จดหมายรักถึงเจ้าหลานเท่ห์
อ่านเรื่องเล่าความในใจของเจ้าหลานเท่ห์แล้ว
พี่ป้าน้าอาใจกระเส่า ร่วมลุ้นระทึกอย่างอึงคะนึง
เพราะรายนี้มาไม่ซ้ำรอยกับหลานคนอื่น
อย่างเจ้าจิยังงี้ ได้เรียนสาขา/คณะวิชา/และมหาวิทยาลัยที่ตัวเองชอบ เมื่อขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ ชอบใจ-ตั้งใจ-เรียนอย่างมุ่งมั่น มันจะไปเหลือเรอะ จะโกยเอาคะแนนเท่าไหร่ก็ได้ดั่งใจหมาย มีรายงานมาอวดพี่ป้าน้าอาให้หน้าบานเป็นจานเชิง ไอ่นั้นก็ได้A ไอ่นี่ก็ได้A Aๆๆๆจนตาลาย เผลอหน่อยเดียวจะจบป.ตรีเสียแล้ว ทำท่าว่าจะได้เกียรติยมอันดับหนึ่งด้วยนะนี่ ถ้าได้จริงสงสัยจะมีรายการปิดสนามจันทร์นครปฐมเลี้ยงฉลอง..
ส่วนเจ้าหลานเท่ห์ สุดหล่อของเรา เป็นเด็กขยันเรียน ตั้งหน้าตั้งตาเรียนตามสมัยนิยม เรียนธรรมดา เรียนพิเศษ ติวจนแทบไม่ลืมหูลืมตา เคยไปทดลองเรียนพิเศษระยะสั้นๆที่ต่างประเทศ ไปแล้วไม่ชอบ ขอกลับก่อนกำหนด เท่ห์เป็นเด็กติดบ้านติดยาย เป็นหลานโปรด ดูท่าจะมีความสุขมากถ้าได้อยู่บ้าน ครั้นต้องผละจากบ้านจากสิ่งคุ้นเคยมาอยู่ประจำในบางกอก คงต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวปรับใจใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาเมืองกรุง จึงเผลอเอาทุนส่วนตัวที่สะสมไว้ออกมาเปรียบเทียบ
ในทุกวินาทีไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญของโลก
เรื่องการ “ปรับ” นี่สำคัญสำหรับมนุษย์ยุคนี้
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมายังกะลมเพชรหึง
มีมาทั้งทางตรงทางอ้อม ยอกย้อนบ่อนแซะจิตใจเราแบบกัดไม่ปล่อย
เด็กเยาวชน..อยู่ในยุคการแสวหาตัวตน
ภายใต้ระบบสังคมที่จับฉ่ายและฉาบฉวย
เด็กส่วนใหญ่ก็คงเป็นแบบเท่ห์นี่แหล่ะ
สับสน อลหม่าน ..
ครูไม่ได้อธิบายแต่แรกว่าทำไมถึงเรียนวิชานี้
วิชาเหล่านี้สำคัญและจำเป็นอย่างไร
จะนำไปใช้ในชีวิต/ในการงาน/ในโลกอนาคตอย่างไร?
เมื่อไม่บอกแต่แรก..เด็กเรียนจึงเรียนแบบอะไรวะๆๆๆๆ
ระบบการศึกษามุ่งบริหารคะแนน ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องบ้าคะแนน
เอาคะแนนเป็นตัวตั้ง เรื่องความรู้จริงเป็นของแถม
ห้ามสอบตก ห้ามตีด้วยนะ
อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็เตะขึ้นชั้นไปเรื่อยๆ
โง่ไม่เป็นไร เดี๋ยวถึงช่วงสอบเรียนต่อ พ่อแม่มันวิ่งเต้นหาทางเองนั่นแหละ
หรือถ้า..ถ้าสอบไม่ได้ก็บ่เป็นหยังดอก
รัฐฯ ตั้ ง วิ ท ย า ลั ย เ อ้ อ ร ะ เ ห ย วิ ท ย า รองรับไว้แล้ว
เรียนฟรี เรียนไม่เรียน ก็มีที่ขาโจ๋ไปชุมนุมกันจนได้สิน่า..
