วันที่คนทุ่งกุลาจ้าละหวั่น
อ่าน: 3185
น้ำหลากท่วมท้นทุ่งกุลาร้องไห้เอาจริงๆเมื่อคืนนี้ ปริมาณน้ำพุ่งปริ๊ดคืนเดียวสูง1เมตร ชาวบ้านไม่เคยเจอปรากฏการณ์ประมาณนี้มาก่อน ต๊กกะใจตาตั้งตื่นตูมไปตามๆกัน ถามว่าไม่ดูข่าวสารทางทีวีหรือ ดูสิครับ พวกผมติดตามดูตลอด แต่ไม่นึกว่ามันขึ้นพรวดพราดอย่างนี้ โธ่ๆๆนี่ผมจะทำยังไง ไปติดต่อรถเกี่ยวข้าวไว้ เขาก็บอกว่าขอช่วยพวกที่ลุ่มริมฝั่งก่อน ของเรารออีกสัก2-3วันก็ได้ แต่คราวนี้คาดการผิด คนกุลาตาเหลือกไปตามๆกัน คืนเดียวน้ำท่วมถึงหน้าอก แต่ก็ต้องก้มเกี่ยวเอาข้าวเท่าที่ได้ เสียดาย ทำยังไงได้ เรื่องที่เล่านี่เป็นเพียงน้ำจิ้ม ของจริงโหดมันส์ฮากว่านี้มากนัก
(แรงรถช่วยไม่ได้ แรงคนต้องมาเก็บเกี่ยวอย่างทุลักทุเล)
จะต้องรออีกสักกี่ปี ถึงจะมีน้ำท่วมระดับโกลาหลทั้งประเทศอย่างนี้ มาให้เราได้เรียนรู้ เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสพิเศษของนักสารสนเทศ ที่จะได้ฝึกปรือหรือสะสางข้อมูลหรือวางแผนปรับปรุงระบบกันใหม่ เพราะสิ่งที่เกิดล้วนเป็นสาระประเด็นใหม่ๆสดๆที่หลายกรณียังไม่เคยปรากฏมาก่อน ผมคิดว่าคงมีนักจัดการหรือนักบริหารสารสนเทศจับตาดูเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนจะประมวลผลให้เป็นหนึ่งเดียวนั้น ยากนักที่จะทำนายในระบบบริหารจัดการแบบเรื่องของข้าใครอย่าแหยม!ของประเทศนี้ เราจะเห็นการทำงานแบบจ้าละหวั่นเหมือนผึ้งแตกรัง ช่วยกันคนละไม้คนละมือแต่ไม่ค่อยร่วมมือกันสักเท่าไหร่
(อุปกรณ์หลายประเภทนำมาใช้เกี่ยวข้าว)
พรุ่งนี้ฤๅษีอ้นจะชวนพระอาจารย์ที่สอนงานสารสนเทศชุมชนให้ผม(อ.นฤมล ปราชญ์โยธิน) และอาจารย์คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเยี่ยมสวนป่า วันนี้จึงตระเวนทำการบ้านล่วงหน้า ขับรถ-ถ่ายรูป-สัมภาษณ์ คนเดียวแบบม้วนเดียวจบ คืนนี้จะทำข้อมูลเสนอว่าระบบสารสนเทศท้องถิ่นของมหาชีวาลัยอีสานจ่อจ๋อยอยู่ในจุดไหนยังไง คาดว่าอาจารย์จะมาถึงก่อนเที่ยง ฟังคนขี้โม้แสดงข้อมูลแล้วจะยกขบวนไปทวนความจำที่ร้านก้วยเตี๋ยวเจ้หง๊อด แล้วจะชวนแว็บไปดูน้ำท่วมทุ่งกุลาร้องไห้ : คาดว่าพรุ่งนี้น้ำน่าจะเข้ามาเต็มพิกัดแล้ละครับ
(ขนถ่ายสินค้าที่จุดนัดพบ รถบรรทุกมารับเมล็ดข้้าวจากรถเกี่ยว)
ข้อสังเกตที่ไปพบแบบเร็วๆรีบๆสั้นๆ
ยานพาหนะ
จำนวนรถวิ่งสวนกันเต็มถนน
รถบรรทุกข้าวเปลือกไปส่งโรงงสี
รถปิคอัพขนมัดข้าวขึ้นจากนา
รถอีแต๊กคนเมล็ดข้าวจากเครื่องนวดไปตากริมถนน
