ไผ่ ไม้กู้ชาติ

อ่าน: 7238

(ไม้ไผ่ กินก็ได้ สร้างบ้านก็ได้ ทำได้สารพัด)

ในบรรดาต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ล้วนแต่ดีมีคุณค่าหลากหลายด้วยกันทั้งนั้น ต้นไม้ป่าไม้เป็นต้นทุนสิ่งมีชีวิตของโลกนี้ จะเห็นว่าพื้นที่ทั่วโลกล้วนต้องการทรัพยากรป่าไม้ด้วยกันทั้งสิ้น ประเทศไหนมีทรัพยากรธรรมชาติมากถือว่าโชคดีมากมายมหาศาล ถ้ารู้จักคิดรู้จักใช้รู้จักทะนุบำรุงรักษา ย่อมจะได้ประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมมหาศาล แต่ก็นั่นแหละเธอเอ๋ย..จะมีมนุษย์ขี้เหม็นสักกี่คนที่ตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง กว่าจะกลับลำได้ป่าไม้ก็ยับเยินเสียแล้ว ภูเขาถูกบุกรุกกระดำกระด่าง ถูกน้ำฝนชะล้างจนเห็นหินโผล่โด่เด่เป็นเขาหัวโล้น ที่คอยประจานว่า..คนบ้านนี้เมืองนี้มันสิ้นคิด ไม่คำนึง ไม่ช่วยกันดูแลต้นทุนของประเทศให้อยู่ในสภาพปกติ

เมื่อลุยกินป่ากินที่ดิน

ความผกผินผกผันปั่นให้เกิดวิกฤติต่างๆนานา

ฝนตกคราใดก็-นำดิน-ก้อนหิน-โคลน-ไหลมาท่วมทับหมู่บ้าน

หมู่บ้านที่เลือกทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อันตรายจึงหงายเก๋งไม่เป็นท่า..

เดือดร้อนกันทุกย่อมหญ้าไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคไหนๆ

(ไผ่กอนี้สมเด็จพระเทพฯทรงปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ.2529  )

วิกฤติเรื่องน้ำท่วมน้ำหลาก ถ้าจะแก้ปัญหากันจริงๆ ก็ต้องย้อนกลับไปดูมูลเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤติทั้งมวล ปัญหาการจัดการป่าที่ไม่ถูกต้องและเป็นไปตามระบบ ปัญหาการใช้ที่ดินไม่เหมาะสมกับสภาพความสมดุลทางธรรมชาติ ปัญหาการจัดสรรพื้นที่ทำกิน ปัญหาการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

ถามว่า..วันนี้คนไทยปลูกต้นไม้กันคนละกี่ต้น..

ทั้งๆที่หายใจเอาอ๊อกซิเจนทุกวันนี่นะ

ทั้งๆที่ใช้ไม้ทั้งทางตรงทางอ้อมนี่แหละ

ทั้งๆที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในวิกฤติการณ์ต่างๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้สักเรื่อง

เห็นแต่ข่าวฉาวโฉ่..ไล่ต้อนคนรุกที่ดินสร้างรีสอรท์ที่โน่นที่นี่..

ก่อนหน้านั้นนั่งเป็นหัวหลักหัวตออยู่ทำไมละพ่อมหาจำเริญ

ยาก ยาก ยากๆๆๆ ที่จะฝากทรัพยากรป่าไม้ไว้ในมือราชการ

(เวลาจำกัด แข้งขาบ่มีแฮง ต้องนั่งรถกอล์ฟเที่ยว)

เมื่อบ่นจนน้ำลายแตกฟองแล้วจะทำยังไงละ หลังจากนั่งกอดเข่าเอาปัญหามาใคร่ครวญ ก็เห็นว่าถ้าจะช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องชี้ชวนให้คนไทยทุกหมู่เหล่า รักและเข้าใจต้นไม้ให้ลึกซึ้งกว่านี้ เพื่อที่จะช่วยปลุกสำนึกให้ช่วยกันดูแลหวงแหน ไม่ปลูกก็ไม่เป็นไร ขอแต่อย่าไปตัดไปยุ่งกับป่าไม้ ส่วนคนคิดได้คิดดีก็ช่วยๆกันปลูก ปลูก และปลูก จะปลูกแบบคนละเล็กละน้อยคนละต้นสองต้นตามอัตภาพก็ถือว่าท่านคิดบวกแล้วละครับ ส่วนคนที่เป็นชาวไร่ชาวนามีศักยภาพและโอกาสมากกว่าคนอื่น ก็ช่วยกันปลูกต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนา อย่าปล่อยให้ทุ่งนามันโล่งเตียนสุดลูกหูลูกตา ทำคันนาใหญ่ๆใช้เป็นทางเข้าออก แล้วปลูกต้นไม้คู่ขนานสองข้างทาง ภายในไม่กี่ปีก็จะตระหนักในการคิดดีทำดีด้วยตนเอง

