ควันหลงจากการประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ
อ่าน: 3032
สงสัยจะเป็นเทศกาลการจัดประชุม หนังสือประชุมปลิวว่อน พวกเราหลายคนเดินสายประชุมกันตาตั้ง เท่าที่สอบถามดู รอกอดส์ประชุมทุกวัน แห้วซ่าส์ก็ประชุมด้านนโยบายของกรมอาชีวะ วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเองซะด้วย มีผู้บริหารจากส่วนกลางเข้าร่วมประมาณ1,500คน รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการหยิบยกเอาเรื่องในหนังสือ “นี่ไงจารย์ปูครูพันธุ์ก๊ากส์” มาแนะนำเป็นคุ้งเป็นแคว บอกแถมเชียร์ว่าเป็นสถานศึกษาที่คณาจารย์ช่วยกันดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อาจารย์ทุกคนรู้จักลูกศิษย์และมีเบอร์โทรฯประเภทขาลุยไว้ครบถ้วนทุกคน แถมยังมีเบอร์โทรฯผู้ปกครองครบถ้วน เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นสามารถประสานสายด่วนทันใจ
แหม โดนยกก้นซึ่งหน้า
มีหรือแห้วจะไม่ยิ้มแก้มแทบปริ
ทุกคนถามหา เดินไปไหนมีคนมาทักทายเกรียว
ลูกศิษย์สนุกกับการจำหน่ายหนังสือฉบับขี้โม้สะบัด
ป่านฉะนี้คงจะหน้าบานไปทั้งโรงเรียน
ส่วนผมมาที่โรงแรมรามาการ์เด็นส์ เจอป้ายต้อนรับนายกรัฐมนตรี ที่ท่านมาเป็นประธานเปิดงานมหกรรมละเลิกเหล้า เครือข่ายฯทั่วราชอาณาจักรมาประชุมคับคั่ง มีบู๊ท/บอร์ดแสดง2ฝั่ง ส่วนคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติประชุมห้องใกล้ๆกันที่ชั้น 2 เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมการ ผมมานั่งเคาะแป้นต๊อกๆ ว่างตอนไหนก็เขียนตอนนั้น ตามที่อุ้ยสร้อยชี้ชวนว่าอย่าห่างซ้อมเดี๋ยวอักขระขึ้นสนิม
ผมเตรียมการบ้านของอาจารย์สุรีย์ ธรรมิกบวร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ขอเสนอแนวคิดด้านกำลังพลในแง่ของหน่วยงานด้านการศึกษาตามที่ท่านกรุณาส่งมาดังนี้
การผลิตพยาบาล ควรได้รับการส่งเสริมโดยการสนับสนุนงบประมาณต่อรายหัวเหมือนการผลิตแพทย์ โดยมีเงื่อนไข และกำหนดคุณลักษณะบัณฑิต/การรับเข้า/การจัดการเรียนการสอนให้ชัดเจน เช่น หลักสูตร เน้นการพัฒนาศักยภาพเพียงพอต่อการทำงานในชุมชนทั้งนี้อาจเป็นหลักสูตรเสริม การรับเข้าให้โอกาสพื้นที่มีส่วนร่วมในการคัดเลือก กระบวนการเรียนการสอนมีการเสริมโดยชุมชนที่เป็นเครือข่ายเพื่อให้บัณฑิตมีความรักชุมชนอยู่กับชุมชนได้อย่างดี
ข้อเสนอ ภายใต้หลักการไม่แบ่งแยกสถาบัน กระทรวงสาธารณสุขควรให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยที่มีปรัชญา และวัตถุประสงค์การผลิตเพื่อชุมชน เช่น ม.อุบล เพราะปัจจุบันยังมีความเข้าใจว่าเป็นการลำบากที่จะให้ทุนข้ามกระทรวง ทั้งที่จริงๆแล้วควรจะดีใจที่มีคนร่วมผลิต กระทรวงจะมีจำนวนพยาบาลเพิ่มได้เร็วมากขึ้นทันต่อการพัฒนา รพ.สต.