รถขายของโทรไปนัดรถอีแต๋นให้มารับสินค้า ณ จุดนัดหมาย
รถเกี่ยวข้าวลุยเต็มทุ่ง
รถบรรทุกเล็กวิ่งขายตาข่ายพลาสติกสีฟ้าสำหรับตากข้าว
รถมอเตอร์ไซด์วิ่งขายซาลาเปาขนมจีบ
รถจักรยานมีน้อยจอดทิ้งไว้ข้างทาง
รถบรรทุกกองทัพภาคที่ 3 วิ่งขนของเข้าหมู่บ้าน
รถตู้ของโรงพยาบาลวิ่งผ่านไปหมู่บ้านข้างหน้า
รถหน่วยกู้ภัยมีหนุ่มๆนั่งสลอนข้างหลัง
(มีรถบริการพลาสติกปูพื้นตากข้าว)
กิจกรรมชาวบ้าน
บางกลุ่มลอยคอเกี่ยวข้าว
บางกลุ่มเอาทรายใส่กระสอบกั้นน้ำ
บางกลุ่มตากข้าว พลิกข้าว
บางกลุ่มเลี้ยงวัวควายเลี้ยงช้าง
บางกลุ่มใส่ข่ายดักปลา
บางกลุ่มดูแลปลาในกระชัง
บางกลุ่มเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง
บางกลุ่มคอยดูแลรถเกี่ยวข้าว
บางกกลุ่มอยู่ในเต็นท์รับบริจาคสิ่งของ
บางกลุ่มฝึกพายเรือเตรียมแข่งขันเรือยาวประเพณี
บางกลุ่มวิ่งเช็คประมาณน้ำ
บางกลุ่มเตรียมที่หลับที่นอนเฝ้าข้าวที่ตากไว้ยามค่ำคืน
ด้านเทคโนโลยี
โทรศัพท์มือถืออำนวยประโยชน์สารพัดอย่าง ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ พอๆกับการดูทีวีรายงานข่าว ถึงกระนั้นก็เถอะ ผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมก็ยังจัดการได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะน้ำท่วมครั้งนี้มันผิดปกติเกินคาดไปอย่างมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเอาข้อมูลเดิมมาเป็นตัวประเมิน เช่นใจเย็น รถรถเกี่ยวข้าว ถ้าลงมือเกี่ยวด้วยมือ หลายครัวเรือนจะเก็บเกี่ยวข้าวได้ทันท่วงที ไม่ต้องมาลอยคอให้เจ็บใจ ปัญหาอยู่ที่ความหนาวเย็น ชาวบ้านบอกทรมานมาก ถึงจะเกี่ยวช่วงกลางวันที่แดดออก ความเย็นก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี ปากคอสั่นริมฝีปากเขียว ถ้าไม่มน้ำอดน้ำทนจนจะทิ้งข้าวไปแล้ว พ่อใหญ่บอกว่า ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ไม่เคยเห็นน้ำอะไรมายังกะจรวด คืนเดียวท่วมเป็นเมตร
(พื้นที่เลี้ยงสัตว์ไม่ลำบากอย่างที่คิด)
ตามหมู่บ้านก็มีหอกระจายเสียง เพียงแต่ระบบข่าวสารเตือนภัยชะล่าใจ ไม่แจ้งย้ำว่า น้ำท่วมเที่ยวนี้ไม่ธรรมดานะพี่น้อง มันมาเร็วท่วมเร็ว ถ้าประกาศอย่างนี้ จะกระตุ๊กต่อมตาตื่นให้ขมีขมันจัดการข้าวในทุ่งอย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่ เท่าที่สอบถาม ชาวบ้านรู้ว่าน้ำจะมาท่วมแน่ แต่นึกว่าน้ำจะมาช้าๆท่วมช้าๆ พวกช้าๆได้พร้าเล่มงามยังมีอยู่เยอะ บางคนก็เลิกเกี่ยวข้าวมาหลายปีแล้ว รอจ้างรถเกี่ยวข้าวดีกว่า แต่น้ำมามากรถลงเกี่ยวให้ไม่ได้ ก็เลยอึ้งกิมกี่ไปเท่านั้น
