แผน ก่อกวนการศึกษา

โดย sutthinun เมื่อ 5 กรกฏาคม 2010 เวลา 5:09 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 1407

เมื่อวาน บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอความอนุเคราะห์ส่งลูกศิษย์มาสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลงานวิจัย เพื่อทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพประเภทวิชาเกษตรกรรมตามแนวหลักสูตรสมรรถะบนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นักศึกษาได้โทรศัพท์นัดล่วงหน้าไว้แล้ว ที่ชอบใจก็คือสามารถหาทางเข้าสวนป่าได้โดยไม่ต้องมีการสอบถาม หลังจากนั่งคุยกัน ก็ทราบว่าเป็นนายกอบจ.เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชน เป็นประธานเขตพื้นที่การศึกษา และคงเป็นอะไรๆอีกมากในจังหวัดชัยภูมิ

ถามว่าทำไม่ถึงทำหัวข้อนี้ ก็ให้เหตุผลว่า อยากจะสร้างหลักสูตรที่เหมาะกับยุคสมัย เห็นว่าเด็กไทยยุคนี้ไม่สนใจอาชีพการเกษตร แม้แต่วิทยาลัยเกษตรกรรมก็แทบร้าง เด็กๆที่เรียนล้วนแต่เป็นพวกที่จำใจ-จำเป็น-จำกัดจำเขี่ย ไปเรียนแบบงั้นๆ การสอนก็งั้นๆ ในฐานะคนทำการเกษตร ก็รู้สึกเจ็บปวดนะ ..คนมันกินข้าวทุกวัน แต่ก็พากันละเลยไม่ใส่ใจ-ไม่ตั้งใจสร้างมาตรฐานวิชาความรู้ที่หล่อเลี้ยงชีวิต แปลกไหมละ นี่ถ้าโลกร้อนมาก น้ำแห้งแล้งยาว ปลูกพืชอาหารไม่เพียงพอบริโภค คนมันจะกินอะไรแทน สวาปามเทคโนโลยีรึ

ดังนั้น เมื่อมีคนต้นคิดที่จะก่อหวอดสร้างหลักสูตรการฝึกฝนด้านการทำการเกษตร โดยการยกเครื่องเรื่องหลักสูตรจึงน่าสนใจใช่ไหมละครับ เราได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างสนุก เนื่องจากนักศึกษาเป็นผู้อยู่ในวงการศึกษาและมากประสบการณ์ จึงมีเรื่องเล่าภาคพิศดาร..เด็กหนีเรียน-เด็กทำร้ายกัน-ตำรวจเล่นป่าหี่-ผู้ปกครองมุ่งหาเงิน-หลักสูตร-ระเบียบต่างๆเฮงซวย-คำสั่งจากหอคอยงาช้างที่ไม่ดูตาม้าตาเรือ-ซ้ำเติมสถานการณ์ย่ำแย่-ทำแต่เรื่องให้ครูทิ้งเด็ก-ผู้อำนวยการฯบริหารโรงเรียนทางโทรศัทพ์ ยุ่งคุยก็ยิ่งเข้าทางผม ที่กำลังจะเสนอเรื่องอาชีวะศึกษาให้กับคณะทำงานนโยบายการศึกษา เอาแค่หัวข้อ..ทำอย่างไรเด็กอาชีวะต่างสถาบันจะไม่ทำร้ายกัน ก็มันส์พะยะคะแล้วละขอรับ

อีกเรื่องหนึ่ง การทำอาจารย์3ตะกร้าปาไม่ถูก มีกรณีเล่นปาหี่จนยากจะเล่าได้ ยิ่งกว่าเรื่องโหดมันส์ฮาใดๆที่มีอยู่บนผืนพิภพนี้ ทำให้ครูทิ้งเด็ก ทิ้งห้องเรียน ทิ้งการสอน กันทั้งประเทศ เมื่อครูทิ้งเด็ก เด็กก็ทิ้งครู ครูทำผลงานเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เด็กๆของครูอ่านไม่ได้เขียนไม่ออก การประเมินตัวเลขประเมินกระดาษ เป็นเรื่องตลกที่ส่งผลถึงการล้างผลาญการศึกษาไทย สรุปแล้วนโยบายเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ครู-เด็ก-อนาคนของชาติดีขึ้น

