กระจายอำนาจอย่างไรจึงจะไม่เละ
อ่าน: 1419กลับบ้านที่ไชยาเที่ยวนี้มีเรื่องดีๆที่ปฏิบัติต่อกันในหมู่ญาติและมิตรสหายหลายเรื่อง ความอบอุ่น ความมีน้ำใจยังอุดมสมบูรณ์เต็มที่ แต่ก็มีบางเรื่องที่ทำให้ต้องฉุกคิด และยังหาคำตอบที่ลงตัวไม่ได้ เป็นเรื่องของสาธารณชนครับ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
เรื่องแรกได้แก่เรื่องการทำมาหากินและเสวยประโยชน์อันมิชอบในหมู่นักการเมืองระดับท้องถิ่น พวกอบต.ทั้งหลายนั่นแหละครับ ได้ฟังเรื่องซ้ำๆเกี่ยวกับการ แบ่งกันกิน อยู่เสมอ รวมไปถึงการใช้อำนาจ อิทธิพลเพื่อข่มเหง เบียดเบียนชาวบ้าน .. ขอไม่ลงรายละเอียดครับ แต่ก็มักไม่พ้นประเภทก่อสร้างโน่น ต่อเติมนี่ วางแผนของบประมาณมาทำอะไรบางอย่างพร้อมๆกับวางแผน จัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ที่ไม่ค่อยสะอาดให้กันในหมู่พวกของตัวในลักษณะที่ผู้คนทั่วไปรับรู้ได้ไม่ยาก แต่ไม่อยากให้ชีวิตต้องเสี่ยงหรือพบความลำบากก็เลย “ไม่พูดดีกว่า” อำนาจที่กระจายออกไปสู่ท้องถิ่นก็เลยกลายเป็นอำนาจที่เอื้อผลประโยชน์อันมิชอบให้แก่กลุ่มคนที่อ้างว่าอาสาเข้ามาทำงานเพื่อชุมชนครับ
ที่ผมว่ามาทั้งหมดน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วแผ่นดิน มากบ้าง น้อยบ้าง และเชื่อว่าที่เขาทำดีด้วยความเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน คำถามก็คือ ทำอย่างไร การกระจายอำนาจจึงจะไม่เป็นการกระจายโอกาสให้เกิดการโกง กิน กัน อย่างที่ผมได้รับรู้มา
อีกกรณีหนึ่งขอยกตัวอย่างของจริง ตรงๆมาเสนอเพื่อให้เกิดความคิด เพื่อการแก้ไข และป้องกันครับ งานนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการหาประโยชน์โดยมิชอบของใคร แต่ผลที่ปรากฏผมว่าเสียหายยิ่งใหญ่ และน่าจะเพราะเรื่องการกระจายอำนาจเช่นเดียวกัน
ผมไม่สบายใจทุกครั้งที่กลับบ้านเกิดที่ไชยา แล้วพาหลานไปวิ่งเล่นที่ชายหาดแหลมโพธิ์ที่พุมเรียง ปกติแล้วทะเลแถวอ่าวบ้านดอน รวมมาถึงแถวไชยานั้น ชายฝั่งจะเป็นดินเลน มีป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา ที่สมบูรณ์มาก แต่ก็ได้อย่างเสียอย่างครับ คือแถบนั้นเราจะไม่ค่อยมีหาดทรายสวยๆ เพื่อการลงเล่นน้ำทะเลอย่างที่อื่นๆ เช่น ประจวบฯ ชุมพร สมุย นครฯ หรือสงขลา แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ไชยา เรามีหาดที่แหลมโพธิ์ ซึ่งหลายปีก่อนมีการสร้างสะพานให้รถวิ่งข้ามปากแม่น้ำไปถึงชายหาดได้โดยสะดวก ไม่ต้องล่องเรือมาจากตลาดพุมเรียงอย่างที่พวกผมเคยทำเมื่อสมัยต้องไปอยู่ค่ายพักแรม ตอนเรียนลูกเสือเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม ตอนนั้นเราอึดกันไม่น้อย เดินเท้าจากไชยาไปพุมเรียงราว 8 กม. แล้วล่องเรือต่อเพื่อไปค้างแรมบนแหลมโพธ์ 1 คืน แหลมโพธิ์ตอนนั้นมีหาดทรายขาวสะอาด ทอดยาวไกลให้เราได้วิ่งเล่น ไม่มีสิ่งก่อสร้างหรือบ้านเรือนผู้คน ยกเว้นบ้านชาวประมงที่อยู่ริมฝั่งสองสามหลังเท่านั้น
กาลเวลาผ่านไป ความสะดวกสบายของถนนหนทาง และการสร้างสะพาน ทำให้คนไปถึงแหลมโพธิ์ได้โดยง่าย จึงได้มีการปรับปรุงบริเวณ มีการสร้างอาคาร ร้านค้า ร้านอาหารให้เห็นระเกะระกะอยู่ทั่วไป มีการสร้างที่อาบน้ำ มีห้องสุขา มีสวนหย่อมที่ดูเหมือนร่องรอยของความหวังว่าอยากทำให้สวยงาม มีสายไฟ สายโทรศัพท์ที่เดินไว้อย่างน่ารำคาญสายตา เชื่อมโยงระหว่างเสาไฟฟ้า ที่ปักขนานไปตามถนน ตามแนวชายหาดนั่นเอง ที่ร้ายที่สุดคือการเปิดตลาดนัดขนาดใหญ่บนพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง บนพื้นดินที่ฝุ่นคลุ้ง ดูไกลๆเหมือนค่ายอพยพ ระเกะระกะไปด้วยผ้าพลาสติก กันแดดที่ทำเป็นหลังคา ใช้เชือกขึงและปักหมุดกับพื้นดิน สูงๆ ต่ำๆ อยู่เต็มบริเวณ บดบังทัศนียภาพชายฝั่งได้หมดจดจริงๆ .. อย่าว่าผมปากเสียเลยครับ .. มันไม่ควรจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เลย
จากสภาพแหลมโพธิ์ที่ได้เปลี่ยนจากสวยงามในอดีต มาเป็น เละเทะในปัจจุบัน ผมเดาเอาว่าส่วนสำคัญน่าจะเป็นเพราะการกระจายอำนาจเช่นกัน กระจายอำนาจไปให้อบต.ทำกันเองใช่หรือไม่ แล้วภาพรวมเกี่ยวกับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวของทั้งจังหวัด เป็นอย่างไร มีคณะไหนดูแลหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมยังไม่รู้ แต่ถ้าปล่อยอิสระให้แต่ละอำเภอ แต่ละอบต. ไปคิดละเลงกันเองอย่างอิสระล่ะก็ ผมว่าไม่เข้าท่า เพราะต่อให้เขาบริสุทธิ์ใจเพียงใดแต่ถ้าขาดความรู้-ประสบการณ์ที่เพียงพอ ก็มีสิทธิ์ที่จะทำสิ่งเพี้ยนๆให้เกิดขึ้นได้เสมอ ทำไปโดยความตั้งใจดี แต่ไม่มีความรู้ สุดท้ายเราก็ต้องสูญเสียสิ่งดีๆ สิ่งสวยงามไปอย่างน่าเสียดาย …
- แหลมโพธิ์เป็นสมบัติของคนพุมเรียง หรือเป็นของคนไทยทั้งประเทศ
- จะทำแหลมโพธิ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ร่มรื่น สะอาด สะดวก สบาย ได้อย่างไร
- ใครควรเป็นผู้กำกับดูแล หรือจะปล่อยให้เขาทำกันในกลุ่มเล็กๆ ตามยถากรรม
สรุปก็คือผมอยากถามรวมๆว่า กระจายอำนาจอย่างไรจึงจะไม่เละ นั่นเอง .. ครับผม … อิ อิ อิ