มาปลูกป่าด้วยใจดีไหมน้อง
อ่าน: 7175มีรายงานระหว่างทางว่าฝนตกหนักจากบุรีรัมย์-สุรินทร์ แต่อุบลฟ้ายังเงียบสงบ วันนี้นัดญาติธรรมและคณะเจ้าหน้าที่-นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลฯมาปลูกป่าที่บริเวณร่องก่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติในบริเวณด้านหลัง พื้นที่เป็นดินไหลทรายมูล มีหน้าดินน้อยมาก ต้นไม้จึงขึ้นเป็นย่อมๆ จุดที่เวิงว้างปล่อยให้มีการขุดเอาดินไปถมงานก่อสร้างต่างๆ ถ้าพัฒนาให้ดีก็จะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญในอนาคต มหาวิทยาลัยทำถนนลูกรังรอบบริเวณ ได้ปลูกไม้ยางนา 1,600 ต้น มาตั้งแต่ปี 2545 มีต้นยางนายืนเรียงรายเป็นระยะ2ข้างทาง เนื่องจากคุณภาพดินสื่อมโทรมดังกล่าว ทำให้ไม้ยางไม่สามารถเจริญเติบโตเท่าที่ควรจะเป็น ทุกต้นแคระแกร็น ถ้าเป็นพื้นที่อื่นปลูกแล้วเทวดาเลี้ยงต่อให้ แต่พื้นที่นี้เทวดาเมิน มนุษย์ที่ตั้งต้นปลูกเป็นคนใจดี แต่คนที่ดูแลต่อมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ แทนที่ต้นยางจะเจริญเติบโต ก็ชะงักงั้นน่าเวทนายิ่งนัก วันนี้จึงจัดรายการปลูกเสริมต้นใหม่ๆ ใส่ปุ๋ยให้ต้นเดิม วางแผนที่จะใส่ปุ๋ยใส่ใจลงไปทุกปี
(ต้นยางนาที่ปลูกในดินเสื่อมโทรมโตช้า ควรจะต้องเติมปุ๋ยให้ทุกปี)
7.00 น.ท้องฟ้าคลุมครึ้ม ฝนเทจั๊กๆ ..เอาละสิ เตรียมงานไว้หมดแล้ว ประชาสัมพันธ์ไปแล้ว ขุดหลุมใส่ปุ๋ยขนต้นพันธุ์ไปรอแล้ว ถ้าฝนไม่หยุดจะทำยังไง ผมจึงบ่นอุบอิบในใจบอกเทวดาว่า
ขอความร่วมมือหน่อยนะพระพิรุณ
เทวดาเป็นใจ ประมาณ 8.30 น.
ฟ้าเปิดแดดเปรี้ยง ! เอาละสิ
คำขอร้องไม่สมบูรณ์ ลืมระบุไปว่า ให้งดฝนไม่ต้องแถมแดด
รถมาแล้วทุกคนทะยอยเดินทางไปยังจุดปลูก
ฝ่ายรับผิดชอบจัดการด้านต่างๆไว้คอย
มีเต็นท์ อาหาร ผลไม้ น้ำดื่ม รอรับ
คณะปลูกป่าประมาณ200คนมาพร้อมเพรียงกัน อาจารย์สุพัฒน์ที่ดูแลโครงการขอให้พูดอะไรนิดหน่อย ผมเล่าสั้นๆว่า..วันนี้เราจะได้ทำหน้าที่มนุษย์ที่พึงกระทำและรับผิดชอบต่อโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เราได้แต่เอาๆๆจากธรมชาติตลอดมา ซ้ำร้ายบางคนใจร้ายทำลายป่าจนเกิดวิกฤติโลกร้อน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังดื้อตาใส เพราะอ็อกซิเจนยังมีพอให้หายใจคล่อง >>จึงยังอยู่สบายๆหายใจคล่องคอใช่ไหมละครับ
(อาคาเซียต้นเล็กไปหน่อย ไม่เอาโคต้าก็จะทอดยาวไปต่อหางแถวอีกยาว)
ผมขอให้ถ่ายเทความรักจากหัวใจไปสู่มือ ใช้มือปลูกความรักความดีงาม วันนี้มีต้นไม้ 2 สายพันธุ์ คือ เอกมหาชัย กับ อาคาเซียพันธุ์ดี เอกมหาชัยเป็นไม้เอาเมล็ดมาสะกัดน้ำมันได้ กิ่งก้านทำเชื้อเพลิงทำปุ๋ยได้ เนื้อไม้แปรรูปได้ ส่วน อาคาเซียพันธุ์ไฮบริท เป็นไม้ตระกูลถั่ว ปลูกบำรุงดิน เนื้อไม้สวยคุณภาพดีไม่แพ้ไม้ประดู่ โตเร็วกว่า ใบเอามาเลี้ยงสัตว์ได้ดี กิ่งก้านทำปุ๋ยทำเชื้อเพลิง วันนี้ปลูกต้นเล็กไปหน่อย เพราะโครงการล่าช้า ถูกที่อื่นเขาตัดหน้าเอาต้นโตๆที่จองไว้ไปเกลี้ยง แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่เอาเราก็จะเสียโอกาส เสียเวลาไปอีกปี ปลูกไปเถอะ ผมจะตามมาซ่อมภายหลัง >> ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มาทำความดีร่วมกัน และ ขอบอกว่า ..