1. จัดสรรงบต่อหัวเพื่อช่วยสถาบันที่ร่วมผลิตจะเป็นตัวช่วยในการผลิตให้มี ประสิทธิภาพมากขึ้นโดยให้ 100,000 บาทต่อหัวต่อปี จำนวนเงินพิจารณาจากต้นทุนผลิต และกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการ มีการจัดสรรครูมาจากบุคลากรของกระทรวงเพื่อให้มีครูเพียงพอ
2. แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อร่างเกณฑ์ เงื่อนไขในการร่วมผลิต เช่นต้องมีหลักสูตรเสริมในเรื่องใด มีกระบวนการสอนเสริมใด และมีคณะกรรมการเข้าไปประเมินติดตามเป็นระยะ
3. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในการตั้งเป็นโครงการร่วมผลิตครูพยาบาล ผลิตครูพยาบาลให้ได้ปีละ 500 คนต่อปีเป็นกรณีพิเศษ ทำต่อเนื่อง 5 ปี (สถาบันประมาณ 50 แห่งจะมีครูที่จะผลิตนักศึกษาเพิ่มได้อีก 4000 คนต่อปีดังนั้นใน 5 ปีจะมีพยาบาลเพิ่มจากปกติอีก20,000คน (ครู1คนรับนักศึกษาได้8คน)
4. การเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ เป็นการแก้ไขปัญหาที่เพิ่มภาระให้งบประมาณเกินไป แต่ไม่เพิ่มประสิทธิภาพเท่าที่ควร
การแก้ไขควรมุ่งที่การเร่งผลิต และผลิตให้ตรงกับภาระงานกระทรวง เช่นเน้นการผลิตเพื่อ-รพสต .เป็นต้น
5. เปิดกรอบบรรจุตำแหน่งเพื่อความมั่นคงในงาน ไม่ย้ายงาน เพราะปัจจุบันมีการย้ายงานบ่อย การต่อเนื่องในการพัฒนาบุคคลากรมีปัญหาจะกระทบต่อคุณภาพได้
สุรีย์ ธรรมิกบวร
มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตนักศึกษาเพิ่มเติม
จากการมีโอกาสไปวิพากษ์หลักสูตรพยาบาลที่นครปฐม
ประเด็นที่ 1 โจทย์ที่สำคัญคือกรรมการทุกคนซึ่งมีทั้งหัวหน้าพยาบาล สาธารณสุขจังหวัด-นายกอบต.ต้องการเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมาอันดับหนึ่งด้วยเหตุผลที่น่าสนใจและตรงกับที่ครูบาพูดคือ การมีคุณธรรม มีเมตตา จะมีความพร้อมในการช่วยเหลือ และจะไม่สร้างปัญหาให้ทีมส่วนทักษะความรู้นั้นสามารถพัฒนาได้ง่าย
ประเด็นที่ 2 คือ อบต. ติดขัดเกี่ยวกับการจ้างงานพยาบาลเมื่อจบมาเพราะต้องไปเข้าระบบสอบเหมือนตำแหน่งอื่นๆอีก และกระทรวงสาธารณสุข ท่านดร. นพ. ถวัลย์ สสจ. นครปฐม บอกว่ามีปัญหาเกี่ยวกับงบเงินเดือน เพราะขณะนี้โรงพยาบาลเองมีเงินติดลบ
จึงจะขอฝากครูบาว่า จะต้องมีกลไกในการให้ทุน และผูกพันงบเงินเดือนจากส่วนกลางลงมาเป็นงบเฉพาะ ในส่วนมหาดไทย จะต้องกำหนดวิธีการเฉพาะสำหรับตำแหน่งพยาบาล และมีโครงสร้างในการก้าวหน้าของพยาบาลในอบต .ค่ะ
(นักศึกษาแพทย์และพยาบาลมาลงพื้นที่ตามสไตล์เฮฮาศาสตร์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้พิจารณา)
สำหรับข้อมูลการไปสวนป่าอยู่ที่
http://www.nurse.ubu.ac.th/sub/index.php?image=6
http://www.nurse.ubu.ac.th/sub/index.php?name=webboard&file=read&id=50
อาจารย์ค่ะทำอย่างไรจึงจะมีวิธีคัดเลือกผู้เรียนที่มีเมตตามาเรียนพยาบาล ปีนี้คาดว่าจะเสนอให้มีการสอบตรงใน2 วิชาค่ะ คือสอบความถนัดทางการพยาบาลเน้นข้อสอบการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง และสอบ ความรอบรู้สังคมและสุขภาพ โดยเน้นความรู้ที่เกี่ยวกับการเป็นพยาบาลในชุมชนต้องรู้ และเกี่ยวข้องในอนาคต และให้นำหนัก ร้อยละ 50 อีก 50 ให้นำหนักความรู้โดยนำมาจากการสอบ GAT PAT ONETและGPAX
