ต่างคิด คิดต่าง

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 29 เมษายน 2012 เวลา 1:05 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1299

 

วิหารในวัดของพี่น้องชาวลื้อมีเอกลักษณ์ของตนเอง แม้มิได้งดงามวิจิตรอ่อนช้อยอย่างฝีมือช่างหลวง แต่ผมก็หลงเสน่ห์จนแทบจะหยุดชื่นชมอย่างพินิจได้เป็นวันๆ

ผมชอบทรงหลังคาไม้แป้นเกร็ดลดหลั่นเป็นชั้นๆที่คลุมตัววิหารแทบมิดชิด ถ้าจำไม่ผิดภาษาช่างท่านเรียกว่าหลังคาวิหารแบบตุ้มปีก(รึเปล่า?) ชอบเสาไม้เปลาตรงสวยขนาดใหญ่ ชอบพระประธานปูนปั้นฝีมือท้องถิ่นที่ก่ออิฐรอบแกนไม้ดู่แล้วจึงขึ้นรูปองค์พระภายหลัง ชอบตุงหลากหลายผืนที่ห้อยแขวนระโยงภายใน ชอบหัวเสาที่ตกแต่งแปลกตา ชอบระเบียงคตรอบตัววิหาร ชอบแม้กระทั่งรูที่เจาะไว้ตรงหน้าอาสนะตุ๊เจ้า และแถวๆริมเสาเอาไว้เป็นที่กรวดน้ำ

เป็นความชอบส่วนตัวที่อาจจะไม่ตรงกับใจของพี่น้องชาวบ้านเจ้าศรัทธาเท่าใดนัก เนื่องเพราะเราเป็นเพียงคนนอกเมื่อพบเห็นของเก่าที่หายไปจากบ้านเมืองตัวเองแล้วก็เกิดหวงแหนอยากเก็บรักษา (ทั้งๆที่ในบ้านตัวเองก็ไม่มีปัญญาเก็บรักษา)

เมืองหงสามีวิหารทรงลื้ออยู่ทั้งหมดสามแห่งด้วยกัน

วิหารบ้านนาทรายคำ วิหารนี้อย่างไรก็ไม่อาจเก็บไว้ ต้องไปสร้างที่ใหม่ จารย์เปลี่ยนได้รับมอบหมายให้ออกหน้าไปเจรจาเรื่องแบบของวิหารใหม่ ฮีตชาวลื้อท่านบอกว่าต้องให้ขนาดใหญ่กว่าเดิม กว้างกว่าเดิม สูงกว่าเก่า ต้องทำพิธีสูดถอนสามวันสามคืน ทางเราก็ไม่ขัดข้องเป็นเจ้าภาพทั้งจัดการทุกอย่างตามที่เฒ่าแก่แนวโฮมท่านบอกกล่าว สรุปแล้วคือ พี่น้องพอใจ และดีใจที่จะได้วิหารใหม่ แต่ผมเองแอบขัดใจอยู่บ้างตรงที่คุยกันเรื่องแบบก่อสร้าง ห้าครั้งหกคราวที่ไปเปิดกองประชุมปรึกษาหารือกับคณะบ้าน ที่ประชุมท่านคงนึกรำคาญอีตาจารย์เปลี่ยนผีบ้า ที่เฝ้าเสนอให้ยึดแบบเก่ารูปทรงเก่าแบบฮีตลื้อคือหลังคาแบบปีกตุ้มและมีระเบียงคต แต่เจ้าบ้านท่านก็อยากได้แบบประยุกต์เอาแบบวัดชาวลาวลุ่มหลวงพระบาง หลังคาก็ตัดสั้นลงเปิดเห็นฝามากขึ้น ตอนนี้วิหารใหม่สร้างเสร็จแล้ว ก็งดงามตามใจที่พี่น้องอยากได้ จะขัดใจก็ตัวข้าพเจ้านี่แหละ

