พวกชูชกเรียกพี่
อ่าน: 1560(พริกแดงกับภาพขวามือบนเกิดเองในป่า ภาพขวาล่างปลูกในกระถาง)
นิสัยการกินเราเริ่มสะสมมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ผิดรู้ถูก ต่อเมื่อมีการศึกษาก็ทำให้คิดได้ ค่อยๆปรับปรุงแก้ไขเรื่อยมา ผมก็อยู่ในอาการที่ว่านี้ แต่ก็ยังลองผิดลองถูกอยู่ดี เรื่องการดื่มน้ำทำได้แล้วตามที่หมอเจ๊กับป้าหวานแนะนำ แต่ก็แปลก,..ฉี่บ่อยเหลือเกิน บางคืนต้องลุกถึง3ครั้ง ฉี่สีไม่ข้นเข้มเหมือนเมื่อก่อน ท้องใส้ก็ระบายดีแต่ยังไม่ปกตินัก ต้องถามหาสุขาอยู่หนไหนวันละ3-4ครั้ง คงจะเป็นเพราะเบ่งไม่สุดไม่มากเหมือนคนปกติ หลังจากกินผักผลไม้มากก็ไม่ต้องพึ่งยาถ่ายยาระบายแล้ว นานๆจะดีท๊อกทีก็โล่งโจ้งสบาย
อยู่ในระหว่างลดละลงได้เรื่อยๆคือการกินอาหารรสจัด หลังจากตั้งเป้าไว้ก็ระวังเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนทุรนอยากอะไรมาก มีความสุขที่จะลดอยู่แล้วจึงพบความสบาย และเห็นประโยชน์โดยตรง เมื่อก่อนจะกินเพราะความอยากความไม่รู้ ก็ปล่อยเลยตามเลยจนติดความคุ้นชินบ่มเพาะเป็นความชอบ ยกตัวอย่างเรื่องการกินเผ็ด ผมอยู่ในจำพวกเผ็ดได้พอประมาณ ไม่ถึงกับซู๊ดซ๊าดอย่างคนสงขลาปัตตานีหาดใหญ่ ที่มีเมนูเผ็ดนำแทบทุกมื้อ ภูมิปัญญาไทยบางแขนงบอกว่า กินเผ็ดทำให้ร่างกายอบอุ่น และในพริกก็มีสารที่เป็นประโยชน์อยู่หลายตัว แต่ถ้าสังเกตชาวตะวันตกเขาก็อยู่เมืองหนาว แต่ทำไมเขาไม่รับประทานเผ็ดอย่างคนเอเซีย ข้อนี้ก็น่าพิจารณารสเผ็ดทำให้มีคุณมีโทษอย่างไหนมากกว่ากัน
พอผมลดการกินเผ็ดลง ร่างกายเริ่มปรับตัวให้รับความเผ็ดได้น้อยลงเช่นกัน เมื่อก่อนกินส้มตำได้ตามที่ชาวบ้านกินกัน แต่เดี๋ยวนี้จะขอลดจำนวนพริกลง สมัยยังหนุ่มๆยังเคี้ยวพริกขี้หนูสดกินกับลาบได้ ตอนนี้เจอเข้าครึ่งเม็ดก็สะดุ้งแล้ว ผมชอบเอาพริกหยวกหรือพริกหนุ่มของชาวเชียงใหม่มายำ ซอยหอมบีบมะนาวใส่น้ำตาลเล็กน้อย แต่ก็ยังรู้สึกว่าเผ็ดเกิน ถ้าเราปลูกพริกเอง ..พริกที่ยังอ่อนจะมีความเผ็ดน้อยกว่าพริกแก่ ช่วงที่อีตาเม้งเยอรมันชวนเอาพริกสดหั่นใส่ไข่เจียว ก็หอมอร่อยดีและชอบทำรับประทานอยู่พักหนึ่ง ต่อเมื่อป้าหวานแนะนำไม่ควรกินผัดๆทอดๆมากนัก ของทอดผมเลิกได้เกือบ80% หมู่นี้จะเจียวไข่สูตรเยอรมันจะซอยพริกอ่อนใส่น้อยลง ถึงลดเผ็ดลงก็ยังอร่อยเหมือนเดิม ไม่เพียงแต่ลดจำนวนพริกลง ยังลดจำนวนการกินของผัดๆทอดๆลงด้วย คุณแห้วชอบรับประทานผักบุ้ง ผักกาด ผักกุยฉ่ายไฟแดง ซดกับข้าวต้มร้อนๆ ผมก็ชอบและเจี๊ยะเป็นเพื่อน ตรงนี่แหละครับที่ยังจูงใจจูงปากให้ติดรายการผัดร้อนๆอยู่บ้าง
