บารมีกิ๊ก

โดย sutthinun เมื่อ 16 มกราคม 2011 เวลา 12:22 ในหมวดหมู่ การเมือง การปกครอง กฎหมาย, สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 5683

ตื่นแต่ไก่โห่ โผเผออกจากโรงแรมตั้งแต่ตี5 เช้าเกินไปBTS.ยังไม่ออกวิ่ง ต้องจับแท็กซี่บึ่งไปสุวรรณภูมิ ถึงหาดใหญ่ประมาณ7.30. น้าอึ่งนัดน้าแป๊ดให้มารับ ผมคาดว่าอย่างน้อยได้เจอหน้าทักทายก็ยังดี แต่อีกคณะที่มารับไม่ฟังอีร้าค้าอีรม ลากกระเป๋าฉับๆใส่รถติดเครื่องตั้งท่าจะจ้ำพรวดท่าเดียว อ้าวๆๆๆ.. อธิบายอะไรไม่ทันเสียแล้ว แป๊ดก็เดินทางออกมาแล้ว สุดท้ายก็คลาดแคล้วกัน ไม่ได้เจอรอยยิ้มแฉ่งสาวแดนใต้ ยังคิดว่าบางทีตอนเย็นอาจจะมีโอกาสเจอกัน

ออกจากหาดใหญ่บึ่งไปที่คลองแงะ ไปพบกับจอมยุทธด้านยางพารา ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ได้รู้ได้เห็นว่าการปลูกยางที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นอย่างไร ได้เห็นนักวิจัยไทบ้านแดนใต้ตัวจริงเสียงจริง ที่รักต้นยางอย่างหาที่เปรียบมิได้ ยางแต่ละต้นสูงใหญ่ให้น้ำยางเต็มถ้วย ถามคนกรีดยางสามีภรรยาที่เป็นคนอีสาน เล่าให้ฟังว่าวันหนึ่งๆกรีดยางมีรายได้คนละ2,000บาทX2คน=4,000บาท/วัน ผมไม่ได้ฟังผิดหรอกนะครับ น้ำยางได้ปริมาณมากประกอบกับราคายางพุ่งกระฉูดถึง154บาท เมื่อยางแต่ละต้นให้ผลผลิตดี ยางราคาดี คนกรีดยางก็ย่อมมีรายได้ทวี ส่วนเจ้าของสวนยางไม่ต้องพูดถึง ยิ้มหวานแทบไม่หุบทั้งวัน.. รถยนต์รถมอเตอร์ไซภาคใต้ขาดตลาด ต้องเข้าคิวจองกันเป็นเดือน เดินทางไปไหนจะเห็นรถรับซื้อน้ำยางวิ่งกันว่อน

เ ศ ร ษ ฐ กิ จ ภ า ค ใ ต้ ช่ ว ง นี้ อู้ ฟู่ เ ห ลื อ ห ล า ย

ความรู้ที่ได้จากผู้สันทัดกรณีด้านยางพารา ได้แก่เรื่องของการคัดพันธุ์ –การดูแล-ใส่ปุ๋ย-รักษาต้นที่เป็นโรค–การกรีดที่ประณีตมาก เอาใจใส่ดูแลดีทุกขั้นตอน แม้แต่เจ้าของชาวสวนจากจันทบุรีที่มีสวนยางหลายพันไร่ ยังน้อมคารวะในฝีมือ ..ยกให้เป็นแฟนพันธุ์แท้ด้านยาง เมื่อคนที่มียางพาราอยู่ในหัวใจเจอกัน ผมแทบจะบันทึกความรู้และข้อแนะนำใหม่ๆแทบไม่ทัน ออกจากสวนยางแวะมาชิมก๊วยจับร้านที่หมึกแดงแนะนำที่คลองแงะ