หลังจากลงทะเบียนแล้ว นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มาทักทายแล้วนั่งคุยกัน ผมเกริ่นถึงเรื่องที่ท่านคณบดีพยาบาลศาสตร์ ม.อุบลฝากมา สรุปได้ว่าเรื่องกำลังพลนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับกลไกต่างๆมากมาย และเรื่องที่อาจารย์สุรีย์เสนอเกี่ยวกับประเด็นการประชุมครั้งนี้ มีการถกถ้อยกระบวนความเฉี่ยวไปเฉี่ยวมาพอควร ผมได้บันทึกบางตอนเป็นคริปไว้ด้วย วันหลังจะฝากไปกับคุณหมอป่วน คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ช่วงที่เอานักศึกษาแพทย์มาสวนป่าเดือนหน้า อนึ่งการประชุมครั้งนี้มีสาระรายละเอียดที่ชัดเจนก้าวหน้าระดับหนึ่ง คงจะไว้เล่าตอนที่เจอกันนะครับ
คณะกรรมการด้านกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ประกอบไปด้วยคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานสำคัญๆที่เกี่ยวเนื่องต่อการพิจารณาปัญหาโดยตรง เช่น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ-เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน-เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ-ผู้แทนกระทรวงกลาโหม-อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น-เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา-รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข-เลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ-เลขาธิการทันตแพทย์สภา-นายกแพทยสภา-นายกสภากายภาพบำบัด-ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-นายกสภาการพยาบาล-กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก-ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์-ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ นายกสภาเภสัชกรรม-มหาชีวาลัยอีสาน-นอกจากนี้ยังมีกรรมการเพิ่มเติมตามวาระอีกหลายสิบท่าน
ลำดับแรกรายงานผลการดำเนินการคัดเลือกบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขดีเด่น และการจัดเตรียมสถานที่ศึกษาดูงาน สำหรับประชุมวิชาการGlobal Workforce Alliance ครั้งที่2 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 26-29 มกราคม 2554 ผลการคัดเลือกได้แก่
1 นายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย ผู้แทนสายแพทย์
2 นายธีระวัฒน์ แดงกะเปา สถานีอนามัยบ้านสี่แยกสวนป่า ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้แทนสายสาธารณสุข
3 ด้านการผลิตแพทย์ เลือกที่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
4 การบูรณาการการบริการแพทย์แผนไทย ที่โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
5 Community Health Workforce ที่สถานีอนามัยตลาดจินดา จังหวัดนครปฐม
6 Financial Incentive and Management System และประเด็นการบริหารการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ ที่โรงพยาบาลพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
7 การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมชุมชน ที่โรงพยาบาลบ้านแพร้ว (องค์การมหาชน) จังหวัดนครปฐม
8 Humanize Health Care (HHC) การดำเนินงานแบบจิตอาสา ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และการพัฒนางานด้านสุขภาพชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่โรงพยาบาลชุมชนบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
