สวรรค์ริมฝั่งแม่มูล
อ่าน: 9899(อาจารย์นิกร วีสเพ็ญ เจ้าของสวรรค์บนดินริมฝั่งแม่น้ำมูล)
เจ้าถิ่นตั้งโจทย์ให้ในวันนี้ว่า ครูบามาอุบลควรจะรู้จักอุบลให้มากที่สุด คนให้โจทย์จึงเป็นภาระพาตระเวนถิ่นดอกบัวในฐานะลูกหลานคนอุบล และมีบทบาทในการพัฒนาชนบทอีสานระดับแนวหน้า แผนการวันนี้จึงจับผมพาตระเวนดูเครือข่ายชุมชนที่ทำเรื่องสำคัญ ๆ เช่น เรื่องเขื่อนปากมูล โฉนดชุมชน ทำเกษตรตัวอย่างระดับประเทศ ชุมชนที่ปั้นหม้อปั้นไหจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร พาไปวัดไหว้พระสำคัญ ๆ เก่าแก่ที่มีประวัติอันยาวนาน พร้อมกับอธิบายภูมิสังคมเชื่อมโยงให้เห็นรากเหง้าของคนพื้นถิ่นลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่พ่อค้าแม่ขายมาตั้งหลักค้าขายกับฝั่งลาวที่แขวงจำปาศักดิ์ เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยเจ้าถิ่นเหล่านี้จะมีบ้านอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนมากจะมีแม่บ้านอยู่ประเทศละคนเสียด้วยสิ เรื่องนี้น่าจะเป็นการรักษาผลประโยชน์หรือเพื่อให้สมประโยชน์ก็บ่ฮู้ตื้อ
หลังจากดวลข้าวต้มแล้ว ไกด์กิติมศักดิ์พาไปศูนย์ประมงจังหวัดอุบลราชธานี ไปชมตลาดเพาะเลี้ยงลูกปลาที่มีสารพัดชนิด ปลาบึก ปลานวลจันทร์ ปลาตะเพียน ปลายี่ยก ปลาจารเม็ดน้ำจืด ฯลฯ ขาดปลากระป๋อง ไม่ยังงั้นก็คงจะครบทุกปลา ไกด์ซื้อปลาบึก ปลาจาระเม็ดน้ำจืด 2-3 ถุงเอาไปปล่อยในแหล่งน้ำที่นาทางไปตำบลดอนตาล
ไปถึงที่นาที่สมบูรณ์ทุก ๆ ด้าน สภาพแวดล้อม-ระดับน้ำ-แหล่งน้ำธรรมชาติ พรรณไม้ดั้งเดิม และพันธุ์ไม้ที่ปลูกเสริม พื้นที่นาออกแบบไว้เพื่อการมาใช้ชีวิตในบั่นปลาย มีแง่คิดที่น่าสนใจตรงที่ว่า ก่อนเกษียณอายุอีก10กว่าปีข้างหน้า ถ้าเราลงมือปลูกลงมือสะสมธรรมชาติให้หลากหลายสมบูรณ์ ในเวลา10 ปีข้างหน้า เราก็สามารถสร้างสวรรค์บนดินด้วยน้ำพักน้ำแรง ผมเห็นวิธีคิดวิธิทำแล้วก็ชื่นชมมาก
(ลูกพีพ่วนผลไม้ในป่า่ดงนาทามริมฝั่งแม่น้ำมูล)
