ราชภัฎพอกะเทิน
หัวข้อนี้เป็นคำหยอกเอินของนักแต่งเพลงลูกทุ่ง ซึ่งก็คงมีเค้าความจริงแทรกอยู่ในเนื้อร้อง ภายใต้ทำนองสนุกๆเหมือนกับจะบอกว่าไม่ต้องคิดมาก เมื่อมีความพอเพียงตรงจุดนี้ก็เรียนที่นี่ ..ถ้าจะไปให้ป๋าส่งแอ๋วเรียนรามก็ยุ่งยากขึ้นไปอีก เรียนอยู่ใกล้ๆบ้านเรานี่แหละ ประหยัดสะดวกสบาย เหมาะกับความพร้อมทางด้านสติปัญญา จบมาแล้วถ้าเป็นคนดี อยู่ที่ไหนทำอะไรก็ไปได้ทั้งนั้นแหละ ถ้ามีคุณสมบัติหัวไวใจสู้รู้งานผสานคุณธรรม แต่ถ้าแก่แดดแรดๆๆ..ไม่ว่าจะจบสถาบันไหนมันก็ไม่ไหวทั้งนั้นแหละเธอ
เมื่อวานสถาบันราชภัฎพระนคร ..ชวนไปเสวนาย่อยกับกลุ่มที่ทำวิจัยเรื่องทิศทางและอนาคตที่ควรจะเป็นของบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะร่วมด้วยช่วยกันยกกำลังใจกำลังความคิดติดเทอร์โบไปสู่ความเป็นสถาบันที่สังคมยอมรับและเชื่อถือได้อย่างพึงพอใจ ผมกับพันตำรวจเอกธงชัย เย็นประเสริฐ นายกเทศมนตรีจังหวัดนนทบุรี เป็นผู้รับเชิญมาแลกเปลี่ยนประเด็น โดยมีคณะทำงานเรื่องนี้กับกรรมการสภามหาวิทยาลัยร่วมสนทนา โจทย์ที่ว่าบัณฑิตที่พึงประสงค์ บัณฑิตที่ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ บัณฑิตที่หนักเอาเบาสู้ ผมคิดว่าผู้บริหารสถาบันไหนๆก็คงจะทราบอยู่แล้ว วิธีที่จะสร้างบัณฑิตในฝันนี่สิสำคัญ จะ ปั้ น ดิ น ใ ห้ เ ป็ น ด า ว ไ ด้ อ ย่ า ง ไ ร ตัวแปรและเงื่อนไขยุบยับไปหมด สภาพความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก สภาพแวดล้อมทางสังคม ทำให้นักศึกษาสมัยนี้เป็นเด็ก พันธุ์ใหม่ การเรียนการสอนก็ต้องยำระดับให้สอดรับกันกับยุคสมัย แต่ไม่ใช่ตามใจเด็กจนโอเว่อร์นะครับ ..ตั้งตู้แจกถุงอนามัยไว้บริการนี่ก็เกินไป เด็กจะแต่งตัวชะเวิกชะวากเหมือนอย่างไปเดินเที่ยวห้างนี่ก็บ่ไหว สาระรูปห่างไกลการความเป็นบัณฑิตมากขึ้นทุกที ถ้าภาพรวมภายนอกเป็นอย่างนี้ ภายในจะเป้นอย่างไรละครับ ถ้าเจาะไปดูจะมิอกอีแป้นแตกหรือ โดยเฉพาะสถาบันที่มีหน้าที่ผลิตครู เราจะสร้างครูพันธุ์ใหม่ด้วยแบบพิมพ์อะไร ถึงจะเป็นเอกลักษณ์เหมาะสมกับคนที่จะไปเป็นครูสอนคน..
เรามีเวลาคุยกันนานพอสมควร ท่านนายกเทศมนตรีนนทบุรี ท่านเป็นผู้กำกับการเตำรวจก่า จึงรู้เห็นพฤติกรรมเด็กๆจนจะแจ้งแดงแจ๋ ท่านบอกว่าถ้าจะแปรความสับสนในตัวเด็กให้ออกมาเป็นพิมพ์นิยม อาจจะต้องแก้ที่ตัวอาจารย์ด้วย เข้าทำนองลูกปูดินเหมือนแม่ปูนั่นแหละ จะไปโทษใครได้ในเมื่อผู้ปกครองเขาไว้ใจให้สถาบันอบรมสั่งสอนแล้ว ถ้าสอนให้ออกมาเป็นคนดีมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ไม่ได้ มันก็ต้องหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นสถาบันฯก็จะเตี้ยลง..เตี้ยงลงสาละวันเอ๊ยยยยย ..เรื่องนี้คงไม่เกินความสามารถขององค์กร ที่จะช่วยกันสร้างองค์กรให้มีรูปลักษณ์ที่ผ่องแผ้วนพคุณ ถ้าอาจารย์ทุกคนร่วมมือ
ในช่วงที่แลกเปลี่ยนคำถาม
ทีมวิจัยถามว่า ..นอกจากจะแก้ที่เด็กดื้อแล้ว
อาจารย์ดื้อละจะแก้อย่างไร?
โห! ประเด็นนี้กระแทกใจดังป๊าบ!
