สันเก๊าไม้แดง …แห่งความหลัง

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 เวลา 3:23 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1391

 เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนแนะนำเวียกงานการห้างหาตระเตรียมการสร้างสาสวนใหม่ของพี่น้องนาหนองคำ ภาพที่เห็น เด็กชายนั่งปั้นข้าวเหนียวกินอยู่ที่ขนำ เถียงหรือสนำหรือขนำที่ยังมีเพียงโครงหลังคาส่วนฝาและพื้นยังไม่มี เจ้าหนูนั่งบนกระสอบผืนขาดๆ ข้างกายมีกระติ๊บข้าวกับแกลลอนน้ำปั้นข้าวกินอย่างเอร็ดอร่อย พ่อแม่วัยหนุ่มสาวขะมักเขม้นขุดหลุมเตรียมปลูกต้นไม้ตามคำแนะนำของวิชาการโครงการ

แทนที่ตามปกติจานเปลี่ยนจะตรวจดูสามสี่หลุม พูดคุยให้กำลังใจทีมงานและเจ้าของสวน ถ่ายรูปแล้วเคลื่อนไปสวนถัดไป สายๆก็กลับมาเขียนรายงาน (ก็เป็นที่ปรึกษาหญ่าย…หึ หึ) แต่สำหรับสวนนี้ ภาพที่เห็นทำให้ผมต้องฝืนสังขารลากเท้าเดินไปตรวจ ลึกเข้าไปจนเกือบทั่วแปลงจนทีมงานชวนให้เคลื่อนขบวนจึงค่อยปีนป่ายขึ้นภูกลับมาขึ้นรถ อยากอยู่ช่วยซุกยู้ครอบครัวนี้ สวนแห่งนี้น่าจะเป็นอนาคตของครอบครัวเล็กๆนี้ พร้อมกับแอบจดไว้ว่าต้องมาติดตามบ่อยๆ

ภาพเจ้าหนูนั่งปั้นข้าวในขนำ ทำให้นึกย้อนคืนภาพในอดีต สันเก๊าไม้แดง…แห่งความหลัง

สัน คือที่ดอนอยู่หัวนาตามปกติเป็นที่ปลูกผักปลูกไม้ หากต้องการขยายที่นาก็จะขุดบุกเบิกไปตามกำลังแรงงานและความจำเป็นของครอบครัว บางแห่งเจ้าของก็ใช้เป็นที่ปลูกเถียงนา บางแห่งก็เอาไว้ปลูกฝ้ายปลูกนุ่นปลูกปอและไม้ไผ่

สันเก๊าไม้แดง ชาวบ้านเรียกกันอย่างนั้นเพราะมีต้นไม้แดงต้นใหญ่เหลือยืนต้นเด่นเป็นสง่าอยู่ต้นหนึ่ง เป็นที่ดอนขนาดค่อนข้างกว้างมีห้วยล้องคำอยู่ด้านเหนือส่วนอีกสามด้านล้อมรอบด้วยทุ่งนา จำไม่ได้ว่าเจ้าของที่ดินเป็นผู้ใด อาจเป็นที่ดินที่ไม่มีใครจับจองเพราะเป็นดอนสูงบุกเบิกทำนาไม่ได้ หรือเป็นที่ของเจ้าของนารอบๆข้างแต่ใจดีให้พี่น้องมาปลูกผักปลูกหญ้าช่วยไล่หนูพุกไม่ให้มากัดกินข้าวในนา

ครอบครัวพ่อแม่กับบ่าอ้ายลูกโตนคนคึ ได้ยึดเอาสันเก๊าไม้แดงเป็นที่ปลูกผักปลูกหญ้าเลี้ยงตัวมาหลายปี ภายหลังจากที่เริ่มสร้างครอบครัวจากจุดเริ่มต้นด้วยอาชีพรับจ้างทำไร่ไถนา หาปลาขาย ทำนาผ่าครึ่งแบ่งข้าวกับเจ้าของที่นา จนได้มาจับจองที่ดินจัดสรรที่บ้านแพะที่ยังเป็นป่าหญ้าคาหนาทึบ กับตอไม้มากมาย ระหว่างสามสี่ปีแรกที่พ่อขุดตอไม้บุกเบิกผืนนาน้ำฟ้าในพื้นที่จัดสรร เราก็ได้พึ่งพาอาศัย “สันเก๊าไม้แดง” เป็นที่ปลูกผักหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ผักแบบที่พาสาปะกิดน่าจะเรียกว่า Cash crops  