รักต้นไม้ไม่อกหักแน่นอน อิ อิ
ปลูกป่าวันนี้ เป็นเสมือนการปลูกใจ ได้รับความร่วมมืออย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะญาติธรรมจากศรีษะอโศก คุณยายอายุ80กว่าปีเป็นหัวหน้าลุย ประกอบด้วยกองทัพธรรมที่ขยันขันแข็งมาก เตรียมจอบเสียม ข้าวต้มมังสะวิรัติหม้อโต ช่วยปุ๋ยอินทรีย์อีกครึ่งคันรถ 6 ล้อ (2ตัน) ได้เวลาเราก็เคลื่อนพล หยิบต้นไม้คนละต้นสองต้นแยกย้ายกันปลูก2ฝากถนนระยะทาง4กม. อาจารย์สุพัฒฯ์และคณะได้ขุดหลุมใส่ปุ๋ยไว้ให้แล้ว รถบรรทุกกล้าไม้ตามไปเรื่อยๆ ผู้คนกระจายเต็มถนน ปลูกไปคุยกันไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก มีช๊อทเด็ดๆประทับใจเยอะมาก คุณพ่อชวนคุณลูกปลูก คุณน้าชวนคุณหลานปลูก เพื่อนๆปลูกไปเฮไป ต้นไม้ 2,000 ต้น ระยะทาง 4 กิโลเมตร จบเรียบร้อยภายใน 2 ชั่วโมง
แต่เรื่องเด็ดๆไม่จบง่ายๆหรอกนะ คณะที่ปลูกวันนี้มีเยาวชนจากประเทศเกาหลี ที่มาในโครงการแลกเปลี่ยนกับเยาวชนของชาวอโศก เด็กระดับมัธยมต้น เป็นชาย 6 คน หญิง 9คน มีอาจารย์ติดตามมาดูแล เด็กจากเกาหลีจะมาศึกษาเรียนรูวิถีอโศก ที่เน้นเรื่องธรรมชาติเพื่อชีวิตเป็นเวลา 4 เดือน เห็นความตั้งใจของการศึกษาเกาหลีแล้วชื่นชมมาก
ไม่มีคำว่าไฟไหม้ฟางในวัฒนธรรมของเกาหลี
(นักศึกษาเกาหลีลุยเรียนทุกสภาพการณ์ ทำไมเด็กไทยไม่ชอบเรียนในโลกกว้างอย่างเขาบ้าง)
แทนที่จะไปบ้าคลั่งดาราเกาหลีแบบฉาบฉวย ก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างลึกซึ้ง เท่าที่สอบถาม เด็กๆจากศรีษะอโศกไปอยู่ในค่ายเรียนรู้ที่เกาหลีเช่นกัน ถ้าไขว้การเรียนระหว่างกันอย่างนี้ การศึกษาไทยจะก้าวไปสู่สากลได้อย่างมั่นยืน เด็กๆเกาหลีกับเด็กไทยช่วยกันปลูกต้นไม้อย่างสนุก ท่ามกลางแดดเปรี้ยง ผิวบอบบางใบหน้าหนูๆจากเกาหลีแก้มแดงปลั่งอย่างกับลูกท้อ จากการสังเกตุในเวลาเร็วๆ ได้เห็นเค้าของ > >
· แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
· เรียนรู้ภาษาในสภาพธรรมชาติ
· สร้างมิตรภาพน้ำใจไมตรี
· เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์เข้าหากัน
(มอเตอร์ไซด์วิ่งแจกหมวก กับคุณพ่อชวนคุณลูกเก็บพลาสติกที่แกะออกถุงเพาะชำ)
อโศกคืออโศก พร้อมเสมอที่จะบริการที่ยิ่งว่าจิตสาธารณะตามรูปแบบ
มีวัฒนธรรมกิจกรรมเชิงประจักษ์ที่ข้มข้นมาก
มีรถมอเตอร์ไซด์วิ่งแจกหมวก
คุณพ่อชวนคุณลูกถือถุงปุ๋ยตามเก็บถุงเพาะชำพลาสติกหมดจดเรียบร้อย
ทุกอย่างเกิดขึ้นจากใจสั่งมาทั้งนั้น
(สภาพร่องก่อ ที่รอรับการจัดการและพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ)
ในระหว่างที่ชาวคณะปลูกต้นไม้ ผมถือโอกาสปลีกตัวไปสำรวจร่องก่อที่อยู่ติดกัน เป็นพื้นที่ๆมหาวิทยาลัยให้ผู้รับเหมามาขุดดินไปใช้ในงาน แต่ก็ปล่อยให้ขุดสะเปะสะปะไม่มีการวางแผน แทนที่มหาวิทยาลัยจะได้พื้นที่ลุ่มน้ำ กักเก็บน้ำ ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ภาพที่เห็นเป็นซากของการปล่อยปะละเลยไม่มีการจัดการอะไรเลย ผมเคยเข้าร่วมประชุมเรื่องนี้ คุยกันว่าน่าจะหาคนรับผิดชอบ ออกกฎกติกาให้มีการปฏิบัติที่เหมาะสม แต่เรื่องก็เงียบเป็นเป่าสาก ทั้งๆที่มหาวิทยาลัยได้รับการยกย่องว่าเป็นจอมยุทธทางการจัดการเรื่องน้ำ จึงสงสัยว่าไปจัดการที่ไหน? ทำไมแหล่งน้ำของตนเองถึงไม่จัดการบ้าง ทำให้มันเห็นระบบการจัดการไม่ดีหรือ ผมท่องๆเดินถ่ายรูป เห็นสภาพดินทรายที่มีลูกรังปะปนบ้างประปราย เหมาะที่จะเอาไปถมที่สร้างตึกได้ดีนัก แต่เมื่อปล่อยให้ขุดกันตามอำเภอใจแบบวางยาไว้เช่นนี้ จะต้องรื้อฟื้นมาคุยเรื่องเก่าๆอีกกี่รอบก็ไม่รู้ ผมนึกไปถึงสถาบันการศึกษาที่มีพื้นที่จำกัดจำเขี่ยในกรุง เขายากลำบากมากในการขยายพื้นที่ทำอะไร แต่..ของเรามีมากจนทำทิ้งทำขว้าง ทฤษฎีการจัดการน้ำที่ถือว่าสุดยอดอยู่ตรงไหน ช่วยเอามาแสดงให้ดูหน่อยเถิด โธ่ๆๆๆ..
