มองการศึกษาเห็นอะไร
อ่าน: 1379พอบอกว่าเปิดห้องเรียน งานก็เข้ามาทันที ปลายเดือนนี้ คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ชวนไปมองเรื่องการศึกษา ถามว่าจะให้ไปทำอะไรบ้าง ท่านตอบว่าให้มองการศึกษา ว่าประชาชนต้องการบัณฑิตลักษณะใด ชาวบ้านคาดหวังกับบัณฑิตอย่างไรบ้าง จบไปแล้วจะทำงานร่วมกับชุมชนได้ไหม แนวโน้มจะเป็นอย่างไร ให้ขอเสนอแนะได้ไม่อั้น แหม เจ้าประคุณเอ๋ย
มองการศึกษาต้องให้เห็นมุมที่สวยและขี้เหร่
มองการศึกษาต้องมองด้วยความเข้าใจ
มองการศึกษาต้องมองให้เห็นหน้าเห็นหลัง
มองการศึกษาต้องมองเบื้องหน้าเบื้องหลัง
ผมคิดในใจเร็วๆ การศึกษาสมัยนี้ ในหลักสูตรต้องการให้นักศึกษารู้มากๆรู้ทุกสิ่ง แต่การสอนในภาคปฎิบัติไม่ได้สัดส่วนที่พอเหมาะกับภาคทฤษฎี “ก า ร รู้ ทุ ก สิ่ ง ไ ม่ เ ท่ า กั บ ก า ร ทำ ไ ด้ ทุ ก สิ่ ง ” ถ้าวิธีการสอนผสมผสานการรู้แล้วได้ทำเธอเอ๋ย เด็กไทยไปโลดตั้งนานแล้ว ไม่ต้องมาโดนกระแน๊ะกระแหนว่า “เรียนแบบนกแก้วนกขุนทอง” โจทย์ชีวิตและสังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ยังสงสัยว่าหลักสูตรต่างๆที่อนุมัติมาให้สอนนั้นมันอาจจะไม่เข้ากับสภาพการณ์ในขณะนี้ แต่ก็นั่นแหละ..กว่าจะประเมินเนื้อหาในหลักสูตรแต่ละทีก็ต้องรอไป5ปีโน่น บางภาควิชาอ้อยสร้อยลอยเลื่อนออกไปอีกกี่ปีดีดักก็ไม่รู้ ขณะนี้มีครูหัวใจเสริมใยเหล็ก ทะลุกลางปล้องทำไปแล้ว คิดได้คิดดีอะไรก็ทดลองทดสอบทำทันที ถ้าเห็นว่าอะไรจะเกิดผลดีกับลูกศิษย์จะช้าอยู่ไยใช่ไหมละครับ แต่ก็มีครูบางส่วนที่ยึดระเบียบเคร่งครัด ไล่กันทีละบรรทัด ทางการเขาสั่งมาว่า..ยังงี้ๆ สอนกี่คาบกี่ชั่วโมงต้องให้จบ ฉันก็จะเคี่ยวเข็ญเธอให้เสร็จลงตามกำหนดให้ได้ ผลจะเป็นประการใดก็แล้วแต่ ทำตามที่ท่านสั่งแล้วนี่ ..ผลที่ออกมาก็เหมือนซื้อหวยแล้วโดนกินเรียบนั่นแหละ เหนื่อยก็เหนื่อย แถมเด็กก็ยังไม่กระดิกกระเตื้อง เป็นทุกข์ทั้งคนสอนคนเรียน อาจจะเข้าทำนองว่า..
