ความรู้ในตัวคน

เหตุที่รู้จักลานปัญญาเพราะ กำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “สังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านสื่อโทรทัศน์ชุมชน” ครับ

ท่านอาจารย์ที่ปรึกษาได้อ่านหนังสือ “เจ้าเป็นไผ” จึงสนใจคำว่า “ความรู้ในตัวคน” ที่ท่านประเวศ วะสี เขียนไว้ในคำนิยม เลยแนะนำให้ผมได้อ่านทำความเข้าใจ

แต่ผมยังไม่กระจ่างว่า เราจะสร้าง“สังคมแห่งการเรียนรู้” จาก “ความรู้ในตัวคน” ได้อย่างไร

และจริงๆแล้วความหมายที่แท้จริงของคำว่า ความรู้ในตัวคน มีความหมายพิเศษเฉพาะหรือไม่

รบกวนท่านผู้รู้ได้ให้ความกระจ่างแก่ข้าน้อยด้วยเถิด

11 Responses to “ความรู้ในตัวคน”

  1. น้ำฟ้าและปรายดาว Says:

    คิดเร็ว ๆ ก่อนนะคะ แล้วจะกลับมาตอบอย่างละเอียดอีกทีตามความเข้าใจ

    โดยทั่วไปเราเชื่อว่าความรู้ (ตามตำรา) คืออำนาจ (ของตัวเอง)…แต่กลุ่มนี้เชื่อว่า การแบ่งปัน ความรู้ต่างหากคืออำนาจสำหรับก่อเกิดสิ่งดี ๆ ร่วมกัน (ไม่ใช่อำนาจสำหรับตัวเอง)

    เมื่อเชื่อเรื่องการแบ่งปัน วางใจในกันและกันจึงเกิดการเชื่อมโยงผ่านการนับญาติแบบคนไทย ที่ใครแก่กว่าก็เป็นพี่ ใครอ่อนกว่าก็เป็นน้อง มีความอาวุโสอยู่ในนั้นที่ไม่เกี่ยวกับคุณวุฒิใด ๆ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงผ่านวัฒนธรรมพื้นฐานของไทย ก่อเกิดเป็นชุมชนเพราะมีความสัมพันธ์กัน

    ความรู้ที่แบ่งปันเกิดจากการบ่มเพาะผ่านงาน ผ่านปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เจอ ไม่ได้งัดตำรามาทั้งดุ้น

    ความหมายของความรู้ในตัวคนตามที่คิดเร็ว ๆ ในขณะนี้จึงเป็นความรู้ที่เกิดจากการหาทางออก การเอาชีวิตรอด และดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติผ่านระบบคุณธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูล  และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีจากรุ่นสู่รุ่นค่ะ

  2. Logos Says:

    แนะนำตัวหน่อยดีไหมครับ ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือเจ้าเป็นไผ ๑ ท่านแรกเป็นบรรณาธิการเช่นกัน

    ความรู้ในแบบของ “ชาวเรา/ชาวลาน/ชาวเฮ” แบ่งเป็น 3+1 คือความรู้ในตำรา ความรู้ในตัวคน ความรู้ในธรรมชาติ และการใช้ไอทีเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

    ความรู้ในตำราคือความรู้ที่ผู้อื่นค้นคว้าหามา จะเหมาะหรือใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เราอ่านเอกสารที่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเขียนแล้วรู้เรื่อง ไม่ได้ทำให้เราได้รับรางวัลโนเบล อ่านตำราอะไรก็ตาม มักจะออกไปในทาง “รับรู้” (มักไม่ตรวจสอบแต่เชื่อถือไปเลย) จึงเป็นความรู้แห้งๆ เช่นอ่านตำรากับข้าวก็ทำเป็นแต่ไม่ได้ทำให้ทำกับข้าวอร่อย