วิหารวัดบ้านโพนจัน หลังเล็กๆแต่เครื่องไม้งดงามมากคุณค่า ผมเคยไปถวายเทียนพรรษาสองสามปี วิหารนี้ผมก็ปกป้องทั้งทางตรง และทางอ้อม พยายามส่งข่าวทักท้วงทีมงานออกแบบถนนให้เปลี่ยนแนวเส้นทางไม่ให้ผ่านวัดและวิหาร ทั้งยังเปรียบเทียบให้บรรดาท่านดูว่าย้ายแนวถนนเปลืองเงินน้อยกว่าย้ายวัดและวิหารหลายเท่าตัว(นาเฟ้ย ฟ่อ ฟ่อ ขู่แถมไปด้วย) ทีมงานก็ใจดี๊ ใจดี ปรับแนวถนนใหม่หลบเขตวัดห่างออกไปร้อยกว่าเมตร …แต่ว่ารื้อแล้วครับ ปรากฏว่าพี่น้องรื้อแล้วครับ ยังไม่ทราบเหตุผลกลใดยังไม่ได้เข้าไปถาม แต่เห็นใบบอกบุญเชิญบริจาคกระเบื้อง ปูนซีเมนต์ บานประตู ลูกกรงแก้วมาแล้ว ก็เข้าใจพี่น้องดีว่าของเก่าผุพังหลังคารั่ว และเป็นสิทธิ์ของพี่น้องสิบซาวชาวบ้านท่าน แต่ก็แอบเสียดาย

วิหารบ้านเวียงแก้ว รื้อแล้วเหมือนกันครับ ท่านบอกว่าสร้างผิดแบบ หันหน้าไปทางตะวันตก หลังคารั่ว ปลวกกินไม้ ได้แต่หวังว่าพี่น้องจะสร้างใหม่โดยรักษารูปทรงเดิมแบบชาวลื้อ เชื่อมั่น แน่ใจว่าท่านจะทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม แต่เป็นแบบวิหารชาวลื้อ ถ้าไม่ทำนะ จะโกรธจริงๆด้วย   


ซะป๊ะแมง

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 21 เมษายน 2012 เวลา 4:23 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2720

จี้กุ่ง (จินาย) จั๊กแต๋น จั๊กแต๋นข้าว แมงจอน แมงเหนี่ยง แมงแม่ฝน แมงนูน จิ้งฮีด และมีอีกหลายแมงในภาพที่ไม่อาจจำแนกได้ ชาวหงสาเรียกแมงที่กองรวมๆกันอย่างที่เห็นว่า แมงมะยุมะยะ แต่ชาวยวนล้านนาว่า ซะป๊ะแมง แมลงอยู่ในห่วงโซ่อาหารของคนบ้านทุ่งบ้านป่ามานานเนิ่น  แต่สำหรับผมที่จากทุ่งมาเป็นคนเมืองได้พักใหญ่พอได้กลับมาอยู่บ้านป่าอีกครั้งกลับทำเป็นดัดจริตกินแมงไม่เป็น กินแบบกล้าๆกลัวๆ

ตัวอย่างของแมลงที่เป็นอาหารยอดนิยมมีดังนี้

จำพวกที่อยู่ในดิน เช่น

  • ๑. แมงมัน ลูกแมงมันที่เวลาไปเก็บมีแม่ตัวเล็กเกาะมากัดคนเก็บเจ็บแสบนัก ไข่แมงมันจ่อมกลายเป็น “ของบ่เขียมหายาก” เดี๋ยวนี้ขีดละร้อย ตกเข้าไปกิโลละพันบาท
  • ๒. แล้วยังมีจิ้งโกร่งหรือจี้กุ่งที่มีหลายวิธีการที่จะได้มา ขุด หล่อน้ำ ส่องไฟ
  • ๓. ขี้เป้า ลูกเปตองใต้ดิน ลู้บะขี้เป้า แกงชะอมใส่ขี้เป้า
  • ๔. ขี้หลอบ กุดจี่ ขี้ควาย เอาชนกัน เอาใส่แกลบก่อนกิน วิ่งจองกองขี้ควายยามเช้า ล่อขี้หลอบ
  • ๕. อี่บึ้ง ชิมที่แผงขายผลไม้ในเขมร เกือบเหมือนแมลงแต่เป็นแมงมุม
  • ๖. แมงเม่าจี่แมงเม่า กับตะเกียงน้ำมันก๊าส อ่านหนังสือยามค่ำ