..อยากจะเสนอใหม่ เอาครูไทยที่สอบไม่ผ่านวิชาที่ตนเองสอน (ตามที่เคยเล่าไปแล้ว) เชิญเข้ามาอบรม แล้วให้สอบใหม่ คุณครูท่านใดสอบผ่านวิชาที่ท่านสอน ก็เพิ่มเงินให้เป็นรายๆไป อย่างนี้งบประมาณแผ่นดินน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าให้ครูลงทุนซื้ออาจารย์3คนละ50,000-100,000บาท ทั้งจะช่วยให้ความภาคภูมิใจของครูกลับมาได้ด้วย ส่งผลถึงเด็ก ถึงการศึกษาโดยรวม

มาดูข้อมูลเรื่องเด็กอ่านไม่ได้เขียนไม่ดี ผลการทดสอบการศึกษาเด็กไทย ป.-3รายงานผลการประเมินของสำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.ทั่วประเทศ ประจำปี2552 จำนวน 502,469 คน เรื่องอ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณได้ พบว่า

1ความสามารถอ่านไม่ผ่านเกณฑ์ 7.22% หรือ 37,813 คน

2ความสามารถในการเขียน ไม่ผ่านเกณฑ์ 17.74% หรือ 99,558 คน

3ความสามารถในการคิดคำนวณไม่ผ่านเกณฑ์22.29%หรือ119,374 คน

เลขาธิการคณะกรรมการขั้นพิ้นฐาน(กพฐ.) มีนโยบายกระตุ้นสพท.ให้จำแนกข้อมูลเป็นรายเขตพื้นที่การศึกษา ให้แต่ละเขตฯไปจัดทำแผนรณรงค์และส่งเสริมทักษะพื้นฐานนักเรียนชั้นประถมปีที่3 ให้อ่านออกเขียนได้คำนวณได้ ให้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลา

: แบบนี้ก็เข้าอีรอบเดิม

ให้เร่งรัด ให้แก้ไข ให้ทำแผน

อาจารย์3ตะกร้าก็ทำแบบทำอาจารย์3นั่นแหละ

การที่รัฐฯไม่ยอมรับความจริง..จะให้ลากเด็กขึ้นชั้นไปเรื่อยๆ เข็ญขืนให้เรียนในสภาพที่เด็กไม่พร้อมไม่รับ การศึกษาเช่นนี้แหละที่น่าเบื่อและสร้างความทุกข์ให้แก่ครูและเด็ก เด็กๆที่น่าสงสารถูกถีบส่งมาทรมานทรกรรมหนักขึ้นมากขึ้นในชั้นที่สูงขึ้น ก็ลองนึกดูเถิด ..เรียนชั้นปกติกยังอ่านเขียนยังไม่ดี จะให้ไปปีนบันไดวิชาที่หนักหนากว่าเก่าได้อย่างไร คุณครูจะเอาเทคนิคอะไรไปสอน เอาแค่พะวงการเรียนเด็กปกติก็หมดแรงแล้ว จะเอากำลังที่ไหนมาลากเด็กอ่อนเข้าไปอีก

ทุกโรงเรียนแก้ไขด้วยการแบ่งเกรด เด็กเรียนดีอยู่ในหมู่เรียนดี เด็กเรียนด้อยก็กองกันอยู่ในหมู่กันเอง ปล่อยให้ละเลงปัญหา คุณครูประจำชั้นรับมือไม่ไหวหรอก สุดท้ายก็ปล่อยเลยตามเลย เด็กจำนวนหนึ่งของโรงเรียนจึงเละตุ้มเป๊ะ และยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ นโยบายที่เอาแต่สั่งๆๆแบบปัดก้นจึงเป็นเพียงแนวทางแก้ขัดไม่ใช่แก้ไข

