จะสมานฉันท์ ท้องอิ่มต้องมาก่อน

อ่าน: 1820

เขียนที่กรมราษฎรส่งเสริม อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

12 พฤษภาคม 254

เรียน   ลุงเอกที่ฮักแพงหลาย

หลังจากที่ลุงเอกส่งข่าว>> “วันนี้ลุงเอกได้รับมอบจากคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ให้เป็นประธานยกร่างแผนแม่บทความสมานฉันท์แห่งชาติ มีเวลาให้ 60 วันแล้ว นำเข้าคณะกรรมการพิจารณา หลังจากนั้นเมื่อมีรัฐบาลให้นำเข้า ครม. คงจะต้องขอความร่วมมือจาก สสสส1 และ2 เข้าระดมสมอง ยกร่างขั้นต้น เพื่อนำสู่อนุกรรมการ ใครมีข้อคิดเห็นอย่างไรเสนอมาได้ ส่วนคนที่พร้อมจะร่วมยกร่างด้วย แจ้งให้ทราบด้วย”

ขอสารภาพบาปว่า ผมไม่มีกึ๋นพอที่จะไปยกร่างแผนแม่บทสมานฉันท์แห่งชาติกับเขาได้ แต่เมื่อเป็นศิษย์สำนักนี้แล้วก็ขอแสดงความรับผิดชอบ เสนอความเป็นไปในชุมชนคนรากหญ้า..ที่มองมองว่าตราบใดที่พี่น้องยังยากจนคนส่วนใหญ่ทดท้อ ไม่มีกระจิตกระใจที่จะช่วยเหลือสังคม วิกฤติเฉพาะครัวเรือนต้องมาก่อน ชาวบ้านยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จึงปล่อยให้ท่านอื่นที่มีความพร้อมเป็นดาบหน้าลุยไปก่อน ผมจะเตรียมดาบหลังย่องตามไป หลังจากช่วยเหลือประชาชนคนรากหญ้าให้ลืมตาอ้าปากจนเกิดแรงฮึด เข้าใจว่าแผนแม่บทที่ยกร่างนี้คงเป็นแนวทางปฏิบัติการเชิงรุกควบคู่กับไปภาควิชาการ และคงจะใช้เวลาหยอดน้ำข้าวต้มอีกหลายปี คนเบี้ยน้อยหอยน้อยจึงค่อยๆเต๊าะแตะตามไป ในชั้นนี้ขออนุญาตเสนอแนวทาง ป ลุ ก พ ลั ง บ ว ก ข อ ง ป ร ะ ช า ช น ค น ร า ก ห ญ้ า ที่เป็นตัวอย่างเล็กๆกระจุ๋มกระจิ๋ม ประเด็นฉุกคิดอยู่ในส่วนที่ขีดเส้นใต้ ระหว่างเขียนจดหมายน้อยฉบับนี้ คิดถึงเพลง..แบบนี้มันต้องถอน เข้าใจว่างานนี้อาจจะต้องถอนหรือสะสางวิธีการเก่า หันมาปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จะคิดใหม่ได้ต้องเรียนวิธีคิดวิธีทำใหม่ ผลลัพธ์ใหม่เอี่ยมถึงจะผุดพรายออกมา

ผมช่วยลุงเอกไม่ได้มากนัก มีแต่ความระลึกถึง และขอเอาใจช่วยเต็มที่..

ด้วยรักลุงเอกสม่ำเสมอ

ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

———————————————————————————————————

(วันใดที่คนไทยยิ้มออก วันนั้นฟ้าสีทองผ่องอำไพ)

10 เท่าของความคุ้นเคย จะงอกเงยเป็นมิตรไมตรี

10 เท่าของไมตรีจิต จะนำไปสู่ความสามัคคี

10 เท่าของความสามัคคี จะนำไปสู่สันติสุข

10 เท่าของสันติสุข จะนำไปสู่สันติภาพ

10 เท่าของสันติภาพ จะนำไปสู่ความปกติในสังคมโลก ..