จำพวกอยู่บนต้นไม้

  • ๑. มดส้ม มดแดงแรงฤทธิ์ ตากถาดไล่แม่มดส้ม
  • ๒. แมงนูน แมงนูนหลวง แมวหวาดชอบกินแมงนูน
  • ๓. กว่าง ไม่ใช่อาหาร แต่มากมายเรื่องราวอยากเล่า กว่างในก๋วยสลาก
  • ๔. จั๊กแต๋นข้าว แมงมันข้าว ปาทังก้าจากเขมร วิธีล่อแมลงที่กำปงโธม
  • ๕. จั๊กขุ กุ้งบกในเตาถ่านร้าง แมงหมานี ข่าวร้ายหนีข่าวดีใกล้
  • ๖. จักจั่น ไข่จั่น ติดจั่น ผิวปากอิ๊กๆล่อจั่น ยางขนุน ติดจั่นที่ชายหาดน้ำแตง
  • ๗. แมงแคง ชิมแมงแคงวันรถชน
  • ๘. ด้วงหน่อ ด้วงไผ่ ตัวไหม

จำพวกอยู่ในน้ำ

  • ๑. อี่เนี้ยว เนี่ยวจีด เลี้ยงในไข่แล้วทอด
  • ๒. แมงเหนี่ยง แมงแตป เครื่องส้อนน้ำพริกโยะ
  • ๓. แมงดา แมงกั้นเยี่ยว
  • ๔. กะปู ไม่ใช่แมงแต่อยากเขียนถึงวิธีทำน้ำปู ปูมอก ปูอ่อง

จำพวกมีเหล็กไน

  • ๑. ต่อ แม่เลี้ยงตับต่อ หาหน่อไร่เจอตัวต่อไล่ ต่อนอนเวนที่หงสา แตน เหยื่อตกเบ็ด
  • ๒. ผึ้ง มิ้ม โกลนผึ้งของพ่อ

Keyword ท้ายชื่อแมลงแต่ละชนิดเป็นเรื่องราวที่เด็กบ้านป่าได้ผ่านพบ หากไม่เห็นรูปแมงมะยุมะยะที่ถ่ายจากตลาดเช้าเมืองหงสา ก็คงจะลืมเลือนไปตามวัย เอาไว้หากมีเวลาและมีไฟ จะเขียนเล่าให้อ่าน เอาให้ม่วนงันเหมือนนิยายเด็กบ้านทุ่งของอ้ายมาลาทีเดียว หวังว่า…เนาะครับ

 


สวนป่า น่าลองน่าเรียนรู้

6 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 เมษายน 2012 เวลา 5:16 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1820

 

มีอะไรน่าทำ มีอะไรให้ทำอีกเยอะมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆที่สวนป่า

เป็นข้อสรุปที่แทบไม่ต้องใช้เวลาไตร่ตรอง ฟันธงได้ตั้งแต่ก้าวลงจากรถเดินได้เพียงสามก้าว

นั่นเป็นเพราะหมากผลที่เกิดจากการลงแรงของพ่อครูบามากว่าหลายสิบปี ที่ท่านได้พลิกฟื้นจากผืนดินที่เสื่อมโทรมแปนเอิดเติด จนกลับกลายมาเป็นป่าดกรกครื้มป่าไม้ดงหนา

ผมไม่รู้จักต้นไม้มากชนิดนัก จึงไม่อาจพรรณนาจารนัยชนิดของไม้ป่าที่มีอยู่ในสวนป่าได้ แต่เท่าที่ได้เห็นพุ่มหวายที่ขึ้นเป็นไม้พื้นล่างแตกกออยู่ทั่วไปตามโคนต้นไม้ใหญ่ เท่านี้ก็เป็นดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

ชีวนานาพันธุ์ หรือที่บ้านเราเรียกกันว่าความหลากหลายทางชีวภาพในสวนป่า ปรากฏกายให้เห็นตั้งแต่ปากทางเข้าสวน ผมเห็นเจ้านกหัวขวานตัวงามเดินเล่นบนทางอย่างอ้อยอิ่งจนกระทั่งรถแล่นเข้าใกล้จึงค่อยโผบินขึ้นบนคบไม้

