บ้านป่า 2 ตอนเสี่ยปริญญาเอก

โดย sutthinun เมื่อ 13 กันยายน 2009 เวลา 9:59 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 1359

ตั้งแต่มีเรื่องKM.เข้ามาพัวพันในประเทศไทย ผู้คนเริ่มทบทวน..เกิดความตระหนักว่า ในธรรมชาติในป่ามีก็ชุดความรู้ที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเอาความรู้ในตัวคนเข้าไปจับ จะทำให้เห็นเส้นทางเรียนรู้กระจ่างขึ้น อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่าไม่ทราบนะครับ ที่เย็นวานนี้ดร.ศักดิ์พงศ์ หอมหวน ได้พาลูกศิษย์ปริญญาเอกมาคุยเรื่องที่จะทำวิทยานิพนธ์ ในหัวข้อกลยุทธการพัฒนาขีดความสามารถการพึ่งตนเองระดับหมู่บ้านในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเรื่องที่น่าสนใจใช่ไหมครับ แต่การที่จะค้นพบค้นหากลยุทธ ที่เปรียบเสมือนยาขมหม้อใหญ่ที่จะมารักษาไข้ใจของคนอีสานนั้นไม่ง่ายเลย ถึงจะเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อนก็เถอะ คงจะต้องมีต้นทุนมากพอสมควรจึงจะเข้าถึงกลยุทธทะลวงไส้คนทุ่งกุลาได้ เพราะโจทย์อย่างนี้ทำเอาพระเอกตกม้าตายมานักต่อนักแล้ว แต่เมื่อมีนักสู้ขึ้นเวทีพี่เลี้ยงก็ต้องเอาใจช่วยต่อไป..

นักศึกษาคนนี้มีประวัติที่น่าสนใจมาก

เป็นพ่อค้า เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีระดับไม่ธรรมดา

ไต่เต้ามาจากการเรียน กศน.

จบปริญญาตรี-ต่อปริญญาโทด้านการเมืองการปกครอง

ปัจจุบันได้เป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนระดับป.ตรี

ลูกศิษย์ที่เสี่ยประมวลสอน ส่วนมากเป็น อบต.ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน ฯลฯ ตรงจุดนี้ได้เปลี่ยนบทบาทคนซื้อมาขายไป เป็นผู้ที่ออกมายืนถ่ายทอดความรู้หน้าชั้นเรียน มันเป็นความภาคภูมิใจลึกๆที่ลบปมด้อยที่สะสมมานาน ทำให้มีแรงฮึดที่จะทำการศึกษาในระดับปริญญาเอก

คนที่เป็นพ่อค้าจะมีเส้นทางดิ้นรนทำมาหากินคลุกคลีกับเรื่องสังคมรอบด้าน ต้องช่วยเหลือตัวเอง พัฒนาตนเองให้เป็นมืออาชีพ การที่ได้นักสู้ชีวิตเข้ามาสู่ระบบการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีใช่ไหมครับ ..เย็นวานนี้ผมได้ฟังเส้นทางชีวิตพ่อค้าที่ผ่านการรีดไถ จิ้มก้อง และการออกอุบายพลิกแพลงเพื่อการอยู่รอดและเอาชนะเรื่องต่างๆ ดังนั้นประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับชาวบ้านในสายตาพ่อค้าจึงแน่นพุง

คุณประมวลเล่าว่า..

ลงพื้นที่หมู่บ้านไหน

จะมีเสียงเรียก..เสี่ยมวล..มาแล้ว ๆๆ

ชาวบ้านก็จะมามะรุมมะตุ้มถาม จะมาแจก มาช่วยอะไร?

เสี่ยก็เสี่ยเถอะน่า ..

นายกรัฐมนตรียังตับหดกับโรคร้อยเอ็ดมาแล้ว..

เท่าที่ได้สนทนา พบว่าความมุ่งมั่นใจนั้นไม่มีปัญหา แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ยังต้องไขลาน มีต้นทุนทางด้านวิชาการน้อย ประสบการณ์ด้านสุจิปุลิก็ยังด้อย อาจารย์ที่ปรึกษาคงต้องกระตุ้นพลังสติให้อีกมาก เพราะสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง โจทย์ชีวิต โจทย์สังคม โจทย์ประเทศกำลังรุกรี้ลุกลน หลายเรื่องยังจบต้นชนปลายไม่ถูก การที่จะค้นหายาผีบอกที่เรียกว่ากลยุทธการพัฒนา-ขีดความสามารถ-การพึ่งตนเองระดับหมู่บ้านในจังหวัดร้อยเอ็ด ไม่ง่ายหรอก ยิ่งกว่าเอาหัวชนกำแพงเมืองจีนให้ทะลุเสียอีก เว้นแต่จะหาวิธีปีนกำแพง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อิ อิ..