ต ร ง นี้ ถื อ เ ป็ น จุ ด ห่ ว ย แ ต ก ของระบบการศึกษาไทย
เ ด็ ก ทุ ก ค น ถู ก มั ด มื อ ช ก ..
ถ้าอยากจบได้ปริญญาจะต้องก้มหน้าก้มตาเรียนๆๆให้ครบหน่วยกิต
ชอบไม่ชอบ..ไม่ใช่ปัญหาของสถาบัน
ถ้าไม่เห็นว่าคณะนี้ดีเธอมาสอบเข่้าทำไมละครับ
เมื่อเข้ามาแล้วอย่าหือ..อย่าดื้อ อย่าออกความเห็น
มีหน้าที่เรียนๆๆๆเธอควรจะเรียนอย่างเดียวเท่านั้น
จะมาสงสัยเนื้อหา สงสัยวิธีเรียน สงสัยผลลัพธ์ ไม่ได้หรอก
ท บ ว ง ม ห า วิ ท ย า ลั ย เ ข า คิ ด ดี แ ล้ ว เธอไม่ต้องมาช่วยคิด
อย่ามาถามจาน จานขี้เกียจตอบ เพราะจานเองก็ถูกบังคับมาอีกทีให้สอนๆๆๆอย่างนี้
จานก็มาสอนวิชานี้เหมือนเธอนั่นแหละ
จะเบื่อจะเซ็งจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก
ระบบ กำกับ กำกวม ไว้ห้ามหือ !!
การศึกษาไทย ไ ม่ มี โ ช๊ ค อั พ จึ ง แ ข็ ง ทื่ อ เ ห มื อ น ส า ก ก ะ บื อ ไงละเธอ
เด็กไทยเป็นอย่างเท่ห์จำนวนมาก เพียงแต่ไม่มีใครออกมาตีโพยตีพาย ส่วนใหญ่ก็กล้ำกลืนเรียนถูๆไถๆไปให้จบ จบเมื่อไหร่ก็ค่อยมาหางานทำแบบถูๆไถๆ ดำรงค์ชีพอยู่ในกระแสทั้งไถและถู ที่บอกว่าเด็กจำนวนมากเป็นอย่างเท่ห์คงไม่ถูกนัก ที่ ถู ก ก็ คื อ เ ด็ ก จำ น ว น ไ ม่ น้ อ ย เ ป็ น ม า ก ก ว่ า เ ท่ ห์ เ สี ย อี ก เด็กทิ้งโรงเรียน ทิ้งครู ทิ้งการเรียนรู้ ออกไปเผชิญชีวิตอย่างอเน็จอนาถจำนวนนับล้าน พูดก็พูดเถอะ เราเคยพิจารณาบ้างไหมเล่า ที่สอนๆอยู่นี่มันน่าเรียน น่าสนใจ น่าชื่นชูใจบ้างไหม? การเรียนแบบบ้าทฤษฏีเป็นบ้าเป็นหลังมันควรจะเปลี่ยนได้แล้ว มัน ไ ม่ มี เ ห ตุ ผ ล เ ล ย ที่ จ ะ เ รี ย น แ บ บ แ ห้ ง ๆ จะ สั่ ง น้ำ ช า ม แ ห้ ง ช า ม ต า ม ใ จ ช อ บ ก็ ไ ม่ ไ ด้ ใจคอจะให้กระเดือกเหมือนวัวกินฟางอย่างนี้แหละ เด็กพันธุ์ใหม่ อยู่ในกระแสโลกใหม่ เจอสิ่งแปลกๆใหม่ๆ แต่ระบบการศึกษายังเก่าขึ้นคราบสนิม มันจะทันกินเรอะ ถ้ายังดื้อดันทุรังอยู่ภายใต้การจัดการศึกษาเยี่ยงนี้ อีกหน่อยก็วงแตก ตอนนี้มันก็ปริไม่น้อยแล้วนะ
คำที่ขอถาม - สังคมที่เปราะบางควรจะจัดการศึกษาให้สอดรับอย่างไร
อย่าบอกนะว่าจัดแบบมหาวิทยาลัยอีสาน
ขายปริญญากันโทนโท่
ยังมีมหาวิทยาลัยหลายสิบแห่งบ้าเปิดวิทยาเขต
อยู่ถึงเชียงรายมาเปิดสาขาย่อยที่ร้อยเอ็ด
มันจะบ้า..