พ่อแม่ออกจากบ้านแต่เช้า ขุดแปลงผัก เพาะกล้า ย้ายปลูก รดน้ำ ถอนหญ้า ตัดผักล้างผักจัดผักลงเข่ง ขนไปวางรวมกับเพื่อนบ้านที่จุดรวมผักริมถนนดำสายเชียงใหม่-ฝาง ลุงเจ็กโอ๋กับเจ๊เฮียงจะมารับซื้อแล้วขนใส่รถเข้าไปขายในเวียง

สมัยสี่สิบห้าปีที่แล้ว ผักที่ปลูกจำได้ว่ามีกะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหางหงส์ หน้าหนาวก็ปลูกถั่วลันเตา สมัยนั้นเข่งใส่ผักเป็นเข่งไม่ไผ่สานมีไส้ตรงกลางเป็นที่ระบายความร้อน หากเป็นกะหล่ำปลีเวลาตัดต้องทาที่รอยตัดด้วยปูนแดง นัยว่าทำอย่างนี้แล้วป้องกันไม่ให้กะหล่ำเน่าสามารถส่งขึ้นรถไฟไปขายกรุงเทพได้

แล้วบ่าอ้ายลูกโตนไปทำอะไรที่สันเก๊าไม้แดง บ่าอ้ายเป็นเด็กฝาก(เลี้ยง)(ก็คนน่าฮัก…หุ หุ) ฝากอุ้ยคนนั้นเลี้ยงบ้าง ฝากปี้สาวคนโน้นดูแลบ้าง แต่บางวันหากพี่สาวพาไปโลดโผน ไปหาขุดจิ้งกุ่ง หาเขียดมาปิ้งให้น้องกินจนนอนละเมอกลางคืน แม่ก็จะจัดการพาบ่าอ้ายลูกโตนไปนั่งควบคุมอยู่ในสายตาตลอดซาวสี่ชั่วโมง ก็ไปนั่งบนเสื่อก้อมผืนเล็กๆใต้ต้นไม้แดง นั่งนิ่งๆไม่ขยับออกพ้นเสือ หาเก็บเมล็ดไม้แดงไว้ให้แม่คั่วแต่ยื่นมือหาจากในเสื่อไม่ยอมลงดิน แมงแสนตีน(กิ้งกือ)เจ้ากรรมก็ชอบแกล้งเดินขึ้นบนเสื่อ บ่าอ้ายก่อ”หุย”จนกว่าผู้ใหญ่จะมาจับออก

นานๆครั้งที่เราต้องตัดผักไปขายเองในเวียง วันนั้นบ่าอ้ายได้ใส่ชุดใหม่ไปขายผักกับอี่ป้อที่กาดหลวง พ่อขายผักเสร็จก็ซื้อเมล็ดพันธุ์ผักต่อ ก่อนกลับพ่อมักพาไปกินจิ้นลาบที่คิวรถ บ่าอ้ายจะได้กินต้มข่าไก่ใส่กะทิ ลำแต้ลำว่า ถ้าหากไปกับแม่ๆจะพาไปกินขนมจีนที่กาดใต้ดินเข้าหนมเส้นจานแบนๆเล็กๆกินหมดไวจริงๆกินยังไม่ทันหายอยาก

สันเก๊าไม้แดงนี่เอง ที่บ่าอ้ายคนดื้อแอบหนีพี่เลี้ยงไปตามหาพ่อแม่ แต่ตัวมันสูงไม่พ้นดงข้าวมันเลยหลงเดินวนในคันนาจนม่อยหลับ บ้านแพะถูกพลิกแผ่นดิน บ่อน้ำทุกบ่อถูกวิดงมหา แต่บ่าอ้ายกลับหลงวนจนม่อยหลับบนคันนา โดนอี่แม่แก้ผ้ามัดติดต้นมะม่วงเอามดแดงกัดซะให้เข็ดหลาบ

จำไม่ได้ว่าพ่อกับแม่เลิกปลูกผักที่สันเก๊าไม้แดงตอนไหน คงจะเป็นตอนที่ไร่นาผาต้างที่บ้านแพะได้รับการบุกเบิกจนเพาะปลูกได้ผลดีแล้ว หรือไม่ก็ตอนที่มีโรงบ่มใบยามาตั้งที่ใกล้บ้านพ่อหันมาปลูกยาสูบแทนปลูกผัก