เห็ดป่า จำพวกเห็ดละโงก เห็ดโคน ก็ได้รับคำบอกเล่าว่า บรรดาลุงป้าที่ช่วยงานในสวนป่าเก็บไปขายได้ปีละหลายหมื่นทีเดียว อีกทั้งพี่น้องชาวบ้านใกล้ก็พากันยกโขยงมาเก็บเห็ดไปใส่หม้อแกง  นี่ก็เป็นอีกหนึ่งดัชนีบ่งชี้ถึงการพึ่งพาเกื้อกูลกันของเจ้าเชื้อเห็ดกับรากต้นไม้ถึงได้เกิดดอกเห็ดมาเลี้ยงดูให้ผู้คนได้อิ่มท้อง

หลังจากได้เดินลัดเลาะชมสวนป่า ผ่านดงต้นลำดวน ผ่าน”ร่องน้ำ”เล็กๆขนาดคูเมืองโบราณที่ครูบาท่านบัญชาการให้ขุดเตรียมดักน้ำฝน ไปหาแปลงปลูกต้นเอกมหาชัย ไปดูน้าอามสับใบไม้เลี้ยงวัวที่คอก แล้วไปยืนเง้ออยู่ริมรั้วตรงที่เลี้ยงแพะในป่า(ตามที่ฝรั่งตั้งชื่อไว้ว่า เป็นวนเกษตรแบบ silvopasture)  และได้ร่วมวงสนทนากับหลายท่านแล้ว

ผมตระหนักได้ว่าว่าสวนป่า มีหลายอย่างให้เรียนรู้อีกมากมาย สวนป่าสามารถเป็นโรงเรียน เป็นวิทยาลัย เป็นมหาชีวาลัยให้กับคนใผ่รู้ได้มากมายหลายเรื่องราว สมกับที่พ่อครูเรียกว่า เป็นยาขมหม้อใหญ่

นั่นเป็นเพราะ ต้นทุนที่เกิดจากที่พ่อครูได้ตระเตรียมลงแรงลงทุนไว้

ลองมาไล่เรียง ถึงต้นทุนที่มีอยู่ในสวนป่า ว่าจะสามารถต่อยอดถอดบทเรียนมาเป็นองค์ความรู้ในทางใดได้บ้าง เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนข้อแม้ว่า ต้องไม่รบกวนวิถีของสวนป่า หรือแนวคิดในการพึ่งพาตัวเองแบบพอเพียงยั่งยืน ต้องไม่ทำให้สมดุลและสภาพความสมบูรณ์ของธรรมชาติเสื่อมถอยตามคอนเซปท์ permaculture  ของท่านผู้ก่อตั้งหมู่บ้านโลก