ทำยังไงละ ถึงจะเกิดสายธารแห่งความสมานฉันท์

:: นักมวย ..ใช้ร่างกายทำมาหากิน

ต้องฝึกซ้อมอย่างหนักถึงจะเป็นมวยเอกมีค่าตัวสูง

:: นักวิชาการ..ใช้สติปัญญาทำมาหากิน ควรศึกษาวิจัยต่อเนื่อง

แล้วถ่ายทอดสิ่งที่รู้ไปสู่ประชาคมผ่านการเขียนบล็อก

:: ประชาชนคนเดินดิน ใช้หยาดเหงื่อแรงกายทำมาหากิน

ต้องขยันขันแข็ง ใส่ใจเศรษฐกิจพอเพียง

(ถ้าคนไทยยังลังเล จะต้องทำการบ้านอย่างหนัก)

ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้

จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ด้วยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

จะได้รู้ตัวว่า สิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก

จะได้แก้ได้เกาให้ถูกที่คัน

จะมาใช้วิธีเป่ายิงฉุบไม่ได้หรอกนะเธอ..

จุดพอดีของสังคม ก็เหมือน จุดพอดีของครัวเรือนประชาชน

รายรับ ต้องสมดุลย์ กับรายจ่าย

ความพอดี ควรสมดุลย์ กับความพอร้าย

น้ำหนักเทไปด้านหนึ่งด้านใดก็เอียงกระเท่เร่

ลองถามตัวเองสิว่า..วันนี้ตัวและหัวใจมีส่วนไหนเอนเอียงรึเปล่า

ค น ต า เ ข   ยกเว้น ไม่ต้องตอบ

ในเมื่อเรือที่ชื่อว่าประชาธิปไตยยักแย่ยักยันอยู่ท่ามกลางพายุ

ต้องมองหาชูชีพ มองหาตัวช่วย ทบทวนวิชาว่ายน้ำด่วยจี๋

(เรียนในห้องได้ความรู้ เรียนนอกห้องได้ความจริง)

งานนี้ดูเหมือนจะมีลูกล่อลูกชนอย่างไรไม่รู้นะครับ สภาวะการอย่างนี้เกิดขึ้นได้ต้องมีที่ไปที่มา เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ วิถีพุทธ วิถีไทย อยู่ภายใต้ร่มบวรพระพุทธศาสนา แทนที่จะดื่มด่ำรสพระธรรม อยู่กันอย่างปกติสุขร่มเย็น แผ่นดินไทยกลับร้อนระอุ เกิดเงื่อนไขใหม่ๆบ้าๆบอๆอุบอิบลวงพราง เกิดความระส่ำระสายทุกย่อมหญ้า คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วม คุณป้าคุณพี่คุณน้าคุณตาคุณยายยืนอยู่ในรั้วบ้าน ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง บ้างก็ขอทำดีในมุมตัวเองเงียบๆ สังคมภายนอกจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยละวาง คนระดับกลางตั้งรับอยู่ในที่ตั้ง ความรู้สึกนึกคิดลักษณะนี้นำไปสู่ภาพของสังคมที่ถูกลอยเพ ปัญหาส่วนรวมหาเจ้าภาพไม่เจอ เกิดอะไรขึ้นก็ถีบส่งให้ออกห่างจากตัว แล้วก็มานั่งบ่นอุบอิบโทษโน้นโทษนี่ พลังก่อการดี “ถ้าเจ้าภาพหาย..ก็เหมือนคนเดียวหัวหาย หลายคนเพื่อนตาย”

ทำอย่างไรผีหลอกจะลดลงได้ ..หลอกกันจนเกิดความชมชอบ..ถึงเขาหลอกก็เต็มใจให้หลอก

ถามว่า..ความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้มีวิธีคลี่คลายแล้วใช่ไหม?

ไฟกำลังไหม้บ้าน..เธอยังอาบน้ำทาแป้งยิ้มแย้มสบายใจอยู่ใช่ไหม?

ก๊วนไหนจะสร้างสถานการณ์คุกรุ่นอย่างไร ก็ยังวางใจได้ใช่ไหม?

(ถ้าจะให้มีความรู้พอใช้ก็ต้องตั้งใจเรียนสม่ำเสมอ)

เรื่องสมานฉันท์เกี่ยวพันกับมิติทาง-เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง-การระดมความคิดเห็นนั้นถูกต้องแล้ว แบ่งๆกันไป ใครถนัดเรื่องไหนก็หยิบชูขึ้นมาอธิบาย ผมต้นทุนความรู้ต่ำ จึงขออนุญาตขายความคิดให้ลุงเอก(พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ)ไปประมวลแนวทางสร้างความสมานฉันท์ตามที่ถูกชี้ชวน  ดังนั่นเรื่องที่เกริ่นนำข้างต้นก็ถือเสียว่า..เป็นสารบัญประกอบเรื่องก็แล้วกันนะครับ ขอทำในมุมมองของคนรากหญ้า

