ชื่อนั้น .. สำคัญฉะนี้

โดย handyman เมื่อ 2 สิงหาคม 2010 เวลา 7:06 (เช้า) ในหมวดหมู่ ภาษา #
อ่าน: 1124

    ผมคิดถึงเรื่องนี้มานานและคิดถึงทุกครั้งที่ผ่านสถานที่ต่างๆที่ชื่อมันผิดเพี้ยนไปอย่างไม่น่าให้อภัย คิดว่าคงเป็นกันมากทุกภูมิภาคของประเทศนี้  แต่ที่ผมเจอตำตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็ทางภาคใต้บ้านผมนั่นแหละครับ

    เรื่องมันมีอยู่ว่า ชื่อตำบล หมู่บ้าน หรือสถานที่หลายแห่งมันผิดเพี้ยนไปจากที่เรียกขานกันมาแต่เดิมมากบ้าง น้อยบ้าง มีผลให้ความหมายเปลี่ยนไปเลยก็มาก และถึงกับทำให้ความหมายเดิมหายไป ได้คำใหม่ที่ “ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง” ก็มี

    ผมเคยเปรยๆเรื่องนี้กับนักศึกษาที่ไปสอนว่า ชื่อสถานที่บ้านเรามันเพี้ยนไปมาก อย่างไม่น่าให้อภัย หลายแห่ง หลายที่ น่าจะหาทางเอาชื่อเดิมกลับมา นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า “ทำไม่ได้หรอกอาจารย์”  ผมก็ยืนยันว่าที่กรุงเทพฯเห็นทำกันได้นี่  เมื่อก่อนเรียก “แคลาย” ทั้งชื่อไทยชื่ออังกฤษ  พอพบว่า ต้นแคลายมันไม่มี แต่ต้นแคเรียงรายอยู่ทั่วไปนั้น “ใช่” เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนใหม่เป็น “แคราย” เรียบร้อยแล้ว

   เพื่อไม่ให้เรื่องนี้ยาวเกินไป เพราะเขียนด้วยความแค้น หรือขุ่นเคืองใจที่เก็บไว้ยาวนาน  จึงขอบังคับตัวเองว่าจะยกตัวอย่างใกล้ๆตัวมา ปุจฉา-วิสัชนาสักครึ่งโหลก่อน หากจังหวะเหมาะ หรือมีผู้สนใจมาก จะนำมาฝากอีกเป็นระยะๆต่อไป