ในส่วนของพวกที่ทำไร่ทำสวน

ควรจะมีความคิดใหม่

อย่าไปปลูกต้นไม้เชิงเดี่ยว

แทรกไม้อื่นๆเลียนแบบธรรมชาติเข้าไปด้วย

จะได้รับประโยชน์จากคุณสมบัติความหลากหลายที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

เจ้าความหลากหลายที่ว่านี้อธิบายยาก

เว้นแต่ท่านจะปลูกต้นไม้แล้วได้รับความสุขความภูมิใจด้วยตัวเอง

: : ประเด็นปลูกต้นไม้ในไร่นาจะเอาไปโม้ในงานประชุมประจำปีกรมการข้าว

วันที่ 14 เดือนกันยายน 2554 ที่จังหวัดกาญจบุรี

(ไผ่ยักษ์กอนี้ถ้าตัดใส่รถ10ล้อ น่าจะได้ประมาณ 5 คันรถ)

พูดถึงไผ่ เมื่อวานนี้วาสนาดีเหลือเกิน ครูอึ่งครูอารามกรุณาอาสาพาไปดูไผ่ที่เราฮำฮอนอยากจะไปชมตั้งแต่คราวที่แล้ว หลังจากที่นัดกันไว้แล้วแต่หัวค่ำ..ตื่นเช้าๆอากาศแจ่มใสในเมืองลำพูน อารามรับเป็นสารถีพาเราไต่เขาวนเวียนขึ้นไปสู่ดอยสุเทพ มีเมฆลอยอ้อยอิ่งให้เอามือไปสัมผัสได้ นานๆมาไล่อากาศเน่าในปอดออกบ้างก็ดีนะจ๊ะ เราไปถึงตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ช่วงที่อากาศกำลังสบายๆ เจ้าหน้าที่บอกว่าก่อนหน้าเรามาฝนตกปรอยๆ แต่ตอนนี้เทวดาชะงักรอให้เราได้ไปเที่ยวอย่างสะดวก

เพื่อให้เหมาะสมกับสังขารและเวลา

ครูอึ่งกับขาใหญ่ไปซื้อตัวเข้าชมและจ้างรถกอล์ฟ 2 คัน

ให้เรานั่งชมแบบคนขับเป็นมัคคุเทศก์สรุปเรื่องราวแต่ละจุด

แต่ละแห่งที่เราไปชื่นชมไกด์ยังถ่ายรูปให้เป็นที่ระลึก

จุดสุดท้ายเป้นจุดพิเศษตามที่ตั้งจุดประสงค์ไว้

เราไปจอดรถชื่นชมกอไผ่ยักษ์ที่สุดสวยโดนใจคนบ้าไผ่สุดๆ

ขาใหญ่ลงรถรีบถลาไปยืนกอดต้นไผ่ยักษ์

กอไผ่ยักษ์ที่ว่านี้ เล่าอย่างไรถึงจะให้ครบถ้วนกระบวนความเป็นจริง  ..สมเด็จพระเทพฯท่านทรงปลูกไว้นานแล้ว มีอยู่ด้วยกัน2กอ แต่ละกอมีลำไผ่หน่อไผ่ยักษ์สูงชลูด  แต่ละลำเท่ากับเสาไฟฟ้ากลมเปลาโชว์ลำต้น มีกิ่งและใบเรือนยอดระดับตึก 5 ชั้น เราแย่งกันไปกอดไปชื่นชม ดูมุมโน้นมุมนี้ ถ่ายรูปกันไม่อั้น ไกด์ช่วยบันทึกภาพที่ระลึกให้ กว่าจะแกะตัวออกจากที่นี่นได้ ไกด์บอกว่าหมดแวลาแล้ว  เราจึงแอ่นแอ้นลงจากดอยเดินทางไปดูไผ่ให้จุใจที่สวนพฤษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใกล้ไม่ไกล..นั่งรถชมทิศทัศน์สองข้างทางไม่กี่อึดใจก็ไปถึง  เป็นสถานที่ๆอยากจะชี้ชวนให้ท่านที่รัก ถ้าไปเชียงใหม่ควรจะได้ไปชื่นชม มีการจัดแสดงสิ่งต่างๆไว้อย่างประณีตสวยงาม เช่น

