ไปสอนแบบไม่ต้องเตรียม ที่มรภ.สุราษฎร์ธานี
อ่าน: 1717เสาร์ 19 มิย.ที่ผ่านมา ผมมีรายการสอนเป็นครั้งแรกที่ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี งานนี้เริ่มจากที่ผศ.ดร.น้ำอ้อย มิตรกุล ประธานโปรแกรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา คณะครุศาสตร์ได้ติดต่อขอให้ผมไปช่วยสอนโดยยอมขับรถไปปรึกษาหารือกันถึงไชยาเมื่อตอนหัวค่ำวันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน
สิ่งที่ทำให้ผมพอใจ และรับงานด้วยความสบายใจ คือ ได้สอนสิ่งที่อยากสอน กับคนหมู่มาก จำนวนหลายๆกลุ่ม แทนที่จะเหมาทั้งเทอม ว่ากันทุกเรื่องให้กับหมู่เรียนใดหมู่เรียนหนึ่ง ที่ว่าพอใจและสบายใจนั้นเพราะ อยากจะเผยแพร่สิ่งที่คิด และถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้กลั่นกรองมาจากเรื่องที่คิดและทำมาด้วยตัวเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาสายครูทั้งหลาย ผู้ที่จะออกไปเป็นผู้กำหนดอนาคตของชาติ
ผมออกเดินทางไปตั้งแต่เย็นวันศุกร์ที่ 18 มิย. หลังจากทานยาระงับอาการเป็นไข้และปวดหัว เพราะหลงเพลิน กรำงานกลางแดดเปรี้ยงๆยาวนานมาหลายวัน และมาเจอฝนเข้าอีกเลยต้องเป็นไข้ครั้งแรกตั้งแต่ย้ายลงมาอยู่ไชยา
คืนนั้นไปทานอาหารเย็นกับอ.ชัยรัตน์ และผศ.ดร.นิตยา กันตะวงษ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ที่ ร้านอีสานเรือนไทย ที่ผมสุดแสนประทับใจทั้งบรรยากาศ รสชาติอาหาร และน้ำใจไมตรีจากท่านเจ้าของร้าน อิ่มหนำแล้วก็กลับมานอนค้างที่บ้านพักของอ.ชัยรัตน์ และผศ.ดร.นิตยา เพื่อรอตื่นมาสอนตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
แต่แล้วก็เหมือนเช่นเคย ไม่ค่อยได้นอนหรอกครับ คุยกันเพลินจนดึกดื่น ประสาคนรู้ใจที่สุดที่นานๆเจอกัน เข้านอนราว 5 ทุ่ม ตกตีสองผมก็ตื่นอีกแล้ว และรู้สึกว่านอนอิ่มแล้วด้วย ลงมาข้างล่างพบอ.ชัยรัตน์ ครึ่งหลับครึ่งตื่น ให้นักฟุตบอลในทีวีดูอยู่ เลยชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ ต่อยอดความคิด แลกเปลี่ยนความรู้ จนเจ้าของบ้านบอกว่าไปนอนเสียหน่อยมั้ย ผมก็เห็นด้วย แต่พอดูนาฬิกา อีกราว 10 นาทีจะหกโมงเช้าแล้ว ขึ้นไปนอนๆไปก็ไม่หลับจึงลงมาอาบน้ำแต่งตัวเตรียมไปสอน ตั้งแต่ 7 โมงครึ่งโดยประมาณ
ผมคิดว่าจะเตรียมการสอน แต่แล้วก็ไม่ได้ทำ ดูจะเป็นครูที่แย่เอามากๆ แต่จำได้ว่าหลายครั้งที่ผ่านมา ผมสอนโดยไม่เตรียมอะไรมาก มักจะทำได้ดีกว่าเตรียมเยอะๆ เหตุน่าจะอยู่ที่สอนไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริง ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน สื่อไปแบบธรรมชาติ เรียกว่าปล่อยคำพูดออกมาจากใจ และที่สำคัญ พูดในสิ่งที่เราคิด และทำมาแล้วด้วยตัวเอง วิธีนี้หากใครจะเอาไปใช้บ้างให้ระวังดีๆ โดยเฉพาะครูใหม่ทั้งหลาย คนทำได้จะต้องผ่านโลกและประสบการณ์มาพอประมาณแล้วเท่านั้น และที่สำคัญ แม้ไม่ได้เตรียมในรายละเอียดที่จะพูด แต่เป้าหมายต้องชัดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดทำกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลอะไรออกมาภายในเวลาที่กำหนด
วันนั้นนอกจากผมจะได้ใช้เวลาพูดคุยกับนักศึกษา 100 กว่าชีวิต ชี้ชวน เสริมความคิดและนำนักศึกษาสร้าง Blog เพื่อใช้เป็น Social Network ส่งเสริมการเรียนรู้ และจัดการความรู้ของแต่ละคนแล้ว ตอนเริ่มภาคบ่ายยังมีรายการพิเศษคือการ Phone in มาจาก ผศ.ดร.แสวง รวยสูงเนิน สหายร่วมอุดมการณ์จาก ม.ขอนแก่นด้วย
การพูดคุยและเล่าประสบการณ์ของผม มีสาระสำคัญอะไรบ้าง และ “ลุงแหวง” พูดอะไร จำไม่ค่อยได้แล้ว เลยบอกว่าใครพอจำได้ให้บอกกันบ้าง
นักศึกษาเขาก็ดีครับมาเขียนกันพอประมาณ รวมทั้งให้น้ำหวาน และโปรยยาหอมให้ผู้สอนด้วยล่ะ
นี่ไงครับ หลักฐานส่วนหนึ่ง