“ทุกข์ทางการศึกษา คือ ทุกข์ของแผ่นดิน”
“จะเรียนรู้ทำไมต้องทุกข์ด้วย”
“เรียนด้วยความทุกข์ทรมานปัญญาจะเกิดมาจากที่ใด”
“เซ็งนัก..ก็หาเรื่องทะเลาเบาะแว้งไต่ตีแทงกันวุ่นวะวุ่นวาย”
แทนที่จะได้เด็กหญิงเรณู เด็กชายปัญญา
ก็ได้เยาวชนคนอะไรไม่รู้เต็มไปหมด
ถามว่า เรียนอย่างไรถึงจะไม่ทุกข์ เราก็เรียนในสิ่งที่เรารักและชอบ อ้าว! วิชาที่สอนมากมายแถมยังเลือกไม่ได้เสียด้วย แหม..ตรงจุดนี้ละครับที่เรามองข้ามไป การเรียนในชั้นอนุบาลไปถึงมัธยม น่าจะเป็นช่วงชั้นที่เด็กได้เรียนวิชาพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เรียนได้ถามตัวเองว่าเราชอบเราถนัดในกลุ่มวิชาสาระใด ชอบภาษา ชอบคณิตศาสตร์ ชอบกีฬา ชอบศิลปะดนตรี ชอบด้านเทคโนโลยี ชอบด้านชีวะ หรือไม่ก็ชอบทางด้านช่างยนต์ช่างไฟฟ้าฯลฯ ตรงจุดนี้สำคัญ ถ้าฝ่ายบริการทางการศึกษาเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนได้มองร่วมกัน นอกจากคะแนนที่วัดแต่ละวิชาแล้ว ยังมีเรื่องพิเศษอยู่เบื้องหลังอีก ถ้าเจาะถึงเราก็จะรู้ว่าไม่มีเด็กคนใดโง่หรอก เพียงแต่วิธีให้การศึกษาเข้าไม่ถึงศักยภาพในตัวเด็ก ไปเอาวิธีวัดและประเมินหยาบๆที่เรียกว่าคะแนนอย่างเดียวมาตัดสิน เด็กไทยจึงอยู่อันดับโหล่ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นสักหน่อย ผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า ถ้าเด็กได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับจริตของเขาแล้ว เขาจะมองเห็นลู่ทางการศึกษาท้าทาย สนุก สนใจที่จะเข้าไปแสวงหาสิ่งดีๆอย่างทะเยอทะยาน
ผมเคยเอาเด็กที่ถูกตราหน้าว่าหัวขี้เลื่อย เรียนอ่อนขนาดอ่านและเขียนได้น้อย สอบเมื่อไหร่ตกเมื่อนั้น เด็กกลุ่มนี้เห็นห้องเรียนเป็นนรกหรือค่ายกักกัน จึงหนีเรียนสุดขีด คงเข้าทำนอง..ครูทิ้งเด็ก เด็กก็เลยทิ้งครู ผมส่งเด็กกลุ่มนี้ไปฝึกงานที่โรงงานกระเบื้องCOTT0 7วัน บริษัทนี้ก็ดีใจหาย นอกจากจะให้การต้อนรับจัดฝึกอบรมอย่างเอาใจใส่แล้ว ขากลับยังบริจาคกระเบื้องมาให้ปูห้องประชุมที่โรงเรียนอีก 1 คันรถ 10 ล้อ เด็กๆที่สอบวิชาคำนวณได้เลขกลมๆนี่ละครับ ปูพื้นห้องประชุมขนาด 150 ตารางเมตรได้อย่างเรียบร้อย ต่อมาผมเอามาทดสอบที่สวนป่า ให้ช่วยกันเรียงอิฐปูพื้นรอบอาคาร8เหลี่ยม เด็กๆช่วยกันออกแบบลวดลายการวางอย่างมีศิลปะ ..ทักษะชีวิตที่สุดประเสริฐเยี่ยงนี้แหละ ที่ระบบการศึกษาไทยเข้าไม่ถึง แถมยังตาบอดสีอีกต่างหาก
เป็นเด็กไทยนี่ซวยไม่รู้ตัว
เผลอเมื่อไหร่ถูกระบบการศึกษาต้อนไปซุกเข้าใต้พรมทันที
คำว่าการบ้านคืออะไร?
เพี้ยนไปหมดแล้ว !