ตามตำราบอกว่า กินอาหารรสจืดแล้วสบายตัว ความจริงแล้วอาหารรสจืด รสไม่จัดหรือรสธรรมชาติพอกินนานเข้าก็จะชินและมีรสดีเอง จะรู้สึกอร่อยเกินไปจนถึงขนาดที่เราต้องคอยควบคุมปริมาณไม่ให้มากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะมันจะรู้สึกอร่อยมากจนหยุดกินไม่ค่อยได้ และเมื่อถึงจุดนั้นเราค่อยมาฝึกควบคุมปริมาณการกินให้พอเหมาะอีกทีหนึ่ง เมื่อเห็นประโยชน์เช่นนี้เราควรชวนกันมาละล้าง สลายพลังงานหลงติดในความชื่นชอบใจของอาหารรสจัด หรืออาหารที่ไม่สมดุลกับร่างกายของเรา เราควรอาศัยรสอร่อยในอาหารสุขภาพก่อน จุดคลิ๊ก ควรกินอาหารสุขภาพให้อร่อยให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นเราจะออกจากอาหารที่เป็นพิษนั้นไม่ได้ แล้วเราค่อยมาฝึกละล้างความอร่อยในอาหารสุขภาพรสไม่จัด ด้วยการควบคุมปริมาณอาหารให้พอเหมาะ จุดนี้ผมเผลอเรอทุกที มื้อเย็นวันนี้แม่หวีเอามะละกอสุกมาให้หลังอาหาร มะละกอจานนี้หวานอร่อยมาก รสชาติเหมือนเป็นผลไม้แปลกๆที่ไม่ใช่มะละกอที่คุ้นเคย จึงเกินเลยบริหารจัดการซะเกลี้ยง ทำเอาท้องโย้ไปเหมือนกัน พวกชูชกเรียกพี่ก็ยังงี้แหละขอรับ เขียนมาถึงตรงนี้นึกถึงคุณตฤณที่ไม่ชอบกินเผ็ด จึงสบายไม่ต้องปรับเรื่องรสเผ็ดรสจัดเหมือนคนอื่น ต่อไปแทนที่จะทำอาหารแบ่งรสจัดกับรสจืด ก็ปรับมาทำอาหารค่อนข้างจืด ไม่เผ็ดไม่รสจัดก็อร่อยได้
- ผักสวนครัวรอบบ้า่นผมยังปลูกพริกอยู่นะครับ
พริกขี้หนู พริกเขมรลูกขาวๆกำลังงาม พริกแฟนซีก็ปลูกบ้าง
ผมสังเกตว่าพริกขี้หนูจะทนแล้งเป็นพิเศษ
พวกนกมาคาบไปกินเมล็ดหล่นในสวนป่า
เคยเดินไปเจอต้นพริกลูกแดงๆเต็มต้นก็มี
แสดงว่านกก็ปลูกผักสวนครัวเหมือนกัน
สวนครัวของนกไม่ได้มีเฉพาะพริกนะครับ
ยังมีเมล็ดผักผลไม้เกิดขึ้นในป่าอีกหลายร้อยชนิด
บางทีคนเรานั่นแหละไปอาศัยเก็บเมล็ดพันธุ์พืชของนก
ถ้าสิ่งมีชีวิตทั้งมวลพึ่งพากันได้โลกใบนี้จะน่าอยู่ขึ้นอย่างมากเลยละครับ
- เรื่องสวนครัวนกนี่ผมสังเกตมานานแล้ว
พริกที่เกิดเองในธรรมชาติจะค่อยๆปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตั้งแต่เป็นต้นอ่อนจนเติบโต
แสดงว่าพริกก็มีการเรียนรู้ที่จะอยู่รอดเช่นกัน
พริกขี้หนูที่เกิดขึ้นในป่าถ้าอยู่ในทำเลที่เหมาะสม
อาจจะรอดข้ามแล้งมีอายุยืนอยู่ได้2-3ปี
สภาพแวดล้อมที่สมดุลจึงมีความหมายมากกว่าที่มนุษย์จะมองเห็นและเข้าใจทะลุ
ไม่อย่างนั้นมนุษยชาติจะมาอิดออดเรื่องช่วยเหลือกันลดภาวะโลกร้อนหรือครับ
ต่อไปเสื้อกันหนาวหมวกไหมพรมไม่ต้องถักกันแล้วนะอุ้ยสร้อย
เพราะโลกจะร้อนและร้อนจนต้องนอนแช่ในโอ่ง แคว๊กๆ..