อาจารย์ดื้อ คงต้องเอาน้ำเย็นเข้าลูบกระมังครับ
ถ้าใช้ไม้แข็งคงบิดตะกูดไปต่างๆนานา
ท่านนายกเทศมนตรี ..ท่านมองว่าไม้แข็งก็ใช้ได้ตามสมควร
ถ้าเราทำโดยสุจริตใจไม่ได้กลั่นแกล้งใคร
ผมคิดว่า..คนที่มีจิตวิญญาณครูย่อมมีทั้งศาสตร์ทั้งศิลป์เรื่องคนอยู่แล้ว
ลองงัดตำราที่มีอยู่มาทดลองใช้ให้ครบถ้วนกระบวนท่า
ถ้ายังไม่ดีขึ้นส่งมาเผาถ่านที่สวนป่าก็ได้
เจ้าแห้วนั้งฟังอยู่ด้วยคันปากยิบๆ..แต่ไม่ให้พูดเพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ท่านผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ผู้ใหญ่ทำไมท่านจะไม่รู้ ท่านแกล้งถามเราไปอย่างนั้นแหละ โธ่ ระดับนี้แล้ว..อยู่ที่ว่าท่านจะคิดและทำอย่างจริงจังเมื่อไหร่? เพราะเท่าที่ท่านบอกว่ามีครูดื้อก็แสดงว่าท่านกำลังมองเรื่องนี้อยู่แล้ว จู่ก็มีคำว่า”อัตลักษณ์” หล่นลงมากลางวง ผมก็ขออนุญาตขยายความทันที บอกว่าอยากเห็นสถาบันแห่งนี้สร้างอัตลักษณ์ให้ได้ให้เด่นและดี ใครมองเห็นให้รู้เลยว่านี่แหละ..นักศึกษาของราชภัฏพระนคร เช่น แต่งตัวเรียบร้อย กริยามารยาทสมวัย ผมเผ้าไม่ให้มันเปิ๊ดสะก๊าดเหมือนหลุดออกมาจากแหล่งบันเทิง ..ถ้าภายนอกจัดการเพียงแค่นี้ได้ก็สะท้อนอะไรๆได้ไม่น้อยแล้ว เรื่องการสร้างสไตล์ที่ว่านี้อาจารย์ท้งสถาบันต้องร่วมมือกัน เข้าใจตรงกันว่าทำไมต้องทำเรื่องนี้ ควรคิดป้องกันด้วยว่าถ้ามีการต่อต้านจากเด็กจะทำอย่างไร เหล็กดีไม่กลัวไฟ ตีเมื่อไหร่ก็ยังแข็งโป๊กๆๆ ต้องทำความเข้าใจในหมู่คณาจารย์ ..ว่าทำไมเราถึงจำเป็นต้องทำเรื่องนี้ ที่ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสเหมือนสถาบันอื่นๆมันมีเหตุผลกำกับตรงไหน?
ในฐานะสถาบันที่มีเจตจำนงค์ว่าจะเป็นสติปัญญาให้แก่ท้องถิ่น
ควรจะตั้งอาจารย์ขึ้นมาชุดหนึ่งแล้วมอบพันธกิจให้ทำเรื่องพัวพันกับท้องถิ่น
ถ้าโยนลูกไปให้..แล้วแต่อาจารย์ไหนจะสนใจทำ
มันก็แห้วแห้งโหยเหมือนที่ผ่านมา
คิดได้แต่ไม่ได้ทำหรือทำแบบผิวๆ
มันก็เลยซังกะตายอยู่อย่างนั้น
แต่ถ้าคิดจริงจังตั้งอาจารย์ฝ่ายคลุกคลีตีโมงกับชุมชน
ลงไปเรียนรู้ ลงไปทำวิจัย ลงไปจัดค่าย
ลงไปสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมฉบับราชภัฏให้ปรากฎ
เมื่อนั้นแหละสังคมถึงจะยอมรับว่า..ราชภัฎเพื่อท้องถิ่นนั้นมีลำหักลำโค่นอย่างไร
ขอเอาวิชาความรู้ดีๆที่มีอยู่มากมายในสถาบัน
ไปต่อยอด-ต่อแต้ม-ต่อเติม-ไต่ระดับ-
สร้างปรากฎการณ์ใหม่ วิชา+อาชีพ = วิชาชีพ
เอาโจทย์จากชุมชนมาวิจัยให้กระจุย..
เดินสายให้กระจายว่อนไปตามเครือข่ายชุมชนต่างๆ
ถ้า เ ข้ า ไ ป นั่ ง ตั ก ชุ ม ช น ไ ด้ การแลกเปลี่ยนความรักความปรารถนาดีก็โชติช่วง
เมื่อนั้นภาพของการความเข้มแข็งของการเป็นสถาบันเพื่อท้องถิ่นก็จะเป็นจริง
คำถามสุดท้าย
ครูบาอยากจะฝากอะไรไว้..
ผมขอชื่นชมที่ทีมวิจัยคิดทำเรื่องนี้
เห็นใจ..เข้าใจ..และขอให้กำลังใจ สู้ สู้ สู้ !!!
« « Prev : ชีวิตนี่หนอ ต๊อก ต๊อก..
ความคิดเห็นสำหรับ "ราชภัฎพอกะเทิน"