แ่อ่วเชียงใหม่แล้วไปลำพูน
อ่าน: 2257
“ได้พบปะปีละครั้งก็ยังดี
แต่ถ้าพบหลายทียิ่งดีใหญ่
ภารกิจเกี่ยวพันดั้นด้นไป
จ๊ะจ๋าไมตรีจิตทุกทิศทาง”
ช่วงนี้เหนื่อยแค่ไหนก็ต้องจรลี อาศัยไมตรีรออยู่จึงดูน่าสนใจที่จะตามลายแทงไปกลับเช้า-เย็น จนสังขารแคลนคลอน เช้ามืดออก กลางคืนกลับมานอนอ่อนระโหย วันนี้ดีหน่อยไฟล์ออกสาย 8.30 น. ขึ้นที่ดอนเมืองค่อยยังชั่วหน่อย เขียนบล็อกเพลินเลยไม่ได้ใช้บริการอาหารเช้าของโรงแรม ต้องไปบรรจุกระเพาะที่สนามดอนเมือง 9.18 น. ถึงเชียงใหม่ คิดว่าจะเห็นเมฆหมอกปกคลุมน่านฟ้า แต่ก็สว่างจ้าด้วยแดดร้อนไม่ครึ้มด้วยละอองฝุ่นอย่างที่คิด นักเดินทางจึงมาเชียงใหม่กันให้ควั่ก เครื่องบินเข้าออกไล่ ๆ กันติด ๆ กลายเป็นสนามบินนานาชาติไปแล้วจริง ๆ ทราบว่ามีการเปิดเส้นทางใหม่ ระหว่างเชียงใหม่-ขอนแก่นแล้วนะครับ
น้าอึ่งมารับไปตั้งหลักที่คณะเภสัชศาสตร์มช. ซึ่งอยู่ใกล้สนามบิน เสียงเครื่องบินสนั่นฟ้าทั้งวัน ระหว่างรออุ้ย-ครูอึ่ง-อารามในห้องทำงานน้าอึ่ง พบว่าชาวคณะเภสัชฯทำตัวเป็นเกลียว น้อง ๆ วิ่งเข้าวิ่งออกเหมือนมีรายการชิงโชคแจกทอง ช่างขยันขันแข็งกันเหลือเกิน ทราบว่ากำลังเตรียมจัดงานทำบุญครบรอบวันสถาปนาคณะพรุ่งนี้ แม่งานก็อุตลุดนะสิครับ ..
12.20น.อุ้ย ครูอึ่ง อาราม มารับ
แต่ละคนดูหน้าตาสดใสกว่าทุกครั้งที่เจอ
เราเฮโลไปร้านอาหารพื้นเมือง
ที่มีเมนูอร่อยจนละลานตา
มาเชียงใหม่ไม่กินข้าวซอยทบทวนความหลังได้จะได๋
อิ่มแล้วเดินทางต่อไปที่โรงแรมอิมพีเรียล
สถานที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินจัดประชุม
ท่านผู้ช่วยเล่าให้ฟังถึงพันธกิจของสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมากมายทั่วแผ่นดินสมชื่อ มาครั้งนี้ได้ตระเวนเก็บเกี่ยวกรณีตัวอย่างของกลุ่มคนที่ทำความดีเพื่อสังคม ได้ไปเยี่ยมชมหลายพื้นที่ หลังจากนั้นได้เชิญผู้แทนหัวใจสาธารณะทั้งหลายมาหารือเพื่อจะออกแบบกระบวนการคลี่คลายปัญหาร้องเรียนต่างๆ ให้สังคมทุกระดับขั้นร่วมเป็นเจ้าภาพ ช่วงเบรกอาหารว่าง ท่านผู้ตรวจได้ออกมาทักมายพวกเรา ท่านยังจำสไตล์ชาวเฮได้ การกอดกันสัมพันธไมตรีจึงเกิดขึ้นอย่างชื่นมื่น
อุ้ย-ครูอึ่ง ได้ชวนหารือเรื่องโครงการศึกษาดูงาน ของนิสิตปัจจุบันและนิสิตเก่าวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยกทีมมาเยี่ยมมหาชีวาลัยอีสาน ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม ศกนี้ ผลของการหารือกัน ได้แนวทางการจัดกิจกรรมดังนี้
รูปแบบการศึกษาดูงาน
1. การบรรยายเรื่อง “วิถีแห่งความพอเพียง: การศึกษาที่มีชีวิตชีวา”