« « Prev : สะเดากลางป่า กำลังแตกช่อมาเป็นพุ่มเป็นพวง
Next : ด้วยความยินดีกับอาม่า » »
8 ความคิดเห็น
การฉี่บ่อยๆหลังเพิ่มการดื่มน้ำ แล้วฉี่ที่ปล่อยออกมาสีไม่เข้มข้นเหมือนแต่ก่อน บอกว่าร่างกายเริ่มมีการปรับตัวคืนมาสู่ระดับดีขึ้นระดับหนึ่งแล้ว การฉี่บ่อยเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านแล้ว อีกไม่นานเกินรอมันก็จะผ่านเข้าช่วงที่ปรับตัวได้แล้ว การฉี่บ่อยๆจะปรับลดไปเอง
นอกจากจะเป็นสัญญาณว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันยังบอกด้วยว่าพ่อครูยังกินอาหารรสหวาน เค็มเกินจำเป็นอยู่นะคะ ดูแลเรื่องการใช้ผงชูรส ผงปรุงรส น้ำตาล น้ำปลา เกลือที่ใส่เวลาปรุงรสอาหารทั้งหลายด้วยนะคะ โดยเฉพาะเมนูยำทั้งหลาย
มาปรบมือให้กับความตั้งใจปรับตัวเพื่อสุขภาพที่กำลังมีสัญญาณที่ดีขึ้นค่ะ
อ้อ ลืมบอกไปว่ารสเผ็ด ยังไม่สำคัญต่อสุขภาพเท่า รสหวาน เค็มค่ะ
ขอบคุณมากหมอตา รับปฏิบัติครับผ๊ม แคว๊กๆๆ
อ้าว อ่านเพลิน เจอวกมาที่อุ๊ยตอนท้าย…
เมื่อวานมีคนส่งเมลมาให้ดู เขาแต่งชุดรับโลกร้อน คือใช้สีพ่นตัวแทนเสื้อ อยากได้เสื้อแบบไหนก็พ่นสีเอาแบบนั้น…ไหมพรมถ้าจะได้งดซะจริงๆนะคะ …ไปหัดทอผ้าใช้เองน่าจะดีนะคะ ….ปลูกฝ้ายและทอผ้าใช้เอง..อืม..สวนป่ามีโปรเกรมนี้ไหมละคะ..อิอิ
ล้อเล่นนะอุ้ย เสื้อ-หมวกไหมพรมยังพอใช้ได้อีกนาน
แต่วันนี้ร้อนอีกแล้ว อากาศผีเข้า-ผีออก
มาเสริมความคิดของอุ๊ยนะพ่อครู มีวันหนึ่งที่ไปแอ่วเหนือแล้วแวะร้านขายผ้าไหม เจ้าของร้ายเขาบอกว่า ผ้าไหมส่วนใหญ่ที่มีขายกันให้เกลื่อนเป็นแฟชั่นนั้น นำเข้ามาจากเวียดนามซะมากกว่าทอเองในไทย ส่วนในไทยที่มีมาขายกันนั้นทอมาจากอีสานมากกว่าทางเหนือเอง ซอกแซกไปทางอีสาน เดาว่าคำตอบคงแตกต่างไปถึงแหล่งทอผ้า
ผ้าไหมเป็นผ้าที่ไฮโซและชนชั้นกลางใช้ซะเป็นส่วนใหญ่ จึงมีช่องว่างของตลาดที่ยังเจาะได้ทุกระดับเหลืออยู่ น่าลองรื้อเรื่องปลูกฝ้าย ทอผ้าขึ้นมาฟื้นฟูรองรับอาชีพคนอีสานบ้านๆก็ดีนะคะ แล้วก็ถ้าคิดจะทำ จำเป็นจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ เติมเรื่องป้องกันสุขภาพเข้าไปด้วยค่ะ เพราะว่าฝุ่นฝ้ายทำให้คนคลุกคลีมันเป็นโรคปอดที่รักษาไม่ได้ มีแต่ชะลออาการค่ะ
อยากเห็นอุ้ยใส่ชุดรับโลกร้อน..อิอิ
วันไหนดีละอุ้ย แคว๊กๆๆ
เอาไว้จะหาโอกาสทอผ้าและใส่เสื้อที่ทอเองมั่งค่ะ
รอนานหน่อยเน้อชาตินี้ได้หรือเปล่าบ่อฮู้…อิอิ