เอาอย่างนี้ดีไหมครับ เด็กที่มีปัญหาจุกจิก เรียนอ่อน สมองช้า ชอบการเรียนปฎิบัติ หรือพิการในด้านอื่นๆ น่าจะพิจารณาให้ซ้ำชั้นได้ หรือแยกไปเรียนในหลักสูตรพิเศษ ถ้าแยกชัดๆอย่างนี้ รายการโมเมชั่นตัวเลขทางการศึกษาจะค่อยๆหมดไป ไม่ใช่มีครูวิทยฐานะสูงเต็มประเทศ แต่เด็กน้ำตาท่วมใจไร้อนาคต นโยบายห้ามตกซ้ำชั้นไม่ทราบว่าใครคิดและหลุดออกมาได้อย่างไร อาจจะมีเหตุผลในด้านดีอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับความเป็นจริงแล้ว เป็นการสร้างฉากให้ดูดีมากกว่าที่จะเป็นแบบแผนศึกษาชาติที่ดีมีผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริง

ถ้าการศึกษาอ่อนระโหยโรยรา อนาคตไทยก็อ่อนล้าโรยแรง

แนะให้สอนให้เรียนทั้งในห้องและนอกห้องคุณครูก็ไม่สนใจ

ตะบี้ตะบันสอนๆๆจากความรู้ความจำ แทนที่จะสอนเด็กให้รู้วิธีค้นความรู้

น่าจะสอนวิธีไปสู่โลกกว้าง เหมือนหนูเสื้อสีส้ม ที่ทดลองเขียนบล็อก

ครูที่ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสใจดี จะไปสอนให้เด็กจิตใจดีได้อย่างไร?

ครูที่ไม่ชอบเขียน จะไปสอนให้เด็กอยากเขียนได้อย่างไร?

ครูที่ไม่ชอบอ่าน จะไปสอนให้เด็กอยากอ่านได้อย่างไร?

ครูที่ไม่ชอบออกความเห็น จะไปสอนให้เด็กมีความคิดเห็นได้อย่างไร?

มีไหม? คุณครูที่ชอบออกความเห็น ขอเชิญ..> > >

ผมจะเอาประเด็นที่คุณครูเพิ่มเติมเข้าประชุมในบ่ายนี้

แคว๊กๆ

หมายเหตุ

ข้อมูลบางส่วนจาก แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ.2552-2559)

- พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ฯ

-ส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนองค์กรทางศาสนา และเอกชน จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาฯ

-ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปวิทนาการแขนงต่างๆ และเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกาวิจัยจากรัฐฯ

-ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้รักสามัคคีและการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึกและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น

>> “การจัดการศึกษาอบรมองค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่หมาะสมจากรัฐ”

>> ในอนาคต 5-10 ปี จะมีครูประจำการเกษียณจำนวนมาก ร้อยละ50  ประมาณ200,000 คนเศษ ต้องมีการเตรียมครูดี แต่พบว่า ผู้เลือกเข้าคณะครุศาสตร์/ศึกษษสาสตร์ เป็นอันดับท้ายๆ เข้าสาขาอื่นไม่ได้ มาเรียนจำนวนมาก จึงไม่ได้คนเก่ง มีใจรัก มาเป็นครู ในด้านการพัฒนาครู พบว่า ขาดระบบการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง และขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง  ทำให้ครูไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบเพียงพอ

>> ในด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน มีปัญหาการดำเนินการต่อเนื่องมาจากผู้สำเร็จอาชีวศึกษาร้อยละ 60 ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทำให้ขาดแคลนคนระดับกลางอย่างต่อเนื่อง ผู้สำเร็จการศึกษาขาดคุณลักษณะด้านความรู้และทักษะที่จำเป็น และมีการผลิตกำลังคนระดับปริญญาตรีด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์เกินความต้องการ ทำให้บัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำจำนวนมาก

>> ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พบว่า มีปัญหาการดำเนินการเนื่องมาจากขาดการพัฒนาเนื้อหาผ่านสื่อที่มีคุณภาพ รวมทั้งการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้สอน ครูและนักเรียนนำความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนและการเรียนรู้ด้วยตนเองน้อย สถานศึกษามีจำนวนคอมพิงเตอร์น้อยและล้าสมัย