เสี่ยประมวลบอกว่า..อยากจะจบเร็วๆ ทั้งๆที่ยังไม่ชัดเจนในวิธีเรียน และตัวเองก็รู้ว่าสังคมหมู่บ้านชนบทมันเหลวเละอย่างไร ที่เห็นๆวัตถุ ถนนหนทาง ป้ายต่างๆ ล้วนเป็นภาพลวงตาทั้งนั้น ให้การบ้านไป2-3ข้อ แล้วนัดว่าวันที่20จะมีกลุ่มอโศกมานอนที่นี่ ขอให้มาฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สันทัดกรณีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกับการพัฒนาองค์กร และเครือข่าย

ผมเป็นห่วงเรื่องดื้อตาใส

จะเอาปริญญาแบบพิสดาร

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็จะเอาด้วยกล

สุดท้ายก็ไปลงอีหรอบเดิมอย่างที่หลวงพี่ติ๊กบอก

เรียนๆลอกๆไปนอกก็เยอะ

เรียนๆเลอะๆไปเจอะเสื้อครุย

« « Prev : : คนบ้านป่า 1 ตอนหลวงพี่ในดวงใจ

Next : บ้านป่า 3 ตอนตอบอุ้ยลุยบัณฑิต » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 สุวรรณา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 กันยายน 2009 เวลา 12:42

    สวัสดดีค่ะพ่อครู คนทำวิจัยลงชุมชน รู้ซึ่งเห็นจริง หนูแหล่ะคนหนึ่ง ที่เห็นหมู่บ้านหนึ่งได้รับรางวัลหมู่บ้านต้นแบบไม่ไกลที่หนูจะดั้นด้นไปหา
    ผู้ใหญ่เป็นผู้หญิง น่าสนใจแฮ้  ไปหาท่านกำลังวิดบ่อปลา กับคู่คิด  เลี้ยงหมูหลุม บ้านช่องเงียบเฉียบเชียว ลูก-หลานหายไปใหนก็ไม่รู้   ก็ต้องพยายามค้นหา สิ่งที่ดีที่สุดค่ะ เพื่อตอบโจทย์ค่ะพ่อครู สิ่งเห็นภาพลวงตา ทำจายยยค่ะอิอิ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 กันยายน 2009 เวลา 14:50

    ขอบใจที่เพิ่มเติมวิทยายุทธ อิอิ

  • #3 จันทรรัตน์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 กันยายน 2009 เวลา 18:20

    รู้สึกอัศจรรย์ใจเสมอเวลาที่ใครๆ บอกว่า อยากเรียนปริญญา แต่ก็อยากจบเร็วๆ ด้วย “อะไรก็ได้ อย่างไรก็ได้”

    ถ้าหากว่าปริญญาเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความมีเกียรติ เอาไปเสริมให้ทำ “อะไรๆ ก็ได้สะดวกขึ้น” อย่างที่คิดกัน …ก็แปลว่าคิดด้านเดียว คือคิดเอาประโยชน์ส่วนตน…โดยไม่ได้คำนึงถึงภาษีของแผนดินที่จัดการศึกษา จัดหาตึกเรียน หนังสือ ตำรา และเสียเงินมหาศาลจัดจ้างอาจารย์ผู้สอนและบุคลากรต่างๆ ตลอดจนบรรดาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเรียน…ซึ่งล้วนมาจากภาษีของคนในประเทศ…ที่ลงทุนเพื่อให้มีผู้ที่จะสามารถนำประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจที่ได้ใช้เวลาเล่าเรียนมาพัฒนาสังคมและประเทศ

    และหากสถาบันการศึกษาใด ก็ปล่อยให้เกิดการจัดหาจัดจ้างการทำวิทยานิพนธ์ และปล่อยให้เกิดทัศนคติ “เงินครบจบแน่” ….ต่อไปวันข้างหน้าสถาบันการศึกษาที่ยินยอมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ก็จะตกต่ำลงด้วยตัวเอง…
    แล้วจะตอบคำถามสังคมได้อย่างไรว่า ภาษีที่เขาจ่ายละลายไปกับอะไร

    ถ้านักศึกษาคิดเรียนให้จบแบบสุกเอาเผากิน หนักไม่สู้ รอแต่คำตอบจากคนอื่น….ก็ไม่ควรลงทะเบียนเรียนให้สิ้นเปลืองและเสียเวลาทั้งอาจารย์และตัวเอง ควรจะเอาเงินที่จะใช้ไปลงทุนทำการค้าอย่างอื่นและหลีกเว้นเสียจากการศึกษา….ที่ควรใช้สติปัญญามากกว่าแค่การลงทุนด้วยเงิน

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 กันยายน 2009 เวลา 20:44

    ซวดๆ  นี่แหละอุ้ยของเรา มาทีไรพสุธาสะเทือน แคว๊กๆๆ
    ถ้ายังไม่หายคันก็ขออีก ขออีก คิคิ

  • #5 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 กันยายน 2009 เวลา 10:05

    ที่สถาบันแห่งหนึ่งเขามี สโลแกนว่า “ถ้าเดินเข้ามารับการสัมภาษณ์ได้ก็ให้รับเข้า และ ถ้าจ่ายครบจบแน่” ……คิคิ

  • #6 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 กันยายน 2009 เวลา 6:32

    ไม่รู้จะทำยังไง ใหญ่เกินกำลังเรา มึนๆๆๆ
    กรรม เกิดจากการกระทำ ทำๆๆๆ ทำไม


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.056811094284058 sec
Sidebar: 0.06546688079834 sec