บ้านนอกศึกษา

อ่าน: 1402

การบ้านในช่วงนี้จะต้องทำเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ  คือเรื่องชนบทศึกษาที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย ดำเนินความเป็นไทที่ผ่านมา มีเหตุและปัจจัยอะไร และอย่างไร ในกลุ่มของนักศึกษาโข่งที่ทำการบ้านเรื่องนี้ ได้ลงพื้นที่ไปทุกภูมิภาคแล้ว นำเสนอแบบผิวเผินไปบ้างแล้ว ตามประชามติแบบมัดมือชก “เห็นชอบมอบครูบา” เรื่องดำเนินมาแบบเอ้อระเหย จนกระทั่งท่านพี่สืบเอะอะโวยวายเรื่องการจัดเวทีสรุปรวบยอดขมวดปม ..

ท่านพี่เล่าตาตื่นให้ฟังว่า..ครูบา

ตอนที่นั่งเรือมาจากจีน ผมได้ยินกลุ่มอื่น ๆ เขาหารือกันจัดเวทีสัมมนาที่โน่นที่นี่

แล้วเรื่องอีสานของเรานี่ละจะทำยังไง ไหนมีใครบ้าง เรียกมาหารือกัน

ผมแย้งว่าหารือไม่พอหรอกท่านพี่  มันต้องหาเรื่อง

ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพี่สืบ ทำให้นักศึกษาโข่งสนใจมาร่วมเวทีที่อีสานมาก เพราะช่วงนำเสนอผมยั่วให้อยากมาอีสาน ด้วยบอกว่ามีข้าวอร่อยที่สุดในโลก มีผัก มีปลา ให้เลือกทำอาหารเต็มที่  ปรากฎว่าท่านพี่ยกมือชูกะแร้กันให้ควัก คนโน้นก็จะมาคนนี้ก็จะมา  จะเอารถตู้ 3-4-5 คันมา เรื่องยานพาหนะล่วงรู้ไปถึงท่านพี่ธวัชชัย  รองแม่ทัพภาคที่ 2 เดินฉับๆมาบอกผมว่า..ครูบาผมบอกน้องๆที่โคราชแล้ว ให้เอารถบัสมารับพวกเราไปอีสาน  ทั้งหมดนี้เป็นสถานการก่อหวอดที่นำมาเล่าให้ฟัง

คราวนี้มาถึงฝ่ายแซ่เฮ  พวกเราก็จะมาสวนป่าอีก ผมนะแปลกใจมาก ทำไมไม่ยอมเข็ดขยาด ในเมื่อจะมาก็จะเล่าสภาพทั่วไปปูพื้นให้ทราบ  เรื่องที่พักนักเรียนโข่งจะให้พักโรงแรมในเมือง ส่วนแซ่เฮพักในสวนป่าเช่นเคย ช่วงนั้นผักปลาอุดมสมบูรณ์ พริกหนุ่มที่น้าอึ่งอ๊อบให้เมล็ดมาปลูก ตอนนี้ออกผลดกจนกิ่งโก่ง กล้วยที่ 3 สาวมาปลูกคราวก่อนออกเครือแล้ว บ้างต้นบรรจุลงกระเพาะไปบ้างแล้ว มะละกอมีเยอะ ดอกมะรุมให้เก็บใส่ไข่เจียวก็เยอะ ผักอื่น ๆ พรุ่งนี้จะขึ้นรูปให้ชม ผมถ่ายไม่เก่งหรอกนะ จะให้คนได้รับรางวัลมาถ่ายภาพให้ ก็แอ็คเหลือเกิน

เนื้อหาสารเสวนาจะเป็นการถกเรื่องอีสาน จะเชิญฝ่ายเรามาบอกเล่าเรื่องต่าง ๆ ตามประสบการณ์ตรง อาจจะเชิญฝ่ายนักศึกษาโข่งสลับบ้าง แต่การซักถามดุเดือดแน่ นักศึกษาพวกนี้ปากไวยกมือเร็ว อย่าให้ยึดไมโครโฟนเป็นอันขาด ผมอ่านที่ท่านบางทรายเขียนในบล็อกดงหลวง ก็เห็นว่า..จุดประกายได้ดี จึงขออนุญาตยกมาให้เห็นพอสังเขป

สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดเท่าที่ท่านครูบาพยายามถ่ายทอดให้เราทราบก็คือ….“ท่านรับสั่งถามพ่อว่า อีสานนี่จะพัฒนายังไงดี ” …….