เล่าฟื้นความหลังตัวเอง

แต่ในนั้นก็อยากแฝงเรื่องราววิถีการปลูกฝังเมื่อครั้งก่อน

คนเฮาเมื่อวำเข้าเลขห้าไปตางหน้า ย่อมมักเล่าความหลัง อิ อิ

อยากจะบอกเจ้าหนูในรูปให้ตั้งหน้าอย่าท้อถอย อยากบอกเจ้าว่าตาลุงที่นั่งรถคันโก้มีบริวารล้อมหน้าหลังที่เดินยักแย่ยักยันมาถ่ายรูปเจ้านั้น

เคยนั่งอยู่ตรงที่เจ้ามาก่อน

สู้ สู้ต่อไปเจ้า โตขึ้นจะเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี


ตลาดชุมชน ข้อสอบเก่าในสนามสอบใหม่

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 เวลา 12:45 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2180

 

เหลือเวลาอีกสองเดือนเศษ กับงานเขียนที่ค้างคาอีกมากมาย แถมยังมีงานใหม่ที่อยากทำอีกหลายชิ้น อยากริเริ่มไว้ให้ผู้มารับไม้ต่อได้สืบสาน เผื่อประชาชีจะได้กล่าวขานถึงยามจากลา

หนึ่งในนั้นคือ งานกระตุกซุกยู้ผลักดันให้เกิดตลาดชุมชนที่บ้านจัดสรรใหม่ ตัวอาคารตลาดร้านรวงก็สร้างไว้ให้แล้ว มอบให้เมืองหลายเดือนแล้วก็ไม่เห็นท่านใดขยับ ปล่อยทิ้งเป็นโรงร้างให้เจ้าด่างเจ้าตูบนอนเล่น

ในยามที่พี่น้องย้ายบ้านย้ายเรือนมาใหม่ไกลจากตลาดเก่า ต้องวุ่นวายกับการต่อเติมบ้านเรือน การบุกเบิกไร่สวน หากมีที่ให้ซื้อหากะปิ น้ำปลา ซื้อผัก ซื้อปลามาต้มแกงก็คงจะดีไม่น้อย อันที่จริง โครงการท่านเลี้ยงข้าวปลาอาหารอิ่มหนำสำราญตั้งสามปีก็เถอะ แต่ท่านต้องอิงระบบบัญชีถึงเวลารอบเดือนท่านก็โอนเงินเข้าธนาคารให้แต่ละครอบครัว ท่านไม่ได้เอาข้าวเอาปลาไปแจก แล้วถ้าอย่างนั้นชาวบ้านจะไปหาซื้อข้าวสารได้จากไหน

กระไหนเลย อันตัวข้าพเจ้าเองก็เคยปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งกับตลาดชุมชนที่ดงหลวงมาไม่มากก็น้อย อาสาออกหน้าออกแรงอีกสักครั้งจะเป็นไรมี แต่หนนี้อดเหงาเปลี่ยวเปล่ามิใช่น้อย ก็ครั้งกระโน้นมีทีมงานที่ปรึกษาชุดใหญ่จากอาร์ดีไดนำโดยอ.สินีหวานใจพี่ไพศาลมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง แต่ครานี้ต้องบุกเดี๋ยว

หวังใจไว้ว่า รูปแบบของตลาดชุมชน จะต้องเป็นของชุมชน บริหารจัดการโดยชุมชน ขายสินค้าที่ผลิตในชุมชนเป็นหลัก(ยกเว้นที่ผลิตไม่ได้จริงๆ)

หวังใจไว้ว่า ตลาดชุมชน จะเป็นแหล่งที่ชาวบ้านสามารถมาซื้อหาผักปลาไปปรุงอาหารได้ใกล้ๆบ้าน ไม่ต้องไปตลาดไกล ออกไปในเมืองเปลืองน้ำมันรถไม่น้อย หากจะให้เดินผู้เฒ่าผู้แก่คงไม่ไหว

หวังใจว่า ตลาดชุมชน จะเป็นแหล่งขายสินค้าของพี่น้องชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัวที่เหลือกิน เห็ดที่เพาะกัน ปลาดุก กบ จิ้งหรีดที่ทางโครงการได้นำพาให้เลี้ยงกัน หากเหลือกินจะได้มีที่วางขาย

หวังใจว่า เด็กๆ คนสูงวัย คนยากคนจนจะได้ไปเก็บผักหักหน่อไม้หาเห็ดหาหอยหาปู ที่เรียกรวมๆว่า เครื่องป่าของนามาวางขายเป็นรายได้เสริม ผู้เฒ่า และเด็ก หามาได้สองสามกองได้ผักสองสามมัดก็มาวางขายได้