“ อาจารย์เป็นอาจารย์ที่ผมคิดว่าเป็นอาจารย์ที่แท้จริง ซึ่งจากการสอนของอาจารย์อาจารย์บอกว่าไม่ได้เตรียมเนื้อหาที่สอนเลย แต่การที่เราจะสอนใครสักคนหรือหลาย ๆ คนนั้น เราต้องรู้เรื่องสิ่งที่เราจะสอนให้ดีเสียก่อนถึงจะถ่ายทอดความรู้ให้กับเขา แต่สิ่งที่อาจารย์พินิจได้สอนกับ นักศึกษา ป.บัณฑิต นั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ได้ทำและปฏิบัติอยู่เป็นประจำเป็นเรื่องที่อาจารย์รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ชำนาญอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเตรียมการสอนอะไรมากมาย
หลังจากที่ได้เรียนกับอาจารย์ทำให้ทราบว่าสังคมแห่งการแบ่งบันมีประโยชน์มากมายในการที่เราจะแชร์ความรู้ร่วมกัน กับผู้อื่น ผมในฐานะลูกศิษย์ของอาจารย์คนหนึ่งที่ได้เรียนกับอาจารย์มีความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าคงจะได้ความรู้จากอาจารย์อีกในวัน เสาร์ที่ 26 มิ.ย. นี้ ”
“ คำพูดของอาจารย์แสวงที่ตรงใจมากที่สุด คือคำว่า ปัจจุบันนี้มี “ปริญญาของแท้ แต่คนเป็นคนปลอม” มันทำให้คิดถึงตัวเองว่า เราก็เป็นเช่นนั้น และไม่ต้องการให้เด็กไทยเป็นเช่นนั้น สำหรับตัวเองแล้ว ยิ่งได้เรียนวิชาชีพครู ที่ย้ำกับตัวเองว่าอยากจะทำ การศึกษาตามอัธยาศัยให้ลูก หรือที่คนมักจะเรียกว่า Home school ”
“ หนูชื่อ นางสาวเกษมณี ศิริรัตน์ ค่ะ แวะมาชมเชยอาจารย์หน่อยค่ะ หนูเป็นนักเรียนห้องนี้ด้วยค่ะ มีความภาคภูมิใจมากที่ได้เรียนกับอาจารย์ค่ะ อาจารย์มีความรู้ความเข้าใจในการสอนมาก โดยอาจารย์ไม่ต้องเปิดในตำราเลยค่ะ หนูเป็นนักศึกษาในห้องนี้ด้วยค่ะ อาจารย์เก่งมากค่ะ อาจารย์สอนพวกเราให้เก่งเหมือนอาจารย์ด้วยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ “
” สวัสดีคะอาจารย์ ถึงแม้ว่าอาจารย์จะไม่ได้เตรียมตัวมาแต่สอนได้ดีมากเลยเนื้อหาก็เข้าใจง่ายแถมยังสอดแทรกธรรมเล็กๆน้อยๆมาให้ลูกศิษย์ได้คิดอีกด้วย ขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยนะคะ ( หนูก็เป็นคนไชยาเหมือนกันค่ะ) “
“ สวัสดีครับอาจารย์ Handy ผมขอขอบคุณอาจารย์มากครับที่อาจารย์สละเวลาให้กับพวกเราชาว ป.บัณฑิต มรส. ความประทับใจของผมคือ การที่อาจารย์สละเวลามาสอนด้วยใจรัก เล่าประสบการณ์ต่างๆให้พวกเราฟัง และได้รับฟังสิ่งดีๆจากอาจารย์แสวง ผมเองก็คิดเหมือนอาจารย์แสวงครับ
แต่ของผมจะมองลงไประดับต่ำกว่า อนุบาล ประถม และมัธยม เหมือนกับว่ามันไม่ได้รับอะไรบางอย่าง พอเด็กเหล่านั้นเข้ามหาลัยมันก็เลยขาดบางสิ่งบางอย่าง จบมหาลัยก็เลยขาดบางสิ่งบางอย่างไป โรงเรียนที่ผมทำงานเปิดสอนตั่งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมต้น ทุกเริ่มต้นเทอมใหม่สิ่งที่ผมมองเห็นตอนเช้า (ผมจะมาถึงโรงเรียนก่อน 07.00 น) จะเห็นเด็กชั้นอนุบาลร้องให้งอแงจะตามผู้ปกครองกลับบ้าน ก็ทำให้คิดไปว่า(คิดไปเองนะครับ) ว่าการที่เป็นพ่อแม่มีลูกพาลูกมาส่งโรงเรียน แน่นอนว่าเด็กระดับเล็กๆไม่รู้จักใครเลยอยู่ๆเอาเขามาทิ้งไว้กับใครไม่รู้ ที่อยู่ก็ไม่รู้ที่ใหน มาอยู่แล้วพ่อแม่ก็ไม่รู้ไปใหนซะแล้ว คล้ายๆกับเอามาทิ้ง ถ้าเจอครูดีๆสภาพแวดล้อมที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าตรงกันข้ามไม่รู้เป็นไง สภาพจิตใจแบบนั้นจะยังติดตัวเขาไปใหม พอโตขึ้นจะสนใจพ่อแม่ พูดคุยปรึกษากับพ่อแม่ใหม่ หรือว่าตามเพื่อน เพราะสภาพการใช้ชีวิตเขาจะอยู่กับเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ พอได้ฝังอาจารย์แสวงพูดให้ฟังก็เลยฉุกคิดขึ้นมาครับ “
« « Prev : คิดถึงท่านอาจารย์ (อีกแล้ว)
Next : ธรรมะจัดสรรค์มากมายอย่างนี้ ทำอย่างไรดีผมจะบันทึกได้หมดจด » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ไปสอนแบบไม่ต้องเตรียม ที่มรภ.สุราษฎร์ธานี"