เรื่องของครูของครู
อ่าน: 2928วิถีของผู้สร้างโลกที่ชื่อ อ.ไพลิน กาญจนภานุพันธ์
เมื่อวานนี้ได้รับหนังสือชื่อ พายเรือ..เทียบฝั่ง ที่ผู้เขียน อาจารย์ไพลิน กาญจภานุพันธ์ กรุณาส่งมาให้ พร้อมลายเซ็นด้วยนะครับ..จะไม่ให้ดีใจได้จะได๋ เป็นความประทับใจอย่างยิ่งเมื่อได้อ่าน ท่านอาจารย์เขียนเล่าเหมือนจูงมือเราไปกระโดดโลดเต้นอยู่ในพื้นถิ่นเมืองละปูนเมื่อ40-50ปีที่แล้ว ได้ทราบเรื่องที่ค้างคาใจอย่างไม่คาดฝัน เช่น เรื่องคนเชียงใหม่ปลูกต้นยาง คนลำพูนปลูกต้นขี้เหล็ก ต้นไม้สองชนิดมาบรรจบกันตรงไหนก็ถือเอาเป็นเขตแบ่งจังหวัด นับเป็นอุบายสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมที่เยี่ยมมาก
ตอนเด็กรุ่นกระทง ผมมีเพื่อนชาวเหนือหลายคน และเพื่อนสนิทที่ยังกริ๊งกร๊างกันจนเข้าสู่วัยเกษียณชื่อพรพรรณ เรื่องของเมืองละปูนจึงปิ๊งแว๊บไม่ห่างหายไปไหน จนกระทั่งได้มาเขียนบล็อก เกิดเป็นกลุ่มสกุลเฮ คราวนี้ละครับวิถีของชาวละปูนได้ขยับระยะระหว่างทางเข้ามาประชิดติดพัน ผมไปลำพูนบ่อยขึ้น ไปกินไปนอนไปรับกอดจากคนละปูน สนิทสนมเป็นเครือญาติ ที่ผมถือว่าเป็นวาสนาเลยเชียวแหละ น้ำใจคนละปูนนั้นพิเศษนัก ถ้ายังไม่เจออย่าเพิ่งเชื่อ อิ อิ..
ใครไม่รู้ช่างคิด เขียนป้ายตัวโต
..นอนลำพูน 1 คืน อายุยืนไป 1 ปี..
ด้วยเหตุนี้ผมจึงหาเรื่องไปต่ออายุที่ลำพูนปีละ2-3ครั้ง ได้นอนตรงกันข้ามวัดเจ้าแม่จามเทวีเสียด้วย อลังการในหัวใจยิ่งนัก แต่ก็ใช่ว่าเราจะเทียวไปที่ลำพูนฝ่ายเดียวนะครับ ปีนี้ญาติหัวเมืองฝ่ายเหนือได้มาเยี่ยมที่สวนป่าถึง4ครั้ง ทราบจากการอ่านบันทึกของอุ้ยแล้วแทบไม่เชื่อเลย ไม่แน่นะครับ ยังมีเหลือเวลากว่าจะสิ้นปี บางทีอุ้ยจันตากับครูอึ่งอาจจะชวนญาติๆมาบุกมหาชีวาลัยอีกก็ได้ เรื่องความห่วงใยแบบสายฟ้าแลบยังแปล๊บปลาบได้เสมอ..
ตอนบุกละปูนครั้งแรก ผมชวนคณะคนแซ่เฮไปเยี่ยมโรงเรียนมงคลวิทยา มีดร.เสียงเหน่อ กอล์ฟ อาจารย์Handy อุ้ย น้าอึ่ง ไปสุดตาสุดใจกับห้องสมุด”ครูเซี้ยง” คุณครูถาวร เลาหกุล จะเรียกท่านว่าครูอย่างเดียวคงจะไม่ได้ เพราะท่านลงทุนแรงกายแรงใจสร้างโรงเรียนมงคลวิทยาขึ้นมา ผมไปตะลึงอยู่ในห้องที่เก็บประวัติการงานของท่านไว้ หนังสือ นิตยสาร พิมพ์ดีด รถจักรยาน ภาพประวัติเก่าๆ มีจิตวิญญาณนักการศึกษาตราตรึงไว้อย่างน่าอัศจรรย์ ไปชมกี่ครั้งๆก็ยังรู้แค่ประถม ยิ่งได้ฟังคำบอกเล่าที่ค่อยๆปล่อยตามโอกาสแต่ละเรื่องนั้น เป็นตำนานการศึกษาที่ประเมินคุณค่าไม่ได้
ผมเห็นครูอึ่ง ซึ่งเรียนพยาบาลต้องมารับช่วงมรดกการศึกษาที่หนักอึ้งนี้ไว้ ซึ่งใครๆก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เมื่อทราบพันธกิจหน้าที่มนุษย์ของครูอึ่งแล้ว ถึงจะแสนห่วงใยแต่ก็เห็นว่าสมควรแล้วที่ครูอึ่งแบกภาระโรงเรียนไว้อย่างทระนง ทั้งนี้เพราะผู้อำนวยการตัวเล็กแต่หัวใจโตคนนี้ มีสายเลือดเข้มของครูเซี้ยงอยู่ทุกอณู ด้วยจิตกุศลของเธอ ก็ได้แต่หวังว่าหญิงแกร่งแห่งแผ่นดินพระนางจามเทวีคนนี้ ได้พบฟ้าสีทองผ่องอำไพในใจของตนเองแล้ว คุ้มค่าที่สุดแล้วที่เกิดมาเป็นหน่อเนื้อชาวละปูน