  • ขี้วัว เอามาทำบ่อหมักแก๊สชีวภาพไว้ต้มหุง คนที่สร้างบ่อเป็นนั้นมีแล้ว ถามพี่บางทรายได้ กากที่ได้จากบ่อหมัก (Sludge) สามารถเป็นปุ๋ยได้โดยที่ประสิทธิภาพในการบำรุงดินไม่ได้ลดลงเลย งานนี้ผมทำวิจัยมากับมือตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่โรงเรียนเกษตรมอชอ
  • ผักป่าหลายชนิดที่เฝ้าเสาะหามานานปีตั้งแต่สมัยที่อยู่กับพี่น้องโส้ดงหลวง จนมาขายความคิดไว้กับพี่น้องหงสา เกี่ยวกับการทำผงนัวจากใบผักธรรมชาติ พี่น้องหลายกลุ่มที่สนใจอยากทำ แต่ก็ติดอยู่ที่ขาดผักชนิดนั้นบ้างชนิดนี้บ้าง ก็เลยไม่สำเร็จสักที แต่ที่สวนป่านี่ผมเดินเลาะดูแล้ว หากคิดจะชวนป้าสอนกับแม่หวีลงมือทำผงนัวแค่ถือตะกร้าเดินผ่านสวนป่าก็ได้ผักแทบทุกชนิดมาเฮดผงนัวได้ทันที ตัวอย่างผักที่จะใช้ผลิตผงนัว เช่น ผักกานตง ส้มพอดีหรือใบชะมวง ผักหวานบ้าน ใบบักเขียบ ใบหม่อน ผักโขม บักอึ ผักแป้น ยอดมะรุม ยอดมะขาม ใบหม่อน และอีกหลายๆผัก
  • นั่งเล่นที่ลานไผ่ ต้นสะเดาที่ถือเป็นพี่ใหญ่แห่งบรรดามวลต้นไม้ในสวนป่า ทยอยทิ้งผลสุกสีเหลืองแกมเขียวลงมาเกลื่อนพื้น หวนนึกถึงตอนที่ชวนพี่น้องปลูกผักปลอดสารเคมี สมัยนั้นหาเมล็ดสะเดามาทำสารไล่แมลงหายากหาเย็น บางครั้งต้องไปซื้อที่เขาทำใส่ขวดแปะสลากสวยๆตีตรายี่ห้อขายลิตรหนึ่งตั้งหลายร้อยบาท ที่สวนป่ามีเมล็ดสะเดาปีหนึ่งๆร่วมตัน น่าคิด อีกทั้งบริเวณข้างเรือนนอนมีต้นมะเดื่อออกลูกเต็มต้นน่าเอามาลองวิชาหมักทำฮอร์โมนไว้ใช้บำรุงผลน้ำเต้าเผื่อจะลูกโตเท่ากระบุง
  • ต้นเอกมหาชัยโตวันโตคืน อีกไม่กี่ปีน่าจะติดดอกออกผล ว่ากันว่าเมล็ดเอามาสกัดน้ำมันได้คุณภาพสูงทัดเทียมกับน้ำมันมะกอกทีเดียว อยากเห็นอยากสกัดอยากชิมน้ำมันเพื่อสุขภาพจากต้นเอกมหาชัย
  • ย้อนกลับมาที่คอกวัวที่อ้วนพีดีงามด้วยใบไม้สับฝีมือน้าอามด้วยสูตรที่พ่อครูได้ริเริ่มมาจนเห็นผลเชิงประจักษ์ เรื่องนี้ผมเอาไปโฆษณาที่ไหนใครได้ยินเข้าก็ตาโต ท่านเจ้าเมืองถึงกับออกปากว่าจะเชิญให้ท่านมาสอนคนที่นี่ แต่ผมเรียนท่านไปแล้วว่าอยากรู้ก็ต้องไปดูเอง อยากจะมีการถอดบทเรียน มีคนไปตามน้าอามช่วยน้าอามแล้วจดบันทึกไว้ว่าวันๆน้าอามไปตัดใบอะไรมาสับให้วัวกินบ้าง ฤดูไหนกินใบอะไร แล้วจัดเป็นชุดความรู้ไว้ให้ลูกหลานที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ผลลัพธ์ทางอ้อมบ้านเราจะมีคนปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอีกมีมากก็น้อย
  • พ่อครูคุยเรื่องปลูกถั่วลิสงที่โคนต้นอินทผาลัม ผมเคยเห็นดินในเขตเงาฝนหลังดอยอินทนนท์ ที่ห้วยทรายขาว จอมทอง ที่ผมเคยไปฝึกงานสมัยโน้น ก็ไม่ได้ดีไปกว่าที่สวนป่า แถมฝนก็ตกน้อยเพราะเป็นเขตเงาฝน แต่จำได้ว่าเขาปลูกถั่วลิสงได้ดีพอสมควร จึงน่าจะลองปลูกที่สวนป่าได้หากเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสมกับช่วงฝนตก
  • แม่หวีบอกว่าปีหน้าจะลงต้นบุกให้เยอะๆ ผมว่าก็น่าคิดถึงการแปรรูปหัวบุก ตามที่เคยกินมังสวิรัติเป็นพักๆ เข้าไปมุมอาหารเจบ่อยๆ เห็นเขาทำอาหารกึ่งสำเร็จ หรือเส้นกว๋ยเตี๋ยวจากผงบุกซื้อมาราคาไม่ใช่ถูกๆ กินบุกแล้วดีมีประโยชน์ช่วยทำความสะอาดลำไส้ ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด อาหารควบคุมน้ำหนักหลายชนิดผลิตจากแป้งหัวบุก ครูปูจะผอมก็คราวนี้แหละ
  • หมากหวด ผลไม้ป่าเมื่อปีกลายสวนป่าเก็บได้หลายร้อยกิโล ทำเป็นน้ำเชื่อมน้ำหวานน้ำไวน์ทำแยมกันไม่หวาดไม่ไหว หากปีนี้ติดผลดกอีก ผมว่าลองติดต่อกับเครือข่ายพี่น้องผมแถวๆภูพานที่ทำน้ำเม่าไวน์หมากเม่าหลวงจนได้ได้เสริฟบนโต๊ะอาหารคราวที่ผู้นำนานาชาติมาประชุมบ้านเรา ตอนนี้ได้ข่าวว่ามีการพัฒนาเป็นน้ำสกัดเข้มข้นเหมือนที่ขายในห้างอีกด้วย ย้อนกลับมาที่หมากหวดสวนป่า สามารถต้มเคี่ยวใส่ถังน้ำดื่มไปใช้บริการเครื่องของเขาในราคามิตรภาพ เราก็จะได้น้ำหมากหวดบรรจุขวดเล็กเก็บไว้ได้นานค่อนปีโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น
  • ส่วนเรื่องแพะที่เลี้ยงแบบล้อมรั้วให้อยู่ในป่านั้น เคยเห็นสวนอ้ายศรีทะนงที่วังเวียง เพิ่นเลี้ยงแพะนม หากมีโอกาสน่าจะลองเปลี่ยนแพะที่สวนป่ามาเป็นแพะนมบ้าง หากได้ผลดีจะได้เผยแพร่แบ่งปันลูกแพะให้พี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงเอาไปเลี้ยงเด็กจะได้กินนม ที่สวนอ้ายศรีเพิ่นปั่นเนยจากนมแพะด้วยครับ นมแพะดี ลูกแมวกำพร้าตัวเล็กๆ หากเลี้ยงด้วยนมแพะละก็รอดทุกตัว
  • เกือบลืม แผนหลอกเห็ดละโงกสวนป่า ผมว่าลมฟ้าอากาศเดี๋ยวนี้มักจะแปรปรวนไม่ต้องตามฤดูกาล ตอนที่ไปแวะตลาดสะตึกเห็นเห็ดละโงกวางขาย นึกเอะใจว่านี้เราหลงลืมฤดูเห็ดไปแล้วหรือ สมัยก่อนต้องช่วงต้นฝนจะได้กินเห็ดเผาะก่อน หลังจากนั้นช่วงกลางพรรษาถึงจะได้กินเห็ดใบ คุยกับพ่อครูว่าเห็ดเดี๋ยวนี้ก็ออกผิดฤดู กระไหนเลยเรามาหลอกเห็ดกันดีกว่า เห็ดนางฟ้าที่เพาะในโรงเรือนยังหลอกมาแล้วเห็ดที่สวนป่าจะซักเท่าไหร่เชียว หากทำเห็ดละโงกออกนอกฤดูได้ละก็ น่าคิด น่าคิด