เ ด็ ก ก ลั บ ม า บ้ า น น่ า จ ะ ไ ด้ เ รี ย น วิ ช า ง า น บ้ า น
บังคับให้เด็กเอาการโรงเรียนมาทำเป็นการบ้าน
เด็กไทยจึงขาดประสบการณ์ทำอะไรไม่เป็น
เคยมีนักศึกษาระดับป.ตรีมาเข้าค่ายที่สวนป่า
เธอสารภาพว่า..ปอกกระเทียมไม่เป็น !!!!!
อยู่โรงเรียนก็เรียนจนสมองแฉะแล้ว ยังตามมาวอแวถึงที่บ้านอีก เวลาของเด็กไทยจะได้มีชีวิตอยู่อย่างธรรมชาติของมนุษย์ก็หดหายไป วิชาชีวิตไม่สำคัญเลยหรือ ออกแบบศึกษาครึ่งๆกลางๆแต่ต้องการผลลัพธ์..เ ก่ ง ดี มี สุ ข มันจะเป็นไปได้จะใด๋ แล้วก็ ยั ง ดื้ อ ต า ใ ส ส อ น ๆ ๆ กั น จ น ก า ร ศึ ก ษ า ไ ท ย ชี ช้ำ ไ ป ห ม ด แ ล้ ว ไปถามดูเถอะ ..การบังคับให้เด็กติวเข้มอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อให้สอบเข้าคณะวิชาที่คิดว่าเลิศประเสริฐศรีกันนั้น ถึงจะเรียนจบไป ได้หน้าที่การงานที่ดี เขาเหล่านี้ก็มีคุณสมบัติแก่งแย่งชิงดี เห็นแก่ตัว เอาชนะคะคานไม่่ลดราวาศอก ทำให้เกิดสังคมทุพลภาพในปัจุบัน
กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใดนั้น.. กี่ปีๆก็รอได้
แต่รอแล้วมันออกมาเป็นดอกกล้วยไม้พลาสติก นะสิเธอ..
ทุกอย่างในโลกนี้ที่ว่ายากๆ ไม่มีอะไรยากเท่าการให้การศึกษาที่ถูกต้อง
ถ้าปล่อยเละเทะจนคนเป็นครูซื้อใบประกาศปลอมมาสอนได้ มันเสียหายกว่าเสพย์ยาบ้าหลายเท่านัก ถึงขั้นประเทศล่มจมได้เลยเชียวแหละ ลองพิจารณาดูเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนี้เถอะ คนไทยไม่มีปัญญาพอที่จะสลายความขัดแย้งในสังคมได้ใช่ไหม 6-7ปีที่ผ่านมาเราเสียหายเพราะบ้านเมืองจลาจลไปไม่รู้เท่าไหร่ คนไทยแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายกระจายกันไม่รู้กี่ก๊ก เชื่อว่าเงินซื้อคนไทยได้ ซื้อประเทศไทยได้ ก็เอาอำนาจเงินมาเป็นตัวตั้ง พวกหัวหงอกหัวดำที่สติฟั่นเฟือนก็จับกลุ่มรุมกินโต๊ะประเทศตัวเองอย่างน่าสมเพท
สติปัญญาไทยมีอยู่ที่ไหนครับ
บอกหน่อยเถอะ..