ออกจากหาดใหญ่เราบึ่งไปจังหวัดตรัง ตรังเป็นจังหวัดจุดประกายเรื่องยางพารา ถ้าจะมาดูงานเรื่องนี้ต้องปักหลักที่จังหวัดตรังเป็นดีที่สุด เราเดินทางไปดูการผลิตกล้ายางแต่ละแปลงเพาะกล้ายางนับแสนต้น ไปเจอคนอีสานที่นี่อีก ยกโขยงมาติดตายาง คนที่ชำนาญจะติดตายางได้วันละ500ต้น ส่วนมือใหม่หัดติดตาจะได้วันละ250-300ต้น เจ้าของสวนตีราคาให้ต้นละ1.25บาท ช่วงที่กระแสยางมาแรง แม้แต่คนรับจ้างติดตายางก็มีรายได้วันละ300-550บาท ราคากล้ายางจากที่เคยขายต้นละ3-4บาท มาวันนี้ราคาดีมาก ถ้าเป็นยางพันธุ์ดี ยอดเขียวยอดดำอะไรนี่แหละ ทั้งๆที่ซื้อจำนวนมากนับแสนต้นราคาต้นละ16-18บาท ไปคุยกันแพล๊บเดียวพ่อค้ากล้ายางรับเช็คมัดจำ5แสนบาท ซื้อขายบรรเจิดใจทุกฝ่ายทุกขั้นตอนจริงๆปีนี้

คณะที่เป็นไกด์ในพื้นที่ เป็นพ่อค้ารับซื้อน้ำมันยางเพื่อส่งไปยังโรงงานผลิตถุงมือและผลิตภัณฑ์ยางส่งไปยังโรงงานในมาเลเซีย บางส่วนก็ส่งออกไปประเทศจีนโดยตรง ไม่ต้องผ่านเสือนอนกินที่สิงค์โปรอีกต่อไป ปีนี้รัฐบาลส่งเสริมปลูกยางพาราทุกภาคอีก800,000ไร่ เมื่อกระแสยางทะลุโลกแบบนี้ คาดว่าจะมีการปลูกยางพาราทั้งที่รับการส่งเสริมและเอกชนรายใหญ่ปลูก รวมๆกันแล้วคาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000,000ไร่

วงการยางพาราคุยกันว่า

ราคายางปีนี้คงไม่ใช่ราคาปรกติ

ในอนาคตอาจจะไม่ดีเท่านี้ก็เป็นได้

จึงมองหาพืชตัวอื่นที่น่าสนใจ

ตัวเลือกในการไปศึกษาดูงานครั้งนี้

จึงมีรายการปาล์มน้ำมันเป็นกรณีพิเศษเพิ่มเข้ามา

ถ้าจะศึกษาดูงานเรื่องปาล์มน้ำมันควรจะไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากมีศูนย์ศึกษาเรื่องปาล์มน้ำมันของราชการแล้ว ยังมีบริษัททักษิณปาล์มของธุรกิจเอกชน ที่นำเข้าพันธุ์ปาล์มและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศมาเลเซียมาปักหลักศึกษาวิจัยที่จังหวัดสุราษฎร์เช่นกัน ผู้สันทัดกรณีหลายสายแนะนำว่าถ้าปาล์มต้องที่สุราษฎร์ เมื่อเจ้งเป้งอย่างนี้จะรอช้าอยู่ไย โชเฟอร์รถสูตรหนึ่งบึ่งออกจากหาดใหญ่-ตรัง-ไปสุราษฎร์ธานีรวดเดียว นั่งรถจนตูดแฉะ ไปถึงเอาจวน3ทุ่ม เจ้าแห้วแนะนำให้พักที่โรงแรมวังใต้ เหตุผล>>มีร้านข้าวต้มเจ้าอร่อยอยู่ใกล้ๆ แม่เจ้าประคุณเอ๋ย..ร้านข้าวต้มอย่างนี้ก็มีด้วย มีกับข้าวไม่ต่ำกว่า70ถาดวางโชว์ให้เลือกชี้จนลายตา หลังจากดวลเข้าต้มแล้วก็แยกย้ายกันเข้าห้อง วันเดียวนั่งรถกี่ร้อยกิโลเมตรก็ไม่รู้จากหาดใหญ่ถึงสุราษฎร์ หัวถึงหมอนจึงหลับแบบรวดเดียวฟ้าแจ้งจ่างป่าง

ผมประสานเรื่องการศึกษาดูงานปาล์มน้ำมันกับพระอาจารย์Handy บังเอิญพระพระอาจารย์ต้องเดินทางไปหาดใหญ่ จึงส่งเพื่อนรัก อ า จ า ร ย์ ชั ย รั ต น์ กั น ต ะ ว ง ษ์ แห่งคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีมาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ ส่วนเรื่องกินเรื่องเที่ยว แห้วส่งกิ๊ ก กิ ต ติ ม ศั ก ดิ์ ม า อำ น ว ย ค ว า ม ส ะ ด ว ก ทั้ง2ท่านเป็นไกด์ไร้เทียมทานที่บริษัททัวร์ไหนๆก็ชิดซ้าย