 

ไอ้กระผมก็เป็นซะอย่างงี้แหละครับ ทำงานพัฒนาอาชีพให้พี่น้องมาจนเสพติดเข้าไปในกระแสเลือด หายใจเข้าออกก็มีแต่แผน วาดฝันไปเรื่อยๆ บอกคนโน้นแนะนำคนนี้ (แต่ไม่เคยลงมือทำกิจการของตัวเองจริงๆจังๆสักที)ได้ผลบ้างเหลวบ้าง ดีที่สังคมไทยสังคมลาว มีความเกรงใจกันสูง หากอันไหนได้ผลพี่น้องก็ชื่นชมยกย่อง หากอันไหนไม่เป็นท่าพี่น้องก็แค่ไม่ทำต่อ จึงทำให้ย่ามใจคิดการใหญ่สร้างฝันไว้ที่สวนป่า ที่ไปที่มาจึงมีด้วยประการฉะนี้

หมู่บ้านโลกกดปุ่มเดินหน้า หากโครงฝันที่วาดไว้ข้างบนสามารถเสริมกับแนวทางของหมู่บ้านโลก ซึ่งยึดหลัก “permaculture และหาทางคืนอะไรให้สังคมบ้าง”

ก็คงจะดีมิใช่น้อย      



Main: 0.18056297302246 sec
Sidebar: 0.041683912277222 sec