หวังใจไว้ว่า แม่บ้านแม่เรือนที่มีฝีมือปรุงแต่งอาหาร ทำขนมข้าวต้ม จะได้เอามาวางขาย เด็กน้อยมาหัดขายของช่วยแม่

และหวังใจไว้ว่า ตลาดชุมชนจะช่วยเป็นแหล่งเสริมสร้างสายใยในชุมชนที่ย้ายมาจากต่างบ้านต่างตำบล รวมถึงผู้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อน การแลกเปลี่ยนสินค้าคนนั้นมีผักคนนี้มีเห็ดหากพอใจก็แลกกันเอาไปแกงกิน คนเฒ่าคนแก่มาเดินตลาดลูกหลานแบ่งปันของให้ไปกิน  

จะต้องทำอะไรบ้าง

ต้องนำเสนอแผนงานให้ขั้นเมือง และห้องการค้าเมือง

ต้องไปหารือกับคณะกรรมการบ้าน ให้มีองค์การจัดตั้งมารับผิดชอบ และช่วยร่างกฏระเบียบต่างๆ

ต้องไประดมแม่ค้าชาวขาย งานนี้ไม่น่ายาก ทุกวันนี้คนเคยค้าเคยขายต่างตั้งหน้ารอ มีคนเคยขายอาหารปรุงสุกอยู่หลายเจ้า มีคนปลูกผักสวนครัวหลายแปลง มีเด็กนักเรียนทำแปลงผักงามๆที่ทีมงานไปสอนทำปุ๋ยหมัก มีกลุ่มปลูกผักบ้านแท่นคำอยู่ถัดออกไป เคยไปสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และสอนทำน้ำหมักชีวภาพอยู่หลายเจ้า ไปไหว้วานชวนมานั่งขายอาทิตย์ละวันคงไม่ใจดำปฏิเสธ

ต้องไประดมสาวๆให้หัดทำขนม กล้วยทอดกล้วยปิ้งมาขายเรียกหนุ่มๆ ทำไม่เป็นจารย์เปลี่ยนสอนเอง วุ้น ขนมรังนก ทองม้วน ขนมเพ้อเล้อ ข้าวต้มผัด ข้าวต้มหัวหงอก ขนมจ๊อก ทองม้วน กรอบเค็ม กะหรี่ปั๊บ ทับทิบกรอบ ทำเป็นหมดแหละ (เคยช่วยแม่ๆป้าๆทำเฉยๆจำได้รึเปล่าไม่รู้….ราคาคุยไว้ก่อน) ขายลูกชิ้นปิ้งเป็นตัวล่อเด็กๆน่าจะดี

ต้องไปโฆษณาชวนชักให้ชาวขมุบ้านนาไม้ยมไปหาเครื่องป่าของนามาขาย

ต้องไปชวนพี่น้องชาวม้งบ้านดอนใหม่ให้เอาข้าวสาร ผักผลไม้มาขาย แรกๆอาจมีสัตว์ป่าติดมาบ้างก็จะทำเป็นมองไม่เห็น ปล่อยๆไปให้ตลาดติดสักสามสี่นัดค่อยห้าม ชาวม้งชอบค้าชอบขายอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็เดินเก้ากิโลแบกผักมาขายในเมือง แต่ตลาดชุมชนบ้านเราอยู่ใกล้กว่าแค่สี่กิโลเมตรเอง ชาวม้งน่าจะมาขายกันหลายคน

และสุดท้ายต้องไปเชิญชวนอ้อนวอนให้มีคนมาซื้อ ทั้งพี่น้องชาวบ้าน พนักงานโครงการ(แกมบังคับ ฮ่า ๆ) รวมถึง(คุณนายแม่บ้าน)ของผู้หลักผู้ใหญ่ในเมือง

คงต้องมีการจัดหน้าม้าไปช่วยซื้อเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แม่ค้าในนัดแรกๆ (จานเปลี่ยนกระเป๋าแบนมานักต่อนักแล้ว..)