ผมเกรงว่าคนไทยไม่มีปัญญาสร้างสังคมสันติสุข ให้อยู่กันแบบกินอิ่มนอนอุ่นอย่างเมื่อก่อน ก า ร ที่ ไ ม่ เ อ า ก า ร ศึ ก ษ า เ ป็ น ตั ว ตั้ ง ผลพวงมันออกมาเจ็บปวดนัก ถึงกระนั้นก็เถอะ..วันนี้ก็ยังปล่อยให้หาทีหนีทีไล่กันตามอัธยาศัย พูดไปก็เครียดเปล่าๆ แต่ข่าวสารที่คนมาบอกเล่า..ก็ดึงเราไปร้าวระบมอีก
ลูกผมไปสอบเข้าทำงานที่แห่งหนึ่ง มันเรียก 400,000 บาท
ผมบอกว่าลูกผมเรียนเก่งเกรดคะแนนดีนิสัยดี
มันบอกว่าคะแนนดีสอบได้ที่เท่าไหร่ไม่สำคัญ
ถ้าเงินดีเสียอย่างเดียว ..เลือนมาอยู่ลำดับ1ทันที
จ่ายครบ..จบแน่ ลามปามมาจนถึง จ่ายไหมละ ถ้าอยากได้งานทำ
นิยายน้ำเน่าที่เล่านี้ เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆของการข่มขืนจิตใจการสมัครงานในชนบท ถ้าเป็นตำแหน่งใหญ่โตอย่างอื่นละจะขนาดไหน สิ่งที่เห็นทนโท่เชิงประจักษ์เหล่านี้ ทำให้ผมมองเรื่องการศึกษาไปอีกแบบหนึ่ง ถ้าผมมีเงิน4แสนบาท เอามาปลูกต้นไม้ ซื้อวัวมาเลี้ยงขุน นานๆไปต้นไม้โตขึ้นๆวัวก็ออกลูกขยายจำนวนมากขึ้น ทำโน่นนี่ประกอบกันให้หลากหลายตามความเหมาะสม ชีวิตเด็กคนหนึ่งน่าจะมีทิศทางที่ปกติสุขได้ เพียงแต่วิธีการเรียนให้ทะลุมิติของความจริงเหล่านี้ไม่มีการสอนเสียแล้ว ผู้ปกครองจึงจ่ายเงินส่งลูกเรียนและเตรียมกู้เงินมาซื้อตำแหน่งให้อีก รวมๆแล้วอย่างน้อยพ่อแม่ก็ต้องควักกระเป๋า1,000,000บาท โห! เอามาลงทุนทำอะไรได้เยอะเลย บางคนได้งานแล้ว ยังบังคับพ่อแม่ให้ซื้อรถเก๋งให้อีก เมื่อไม่สอนให้เด็กรู้จักชีวิตจริง ก็เจ็บปวดอยู่ในโลกเสมือนจริงอย่างนี้แหละ
:: ลองทบทวนดูสิครับ นับแต่เรื่องอาหาร บ้าน เสื้อผ้า และยารักษาโรค เรามีภูมิปัญญาพอหรือไม่ที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ โดยไม่นำพาตัวเองหรือครอบครัว ไปติดหล่มหรือลงหลุมดำ ภายใต้เงื่อนไขที่สังคมกำหนดไว้ ..ถ้าบัณฑิตเราไม่ใคร่ครวญในสิ่งเหล่านี้ ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างไหลไปกับวิถีสังคมโหลๆนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ได้บ้านเท่ารังหนูมาหลังหนึ่ง จากการทำงานมาระยะหนึ่ง และผ่อนไปอีก20ปี อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่น่าพึงประสงค์นัก แม้จะโหยหาอาหารธรรมชาติปลอดสารพิษก็ไม่มีสิทธิได้กิน เนื่องจากฝากทุกสิ่งไว้กับระบบนอกบ้าน แม้ยามป่วยไข้เล็กๆน้อยๆ ก็ไร้ภูมิปัญญาจัดการตัวเอง นี่เราทำงานหาเงินแต่เช้าจรดค่ำเพื่อมาใช้ชีวิตเช่นนี้หรือ
การดำเนินชีวิตที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นนี้
แน่นอนว่าการกินๆใช้ๆทิ้งๆก็ยังดำเนินต่อไป
โดยที่เราไม่เห็นว่ามันผิดปรกติตรงไหน
แต่มันคงไม่ง่ายนักหรอกนะครับ
ในการเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนเช่นนี้