(ผู้คนออกมาหนาวสั่นกายใจในท้องทุ่ง)
กลุ่มที่เกี่ยวข้าวด้วยมือ เอากาละมังพลาสติกลอยไว้ข้างตัว แล้วเกี่ยวข้าวใส่ บางคนเอาถังสังกะสีสี่เหลี่ยมมาใช้ด้วย ถามว่าเป็นถังสำหรับขายลูกปลา บ้างก็เกี่ยวแล้วมัดวางไว้บนผิวน้ำ แล้วไปเอาเรือมารวบรวมอีกทีหนึ่ง ขนข้าวขึ้นฝั่งส่งต่อรถปิคอัพ ไปส่งรถนวดข้าว ขนกลับมาตาก เท่าที่สอบถาม ชาวบ้านบอกว่าแดดลมอย่างนี้ พลิกข้าวบ่อยๆใช้เวลา2วันก็ใช้ได้ ถ้าขายเปียกๆโรงสีซื้อก.ก.ละ8-9บาท ถ้าตากแห้งตามที่โรงสีกำหนดจะได้ราคาก.ก.ละ14-16บาท ที่โรงสีจะมีเครื่องตรวจความชื้นเป็นแท่งยาวๆแทงลงกลางรบบรรทุก ก็จะวัดค่าความชื้นไปตีราคาให้ได้ ถ้าไม่แน่ใจก็เอาข้าวมาสีกับเครื่องสีเล็กๆหาค่าความชื้นอีกรอบหนึ่ง
(เกี่ยวข้าวแถมหอยโข่งมาเป็นเมนูเปิบกลางทุ่ง)
จะมีพ่อค้าเอาผ้าข่ายพลาสติกวิ่งขายไปตามหมูบ้าน ตัดเป็นแผ่นความยาวประมาณ6-8เมตรรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางเจ้าก็แบ่งให้มอเตอร์ไซด์เป็นม้าเร็ววิ่งเจาะลูกค้า ก่อนที่เจ้าอื่นจะมาขายตัดหน้าหรือชาวนาไปซื้อมาจากตลาด ราคาขายส่งในท้องทุ่ง 5 ผืน คิดราคาประมาณ 1,200-1,500 บาท เรียกว่าบริการประทับจิต ถ้ามีพื้นที่โล่งๆ เช่น ที่ว่างในโรงเรียน ลานวัด ในบริเวณหน้าบ้าน ชาวนาจะตากข้าวใกล้บ้าน เหมาะกับผู้ที่มีข้าวไม่มาก พวกที่มีข้าวปริมาณมากจะเลือกริมถนน มีทั้งตากบนถนนโดยยึดพื้นที่1เลน เหลือไว้อีกเลนสำหรับสัญจร บางหมู่บ้านอยู่ติดกับถนนสายสำคัญที่รถสัญจรมากๆ ชาวนาจะตากด้านข้างถนนตามความลาดเอียง
เท่าที่ประเมินในวันนี้ คิดว่าความเสียหายอาจจะไม่มากอย่างที่คาดไว้ พื้นที่เสียหายจะกระทบมากในนาลุ่มที่วัดระยะห่างจากริมฝั่งแม่น้ำมูลประมาณ5 ก.ม. จุดดีอยู่ที่กรมทางหลวงได้สร้างถนนยกระดับระหว่างอำเภอหรือจังหวัดสูงพ้นน้ำอยู่แล้ว ถนนเหล่านี้เป็นเขื่อนกั้นชะลอไม่ให้น้ำมาท่วมอีกฟากหนึ่ง ทำให้บรรเทาความเสียหายได้ประมาก นาในที่ลุ่มส่วนมากจะเร่งเก็บเกี่ยวข้าวได้ประมาณ70% ดังนั้นเมื่อเฉลี่ยรวมแล้ว ข้าวทุ่งกุลาร้องไห้น่าจะเสียหายเพราะน้ำท่วมระหว่าง30-35% ปีนี้ข้าวงามผลผลิตดี ปริมาณข้าวคงจะไม่กระทบมากอย่างที่คิด
· เรื่องที่บอกเล่า-เป็นข้อมูลคร่าวๆเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้นะครับ ของจังหวัดอื่น เช่น ศรีสะเกษ-ยโสธร-อุบลฯ ไม่ทราบว่าจะอ่วมอรทัยแค่ไหน ท่านที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเอาข่าวสารมาแบ่งปันกันก็ดีนะครับ