จุ ด พิ เ ศ ษ ข อ ง ช า ว เ ฮ ฮ า ศ า ส ต ร์ ที่ ย า ก จ ะ ห า เ ค รื อ ข่ า ย ไ ห น ม า เ ที ย บ เ คี ย ง ไ ด้ ก็ อ ยู่ ต ร ง จุ ด นี้ ล ะ ค รั บ

ท่านอาจารย์ชัยรัตน์กรุณามารับที่โรงแรม หลังจากเจรจาต้าอวยก็ขึ้นรถไปยังศูนย์วิจัยพันธุ์ปาล์มสุราษฎร์ธานี ระหว่างเดินทางได้คุยกัน อาจารย์เล่าว่าเคยปลูกปาล์มน้ำมันเช่นกัน พวกพี่ๆน้องๆก็อยู่ในวงการสวนปาล์ม อาจารย์เองก็ปลูกมา20ปีแล้ว โอ้ประเจ้าจ๊อช ! จุดไต้ตำตอเข้าแล้วสิครับ ประกอบกับอาจารย์สนใจการปลูกพืชแบบอินทรีย์อยู่แล้ว จึงมีจุดมองที่ประณีต มีข้อสังเกตเชิงวิชาการจากประสบการณ์ตรงของอาจารย์ จุดเล็กๆที่เป็นเคล็ดลับนี่แหละครับ ที่เรายากจะหาได้ในที่อื่น จุดพิเศษนี่เองที่ช่วยให้นักลงทุนหน้าใหม่รอดพ้นจากการหายนะ ก า ร ศึ ก ษ า ใ ห้ รู้ ก่ อ น ล ง มื อ ทำ เ ร า จ ะ ไ ด้ ทำ ต า ม ค ว า ม รู้ จ ริ ง แ ท น ก า ร ทำ ต า ม คำ บ อ ก เ ล่ า ตรงจุดนี้ช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมหาศาล ฟังไปสะดุ้งไปเลยละครับ ทำให้เราได้ตระหนักว่าการปลูกปาล์มนั้นไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก มีตัวแปรที่เป็นข้อจำกัดมากมาย ข้อชี้แนะที่ได้รับในวันนี้จึงมีมูลค่ามหาศาล ทำให้เราต้องมาใคร่คราญว่าจะอุดช่องโหว่ในเรื่องใดบ้าง ไ ม่ อ ย่ า ง นั้ น ก็ จ ะ วิ เ ค ร า ะ ห์ โ ค ร ง ก า ร แ บ บ สุ ก ร วิ่ ง ช น ปั ง ต อ !

: ราคาน้ำมันปาล์มขึ้นไปถึงลิตรละ9บาท ส่งสัญญาณอันตรายถึงอนาคตที่จะต้องเลือกระหว่างอาหารกับพลังงาน เมื่อคนกับเครื่องจักรเครื่องยนต์บริโภคอาหารชนิดเดียวกัน การแก่งแย่งช่วงชิงทรัพยากรส่วนนี้จึงเกิดขึ้น

: ราคาน้ำมันขึ้นไปขวดละ9บาท วัตถุดิบเท่าเดิม จะโกยกำไรเท่าใด?

: สัญญาณนี้มีมาตั้งแต่ไตรมาสที่3 ของปีที่แล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ใส่ใจ ยังคงฝืนกลไกตลาดด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไป การพยายามเอาใจประชาชนเพื่อให้ได้”ประชานิยม” ส่งผลกระทบระยะยาว กลไกตลาดถูกบิดเบือน ทำให้ขาดการวางแผนระยะยาวสำหรับการรับมือกับการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อแปรรูปอาหารและพลังงาน

: สหรัฐฯ อังกฤษ บราซิล จีน กลายเป็นนักล่าอาณานิคมยุคใหม่เมื่อพวกเขาพากันไปซื้อหรือเช่าที่ดินในแอฟริกาเพื่อปลูกพืชน้ำมัน จากโปรตุเกส Galp Energia SGPS SA จากอังกฤษ D1Oil กับ Sun Biofuels Ltd จากอิตาลี ร่วมทุนกับกับแคนนาดาและอิสราเอล ฯลฯ พากันกว้านซื้อที่ดินและปลูกพืชพลังงานในเนื้อที่กว้างๆขวางพอๆกับพื้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