( ครัวเรือน ผีตองเขียว ร่มรื่นชื่นฉ่ำไปด้วยชีวิต ที่เขียวทั้งสภาพแวดล้อมและหัวใจสีเขียว )
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดสอนหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงระดับ ปริญญา-ตรี-โท-เอก ที่คณะบริหารศาสตร์ นอกจากจะมีนักศึกษาของไทยเองแล้ว ยังมีนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านมาศึกษาด้วย นอกจากนี้นักศึกษาในคณะต่างๆ ได้เข้าไปเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพอเพียง การเสียสละเพื่อสังคม เรื่องจิตอาสาถือเป็นเรื่องธรรมดาของที่นี่ เพราะเขาทำกันจนเป็นปกติไปแล้ว
(เด็กไทยครูไทยใกล้เกลือกินด่าง ในขณะที่เด็กเกาหลีบุกมากินก้วยเตี๋ยวมังสะวิรัติจนท้องกาง)
จุดเด่นที่ถือว่าพิเศษมากๆก็คือ แทนที่จะจัดการเรียนการสอนแต่ภาคทฤษฎี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ยกพื้นที่รกร้างบางส่วนตั้งหมู่บ้านบุญนิยมขึ้นมา เชิญญาติธรรมมาเปิดวิธีดำเนินชีวิตแบบพอเพียงฉบับตัวจริงเสียงจริง ทำให้เห็นกันจะๆสดๆร้อนๆ ว่าชุมชนระดับยกสำนึกและความเป็นไทย สามารถตีความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร เรียกว่าท้าพิสูจน์ได้ทุกกระบวนความ ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดหรือวิธีทำ ฉั๊วะๆ >> ไม่ขี้โม้เหมือนที่อื่น ทำ10%คุยเป็น100 ที่นี่เขาอธิบายจากการกระทำ ทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงใจเรียนตลอดเวลา ไม่มีน้ำลายเจอปนแม้แต่น้อย ครับผม
(เอาถังน้ำไปไว้บนต้นไม้ใหญ่ เป็นการใช้ประโยชน์ที่น่าทึ่งมาก)
หลังจากปลูกต้นไม้เสร็จ ป้าดาวและเหล่านักสู้ชักชวนให้ผมไปเยี่ยมสวรรค์ของชาวอโศก ที่มาก่อร่างแปลงชุมชนอยู่ในบริเวณของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พบปะจอมยุทรผู้กระเทาะความรู้มากหน้าหลายตา เด็กๆเกาหลีตั้งวงเล่าและรับฟังจากผู้สันทัดกรณี ป้าดาวป้าอ้วนชวนชิมก้วยเตี๋ยวสังสะวิรัติ น้ำปั่นสมุนไพร น้ำผลไม้ ก่อนกลับยังแจกเห็ดแจกกล้วยอีกถุงใหญ่ น้ำใจหนอน้ำใจ จะให้จนท่วมท้นใจหรืออย่างไร?
มาที่นี่แล้วยากที่จะจบอะไรง่ายๆ ป้าดาวเพ็ญดีใจกระดี๊กระด๊ายอมทิ้งงาน บอกครูบาไปเยี่ยมบ้านป้าหน่อย ท่านอื่นหูผึ่ง ต้องการให้เราไปเยี่ยมชมแหล่งพำนักที่สร้างขึ้นจากจินตนาการณ์จนเปรียบเสมือนสวรรค์บนดินเช่นกัน เพื่อจะบอกว่า “บุญนิยม”ทั้งเนื้อทั้งตัวและหัวใจนั้นเป็นอย่างไร? ผมนั้นเหมือนหมูวิ่งชนปังตอ มีหรือจะรีรอรีบตกปากรับคำ เจ้าภาพเดินลิ่วไปโน่นแล้ว เราก็ต้องฉับๆตามติดๆไปสิครับ
