จาก “กาฝาก” ถึง “Deep Watching”
อ่าน: 1429ผมเคยต่อยอดคำว่า ” Deep Listening ” มาเป็น ” Deep Reading ” ซึงท่าน คนไร้กรอบ หรือ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ เคยบอกว่าชอบ
วันนี้ผมสร้างใหม่อีกคำแล้วครับ มันคือ ” Deep Watching ”
สืบเนื่องจากบันทึกที่แล้วเรื่อง กาฝาก พืชจอมเนรคุณ ได้มีผู้เข้ามาให้ข้อคิด ความเห็นที่น่าสนใจอยู่หลายราย เป็นเหตุให้ผมมีแรงบันดาลใจที่จะมาเขียนขยายผลต่อในบันทึกนี้
ผมยอมรับว่าตอนจั่วหัวชื่อบันทึกด้วยข้อความ กาฝาก พืชจอมเนรคุณ นั้น ผมมีความตั้งใจอยู่ 2 ประการคือ
1. เพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์ ซึ่งผมมีต่อพืชชนิดนี้ ที่กระทำกับไม้ผลคือส้มโอต้นเดียวที่บ้านผม จนแทบเอาชีวิตไม่รอด แถมยังได้เห็นต้นชมพู่ที่บ้านญาติติดๆกันที่เหลือแต่กิ่งตายแล้ว เพราะโดนกาฝากรุมทึ้ง ก่อนต้นชมพู่ตายผมเคยไปสำรวจดูว่าที่เห็นเขียวๆนั้นมีใบชมพู่อยู่ตรงไหนบ้าง ก็หาแทบไม่เจอ พาให้คิดไปถึงเรื่องการพึ่งพิง อิงอาศัยว่า ที่ถูกต้องนั้นมันจะต้องเป็นทั้งการให้ และการรับ ที่สมดุลกัน มีการเกื้อกูลกัน ไม่ใช่ขออาศัยหน่อย แต่พอได้จังหวะก็สูบเลือด สูบเนื้อจนผู้มีพระคุณต้องตายไปอย่างน่าสมเพช .. ที่จริงตอนหลังนี้ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องต้นไม้แล้วล่ะครับ คิดถึงอะไรที่มากกว่านั้นอีกเยอะ
2. ผมเจตนาจะเสนอการ “มองมุมเดียว” ของตัวเอง เพื่อแสวงหา “มุมต่าง” จากผู้แวะมาอ่าน แล้วก็ได้พบจริงๆ และมีคุณค่ามากด้วยครับ
ข้อสรุปที่ได้มีทั้งระดับเบื้องต้น คือเรื่อง กาฝาก และระดับที่สูงขึ้น คือ การมีวิจารณญาณที่เพียงพอ ต่อสรรพสิ่งที่ปรากฏ หรือบังเกิดขึ้น
เรื่องกาฝาก ข้อคิดที่ควรได้ก็คือ จงจัดการกับเขาอย่างพอเหมาะ ตามเงื่อนไข และสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่มีบทสรุปตายตัวว่าควรทำอย่างไร แค่ไหน “ความพอดี” ในสถานการณ์ที่ต่างกัน ย่อมแตกต่างกันไปด้วย
จะ .. ฟันทิ้งไม่ให้เหลือซาก … ตัดออกเสียบ้าง หรือ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ล้วนเป็นความพอเหมาะ พอดี ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เหตุการณ์เกิดที่ไหน กับอะไร และเราต้องการผลอะไรเป็นสำคัญ
เรื่องที่สูงกว่า “กาฝาก” ก็มีครับ .. คือว่า ในชีวิตคนเรานั้น เมื่อเห็นการกระทำของใครในเรื่องใดๆก็ตาม เราไม่ควรด่วนสรุป หรือพิพากษา หาคำตอบว่า ผิด-ถูก ดี-ชั่ว ในทันทีที่ได้รับรู้ ในฐานะผู้ดู เราควรทำการ “ Deep Watching ” ก่อนเสมอ เมื่อพิเคราะห์โดยรอบด้านแล้ว ก็จะได้คำตอบที่ถูกต้องออกมา เป็นความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องได้ในที่สุด
Deep Watching แปลว่าอะไร .. ผมว่ามันก็แนวเดียวกับ Deep Reading และ Deep Listening นั่นแหละครับ
สวัสดี
Next : ชื่อนั้น .. สำคัญฉะนี้ » »
1 ความคิดเห็น
สวัสดีค่ะ
มาอ่านแล้วก็เลยคิดยาวต่อไปด้วยค่ะ
สังคมในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามี “กาฝาก” จำนวนหนึ่ง และเป็นกาฝากในหลายระัดับ อาจแค่เพียงเกาะกินน้ำหล่อเลี้ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ พอเลี้ยงตัวเองรอด หรือจนถึงขั้นทำให้ต้นแม่ถึงกับ “ยืนต้นตาย” ไปก็มี
ขอบคุณข้อคิดของอาจารย์ค่ะ… Deep watching เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้เราทราบว่าควรจัดการกับ “กาฝาก” อย่างไร และหากเราเองยังอยู่ในสภาพคล้าย ๆ กาฝาก (เพราะยังต้องอาศัยพึ่งพิงคนอื่นบ้าง) จะได้ระมัดระวังให้พอดีพองาม ไม่ทำร้ายต้นแม่ค่ะ