9 การดูแลและควบคุม HIV โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นนอกภาคสาธารณสุข ที่วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี
(ร่าง) บทสรุปแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พ.ศ.2554-2564 (ระยะเวลา10ปี)
ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งภายใต้แผนลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่2 (ปี2553-2555) กระทรวงสาธารณสุขได้สนองนโยบายดังกล่าว โดยยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสุขภาพชุมชน (รพ.สต.) ทุกแห่งทั่วประเทศ รวม 9,770 แห่ง โดยในปี2553 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งให้แก่กระทรวงสาธารณสุขจำนวน 1,490 ล้านบาท เพื่อยกระดับสถานีอนามัย 2,000 แห่ง และในปีงบประมาณ2554 ยกระดับสถานีอนามัยที่เหลือ 7,770 แห่ง ในงบประมาณ 6,000 ล้านบาท
ประเด็นการบริหารจัดการด้านกำลังคนเพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาและการจัดบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากนโยบายของรัฐบาลเรื่องปรับปรุงด้านสาธารณสุข ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน พร้อมกับการมีศักยภาพในการดูแลรักษาพยาบาลฟื้นฟูสภาพเพิ่มขึ้น โดยเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลและมีการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย
พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามนโนบาย ได้มีการสนับสนุนด้านการเงินการคลัง การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพ ระบบการปรึกษาทางไกล ระบบส่งต่อ การแพทย์ฉุกเฉิน ระบบยาและเวชภัณฑ์ การบริหารแบบมีส่วนร่วม การบริหารจัดการด้านกำลังคน ยังพบว่ามีปัญหาด้านการบริหารจัดการโดยเฉพาะด้านกำลังคนเพื่อบริการใน รพ.สต.
ข้อเสนอด้านบุคลากร
· ปรับย้ายกำลังคน (โยกย้ายภายใน/ชดเชยกำลังคน)
· สรรหาบุคลกรใหม่
-ตำแหน่งข้าราชการ
-ระบบจ้างงานใหม่(ระเบียบใหม่,สิทธิประโยชน์,สัญญาจ้าง)
· เพิ่มศักยภาพของบุคลากร(อบรม,ศึกษาต่อ,ผลิตใหม่)
· ผลิตเพิ่ม (ทำแผนระยะกลาง)
· อสม./ลูกจ้าง
ประเด็นหารือสถานการณ์ ความต้องการกำลังคน
(เดี่ยว 4 , เครือข่าย 7, 1:1,250)
สถานการณ์ และแผนการเพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนา
(กระทรวงสาธารณสุขผลิตได้ 4,000ราย)
(เอกชน-ราชภัฏฯ อื่นๆ ผลิตได้ 4,000ราย)
การรักษาบุคลากรไว้ในระบบ
-ค่าตอบแทน (สูตร [p+w+A+D]*K)
-ความมั่นคง ก้าวหน้า สวัสดิการ
-การพัฒนา
ประเด็นนี้ผู้ทรงคุณวุฒิเสนอแนะ
/ควรจะได้มีการพิจารณาแตกต่างจากระบบทั่วไป
/การคิดวิธีการจ้างงานรูปแบบใหม่
ด้านการเงินการคลัง
· งบStimulus Package2 ตั้งแต่ปี 53
· งบลงทุนเขต/จังหวัด
· งบดำเนินการ200,000บาทต่อแห่ง(1,000แห่ง)
· งบเพิ่มเติมจากCUP/สสจ.
· งบPP area base ที่อยู่ในระดับเขตและจังหวัด
· กองทุนสร้างเสริมสุขภาพตำบล
· งบ อปท.
ปัจจัยดึงดูดพยาบาลไปทำงานในชนบท
· ดูประเภทของสถานบริการ : รพช (48%) > สอ (1%)
· สวัสดิการด้านการรักษาครอบคลุมถึงครอบครัว
· ค่าตอบแทนเงินเดือน 1.3-1.5 เท่าของ ขรก.
