลงทะเลไปแล้ว ผมก็หามุมสงบข้างพุ่มไม้ชายหาดแหลมโพธิ์ เปิดวิทยุ FM สวมหูฟังอันใหญ่ และกำลังเริ่มใช้ Notebook เปิดอินเตอร์เน็ต เข้า Ford Club ได้ไม่กี่นาที เพิ่งจะลอง Search หาอะไรบางอย่างด้วยคำว่า morn ก็มีชายหนุ่มคนหนึ่งหน้าคุ้นๆ เดินขึ้นมายกมือไหว้ ทันใดนั้นความงงก็เริ่มหาย  ใช่เลยคนที่เราเจอกันแป๊บเดียวที่ปั๊มแก๊สเมื่อวันก่อน (ข้อ 1.) คุยกันต่ออีกมากมายจนรู้ว่าเป็นใคร ทำอะไรอยู่ที่ไหน และคิดอ่านทำอะไรเพื่อสังคมอย่างไร จนชายหนุ่มผู้น้องท่านนี้เรียกศรีภรรยาและลูกๆขึ้นมาจากชายหาด มา “ธุจ้า” กับผม  ให้นามบัตร และขอ Mem. เบอร์โทรศัพท์ผมลงเครื่องที่ตรงนั้น หลายอย่างเราใจตรงกัน ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์เพื่อหยิบยื่นเรื่องดีๆให้สังคม ผมได้น้องชายอีกคนแล้วครับ มีตำแหน่งเป็น วิศวกรบริหารระบบ อยู่ในรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการบิน .. ก่อนจากไปยังบอกว่า จะเดินทางโดยเครื่องบินอีกเมื่อไร ขอให้บอก เพราะจะมีอะไรๆพิเศษให้ .. ดีใจครับ แต่ที่ดีใจมากกว่าก็คือวันนี้วันเดียว ผมได้พบน้องชายคนเก่ง คนดีที่ร่วมอุดมการณ์ ถึง 2 คน แบบไม่คาดคิด

   อะไรๆมันเป็นมาตามที่เล่ามาทั้งหมด  อย่างนี้ ไม่เรียก “ธรรมะ จัดสรรค์” หรือ “บุญจัดสรรค์” จะให้เรียกว่าอย่างไรเล่าครับ

   ขออภัยที่เป็นบันทึกที่ยาวมาก  ตัดเป็นตอนๆก็น่าจะได้  แต่ไม่อยากทำ เพราะกลัวความไม่ต่อเนื่องครับ


ไปสอนแบบไม่ต้องเตรียม ที่มรภ.สุราษฎร์ธานี

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 25 มิถุนายน 2010 เวลา 1:06 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, การศึกษา #
อ่าน: 1727

     เสาร์ 19 มิย.ที่ผ่านมา ผมมีรายการสอนเป็นครั้งแรกที่ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี  งานนี้เริ่มจากที่ผศ.ดร.น้ำอ้อย มิตรกุล ประธานโปรแกรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา คณะครุศาสตร์ได้ติดต่อขอให้ผมไปช่วยสอนโดยยอมขับรถไปปรึกษาหารือกันถึงไชยาเมื่อตอนหัวค่ำวันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน

    สิ่งที่ทำให้ผมพอใจ และรับงานด้วยความสบายใจ คือ ได้สอนสิ่งที่อยากสอน กับคนหมู่มาก จำนวนหลายๆกลุ่ม  แทนที่จะเหมาทั้งเทอม ว่ากันทุกเรื่องให้กับหมู่เรียนใดหมู่เรียนหนึ่ง  ที่ว่าพอใจและสบายใจนั้นเพราะ อยากจะเผยแพร่สิ่งที่คิด และถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้กลั่นกรองมาจากเรื่องที่คิดและทำมาด้วยตัวเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาสายครูทั้งหลาย ผู้ที่จะออกไปเป็นผู้กำหนดอนาคตของชาติ

   ผมออกเดินทางไปตั้งแต่เย็นวันศุกร์ที่ 18 มิย. หลังจากทานยาระงับอาการเป็นไข้และปวดหัว เพราะหลงเพลิน กรำงานกลางแดดเปรี้ยงๆยาวนานมาหลายวัน และมาเจอฝนเข้าอีกเลยต้องเป็นไข้ครั้งแรกตั้งแต่ย้ายลงมาอยู่ไชยา