เป็นการสร้างเสริมธรรมชาติอย่างคนที่รู้คุณค่าป่าดงนาทาม รักษาพื้นที่ป่าและพืชผักดั่งเดิมไว้อย่างดี ผมเพิ่งจะเห็นดง”พีพ่วน” : ซึ่งเป็นผลไม้ป่าที่เคยกินสมัยเด็ก ๆ ที่นี่ขึ้นเป็นกลุ่มแทรกอยู่ทั่วไป ผลสุกพวงแดง ๆ มีร่องรอยนกมาเจาะกิน บางส่วนก็ร่วงลงพื้น คุณยายที่เฝ้าสวนเก็บมาให้ 2 ถุงใหญ่ ยังใจดีขุดมันเห็บมาให้อีกถุงหนึ่ง เป็นคนแก่ที่เข้าใจชีวิตและธรรมชาติอย่างดียิ่ง คุณนิกรกระซิบว่า คุณยาย 2 ท่านนี้เป็นมือนวดชั้นดี ในอนาคตมีแผนที่จะขยายการฝึกนวดและบริการนวดแผนไทยในสวนนี้ด้วย คุณยายทั้ง 2 ช่วยกันปลูกช่วยกันดูแลต้นไม้ใบหญ้าอย่างมีความสุข ความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติเต็มไปด้วยต้นทุนชีวิต เห็ด ผัก ข้าว ปลา หน่อไม้ สมุนไพร ผลไม้ป่า มีรังต่อขนาดใหญ่มาอาศัยอยู่กับต้นหว้า ต้นไผ่ริมมูล กลุ่มไม้ป่าสมุนไพร ดูแลรักษาไว้อย่างเข้าใจ ข้าวกำลังตั้งกอ ปลาที่ปล่อยกำลังโต กว่าจะถึงตอนเกี่ยวข้าว ปลาดุกคงจับมาปิ้งจิ้มแจ่วช่วงข้าวใหม่ปลามันได้แล้ว
(รังต่อ กับทางเดินรอบสวน ถีบจักรยานเล่นได้ด้วย)
สวนที่ว่านี้ลงมือทำเพียง 2 ปี หน้าตาที่ดินเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด เจ้าตัวมีแผนที่จะเป็นแหล่งศึกษาดูงานและพักผ่อน มีแพริมน้ำ มีถนนถีบจักรยานล้อมรอบ จะเพาะต้นไม้ขาย แต่ตั้งโรงทอผ้าไหมให้แม่บ้าน ทุกอย่างเตรียมการไว้หมดแล้ว คงจะสมบูรณ์แบบในอีก 2 ปีข้างหน้า
เราเดินทางไปเยี่ยมเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาทำไร่นาสวนผสมประจำปี 2553
นายกิมฮก แซ่เตีย
ไม่เจอเจ้าตัวจึงแอบเดินชมเองมุมโน้นมุุมนี้
เห็นว่าเป็นแบบอย่างที่ดีมาก
มีความอุมสมบูรณ์ครบครันเท่าที่ครัวเรือนเกษตรกรควรจะดำเนินการ
จึงมีป้ายของกรมกองต่าง ๆ ติดซ้อนกันจนครืด
(วัดป่าและพระพุทธรูป)
ไกด์พาเดินทางไปชมวัดเก่าแก่ ที่แสดงอภินิหารให้ทหารอเมริกาอึ้งกิมกี่เมื่อคราวสงครามเวียตนาม หลังสงครามเสร็จสิ้นมีทหารอเมริกามาบวช รวบรวมทุนทรัพย์มาสร้างโบถส์วิหารต่าง ๆ พาไปเยี่ยมญาติที่อยู่รอบนอก แล้วเดินทางต่อไปที่แพอาหารริมแม่น้ำมูล อยู่ในช่วงที่น้ำนองเต็มตลิ่ง เนื่องจากไม่ใช่วันหยุดผู้คนไม่จอแจ เราเลยได้อยู่ในบรรยากาศสงบ ๆสบาย ๆ ลมพัดเฉื่อยฉิว น่านอนเหลือเกิน สั่งเมนูปลาล้วน ๆ ต้มปลาใส่ยอดผักขะแยง ปลาลวก ลาบปลา รสมือแบบอีสาน อิ่มจนอืดระดับชูชกเรียกพี่โน่นแหละ