เก็บตกเรี่ยราดตามตีนดอยยังไม่สะใจรึไง?
ไอ่พวก..รับจ้างสอน เอ๊ยยย!!!
เจ้าหลานเท่ห์เอ๋ย
ที่เจ้าสับสน และเป็นเยี่ยงนี้
มันมีที่ไปที่มาจ า ก ปั จ จั ย ภ า ย น อ ก พ อ ส ม ค ว ร
เจ้า ค ว ร ป รั บ ก ร ะ บ ว น ก า ร ภ า ย ใ น ใ จ ใ ห้ ห นั ก แ น่ น
อ่อนไหวได้บ้าง อ่อนอกอ่อนใจได้เล็กน้อย แต่อย่าอ่อนแอบ่อยๆ
ถึงจะสู้กับกระแสโลเลภิวัฒน์ได้
ลุงเชื่อโดยสนิทใจ ว่ า เ ท่ ห์ เ อ า ใ จ ตั ว เ อ ง ร อ ด ไ ด้
ก ลั บ ไ ป ก อ ด แม่ ก อ ด ย า ย เ ติ ม กำ ลั ง ใ จ ให้ เ ต็ ม พิ กั ด
ถ้าเป็นไปได้เท่ห์ควร เ รี ย น วิ ช า ที่ ไ ม่ ช อ บ ใ ห้ สำ เ ร็ จ
แล้วเท่ห์จะได้รู้ว่า..ก า ร ช อ บ ไ ม่ ช อ บ สิ่ ง ใ ด นั้ น เป็นเรื่องธรรมดา
การไม่ชอบเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการต่อสู้
อย่าพาใจตัวเองถอย แต่ควรผนึกกำลังใจสู้
อย่าตัดสินใจที่ชอบไม่ชอบ
ตีให้แตก ชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะอะไร มันสำคัญแค่ไหน จะถึงกับดิ้นปัดๆไหม
ในโลกนี้ไม่มีใครหนีความไม่ชอบได้สำเร็จ
เว้นแต่จะรู้เท่าทัน มันก็แค่นั้นแหละ..
บางคนตอนแรกรักชอบกันจะเป็นจะตาย ไม่ได้เห็นหน้าเจ้าพี่กินข้าวบ่ลง
ตอนท้ายๆหย่าทิ้งไม่ดูดำดูดีเฉยเลย
ในโลกนี้มีอะไรที่แน่นอน
คำว่าชอบ เป็นติ่งเล็กในห้วงคำนึงของเราเท่านั้น ..
ใ น ค ว า ม ไ ม่ ช อ บ มี ค ว า ม ช อ บ ซ่ อ น อ ยู่ ม า ก ม า ย
เท่ห์จะหาเจออย่างแน่นอน ถ้าเท่ห์ค่อยๆคิดค่อยๆทำค่อยๆ ถ อ ด ปั ญ ห า
นั่งกอดเข่าเอาใจมาใคร่ครวญ แ ล้ ว ลุ ก ขึ้ น สู้ อ ย่ า ง ท ร น ง . .