    คืนนั้นไปทานอาหารเย็นกับอ.ชัยรัตน์ และผศ.ดร.นิตยา กันตะวงษ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ที่ ร้านอีสานเรือนไทย ที่ผมสุดแสนประทับใจทั้งบรรยากาศ รสชาติอาหาร และน้ำใจไมตรีจากท่านเจ้าของร้าน  อิ่มหนำแล้วก็กลับมานอนค้างที่บ้านพักของอ.ชัยรัตน์ และผศ.ดร.นิตยา เพื่อรอตื่นมาสอนตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

    แต่แล้วก็เหมือนเช่นเคย ไม่ค่อยได้นอนหรอกครับ คุยกันเพลินจนดึกดื่น ประสาคนรู้ใจที่สุดที่นานๆเจอกัน  เข้านอนราว 5 ทุ่ม ตกตีสองผมก็ตื่นอีกแล้ว และรู้สึกว่านอนอิ่มแล้วด้วย  ลงมาข้างล่างพบอ.ชัยรัตน์ ครึ่งหลับครึ่งตื่น ให้นักฟุตบอลในทีวีดูอยู่ เลยชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ ต่อยอดความคิด แลกเปลี่ยนความรู้ จนเจ้าของบ้านบอกว่าไปนอนเสียหน่อยมั้ย ผมก็เห็นด้วย แต่พอดูนาฬิกา อีกราว 10 นาทีจะหกโมงเช้าแล้ว ขึ้นไปนอนๆไปก็ไม่หลับจึงลงมาอาบน้ำแต่งตัวเตรียมไปสอน ตั้งแต่ 7 โมงครึ่งโดยประมาณ

   ผมคิดว่าจะเตรียมการสอน แต่แล้วก็ไม่ได้ทำ ดูจะเป็นครูที่แย่เอามากๆ  แต่จำได้ว่าหลายครั้งที่ผ่านมา ผมสอนโดยไม่เตรียมอะไรมาก มักจะทำได้ดีกว่าเตรียมเยอะๆ  เหตุน่าจะอยู่ที่สอนไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริง  ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน สื่อไปแบบธรรมชาติ เรียกว่าปล่อยคำพูดออกมาจากใจ  และที่สำคัญ พูดในสิ่งที่เราคิด และทำมาแล้วด้วยตัวเอง  วิธีนี้หากใครจะเอาไปใช้บ้างให้ระวังดีๆ โดยเฉพาะครูใหม่ทั้งหลาย  คนทำได้จะต้องผ่านโลกและประสบการณ์มาพอประมาณแล้วเท่านั้น และที่สำคัญ แม้ไม่ได้เตรียมในรายละเอียดที่จะพูด แต่เป้าหมายต้องชัดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดทำกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลอะไรออกมาภายในเวลาที่กำหนด

    วันนั้นนอกจากผมจะได้ใช้เวลาพูดคุยกับนักศึกษา 100 กว่าชีวิต ชี้ชวน เสริมความคิดและนำนักศึกษาสร้าง Blog เพื่อใช้เป็น Social Network ส่งเสริมการเรียนรู้ และจัดการความรู้ของแต่ละคนแล้ว  ตอนเริ่มภาคบ่ายยังมีรายการพิเศษคือการ Phone in มาจาก ผศ.ดร.แสวง  รวยสูงเนิน  สหายร่วมอุดมการณ์จาก ม.ขอนแก่นด้วย

   การพูดคุยและเล่าประสบการณ์ของผม มีสาระสำคัญอะไรบ้าง  และ “ลุงแหวง” พูดอะไร  จำไม่ค่อยได้แล้ว เลยบอกว่าใครพอจำได้ให้บอกกันบ้าง

    นักศึกษาเขาก็ดีครับมาเขียนกันพอประมาณ รวมทั้งให้น้ำหวาน และโปรยยาหอมให้ผู้สอนด้วยล่ะ

   นี่ไงครับ หลักฐานส่วนหนึ่ง

    “   อาจารย์เป็นอาจารย์ที่ผมคิดว่าเป็นอาจารย์ที่แท้จริง ซึ่งจากการสอนของอาจารย์อาจารย์บอกว่าไม่ได้เตรียมเนื้อหาที่สอนเลย  แต่การที่เราจะสอนใครสักคนหรือหลาย ๆ คนนั้น เราต้องรู้เรื่องสิ่งที่เราจะสอนให้ดีเสียก่อนถึงจะถ่ายทอดความรู้ให้กับเขา  แต่สิ่งที่อาจารย์พินิจได้สอนกับ นักศึกษา ป.บัณฑิต นั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ได้ทำและปฏิบัติอยู่เป็นประจำเป็นเรื่องที่อาจารย์รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ชำนาญอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเตรียมการสอนอะไรมากมาย 

     หลังจากที่ได้เรียนกับอาจารย์ทำให้ทราบว่าสังคมแห่งการแบ่งบันมีประโยชน์มากมายในการที่เราจะแชร์ความรู้ร่วมกัน กับผู้อื่น ผมในฐานะลูกศิษย์ของอาจารย์คนหนึ่งที่ได้เรียนกับอาจารย์มีความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่ง  และหวังว่าคงจะได้ความรู้จากอาจารย์อีกในวัน เสาร์ที่ 26 มิ.ย. นี้  

     “ คำพูดของอาจารย์แสวงที่ตรงใจมากที่สุด คือคำว่า ปัจจุบันนี้มี “ปริญญาของแท้ แต่คนเป็นคนปลอม” มันทำให้คิดถึงตัวเองว่า เราก็เป็นเช่นนั้น และไม่ต้องการให้เด็กไทยเป็นเช่นนั้น สำหรับตัวเองแล้ว ยิ่งได้เรียนวิชาชีพครู ที่ย้ำกับตัวเองว่าอยากจะทำ การศึกษาตามอัธยาศัยให้ลูก หรือที่คนมักจะเรียกว่า Home school

     หนูชื่อ นางสาวเกษมณี ศิริรัตน์ ค่ะ แวะมาชมเชยอาจารย์หน่อยค่ะ หนูเป็นนักเรียนห้องนี้ด้วยค่ะ มีความภาคภูมิใจมากที่ได้เรียนกับอาจารย์ค่ะ อาจารย์มีความรู้ความเข้าใจในการสอนมาก โดยอาจารย์ไม่ต้องเปิดในตำราเลยค่ะ หนูเป็นนักศึกษาในห้องนี้ด้วยค่ะ อาจารย์เก่งมากค่ะ อาจารย์สอนพวกเราให้เก่งเหมือนอาจารย์ด้วยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ “

     ” สวัสดีคะอาจารย์ ถึงแม้ว่าอาจารย์จะไม่ได้เตรียมตัวมาแต่สอนได้ดีมากเลยเนื้อหาก็เข้าใจง่ายแถมยังสอดแทรกธรรมเล็กๆน้อยๆมาให้ลูกศิษย์ได้คิดอีกด้วย ขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยนะคะ ( หนูก็เป็นคนไชยาเหมือนกันค่ะ) “

      “   สวัสดีครับอาจารย์ Handy   ผมขอขอบคุณอาจารย์มากครับที่อาจารย์สละเวลาให้กับพวกเราชาว ป.บัณฑิต มรส.  ความประทับใจของผมคือ การที่อาจารย์สละเวลามาสอนด้วยใจรัก เล่าประสบการณ์ต่างๆให้พวกเราฟัง และได้รับฟังสิ่งดีๆจากอาจารย์แสวง ผมเองก็คิดเหมือนอาจารย์แสวงครับ  

      แต่ของผมจะมองลงไประดับต่ำกว่า อนุบาล ประถม และมัธยม เหมือนกับว่ามันไม่ได้รับอะไรบางอย่าง  พอเด็กเหล่านั้นเข้ามหาลัยมันก็เลยขาดบางสิ่งบางอย่าง จบมหาลัยก็เลยขาดบางสิ่งบางอย่างไป  โรงเรียนที่ผมทำงานเปิดสอนตั่งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมต้น ทุกเริ่มต้นเทอมใหม่สิ่งที่ผมมองเห็นตอนเช้า (ผมจะมาถึงโรงเรียนก่อน 07.00 น) จะเห็นเด็กชั้นอนุบาลร้องให้งอแงจะตามผู้ปกครองกลับบ้าน ก็ทำให้คิดไปว่า(คิดไปเองนะครับ) ว่าการที่เป็นพ่อแม่มีลูกพาลูกมาส่งโรงเรียน แน่นอนว่าเด็กระดับเล็กๆไม่รู้จักใครเลยอยู่ๆเอาเขามาทิ้งไว้กับใครไม่รู้ ที่อยู่ก็ไม่รู้ที่ใหน มาอยู่แล้วพ่อแม่ก็ไม่รู้ไปใหนซะแล้ว คล้ายๆกับเอามาทิ้ง ถ้าเจอครูดีๆสภาพแวดล้อมที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าตรงกันข้ามไม่รู้เป็นไง  สภาพจิตใจแบบนั้นจะยังติดตัวเขาไปใหม  พอโตขึ้นจะสนใจพ่อแม่ พูดคุยปรึกษากับพ่อแม่ใหม่ หรือว่าตามเพื่อน เพราะสภาพการใช้ชีวิตเขาจะอยู่กับเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ พอได้ฝังอาจารย์แสวงพูดให้ฟังก็เลยฉุกคิดขึ้นมาครับ