· การจัดสรรบ้านที่มีคุภาพ
· ความก้าวหน้าในตำแหน่งอาชีพเช่นเดียวกับข้าราชการ
· จัดสรรตำแหน่งข้าราชการสำหรับพื้นที่ขาดแคลน
· สนับสนุนการพัฒนาระบบกองทุนปฐมภูมิในระดับจังหวัดหรืออำเภอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกำลังคน
· รูปแบบการบริหารจัดการองค์กรที่ดี
· เพิ่มการผลิตบุคลากรที่จะต้องปฏิบัติงานที่สถานีอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ พยาบาล บุคลากรฟื้นฟูสมรรถภาพ ทันตาภิบาล
· คัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาจากชุมชน สนับสนุนทุนการศึกษา และมีสัญญาผูกพัน
· ในระยะสั้นควรผลิตบุคลากรระดับประกาศนียบัตร และสร้างโอกาสศึกษษต่อ และมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ
· สนับสนุนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการศึกษาต่อพยาบาลวิชาชีพ
· เน้นส่งเสริมแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อปฏิบัติงานในปฐมภูมิ
ประชาชนได้อะไร?
· ความครอบคลุม (Coverage) ของบริการขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้น
-การให้วัคซิน
-การฝากครรภ์ ตามเกณฑ์มาตรฐาน
-อื่นๆ
· คุณภาพชีวิต (Quality of life) ของประชาชนดีขึ้น
-อัตราทารกตาย และแม่ตายลดลง
· การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในระดับตำบลดีขึ้น
-ลดความแออัดของโรงพยาบาลแม่ข่าย
-จำนวนผู้ป่วยข้ามจากตำบลมาโรงพยาบาลอำเภอ/จังหวัดลดลง
-การนอนโรงพยาบาลจากโรคแทรกซ้อนหรือโรคป้องกันได้ลดลง
· มีการค้นพบผู้ป่วยเรื้องรังรายใหม่เพิ่มมากขึ้น
· ภาวะโรคแทรกซ้อนลดลง
· ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมารับบริการจำนวนเพิ่มขึ้น(คน/ครั้ง)
· อัตราการตายลดลง
กลยุทธ์ สร้างเสริมขีดความสามารถบุคลากรทุกระดับที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต.
1 พัฒนาศักยภาพแพทย์ให้เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
2 พัฒนาพยาบาลให้เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติ
3 เสริมทักษะให้บุคลากรในรพ.สต. มีศักยภาพในการให้คำปรึกษา การเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค ทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และทักษะการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน
4 สนับสนุนการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อปฏิบัติงานในชุมชนตามปริมาณงานที่ดำเนินการเชิงรุกอย่างเป็นธรรม โดยไม่ให้แตกต่างกับบุคลากรในโรงพยาบาล
