ไปเติมความรู้ที่ภูพาน

โดย sutthinun เมื่อ 6 ตุลาคม 2010 เวลา 7:32 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 10249

(ได้รับความกรุณามากจากศูนย์พัฒนาภูพาน)

การเติมความรู้ ก็เหมือนการรดน้ำต้นไม้นั่นแหละ นอกจากจะช่วยให้รอดพ้นจากวิฤติความแห้งแล้งแล้ว ยังช่วยต่อระยะความชุ่มชื้นให้การเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ธัญญาหารให้ต่อเนื่องตามสมควร ยิ่งในสภาวะความผันผวนทางธรรมชาติเช่นนี้ด้วยแล้ว สิ่งที่ควรจะเป็นได้กลายเป็นความจำเป็นไปเสียแล้ว ในเมื่อระบบสารสนเทศการสื่อสาร ทำให้มนุษย์เราค้นคว้าหาความรู้ได้สะดวกขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การเดินทางไปศึกษาดูงาน เพื่อการวางแผนที่จะยกระดับการสร้างพันธมิตรทางวิชาการ ระหว่าง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องจากพระราชดำริ กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่ทำกระบวนการเชิงรุก โดยการไปทำ MOU กับ มูลนิธิชัยพัฒนาในปลายเดือนนี้

(ผ.อ.ศูนย์ฯและรองผู้อำนวยการร่วมเจรจาต้อนรับ)

ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ ตั้งอยู่ที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ห่างอำเภอเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 13,300 ไร่ การดำเนินงานแบ่งเป็น

พื้นที่พัฒนาการเกษตรประมาณ 2,300 ไร่

พื้นที่เขตปริมณฑลเพื่อการพัฒนาป่าไม้ประมาณ 11,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า ป่าภูล้อมข้าวและป่าภูเพ็ก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่พุทธศักราช 2527 โดยเพิ่มศึกษาค้นคว้าวิจัยทดลองงานพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่น และนำออกเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาอาชีพ ฟื้นฟู และพัฒนาป่าไม้ การปลูกพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร

ผมไปในฐานะกองเชียร์มากกว่า ช่วยประสารกิจประสานใจให้ออกแบบการทำงานระหว่างกันให้เนียนและแนบแน่น ระหว่าง 2 ขั้ววิชาการที่มีพลวัตรในของ 2 องค์กรใหญ่ภาคอีสาน ตามเจตนารมณ์ของมหาชีวาลัยอีสาน ที่จะประสานให้คนดีมาเจอกัน ทำงานร่วมกัน อนึ่ง การไปรู้ไปเห็นเป็นประโยชน์โดยตรงของตัวเองด้วย ที่จะไปเปิดหูเปิดตาว่าปีหนึ่งๆภาควิชาการในสถาบันที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว

ช่วงเช้าในระหว่างเก็บของเข้ากระเป๋า ผ..ศูนย์ศึกษาภูพาน ที่เพิ่งจะบินกลับมาถึงกลางดึก กรุณามาก๊อกๆที่ประตู เพื่อที่จะได้สนทนากันเบื้องต้น ตกลงวางแผนจะดูกิจกรรมอะไรบ้าง เพราะที่ศูนย์ฯแห่งนี้มางานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จระดับโดดเด่นถึง19รายการ ซึ่งเราต้องเลือกเท่าที่เวลาจะอำนวย ตกลงเราขอชมกิจกรรมหลัก 3 ดำ คือ ไก่ดำ หมูดำ วัวดำ และการเลี้ยงกวาง ส่วนเรื่องรองก็ขอดูแบบปิ๊งแว๊บ ท่านเองจะต้องไปประชุมรับนโยบายจากผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครที่เพิ่งย้ายมารับตำแหน่ง นัดหมายกันว่าจะมาพบปะกันอีกครั้งหนึ่งในช่วงบ่าย ท่านมอบหมายให้รองผ..ศูนย์นำชม