ยาฆ่าย่า

2 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 13 มกราคม 2010 เวลา 9:32 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1521

บนโลกใบนี้มองดูดีๆจะพบแต่ความผิดพลาดที่คนเราก่อกรรมทำกันไว้  ผลสะท้อนที่ชัดเจนอันเนื่องมาจากความผิดพลาดหลากหลายอย่างดังกล่าวก็คือความวิปริต แปรปรวนของธรรมชาติ และความเลวร้ายของสภาพแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยพิษภัย ไม่ว่าในอากาศ ในดิน ในน้ำ  ทั้งหมดล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์  โดยเฉพาะมนุษย์ที่กิเลสหนา ปัญญาหยาบทั้งหลายที่บ่มเพาะความรู้ผิดๆ  ความรู้ที่เป็นพิษ และนำมาใช้ดำเนินการแก้ปัญหาแบบ “มักง่าย” กับแทบทุกเรื่อง  ถ้ามันจะกว้างไปก็ขอให้มองแคบๆลงมาสัก 2 เรื่อง ได้แก่

  • ความมักง่าย/มักมากด้าน การศึกษา
  • ความมักง่าย/มักมากด้าน เกษตรกรรม

   เพราะเราชอบทำอะไรง่ายๆ แบบ มองไม่ตลอดสาย ทำตามๆเขาโดยไม่รู้จักยั้งคิด  มองเห็นผลใกล้ตัวที่จะได้ง่ายๆ เร็วๆก็รีบดำเนินการทันที  เรียกว่ามักมาก อยากได้ผล แต่การสร้างเหตุเพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่มุ่งหวังนั้นมักทำกันแบบ “มักง่าย” คือเอาง่าย เอาเร็วไว้ก่อน เพราะ อยากง่าย และ อยากเร็ว อย่างไร้สตินี่เองที่ทำให้การดำเนินการหลายเรื่องทั้งด้านการศึกษา และการเกษตรกรรม เกิดความผิดพลาดและส่งผลร้ายมากมายออกมาเป็นของแถม และดูเหมือนจะยืดเยื้อ เรื้อรัง แก้คืนลำบากขึ้นเรื่อยๆ 

   ลองคิดต่อกันเองนะครับว่าเรื่องใดบ้างที่เข้าข่ายดังกล่าว  เพราะถ้าขืนนำมาบอกเล่ากันให้หมดละก็ บันทึกนี้คงยาวมาก และอาจเป็นประเภท หลายตอนยังไม่รู้จบก็เป็นได้

   เรื่องหนึ่งที่อยากยกมาประกอบเพราะเพิ่งเห็นตำตามาหยกๆได้แก่เรื่อง ยาฆ่าหญ้าครับ 

    เมื่อลงใต้ไปเยี่ยมบ้านครั้งที่แล้ว  ผมเห็นคนงานพม่าที่เข้ามารับจ้างทำงานในสวนยางเขาสะพายถังยาฆ่าหญ้าเดินจะไปทำงานในสวน  ขณะเดินไปในบริเวณบ้าน  เจอหญ้าขึ้นก็ฉีดพ่นสารพิษจากถังใส่หญ้าข้างทาง  เห็นแล้วใจหายครับ คิดไปต่างๆนาๆว่านี่มันฆ่ากันง่ายๆอย่างนี้เชียวหรือ  หญ้าเขาผิดอะไรนักหนาถึงต้องฆ่าเสียง่ายๆ  และแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นในดินให้ตายตามไปด้วย  คิดไปไกลในระดับโลกว่า ปัจจุบันพื้นดิน และแหล่งน้ำบนโลกนี้จะซึมซับรับเอาพิษร้ายของสารเคมีพวกนี้ไว้มากมายเพียงใด  สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในธรรมชาติจะได้รับผลกระทบสักเพียงไหน  แล้วลูกหลานในอนาคตจะเติบโตมาเจออะไร ในดิน น้ำ และอากาศ  คิดอยู่นานครับ คิดมาหลายวัน คิดด้วยความไม่รู้  ได้แต่เดาๆเอาว่ามันน่าจะไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน  เกษตรเคมี น่าจะเพลาๆกันได้บ้างแล้วกระมัง  เพราะนอกจากต้นทุนต้องสูงขึ้นจากการต้องพึ่งพาสารเคมีสารพัดชนิดแล้ว  ยังฝากของแถมที่เป็นพิษภัยไว้ให้ลูกหลานอีกด้วย  หันมาสู่ เกษตรอินทรีย์ กันเถอะครับ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และโลกที่น่าอยู่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   อย่างน้อยก็เรื่องยาฆ่าหญ้า น่าจะหันมาทบทวนปริมาณการใช้ และ ลด ละ เลิก ให้ได้น่าจะดีที่สุด 