5 กำหนดให้มีความก้าวหน้าในระบบราชการกับบุคลากร รพ.สต. เพื่อเป็นการกระตุ้นให้บุคลากรมีความกระตือรือร้นและเร่งรัดงานระดับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดโครงสร้างของตำแหน่งให้ชัดเจน
6 สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานและความปลอดภัย เช่น รถยนต์ประจำ รพ.สต. โทรศัพท์เคลื่อนที่ บ้านพักที่เพียงพอ
สรุป
ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์หลายประเด็น เช่น
- เรื่องการปรับปรุงสถานีอนามัย คงไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนป้ายชื่อ แต่ต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านพอสมควร ไม่อย่างนั้นแล้วจะเกิดการฝ่อที่จะดำเนินการให้ก้าวหน้าได้ ถ้าการเปลี่ยนแปลงไม่มีเนื้อมีแต่น้ำก็จะเกิดเสียงสะท้อนในทางลบ ผู้ที่จะโอนย้ายมาก็จะหลบมากว่าจะลงพื้นที่
- เรื่องขอเพิ่มอัตรากำลังคน ทั้งสำนักงบประมาณ และ กพ.ที่ถูกพาดพิงบ่อยครั้ง บอกตามตรงว่าคงจะยาก เพราะมีกรอบใหญ่ครอบคลุมอยู่แล้ว เลิกมาตอแยเสียที ไม่สามารถจัดให้ได้ตามที่ต้องการ เว้นแต่กระทรวงฯ จะไปคุยกับฝ่ายการเมืองเอาเอง ให้มีมติครม.ออกมา
- ตามแผนงานต่างๆ รัฐบาลเป็นผู้เสนอแผน/โครงการพัฒนา มีมติออกมาว่าจะทำอะไรบ้าง นั้นรัฐบาลควรจะรับผิดชอบด้านการสนับสนุน ไม่ใช่เสนอมาแล้วปล่อยให้กระทรวงฯดิ้นรนดำเนินการบนฐานความไม่พร้อมอะไรสักอย่าง ควรมีการเจรจา>> ถ้าจะให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ รัฐบาลควรจะสนับสนุนอย่างแข็งแรงด้านไหนอย่างไร?
ด้านอัตรากำลังที่ขาดแคลน เป็นไปได้ไหมที่บุคลากรมาชุมนุมกันอยู่ในเมือง ไม่มีใครยอมออกไปทำงานในชนบท ถ้ามีนโยบายกระจายเจ้าหน้าที่ออกไปสู่ภูมิภาคอย่างเป็นระบบ โดยให้ทุกภาคส่วนยอมรับและทำงานกันได้อย่างมีความสุข ถ้าบริหารบุคคลได้ ปัญหากระจุกตัวจะช่วยบรรเทาได้พอสมควร
- มหาชีวาลัยอีสานขอเสนอต่อท้าย เรื่องการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนประชาคม/สังคม ยังมีช่องทางที่เข้าไปถึงจุดที่สะท้อนให้ชุมชนตระหนักต่อการมีส่วนร่วมชุมชนจะได้รับ และถ้าชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร (อสม.) จะปลุกพลังแฝงให้มีอนุภาพได้อย่างมาก ถ้าบุคลากรใน รพ.สต.เข้าถึงวิถีชุมชนอย่างแนบแน่น ดังที่เราจะเห็น
/มีอาคารในโรงพยาบาลหลายแห่งที่สร้างด้วยงบประมาณจากหลวงพ่อเกจิอาจารย์ดัง บางกรณีมีการบริจาคเป็นเครื่องมือหรือเวชภัณฑ์
/ในงานศพหลายแห่ง เจ้าภาพจะมีซองการกุศลแจกให้ วัด โรงเรียน สถานีอนามัย (หลังจากรับซงมาแล้ว ทำอะไรต่อ ทำอะไรบ้าง แจกแจงให้เกิดกระแสบุญ ให้เห็นเชิงสัญญลักษณ์ ได้ไหม?