8.30. รถพ่วงคันสวยมารอรับ พร้อมกับมัคคุเทศก์หนุ่มหล่อบรรยายไปตลอดทาง เนื่องจากการประสานงานล่วงหน้า ผู้รับผิดชอบแต่จะสายงานได้รอรับเพื่อถ่ายเทความรู้ให้กับคณะของเรา จุดแรกที่เราลงไปรับความรู้ เป้นงานด้านการประมงน้ำจืด ไปดูการเพาะลูกปลาตั้งแต่เป็นไข่ ไล่ตามลำดับอายุ ได้ข้อมูลการแปลงเพศปลานิล ด้วยการให้กินอาหารผสมฮอร์โมน สามารถเปลี่ยนปลาเพศเมียให้เป็นปลาเพศผู้ ที่โตเร็วให้ผลผลิตมากกว่า เราได้ชมการจัดการประมงน้ำจืดครบถ้วนทุกแนวความคิดเชิงประยุกค์ เช่นการเลี้ยงไก่-เป็ด บนบ่อปลา การเลี้ยงหอยเชอรี่เพื่อทำอาหารปลา การขุดบ่อ-เลี้ยงปลา-ในลักษณะต่างๆ ต่อด้วยการชมการปลูกผัก สมุนไพร การใช้ห่านเป็นเครื่องตัดหญ้าในแปลงผลไม้ การเลี้ยงจิ้งหรีด

รถพ่วงพาเราไปจอดตรงจุดศึกษาเรื่องปศุสัตว์ เราได้พบนายสัตว์แพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร พระเอกของกิจการวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์ 3 ดำ ดังกล่าว หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ท่านนี้ เป็นเพชรเม็ดงามของศูนย์ภูพานที่ผมชื่นชมมาก ท่านเป็นคนที่ไม่เคยหยุดนิ่งการคิดการทำ ถึงบทบาทจะเน้นด้านปศุสัตว์ แต่งานที่สืบเนื่องกับเรื่องอื่นๆก็ลุยแบบไม่ยั้ง เช่น งานคิดค้นด้านพลังงานน้ำพลังงานลม การออกแบบตะบันน้ำสูบน้ำจากบ่อหนึ่งไปอีกบ่อหนึ่งโดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ เอามูลสัตว์ไปปั่นเครื่องกำเหนิดไฟฟ้า ถึงวันนี้จะติดเครื่องปั่นไฟได้เพียง 10 นาที แต่ก็ไม่ย่อท้อที่จะเดินหน้าศึกษาให้ได้พลังงานจากมูลสัตว์ นักวิจัยหนุ่มชี้ให้ดึ กังหันลมขนาดใหญ่ แผงแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ที่สถาบันต่างๆเอามาสนับสนุน สิ่งเหล่านี้ราคา3-8แสนบาท แต่ประสิทธิภาพการใช้งานไม่คุ้มกับราคา ไม่เหมาะกับเกษตรกรแน่ๆ นักวิจัยท่านนี้เผยความตั้งใจว่า ภายใน2ปีศูนย์ฯแห่งนี้จะพึ่งพาพลังงานของตนเองให้ได้อย่างน้อย 3-50%

ดำแรก คือไก่ดำ ที่ศูนย์ฯแห่งนี้ได้พัฒนาสายพันธุ์จนตั้งชื่อเป็นเอกลักษณ์ของตนเองว่า ไก่ดำภูพาน ไก่ดำจัดเป็นอาหารบำรุงสุขภาพ โดยเชื่อว่าถ้าบริโภคสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้สมองแจ่มใส กระชุ่มกระชวย เตะปิ๊บดังถึงกระเด็น จึงมีการบริโภคทั่วไปและทำเป็นซุปไก่ดำ ทางศูนย์ฯได้ปรับปรุงจนได้ไก่ดำพันธุ์ดี ทนโรค ทนต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่าย กินเก่ง โตเร็ว หากเกษตรกรเลี้ยงจำนวน 5 ตัว มีพ่อพันธุ์ 1 ตัว ระยะ 1 ปี แม่ไก่สามารถให้ไข่ 3 ชุดๆละ10-15 ฟอง ปีหนึ่งๆจะได้ลูกไก่ 30-40 ตัว ซึ่งราคาขายไก่รุ่นน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ราคาตัวละ 250 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับราคาไก่ทั่วไปตัวละ70-80 บาทแล้วดีกว่ากันเยอะเลย ที่สำคัญคือการเลี้ยงไว้บำรุงสุขภาพในครัวเรือน จะได้แข็งขันเตะปิ๊บกันวันละ3เวลาหลังอาหารก็ยังได้ นอกจากไก่ดำแล้ว สัตว์ปีก เป็ด ห่าน ก็ทำการเลี้ยงทดลองเช่นกัน