    ไปดูที่นาของสหายร่วมอุดมการณ์ “ดร.แสวง  รวยสูงเนิน” ก็เห็นจัดการกับหญ้าในนาได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆก็ทำได้นี่ครับ  เบื่อความเป็น ทาส ก็หันมาเป็น ไท ได้นี่ครับ  ไม่ยากเกินไปหรอก เพียงแต่ บนเส้นทางดังกล่าวจะใช้ “ความมักง่าย” ไม่ได้เท่านั้นเอง

    หลายท่านอาจงงว่าชื่อบันทึกนี้ทำไมชื่อ “ยาฆ่าย่า” ตอบให้ก็ได้ครับว่าไม่ได้พิมพ์ผิดแต่อย่างใด  เพียงเพราะอยากให้หักมุมมาคิดว่า แท้จริงแล้วประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยเรานั้น มีทรัพยากรธรรมชาติ คือดิน-น้ำที่สุดแสนสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับบ้านเมืองอื่น แสงแดด และอากาศก็ดี ไม่วิปริต แปรปรวนมากมายเหมือนในหลายประเทศ  ดิน-น้ำที่สุดแสนสมบูรณ์ดังกล่าว เหมือนพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของพวกเรา  สหายแสวง เคยบอกผมว่า ทำเกษตรเคมีก็คล้ายๆการฆ่าพ่อแม่เพื่อเอาสมบัติ  ผมเลยคิดต่อว่า ถ้าเช่นนั้น “ยาฆ่าหญ้า” ก็ไม่ต่างจาก “ยาฆ่าย่า” จึงนำมาเป็นชื่อบันทึกนี้ไงล่ะครับ

   อยากรู้เรื่องพิษภัยของ  “ยาฆ่าหญ้า” ลองตามไปดูได้ครับ


ควรเรียน-สอนกันอย่างไรในระดับอุดมศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 19 ตุลาคม 2009 เวลา 2:00 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1299

    ก่อนอื่นขออย่าได้คาดหวังว่าบันทึกนี้จะมีคำตอบเบ็ดเสร็จต่อคำถามที่ว่า “ควรเรียน-สอนกันอย่างไรในระดับอุดมศึกษา” นะครับ  เพราะผมไม่อาจหาญไปแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร และขอให้ใครเชื่อและทำตาม  เพียงแค่อยากนำเสนอสิ่งที่คิดได้หลังจากมีเรื่องให้ต้องคิด อันเนื่องมาจากการพูดคุยกึ่งให้คำปรึกษากับนักศึกษาปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมเครื่องกลคนหนึ่งที่กำลังมีปัญหาเรื่องการทำโครงงานหรือ Project

    น้องสะใภ้ผมซึ่งเป็นเพื่อนของแม่ของนักศึกษาคนนั้น เป็นคนโทรมาขอให้ผมช่วยแนะนำหน่อย ผมก็รับปากด้วยความเต็มใจ  ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้ร่ำเรียนมาทางสาขาดังกล่าว  แต่ก็เชื่อว่าคงพอจะแนะนำอะไรๆในระดับหลักการ และวิธีคิดได้บ้าง  พร้อมกับจะได้เรียนรู้ว่า ความเป็นไปในการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ในมหาวิทยาลัยใหญ่ของรัฐที่ “หลาน” คนดังกล่าวร่ำเรียนอยู่นั้นเป็นอย่างไร

    เท่าที่รับทราบ ปัญหาอยู่ที่ว่าอาจารย์ผู้สอนไม่อยากให้ทำโครงงานอันเป็นงานกลุ่ม 3 คน นำเสนอเค้าโครงเข้าไป  ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการศึกษาประสิทธิภาพการแพร่กระจายความร้อนของท่ออะไรสักอย่างหนึ่ง ที่โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง  อาจารย์ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ  ไม่มีคุณค่าต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง  ถามไปถามมาก็ได้ทราบความจริงว่า อาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาคนนี้เป็นผู้คิดโครงการให้  และเห็นบอกว่าอาจารย์ดังกล่าวไม่ถนัดหรือไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำงานในลักษณะการประดิษฐ์คิดค้น ทำแต่งานวิจัยแบบทดลอง  ส่วนอาจารย์ผู้สอนถนัดอีกแนวหนึ่ง