· ช่วงนี้ยังปิดเทอม เด็กๆได้ช่วยพ่อแม่ทำงานในท้องทุ่ง
· อาหารวัวควายไม่กระทบมากอย่างที่คิด มีหญ้าและพื้นที่เกี่ยวข้าวแล้วให้เลี้ยงวัว-ควาย-ช้าง-อย่างเพียงพอ อาจจะมีบ้างที่ต้องต้อนไปเลี้ยงไกลบ้าง สำหรับหมู่บ้านที่น้ำท่วมมากๆ
· พวกเลี้ยงปลาในกระชังไม่กระทบมากนัก เพียงแต่ดูแลกระชังให้เรียบร้อย ระวังจะมีขอนไม้ลอยมากระแทกกระชังเสียหาย
· พวกเลี้ยงเป็ดทุ่งถือเป็นโอกาสทอง มีข้าวหอมมะลิ ใบหญ้าสดๆอ่อนๆเลี้ยงเป็ดอย่างเหลือเฟือ คุณภาพของไข่เป็ดทุ่งกุลามีคุณภาพดี เป็นไข่เป็ดอินทรีย์ที่อร่อยที่สุดในโลก เป็ดกินข้าวหอมมะลิ อากาศดี อารมณ์ดี มีที่น้ำว่ายเล่น แต่เจ้าของเป็ดบอกว่า สบายๆอย่างนี้เป็ดเผลอปล่อยไข่ทิ้งลงน้ำมากเหมือนกัน อ้าว! นึกว่าจะดีไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
· คนอีสานกินง่ายอยู่ง่าย ระหว่างที่เกี่ยวข้าวก็เก็บหอยโข่งใส่กระเป๋ามาด้วย ผมก็เพิ่งจะได้ความรู้ใหม่ วิธีดูหอยโข่งกับหอยเชอรี่ หยิบมาอธิบายวิธีดูชนิดหอย มีข้อสังเกตหอยเชอรี่ฝาจะบางและแป้นใหญ่กว่าหอยโข่ง ชาวบ้านไม่นิยมกินหอยเชอรี่ บางคนก็เก็บมาทิ้งริมถนน บางหมู่บ้านเอาไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ บางคนเอาไปป่นเลี้ยงเป็ด เลี้ยงกบ
· ปัญหาน้ำท่วมภาคอีสาน กับภาคกลางแตกต่างกัน ภาคกลางจะยุ่งอยู่กับข้าวของในบ้านเสียหาย เรือกสวนไร่นาล่ม น้ำท่วมสูง น้ำเน่าเหม็น การค้าขายได้รับผลกระทบ ส่วนภาคอีสานจะกระทบส่วนมากจะเป็นความเสียหายเรื่องข้าวในนา แต่มีพื้นที่รับน้ำจำนวนมาก น้ำท่วมบ้านเรือนไม่มากไม่นาน น้ำลดลงเร็ว จึงฟื้นตัวได้เร็ว
· ในแง่ของการช่วยเหลือตัวเอง เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อบต.ตั้งงบประมาณล่วงหน้าให้แต่ละหมู่บ้าน ก็น่าจะจัดการได้เอง ไม่ต้องรองบประมาณส่วนกลางจัดหาให้ เช่น จัดเตรียมอุปกรณ์สู่ภัยน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า
- จัดหาเรือพาลสติกส่วนกลางหมู่บ้านละ5-6 ลำ
- ไฟฉาย/ถ่าน/เทียนไข/ไฟเช็ค
- แบตเตอรี่ ใช้ของรถไถเดินตาม ของรถปิคอัพ-รถบรรทุก
- ถุงดำ/ถังพลาสติกใช้สารพัดประโยชน์
- อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง คนอีสานหาปลาเก่ง ยังพากันไปล่าสัตว์หนีน้ำไปเกาะตามต้นไม้มาทำกับแกล้ม
- งบประมาณคาดว่าจะใช้ประมาณ50,00-100,000บาท/หมู่บ้าน
