เมื่อความเชื่อเรื่องภูตผีช่วยเร่งกระบวนการย้ายบ้านเรือน
อ่าน: 1368เขียนบันทึกเรื่องการยกย้ายบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เรื่องราวที่น่าอภิรมย์นัก ทั้งสำหรับผู้อ่าน และผู้บันทึกเอง ใครๆก็รักถิ่นฐานบ้านช่อง ไม่มีใครอยากให้มีการพลัดที่นาคลาที่อยู่หากไม่มีเหตุจำเป็น
แต่เมื่อมีประเด็นทางสังคม คนเคยเล่าร้อยเรียงเรื่องที่ผ่านพบ ก็เหมือนกับนักมวยที่ได้ยินเสียงปี่แตร หากไม่ขึ้นสังเวียนออกหมัด ก็ออกจะคันไม้คันมือไม่รู้หาย อีกทั้งการยกย้ายผู้คนเช่นนี้ต่อไปคงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว โดยเฉพาะในบ้านเรา
กระไหนเลยเขียนแบ่งปันให้อ่านกันเสียดีกว่า เขียนเมื่อถ่านไฟยังร้อน แม้จะเหน็ดเหนื่อยกับงานจัดการเปิดตลาดชุมชนที่เพิ่งเสร็จไปหมาดๆ อ่อนเปลี้ยเพลียแรงมากมาย เคยจัดงานวันไทบรูดงหลวงสามสี่ครั้งหนักหนาสาหัสกว่านี้มาก แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เหนื่อยเท่านี้ เป็นเพราะสังขารร่วงโรยไปตามพยาธิสภาพของโรคที่รุมเร้า นี่เขายังจะขออยู่ต่ออีกสองสามเดือน ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ไปนอนกินผักที่สวนป่าตามฝันสักที
เข้าเรื่องที่จั่วหัวไว้ดีกว่า
การยกย้ายบ้านนาทรายคำ ทางทีมงานเราเก็บไว้คิวหลังสุด เพราะเป็นหมู่บ้านใหญ่มีวัดมีโรงเรียน บ้านช่องห้องหอของประชาชนแน่นหนาถาวร และที่สำคัญเป็นบ้านชาวลื้อที่มีฮีตคองประเพณีและความเชื่อที่สลับซับซ้อนหลายขั้นตอนทั้งที่บ้านใหม่ และที่บ้านเก่า ตั้งแต่การเสี่ยงทายบ่อนตั้งหมู่บ้าน การลงเสาเอกเรือน การจัดวางทิศทางของบ้านและบันไดบ้าน พิธีกรรมก่อนสร้างวัด การย้ายป่าช้า ย้ายวัด การบอกกล่าวทำบุญไปถึงบรรพบุรุษ และการคอบลาเจ้าที่เจ้าทาง ตามที่ได้เคยเขียนบันทึกบอกเล่าไว้ที่ผ่านๆมา
ที่สำคัญที่สุด เราต้องสร้างบ้านเรือน วัด โรงเรียน ตลาด ระบบไฟฟ้า ประปาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะมอบกุญแจบ้านให้พี่น้องมาตรวจสอบเสียก่อนและแจ้งแก้ไขให้ถูกใจเสียก่อน เราวางแผนจะทยอยขนย้ายกันวันละไม่เกินสิบห้าครอบครัว พี่น้องจะได้ช่วยกันแบบเอาแรงกันได้ ในขณะเดียวกันก็มีคำเสนอให้แก้ไขบ้านเรือนให้ถูกใจผู้อยู่มามากกว่าหมู่บ้านอื่น มีตั้งแต่เรื่องพื้น ฝา หน้าต่าง ประตู น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง บ้างครอบครัวก็ไม่ค่อยพอใจกับแปลงที่ดินที่จับฉลากได้ บางครอบครัวก็ไม่ชอบทำเลที่ตั้ง ซึ่งทีมงานก็ต้องพยายามไกล่เกลี่ยแก้ไขให้พี่น้องพอใจที่สุด แต่ก็นั่นแหละปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครอบครัวที่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ย เจรจากันหลายรอบเพื่อหาข้อยุติ
สำหรับครอบครัวที่ถูกอกถูกใจบ้านใหม่ ทีมงานเราก็ทยอยย้ายในรอบแรกๆ ก่อนย้ายก็มีพิธีกรรมต่างๆ (ตามที่เล่าไว้ในบันทึกก่อนๆ) ที่สำคัญคือ มีการย้ายพระสงฆ์ และพระพุทธรูปมาอยู่วัดใหม่ก่อนหน้าการย้ายบ้านเรือนพี่น้อง ส่วนองค์พระประธานได้ทำพิธี “สึก”ท่านและเตรียมการยกย้ายไปวัดใหม่ สรุปแล้วก็คือ วัดกลายเป็นวัดร้าง พระประธานกลายเป็นเพียงรูปปั้น ผีเสื้อบ้านเสื้อเมืองก็อัญเชิญไปอยู่บ้านใหม่หมดแล้ว
สองสามวันที่เตรียมจัดตลาดชุมชนใกล้กับเส้นทางการขนย้ายบ้านเรือน ได้เห็นมหกรรมการหลั่งไหลรีบเร่งขนย้ายข้าวของบ้านเรือนกันอย่างอึกกระทึกครึกโครม จนทางทีมงานจัดรถให้ไม่ทัน จากที่วางแผนไว้วันละสิบห้าถึงยี่สิบครอบครัว กลายมาเป็นวันละหกเจ็ดสิบครอบครัว แย่งรถขนย้ายกัน บางครอบครัวก็ใช้รถส่วนตัวขนของ บ้างก็เอารถแต็กๆไถนาบรรทุกข้าวของมา บ้างก็ไปหาเช่ามาเอง(ทีมงานตามไปจ่ายค่าเช่าให้) บางครอบครัวยังไม่ทันแก้ไขบ้านเรือนให้ตามคำร้องก็บอกไม่เป็นไรขอมาอยู่ก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลังก็ได้ บางครอบครัวไฟฟ้ายังไม่ทันมี(เพราะคิวท่านจะย้ายปลายเดือนหน้าโน้น)ก็ขวนขวายไปต่อไฟมาจากเพื่อนบ้าน รายที่คิดหาทางออกไกล่เกลี่ยกันสองสามครั้งยังไม่ตกลงก็กลับกลายเป็นว่าขนของมาก่อนเพื่อน….ทำให้เกิดความกังขาว่าเกิดอะไรขึ้นหรือ?
คำตอบที่ได้จากการแอบไปพูดคุยกับพี่น้อง เพิ่นบอกว่า “อยู่บ่ได้แล้วอาจาน กลางค่ำกลางคืนหมาเห่าหมาหอนทั้งคืน ผีมันออกมาเดินเล่นในหมู่บ้าน บ่มีสาธุ บ่มีพระเจ้าคอยคุ้มครอง”
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ มีความสำคัญกับพี่น้องมากมายเพียงไหนในสังคมชนบทเช่นนี้
บริบทของคนในสังคมเมืองก็คงแตกต่างกันออกไป คนเมืองติดไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ทีวี และ อินเทอร์เน็ต
อ้าว…ว่าเจ้าของเอง
บ่ได้ว่าผู้อ่านเด้อ