    ความรู้ในตัวคน คือความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้ของแต่ละคน ผมเป็นวิศวกร ก็ไม่ได้หมายความว่าผมทำเป็นแต่งานวิศวกรรม แต่ยังมีอย่างอื่นที่ผมทำได้อีกเยอะแยะ ซึ่งอาจจะไม่ปรากฏในตำราเลย หรือแม้แต่อาจจะแตกต่างจากตำราอย่างสิ้นเชิงแต่ได้ผลดีในบริบทของผม เช่นผมมีความเข้าใจคนดีพอสมควร ไม่ได้เรียนเรื่องนี้มาโดยตรง แต่นำวิธีอ่านคนไปใช้ในงานบริหารได้ดี เข้าใจในความแตกต่าง พื้นฐานที่แตกต่าง บริบทที่แตกต่าง ฯลฯ ถ้าขืนผมทำแต่งานวิศวกรรม ชีวิตคงน่าเบื่อมาก

    ความรู้ในตัวคน ขึ้นกับความสามารถในการเรียนรู้ ความช่างสังเกต ความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เพื่อข้อสรุปที่ถูกต้อง (หรือ(ยัง)ไม่สรุป) มักเป็นการเรียนเอง สังเกตเอง เข้าใจเอง ตระหนักรู้เองว่าใช่หรือไม่ใช่ (สรุปผิด) แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เรียนรู้เองไม่ได้ เหมือนบัวสี่เหล่าในพุทธศาสนา — หากคนในสังคม เรียนรู้ได้โดยไม่รอแต่ให้ผู้อื่นนำความรู้มายัดใส่กระโหลก นั่นล่ะครับ เราอาจจะได้เห็นสังคมแห่งการเรียนรู้

    ความรู้ในธรรมชาติคือสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่เป็น เช่นฤทธิ์ทางยาของสมุนไพร สภาพของดินซึ่งเหมาะกับต้นไม้ชนิดต่างๆ ความกระด้างของน้ำ ฯลฯ

    ในความเห็นของผม สิ่งที่ยากคือการตระหนักว่าสิ่งที่คิดว่าใช่และเชื่อแล้วนั้น ที่จริงไม่ใช่ หรือมีสิ่งที่ใช่มากกว่า (เป็นการเรียนรู้เช่นกัน) จะความรู้แบบไหนก็เป็นความรู้อยู่ดี แต่ความรู้ที่ไม่ได้ตรวจสอบพิจารณา เป็นเพียงข้อมูลพอๆ กับเรื่องเล่าครับ

    ที่เขียนมานี้ ไม่รับรองความถูกต้องนะครับ ขอให้พิจารณาเอาเอง

  3. จันทรรัตน์ Says:

    อ่านคำตอบด้วยคน…อิอิ

  4. bangsai Says:

    แนะนำตัวซักนิดครับ จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันแบบเต็มที่หน่อยนะครับ

  5. tdin Says:

    ได้ประโยชน์มากเลยครับ ขออนุญาติคุณน้ำฟ้าและปรายดาว กับ คุณLogos นำข้อคิดเห็นไปอ้างอิงในวิทยานิพนธ์นะครับ  เพื่อจะได้มีแนวความคิดดีๆแบบนี้เผยแพร่ในวงวิชาการบ้าง น่าจะมีผลต่อการศึกษาเรียนรู้ความรู้ในตัวคนให้เพิ่มมากขึ้นกว่าการศึกษาในตำราเพียงอย่างเดียว

    และจะเป็นความกรุณาอย่างมาก ถ้าลานแห่งนี้เป็นลานที่แบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับความรู้ในตัวคน ในมุมมองของแต่ละท่านครับ

  6. tdin Says:

    ยังเฝ้ารอการกลับมาตอบอย่างละเอียดของคุณน้ำฟ้าและปรายดาวอยู่อย่างใจจดจ่อครับ

  7. น้ำฟ้าและปรายดาว Says:

    ว่าแล้วเชียวว่าทำไมวันนี้ร้อนเก้าอี้ อิอิอิ
    ไม่ลืมนะคะ แต่การตอบคำถามที่น่าตอบแบบนี้ ขอเวลานิดหนึ่ง วันนี้ยังปั่นงานอยู่ที่ทำงานอยู่เลย พรุ่งนี้ก็ไม่แน่ว่าจะเสร็จหรือเปล่าแต่จะพยายามเร่งงานค่ะ รับรองว่ามาตอบแน่ ๆ ^ ^