: ไทยเรามีกลุ่มทุนระดับชาติ ไปกว้านซื้อหรือเช่าที่ดินในลาว เขมร พม่า บังคลาเทศ เพื่อปลูกอ้อย ปาล์มและมันสำปะหลังสำหรับป้อนโรงงานไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล หากฟ้าฝนเป็นใจ ไม่ท่วมหนัก ไม่แล้ง คนกับเครื่องยนต์ก็ยังพอแบ่งกันกินกันใช้ผลผลิตเกษตรเหล่านี้ได้ดีอยู่ แต่ถ้าเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นมา ก็คงจะต้องเลือกเอาว่า จะให้คนหรือเครื่องยนต์อด :สยามรัฐรายสัปดาห์

ระหว่างเดินเข้าไปชมแปลงปาล์มภายในศูนย์ฯ อาจารย์ได้อธิบายภายใต้ต้นปาล์ม ชี้ให้เห็นประเด็นที่ควรพิจารณาหลายจุด การเรียนจากผู้รู้จริงแบบตัวต่อตัวจึงประเมินค่าไม่ได้ ขอขอบคุณพระอาจารย์Handyที่จัดสิ่งที่ดีที่สุดในโลกให้กับเราในครั้งนี้

(โรงงานแปรรูปปูเพื่อส่งออกและจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร)

จบเรื่องปาล์มก็หาเรื่องเจี๊ยะสิครับ ก่อนมาแห้วศรีคุยนักคุยหนาสุราษฎาธานีเมืองหอยใหญ่ ไข่แดงสวย แต่ไม่ยักบรรจุเรื่องปูเข้าไป เพราะปูดอนสักนั้นภัตตาคารในบางกอกกะรันตีว่าเป็นปูอร่อยคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย ในเมื่อไม่เคยเห็นกับตาก็ได้แต่อือออรอวันท้าพิสูจน์ และแล้ววันนั้นก็มาถึง คณะเราตีตั๋วกลับไฟล์เย็น เพื่อจะได้มีเวลาไปไปดูกิจการกิ๊กของแห้ว ซึ่งมีกิจการด้านธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่มีเครือข่ายปู-มีเรือทะเลล่าปู-มีท่าเรือขึ้นปู-มีโรงงานจัดสรรปู-อุตสาหกรรมแปรรูปปูเพื่อการส่งออก

(ปูตัวใหญ่สดๆเนื้อแน่นนึ่งร้อนๆจิ้มแจ่วรสเด็ดป้าทิ้ง แทบจะทิ้งสวนป่ามาอยู่กับป้าที่นี่ อิ อิ ..)

ตอนเด็กๆเคยไปขุดปูนามาดอง ชอบปูดอง ส้มตำปูดอง เมื่อ40ปีที่แล้วเคยมาเที่ยวที่เกาะพีพี สมัยนั้นยังไม่มีนักท่องเที่ยวเป็นบ้าเป็นหลังอย่างเดี๋ยวนี้ ยามค่ำคืนชาวเลยังออกมาตีโทนร้องรำสนุกๆท่ามกลางแสงจันทร์ ระหว่างนั่งคุยกัน ปูมาจากไหนไม่รู้ไต่ยุบยับขึ้นมาบนชายหาด ตอนแรกผมคิดว่ามีไม่มาก ร้องหาภาชนะมาใส่ปู จะจับปูว่างั้นเถอะ เจ้าบ้านหัวเราะ..สักพักเท่านั้นแหละแม่คุณเอ๋ย ปูเป็นหมื่นเป็นแสนตัวมาจากไหนไม่รู้วิ่งอยู่เต็มหาด ไต่ยั้วเยี้ยเข้าบ้าน ต้องกรวดออกรีบปิดประตูแทบบ้านแทบไม่ทัน ถ้าเป็นปูตัวโตอันตรายก็คงเป็นฉากภาพยนตร์สยองขวัญได้เลยละครับ

(ดอนสักมีท่าเรือน่้ำลึก ท่าเรือแฟรี มีที่ตกปลาบรรยากาศยอดเยี่ยม)