จากการที่ได้รู้จักครูอึ่ง ก็อัศจรรย์ใจในอานุภาพของเธอยิ่งนัก อุ้ยจันตาที่เป็นเพื่อนรัก ขยายความให้ฟังคราใดก็ทึ่งอึ้งๆครานั้น แม้แต่เขียนต๊อกๆอยู่นี่ก็เห็นใบหน้าลอยมาเลยนะ ..คนที่เป็นครูทั้งตัวและหัวใจได้คงจะมีที่ไปที่มา..และเรื่องก็มาถึงบางอ้อเมื่อวานนี้ หลังจากอ่านหนังสือพายเรือเทียบฝั่ง
ดร.ไพลิน กาญจนภานุภันธ์ เล่าว่า
..ตอนไปสอบเรียนต่อนั้น เพื่อนๆ จากโรงเรียนบ้านอุโมงค์ฯ หลายคนก็ไปสอบด้วย แต่ไม่มีใครสอบได้เลย บางคนจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนอุโมงค์วิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำตำบล และเปิดสอนเป็นปีแรก ส่วนข้าพเจ้าไปเรียนต่อที่โรงเรียน “มงคลวิทยา” ในตัวเมืองลำพูน
..มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะรอรถมารับ “คุณครูถาวร เลาหกุล” เจ้าของโรงเรียน หรือที่เราเรียกติดปากว่า “ครูเซี้ยง” เดินผ่านมา เห็นพวกเรานั่งคุยกันก็เรียกไปสอนภาษาอังกฤษให้ ..วิชาที่ข้าพเจ้าชอบที่สุด ก็คือวิชาภาษาอังกฤษ และ สังคมศึกษา อาจจะเป็นเพราะแรงดลใจจากครูเซี้ยงก็เป็นได้ ผลการเรียนก็อยู่ในระดับค่อนข้างใช้ได้ทีเดียว จนได้รับทุนการศึกษาโดยทางโรงเรียนยกเว้นค่าเล่าเรียน
..ชีวิตการเรียนที่โรงเรียนมงคลวิทยามีความสุขสนุกดี พอฝนตกก็ชอบพากันหนีเรียนไปเก็บเห็ดหอมที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน หรือตามทุ้งนาหลังโรงเรียนบ้าง บางทีเปียกฝนมะล็อกมะแล็กกลับมา จนถูกครูทำโทษหลายครั้ง
..ข้าพเจ้าดีใจอยู่ประการหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสสอนทั้งลูกสาวและหลานสาวของครูถาวร เลาหกุล (ครูเซี้ยง) ครูในดวงใจของข้าพเจ้าสมัยเรียนชั้นมัธยม ลูกสาวของท่านคือ “ดวงพร เลาหกุล” ปัจจุบันเธอเป็นผู้จัดการโรงเรียนมงคลวิทยา และหลานสาวของท่านซึ่งเป็นลูกสาวของอาจินต์ ลูกชายคนโต ชื่อ “ภาวิตา เลาหกุล” ชื่อเล่นว่า “เป๋า” ปัจจุบันกำลังศึกษาที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
..เป๋านั้นเรียนเก่งทุกวิชา อีกทั้งลายมือสวยมากทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นเรื่องดนตรี(เปียโน) ก็เก่ง ส่วนด้านกีฬาเธอก็ไม่น้อยหน้าใคร ที่น่าชื่นชมมาก คือ เป็นคนหนึ่งที่อนุรักษ์ภาษาเหนือไว้อย่างเหนียวแน่นเพราะชอบพูดคำเมืองมาก เธอเคยเป็นประธานชุมนุมมัคคุเทศก์รุ่นเยาว์ (Junior Guide)
..ข้าพเจ้ามักจะเล่าเรื่องครูเซี้ยงหรือที่เธอเรียก”อากง”ให้ฟัง เธอจะมีความผูกพันกับท่านมาก และจะบอกเธอเสมอว่า “ขอให้ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด อย่างน้อยก็เพื่ออากงของหนู” เป๋าก็รับปากด้วยดี ประโยคหนึ่งที่ประทับใจตอนที่ข้าพเจ้าถามว่า “จบม.6แล้วอยากจะเรียนอะไรต่อ” เธอตอบว่า “เรียนอะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะสุดท้ายเป๋าก็ต้องมาเป็นครูโรงเรียนมงคลฯอยู่ดี”