คำรับสั่งถามคำนี้แสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านต่อแผ่นดินนี้ ในฐานะที่พระองค์ท่านเสด็จมาอีสานก็ตั้งคำถามถึงอีสาน..

ผมมานั่งนึกในใจว่าหากพระองค์ท่านมาถามผม แบบทันทีทันใด ผมก็คงตื่นเต้นที่จะตอบคำถามที่ใหญ่โตเช่นนี้ แต่เรื่องนี้คล้าย ๆ กันกับที่ผมตั้งคำถามตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ย้ายฐานการทำงานจากภาคเหนือมาอีสานว่า  หากมาอีสานจะมาพัฒนาอะไร….

มันแล้วแต่มุมมองของผู้คนที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นักการศึกษาก็เริ่มที่ ต้องแก้การศึกษา แพทย์ก็กล่าวว่าเรื่องสุขภาพชุมชน นักเกษตรก็ว่าต้องพัฒนาการเกษตร นักป่าไม้ก็ว่าต้องฟื้นฟูป่า ตำรวจก็ว่าต้องจัดการเรื่องคนผิด ฯ

แต่ทั้งหมดนั้นมันพัวพันอีรุงตุงนัง แกะกันไม่ออก เกี่ยวเนื่องมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งนานวันความเกี่ยวเนื่องกันก็มีมากขึ้นตามลำดับ นักบริหารก็อาจจะกล่าวว่า เอาปัญหาทั้งหมดมาจัดลำดับความสำคัญซิ….

คนที่ผ่านการ train มาบางด้านก็บอกว่าต้องเริ่มที่ area base อีสานเหนือกับอีสานใต้ ก็ไม่เหมือนกัน อีสานลุ่มน้ำกับอีสานเชิงเขาก็ไม่เหมือนกัน หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบนิเวศวัฒนธรรมเกษตรแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน

ราชการก็เอาระบบฐานข้อมูลกลางมาเป็นตัวตั้ง คือ กชช 2 ค. หรือ จปฐ. หรือ ฯลฯ ก็มีคำถามว่า เชื่อมั่นฐานข้อมูลนั้นแค่ไหน

บ้างก็ว่าเริ่มอะไรก็ถูกทั้งนั้น แต่เราก็เริ่มการพัฒนามามากกว่า 50 ปีแล้ว จนเพื่อนบ้านใกล้เคียงวิ่งรุดหน้าไปไกลแล้ว ต่างก็บอกว่าเป็นเพราะเราไม่บูรณาการกัน

ครั้งหนึ่งเราบอกเกษตรกรว่าต้องเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ต้องเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นการดำ ต้องใส่ปุ๋ย เมื่อเกิดโรคข้าวก็ใช้สารเคมี เฟื่องฟูมาจนเราส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง แต่มาวันนี้บอกให้ลดละเลิกสารเคมี เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพองค์รวม

เราเปิดประเทศและเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรและอื่นๆ จนภาคการเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แรงงานภาคเกษตรไหลเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม จนภาคเกษตรต้องไปจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำแล้ว

แล้ววันหนึ่งพระองค์ท่านผู้เป็นที่สุดของแผ่นดินทรงตรัสว่า เราต้องพอเพียง สภาพัฒน์ฯ ก็บรรจุหลักการนี้เข้าไปในแผนฯ ชาติ แต่ประเทศกำลังผ่านวิกฤติพลังงาน ราชการส่วนหนึ่ง เอกชนอีกจำนวนมากก็เห่อปลูกพืชพลังงานกัน  บางหน่วยงานกลับไม่ได้เน้นเรื่องพอเพียง ตรงข้ามกลับเน้นพืชพลังงานกันใหญ่โต มิใส่ใจหลักการพอเพียงอย่างจริงจัง…

พรรคการเมืองก็หวังดี เอาเงินไปทุ่มที่หมู่บ้านท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่า ไปสู่ชนบทอย่างมิมีสิ่งใดฉุดรั้งหรือชะลอได้ มิใยจะมีมาตรการที่เหมาะสมในการใช้เงินก้อนนั้น ไม่ถึงสิบปีที่ Mobile phone เข้ามาเมืองไทย เครื่องมือชนิดนี้ก็ติดกายเด็กเลี้ยงควายกลางทุ่งนาเสียแล้ว