ดำที่ 2 คือหมูเหมยซาน สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้รับมอบจากรัฐบาลจีน แล้วพระองค์ท่านมอบหมายให้ศูนย์แห่งนี้ศึกษาหาวิธีเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ คุณหมอหนุ่มเล่าว่า ..เหมยซานมีปัญหาพอสมควร หูใหญ่ ตัวสั้น สีดำ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดด้อยที่ชาวบ้านทักท้วง คำท้วงติงได้กลายมาเป็นโจทย์วิจัยขนานแท้ นักวิจัยได้เอาหมูกี้พื้นเมืองมาปรับปรุงพันธุ์ ทำให้แก้ปัญหาหน้าทู่หูใหญ่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ชาวบ้านท้วงติงอีกว่าเหมยซานมีเนื้อแดงน้อย คุณหมอท่านนี้ก็เอาหมูลูกผสมจากยุโรปมาผสมข้ามพันธุ์ ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะมีปริมาณเนื้อแดงเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจแล้ว โครงร่างของหมูชั้นนี้มีลำตัวยาวตัวใหญ่ขึ้นมาก ตั้งชื่อให้ว่า หมูภูพาน1” มีลักษณะสีดำ-น้ำตาลแดง ลำตัวไม่ใหญ่มากนัก ขาดำ เล็บดำ หูตั้งกึ่งปรกเล็กน้อย จมูกสั้นดำ เลี้ยงง่าย หากินเก่ง แข็งแรง แต่ก็ยังโจทย์ตามมาอีก ชาวบ้านบอกว่าหมูสีดำไม่เป็นที่นิยม แถมยังขูดหนังออกก็ยังมีผิวสีดำติดอยู่ คุณหมอได้เอาภูพาน 1 ไปผสมกับหมูพันธุ์ลาสไวน์ซึ่งมีสีขาว สามารถเปลี่ยนสีหมูดำเป็นหมูขาวแถมตัวโตขึ้น แต่อาหารการเลี้ยงดูยังคงใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นหลัก หมูชั้นนี้ ตั้งชื่อว่า หมูภูพาน2” เมื่อแก้ปัญหาตามที่ร้องขอได้แล้ว หมูภูพาน2 จึงออกไปสู่ครัวเรือนสมาชิกจำนวนมาก หมูภูพาน ที่พัฒนาสายพันธุ์แล้ว เกษตรกรสามารถนำไปเลี้ยงปล่อยหลังบ้าน เพื่อกินเศษอาหารที่เหลือเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์ เป็นเสมือนออมสินประจำบ้าน 4,000-5,000 บาท/ตัว อนึ่ง อาจจะเลี้ยงเพื่อผลิตลูกหมู จำหน่ายเป็นหมูหันก็ย่อมได้ เนื่องจากตกลูกเฉลี่ยนแม่ละ 12-15 ตัว ขายได้ตัวละ 6-700 บาท