  1. โมถ่าย … ชื่อตำบลอันเป็นบ้านเกิดของผมเอง ดัดเสียงให้เพราะเป็นภาษากรุงเทพ จนไม่รู้ว่ามาจากอะไรกันแน่ จะสืบสาวไปจากชื่อปัจจุบันก็คงยาก เพราะมันเพี้ยนไปมาก  ที่จริงคนท้องถิ่นเขาไม่ได้เรียกอย่างนั้น หากพูดภาษาสำเนียงไทยกลาง ท่านจะออกเสียงได้ใกล้เคียงกับสำเนียงท้องถิ่นมากที่สุดก็น่าจะต้องเขียนว่า “โหม่ไท้” ชื่อนี้ถ้าจะให้เพี้ยนน้อยลงอีกนิดน่าจะเป็น “โมถาย” โดยตัดไม้เอกออกไปเสีย จะได้ไม่ต่องมาเสียเวลาถามว่า “ถ่ายอะไร” กันอีก เพราะของเดิมไม่มี “ถ่าย”
  2. เสวียด … นี่ก็ตำบลติดกันแต่อยู่ในอำเภอท่าฉาง ตอนเด็กๆเป็นที่ที่ผมเดินไปเยี่ยมญาติกับแม่บ่อยมาก ระยะห่างจากบ้านเรา 6-7 กม.  ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ไม่มีคนท้องถิ่นคนไหน ดจร. พูดว่า “ไปเสวียด” แม้แต่คนเดียว มีแต่ “ไปเวี้ยด” กันทั้งนั้น ชื่อตำบลนี้ถ้าจะให้เพี้ยนน้อยลงอีกนิดก็น่าจะเป็น “เหวียด” ไม่ใช่ “เสวียด” ซึ่งหาความหมายอะไรไม่ได้
  3. บ้านชะอุ่ม … อันนี้อยู่ติดกับ “บ้านกลาง” บ้านผมเอง  อยู่ในหมู่ที่ 2 เหมือนกัน ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร  เดินไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน บ้านญาติมาแต่ตอนเป็นเด็กเช่นกัน  จำได้ว่าที่นั่นเต็มไปด้วยต้น ชะอม  คนท้องถิ่นเขาจึงเรียกของเขาถูกต้องมาแต่เดิมว่า “บ้านอุม” เพราะแถวไชยาบ้านผมเขาเรียกชะอมว่า “อุม” เช่นบอกว่า “ช่วยไปเก็บยอดอุมให้หน่อย” แต่ลองไปดูป้ายปากทางเข้าหมู่บ้านได้เลย เขาเขียนชัดเจนว่า “บ้านชะอุ่ม” เพราะดีครับ  แต่ทิ้งความหมายเก่าไปหมดสิ้น ไม่รู้คนกรุงเทพฯมาทำให้เพี้ยน หรือชาวบ้านอยากได้ชื่อเพราะๆกันเอง ยังหาคำตอบไม่ได้ครับ
  4. บ้านลุ่มกระท่อม … นี่ก็เป็นชื่อใหม่ที่ทำให้ตีความไปได้ 2 แนว คือเป็นที่ลุ่มที่มีกระท่อม (ขนำ) หรือเป็นที่ลุ่มที่มี ต้นกระท่อมเยอะๆ กันแน่  ความจริงไม่ต้องมาปวดหัวตีความกันให้เมื่อยเลยถ้ายังคงชื่อเดิมเอาไว้ เพราะคนแถวนั้นเขาเรียกที่ตรงนั้นว่า “ลุ่มท่ม” ครับ “ท่ม” ก็คือชื่อต้นไม้  และผมก็จำได้ว่าไปแถวนั้นสมัยเด็กๆ มีต้นกระท่อมอยู่ทั่วไป  ผมว่าลดความเพี้ยนเสียหน่อยก็น่าจะดี  ถ้าไม่เอา “ลุ่มท่ม” เอา “ลุ่มท่อม” ก็ยังพอไหว จะไม่ต้องคิดไปไกลว่ามาจากอะไรกันแน่
  5. บ้านสะพาน … หมู่บ้านนี้อยู่ในตำบล “เวี้ยด” ครับ นี่ก็เพี้ยนไปอีกแบบหนึ่ง คือชื่อเดิมสามารถตีความได้ 2 แนว พอมาเป็นชื่อใหม่ มันปิดประตูความหมายที่สองเสียสนิทเลย คนท้องถิ่นเขาจะพูดว่า “ไปบ้านพาน” ไม่มีใครเรียก “บ้านสะพาน”   คำว่าพานนั้น ตามภาษาถิ่นมีสองความหมาย คือภาชนะชนิดหนึ่ง หรือไม่ก็ สะพานที่ใช้ข้ามถนน ข้ามคลอง เพราะคนใต้เขาเรียกเหมือนกันทั้งสองอย่าง .. ขับรถผ่านไปทีไรผมจึงอยากไปลบคำ “สะ” บนป้ายชื่อหมู่บ้านทิ้งทุกทีไป ให้เหลือแต่ “บ้านพาน” ตามที่มันเป็นมาแต่เดิม
  6. เขาพนมแบก … ตัวอย่างสุดท้ายนี่มันมากครับ .. เขาพนมแบก คือที่แรกที่แม่พาผมขึ้นรถไฟเป็นครั้งแรกในชีวิตเพื่อเดินทางไปทำธุระที่นั่น เป็นสถานีถัดไปจากไชยา ก่อนถึงท่าชนะครับ ผมตะหงิดๆมานานแล้วว่า พนมแบก แปลว่าอะไรกันแน่ นายพนมเป็นใคร และมาแบกอะไรอยู่แถวนั้น คิดไม่ออก บอกไม่ถูก จนกระทั่งเดือนก่อนไปได้ความรู้จากคุณลุง(บิดาของคุณภูผาตาปี) ว่า ชื่อเดิมมันมาจากความจริงที่ว่า เมื่อชาวประมงแถวตำบลตะกรบ อ.ไชยา จะเข้าฝั่ง เขามองมาทางตะวันตกจะเห็นภูเขาสองลูกเป็นที่หมาย  ภูเขาดังกล่าวดูเป็นเนินสูงสวยอยู่คู่กัน แต่ห่างกันมากไปหน่อย จึงเรียกกันว่า “เขานมแบะ” แล้วอยู่มาวันหนึ่ง วันไหนก็ไม่ทราบได้ โดยใครก็ไม่รู้ ได้กระทำความเพี้ยนที่ยิ่งใหญ่ให้กับชื่อสถานที่แห่งนั้น โดยเรียกมันว่า “เขาพนมแบก” ซึ่งฟังเพราะดี แต่ไร้สิ้นซึ่งความหมาย .. ขอได้มั้ยครับ ขอชื่อเก่าคืนมา  ชื่อเดิมออกจะน่ารัก และไม่ต้องตีความให้ยุ่งยาก  แต่ถ้ากลัวไม่สุภาพ ไม่ไพเราะ จะ ดจร.เปลี่ยนเป็น “เขาถันแบะ” ก็ยังน่าจะดีกว่า “เขาพนมแบก” เป็นไหนๆ .. จริงมั้ยครับท่านผู้ชม