กลุ่มเรือนกระจก-เส้นทางพรรณไม้ไทย-เส้นทางสวนรุกขชาติ-เศวตพิมาน-เส้นทางวลัยชาติ-ร้านขายของที่ระลึก-เส้นทางสวนหิน-เรือนรวมพรรณไม้ไทย-สวน77พรรษา-พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เพ็ชรน้ำเอกเหล่านี้ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ๆสมบูรณ์ทางธรรมชาติในเนื้อที่6,500ไร่ ตั้งอยู่ในบริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย ปัจจุบันสวนพฤษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ทำหน้าที่หลัก 4 ประการ คือ

1 เป็นศูนย์อนุรักษณ์พันธุ์ไม้ไทยและต่างประเทศนานาชนิดในรูปแบบต่างๆ เพื่อความสวยงามและให้ความรู้ทางวิชาการ

2 เป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติและแหล่งข้อมูลทางพฤษศาสตร์

3 เป็นศูนย์รวมตัวอย่างพรรณไม้แห้งสำหรับงานศึกษาทางอนุกรมวิธาน

4 เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

(ไม่มีต้นไม้ต้นไหนเอากิ่งทิ่มลงดินหรอกนะเธอ)

เมื่อรู้ว่ามีของดีอย่างนี้แล้ว อย่าลืมหาเวลาไปหย่อนใจนะเธอ หัวใจนะพักเสียบ้าง อย่าให้เขย่าตูมๆๆตึงๆๆๆนักเลย ออกไปสูดโอโซน ออกไปคลี่คลายจิตใจให้ผ่อนคลายบ้าง ความรู้สึกสีเขียวสดชื่นเป็นความดีความงามที่เลือกได้ ฝั่งตรงกันข้ามมีโรงแรมชั้นเยี่ยมตั้งอยู่ ผมเคยไปพักมาเมื่อ5ปีที่แล้วหลายคืน แต่ไม่ได้มีเวลาศึกษาของดีๆงามๆเหมือนมาครั้งนี้ เช้า-เที่ยง-เย็น-เขาต้อนเข้าห้องประชุม ประชุม และประชุม ถ้าจะสัมมนาอย่างนี้จะถ่อมาไกลให้เสียเวลาทำไมก็ไม่รู้ มาแล้วก็บอดตาใสไม่ได้รู้เห็นอะไร ถ้าครูอึ่งครูอารามไม่จัดโปรแกรมพิเศษให้ ก็คงจะเสียดายไปจนตาย

ครูอารามบอกว่า.. มีไผ่ยักษ์ให้ชมที่นี่อีกแห่ง

อ้าว..จะช้าอยู่ใย ไปถึงก็โอ้โฮๆๆ ไผ่ลำยักษ์กำลังออกหน่อ มีหลายกอยืนต้นอยู่ข้างๆลำธารน้ำไหล ดูแล้วไม่ได้ทำนุบำรุงอะไรมากนัก แต่ลำต้นโตไม่แพ้จุดแรกที่เราไปชม มีไผ่ดำปลูกอยู่ข้างๆกอหนึ่ง เราใช้เวลาเดินอ้อมไปอ้อมมา ไม่ได้รำวงหรอกนะ เดินดูมุมไหนๆก็ล้วนสะดุดใจทั้งนั้น เกิดความรู้สึกว่า กลับบ้าน..เราจะต้องรักต้นไผ่ของเราให้มากกว่านี้ จะไปใส่ปุ๋ยดูแลให้จังหนับ ขาใหญ่สั่งซื้อพันธุ์ไผ่ยักษ์ทางไปรษณ๊ย์จากจังหวัดน่าน คนบางกอกแนะนำที่นี่..มีสาขาขายที่คลอง15 อำเภอองค์รักษ์ กิ่งชำจำหน่ายราคากิ่งละ 400 บาท ค่าขนส่ง200บาท จัดส่งให้ทางไปรษณีย์