บังเอิญแพติดกัน มีคุณตาคุณยายคู่หนึ่งมาตกปลาอยู่ข้าง ๆ วัยอาวุโสคงมาพักผ่อน แต่ดูแลกันดีเหลือเกิน คุณตาแกตั้งหน้าตั้งตาตกเบ็ด คุณยายก็เอาอาหารกับแกล้มมาเสิร์ฟไม่เว้นวาย สักพักปลากินเบ็ด แกดึงขึ้นบนแพดิ้นกระแด่ว ๆ ผมไปถ่ายรูป ถามตาว่าเคยตกได้ตัวใหญ่สถิติกี่กิโล คุณตาบอกว่า 27 กิโล โอ้โห้นี่ตัวพรานเบ็ดระดับพระกาฬเชียวนะ ปลาตัวใหญ่ชื่อปลากะโห้ น้ำหนักพอ ๆ กับเด็ก 2-3 ขวบ เห็นแล้วก็อิจฉาคุณตาคุณยายคู่นี้ที่ยังอี๋อ๋อกันดีเหลือเกิน ไม่กระงอดกระแงดเหมือนบางคู่ บิดตะกูดใส่กันอยู่นั่นแล้ว ทั้ง ๆ ที่จะอยู่ด้วยกันอีกสักกี่วันก็ไม่รู้ เสียเวลา เสียจริต อารมณ์บ่จอยเปล่า ๆ ยิ้มและกอดกันดีกว่าเป็นไหน ๆ เฮ้อ ๆๆๆ ..
(ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในชาวเฮมีคนฮา อิอิ)
รถขนต้นไม้มาถึงแล้ว
เย็นนี้มีนัดคุยกับคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์
พรุ่งนี้จะไปปลูกต้นไม้ในบริเวณร่องก่อ
ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
คาดว่าจะมีคนใจดีเข้าร่วมประมาณ 200 คน
จบข่าว
« « Prev : : เงินดินดิ้นสู้กับเงินดาวน์ (2)
Next : สวนป่าแตกแน่ถ้าไม่เบิ่งตาแล » »
2 ความคิดเห็น
เมืองอุบลสมบูรณ์จริงๆ เมืองอุบลจึงเติบโตมาตั้งแต่อดีต
แพร้านอาหารริมน้ำมูล ผมมีประวัติศาสตร์ที่นั่น
สมัยนั้นทำงานที่ท่าพระ กับ USAID ตระเวนไปทำงานหลายจังหวัด
รวมทั้งศรีสะเกษด้วย ผมขับรถจีพวิลลี่ตัวที่ซดน้ำมัน มากินข้าวที่นี่
กินเสร็จจะขับรถกลับ ตายละหว่ากุญแจหาย…หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ
ไปตามช่างในเมืองอุบลมาทำกุญแจเทียมก็ทำไม่ได้ เขาบอกว่าจีพรุ่นนี้ทำไม่ได้
เลยต้องโทรกลับไปขอนแก่นให้ส่งกุญแจอะหลั่ยมาทางเครื่องบิน
เลยต้องนอนค้างอุบล เช้าไปเอากุยแจที่สนามบิน แล้วไปที่แพริมน้ำมูลจะเอารถกลับขอนแก่น
เจ้าของแพวิ่งมาบอกว่า ได้กุญแจแล้ว มันตกน้ำ บังเอิญว่าที่พวงกุญแจเป็นหนังแท้เมื่ออิ่มน้ำเพราะแช่มาทั้งคืนมันก็ลอยปริ่มๆน้ำ เจ้าของร้านตื่นมาเห็นเข้า โชคดีไป
ตั้งแต่นั้นมาไม่ได้มากินอาหารที่แพริมมูลอีกเลย
แหม นิกรพาเที่ยวเมืองอุบล แบบนี้เจ้าถิ่นก็พาไปสัมผัสอุบลในมุมที่หลายคนไม่เคยสัมผัสเลยนะครับ
สุดจ๊าบส์เลยจริงๆ ครับ