ไกด์กิ๊กมารับที่ตลาดดอนสักตามที่นัดหมาย ขับรถนำลิ่วตรงไปโรงงาน โอ้โฮๆๆๆๆ เดินไปไหนก็มีปูเจอปูทั้งน้าน ใครมีแฟนชื่อปูแนะนำมาให้ดูที่นี่ มีถังสตีมขนาดใหญ่ต้มไอน้ำเดือนพะพุ่ง ต่อไปยังถังนึ่งปูที่เรียงร่ายส่าย คนงานหลายแผนก คัดปูตามขนาดและคุณภาพออกมานึ่ง อีกแผนกเอาปูมาแยกเกรด ตัวใหญ่เนื้อแน่นจัดส่งภัตตาคารทั่วราชอาณาจักร ปูคุณภาพรองแกะเป็นเนื้อปูส่งในไทยและเลยไปยังต่างประเทศ ไปถึงอเมริกาโน่น ..ไม่แน่นะครับ บางทีเนื้อปูที่เราสั่งข้าวผัดปูอาจจะไปจากโรงงานแห่งนี้ก็ได้ ครอบครัวของกิ๊กมี5พี่น้องแบ่งงานกันคนละหน้าที่ เจ๊ใหญ่เป็นนายกอบต.ดอนสักด้วย เป็นผู้บริหารจัดการเรื่องคุมคุณภาพส่งออก คนรองรับเอาเรื่องก้ามปูกระดองปูส่งญี่ปุ่น อีกคนทำหน้าที่บริหารในโรงงาน อีกคนดูแลด้านการตลาดจัดส่งทั่วไทย ส่วนคุณวัฒน์กิ๊กของแห้วรับหน้าที่เรื่องคุมเรือล่าปูในทะเล

(อิ่มแล้วยังซื้อปูกลับบ้าน มาถึงสวนป่าน้ำแข็งยังเหลือ)

เราได้อาศัยบารมีกิ๊กอย่างเต็มประสิทธิภาพ คุณวัฒน์จัดให้เราได้ดูได้ชิมปูสดๆที่ออกจาถังนึ่ง ความพิเศษของปูที่นี่อยู่ที่ปูสดไม่ผ่านการแช่น้ำแข็ง ดังดิ้นกระแด่วๆรสชาติจึงเป็นหนึ่งไม่มีสอง เราบอกไปล่วงหน้าแล้วว่าจะมาตั้งหน้าตั้งตากินปูโดยเฉพาะ เมื่อโจทย์ออกมาในถิ่นปูที่อลังการก็ไม่ใช่เรื่องยาก หลังจากคณะกรุงเทพฯสั่งซื้อปูสุกใส่กล่องโฟมจนไม่มีที่จะใส่ในรถ ต้องไปตั้งบนหลังคารถเป็นตับ

(ไปดอนสักไม่กราบหลวงพ่อจ้อย กับ ไม่ได้ชิมฝีมือป้าทิ้ง เขาบอกว่าไปบ่ถึงสุราษฎร์)

เจ้าภาพขาใหญ่นำเราไปร้านอาหารป้าทิ้ง ตั้งอยู่ริมอ่าวดอนสักบรรยากาศ ถ้าชูชกมาเห็นสะอื้นแน่ ลูกสาวป้าทิ้งเตรียมมาจดรายการ ถามว่าอะไรอร่อยขึ้นชื่อที่สุด เธอบอกว่าทุกอย่าง อยากให้ชิม ว่าแล้วก็จดๆๆๆแล้วไปลำเลียงมา ส่วนปูนั้นคุณวัฒน์สั่งให้คัดชนิดพิเศษนึ่งสุกใหม่ๆแล้วให้นำไปส่งที่ร้านอาหาร ดูอานุภาพของกิ๊กแห้วสิครับ จะว่าแห้วคุยโม้ก็ไม่ใช่ !!! ในเมื่อมาเห็นจะๆกับตา ปูคัดตัวใหญ่ที่สุดจากโรงงานดอนสักวันนั้น มาปรากฏต่อหน้า3ถาดใหญ่ๆ น้ำจิ้มทยอยมา มีอุปกรณ์หนีบก้ามปูให้แตกแจกด้วยนะ ครบเครื่องครบครันจริงๆ เมนูอร่อยทยอยมาให้ชิมจนพยาธิรำพัน ขอยืนยันว่าอร่อยทุกอย่าง เครื่องแกงหอมฉุย ตักคำไหนคำนั้น ร้องอื้อฮือ> > เราจัดสรรเวลาเพื่อการกินปู3 ชั่วโมง คุณวัฒน์แนะนำวิธีแกะปู สาธิตโดยการแกะให้ชิมร้อนๆ มีข้อแนะนำว่าถ้าจะดวลปูกันจริงๆ ต้องเตรียมเวลามา3 ชั่วโมง อย่ารีบร้อนต้องปล่อยให้เนื้อปูไต่เข้าไปในกระเพาะ คุยกันไป สูดโอนโซนจากทะเล รับประกันว่าจะเก็บไปเป็นเรื่องโม้ได้ตลอดชาติ

