ยาฆ่าย่า
อ่าน: 1522บนโลกใบนี้มองดูดีๆจะพบแต่ความผิดพลาดที่คนเราก่อกรรมทำกันไว้ ผลสะท้อนที่ชัดเจนอันเนื่องมาจากความผิดพลาดหลากหลายอย่างดังกล่าวก็คือความวิปริต แปรปรวนของธรรมชาติ และความเลวร้ายของสภาพแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยพิษภัย ไม่ว่าในอากาศ ในดิน ในน้ำ ทั้งหมดล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่กิเลสหนา ปัญญาหยาบทั้งหลายที่บ่มเพาะความรู้ผิดๆ ความรู้ที่เป็นพิษ และนำมาใช้ดำเนินการแก้ปัญหาแบบ “มักง่าย” กับแทบทุกเรื่อง ถ้ามันจะกว้างไปก็ขอให้มองแคบๆลงมาสัก 2 เรื่อง ได้แก่
- ความมักง่าย/มักมากด้าน การศึกษา
- ความมักง่าย/มักมากด้าน เกษตรกรรม
เพราะเราชอบทำอะไรง่ายๆ แบบ มองไม่ตลอดสาย ทำตามๆเขาโดยไม่รู้จักยั้งคิด มองเห็นผลใกล้ตัวที่จะได้ง่ายๆ เร็วๆก็รีบดำเนินการทันที เรียกว่ามักมาก อยากได้ผล แต่การสร้างเหตุเพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่มุ่งหวังนั้นมักทำกันแบบ “มักง่าย” คือเอาง่าย เอาเร็วไว้ก่อน เพราะ อยากง่าย และ อยากเร็ว อย่างไร้สตินี่เองที่ทำให้การดำเนินการหลายเรื่องทั้งด้านการศึกษา และการเกษตรกรรม เกิดความผิดพลาดและส่งผลร้ายมากมายออกมาเป็นของแถม และดูเหมือนจะยืดเยื้อ เรื้อรัง แก้คืนลำบากขึ้นเรื่อยๆ
ลองคิดต่อกันเองนะครับว่าเรื่องใดบ้างที่เข้าข่ายดังกล่าว เพราะถ้าขืนนำมาบอกเล่ากันให้หมดละก็ บันทึกนี้คงยาวมาก และอาจเป็นประเภท หลายตอนยังไม่รู้จบก็เป็นได้
เรื่องหนึ่งที่อยากยกมาประกอบเพราะเพิ่งเห็นตำตามาหยกๆได้แก่เรื่อง ยาฆ่าหญ้าครับ
เมื่อลงใต้ไปเยี่ยมบ้านครั้งที่แล้ว ผมเห็นคนงานพม่าที่เข้ามารับจ้างทำงานในสวนยางเขาสะพายถังยาฆ่าหญ้าเดินจะไปทำงานในสวน ขณะเดินไปในบริเวณบ้าน เจอหญ้าขึ้นก็ฉีดพ่นสารพิษจากถังใส่หญ้าข้างทาง เห็นแล้วใจหายครับ คิดไปต่างๆนาๆว่านี่มันฆ่ากันง่ายๆอย่างนี้เชียวหรือ หญ้าเขาผิดอะไรนักหนาถึงต้องฆ่าเสียง่ายๆ และแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นในดินให้ตายตามไปด้วย คิดไปไกลในระดับโลกว่า ปัจจุบันพื้นดิน และแหล่งน้ำบนโลกนี้จะซึมซับรับเอาพิษร้ายของสารเคมีพวกนี้ไว้มากมายเพียงใด สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในธรรมชาติจะได้รับผลกระทบสักเพียงไหน แล้วลูกหลานในอนาคตจะเติบโตมาเจออะไร ในดิน น้ำ และอากาศ คิดอยู่นานครับ คิดมาหลายวัน คิดด้วยความไม่รู้ ได้แต่เดาๆเอาว่ามันน่าจะไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน เกษตรเคมี น่าจะเพลาๆกันได้บ้างแล้วกระมัง เพราะนอกจากต้นทุนต้องสูงขึ้นจากการต้องพึ่งพาสารเคมีสารพัดชนิดแล้ว ยังฝากของแถมที่เป็นพิษภัยไว้ให้ลูกหลานอีกด้วย หันมาสู่ เกษตรอินทรีย์ กันเถอะครับ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และโลกที่น่าอยู่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างน้อยก็เรื่องยาฆ่าหญ้า น่าจะหันมาทบทวนปริมาณการใช้ และ ลด ละ เลิก ให้ได้น่าจะดีที่สุด
ไปดูที่นาของสหายร่วมอุดมการณ์ “ดร.แสวง รวยสูงเนิน” ก็เห็นจัดการกับหญ้าในนาได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆก็ทำได้นี่ครับ เบื่อความเป็น ทาส ก็หันมาเป็น ไท ได้นี่ครับ ไม่ยากเกินไปหรอก เพียงแต่ บนเส้นทางดังกล่าวจะใช้ “ความมักง่าย” ไม่ได้เท่านั้นเอง