บ้านหลังแรกที่ไปเยี่ยมเป็นของอาว์วันชัย เพียงไม่กี่ปีสามารถปลูกต้นไผ่ล้อมรอมเป็นกำแพง ตัวบ้านเกาะติดกับต้นไม้ใหญ่ใบครึ้มร่มเย็น เป็นบ้านทรงชนบทยกใต้ถุนสูง รอบบ้านเต็มไปด้วยชีวิตของธรรมชาติ สมุนไพร แอบอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แขวนลูกน้ำเต้าที่บอกว่าได้พันธุ์มาจากสวนป่า แว๊บเดียว แม่บ้านเด็ดใบขิงมาให้ดม นี่งไงสมุนไพรที่ดมได้ หอมสดชื่นแบบง่ายๆสไตล์ชาวอโศก พ่อบ้านอธิบายว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้าน “ผีตองเขียว” เพราะรอบบริเวณเขียวสดชื่นมาก ทำย้อนศรบ้าน “ผีตองเหลือง” ที่ทำอยู่ทำกินพอใบตองเหลืองแล้วก็เผ่นหนีไปที่อื่น บ้านผีตองเขียวเต็มไปด้วยชีวิตชีวา สิ่งที่เป็นชุดความรู้ใหม่ที่สำคัญมากคือ การทำนาโรย หมายถึงช่วงฤดูทำนามาถึง ไม่จำเป็นต้องรอฟ้าฝนใดๆ เอาควายเทียมแล้วก็ไถเป็นร่องไปในท้องนา คนตามหลังเอาเมล็ดข้าวหยอด ถ้าดินเสื่อมมากก็โรยปุ๋ยลงไปด้วย เป็นการทำนาเลี้ยนแบบข้าวไร่ข้าวร่วงในธรรมชาติ พอฝนมาต้นข้าวก็จะค่อยๆงอกปนเปกับวัชพืชต่าง แต่อายุของวัชพืชสั้นกว่าข้าว และบางอย่างไม่ชอบน้ำ เมื่อน้ำหลากมาวัชพืชที่ว่านี้ก็จะยุบจมน้ำกลายเป็นปุ๋ย เจ้าของความคิดเล่าว่า ปีนี้แล้งจัด ต้นข้าวขึ้นกระหร๋อมกระแร๋มเหี่ยวเหลืองนึกว่าจะจอดเสียแล้ว แต่พอฝนมาหญ้ายุบลงข้าวเริ่มแตกกอ เปลี่ยนความเหี่ยวเป็นความสดใสขึ้นมาทันทีทันใด
(แปลงนาโรยข้าวงามดี )
อีกวิธีหนึ่งที่กำลังฮือฮาได้แก่การทำนาโยน ซื่งชาวนาจะต้องเตรียมเพาะกล้าในกะบะ และต้องเตรียมพื้นที่ให้เป็นปลักตมมีน้ำแฉะเหมือนนาหว่านน้ำตม เมื่อทุกอย่างเหมาะสมแล้วก็ฉีกกล้าโยนตุบตั๊บให้กระจายเต็มผืนนา ครั้งแรกต้นกล้าอาจจะอีเหละเขะขะ แต่พอตั้งตัวได้ข้าวก็จะตั้งต้นตรงหาแสงอาทิตย์ แตกกอเต็มผืนนา ทั้ง 2 วิธี นี้ ดีตรงที่ไม่ต้องปักดำให้ปวดเอวและลดเวลาได้มาก เป็นการทำนาให้ง่ายขึ้น เพียงแต่ต้องดูองค์ประกอบว่าวิธีไหนเหมาะสมกับพื้นที่ตรงนั้น นับเป็นการจัดการความรู้ระดับปัญญาชนคนรากหญ้า ที่นักวิชาการชราภาพทางความคิดควรจะใคร่ครวญเป็นตัวอย่าง จะได้เลิกเอาวิชาการห่วยแตกมาถ่ายทอดให้รากหญ้าล่มจมเสียที
(ใส้เดือนกำลังขยายพันธุ์ใต้แปลงไผ่)