  8. น้ำฟ้าและปรายดาว Says:

    เอาเรื่องความรู้ในตัวคนก่อนนะคะ
    มองว่าความรู้ในตัวคนมี รากฐาน ตั้งแต่พ่อแม่ ครอบครัวที่ปูวิธีการเรียนรู้ ปูทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต ต่อยอด ด้วยครูอาจารย์ต่าง ๆ และตกแต่ง ด้วยประสบการณ์ที่พบเจอตลอดเส้นทางค่ะ จะเห็นว่าความรู้ในตัวคนไม่ได้แยกจากตำราโดยสิ้นเชิงนะคะ (ตามที่พี่รุมกอดอธิบาย) แต่ในตัวเรามีทั้งรากฐาน การต่อยอด และการตกแต่งซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดการความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ส่วนให้กลมกลืน เพื่อเกิดเกลียวความรู้ที่เป็นของเราเองอย่างไม่สิ้นสุด (ดังนั้นจะไม่มีความรู้แห้ง แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีสิ่งที่ดีกว่า ถูกกว่าเข้ามา) โดยใช้ความใฝ่รู้ ความอ่อนน้อม การแปลความหมายข้อมูลและทักษะต่าง ๆ ที่พี่รุมกอดกล่าวมาให้เป็นประโยชน์ ทักษะจำเป็นเหล่านี้แหละค่ะที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดความสัมพันธ์

    ทุกคนมีความรู้ที่ก่อกำเนิดมาตั้งแต่เล็ก ๆ สะสมจนถึงปัจจุบันอยู่แล้ว แต่เราอาจไม่รู้ตัว เพราะให้ความสำคัญกับการเรียนในตำรา ปริญญา หรือคุณวุฒิภายนอกมากเกินไป แม้แต่รูปแบบการจัดการกับปัญหาเราก็มีวิธีที่”ได้ผล”สำหรับตัวเราเองไม่ใช่เหรอคะ ^ ^

    ยกตัวอย่างเช่นการเล่นดีดลูกแก้ว คุณ tdin มีวิธีในการดีดลูกแก้วให้กินเพื่อน ๆ มากที่สุดมั้ยคะ เทคนิคที่เราค้นพบนั่นคือความรู้ชนิดหนึ่ง การค้นพบนั้นเกิดจากความรู้สึกที่อยากเอาชนะเป็นแรงผลัก นั่นคือแรงจูงใจ แล้วมีการฝึกฝนซ้ำ ๆ นั่นคือการทำซ้ำ ๆ จนชำนาญ เมื่อทำตามเทคนิคที่เราคิดค้นขึ้นผลที่ได้คือชนะเพื่อน เป็นแรงจูงใจให้คงพฤติกรรมนั้นไว้ … จะเห็นว่าความรู้ฝังลึกหรือความรู้ในตัวคนไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่มีรากฐาน(ในที่นี้คือเทคนิคเดิม) มีแรงจูงใจ มีการกระทำซ้ำ ๆ เพื่อฝึกฝน และมีการคงความรู้นั้นไว้เป็นแบบแผนพฤติกรรม การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเกิดจากแรงผลักดัน การสังเกต เชื่อมโยงกับความรู้เดิม ฝึกฝนจนชำนาญกลายเป็นความรู้ใหม่

    ถ้าถึงเวลาหนึ่ง มีเพื่อนมาแอบถามถึงเทคนิคการดีดลูกแก้ว คุณ tdin จะสอนมั้ยคะ? ถ้าสอนก็คือการส่งผ่านความรู้ สอนแบบไหนสอนแบบจับมือทำเลย หรือว่าบอกปากเปล่าทำได้ก็ทำทำไม่ได้ก็แล้วไป?