2. การบรรยายเรื่อง “วืถีธรรมชาติ:วิถีแห่งความสุขศานติที่ยั่งยืน”
3. เรียนรู้ในสภาพจริงจากงานต่างๆในมหาชีวาลัยอีสาน
4. สนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายใต้การเอื้ออำนวยวิทยากรประจำกลุ่ม
5. การฝึกทักษะสังเกต และสังเคราะห์ความรู้แบบบูรณาการ
โครงการนี้เป็นการผนวกน้ำใจไมตรีระหว่างคณะของนักศึกษาจุฬาลงกรณ์ กับคณะของชาวเฮฮาศาสตร์เป็นวิทยากรร่วม เช่น รองศาสตราจารย์ ดร.โสรีช์ โพฺธิแก้ว นายแพทย์สุธี ฮั่นตระกูล นายไพศาล ช่วงฉ่ำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทรัตน์ เจริญสันติ นางสาวสมพร พวงประทุม ยังมีจอมยุทธที่ไม่ประสงค์ออกนามให้คันในหัวใจอีกหลายท่าน ที่ล้วนแต่จะทำให้การพบปะอึ้งกิมกี่ได้ทุกชั่วโมง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อการเรียนรู้และขยายโลกทัศน์ของนิสิตจิตวิทยาการปรึกษา
2. เพื่อสัมผัสกับผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นผู้รู้ในชุมชน
3. เพื่อศึกษาฐานความคิดเรื่องการใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ
4. เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตแห่งสันติสุข
5. เพื่อการสังเคราะห์ประสานวิถีของการปรึกษาเชิงจิตวิทยากับวิถีชีวิต
เนื้อหาข้างบนเป็นธรรมเนียมของการเขียนโครงการ ในทางปฏิบัติแล้วทุกท่านที่มาจะได้พบกับ-ความสุข-ความดีงาม-ความอบอุ่นของวิถีไท ไป ๆ มา ๆ รายการนี้จะบานปลายออกไปเป็นการสังสรรค์ของพี่น้องชาวเฮอีกงานหนึ่ง ผมได้รับการกระซิบกระซาบถึงกิจกรรมสนุก ๆ เด็ด ๆ ที่ชาวเฮจะเอามาสมทบแบบเทหมดหน้าตัก สวนป่าจะแตกก็คราวนี้ละครับท่านผู้ชม
ครูอารามมาเล่าให้ฟังนานแล้วเรื่องต้นจันทน์ยักษ์จังหวัดลำพูน ผมรู้แล้วก็ตงิดในใจเรื่อยมา จนมาถึงคราวนี้ละครับที่มีโอกาสได้ไปดูสมใจนึก ก่อนออกจากลำพูน
เราแวะไปชมโรงเรียนมงคลวิทยากันดีไหมครับ จะพาไปดูความมหัศจรรย์การจัดการศึกษาแบบพบกันครึ่งทาง ครูผู้สอนจะก่อหวอดความคิดให้ลูกศิษย์ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้สนุก ๆ ด้วยกัน เป็นการกระตุ้นพลังสติปัญญาของเด็กให้แสดงออกเชิงสร้างสรรค์ อธิบายได้ว่าการเรียนแล้วได้ความสุข ความรัก ความสามัคคีเป็นเช่นนี้เอง จินตนาการเล็ก ๆ เหล่านี้จะปักหมุดลงในหัวใจเด็ก บางทีการที่จะเป็นผู้มีอาชีพก้าวหน้าเมื่อโตขึ้น เป็นนักก่อสร้าง นักเขียน นักศิลปะ นักวิทยาศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา ฯลฯ แรงบันดาลใจอาจจะเริ่มขึ้นในวัยเยาว์นี่เอง มาคราวนี้ได้..