- ยารักษาโรค คนชนบททรหดกว่าใช้ยาน้อยกว่าคนกรุง เพราะคุ้นชินกับสภาพธรรมชาติ อยู่กลางแจ้งออกกำลังกาย จึงแข็งแรงสู้สภาพได้พอสมควร
· ควรพิจารณาวิธีแก้ไขปัญหาของคนเมืองกับคนชนบท อาจจะมีประเด็นที่ปลีกย่อยแตกต่างกัน เช่น แทนที่จะเอาดินทรายมากรอกถุงกั้นน้ำเหมือนคนกรุง ในชนบทอาจจะเอารถแม็คโคมาล้วงดินข้างถนนวางเป็นคันดิน เอาปุ้งกี๋ตบดินให้แน่น ยกสูงได้ 1-2 เมตรกว้าง3-4 เมตร
· ควรปรับปรุงระบบแจ้งเตือนที่กระชับแบบเจาะใจ
· หลังจากนี้2เดือน ปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำก็จะตามมา ควรพิจารณาสืบเนื่องต่อจากน้ำท่วมไปถึงน้ำลด น้ำเพื่อการเพาะปลูกในหน้าแล้ง ภาระหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจะมีวาระคิดและใคร่ครวญเรื่องเหล่านี้ในพื้นที่ๆมีปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ
· จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ในแง่มุมไหน?อย่างไร? นักสารสนเทศช่วยตอบที
Next : ระบบสารสนเทศที่สะดุ้งและดิ้นได้ » »
4 ความคิดเห็น
ศุกร์-อาทิตย์นี้ ลงพื้นที่ไม่ได้ วีซ่าไม่ผ่าน ป่วยแล้วห้ามซ่า ขอบคุณที่ชวนครับ อยากไปงมโข่งเหมือนกัน แต่คงมีคนงมกันเยอะแล้ว ฮี่ฮี่ฮี่
บางที อบต.ต่างๆ ควรจะลงทุนสร้างยุ้งฉางรวมไว้เหมือนกัน เพราะว่าหากรวมกันเก็บไว้ ป้องกันน้ำท่วมได้ง่าย สามารถอบแห้ง ลดความชื้นได้ง่าย เนื่องจากอยู่ในที่เดียว ไม่ต้องแยกย้ายต่างคนต่างสร้าง ต่างคนต่างทำ [เก็บตะวัน (2)]
-ข้อเสนอแนะให้ อบต.คิดและทำอะไรเพื่อชุมชนตัวเอง
-คิดว่า อบต.ต้องการอย่างมาก แต่ไม่หวังว่าจะให้ทำตาม
-แต่ก็คิดได้ก็ทำ หรือดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสม
-ปัญหาอยู่ที่ใครจะช่วย อบต.คิด
ขอขอบคุณสำหรับเรื่องราวครับพ่อ เป็นข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ได้คำนึงถึงและเก็บในรายละเอียด
ใครจะช่วย อบต.คิด? ตรงนี้ครับสำคัญ เพราะประหนึ่งว่าคนนอกไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียงหรอกครับ บางแห่งก็นักการเมืองท้องถิ่น ฟังใครไม่เป็น
ถ้า อบต.ไหน ผู้นำีมีไอเดียและแนวคิดดีๆ จะเห็นว่า อบต.นั้น ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีครับ
เรื่องเหล่านี้ ถ้าคิดถึงการพึ่งตนเอง พึ่งกันเอง ทำได้หลายระดับ
เว้นแต่น้ำท่วมหนักอย่างภาคกลางนั่นต้องว่ากันเป็นระบบเชิงโครงสร้าง
ออกกติกาไม่ให้กระทบทางน้ำ กระทบสภาพภูมินเวศ
-ไม่รู้จะทำยังไงดูๆกันไปนะโย