พื้นที่ทำงานของผีตองเขียว เราจะเห็นชีวิตที่เกิดจากผลผลิตของการค้นคว้าทดลองอย่างมุ่งมั่นเต็มทุกตารางนิ้ว ภายใต้กอไผ่เต็มไปด้วยขวยใส้เดือนทำหน้าที่เติมอากาศเติมปุ๋ยให้กับต้นไม้ แปลงปลูกอ้อยควั้นลำชะลูดงอกงาม ริมทางเดินเท้าเต็มไปด้วยผักผลไม้สมุนไพร มะละกอออกผลเต็มต้น ไม่ว่าจะมองไปทิศไหน จะวิชาชีวิตผลิบานสะพรั่ง ถ้าได้มานอนฟังอย่างเดียว 2 วันจะจบไหมนี่
หลงทางเสียเวลา แต่หลงทางเข้าบ้านป้าดาวนี่เสียใจจนตาย
(นี่แหละป้าดาวเพ็ญคนที่หัวใจเปลี่ยนล้นความสุข บอกว่าจะมาช่วยเป็นวิทยากรอบรมที่สวนป่าด้วยนะ)
ป้าดาวเดินลิ่วห่างออกไป 5-60 เมตร ถึงบ้านป้าดาวสอนให้ผมเห็นชีวิตกับการเรียนรู้จนอึ้งกิมกี่หลายตะหลบ ทุกย่างก้าวป้าดาวสอนผมเรื่องการใช้ชีวิตติดดินแบบชาวบ้านป่าได้อย่างทะลุทะลวงใจนั้น มันต้องติดดินทั้งตัวและหัวใจ นับตั้งแต่ที่อาบน้ำ ป้าดาวเอาถังปูนมาฝังไว้ใป้ปริ่มผิวดิน ต่อก๊อกน้ำมาเปิดใส่เต็มถัง มีแผ่นไม้มาปู สบู่ ยาสระผมอยู่ข้างๆ แสดงว่าป้าดาวใช้ขันตักน้ำอาบแบบสาวโบราณ อาบไปดูใบไม้ใบหญ้า อารมณ์อากาศสะอาด มองดูผักสมุนไพรที่ปลูกไว้ข้างๆ แม้ตอนอาบน้ำก็เรียนได้ การอาบน้ำวิธีนี้ > >
นอกจากกายสะอาดแล้ว จิตใจยังสะอาดด้วย
ผมพูดถึงป้าดาวมากกว่าคนอื่น เพราะป้าดาวทำเรื่องเปลือยครูบาในงานวิทยานิพนธ์ ลองมาดูวิธีเรียนของป้าดาวสิครับ วิชาอื่นป้าดาวฉลุย มาติดๆขัดๆก็เฉพาะภาษาอังกฤษนี่แหละ แต่ด้วยความทรนงที่ต้องสอบผ่านให้ได้ ป้าดาวออกแบบการฝึกฝนตนเองอย่างนักสู้แบบกัดไม่ปล่อย เขียนศัพท์ยากๆมาแปะไว้ตรงชานบ้าน ให้ผ่านหูผ่านตาบ่อยๆ หยิบมาอ่านมาท่อง ใบไหนเข้าใจแล้วก็ปลดออก เอาใบใหม่มาปิดแทน เพื่ออ่าน-ท่อง-จำต่อๆไป ส่วนวิธีเขียน ป้าดาวชี้ให้ดู ฝาโอ่ง ครก ช้อน ซ่อม จาน แม้แต่ฝาบ้าน ตะปู ภาษาอังกฤษอ่าน-เขียนว่าอย่างไร ป้าดาวก็เขียนภาษาอังกฤษกำกับไว้ แล้วเรียกสิ่งของใช้เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าผมอำนาจอนุมัติปริญญาได้ ผมจะยกให้ป้าดาวนี้แหละเป็นด็อกเตอร์ตัวจริง ผมก็ห่วงไปอย่างนั้นเอง ไม่นานนักหรอก ผมเชื่อว่าประเทศนี้จะมีดุษฎีบัณฑิตชื่อ > >
ดร.ดาวเพ็ญ บุญนาวานิยม