หน้าตาของตลาดชุมชน จะเป็นกาดขายของกินแบบกาดมั้ว มีขายผักทุกชนิดที่กินได้ ทั้งที่ปลูกในสวน หรือตามรั้วบ้าน และผักที่หาเก็บมาจากหนองน้ำชายป่าท้องไร่ท้องนา มีขายตัวเล็กตัวน้อยกุ้งหอยปูปลา ขายอาหารปรุงสำเร็จห่อหมก ต้ม แกง มีแผงขายหมู ขายไก่ มีรถสรรพสินค้าเคลื่อนที่มาขายสบู่ แชมพู คุถัง ถ้วยชาม ชุดนักเรียน

ในวันเปิด

จะมีพิธีอย่างเป็นทางการโดยผู้หลักผู้ใหญ่ของเมือง (และโครงการ)

จะมีเครื่องไฟเปิดเพลงกระหึ่ม มีน้องน้อยนักเรียนมาฟ้อน

จะมีการประกวดอาหารพื้นเมืองลาว หรือ พาข้าวลาว

จะมีการออกร้านขายเครื่องหัตถกรรมตำแผ่น เครื่องจักสาน มีดพร้า

จะมีพ่อค้ามาขายคุถัง กะละมัง  มุ้งหมอน ชุดนักเรียน

หลังวันเปิด

จะให้ทีมงานติดตามแม่ค้าชาวขาย ประเมินผล หาจุดดี แก้ไขจุดอ่อน สอนให้รู้จักคิดบัญชีต้นทุนกำไร

จะคุยกับคณะกรรมการตลาดชุมชนหาวิถีจัดการให้ตลาดบ้านเรายืนยงวัฒนาถาวร

โอม ……ขอให้สำเร็จ ๆๆๆ เพี้ยง

 

 

 

 

 


ไม้เป็นยา

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 เวลา 1:30 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1537

แอบพักสมองกับงานเขียนรายงานที่ไม่รู้จักจบสิ้น ส่งเล่มนั้นแล้วก็ต่อเรื่องนี้ พอมีช่วงให้พักหายใจหายคอก็ต้องแวบออกไปท่องเก็บเกี่ยวเรื่องน่ารู้ในโลกไซเบอร์ซะหน่อย wikipedia เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่น่าเบื่อครับ

วันนี้ไปสะดุดกับประโยคที่ว่า   85% of the world’s star anise is grown in Guangxi. It is a major ingredient in the antiviral Tamiflu. ( ที่มา Guangxi - Wikipedia, the free encyclopedia.mht) แปลได้เลาๆ ได้ความว่าที่กวางสีนี่เป็นแหล่งปลูกอะไรสักอย่างที่ใช้ผลิตยาทามิฟูล์ที่เคยช่วยรักษาเราตอนป่วยเป็นไข้หวัดไก่หวัดนกเมื่อสองปีก่อนนี่นา แล้วเจ้า star anise นี่มันต้นอะไรหว่า แล้วทำไมถึงไปปลูกกันเยอะที่กวางสีของชาวจ้วงประเทศจีนโน่น แถมพี่วิกิยังบอกว่าสัดส่วนการปลูกเยอะมากๆ ถ้าอย่างนั้นหากอาเฮียสมาคมพ่อค้ากวางสีโก่งราคาขึ้นมาแล้วค่ายาจะมิแพงขึ้นรึ ว่าแล้วก็ขอกินเวลางานสักครึ่งชั่วโมงไปถามครูกรูเกิ้ล(อย่าว่ากันเด้อเดี๋ยวทำงานชดใช้ให้ตอนเย็น) ครูบอกมาว่า อาตี๋ใจเย็นๆได้แล้ว เดี๋ยวนี้เขามีทางเลือกใหม่ให้คุณพี่ อีคอลาย (E. coli) สังเคราะห์ยาแทนได้แล้ว เฮ้อค่อยใจชื้นขึ้นมาหน่อย

จันทน์แปดกลีบ หรือ โป๊ยกั๊ก เป็นคำเฉลยหรือคำตอบที่ค้นหาครับ เจ้าต้นไม้ที่ว่ามีชื่อไทยชื่อจีนเป็นเช่นข้างต้นนั่นเอง ท่านกล่าวไว้ว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในเมืองจีน เป็นพืชเครื่องเทศที่รู้จักกันมาช้านาน มีสรรพคุณทางยารักษาได้หลายอาการ ใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารหลายสัญชาติ ที่คุ้นลิ้นกัน อาทิเช่น บักกุดเต๋ เนื้อตุ๋นยาจีน หมูพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ เป็นต้น

เดิมทีพืชเครื่องเทศชนิดนี้ก็คงอยู่ตามป่าตามเขาตามธรรมชาติ หรือการปกปักรักษาต้นกล้าให้เติบใหญ่ในที่ดินของชาวบ้าน แล้วก็เก็บไปขายไปใช้ในท้องถิ่น ส่งขายต่างถิ่นเล็กๆ น้อยๆตามความต้องการของท้องตลาด (นึกถึงมะแข่วนของชาวไทเหนือ ทุกวันนี้ที่เชียงฮ่อนก็เป็นลักษณะนี้) จนกระทั่งมีการปลูกเป็นพืชการค้าที่ดินแดนชาวจ้วงกวางสีชนชาติที่ หมอด็อดด์(Willium Clifron Dodd D.D.) เคยไปเยี่ยมยาม เมื่อราวปี ๒๔๖๐ แล้วเขียนไว้ในหนังสือ The Tai Race ว่าเป็นเผ่าไทสาขาหนึ่ง