ชมไดโนเสาร์ที่เด็กๆช่วยกันสร้างเป็นที่แสดงงานศิลปะ
ชมเฮือนน้อย บ้านในฝันของเด็กที่แสนสุข
ชมมุมวิถีชีวิตชาวเหนือ
ชมสวนเศรษฐกิจพอเพียงฝีมือเด็กระดับประถมต้น
ชมคุณครูเตรียมงานอย่างทุ่มเทใจ
ชมต้นไม้อนุสรณ์ที่ครูเซี๊ยงปลูกไว้ ออกดอกสะพรั่ง
ชมต้นทุเรียนออกลูกของครูอาราม
คณะเราไปจอดรถหน้าศาลเจ้าแม่จามเทวี ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณรั้วศาลากลางจังหวัดลำพูน ไปเห็นแล้วแสนเสียดายที่ต้นไม้ที่มีอายุยืนนานมาเป็นร้อย ๆ ปี ในโลกนี้จะมีต้นจันทร์ใหญ่ขนาด 3-4 คนโอบอยู่กี่ต้น บางทีอาจจะมีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีก็ได้ ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างไร้ความหมาย ทำยังไงหนอชาวลำพูนจะตระหนักถึงคุณค่าของไม้มหัศจรรย์ต้นนี้
ไหน ๆ ก็ไปเยี่ยมศาลากลางจังหวัดลำพูนแล้ว เราถือโอกาสเดินเข้าไปดูอาคารสถานที่เสียหน่อย มองเห็นรังผึ้งหลวงไปเกาะอยู่ที่ป้ายตรงจั่ว 2 รัง ผมสังเกตเห็นตราครุฑสมัยเก่าที่สวยงามมาก เดินไปถ่ายรูปใกล้ ๆ ไปเจอแท่งคอนกรีต รั้วลวดเหล็ก หมวกและอุปกรณ์ป้องกันม็อบเตรียมไว้ เห็นแล้วสะท้อนใจ มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองนี้ สถานที่สำคัญสูงสุดของจังหวัดยังถูกคุกคาม เมื่อเป็นเช่นนี้จะไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขอะไรได้
เราเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่
รถผ่านหน้าบ้านอุ้ยตรงอำเภอสารภี
เห็นคุณแม่อุ้ยยืนอยู่หน้าบ้าน
เสียดายไม่มีเวลาเหลือพอที่จะลงไปไหว้ผู้ใหญ่
อารามหันพวงมาลัยตรงไปสนามบิน
น้าอึ่งจัดการเรื่องตั๋วล่วงหน้า
แล้วเลยไปรับหมอเป๋ามาทานข้าวด้วย
ผม-อุ้ย-ครูอึ่ง สั่งอาหารอร่อย ๆ รอ
ทุกอย่างลงตัวเป๊ะ ๆ
อิ่มแล้วขึ้นเครื่องมานอนพึ่งพุงอยู่กทม.
ขอให้เจ้าภาพจงเจริญ จงเจริญ จงเจริญ
« « Prev : เพลงยาวกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับที่ 1
Next : ชนบทร้อนแล้งในกรุงร้อนแรง » »
4 ความคิดเห็น
ข้าน้อยคงจะมีวาสนาสักวัน ได้พบพี่น้องสายเหนือโตยนะเจ้า..มีเครื่องมาลง ขอนแก่น แล้วต่อรถไปสวนป่า ได้แล้วก่อ…มามื้อใด๋ จะติดต่อรถตู้ไปส่ง สวนป่าเน้อ สนบ่..ส่งความคิดฮอดไปลำพูน เจียงใหม่ เจ้า
โห ปี้น้อง ป้าหวานต่อสายป่านให้แล้วเน้อ แคว๊กๆ
ตั้งแต่ได้ทราบข่าวจากพี่อึ่งและอาจารย์ว่าจะได้มีโอกาสไปเรียนรู้ที่มหาชีวาลัยอีสานก็รู้สึกตื่นเต้นยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ตอนนี้ก็นับวันรอและเก็บรวบรวมปัจจัยเพื่อจะได้เดินทางไปพบปะและได้เรียนรู้จาก ครูบาสุทธินันท์ รวมทั้งชาวเฮฮาศาสตร์ทุกท่านครับ
ยังไงก็ขอฝากเนื้อฝากตัวไว้ด้วยนะครับ
ด้วยความยินดีจ๊าดหนัก ที่จะได้พบเจ รุ่นที่ 21