กองเชียร์ชูกำปั้นยืนข้างเท่ห์สลอนจะกลัวอะไรอีกเล่า
ทุ ก สิ่ ง เ ป็ น เ รื่ อ ง จิ๊ บ จ้ อ ย ทั น ที ถ้ า เ ท่ ห์ เ ท ใ จ สู้
สู้โว้ยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยย.
* ขอโทษ ที่เขียนผิดทั้งประเด็น สาระ คำสะกด และผิดอกผิดใจบางท่าน คนเขียนแก่แล้ว เลอะเทอะความคิดอย่างนี้แหละ ฮัดเช๊ย!
————————————————————————————————————————————–
ป.ล. วันที่ 6 กรกฏาคม 2554
มีโครงการสัมมนาเรื่อง “บทบาทกรรมการสภามหาวิทยาลัยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน”
เวลา 9.00 - 16.30 น.
ณ ห้อง AR210 ชั้น 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ท่านผู้สนใจภายนอกลงทะเบียนรับฟังได้
นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอุดมศึกษา เป็นวิทยากร
« « Prev : ช่องทางที่จะเป็นแขกถั่ว
8 ความคิดเห็น
กำลังพยายามรู้ให้ทัน ความชอบ-ไม่ชอบ ของใจตนเองอยู่เหมือนกันค่ะ
ได้มาอ่านแล้ว ยิ่งรู้สึกว่าการรู้เท่าทันอย่างนี้ จำเป็นอย่างยิ่งกับชีวิตวัยเริ่มทำงาน
มีเด็กอีกมากมายจริงๆ ค่ะ ที่เขาอยู่ในสภาพ “ทิ้ง” ครู ทิ้งโรงเรียน
ไปเคว้งคว้างอยู่กลางนทีชีวิต อย่างน่าหวั่นใจ
วันนี้ ผมเพิ่งได้รับเชิญให้ไปพูดให้นศ. เข้าสาขาใหม่ ฟัง โม้ไปสามชั่วโมง มีบางคนหลับ สลับเฮ เป็นบ้างครั้ง
หวังว่าคงทำให้เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้ ได้เข้าใจบ้างว่า เขามาทำอะไร
จุดอ่อนสำคัญที่สุดประการหนึงของการศึกษาไทย คือ การแนะแนว ..โหลยโท่ยมากๆ เป็นการสูญเสียมหาศาล
ที่ฝรั่งเจริญมาได้ เพราะเขาแนะ ให้เด็กๆ เรียนให้ตรงกับศักยภาพและความฝันของตน …เขาพิถีพิถันมากในการแนะแนวเด็ก ..ครูแนะแนวต้องเป็นคนที่เก่งจริงๆ ต้องมองเด็กออก และต้องมีความรู้ในเรื่องวิชาชีพอันหลากหลาย
ส่วนของเรา ครูแนะแนว ดูดโอเลี้ยงไป แนะไปพลาง เออ.คนขวางโลกอย่างเธอ ไปเป็นภารโรงแหละดี จะได้กวาดอะไรที่ขวางทางเราให้สะใจ (แทนที่จะฉุกติดว่าเด็กขวางโลกนี้มันมีแวดฉลาดนะ แสดงว่ามันคิดนอกกรอบ)
ลูกชายผม มันขวางโลก (เหมือนพ่อ) เกลียดครูมาก (เพราะครูเอาแต่ด่า ไม่สอนหนังสือ) พาลเกลียดโรงเรียน หนีโรงเรียน ไม่ยอมไปเรียนเป็นปี (ขนาดเรียนที่รร.ดีที่สุดในเมือง) เวลาเรียนไม่พอ หมดสิทธิสอบ พอไปลาครู เพื่อไปเรียนมัธยมสี่ที่เมืองฝรั่ง ครูเขาให้พรว่า…เรียนเมืองไทยยังไม่ไหว แล้วจะไปเรียนเมืองนอกได้หรือ …สุดยอดจริงๆ ครูไทยเรา