ความต้องการโป้ยกั๊กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีการค้นพบว่า สามารถนำมาสกัดเอาตัวยามาผลิตเป็นยาแก้ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของโรคในปี ๒๕๔๘ และการระบาดของไข้หวัดหมูในปี ๒๕๕๒

ทั้งหมดทั้งมวลที่ร่ายยาวมาข้างต้น อยากชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรชนิดนี้ ลองนึกดูว่า ก่อนที่จะสามารถพัฒนากระบวนการผลิตยาทามิฟูลด้วยวิธีใหม่ ในยุคแรกๆนั้นต้นโป้ยกั๊กช่วยชีวิตคนไว้ได้กี่มากกี่น้อย คิดไปถึงต้นซิงโคน่าที่ใช้ผลิตยาควินิน หากไม่มียาแก้มาเลเรียชนิดนี้ชาวอาณานิคมยุโรปก็คงไม่อาจขยายถิ่นฐานมายังเขตร้อนได้ ตลอดจนนึกไปถึงพืชสมุนไพรอื่นๆที่ช่วยรักษาชีวิตคนในเขตชนบทห่างไกล

ฟันธงว่า หากโลกไร้พืชพรรณธรรมชาติ ถ้าหากไม่มีป่าไม้ มวลมนุษยชาติย่อมมอดม้วยไม่ทางใดก็วันหนึ่ง ช่วยๆกันรักษาป่าปกปักอนุรักษ์พืชพื้นถิ่นต้นไม้พื้นเมืองไว้บ้างเถิด ไม่แน่นักวันข้างหน้าอาจพบว่าเป็นยาอายุวัฒนะก็ได้

วันนี้มีโอกาสได้ไปชม “สวนไม้เป็นยา” ที่ห้วยน้ำใสริมฝั่งน้ำฮุงแขวงไชยะบุรี ไปดูตัวอย่างการจัดการของพี่น้องชาวบ้าน เพื่อจะถอดแบบมาทำที่เมืองหงสาบ้าง ได้เดินชมป่าสมุนไพร ดูลำธารที่น้ำผุดออกจากใต้ภูเขาสมุนไพร ได้แช่น้ำใสไหลเย็น ปีนป่ายก้อนหิน ดำน้ำเล่นกับปลา แช่น้ำเล่นให้ตัวปลามาตอดขี้ไคลเล่น น้ำสะอาดใสเพราะเพิ่งผุดออกจากใต้ภูผายังไม่ผ่านสิ่งปนเปื้อนใดๆ ชาวบ้านว่าเป็นยาอายุวัฒนะ หนาวนักก็เข้าห้องอบอบสมุนไพร ในห้องร้อนนักก็กลับมาแช่ลำธาร ที่สำคัญคือ คนเดียวเดี่ยวๆไม่มีใครมาอยู่ใกล้ตลอดลำธาร นักท่องเที่ยวอื่นก็มีสามสี่คณะแต่เล่นกันที่จุดอื่น บ้างก็ไปนอนนวดคลายเมื่อย บ้างก็ไปปูเสื่อกินข้าวกันที่แม่น้ำใหญ่

โครงการ “อบสมุนไพร นวดแผนโบราณ” ที่จะทำคงต้องฝ่าฟันอีกหลายด่านโดยเฉพาะเรื่องนวดนี่ต้องโดยหมอจับเส้นรุ่นโบราณจริงๆ ก็ดีไปอย่างจะได้สร้างรายได้ให้คนเฒ่าคนแก่ ส่วนเรื่องอบสมุนไพรนี่ คิดว่าไม่น่าต้องไปหาตำราจากที่อื่น ก็หลานชายยายต๋าคำคนนี้ ตอนเด็กๆช่วยยาย”ฮิบยาฮม”ตำรับเด็ดมาเยอะต่อเยอะแล้ว ว่าแต่ว่าสิบสี่ตัวยานี้จำได้กี่อย่างหนอ รากคา หญ้าปากควาย ตองกล้วยตีบ ฮังคาว อ้อยดำ ใบข่า หอมด่วนหลวง เกี๋ยงพาใย แล้วอะไรอีกละ จำได้แค่อีกตัวเดียวที่ต้องซื้อจากร้านเครื่องยาจีนคือ เทียนดำ