ที่สวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน ตั้งอยู่ในที่ดินทรายแห้งแล้ง เมื่อ50ปีที่แล้วเตี่ยปลูกไม้ไผ่พื้นเมืองไว้2กอ ยังมีหน่อและลำต้นใช้ตัดใช้งานมาเท่าทุกวันนี้ 30ปีที่ผ่านมามีพันธุ์ไผ่ตงจากต่างประเทศมาแพร่หลาย ไผ่ตงดำเหล่านี้หน่อใหญ่รสชาติดี ชาวสวนจึงนิยมปลูกมาจนกระทั้งปัจจุบันนี้ ทำให้คนไทยมีหน่อไผ่บริโภคอย่างอร่อยแทนหน่อไผ่รวกไผ่ป่าที่ค่อยๆสูญพันธุ์ บัดเดี๋ยวนี้มีดีกว่านั้นอีก ไผ่กิมซุงให้หน่อทั้งปี ไผ่หมาจูให้หน่อที่หวานอร่อยที่สุด ไผ่ราชินีซางนวลให้ลำโตๆไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เลือกได้ตามใจปรารถนา

ต้มจืดเยื่อไผ่

ต้มหน่อไผ่ใส่ขาสุกร

ยำ/สลัด/หน่อไผ่

ซุปไม้ไผ่

แกงหน่อไผ่ใส่ไก่ใส่น้ำใบย่านาง

ผัดไผ่ใส่กุ้ง

หน่อไผ่จิ้มน้ำพริก

แผนงไก่ใส่ยอดไม้

ไผ่ตุ๋นเจี๊ยะกับข้าวต้ม

ลองดูนะครับ ช่วงนี้หน่อไผ่กำลังอวบกรอบอร่อย

::  ขอขอบคุณพี่น้องชาวเฮที่อุปการะให้พบครบถ้วนทุกกระบวนการ

:: ถ้าไปชมภาพยนต์ “พระนเรศวร” จะเห็นว่าไผ่เป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญ

:: ถ้าช่วยกันปลูกไม้ไผ่มากๆ ไผ่จะช่วยแก้วิกฤติธรรมชาติแห่งยุคสมัย

:: คุยกับขาใหญ่ว่า..ก่อนตายจะช่วยกันปลูกไผ่ให้ได้ 100,000 กอ

:: ถ้าไม่รู้จะช่วยชาติยังไงดี มาช่วยพี่ปลูกไม้ไผ่ก็ได้นะน้อง อิ อิ

:: คิดง่ายๆ ทำเบาๆ แต่เอาจริงนะเธอ ..

::  ตอนนี้ลงไผ่ไปแล้ว 15,000 ต้น

« « Prev : บุกลำพูน

Next : ตกรถพอไหว แต่ตกใจนี่แย่หน่อย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 สิงหาคม 2011 เวลา 18:54

    ผมเคยคิดไว้นานพอแรงว่าน่าส่งเสริมปลูกไผ่ตามไหล่เขาต้นน้ำ ทดแทนการปลูกมัน ข้าวโพด อ้อย ที่พวกนายทุนเข้าไปส่งเสริม

    วันนี้มาได้ข้อคิดว่า ปลูกไผ่เล็ก (ต้นเพ็ก หรือ เพ็กไหล่) น่าจะดี เพราะต้นมันเล็ก รากฝอยกระจายมาก ยึดหน้าดินดีแท้ อาจดีกว่าต้นใหญ่ๆ..หน่อของมันคือ หน่อโจด ก็โปรโมทเป็นอาหารเหลาได้ดีแท้ (น่ากินกว่า asparagus..บังแดดก็รำไร สามารถเลี้ยงสัตว์เสริมได้ ส่วนลำต้นของมัน ก็น่าหาทางเอามาทำอะไรได้ เช่น เอามาผ่าซีกสองซีก แล้วทำเป็นตะเกียบธรรมชาติได้เลย งอหงิก เก๋ไปอีกแบบ ดูเป็นธรรมชาติดี ไม่ต้องเหลาให้เปลืองแรง 55