สองวันก่อน ครูฝรั่งเขียนอีเมล์มาเล่าว่า ภูมิใจกับลูกศิษย์คนนี้จริงๆ สองเดือนนี้เขาปรับตัวได้แล้ว นิสัยดี ตั้งใจเรียน ไม่เคยมาสาย ไม่ขาดเรียน ผลการเรียนก็ดี (นี่ขนาดมันฟังภาษาฝรั่งไม่ออกนะ) …รร.ที่ไปเรียนก็เป็นรร. ชั้นนำที่สุดของประเทศนั้น มีศิษย์เก่าเป็น นายกฯรมต. สองคน และได้รับรางวัลโนเบล อีกคน
อะไรมันจะหน้ามือหลังตรีน เช่นนี้
เพิ่งรับลูกจ้างใหม่ในฝ่ายมา ๒ คน คนหนึ่งเข้ามาทำงานได้ ๑๐ วันก็ลาออก บอกว่า เงินเดือนน้อย สู้ไม่ไหวกับงานที่ให้ทำแบบให้ใช้ศักยภาพเต็มตัว เครียด อีกคนบอกว่า ยังไหวอยู่ มีอะไรที่รู้เพิ่มขึ้นมากมาย ทั้ง ๒ คนจบปริญญาตรี คนแรกครอบครัวฐานะใช้ได้ ตัดยางได้วันละหลายแผ่นก่อนมาทำงาน ผลการเรียนได้คะแนนดี คนหลังฐานะครอบครัวยังต้องดิ้นรน ทำงานประมงน้ำตื้น และกำลังเริ่มปลูกสับปะรด ผลการเรียนได้คะแนนปานกลาง
บททดสอบที่ให้แสดงความเป็นตัวของตัวเองก็ทำแค่ ให้เดินไปสำรวจจุดที่ชี้ แล้วให้กลับมาเขียนไดอารี่ส่ง แปลกแต่จริงที่เด็กคนแรก เก็บรายละเอียดของจุดนั้นๆได้น้อยกว่าคนหลัง ให้ลองทำอย่างนี้ทุกวันๆ โดยไม่ได้ให้งานอะไร เด็กคนแรกหาคำตอบด้วยตัวเองไม่เป็น แต่เด็กคนหลังได้คำตอบใหม่ๆให้ตัวเองได้มากมาย
ทำงานไปได้ ๑๐ วันเด็กคนแรกก็หายตัวไป ลูกน้องโทรไปตามก็ได้คำตอบกลับมาว่า หนูขอลาออกค่ะ
สรุปไว้ว่า เด็กคงรู้จักตัวเองแล้วมั๊งว่า ที่มาทำงานนั้นงานเหมาะกับตัวเขาหรือเปล่า……เล่าให้ฟังเฉยๆค่ะ
พ่อครูค่ะ ตกลงไปสะแกราชไม่ได้แล้วค่ะ วันที่ ๑๔ เจ้านายนัดพบตัว เพื่อคุยเรื่องงานใหม่ เสียดายมากๆๆๆๆ
คนเป็นครู ของประเทศนี้น่าเห็นใจอย่างยิ่ง
คนรับจ้างสอน น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
ครูแนะแนวบางคน แนะนำให้เด็กอย่าออกไปเรียนอาชีวะ เกรงว่าค่าหัวเด็กจะลดลง ประเภทนี้เยอะ เด็กเรียนสายสามัญจึงมากองจนมันจะจุกอกตาย ไม่รู้จะทำยังไง ถ้าครูไม่รักเด็ก จะให้เด็กรักครูได้อย่างไร ถ้าครูทิ้งเด็ก จะไม่ให้เด็กทิ้งครูได้อย่างไร
-คนเป็นครู เป็นยาก งานก็ยาก ต้องเสียสละอดทนเผชิญปัญหาสารพัด ถ้าไม่มีวิญญาณครู อาจจะถอดใจง่ายๆ ยังดีที่หมู่เฮาเป็นครูกระดูกเหล็กไหลใจไทตาเนียม จึงกัดฟันสู้ๆๆๆ แอบบ่นบ้างนิดหน่อย อิ อิ