         จบข่าว !

Post to Twitter Post to Plurk Post to Yahoo Buzz Post to Delicious Post to Digg Post to Facebook Post to MySpace Post to Ping.fm Post to Reddit Post to StumbleUpon

« « Prev : จาก “กาฝาก” ถึง “Deep Watching”

Next : เดี๋ยวจะหาว่า “ยุ่งไม่จริง” » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 เวลา 8:07 (เช้า)

    มีตัวอย่างของการขอเปลี่ยนชื่อสถานที่อยู่นะคะพี่บ่าว

  • #2 handyman ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 เวลา 8:48 (เช้า)

    ขอบคุณครับ
       มีเวลาจะลองหาทางพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง และมีอำนาจหน้าที่ดูครับ

  • #3 ป้าจุ๋ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 เวลา 10:10 (เช้า)

    เรื่องชื่ออื่นไม่แน่ใจเพราะเวลาพูดเสียงจะเพี้ยนไป ไม่ค่อยเข้าใจ เดาไม่ถูกค่ะแต่มีหลักอยู่ว่าการเรียกชื่อสถานที่แต่ละแห่งน่าจะมีที่มาเช่นจากประวัตฺศาสตร์หรือไม่ก็ลักษณะเฉพาะของพื้นที่ค่ะ

    แต่เขา “พนมแบก” ดูจากลักษณะภูเขาแล้วเข้าใจว่าน่าจะมาจาก “พนมแบะ” คือพนมถูกแยกแบะออกเป็น2ส่วนค่ะ…คำว่า “พนม” รากศัพท์มาจากภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขา”ค่ะ
    แต่คนใต้มักชอบพูดสั้นๆ จึงตัด ออกไป ก็เลยเพี้ยนเป็น “นมแบะ” จึงมีคนมาเรียกใหม่เป็น “เขาถันแบะ” ไปโน่นเลย…อิอิ
    ชื่อนั้นสำคัญเหมือนกันเนอะ…
  • #4 handyman ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 เวลา 10:49 (เช้า)

    ป้าจุ๋มก็ว่ามาน่าคิดครับ แต่ผมว่า คนมักจะมองภูเขาว่าเหมือนอะไรบางอย่าง แล้วก็เรียอย่างนั้นครับ เช่นเขาตะปู  ดอยนางนอน และ เขานมแบะ เป็นต้น … อิ อิ อิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.18624901771545 sec
Sidebar: 0.032248973846436 sec