จราจลคนท้องไร่ท้องนา
อ่าน: 2652ช่วงนี้เราอบรมเกษตรกร ระดับผู้นำจาก6หมู่บ้าน จำนวน28ชีวิต มากินนอนตะลุมบอลความคิด เพื่อจะช่วยกันคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้า มองเรื่องเดินหน้าพัฒนาให้ถูกทิศถูกทาง วางแผนชุมชนระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยเอาปรากฎการณ์และสภาพการด้านเศรษฐกิจสังคมเป็นตัวตั้ง เพราะวาตะภัยจากน้ำมันนั้น โหดร้ายยิ่งกว่าสึนามิเสียอีก มีทีท่าจะป่วนไปทั้งโลก ไม่แน่นะครับ เรื่องพลังงานเชื้อเพลิงอาจจะเป็นชนวนให้มนุษย์เผชิญหน้ากันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ความละโมบที่ดีกรีรุนแรงเกินที่กว่าที่จะรับได้ จราจรก็จะเปลี่ยนป็นจราจล
ท่านกลางความเปลี่ยนแปลง ที่กระชั้นและฉุกละหุกเช่นนี้ ชาวไร่ชาวนาจะรับสถานการณ์อย่างไรหนอ ถ้าปัญหาออมามากๆ รายการเดินขบวนก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะวิธีนี้ดูจะเป็นทางเลือกยอดฮิตสภาวะวิกฤติสังคมไทย ที่จำเป็นจะต้องใช้ความรู้ใหม่มายกระดับการงานอาชีพ ให้เป็นวิชาชีพและเป็นมืออาชีพ กว่าจะเกิดตรงจุดนี้ได้มันไม่ง่ายเลยพี่น้อง จะออกหัวออกก้อยก็ไม่รู้
วันนี้จึงชวนเข้าเรื่องกระบวนการคิด
แบ่งออกเป็น3 กลุ่ม
ให้ไปประมวลคำคิดเกี่ยวกับ
(พืชผักที่สมาชิกเอามาอวดเพื่อนๆ)
- บริบทการทำนำ
- บริบทการเลี้ยงปลา
- บริบทการปลูกต้นไม้
แยกกันไปนั่งคิดคำอะไรบ้างที่รู้จักหรือเกี่ยวข้องกัน แล้วแต่ละกลุ่มเอาคำเหล่านั้นมาตรวจสอบ คำไหนซ้ำกันและต่างกันก็แยกไว้เป็นหมวดๆ คำที่ซ้ำกันมากๆแสดงว่ามีความสำคัญมาก จับมาใส่ตอนเขียนลงแผนที่ความคิด แยกระดับความสำคัญไว้เป็นแกนหลัก กลุ่มคำสำคัญรองลงไปเอาไปลงไว้ที่แกนรอง ส่วนคำกระจัดกระจายเอาห้อยไว้ปลายติ่ง
การฝึกคิดเช่นนี้บ่อยๆ จะชี้ชวนให้ผู้นำชุมชนคิดเรื่องแผนการทำงานอย่างเป็นระบบได้คมชัดมากขึ้น ต้นทุนจากประสบการตรงชาวบ้านมีอยู่แล้ว การพิจารณาการสังเกตุก็พอมีบ้าง ถ้าเราชวนถอดความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือแล้วโยงให้ดูกัน ก็จะเห็นวิถีการทำงานเชิงบูรณาการ ว่าในที่สุดแล้วสิ่งที่มีชีวิตล้วนเอื้อโยงถึงกันและกัน มนุษย์ไม่รู้เรื่องสายใยธรรมชาติ.. ไปแยกส่วนจัดกิจกรรมเป็นกระจุก ทำให้พลังธรรมชาติที่เคยเป็นตัวช่วยที่สำคัญสูญเสียไป..
สรุป แผนการยกระดับวิถีชีวิต การทำนา-เลี้ยงปลา-ปลูกต้นไม้-ในจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประณีตให้ดี คุ้มค่า กับเวลาและหยาดเหงื่อแรงงาน รวมทั้งคิดถึงการปูทางไปในอนาคตด้วย ทำอย่างไรจะอยู่ได้ อยู่ดี อยู่ไหว ไปรอด ..เดินมาถึงทางหลายแพร่งแล้วพี่น้องเอ๋ย..จะเป็นเกษตรกรหรือกรรมกรก็อีตอนนี้.
บ่ายนี้ได้คำตอบโผล่มาแล้ว 1 เรื่อง
- การลดรายจ่าย
- การทำงานให้พอดีกับปัจจัยพื้นฐานของครอบครัว
- คิดก่อนทำ
- ทำไปปรับปรุงไป
- ทำทุกเรื่องอย่างมีเหตุมีผล
- จัดระเบียบงานให้สัมพันธ์กัน
- ทำบัญชีครัวเรือน
- คิดแล้วลงมือทำให้ได้จริงๆ
- มีความมุ่งมั่นสูง
- ใช้วิชาความรู้
- ทำกิจกรรมที่หลากหลาย
——————————————————————–
« « Prev : วิ่งสู้ฟัดที่สวนป่า
Next : สุนทรีสนทนาประสาชาวบ้าน » »
1 ความคิดเห็น
ผมอยากฝากไปให้พิจารณาเรื่องนึงครับ คือเรื่องหนี้สิน แม้ว่าตัวเราและครอบครัวจะมีชีวิตอยู่ได้ แต่ครอบครัว/ชุมชนจะมีภูมิต้านทานที่ดีกว่าถ้าไม่มีหนี้สินมาเป็นพยาธิคอยดูดเลือด
บันทึกที่ลิงก์ไว้ข้างบน เขียนสำหรับพนักงานบริษัท แต่มีคำแนะนำที่สามารถนำไปพิจารณา และปรับใช้ได้นะครับ