เรื่องบ้านก็เช่นเดียวกัน มันควรเป็นที่อยู่อาศัยที่เรามีความสุขมิใช่ไหรือ นั่นก็หมายความว่า มันต้องไม่ไปผูกไว้กับหนี้สินใดๆ และควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมีธรรมชาติที่เหมาะสม บ้านในความหมายนี้ต้องหลังไม่ใหญ่ ใช้พลังงานแต่น้อย ที่สำคัญ เราสามารถดูแลทำความสะอาดได้ทุกส่วน แม้จะอยู่ในวัยชรา
มาร่วมสร้างแทรนด์ใหม่แห่งโลกอนาคต
คือครอบครองให้น้อย
แบังปันกันให้มากขึ้นเถอะครับ (สันติ อิศราพันธุ์)
น่าจะมีคนสำรวจ
คนไทยยากจนเพราะลงทุนการศึกษาผิดประเภทกี่ล้านๆบาท
ก็ลองเอาไปคิดดูนะครับ
ถ้าพอใจเสียงเงิน1ล้าน
แถมยังทำให้ลูกหมดความพากพูมใจในตัวเองไปจนตาย
กับการช่วยกันเปิดการศึกษาเพื่อชีวิตแนวใหม่ อย่างไหนจะดีกว่ากัน
ผมเคยเสนอแนวคิดในการประชุมกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
ขอยกเวลาวันศุกร์ทั้งวันให้เด็กได้เรียนวิชาชีพวิชาชีวิตได้ไหม?
ถ้าเผื่อเด็กใส่ใจก็จะทำต่อในวันเสาร์-อาทิตย์
แป๊ว !
ใครจะช่วยเปิดประตูการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคมที่ดีงาม ยกมือขึ้น
ป้าๆน้าอา เอามือลง อิ อิ..
« « Prev : มหาชีวาลัยอีสานเปิดห้องเรียน
Next : ช้าหรือเร็วไป1ก้าวก็บ่ฮู้ » »
2 ความคิดเห็น
ระบบการศึกาทางการพยาบาลนักศึกษาฝึกภาคปฏิบัติจริงบนหอผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2 ค่ะ
“ก า ร รู้ ทุ ก สิ่ ง ไ ม่ เ ท่ า กั บ ก า ร ทำ ไ ด้ ทุ ก สิ่ ง ”
ใน ขณะนี้มี การทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ของแต่ละหลักสูตร
ซึ่งต้องมีการกำหนดเป้าหมายมาตรฐานเชิงผลลัพธ์ หากจะกำหนดให้มี ด้านปฏิบัติเพิ่มทุกหลักสูตร
อาจแก้ปัญหานี้ได้ค่ะ
การเรียนวิชาชีวิต ในปัจจุบันอาจต้องเปิดเป็นโรงเรียนเฉพาะสอนให้แล้วกระมังค่ะ
เพราะพ่อแม่เองก็ไม่สอน สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง น่าคิดว่ามีผู้สูงวัยมากขึ้นในแต่ละบ้าน
แต่การออกแบบครอบครัวปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้ผู้สูงวัยได้เป็นหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวมากนัก
นักศึกษาสายแพทย์-พยาบาล เรียนหนักทำการหนักฝึกหนักจริงจังอยู่แล้ว ไม่งั้นทำงานบ่ได้ จึงไม่ห่วงอะไร แต่คณะวิชาที่ควรฝึกฝนกลับเอาแต่ท่องๆๆนี่อาการน่าเป็นห่วง กำหนดให้มีใบประกอบวิชาชีพก็ยังแอ๊วแบ๊ว
การอบรมสั่งสอนที่บ้านลดน้อยลงมาก ทุกอย่างจะโยนให้ครูและโรงเรียน ครูก็รับเละ แบกหนัก ถ้าไม่มีตัวช่วย วิธีช่วย การเรียนก็อมทุกข์ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันเป็นเรื่องเฉพาะตัว ให้แก้ไขกันเอง ตามอัธยาศัย ได้บ้างไม่ได้บ้างแล้วแต่วาสนาเด็ก ในเมื่อเขากำหนดจะเอาแต่คะแนน อย่างอื่นไม่สำคัญ คงต้องหาทางช่วยๆกันไปตามมีตามเกิดไปก่อนในช่วงนี้