(เสื้อสีไหนก็ร่วมเรียนรู้ร่วมกันได้ที่สถาบันพระปกเกล้า)

บริบทการสมานฉันท์ที่นักศึกษาหลักสูตรการสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ 1-2 จะต้องช่วยกันทำการบ้านให้ลุล่วง แล้วประมวลผลให้เห็นช่องทางคลี่คลายความหมางเมินของคนในชาติ ภายใต้ความที่น่าจะเป็น ..“หมากัดกัน วันหลังมันยังอี๋อ๋อกันได้” คงไม่ถึงกับปิดประตูตาย ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะหาลูกกุญแจตัวที่ใช่แล้วเอามาไขเปิดประตูออก ไปดูเงื่อนไขที่ซับซ้อนออกมาช่วยกันปลดล็อกความในใจให้กระจ่างใจกับทุกฝ่าย.. ที่หนักใจคือไม่มีกรรมการกลาง ผู้คนถูกดึงไปเข้าฝักเข้าฝ่าย คนที่ไม่ได้สังกัดฝ่ายไหน ก็ยังหาจุดยืนไม่เจอ จึง ข อ ชี้ ช ว น เ ข้ า ล า น ปั ญ ญ า จ ะ ม า ไ ห ม จ๊ ะ เรื่องนี้เป็นหนังเรื่องยาว ต้องติดตามดูกันไปนานๆ ปรับแก้ความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอ พยายามไต่ระดับจากความสนใจให้เป็นความตั้งใจ ประเด็นของเครื่องมือคงมีหลากหลายให้เลือก กรณีของเครือข่ายลานปัญญาเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ใครคิดอะไรเขียนอะไรสะท้อนอะไร ทุกคนได้อ่านได้เรียนความรู้ไปพร้อมๆกัน เป็นการเปิดพื้นที่ทางปัญญาอย่างแท้จริง แถมยังกระแซะความเห็นกลับไปกลับมาได้อีกแน๊ะ เป็นวิธีสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง แต่ก็นั่นแหละ..ถ้าเขียนถึงเรื่องการเมืองทุกคนก็แหยง แต่ถ้าให้ลงขันเรื่องความสามารถฉันท์อาจจะมีคนอาสามาช่วยเกาที่คันได้บ้าง

(อยู่ที่ไหนๆก็สมานฉันท์ได้ถ้าเข้าใจหลักการสันติวิธี)

มันจะสำเร็จรึ..เห็นทำกันมานานแล้วนี่

ใช้ยาไปหลายขนาน ก็ยังไม่ได้เรื่อง

หนูลองยา ดื้อยากันหมดแล้ว

พวกหัวแข็ง (ไม่เกี่ยวกับหมวกกันน็อค) กลับแข็งข้อหนักกว่าเดิม

บางทีเราอาจจะใช้ยายังไม่ถูกโรคหรือเปล่า การห้ำหั่นเอาชนะคะคานกันด้วยไม้แข็ง เป็นสาเหตุให้เกิดอาระขัดขืนมากขึ้น ความซับซ้อนทางสังคมผสมกับความผิดปกติทางการเมือง ประกอบกับพากันลอยเพสังคมมานาน หน้าที่พลเมืองไม่รู้อยู่ไหน แม้แต่ในระบบการศึกษาก็ไม่ได้มีหลักสูตรสอน โรงเรียนไหนสนใจก็ชวนกันไปวัด ไปนุ่งขาวห่มขาวนั่งภาวนายุบหนอพองหนอไม่กี่วัน แล้วก็กลับมาอยู่ในสังคมสีเทาแบบเดิมๆ ปรุงแต่งจริตปีนเกลียว..เห็นดีเห็นงามกับภาพเสมือนจริง ถอยห่างจากโลกความจริงออกไปเรื่อยๆ

ให้การศึกษาเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรยิบขึ้นมาพิจารณาปรับปรุงด้วย

คณะกรรมการสมานฉันท์ต้องเก็บกวาดหาความจริงให้เจอ

แล้วเอามาใส่ตะกร้าล้างน้ำ

ตากแดดให้สะเด็ดน้ำ

เอามาปรุงให้เป็นข้อเสนอแนะที่ง่ายๆกระชับ เหมือนเนื้อแดดเดียว

ให้ตาสีตาสายายมีนางมาเข้าใจได้ด้วย

อย่าให้เป็นเหมือน พ.ศ.2504 ตีความสุกรนั้นไซร้คือหมาน่อยธรรมดา..