ฝ่ายปกครองก็บอกว่าชุมชนต้องเข้มแข็ง ตั้งโครงสร้างต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่โดยไม่สนใจใยดีระบบชุมชนดั้งเดิมที่ function มาตลอดนับร้อย ๆ ปี

ยิ่งทบทวนไปก็ยิ่งพบเห็นภาพเหล่านี้ ยิ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ยิ่งเห็นความผกผัน กระแสหนึ่งไหลไปแทนที่ของเดิม สิ่งใหม่และเก่ามีทั้งดีและด้อยปะปนกันไป แต่เราละทิ้งของเดิมแล้วถวิลหาแต่สิ่งใหม่ ๆ

ผมมาอีสานก็บอกกับตัวเองว่าต้องรู้เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องชนเผ่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นฯ

พูดเรื่องกว้าง หากเราเป็นคนในหมู่บ้านก็ต้องเริ่มที่หมู่บ้าน วิเคราะห์ภาพของหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน หมู่บ้านกับข้างนอก

หากเราเอา area base ผนวกกับ ความคิดเห็นของชาวบ้าน ผนวกกับภาพรวมที่กระทำต่อหมู่บ้าน ต่อยอดของเดิมที่มีดีดีอยู่แล้ว ฟื้นฟูของเดิมขึ้นมา ผนวกกับสิ่งใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เดินไปด้วยกัน เกาะกลุ่มด้วยกัน โดยเฉพาะการผสมผสานสิ่งใหม่กับเก่าอย่างลงตัว ค่อยเป็นค่อยไป อาศัยเวลาและการปรับตัวขยับเส้นทางเดินไปตามช่วงจังหวะเวลา…ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องยึดหลักพอเพียงของพระองค์ท่าน

สิ่งที่กล่าวมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ตอกย้ำเส้นทางเดินของการพัฒนาอีสาน

สรุปทัศนะของผมคือ เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง

เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง

เอาวิชาการที่เหมาะสมเข้าไปผสามผสานอย่างลงตัว

เอาภาพรวมประเทศเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว

พัฒนาคน พัฒนาจิตสำนึกเป็นเรื่องใหญ่

ต่อยอดของเดิมที่ดี เติมสิ่งใหม่ที่เหมาะสม

เน้นความพอเพียงเป็นฐานก่อน

อิงโครงสร้างเก่าผสมผสานหลักการใหม่อย่างเหมาะสม

ผสมผสาน บูรณาการจากจุดเล็กๆ แล้วขยายสู่ใหญ่

พัฒนาทุนเดิมหมู่บ้านชุมชน ท้องถิ่นดัดแปลงให้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่

ผนวก เด็ก เยาวชน สตรี พระ ผู้เฒ่า ฯลฯ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ

ขับเคลื่อนภาพรวมอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตามสภาวะเงื่อนไข

« « Prev : เรื่องกระตุ้นสายตาและสายใจ

Next : ผิดหรือถูกสังเกตุ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

12 ความคิดเห็น

  • #1 น้องจิ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 18:07

    อิอิ อยากไปแต่สวรรค์เบี่ยง วาสนาเบี้ยว เลย อด แงๆๆๆ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 18:29

    ช่วยไม่ได้จริงงานนี้ จิเอ๋ย
    เว้นแต่จะยอมเรียนซ้ำชั้น อิอิ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 20:34

    พรุ่งนี้ผมจะไปลองทาบทามซือแป๋ใหญ่ พี่บำรุง บุญปัญญา คนสุรินทร์ ที่เคยจะเอาไปเฮฮาฯ 3 ดงหลวง แต่พี่แกติดธุระ  คราวนี้จะได้หรือเปล่าไม่แน่ เพราะพี่เป็นลูกพี่ใหญ่ของวงการ NGO เกียรตินิยมจากบางเขน ไปเรียนมหาวิทยาลัยลีดดิ้ง อังกฤษ มาทำงานกับ ดร.ป๋วยที่ชัยนาท…ฯลฯ ถือว่าเป็น NGO รุ่นแรกของประเทศไทยทีเดียวครับ

    และเป็นคนที่จุดประกายแนวทางการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมชุมชน หากล็อกตัวได้ โอย คุยสามวันไม่จบ โดยเฉพาะเรื่องอีสาน…ครับพ่อครูบา…

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 20:48

    จะมีวาสนาเจอจอมยุทธ บำรุง บุญปัญญาไหมหนอ เพี้ยง !!