    รูปแบบการถ่ายทอดความรู้นี่แหละค่ะที่เป็นตัวบอกถึง”ความสัมพันธ์” …ถ้าคนถามเป็นเพื่อนรักหรือน้อง/พี่ เราก็คงทุ่มเต็มที่จนกว่าจะทำได้ เรียกได้ว่ายังไงก็”ช่วยกัน” …แต่ถ้าคนถามเป็นคู่แข่งล่ะหรือเป็นคนนอกที่ไม่เกี่ยวกับเรา เราคงมีความรู้สึกอย่างมากก็แค่”ช่วยเหลือ” ซึ่งเป็นการทำตามหน้าที่แต่ไม่ทุ่มเทเหมือน”ช่วยกัน“ที่ทำด้วยความรู้สึกว่านี่คือคนในครอบครัว…  พอเห็นความแตกต่างแล้วนะคะ การจัดการความรู้ในองค์กรปัจจุบันทำแบบไหน… ช่วยเหลือ หรือว่าช่วยกัน? …

    การสร้างสังคมแบบนี้ทำได้ยังไง เกิดจาก
    1. เคารพความเป็นมนุษย์ และความแตกต่างของบุคคล
    2. มีความเชื่อร่วมกัน
    3. มีความศรัทธาร่วมกัน
    4. ลงมือทำตามความเชื่อนั้น
    5. มีความผูกพันกันเหมือนครอบครัว มีทะเลาะกันมั่ง งอนกันมั่ง แต่ความเป็นครอบครัวทำให้เกิดการประคับประคองกันและกัน เข้าหยิบเข้าช่วยกันคนละไม้ละมือ ไม่โยนว่าเป็นหน้าที่ของใคร…แต่นี่เป็นครอบครัวเรา
    6. มีกิจกรรมร่วมกัน
    7. มีเป้าหมายเดียวกัน
    8. มีการ recycle ความรู้ ด้วยการแลกเปลี่ยน พูดกันบ่อย ๆ  คุยกันให้เข้าใจ มีอะไรก็ปรึกษาหารือ จนกลายเป็นวัฒนธรรมของชุมชนลานฯ / เฮฯ…

    สังคมแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นไม่ได้หรอกค่ะถ้า “คน”ที่เป็นปัจเจกไม่มีคุณสมบัตินั้น และคุณสมบัติที่ว่าย่อมเกิดจาก”ความรู้ในตัวเขา”นั่นเอง … ความรู้ในตัวก็มีบ่อกำเนิดมาจากรากฐานของครอบครัว การต่อยอดที่อาจเป็นความรู้จากตำรา ความรู้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยน  ความรู้จากอาจารย์ ฯลฯ  และการตกแต่งที่มาจากการสังเกต การเห็น การอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบนั้น ๆ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ ฯลฯ

    ตอบแบบรีบ ๆ ก่อนค่ะ.. รอท่านอื่น ๆ เข้ามาช่วยเติมอีกนะคะ

  9. น้ำฟ้าและปรายดาว Says:

    โดนลากมาอีก
    การเคารพความรู้ในตัวคนก่อให้เกิดความภาคภูมิใจนะคะ เมื่อภาคภูมิใจเขาก็พร้อมที่จะแลกเปลี่ยน-เรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เป้นการพลิกมุมคิดจากทุกทีเห็นแต่ปัญหากลายมาเป็นเห็นศักยภาพที่แฝงเร้นแทน

    ในทางกลับกันคนที่ให้ความสนใจในตัวคนอื่นด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ตัวเขาเองก็ได้ความเคารพตอบ และเรียนรู้ว่าตัวตนเล็กงานจึงใหญ่ อิอิอิ

    เชื่อว่าในทุกที่มีเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้วค่ะ เพราะคนเป็นสัตว์สังคมค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ สาวก็จะเห็นแล้วเข้าไปช่วยเสริม ช่วยเปิดพื้นที่ให้ ช่วยให้มีเป้าหมายร่วมกัน มีเส้นทางเดินที่ชัดด้วย “ความจริงใจ” เท่านี้ก็สนุกแล้ว

  10. tdin Says:

    ช่วยได้มากทีเดียวครับ ขนาดที่ ๒ ความเห็นข้างบนว่าแจ่มแล้ว ได้รับความเห็นนี้แจ่มแจ้งกว่าอีก

    ข้าน้อยขอคารวะ

  11. bangsai Says:

    ลองไปดูที่ http://lanpanya.com/proiad/archives/359  เป็นความพยายามอธิบายคำว่าความรู้ในตัวคน มีที่มาอย่างไรครับ

Leave a Reply

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word