ที่ดอนสักนี่ไปไหนๆก็ไม่พ้นอิทธิพลของเจ้าแห้ว

แม้แต่ร้านป้าทิ้งนี่ก็เป็นญาติสนิทกัน

แหม! มิน่าละ..เจ้าของร้านทุ่มเททิ้งทวนชวนชิมแบบไม่ยั้ง

จวนตะวันบ่ายคล้อยเราถึงได้เคลื่อนไปไหว้หลวงพ่อจ้อยบนเขา คุณวัฒน์บอกว่าถ้ามาดอนสักไม่ได้กราบหลวงพ่อก็เหมือนมาไม่ถึงสุราษฎรฯ ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่ผู้คนเคารพทั่วไทยแลนด์ หลังจากนั้นไปดูท่าเรือน้ำลึก เจอคณะทัวร์นั่งเรือจากเกาะสมุยมาขึ้นรถทัวร์ที่นี่ ไม่ไกลกันเท่าไหร่นักเราแวะไปชมท่าเรือแฟรี่ของเอกชน

อิจฉาชาวบ้านที่ใช้เวลาพักผ่อนด้วยการตกปลาภายใต้อาคารสำนักงาน

คนๆหนึ่งดูแลเบ็ด3-4คัน

เอากระดิ่งไปหนีบไว้ที่ปลายเบ็ด

พอปลาเขมือบเหยื่อดึงเสียงกระดิ่งจะดัง

พรานสมัครเล่นรีบมายกเบ็ดก่อนที่ปลาจะลากเข้าใต้ก้อนหิน

เจ้าทะเลจัดสรรให้ปลากระเบนตัวเล็กมากินเบ็ดโชว์

นับว่าอัศจรรย์เป็นใจเกินความประทับใจเสียอีก

(ขอบคุณกิ๊กอาจารย์Handy และ กิ๊กครูปู)

ทั้งหมดทั้งมวลที่ตอกย้ำให้เราอยากมีโอกาสมาพักผ่อนอย่างนี้บ้าง หรือจะลงเรือไปดูเขาล่าปลาหมึกก็ไม่มีปัญหา ของแต่ให้บอกกิ๊ก ทริปนี้อิ่มพุงอิ่มตาอิ่มอกอิ่มใจจนบอกไม่ถูก จะเห็นว่าคนไหนมีกิ๊กดี สบายไปแปดอย่าง จะเนรมิตอะไรได้ทั้งนั้น สุดยอดจริงๆครับ โ ด ย เ ฉ พ า ะ ร า ย ก า ร เ จี๊ ย ะ ปู ค อ ปู ทั้ ง ห ล า ย ถ้ า ยั ง ไ ม่ เ ค ย ม า ชิ ม ที่ ด อ น สั ก อ ย่ า เ พิ่ ง คุ ย จะ คุ ย ท ะ ลุ ท ะ เ ล ไ ด้ ต้ อ ง ผ่ า น ด่ า น นี้ ไ ป เ สี ย ก่ อ น ถึงจะคุยได้เต็มปากเต็มคำ อิ.

หลังจากนั้นก็ล่ำลากันมาสนามบิน

ระหว่างที่รอขึ้นเครื่อง อาจารย์ชัยรัตน์เปิดประเด็นเรื่องของปาล์มต่อ เอาข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆมาก๊อปลงโน้ตบุกส์ให้ มีเวลาติวเข้มจากอาจารย์ยิ่งกว่าเด็กสอบกลางปี สรุปว่าทริปนี้..ได้พิสูจน์อิทธิพลของกิ๊กนั้นมีพลังมหาศาล ถึงเจ้าตัวไม่ได้มา ก็เพียงแต่มอบหมายให้กิ๊กเป็นัวแทน ทุกสิ่งทุกอย่างก็ลงตัวได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้คณะเราได้บรรจุความรู้ความสุขกลับมามากมายยิ่งกว่าสมใจนึก ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนอุปการคุณ เรามาถึงสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ2ทุ่มครึ่ง