    ผมถามว่าทำไมไม่คิดโครงการกันเอง  พร้อมแนะนำว่า การทำงานถ้าจะให้สนุกต้องทำสิ่งที่เราเห็นคุณค่าในผลของงานนั้นๆ และการจะได้มาซึ่งโครงงานดีๆมีคุณค่าควรจะได้ เริ่มจากปัญหา  คือมองไปรอบๆตัวว่ามีเรื่องใดของผู้คนในสาขาวิชาชีพใดที่ยังเป็นปัญหา ต้องการวิธีการปฏิบัติใหม่ๆเพื่อแก้ หรือลดปัญหาดังกล่าว  โดยใช้ความรู้ในศาสตร์ที่เรากำลังศึกษาอยู่  พร้อมยกตัวอย่างว่า  เมื่อผมเรียนรู้ว่า ทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งที่จะเป็นปัญหามากในอนาคต  เกษตรกรจะต้องเดือดร้อน วุ่นวายเพราะจัดการอย่างไม่เหมาะสมกับเรื่องการใช้น้ำ  ประกอบกับการเรียนรู้ว่ามีผลงานวิจัยจนผลงานเครื่องกระจายน้ำฝอยแบบ ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อย และใช้ปริมาณน้ำน้อย และมีจำหน่ายในราคาประหยัด เพียงประมาณชุดละ 300 บาท  ผมก็คิดว่าสมควรเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานในบางส่วนเพื่อให้มีการนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และมีความสะดวกและประหยัดในการติดตั้ง จึงเริ่มคิดค้น ดัดแปลงเครื่องจ่ายกำลังไฟฟ้า และระบบควบคุมเวลาการทำงานให้กับระบบกระจายน้ำฝอยดังกล่าว  จึงเริ่มทำงานไปด้วยความสนุกและความหวังว่า ผลงานที่คิดค้น ดัดแปลงแต่ละรุ่น จะได้มีโอกาสช่วยให้ผู้คนได้ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัด และลงทุนไม่สูงมากเกินไปในการซื้อหาอุปกรณ์ที่เราผลิต และนำมาติดตั้งใช้งานด้วยตัวเอง  แถมด้วยตัวอย่างเรื่องอื่นๆเพื่อตอกย้ำว่า เรื่องที่ผมทำ  ล้วน เริ่มจากการมองให้เห็นปัญหา ก่อนเสมอ  ตามด้วยการ มองให้เห็นสาเหตุของปัญหา  และการกำหนดให้ได้ว่า เป้าหมายหรือผลจากการทำงานนั้นๆเราจะได้ผลลัพธ์อะไรออกมา ชนิดที่ช่วยให้ผู้อื่นพ้นความทุกข์ ความยากลำบากได้  ตามด้วยการ กำหนดวิธีการหรือขั้นตอนว่าจะทำอะไรเป็นลำดับไปอย่างไร  จนกระทั่งได้ผลงานตามที่คาดหวัง  และย้ำว่า  ด้วยวิธีคิดดังกล่าวนั่นเอง  ทำให้ผมสนุกกับงานทุกชิ้นทุกเรื่องที่ทำ  โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งการ ควบคุม กระตุ้นหรือคอยเสริมกำลังใจ  เนื่องด้วยในกระบวนการดังกล่าวมันมี ยาเร่ง ยาชูกำลังอยู่เรียบร้อยแล้ว  ทำไปพร้อมกับได้เปล่งคำว่า “ถูกต้อง - พอใจ” ให้กับตัวเองได้ไปเรื่อยๆ  ทั้งยังสามารถ พักผ่อนไปกับการทำงาน ได้เสมอ

    แนะนำเสร็จผมก็บอกว่าให้ลองไปคุยกับเพื่อนอีก 2 คนดูอีกครั้งโดยใช้แนวทางดังกล่าวในการคิดโครงงานที่จะทำ  ได้ผลอย่างไรให้โทรมาคุยใหม่  ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับโทรศัพท์ครับ

    จากกรณีดังกล่าวทำให้ผมคิดต่อและเห็นว่าระบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษานั้น ..ไม่น่าจะปล่อยให้เกิดการเรียนกันไปแบบไร้ความหมายและเป้าหมาย เพราะจะก่อให้ เกิดความเบื่อหน่าย และไม่อาจก้าวไปถึงความรู้จริง หรือสติปัญญาในศาสตร์ที่เรียนได้ มักจะวนเวียนอยู่ในระดับ จำได้ บอกได้ว่า อะไรเป็นอะไร เสียมาก มีส่วนน้อยที่ไปถึงการตอบโจทย์ได้ว่า ทำไม ? และ อย่างไร ? 