  • #5 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 21:02

    อิอิ  องค์รวม  บูรณาการ  ประชาชนมีส่วนร่วม  ต้องรัก  ต้องรู้จัก  ต้องเข้าใจ

    แต่ดันชอบทำแบบม้าลำปาง  ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆ

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มกราคม 2009 เวลา 23:15

    อีสานมีพลังมากครับ มีประชากร 34% ของประเทศ จึงมีปัญหาที่ซับซ้อน และไม่อาจหาทางออก (คำตอบวิเศษ) อันเดียวที่แก้ได้ทุกปัญหา ครั้นกระจายกันไปทำ ก็ไม่มีการรวมพลัง ต่างคนต่างทำ กลายเป็นชักคะเย่อกันไป

    ในกรณีการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอย่างนี้ ไม่ง่ายหรอกนะครับ ต่างคนต่างทำในสิ่งที่คิดว่าดี และต่างคิดว่ามีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในภาวะฝุ่นตลบที่แต่ละคนมองเห็นได้แค่วาเดียว (เพราะปัญหารุมเร้า/หมักหมมมานาน) จะแน่ใจได้อย่างไรว่าทิศที่กำหนดไว้นั้น สอดประสานกับการแก้ปัญหาจากทุกๆ มิติ และนำไปสู่ทางออกจริง — อาการคล้ายๆ กับที่บอกว่าเชื่อว่ารัฐบาลแห่งชาติจะเป็นทางออก แต่พอคนอื่น “มา” กลับจ้องทำลายไม่ช่วยกันทำงานล่ะครับ

    ถ้าเป็นอย่างนี้ อิอิ ไม่ออกแล้วครับ

    ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ดีนะครับ ถ้าไม่ดีคงไม่ทำอยู่แล้ว แต่มีคำถามว่าดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ อย่างไร

  • #7 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 มกราคม 2009 เวลา 2:05

    โจทย์อีสานเคลื่อนตลอดเวลา
    ยากที่ใครจะพัฒนาใคร
    แต่..ถ้าใครพัฒนาตัวเอง ในที่ตั้งออกไปสู่ข้างนอก
    เป็นผู้เรียน เรียนรู้ เรียนทำ เรียนจนมีความรู้พอเพียง
    คนอีสานต้องรู้เพิ่ม คิดเพิ่ม ทำเพิ่ม ทำใหม่ 
    กระบวนการเหล่านี้ จะอยู่ในตัวตนคนอีสานได้อย่างไร 
    น่าสนุกนะครับ ถ้ามาช่วยกันถกอีสาน

  • #8 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 มกราคม 2009 เวลา 2:15

    ในเมื่อปัญหาของแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน แตกต่างกันไป จะหวังที่จะใช้ทางออกทางเดียวสำหรับทุกๆ แห่ง ไม่เวิร์คแน่เลยครับ

    ครูแดงทำให้ดูแล้ว — มีความรู้ มีความสนับสนุน แต่การปฏิบัติก็ยังต้องปรับสำหรับแต่ละที่ แล้วยังต้องพากเพียร ทุ่มเทใช้เวลายาวนาน ซึ่งผู้ขับเคลื่อนที่ดีที่สุด น่าจะเป็นคนในพื้นที่ครับ เขาเป็นเจ้าของที่แท้จริง

  • #9 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 มกราคม 2009 เวลา 2:29

    โจทย์อยู่ที่ชนบท
    ลงมาตีแตกกันเถอะ

    • ได้เรียนรู้จากบทเรียนสดๆในชนบท
    • ได้บทเรียนจากสิ่งที่รู้มาทบทวน
    • ได้หวลคำนึงถึงความแตกต่างช่องว่างทางสังคม
    • ได้เอื้ออาทร รู้ทุกข์ร้อนรู้หนาวร่วมกับสังคม
    • ได้ตระหนักถึงปัญหาและปัญเหที่ก่อหวอดขึ้นในสังคมรากหญ้า
    • ได้รู้ว่าประเทศไทยมีสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การพัฒนาอย่างไร?
  • #10 ning.dss ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 มกราคม 2009 เวลา 23:34

    มาจอบเบิ่งเด้อค๊า…

  • #11 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มกราคม 2009 เวลา 2:22

    key word ..
    “ม้าลำปาง”  โดย จอมป่วน

  • #12 ศึกษาต่อต่างประเทศ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 มกราคม 2009 เวลา 23:56

    แหะๆ แวะมาเยี่ยมครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.095085859298706 sec
Sidebar: 0.08806300163269 sec