ไปสวนป่าเทื่อหน้า ฮมยากันไหมครับ

 

   

 


คบเด็กสร้างเมือง

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 เวลา 3:55 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1686

วันที่ ๙ พฤษภา เป็นวันของชาวไร่ชาวนาบ้านเรา ปีนี้พระโคจะเลือกกินข้าวหรือกินเหล้า พระยาแรกนาจะเสี่ยงผ้านุ่งยาวกี่คืบ คนบ้านเราคงจะทราบข่าวกันแล้ว

แต่สำหรับคนบ้านนี้ที่หงสา วันที่ ๑ เดือนมิถุนาของทุกปี เป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ และวันเด็กน้อยสากล (ของ สปป ลาว) ตามปกติ ทางโครงการจะร่วมกันปลูกต้นไม้ตามป่าแหล่งน้ำหรือบางปีก็ปลูกต้นไม้สองข้างถนนในตัวเมือง ส่วนกิจกรรมวันเด็กน้อยนั้นมีการแสดงของน้องน้อยเยาวชนที่สโมสรเมืองภายหลังจากมีกิจกรรมปลูกต้นไม้เสร็จแล้ว

แต่วันนี้โครงการฯมีดำริที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานวันเด็ก คณะผู้คิดการตั้งความคาดหวังกันไว้ว่า นอกจากงานนันทนาการในเวทีกลางแจ้งแล้ว ยังอยากจะเสริมความรู้ให้น้องน้อยที่มาร่วมงานได้ติดไม้ติดมือติดตัวกลับไปบ้าง อยากจะจัดฐานความรู้เพิ่มให้น้องๆได้มาแวะเล่นแวะรับสิ่งที่เป็นประโยชน์ คิดกันว่าน่าจะมีฐานด้านความปลอดภัยสุขภาพอนามัย ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการจัดการขี้เหยื้อ ด้านการปกปักรักษาป่าไม้ ฐานประกวดวาดรูป และฐานสุดท้าย……ที่คนที่คุณก็รู้ว่าใครเป็นผู้ยกมือเสนอแนวคิด คือ ฐานความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วรรณคดี ของเมืองหงสา

ทำให้ต้องมานั่งนึกตรึกตรองรับผิดชอบที่ตัวเองเป็นต้นคิด แถมด้วยกังวลนิดๆว่าจะพาเด็กๆสนุกไปกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์พื้นถิ่น และหมอลำพื้นบ้านแบบหงสาได้อย่างไรดี แต่ก็ไม่ถึงกับโยนผ้าขาวยอมแพ้ เป็นด้วยเพราะต้องการให้เยาวชนชาวหงสาตระหนักถึงมูลเชื้ออันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนรุ่นเก่าก่อน กะเอาไว้ว่าจะแบ่งการถ่ายทอดเรื่องราวออกเป็นสามส่วนให้น้องน้อยได้ฝึกทั้งการอ่าน การฟัง และการแสดงออก คือ ประวัติความเป็นมาของเมืองหงสา ขับลำเอกลักษณ์หงสา และฟ้อนรำวงลาว