ระหว่างรอรับกระเป๋า

มีกล่องโฟมใส่ปูเรียงล่ายซ่ายมาเกินจำนวน

ของเรา3กล่อง อ้าว! เพิ่มมายังไงอีกกล่อง

ปรากฏว่าเป็นของผู้โดยสารอีกท่านหนึ่งได้ซื้อปูดอนสักมาฝากญาติ

ซื้อที่เดียวกัน-กล่องขนาดเดียวกัน ห่อพาลาสติกกันน้ำแข็งซึมที่ร้านเดียวกัน

อ้าว! จะพิสูจน์กันยังไงละทีนี้ !

พลิกไปพลิกมาก็เจอรหัสประจำกล่อง

จึงตกลงกันได้ด้วยดี แยกย้ายกันขึ้นรถ

ผมต้องหอบกล่องปู กระเป๋าของฝาก รวมๆแล้ว4ชิ้นใหญ่

แทบจะเดินเดี้ยงเหมือนแม่ปูในอ่าวดอนสักไปเสียแล้ว

อิ อิ..

« « Prev : ควันหลงงานอิ๊กไนน์ไทยแลนด์ครั้งที่ 3

Next : หนาว ทำไมต้องสั่น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 putarn ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 มกราคม 2011 เวลา 12:56

    บันทึกท่านสนุกมากและยังให้ความรู้อีกด้วยค่ะ

  • #2 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 มกราคม 2011 เวลา 16:01

    เราขายยางโลละ 150 บาทก็ดีใจกันใหญ่ ไม่คิดแปรรูปกันบ้างเลย สุดท้ายก็เอาไปออกรถ เงินไปตกในกระเป๋าญี่ปุ่นโม้ด

    ยางรถยนต์โลละ 500 บาท แถมมันเหล็กทั้งนั้น ยางจริงๆสัก 3 ขีดได้กระมัง กลายเป็นว่าเอาทำยางรถยนต์จะได้โลละ 1500 บาทนะครับ รายได้เข้าประเทศมหาศาล แถมสร้างงานให้ประชาชน แต่รัฐบวมไทยคิดได้แต่ขายดิบทั้งสิ้น ไม่ว่ายางพารา หรือมันสปล. ปล่อยให้บริษัทดัทช์มาสร้างโรรงานผลิตสารตั้งต้นไลโอพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว

    ยางรถยนต์นั้นบริษัทไทยก็ทำได้แล้ว แต่ผลิตออกมาไม่มีคนซื้อ ไปซื้อแต่ยางนอก จนยางไทยต้องพะยี่ห้อต่างชาติแล้วส่งออกขายทั่วโลก แต่ปริมาณก็ยังน้อยมาก เข้าใจว่าขณะนี้ 90% ยางดิบไทยส่งออกนอกหมด มาเลย์เขายังคิดตั้งโรงงานผลิดตเพิ่มมูลค่าเลย

    เศร้าจริงๆครับ

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 มกราคม 2011 เวลา 8:49

    -ดีใจที่putarn ชอบอ่าน อิอิ

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 มกราคม 2011 เวลา 8:53

    ทวิช จิตรสมบูรณ์ ชี้แนะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งก็แปลกใจว่าทำไมเราก้าวไม่ถึงการแปรรูป
    ประเทศที่ขายวัตถุดิบก็ย่ำต๊อกอยู่อย่างนี้
    ถ้าทะลุไปถึงเพิ่มมูลค่าได้ ประเทศเราจะอู้ฟู้ทั่วหน้า
    คงต้องหาเหตุผล-คำตอบ-จุดถ่วง-อยู่ตรงไหน???? หว่า !
    ไอ้บ้าไหน? วางยาประเทศไทย !!

  • #5 pa_daeng ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 มกราคม 2011 เวลา 19:04

    อ่านบันทึกนี้ ทำไม หิวข้าวก็ไม่รู้ค่ะ

  • #6 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 มกราคม 2011 เวลา 20:42

    ปูจิ้มแจ่วป้าแดงเอ๊ย อิอิ เชียวแหละ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.1788289546967 sec
Sidebar: 0.11250782012939 sec