ควรหาวิธีอธิบายขายความคิดที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ง่าย

ผมมีความเห็นอย่างนี้ครับ

ท่ามกลางความแห้งผากจากความแห้งแล้ง

ทุกอย่างเหี่ยวเฉาเศร้าระทมไปหมด

แต่พอฝนโปรยปรายมาเป็นระยะๆ

ดอกกระเจียว เห็ดป่าต่างๆ ก็ค่อยเขยิบดอกโผล่ขึ้นมา

ให้เห็นว่าสิ่งดีๆบางทีก็ต้องรอกาลเวลาที่เหมาะสม

ความดีงาม ความเจริญ ก็จะค่อยๆผุดพรายขึ้นมา

ทุกอย่างเหมือนเหรียญ2ด้าน

คงไม่มีแต่เรื่องร้ายๆจนหัวปักหัวปำหรอกนะครับ

ถ้าพวกเราร่วมด้วยช่วยกันทุกอย่างก็จะดีตามลำดับ

แต่ถ้าทำเป็นสนิทสร้อย ความเปลี่ยนแปลงก็จะอ้อยสร้อยไปด้วยนะสิครับ

ควรมีวาระแห่งชาติ จะปลุกสำนึกดีให้มีการกระจายบทบาทหน้าที่ถึงคนไทยทุกหมู่เหล่า

ซึ่งควรจะทำล่วงหน้าหลายปี ก่อนเดินเข้าคูหากาเบอร์ที่จ่ายหนัก!

ทุกเรื่องที่ผมทำเต๊าะแตะทำอยู่ในขณะนี้ เป็นการแสวงหาวิธีสะสางปัญหาในหน่วยสังคมเล็กๆ พยายามเอกซเรย์สภาพแวดล้อมสังคมใกล้ตัว เมื่อเห็นประเด็นก็ลงมือค้นคว้า ได้อะไรมานิดหน่อยก็โฟกัสให้เห็นทั้งแก่นและกระพี้ แต่สติปัญญามีน้อย จึงต้องอาศัยไหว้วานท่านผู้รู้ให้มาช่วยปะผุุแผนฟื้นฟูความหมางเมินของผู้คนในสังคม คนตัวเล็กจะทำสิ่งใหญ่เกินตัวเดี๋ยวฟิวส์ก็ขาด แต่ถ้าเอาสิ่งละอันพันละน้อยมาต่อจิกซอส์เข้าด้วยกัน ก็จะเห็นแผนที่ความคิดความรู้ความสามารถของกลุ่มนักก่อการดี

บางที่หนูก็อาจจะช่วยราชสีห์ได้

สิ่งที่โม้เรื่อยมา เพื่อจะยุคนใจดีมาช่วยกันคิดและทำหน้าที่มนุษย์

ให้ทุกคนมองเห็นโอกาสที่จะช่วยคลีคลายความทุกข์ของแผ่นดิน

ขอได้ไหม..ความรู้ความดีงามของเธอ

ขอได้ไหม..ทักษะชีวิตที่เธอมี

ขอได้ไหม..พลังเงียบ ช่วยเป็นพลังหงายกันเถิด

จะเอาพลังทุกภาคส่วนมาร่วมรับผิดชอบได้อย่างไร

เร็วๆนี้คณะจากกรมป่าไม้ กับ สำนักกรรมการวิจัยแห่งชาติ มาคุยเรื่องเตรียมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าไม้สวนป่า รุ่นที่ 2:ไม้ท่อนกลม โดยภาคีร่วมการฝึกอบรมเกษตรกร (กรมป่าไม้-สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ-มหาชีวาลัยอีสาน) เราคุยกันถึงงานบริการทางวิชาการพบว่า มีข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย ยังขาดโซ่ข้อกลางที่จะประสานวัฒนธรรมวิชาการให้เข้ากับงานวิชาท้องถิ่น

ประเด็นการเตรียมคน “จะหุงข้าวรับประทานก็ต้องมีข้าวสารเสียก่อน”

(คนเก่งคนดีมีอานุภาพควรชวนมาลงขันความคิดความรู้)

บางเรื่องต้องการหน้าม้า บางเรื่องต้องการแม่ยก..

เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครรับประกันได้หรอกนะครับ

นอกจะทดลองลงมือทำ

ทำแล้วถึงจะมีคำตอบว่า หมู่ หรือ จ่า

ถ้าไม่เอาวิชาความรู้ใส่ตะกร้าล้างน้ำบ่อยๆ

ความรู้ดีๆก็จะบูดเน่าอยู่ในแต่ละสำนักเสียของเปล่าๆ

(ไม่ใช่มือถือไมค์ไฟส่องหน้า แต่กำลังให้ความคิดเห็น)

เราหารือกันว่า งานในสายที่เกี่ยวข้องกับการป่าไม้ การส่งเสริมขยายตัวได้ช้า เพราะชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นงานที่ต้องรอนานกว่าจะเห็นผลหรือมีรายได้ จึงปลูกกันกระท่อนกระแท่น เว้นแต่การปลูกยางพาราที่ฮือฮากันขนานใหญ่ ส่วนการปลูกป่าไม้ในบริบทอื่นยังต้วมเตี้ยมเหมือนเดิม ผมอธิบายให้เห็นว่า ถ้าเกษตรกรปลูกต้นไม้ แล้วตัดเอาเฉพาะกิ่งมาใช้ประโยชน์ในระยะเวลา2ปี โดยการตัดเอากิ่งใหญ่มาประดิษฐ์ทำเป็นเครื่องเรือน กิ่งเล็กและใบเอามาสับเลี้ยงโคและแพะแกะ ส่วนลำต้นปล่อยให้เติบโตต่อไป ปล่อยไว้ให้เป็นทุนของครอบครัว ช่วยผลิตออกซิเจน ใบร่วงหล่น ร่มเงา ถือเป็นดอกเบี้ยรายวัน เมื่อต้นไม้เติบโตใหญ่ มูลค่าและคุณค่าย่อมเจริญตามลำดับ

ด้วยแนวคิดที่ประชาชนทำตามง่ายๆแต่ได้ประโยชน์มหาศาล

งานสร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่ผนวกอาชีพเข้าไปได้อย่างกลมกลืน

ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสามัคคีของคนในชาติได้

เมื่อประชาชนอิ่มปากอิ่มท้องก็มีเวลาฉุกคิดเรื่องส่วนรวม

คำว่าสมานฉันท์ สามัคคีธรรม ก็จะค่อยก่อรูปร่างทางสังคมเชิงบวก

ถ้าทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คิดดีไม่ได้งานนี้จะสอบตก

สอบตกจกมีดน้อยแทงครู สอบได้ให้ไก่อูแกล้มเหล้า

เรื่องของต้นไม้มีการบ้านที่ต้องทำอีกมาก โ ด ย เ ฉ พ า ะ วิ ธี ก า ร เ อ า ใ บ ไ ม้ ม า เ ลี้ ย ง โ ค เราคงต้องศึกษาอีกมากกว่าที่จะรู้ว่าใบไม้ชนิดใดมีสารอาหารมากน้อยแตกต่าง กันอย่างไร รวมทั้งปริมาณที่ใช้ สัดส่วนของการผสมใบไม้แต่ละชนิด การวางแผนปลูกไม้หลากหลายเอนกประสงค์ สูตรอาหารต่างๆ อาหารเสริม การใช้จุลินทรีย์หมักใบไม้ ใช้กากมันสำปะหลังเป็นโปรตีนเสริม ใช้ไวน์บักหวดข่าผสมโมลาสราดฟางปรุงแทนการใช้กากเบียร์ปรุงเป็นเมนูสุขภาพ เลี้ยงโค เรื่องเหล่านี้คงต้องทำการวิจัยจนได้สูตรอาหารโคขุนฉบับมหาชีวาลัยอีสานโน่น แหละครับ

เรื่องอาหารสัตว์ต้องไปสอดรับการการคัดเลือกสายพันธุ์โค เนื่องจากแม่โคส่วนใหญ่เป็นโคลูกผสม น้ำเชื้อที่จะใช้เป็นหลักในการเลี้ยงขุน กรมปศุสัตว์แนะนำให้ใช้ พันธุ์แองกัส-พันธุ์ชาโลเล่-พันธุ์ทาจิมะ เพื่อให้งานวิจัยเดินหน้าได้เร็วขึ้น ผมไปคัดเลือกโคที่มีสายเลือดเหล่านี้มาทดลองเลี้ยง ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมเทียมเพื่อเตรียมลูกโคไว้ทำพันธุ์และคัดขุนตามลำดับ นอกจากโคแล้ว มหาชีวาลัยอีสานจะทำการศึกษาการเลี้ยงแพะแกะควบคูกันไปด้วย