>> แนวโน้มบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและสังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ใน 6 ด้าน ได้แก่

1 ด้านสังคม 2 ด้านเศรษฐกิจและลักษณะการผลิตการบริการ 3 ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 4 ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 5ด้านการเมืองการปกครอง 6 ด้านประชากร

>> สังคมโลกในอนาคตที่ส่งผลต่อสังคมไทย จะมีสังคม 3 ลักษณะ คือ

1 สังคมแข่งขัน ที่ใช้ความรู้เป็นฐานของการพัฒนาและการแข่งขันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  ในยุคเศรษฐกิจ-สังคมฐานความรู้

2 สังคมสิทธิมนุษยชน  สิทธิมนุษยชนจะได้รับความสำคัญมากขึ้นในสังคมไทย จากการบังคับใช้กฎหมายที่มีความชัดเจนเพิ่มขึ้น

3 สังคมพอเพียง จากสภาวะแข่งขันและวิกฤติทางเศรษฐกิจที่จะต่อเนื่องในอนาคต ทำให้สังคมไทยต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางชีวิตและสังคม

« « Prev : จะไปไหนดี

Next : อย่าปล่อยให้ความ เขลาไม่มีที่อยู่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 กรกฏาคม 2010 เวลา 7:39

    ข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าทำไมคนเก่งไม่เรียนครู มาเเป็นครู เพราะค่าตอบแทนการเป็นครูไม่สูงพอ ทำไมคนแย่งกันเรียนกฎหมายในปัจจุบัน ก็เพราะค่าตอบแทนวิชาชีพสูงมาก แค่ปรับค่าวิชาชีพครูให้สูงดูสิว่าคนเก่งจะไม่เป็นครู
    สมัยก่อนคนเรามุ่งที่เกียรติยศชื่อเสียงการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม คนเก่งจึงเลือกเป็นครู
    สมัยนี้เราดูรายได้เป็นหลัก วิชาชีพไหนสร้างรายได้ดีก็เลือกเรียนสายนั้น
    และเป็นอย่างที่พ่อครูว่า แม่พิมพ์เป็นแบบไหน ผลผลิตจะให้ดีกว่าแม่พิมพ์ได้อย่างไร

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 กรกฏาคม 2010 เวลา 9:18

    ;วันนี้มีการประชุมผู้บริหารโรงเรียนอาชีวต้นแบบใน กทม.
    บังเอิญมาประชุมโรงแรมที่ผมพัก เลยได้คุยกัน
    ได้รับเลี้ยงข้าวหมูแดง-เกาเหลาเลือดหมู สบายไป
    แต่ผมต้องไปประชุมอีกโรงแรมหนึ่งแถวๆสีลม
    โลกมันผลิกผันอย่างนี้เอง
    : เรื่องค่าตอบแทนครู แรกเข้าให้เงินเดือนน้อยมาก
    รัฐฯไปให้ค่าตอบแทนแก่ครูประจำการที่มีอายุงาน เงินเดือน/ค่าตอบแทน/ขั้นต่างๆ
    กระโดดไปจนกรมกองอื่นอิจฉาเลยละครับ
    เห็นว่าจะต้องปรับเสริมสภาพคล่องอีกทุกด้าน
    ในโลกนี้ถ้าใครอยากบ้า..ก็หาเรื่องมายุ่งกับการศึกษา/เรื่องของคุณครูทั้งหลายนี่แหละ
    มีปัญหาโลกแตก อกอีแป้นทั้งน๊านนนนนนนนน

  • #3 ning.dss ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 13:07

    อ่ะ  แล้วคนที่ได้เป็นครู แต่อยู่กระทรวงครู แบบหนูหละพ่อ
    มีโอกาสได้ เงินเดือนกระโดดดึ๋งๆ  บ้างไหมคะ

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 14:13

    ต้องติตตามตอนต่อๆไปนะหนิง


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.12758302688599 sec
Sidebar: 0.29935193061829 sec