หลายท่านอาจงงว่าชื่อบันทึกนี้ทำไมชื่อ “ยาฆ่าย่า” ตอบให้ก็ได้ครับว่าไม่ได้พิมพ์ผิดแต่อย่างใด เพียงเพราะอยากให้หักมุมมาคิดว่า แท้จริงแล้วประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยเรานั้น มีทรัพยากรธรรมชาติ คือดิน-น้ำที่สุดแสนสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับบ้านเมืองอื่น แสงแดด และอากาศก็ดี ไม่วิปริต แปรปรวนมากมายเหมือนในหลายประเทศ ดิน-น้ำที่สุดแสนสมบูรณ์ดังกล่าว เหมือนพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของพวกเรา สหายแสวง เคยบอกผมว่า ทำเกษตรเคมีก็คล้ายๆการฆ่าพ่อแม่เพื่อเอาสมบัติ ผมเลยคิดต่อว่า ถ้าเช่นนั้น “ยาฆ่าหญ้า” ก็ไม่ต่างจาก “ยาฆ่าย่า” จึงนำมาเป็นชื่อบันทึกนี้ไงล่ะครับ
อยากรู้เรื่องพิษภัยของ “ยาฆ่าหญ้า” ลองตามไปดูได้ครับ
- http://www.songkhlahealth.org/paper/650
- http://variety.teenee.com/science/21159.html
- http://www.oknation.net/blog/inter/2009/10/08/entry-1
« « Prev : เพียงละม้าย .. คล้ายละเมอ
2 ความคิดเห็น
คิดได้วันนี้ยังดีที่ได้คิด เรื่องยาฆ่าหญ้า (พาราควอต กรัมมอ็กโซน) นั้นอาม่าเคย ศึกษาวิจัยเรื่องพฤติกรรมกับความรู้การใช้ยาฆ่าหญ้า ของเกษตรกรในประเทศไทย ทีมอาม่ารับผิดชอบทางภาคเหนือของประเทศ ทำงานร่วมกับอาจารย์ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีเภสัช แพทย์(นิติเวช) เป็นทุนวิจัยจากกองระบาดวิทยามาประมาณยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผลของการศึกษาที่อาม่าลงไปกินอยู่ในพื้นที่จริง ใช้วิธีทั้งคุยด้วย(สัมภาษณ์ไม่ให้รู้ตัว) บันทึกเสียงบันทึกภาพ ลงไปช่วยปลูกพืชผัก จนซี้กับชาวบ้านเห็นทุกอย่างที่เป็นสัจจธรรม ไม่มีอะไรเล็ดรอดสายตานักศึกษาแอดไวซี ที่พาไปทำงานในพื้นที่จริงๆ สรุปว่าความรู้กับพฤติกรรม ออกมาตรงข้ากันเลย หลักฐานที่เป็นข้อมูลจริง ทั้งเสียง ภาพ ข้อมลเอกสารจากการสัมภาษณ์ และข้อมูลสุขภาพ จากผลเลือดที่เจาะ คนในพื้นที่ตกเป็นตัวอย่าง เห็นแล้วตกใจมาค่ะ ปรากฏว่าผลงานที่เราศึกษา ทำให้ทีมอื่นตกใจมาก เพราะเขาใช้เก็บข้อมูลจากเควชชั่นแนร์ แล้วมาวิเคราะห์ เจอทีมอาม่าถึงกับต้องทบทวนวิธีการศึกษาวิจัยกันใหม่ที่เดียว อาม่าเป็นผู้เสนอผลงานวิจัย เริ่มด้วยการออกตัวก่อน ว่าเราไม่สามารถได้เควชชั่นแนร์ตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้…..พันชุด เนื่องจากต้องตรวจสอบว่าเควชั่นแนร์ที่ตอบกลับมา เชื่อถือได้หรือเปล่า ถูกต้องเข้าใจคำถามครบถ้วนไหม คัดออกมาที่สมบูรณ์ มีเพียง สองร้อยกว่าฉบับ แต่เรามีหลักฐาน จากภาพ จากเทปบันทึกเสียงการพูดคุย(สัมภาษณ์ ) เกือบทุกครัวเรือน จากการเข้าอยู่ในหมู่บ้านตัวอย่าง สังเกตุ จดบันทึกไว้ทุกครัวเรือน แล้ววิเคาระห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม spss จึงภูมิใจเสนอผลงานที่ออกมาค่ะ
ขอบคุณมากครับ อาม่า เรื่องแนวนี้จะมาทำหยาบๆด้วย Quantitative Research อย่างเดียวได้อย่างไร ผมว่าหัวใจน่าจะอยู่ที่ Qualitative อย่างที่อาม่าทำนั่นแหละ .. สรุปว่ามันร้ายกว่าที่ฝ่ายผู้ผลิต ผู้ขายคุยเอาไว้มากใช่มั้ยครับ