   และเพื่อให้ การเรียนอย่างทนทุกข์ทรมาน ลดน้อยลง  ก็ไม่ควรไปหลงเพลินกับการเรียนทฤษฎี(ล้วนๆ)มากเกินไปไปจนผู้เรียนอ่อนล้า  ควรให้นักศึกษาได้ออกจากห้องสี่เหลี่ยมไปสู่โลกภายนอกที่เป็นจริง เป็นธรรมชาติ เพื่อสัมผัส สภาพจริงที่มีปัญหาต่างๆแฝงเร้นอยู่ให้มากขึ้น  ให้มีโอกาสได้ฝึกคิด ฝึกมองอะไรๆที่เชื่อมโยงอยู่กับชีวิตจริงของผู้คนในสังคมไปตามลำดับ ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในปีแรกๆ  ไม่ใช่รอว่าเอาไว้ให้ถึงปีสุดท้ายค่อยออกไปหาประสบการณ์ภาคปฏิบัติ 

    ถ้าเปรียบพวกเขาเป็นต้นไม้  ก็อยากให้เขาได้ออกจากกระถาง มาสัมผัสพื้นดินจริงๆดูบ้าง  เขาจะได้ไม่แขวนลอยด้วยความเสี่ยงอยู่กลางอากาศ  แบบรอคอยการป้อนน้ำและอาหารจากผู้อื่นเสียบ้าง

    ได้สัมผัสดินบ่อยๆ อีกหน่อยเขาจะรู้สึกเองว่า การมีรากหยั่งลงในพื้นแผ่นดินที่เป็นธรรมชาตินั้น จะทำให้เขาสามารถดำรงตนอยู่อย่างมั่นคง ปลอดภัย ช่วยตัวเองและเผื่อแผ่ เกื้อกูลต่อผู้อื่นได้ และค้นพบคุณค่าของตนเองได้ ในที่สุด


เมื่อด๊อกเตอร์ชาวนามายั่วผม !

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 29 กรกฏาคม 2009 เวลา 10:16 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1050

    เช้านี้มี “ชาวนา” โทรมาหา และปรารภเรื่องอันน่าหนักใจในสังคมหลายเรื่อง ส่วนมากหนักไปทางด้านการศึกษา และการเรียนการสอน การทำผลงานวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ปรับเงินเดือน และยังได้พูดถึงข้อสงสัยของท่านว่า สังคมไทยมีความ อดทนสูง หรือมี ภูมิคุ้มกันต่ำ กันแน่

    สิ่งที่คุยกันเราเห็นอะไรตรงกันอยู่มากในหลายๆเรื่อง  ท่านก็บอกว่าอยากให้ช่วยสื่อ ช่วยนำเสนอความจริงเพื่อช่วยกัน “แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด” ผมก็อยากช่วยครับ  แต่คงทำอะไรได้ไม่มากนักเนื่องจากไม่มีอำนาจ และตำแหน่งอะไรที่ไหน คุยเสร็จผมก็ตามไปอ่านบันทึกของท่าน แล้วก็เกิดอาการ อิน เลยไปต่อยอดไว้ค่อนข้างยาว ดังนี้ …