-เสียดายหมอเจ๊บ่ได้ไป เอาไว้จังหวะดีๆใหม่ๆค่อยลุยกันนะครับ
การด่าของครูนั้นว่าไปแล้ว เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ผมว่า ครูด่าแสดงว่าครูรัก ..ยกเว้นด่าด้วยอารมณ์ส่วนตัวที่มิได้มีจิตสาธารณะ
ผมได้ชื่อว่าเป็นครูที่ดุที่สุด ด่ากราดไปหมด แต่สังเกตว่าลูกศิษย์มันไม่เกลียด (แม้มันไม่รักก็ตามเถิด..หรือมันกลัวมากกว่า)
พอจบออกไป มันกลับคิดถึงเสียอีก เช่น ในงานคืนสู่เหย้า ซึ่งผมไม่ได้ไปเพราะผมบอกว่าห้ามเลี้ยงเหล้า แต่เขาก็เลี้ยงกัน ดึกประมาณเที่ยงคืน จะปิดงาน พิธีกรถามว่า เอ้า..จะเลิกเล้ว ศิษย์เก่าต้องการอะไรอีกไหม ..มีข้อความส่งมาถึงพิธีกรว่า ..อยากให้ “คนถางทาง” มากล่าวให้โอวาทปิดงาน …พิธีกรเขามาเล่าให้ฟัง …โห..ขนาด่าสาดเสียเทเสียนะเนี่ย อิอิ (ถ้าชมจะปานไหนหนอ)
เรื่องปลูกต้นไม้ในพื้นที่น้ำท่วม คุยกับเกษตรอำเภอแล้วเขาเอาด้วยนะคะ ให้ปลูกในศูนย์อพยพที่กำลังจะสร้างให้คนอยู่แทนบ้านน็อคดาวน์ ว่าแต่ว่า เราจะไปเอากล้าไม้มาจากไหนได้ละคะ
ลองปรึกษาป่าไม้ดูดีไหมครับ
หรือถ้ามีงบบ้าง น่าจะปลูกไผ่กิมซุง-อาคาเซีย-และเอกมหาชัย
-ได้หน่อ-ลำต้น-กิ่งไม้-ใบไม้ -รากยึดดิน
-การใช้ธรรมชาติช่วยเป็นทางเลือกที่ประหยัด-ได้ประโยชน์แวดล้อม-เหมาะกับการสถานการณ์ อิ
คุยกับผู้สันทัดกรณีด้านไผ่ เล่าว่าถ้าปลูกกิมซุงจะมีหน่อตลอดปี ส่วนลำต้นเหมาะที่จะเอามาทำตะเกียบ เครื่องไม้เครื่องมือไม่แพง ราคาประมาณ 6-7หมื่น ได้อาชีพเสริมให้ชุมชนขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง หรือถ้าปลูกไผ่หมาจู มรหน่อตามฤดูกาล รสชาติดี จุดเด่นอยู่ที่ลำต้นเปลาตรง เนื้อไม้แน่นแข็ง นำไปสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ดี ขายเป็นลำก็ได้ ราคาประมาณ 1-300 บาท การเติมความรู้ความรักธรรมชาติที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวบ้าน ให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ด้วยความตระหนักคุณค่าทางตรงทางอ้อม ใต้เจริญอย่างมั่นยืน มีการป้องกันวิกฤติธรรมชาติโดยทุกคนมีส่วนร่วม เกิดความรับผิดชอบสังคม เท่าที่ตามดูยังไม่มีแผนสร้างเสริมธรรมชาติ ไปเน้นเฉพาะด้านวัตถุ อิ.