ส่วนที่เป็นประวัติเมืองหงสา จะทำแผ่นโปสเตอร์เขียนแผนภูมิ คำบรรยายง่ายๆ แสดงเรื่องราวตั้งแต่ครั้งเป็นหงสายุคสมัยเจ้าฟ้างุ้มมหาราชที่จารึกไว้ในพงศาวดารล้านช้าง ที่กล่าวถึงเมืองเลือกที่ยังมีร่องรอยคูเมืองอยู่ (แสดงภาพถ่ายดาวเทียมแสดงคูเมือง) ถัดมาเป็นยุคที่เจ้าชมพูสามพี่น้องนำพาผู้คนมาจากเมืองเชียงค้อแขวงหัวพันมาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่ดงบ้านเก่าในปี ๒๑๑๒ ก่อนขยับขยายไปตามลำน้ำแหล้ น้ำเลือก และน้ำแก่น (แสดงรูปฐานวัดเก่าที่ขุดค้นพบที่ริมน้ำแหล้ และที่นาจาน) แต่คงต้องข้ามช่วงสำคัญที่ล่อแหลมกับความรู้สึกของพี่น้องไทยลาว นั่นคือยุคที่หงสาเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าขึ้นกับเมืองน่านของไทยและเมืองหลวงพระบางล้านช้าง จนกระทั่งเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมาจัดการให้เป็นของฝ่ายล้านช้าง แต่หงสาก็กลับมาเป็นอำเภอหาญสงครามจังหวัดล้านช้างอีกในระยะสั้นๆตามการจัดการของมาหาอำนาจแห่งบูรพาญี่ปุ่น (ความจริงเป็นเรื่องราวที่ไม่น่าข้าม แต่จะทำอย่างไรถึงจะนำเสนอได้แบบไม่ให้กระทบกระเทือนนำเสนอแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น คิดคิดคิด…) แต่คงจะเล่าถึงตอนที่รอ.ทวยหาญรักษาแต่งไว้ในนิราศหลวงพระบางคราวที่เดินทัพผ่านหงสาไปปราบฮ่อในปี ๒๔๒๘ (แต่ไม่รู้หนังสือเล่มเต็มหายไปอยู่ลังในสงสัยไปกับน้ำในลังที่เก็บไว้บ้านเพื่อนกรุงเทพฯ…อุตส่าไปเสาะหาได้มาจากร้านหนังสือเก่า) และเล่าเรื่องราวบันทึกถึง”ภูไฟ…บ่อถ่านหิน” ที่พระวิภาคภูวดล(เจมส์ แมกคาร์ธี)เจ้ากรมแผนที่คนแรกของไทยบันทึกไว้ในคราวที่ร่วมเดินทางร่วมทัพเดียวกันกับผู้ประพันธ์นิราศหลวงพระบาง เมืองหงสาตัดขาดอย่างเป็นทางการกับฝั่งไทยอย่างสิ้นเชิงหลังการสถาปนาสาธารณรัฐ (สปป ลาว) โดยถูกจัดเป็นเขตพิเศษเชียงฮ่อน-หงสา เมื่อยุบเขตพิเศษได้ขึ้นกับแขวงอุดมไช แล้วจึงโอนมาเป็นเมืองหนึ่งในแขวงไชยะบุรีในที่สุด     

เมืองหงสามีขับลำท้องถิ่นที่ไม่ปรากฏมีที่ใดเหมือน เรียกว่า “การอ่านหนังสือ” เป็นการเกี้ยวพาราสีร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิงแต่ทำนองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนขับลำถิ่นอื่น ผมเคยไปนั่งฟังในงานบุญผะเวดวัดศรีบุญเฮือง เสียดายที่คนหนุ่มสาวชาวหงสาทุกวันนี้ไม่มีใครลำได้เลย คงเหมือนกับซอของล้านนาที่นับวันนับหายไปกับกาลเวลา จะดิ้นรนไปหาพ่อครูแม่ครูขับลำ “อ่านหนังสือ” อัดเสียงมาเปิดในฐานความรู้คงจะดีไม่น้อย นอกจากขับลำอ่านหนังสือแล้ว ขับลำท้องถิ่นในเมืองหงสายังมี ขับลื้อบ้านเวียงแก้ว ขับลำขมุที่เคยได้ยินที่บ้านห้วยเยอ ขับลำชาวลั๊วะบ้านกิ่วม่วง ขับชาวม้งบ้านดอนใหม่ ขับชาวเมี้ยนบ้านนาบ่าโลน และขับทุ้มหลวงพระบาง ก็จะขวนขวายหาทางบันทึกเสียงมาเปิดให้น้องน้อยได้มีโอกาสได้ฟัง หากใครฟังแล้วสามารถมาแสดงหน้าชั้นให้คนอื่นชมได้ก็จะมีรางวัล

ในส่วนการฟ้อนรำวงลาว น่าจะเป็นส่วนสนุกสนานส่งท้าย ว่าจะเกณฑ์เอาสาวๆหนุ่มๆทีมงานมานำน้องๆฟ้อนรำวงให้ถูกต้องตามแบบรำวงมาตรฐานของลาวสักหนึ่งเพลงพร้อมรับของที่ระลึก ก่อนจะปล่อยออกไปเรียนรู้ในฐานต่อไป

สุดท้ายมีเวทีรวมแข่งตอบปัญหาที่น้องๆเก็บเกี่ยวจากฐานความรู้ทั้งหมด ประกาศผลการประกวดวาดรูป มอบรางวัลเป็นเสร็จพิธี

มาร่วมกันปลูกต้นไม้เมืองหงสา มาช่วยกันคบเด็กสร้างเมืองกันไหมครับ    



Main: 0.25616717338562 sec
Sidebar: 0.025463819503784 sec