การบ้านที่มาจ่ออยู่ตอนนี้ ได้แก่งานสาธิตต่างๆ เช่น

แปลงปลูกหญ้าชนิดต่างๆ

แปลงปลูกไม้ที่เหมาะสมเพื่อเอาใบเลี้ยงโค

แปลงอนุรักษ์ผลไม้พื้นถิ่นเช่นบักหวดข่าไว้ทำไวน์เลี้ยงสัตว์

แปลงปลูกอ้อย ปลูกมันพื้นถิ่น และผักยืนต้นระบบชิด

แปลงปลูกกราวเครือขาวเพื่อเอาหัวมาบดมาผสมอาหารสัตว์

แล้วยังไงต่อ..

ประเด็นทำให้ดูอยู่ให้เห็น

:: แนวทางการฝึกอบรม

1 เสนอโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ เพื่อการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรผู้นำ 500 ครัวเรือน

2 จัดเป็นสาระประกอบการศึกษาดูงานให้แก่กลุ่มเกษตรสัญจรที่เดินทางมาชมเป็นครั้งคราว

3 จัดวาระแลกเปลี่ยนให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่สนใจ

ประเด็น สร้างสะพานความรู้เชื่อมโยงกันมาทำหน้าที่เพื่อสังคม

:: แนวทางการศึกษาเรื่องอาหารสัตว์

1 ศึกษาเรื่องกลุ่มอาหารสัตว์โดยเอาใบไม้เลี้ยงเป็นหลัก

2 ศึกษาเรื่องการพัฒนาพันธุ์โคและเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพ

3 ศึกษาแนวโน้มการจัดการสภาพแวดล้อมแบบยั่งยืน

4 ศึกษาวิธีการขยายผลและส่งผลไปสู่ครัวเรือนเกษตรกรต้นแบบ

ประเด็น ทำให้คนไทยเป็นผู้เรียน จะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

:: แนวทางการสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน

1 รวบรวมเกษตรกรที่สนใจอาชีพเลี้ยงโคมารวมกลุ่มเพื่อรวมพลังพัฒนาอาชีพ

2 สร้างผู้ชำนาญการประจำสาขาเช่น นักผสมเทียม-รักษาโรค-ทำคลอด

3 แบ่งหน้าที่ กลุ่มผู้ผลิตลูกโค ผู้เลี้ยงขุน ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้จัดจำหน่าย

ประเด็น ดึงความรู้ในตัวคนให้มาอยู่ในจุดให้พึ่งพาตนเองและพึ่งพากันเอง

:: แนวทางฝึกฝนเกษตรกรต้นแบบและเยาวชนคนเกษตรกร

1 เปิดค่ายฝึกงานของนิสิตนักศึกษาที่สนใจการเรียนรู้ภาคสนาม

2 เปิดอบรมเกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงปศุสัตว์

3 เปิดฝึกอบรมนักพัฒนาด้านเศรษฐกิจพอเพียง

4 เปิดโครงการฝึกอบรมเกษตรกรต้นแบบร่วมกับหน่วยงานภาครัฐฯ

5 เปิดเสวนาวิชาการด้านการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

6 เปิดการฝึกอบรมเรื่องการผลิตปุ๋ยและแก๊สชีวภาพ

7 เปิดสัมนาเรื่องการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เชื่อมโยงการพัฒนาอาชีพ

8 เปิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านบล็อกลานปัญญา

9 สร้างสื่อเพื่อถ่ายทอดวิธีปรับปรุงอาชีพในพื้นที่แห้งแล้งดินเลว

ประเด็น ส่งเสริมให้พื้นที่มีความเคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนเลียนรู้