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 สิงหาคม 2011 เวลา 21:13

    ต้นเพ็กที่ท่านจอหงวนว่า มันเป็นไม้เล็กอิงไม้ใหญ่ เป็นพืชชั้นล่าง อาศัยร่มรำไรในป่าเตงรัง ดังจะเห็นว่าเมื่อป่าไม้ถูกทำลาย ต้นเพ็กสูญพันธุ์ไปก่อนเพื่อน ถ้าคิดจะปลูกต้องปลูกไม้ใหญ่ไม้อื่นก่อนค่อยเอาเพ็กมาลง และต้องประคบประหงมกว่าธรรมชาติสร้างกันเองมาก การที่ป่าไม้ลดลงหรือหายไป อย่างอื่นก็พลอยล้มหายตายจากไปด้วย รวมทั้งเพ็กที่เมื่อก่อนญี่ปุ่นจ้างชาวบ้านตัดแล้วมัดส่งไปให้เขาทอเสื่อ เด๊่ยวนี้เพ็กหายาก เคยมีในป่ารอบๆสวน ก็สูญเสียสูญหายไปสิ้น ผมก็เสียดาย เพราะยอดเพ็กอ่อนเป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง อิ

  • #3 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 สิงหาคม 2011 เวลา 21:34

    ฮ่วย บาท่าน จริงสิ

    ผมเห็นแต่เพ็กมันขึ้นเป็นดงดานในป่าละเมาะที่ไม่มีไม้ใหญ่ หะแรกที่บ้านห้วยโจด อ.วัฒนา จ.ปราจีนบ้านเกิดผม หะสองก็ที่มทส. ..แต่ผมไม่เคยเห็นเพ็กใต้ร่มไม้ใหญ่จั๊กเทือ

    ถ้าเป็นอย่างบาท่านว่าก็ยิ่งดีสิ เช่นปลูกไผ่ใหญ่ยืนพื้น แล้วระหว่างกอก็ปลูกเพ็ก ก็ยิ่งช่วยยึดหน้าดิน แล้วยังได้ผลผลิดเสริมมากหลายต่อ

    ผมว่าบาท่าน ขอทุนทำวิจัยนำร่อง ป่าต้นน้ำทันทีครับ ลุยมันโลด ผมช่วยเต็มที่ ทำบุญก่อนตายฝากไว้ให้โลก”ลืม” อิอิ

    ที่มทส. มีนักวิชาการไผ่คนสำคัญอยู่สองท่าน สนิทกันพอควร ถ้าเอ่ยปาก ท่านร่วมหัวด้วยแน่ๆ

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 สิงหาคม 2011 เวลา 22:22

    ขอทราบชื่อนักวิชาการไผ่ได้ไหมครับ จะหาโอกาสไปคารวะ

  • #5 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 เวลา 1:35

    ฮ่าฮ่า บาท่าน บ่บอกดอก… นอกจากเสียค่าต๋งจั๊กกะหน่อย อิอิ

    ส่งเมล์ถึงคะน้อยเด๊อ แล้วผมสิส่งเบอร์เปิ้นทั้งสองไปให้
    อยู่กันใกล้ๆ สิได้ปฏิสัมพันธ์

    ท่านเกษียณแล้ว รุ่นๆ เดียวกับบาท่าน
    คงคุยกันสนั่นลั่นป่าไผ่แน่ๆ

    ส่วน ขะยฮม ขอตามไปปลูกเพ็กไหล่ ใต้ร่มไผ่ด้วยคนเด๊อ (นึกสนุก หิหิ)

    ปล. ท่านทำงานวิจัยไผ่มานานก่อนแต่ที่มันจะเป็นที่สนใจ แต่กลับไม่มีใครสน วันนี้ท่านเลยหันมาทำมันสปล. ก็พอดัง ผลผลิตต่อไร่กระฉูด ผมทำงานร่วมกะท่านด้านมันสำปะหลังมาพอควร…ท่านปลูก ผมถอน หัวเท่าก้อนยางรถยนต์ สนุกดี มือเปรอะ แต่ที่พอได้เรื่องก็เยอะนะครับ

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 เวลา 16:35

    ชีวิตคนโบราณนั้นอนู่กับไผ่จริงๆ ความรู้เรื่องไผ่ ค่อยๆจางหายไปหมด อุปกรณืประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อาหาร ครบถ้วนมาจากไผ่

  • #7 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 สิงหาคม 2011 เวลา 13:03

    555 Panda LoveBamboo….อิอิ

  • #8 nuntawun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2011 เวลา 21:34

    ยังจำคำที่พ่อสุทธินันท์บอกผม ไผ่ 40% ของสวน ตามนั้นครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.10900187492371 sec
Sidebar: 0.090726137161255 sec