กลุ่มนักศึกษาชาวบุญนิยม เคยยกทีมมาเยือนสวนป่าหลายครั้ง มาทีไรก็มาสอนกลเม็ดเด็ดพรายใหม่ๆให้ตลอด การผัดผักด้วยน้ำเปล่า การกินเห็ดกะปุ่ม (ก้อนกลมๆสีเหลืองอย่างกะเห็ดเมา) การดื่มน้ำปั่นคอร์โรฟีน การทำปุ๋ย การนวด สูตรอาหารสุขภาพ ฯลฯ ได้วิชาปลูกต้นไม้ไป ระหว่างเดินชมสวน ก็อวดว่าต้นนี้ได้เมล็ด ได้ปลูกเดือนโน้นเดือนนี้ และได้ขยายผลต่ออย่างไร? ทีมนักศึกษาหลักสูตรเศณษฐกิจพอเพียงดังกล่าวนี้ ถ้าท่านที่เกี่ยวเชิงนโยบาย ไม่เอานางสาวไทยไปทำคนใช้ เข้าใจและตระหนักในพลังของนักศึกษาเหล่านี้ สนับสนุน/ให้โอกาสในการศึกษา/ทำงานเชิงรุกประเทศเราจะมีกองทัพวิชาชีวิตทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมความรู้เท่าทันโลกอย่างแท้จริง ปัญหาอยู่ที่ว่า>>
เราจะอุ้มชูโลกเสมือนจริง หรือโลกแห่งความจริง
โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้ามนุษย์ยังโอ้เอ้ก็ยากที่จะตามทันกระแสเถื่อนที่ทับถมมาเป็นระลอก ทั้งๆที่ชาวอโศกค้นพบวิถีแห่งตนแล้ว เขาไม่ได้หยุดนิ่งพออกพอใจหรอกนะครับ ยังฉุดคิด คิดต่อๆๆ แล้วยังไงอีกละ ผมไปเยี่ยมครั้งใดก็ได้ความรู้ใหม่กลับมาเต็มพกเต็มห่อ
สิ่งดีๆงอกงามในชีวิตที่งดงาม
ความงามจากความรู้จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา นักสู้ชีวิตระดับผู้นำของญาติธรรม ได้เข้าเรียนในหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงที่กล่าวถึงนี้ ระดับปริญญาตรี มีลูกหลานชาวอโศกเข้าศึกษาประมาณ 30 ชีวิต ระดับปริญญาโท มีป้าดาวเพ็ญ นาวาบุญนิยม หมอเขียว (นายใจเพชร กล้าจน) อาจารย์ขวัญดิน สิงห์คำ อาจารย์แก่นฟ้า แสนเมือง ระดับปริญญาเอก มีป้าร้อยขวัญพุทธ (ป้าอ้วน) น้าเพชรตะวัน น้าธรรมรงค์ แสงสุริยจันทร์ อาอุ่นเอื้อ สิงห์คำ น้าวัลลพ
เมื่อทุกคนเป็นผู้เรียน สนุกกับการเรียน
สิ่งที่เรียนจะโหล่ยโท้ยได้อย่างไร?
กระบวนการเอาชีวิตเข้าแลกความรู้นี้ ถ้าย้อนคิดไปถึงสมัยอยู่ในถ้ำ มนุษย์จะทุ่มเทค้นหาความรู้ใหม่อย่างสุดใจขาดดิ้น เพื่อนำวิธีการใหม่ๆมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตและสังคมในยุคนั้นๆ มนุษย์ยุคนี้ก็ยังตกอยู่ในอาการเดียวกันนี่แหละ แต่การเรียนรู้และแสวงหาความรู้ลดความเอาจริงเอาจังลงมาก ยิ่งมาเรียนเพื่อเอากระดาษด้วยแล้ว ได้ทำลายระบบการสร้างภูมิปัญญาของมนุษย์อย่างน่าเสียดาย หลายคนเรียนสู้มนุษย์ยุคหินยังไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าทำไมน้ำหยดลงหินหินมันจึงกร่อน
จึงเกิดการก๊อปปี้ความรู้ มากกว่าการจัดการความรู้