:: โจทย์วิจัย

1 การใช้ใบไม้เลี้ยงโคร่วมกับอาหารหยาบที่หาได้ในท้องถิ่น

2 การเลี้ยงโคขุนในระดับครัวเรือนเกษตรกร

3 การใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการพัฒนาอาชีพปศุสัตว์

4 การปรับใช้กระบวนการเลี้ยงโคปรับปรุงการเลี้ยงแพะแกะ

5 การสร้างรูปแบบการปลูกสร้างสวนป่าร่วมกับการเลี้ยงปศุสัตว์

ประเด็น การแสวงหากลยุทธใหม่ๆมาซ่อมเสริมกลวิธีเก่าๆ

:: ภาคีทางวิชาการ

1 สมาชิกของบล็อกลานปัญญา

2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

3 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

5 กรมปศุสัตว์

6 กรมป่าไม้

7  นักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า

ประเด็น ถอดระหัสความรู้ร่วมกันของภาคีที่เป็นแนวร่วมทุกข์ร่วมสุข

สรุป

:: เรื่องการสมานฉันท์เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

:: ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง

:: ส่งเสริมกระบวนการจัดการความรู้ตามความเหมาะสม

ตีแตกในประเด็น>>

-ถ้าช่วยการสร้างความสมานฉันท์สำเร็จจะเกิดมรรคผลอย่างไร

-ถ้าช่วยกันสร้างความสมานสามัคคีไม่สำเร็จผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

-บอกตรงๆไปเลย..ถ้าเธอไม่ช่วย..ยากนักที่จะสำเร็จ

-ความสามัคคีในชาติต้องเกิดมาจากสำนึกดีของคนในชาติร่วมกัน

-งานนี้ไม่มีพระเอกม้าขาว มีแต่ม้าแกลบ..

-ประเทศไทยเป็นของใคร

-โอกาสที่จะช่วยชาติมาถึงทุกท่านแล้ว

-ช่วยเป็นกาวใจของกันและกันดีไหมครับ?..

-เ รื่ อ ง นี้ ถึ ง ไ ม่ ใ ช่ แ ฟ น ก็ ช่ ว ย ทำ แ ท น กั น ไ ด้

-แสดงความเคารพแผ่นดินเกิดให้ชมเป็นขวัญตาหน่อยเถิดคนดี

หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งนำไปเป็นเอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ การพัฒนาพลังงานทางเลือก (วิถีคน วิถีชุมชน วิถีแห่งปัญญา) ในการประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 21ประจำปี 2554 ในระหว่างวันที่ 25-28 พฤษภาคม 2554

« « Prev : แท๊กซี่โค..

Next : มหาชีวาลัยอีสานเปิดห้องเรียน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:29

    ได้ข่าวว่าแถวๆนี้มีโรงรีไซเคิลบักใหญ่ ขอส่งขี้เลื่อยมาเข้าโรงด้วยค่ะ

    ความจริง มีหลายบท แต่ละบทมีหลายหน้า แต่ละหน้ามีหลายบรรทัด

    ความรู้ทึ่อิงความจริง อยู่ที่อิงที่ตรงบทไหน บรรทัดไหน หน้าไหน

    ความรู้และความจริง ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยผู้หาประโยชน์
    ย่อมหยิบยก บทนั้นๆ หน้านั้นๆ บรรทัดนั้นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ตนมาใช้

    ความเชื่อจึงถูกขับเคี่ยวอย่างหนัก

    อะไรจะเป็นจุดศูนย์กลางความเชื่อ ความจริง ความรู้

    ในขณะนี้ อะไรจะสร้างเสริมในปัจจุบันทันด่วน

    อะไร1 อะไร2 อะไร3 4..5..6……10 ??????

    มีมากหลายกว่าขนมในท้องตลาด

    เข้าถูกประตูไหม เปิดประตูได้ไหม ถูกจริตไหม
    มีกุญแจผีหรือจะใช้อะไรแทน
    หรือ ขนส่งปะละปะเต๋อ ไปโยนๆๆๆๆ หวังให้เดิน
    เข้าไปเอง เสร็จโก๋….

    หรือไม่ต้องทำอะไร คอยเด็ดยอดก็พอ…เอาแบบนั้นดีไหม

    regeneration เพื่อเกิดต่อเนื่อง เพื่อสืบทอด เพาะเมล็ดพันธ์
    reproduction เพื่อสร้างพลัง เพื่อเพิ่มปริมาณ เลี้ยงต้นอ่อน ต้นแก่
    repromotion เพื่อส่งเสริม ซ่อมแซม ที่มีอยู่ให้มั่นคง ยืนได้ ใส่ปุ๋ย ให้อาหาร ให้น้ำ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2011 เวลา 16:05

    ความเห็นเป็นชุดเหมือนลูกปืนกล ชอบมาก ขอบอก อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.97917199134827 sec
Sidebar: 0.13774991035461 sec