หนังสือเล่มนี้ เขียนดีจริงๆ อาจารย์ไพรินเป็นคุณครูนักเขียนด้วยนะ ท่านเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม ได้ทูลเกล้าฯถวายหนังสือสมเด็จพระเทพฯหลายครั้ง ผมอยากให้ครูไทยทั่วแผ่นดินได้อ่าน เล่มนี้ แต่ก็จนใจเพราะมีเล่มเดียวที่ผู้เขียนส่งมาให้ เป็นเรื่องราวพิเศษที่อาจารย์ประมวลสาระตั้งแต่วัยเด็กจนวัยเกษียณ แต่อาจารย์ก็Website ลองคลิกเข้าไปดูที่ www.krupailin.com
..มีพรรคพวกและลูกศิษย์เคยโทรศัพท์มาชวนให้ไปเป็นอาจารย์สอนพิเศษตามหมาวิทยาลัยต่างๆบ้าง หรือเป็นกรรมการประเมินบ้าง บอกว่าเสียดายความรู้ที่เล่าเรียนมา อีกประการหนึ่งคงจะกลัวข้าพเจ้าจะเหงาและเฉา ก็ต้องขอขอบคุณในความหวังดี ความจริงก็น่าสนใจไม่น้อย แต่ถ้าเรายังทำงานก็จะสร้างความเครียดต่อไปไม่รู้จบสิ้น แล้วเมื่อไหร่จะได้พักผ่อนจริงๆเสียที
ตอนท้ายเล่มสิครับโดนใจมาก อาจารย์มีประเด็นคำถามตอบตัวเองได้อย่างจะแจ้ง
1. เกษียณออกมาแล้วจะทำอะไร
2. ทำไมถึงไม่ทำผลงานทางวิชาการ
3. ทำไมไม่เข้าโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เพราะคนที่มีเวลาราชการเหลืออีก1ปีจะมีกำไร
4. มีเทคนิควิธีการอย่างไรในการขอบริจาคชาวบ้านพิมพ์หนังสือการกุศลได้รวม 10 เล่ม
5. เป็นครูมานาน มีความในใจด้านบวกและลบอะไรบ้าง
เต็มอิ่มมากนะขอรับที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ อาจารย์เปรียบตัวเองเป็นฝีพาย ฝีพายเรือใบนี้จวงพายจ้ำส่งลูกศิษย์ขึ้นฝั่งรุ่นแล้วรุ่นเล่ามานาน 36ปี4เดือน บัดนี้ใบพายได้วางมือแล้ว แต่ผมเชื่อว่าอาจารย์ไม่มีวันเหงา เพราะในตัวอาจารย์มีสิ่งที่อยากจะทำตามที่กำหนดได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว..ถ้าเป็นไปได้ผมจะชวนคนสกุลเฮไปเยี่ยมอาจารย์ที่ละปูนนะครับ และอยากเรียนเชิญอาจารย์มาเที่ยวที่นี่ดีไหมครับ
« « Prev : หน้าม้ามาแล้วครับ ..
Next : พ่อคะ …สวนป่า เป็นยังไงคะพ่อ » »
4 ความคิดเห็น
วันจันทร์นี้จะเปิดเทอมแล้วค่ะ..ปิดเทอมแวบหนีงานลำบาก..เปิดเทอมแวบได้ง่ายกว่า..อยากมาสวนป่า.อิอิ..
.ถ้าชวนคุณครูไพลินมาด้วยน่าจะดีนะคะ
คุณครูไพลิน เป็นหนึ่งในศิษย์รักของอาปา(ครูเซี้ยง)และแม่ ท่านเป็นครูที่เก็บรายละเอียดในประสบการณ์ที่ผ่านพบและนำมาถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์ได้เสมอ ภาพถ่ายประกอบในหนังสือนี้ มีคุณค่าและหาได้ยาก เห็นความพยายาม ความสุขของคุณครูที่สะสม ติดตามจากผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีอยู่หลายท่าน ศิษย์เก่ารุ่นของคุณครูก็เหนี่ยวแน่นและมีคุณภาพกันมาก
อาชีพครู เหนื่อยหนัก แต่คุณครูที่ดูแลศิษย์ด้วยเมตตาและปรารถนาดี ก็จะอยู่ในใจของศิษย์เสมอ เหมือนที่ทุกคนยินดีที่จะสนับสนุนคุณครูไพลินทุกครั้งที่ทราบว่าจะทำหนังสือ
ความดีก็ยังส่งต่อไปได้ถึงลูกถึงหลาน ครูอึ่งและเป๋า มักจะได้เติมรอยยิ้มจากเรื่องราว ตำนานในการเป็นครูแบบครูเซี้ยงจากคุณครูไพลินและบรรดาศิษย์เก่าทั้งหลาย บางทีเราก็เกเรได้น้อย.. เพราะไปเรียนที่ไหน ก็เจอแต่ลูกศิษย์อาปาและอากง..555
สวรรค์มีตาเสมอนะคะ ครูบา
สวรรค์ส่งหนังสือนี้มาให้ติดตามประวัติโรงเรียนมงคลวิทยา ได้อย่างกับเกิดกรุ อ่านแล้วทึ่งๆๆๆ