ผมคงจะข้องแวะกับชาวอโศกไปอีกนาน เพราะที่นี่เป็นฐานความรู้ของจริง ถ้าอยากจะพบคนจริงเราจะไปหาที่ไหนละครับ คนจริงจะตั้งอกตั้งใจเทความรู้ความคิดอธิบายเราอย่างมีรสชาติ ไม่ซับซ้อน ไม่วกวน ชี้ผั๊วะๆยังงี้ ยังงี๊ เห็นไหม เข้าใจไหม สงสัยอะไรถามมาเล๊ย ในขณะเดียวกัน นักศึกษาเหล่านี้พร้อมที่จะเปิดรับความรู้อย่างเต็มที่ เห็นอะไรรู้อะไรแล้ว เขาเอาไปลงมือทำต่อ รับฟังๆๆมา แต่ยังไงต่อละ วิธีต่อแต้มไต่ระดับความรู้มันต้องทดๆๆๆลองๆๆๆๆด้วยน้ำพักน้ำแรง ความรู้มันถึงจะซึมเข้าไปในสายเลือดและหัวใจ
นักปฎิบัติคือนักปฎิรูปตัวจริง
เสียดายเหลือเกิน เราเอาเวลาเรียนรู้ไปเททิ้งเรี่ยราด แล้วก็มาเร่งรัดเวลาอยู่กับของจริงอย่างนี้เสมอๆ การบริหารเวลาจะต้องปรับปรุงอีกมากสำหรับผม ทำให้ต้องอำลาป้าดาวกับเพื่อชาวชุมชนด้วยความเสียดาย มีนัดที่จะเอาหนังสือเจ้าเป็นไผไปส่งที่คณะพยาบาลศาสตร์ ท่านคณบดีสั่งหนังสือไผ1 ไผ2 อย่างละ 80 เล่ม หนังสือป่วยจิตของคุณหมออจอมป่วนอีก 10 เล่ม เรามีให้แค่ 7-80 เล่ม แสดงว่าหนังสือเขาแจ่มจริงๆนะนี่ เอาไปอ่านเป็นหนังสือนอกเวลาได้ดี
(เจ้าเป็นไผไปส่งให้คณะพยาบาลศาสตร์)
ออกจากมหาวิทยาลัยอุบลฯ คุณนิกร วีสเพ็ญ กรุณาประสานงานนัดกับท่านคณบดีคณะนิติศาสตร์ อาจารย์สมบัติ วอทอง ด้วยทราบมาว่าที่บ้านท่าน มีพันธุ์ไม้ไผ่ปล้องยาวเอามาจากประเทศลาว จึงนัดหมายไปชมด้วยกัน บ้านท่านอาจารย์ร่มรื่นมาก มีฟักข้าวสุกแดงอยู่หลายผล อาจารย์เก็บให้แล้วชี้ชมไม้อื่นๆ จะชมเฉยๆก็ที่ จึงขอท่านเจ้าของมาปลูกด้วยเลย อาจารย์อุทัย อันพิมพ์ ที่เป็นไกด์ในทริปนี้ ช่วยออกแรงขุดเหง้าไผ่มาแบ่งกันปลูก จึงสมหวังสมใจนึกทุกฝ่าย ไม้ไผ่ปล้องยาวนี้เคยเล่าไปแล้ว ชาวบ้านบอกว่าสามารถที่จะมีปล้องยาวได้ถึง 2 เมตร มันมหัศจรรย์ไหมละครับ ปล้องเล็กๆปล้องเดียวที่ชาวบ้านเอามาเจาะรูทำเป็นออมสินขาย ถือเป็นของแปลกสดุดตา ปล้องเดียวผมต้องควักกระเป๋า 60 บาท ได้กระบอกออมสินที่ยาวที่สุดในโลกมาอวดใครๆก็สุดแสนจะชื่นมื่นแล้วละครับ ถามโฉมยังตะกี้นี้ บอกว่าเอาไปปลูกแล้ว แสดงว่ามือไวใจสู้เหมือนกันแฮะ เข้าสูตร
ไม้โตเร็ว คือไม้ปลูกไว
(ท่านคณบดีลงทุนช่วยขุดไม้ไผ่ให้ด้วยตัวเอง)
ได้ไม้ไผ่แล้วก็แวะไปสถานีเพาะปลากรมประมง
ซื้อปลาจาระเม็ดน้ำจืด ปลาดุกยักษ์ ปลาบึกลูกผสม
ออกมากินข้าวร้านเชลชวนชิมที่หน้าศาล
กลับไปเอาของใส่รถและร่ำลาไกด์
บึ่งออกจากอุบล 6 โมงเย็น
มาถึงสวนป่าเวลา 21.10 นาฬิกา
ตื่นนอนก็มานั่งต๊อกๆๆอยู่นี่ละครับ
ยังคิดต่อไปว่า > >
รึเราจะจัดเฮฮาศาสตร์ที่ชุมชนบุญนิยมในปลายปีนี้
« « Prev : สวนป่าแตกแน่ถ้าไม่เบิ่งตาแล
ความคิดเห็นสำหรับ "มาปลูกป่าด้วยใจดีไหมน้อง"