/ในเมื่อมีงานทอดผ้าป่าช่วยโรงเรียน ช่วยวัด ก็ควรมีกระแสผ้าป่าช่วยสถานีอนามัย ทำยังไงจะเกิดจุดนี้ ถ้าผู้บริหารประสานใจกับชุมชนได้ ก็จะมีแต่ได้กับได้ โดยเฉพาะได้ใจของชุมชนนั้นๆ
/ควรสร้างกระแสทำบุญกับรพ.สต. แบบช่วยวัดครึ่งหนึ่งโรงพยาบาลครึ่งหนึ่งโดยมูลนิธิ ภาคธุรกิจเอกชน ฯลฯ ในเมื่อวิถีไทยนั้นพึ่งพาวัดกับโรงพยาบาลไม่น้อยกว่ากันเลย
/ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนมาเป็นเจ้าภาพร่วมเชิงกระบวนการอย่างแท้จริง
/จัดกิจกรรมเชิงรุกเกี่ยวกับสุขภาวะอนามัยที่ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
การประชุมครั้งนี้ ประทับใจท่านประธาน นพ.มงคล ณ สงขลา ที่ดำเนินการประชุมได้อย่างมีชีวิตชีวา ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ ได้นำผลการวิจัยและข้อเสนอแนะดีๆมาลงขันความคิดกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม แต่ไม่เครียด กลับถ้อยทีถ้อยอาศัยเหตุผลมาพิจารณากัน ซึ่งไม่ค่อยจะเห็นบ่อยนักในการประชุมในเวทีอื่น
นัดหมายประชุมครั้งต่อไป วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554
« « Prev : สายการบินนกแอร์ ตอนตาแก่ขี้ยั๊วะ
Next : ใครมีชื่อ ส. ยกมือขึ้น » »
3 ความคิดเห็น
จริงๆ ผมชื่นชมข้าราชการสาขานี้มากที่สุด เพราะก้าวหน้าที่สุด ครับ สมัยเรียนอยู่ผมก็พักห้องเดียวกับนักศึกษาแพทย์ รักใคร่กัน เห็นเขาทำงานก็ชื่นชม หลายคนก้าวเข้าสู่ชุมชขนด้วยความตั้งใจจริงๆ จะเรียกอุดมการณ์หรืออะไรก็ตาม แต่เขาเหล่านั้นทุ่มเทเพื่อคนในชนบทที่ทุกข์ยากมากมาย ดูหมอ KMsbai ที่ปายของเราซิ ยังสู้อยู่ที่นั่น น่าชื่นชมจริงๆ แต่สุขภาพเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกเรื่องทั้งชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย การขยับอะไรสักนิดก็กระเทือนไปหมด การพบปะพูดคุยกันเป็นเรื่องที่ดี ครับ ไม่มากก็น้อยที่มีสิ่งดีดีเกิดขึ้นเพื่อพัฒนา ยกระดับอนาคตของสุขภาพให้ดีขึ้นครับ
คงต้องหัดทำงานร่วมกับผู้อื่น แบบศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
ถ้ายังไม่รู้จักเขา ดูถูกเขา แต่จะเอาจากเขาข้างเดียวคงแก้ปัญหาลำบาก อิอิ
ทั้ง 2 ประเด็นมีความนัยให้พบเห็นทั่วไป
ทั้งจุดดีและจุดด้อย เป็นอาการแฝงที่แตกต่างจากระบบงานอื่น
กรณีที่คุณหมอจอมป่วนบอก มันมีอยู่มากดูครึ่งๆกลางๆยังไงไม่รู้นะครับ
ถ้าบุคลากรทางการแพทย์ทำตัวได้เหมือนนางผดุงครรภ์สมัยก่อน ชาวบ้านรักตายเลย
ซึ่งไม่ใช่ไม่มี
ยกตัวอย่างที่ท่านบางทรายบอก คุณหมอที่ปาย
ผมเคยไปเที่ยวปายได้รู้ได้เห็นด้วยตา เห็นความตั้งใจที่หายาก
เข้าถึงทุกปัญหาอย่างถึงแก่น
คุณหมอเป็นลูกชาวบ้าน ชาวส่วย เคยพาพ่อแม่ญาติมาที่สวนป่า
เห็นวัตรปฏิบัติต่อครอบครัว/ต่อสังคมแล้วประทับใจจริงๆ
แต่ก็นั่นแหละ ช้างเผือกอยู่ในป่า ไม่อนาทรกับชื่อเสียงหรือความก้าวหน้าแบบสะเดิดสะดุ้ง
ทำงาน เพื่องาน แล้วความสุขจะไปไหนเสีย
แต่ยอมรับว่าเรื่องอย่างนี้ยากที่จะอธิบาย
ต้องช่วยกันกระเทาะสนิทสร้อย หรือสนิมใจ จากทุกฝ่าย