ดำที่3 ได้แก่โคทาจิมะ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้มอบให้แก่สมเด็จพระเทพฯ พระองค์ท่านได้มอบหมายให้ศูนย์ภูพานรับพระราชทานมาศึกษาดูแล ในชั้นต้นยากลำบากแสนสาหัส โคขุนจากแดนซากุระถึงกับล้มป่วย ทำให้เจ้าหน้าที่ท้อแล้วท้ออีก แต่คุณหมอท่านนี้สู้ถวายหัวแบบกัดไม่ปล่อย พยายามศึกษาทดลองอย่างจดจ่อเป็นเวลาหลายปี มาถึงวันนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า โคทาจิมะภูพาน ที่เป็นชื่อแห่งความภาคพูมใจ สามารถพิสูจน์ให้นักวิชาการเห็นว่า มีจุดดีกว่าโคขุนโพนยางคำหลายก้าวเชียวแหละ โคที่ผสมเทียมอ้วนตันตัวกลมดิก ผมถามว่า ถ้าเลี้ยงได้ในอัตราที่เห็นโท่นโท่อยู่นี้ จะจำหน่ายได้ตัวละเท่าไหร่ คุณหมอฯบอกว่า ตัวละ 5-100,000 บาท ต่อการเลี้ยงขุนในเวลา 1 ปี

แนวทางการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ มุ่งเน้นการใช้โคแม่พันธุ์ที่ราษฎรมีอยู่แล้ว มาผสมกับน้ำเชื้อโคทาจิมะภูพาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรโดยใช้เวลาในการขุนลูกโค เพื่อสร้างรายได้โดยใช้ระยะเวลาในการขุนเฉลี่ย 447 วัน ราษฎรจะมีรายได้เฉลี่ยตัวละ 15,251 บาท ต่อไปถ้าพัฒนาพันธุ์ยกระดับทาจิมะให้มีสายเลือดสูงขึ้น รายได้ก็จะเพิ่มในอัตราก้าวหน้าไปถึงระดับแสนบาทได้

เรื่องสุดท้ายมาจบที่การเลี้ยงกวาง ที่นี่ศึกษาทดลองกวางหลายพันธุ์ ได้ผลิตเขากวางอ่อนไปทดสอบพละกำลังชายไวไฟทั้งหลาย พบว่าได้รับการตอบสนองดีมาก มีใบสั่งจากอเมริกา>>มีเท่าไหร่เหมาหมด เอาละสิ พวกกะเหี้ยนกระหืออย่างเราก็เลยอดชิม ไม่เหลือติดขวดแม้แต่ปลายนิ้วก้อย เท่าที่คุยกันพบแง่ดีมากมาย โดยเฉพาะคนที่ปลูกสร้างสวนป่า กวางกินง่ายกว่าวัวเสียอีก ตัดกิ่งไม้มาโยนโครม กวางจะจัดการทั้งใบทั้งกิ่งไม่เหลือเหลือ เลี้ยงมา 3-4 ปี ตอนนี้แน่นคอก มีจุดที่ยังเป็นปัญหาอยู่อย่างเดียว คือคอกต้องแข็งแรงมาก กวางเหล่านี้กระโดดสูงถึง 2 เมตรเศษ แนวรั้วด้านข้างจะต้องมั่นคงแข็งแรงพิเศษ ใช้ตาแกรงตาข่ายเหล็กแบบขังสัตว์ป่าอันตราย อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นราคาพ่อแม่พันธุ์ ที่ยังมีราคาแพง 2 หมื่นบาขึ้นไป

เรื่องกวางน่าสนใจมาก

แต่การสร้างคอกก็แพงเหลือใจ

ถามคุณหมอว่า ทำคอกเล็กๆในเนื้อที่ครึ่งงาน

ทำรั้ว-เทพื้น-ทำหลังคา ทำที่ตัดเขา ต้องลงทุนประมาณ 700,000 บาท

ยังมีค่าพันธุ์อีกละ

สรุปแล้วกว่าจะผลิตยาเต๊ะปิ๊บดังให้ตัวเอง

ต้องมีเงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท

ผมจะไปหาที่ไหน??

คงปล่อยให้อนาคตหมดเรี่ยวแรงต่อไป

โธ่ๆๆ เหี่ยวหนอเหี่ยวหด !!

« « Prev : นอนภูพานคิดถึงตาหวานตะงิดๆ

Next : แมลงปอยักษ์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ไปเติมความรู้ที่ภูพาน"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.66076898574829 sec
Sidebar: 0.19827890396118 sec