  • อยากให้สิ่งที่อาจารย์นำเสนอเป็น “ความเท็จ” เหลือเกินครับ
  • แต่มั่นใจมากว่าความอยากของผมคงไม่อาจเป็นจริงได้
  • สรุปก็คือมันแจ่มแจ้ง แดงแจ๋อยู่เต็มบ้านเต็มเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงวิชาการ ยิ่งเจาะลงไปในระบบการศึกษาก็จะยิ่งเห็นชัด
  • การศึกษา แทนที่จะเป็น แหล่งรวมของสติปัญญา กลับกลายเป็นว่าเต็มไปด้วย “ไสยศาสตร์” ครับ
  • ไสยศาสตร์” ในที่นี้มิได้หมายถึงเรื่องโชคลาง ของขลังใดๆ แต่หมายถึง ความมืดดำในความรู้
  • มันมีเรื่อง มืดมัว ไร้เหตุผล ไร้ทิศทาง เต็มไปหมดเลยครับ
  • เริ่มต้นว่าไว้อย่างหนึ่ง  ตรงกลางไปอีกทาง  ตอนท้ายก็ไปอีกเรื่อง
  • ถ้านึกอะไรไม่ออกว่าจะพิสูจน์อย่างไร ก็ลองปีนไปเอา งานวิจัยบนหิ้ง ลงมาไล่อ่านดูสัก 10 เล่มก็ได้ครับ
  • รับบำเหน็จ รางวัล ชื่อเสียงไปเรียบร้อย โดยผลงานที่ทำเป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึก ที่เปลืองทั้งกระดาษและหมึกมากๆ เพราะหนาเหลือเกิน ดูขลังจริงๆ 
  • ครั้นหันกลับไปดูเจ้าของผลงานว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในการทำหน้าที่การงาน  ก็มักจะพบความจริงว่า “เหมียนเดิม” ไม่มีอะไรใหม่ ทำไปตาม ประเพณีนิยม โดยยึด “อำนาจนิยม” ไว้อย่างเบ็ดเสร็จ และเหนียวแน่น
  • หากสิ่งที่ผมพูดไป “เป็นความเท็จ” ได้ .. ผมจะดีใจมากเช่นกันครับอาจารย์
  • ส่วนเรื่องอาจารย์ตั้งโจทย์ว่าเรา อดทนสูง หรือว่า มีภูมิคุ้มกันต่ำ นั้น ผมว่ามันทั้งสองอย่างนั่นแหละ
  • เริ่มจาก ภูมิคุ้มกันต่ำ ก่อน เพราะเราเคยมีธรรมชาติอุดม สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมดี เอื้ออำนวยให้ “ตามสบาย” และ “ไม่เป็นไร” ได้เสมอ โดยไม่เดือดร้อน ไม่ต้องคิดมาก
  • โลกเปลี่ยนไป เจ้าตัว “ตามสบาย” และ “ไม่เป็นไร” ทำให้เราถูกจูง ถูกหลอก ถูกลากไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ หลายด้านเต็มที รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย
  • เมื่อปัญหารุมเร้ามากเข้า การฉ้อฉลหลากหลายรูปแบบ ก็เกิดขึ้น มีให้เห็นในทุกวงการ มากบ้าง น้อยบ้าง
  • ผู้มีอำนาจ ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจเงิน จึงกุมทุกอย่างไว้ได้ และจะฉ้อฉลอย่างไรต่อก็ได้ เพราะ ภูมิคุ้มกัน ของคนไทยได้ลดต่ำลงไปมากมายแล้ว
  • สุดท้าย ก็คือ “ต้องอดทน” ครับ .. ทนไปพร้อมกับท่องคาถาประจำเผ่าพันธุ์ว่า … ”ไม่เป็นไร” และ “ตามสบาย” ครับผม

         อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าให้ดีควรย้อนไปดู บันทึกต้นเหตุ ของบันทึกนี้ด้วยครับ


เรื่องราวย่อๆเกี่ยวกับการพัฒนา Power Supply & Control Unit สำหรับ ULEM

7 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 เวลา 3:00 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1782

    เตรียมการไว้ค่อนข้างดี  มีภาพถ่ายเพียบ เพื่อการเขียนความเป็นมา เป็นไป ของการพัฒนา ดัดแปลงเครื่องจ่ายกำลังและระบบควบคุม ULEM  แต่ไม่ว่างเขียนเพราะความคิดกำลังแล่น  มัวแต่ทำๆๆ ครับ

    อย่างไรก็ตาม เพื่อสนองตอบความต้องการของแควน วัยรุ่นใจร้อนจากเหนือสุดแดนสยาม  จึงขอลงรูปให้ดูบางส่วนก่อนดังนี้

๑. ชุดแรกที่ท่าน Logos ทำเล่นและลองเอาไปดูกันที่สวนป่า

                              

 

๒. ส่วนหนึ่งของข้าวของที่ผมเตรียมไป และที่ท่าน Logos ซื้อหามาให้ลองทำ

                  

 

๓. ว่าไปทั้งวันเพราะของไม่ครบ ต้องไปหาซื้อเพิ่มจากเมืองสตึก สว่านก็ไม่มีต้องเจาะรูด้วยหัวแร้ง  คว้านให้ได้ขนาดด้วยมีด ฯลฯ ทุลักทุเล  จนมาเสร็จเอาตอนค่ำ  และแล้วการติดตั้ง ทดลอง Run ก็เริ่มในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

                         

 

๔. กลับมา กทม.ไม่รอช้า  นำความคิดต่อยอดที่ผุดขึ้นมา  รีบไปหาของมาลุยทำได้เป็น 3 รุ่น 3 รส

                            

 

๕. ทันนำเสนอในงานระพีเสวนา ที่ SCB เมื่อ 3 พค. ที่ผ่านมา  เหนื่อยเพลินจนลืมสนิทว่าตัวเองเกิดวันที่ 2 พค. (เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง)

                                

        

 



Main: 0.28001308441162 sec
Sidebar: 0.013175964355469 sec