ชุดบันทึก เรื่องไม่เล็ก ๑ คำกล่าวรายงานปิดกองประชุม

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 22 มิถุนายน 2011 เวลา 3:56 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1885

(๑) คำกล่าวรายงานสรุปงานสัมมนาว่าด้วย “งานช้างไชยะบุรี”

งานช้างเข้าครับ งานช้างจริงๆ ช้างที่มีงวง มีงา มีหูมีตา….หางยาว…….

มีโอกาสได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง”ใหญ่” (ที่อย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ) นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาวางแผนจัดการ “ช้างและการจัดบุญประเพณีบายศรีช้าง” ของแขวงไชยะบุรี ซึ่งเป็นงานที่สร้างความปรีดาไม่น้อย ด้วยว่า ทีมงานที่เข้ามาศึกษาก็เป็นพรรคพวกเก่าที่สนิทชิดเชื้อ อีกทั้งเรื่องเกี่ยวกับเจ้าตัวมีงวงนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ และตัวเองก็เคยได้ศึกษาช้างไทยมาหน่อยหนึ่งเมื่อครั้งกระโน้น..กับโครงการที่มีชื่อสุดหรู “สร้างโลกใหม่ให้ช้างไทย” (สร้างได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ แต่ที่ยังรู้ยังเห็นก็คือทุกวันนี้ยังมีช้างมาหาเงินในเมืองใหญ่อยู่ดาษดื่น…..)  

ไปทำอะไรในกองประชุมสัมมนาบ้าง? ไปช่วยจัดห้องประชุม (ว่าคณะประธานท่านใดจะนั่งตรงไหนตามลำดับความสำคัญในพรรค) ติดต่อยื่นหนังสือขออนุญาตจัดกองประชุม  ส่งหนังสือเชิญ ดูแลแนะนำเรื่องการจ่ายอัตรากิน(เบี้ยประชุม)ให้ตรงกับตำแหน่งระดับขั้นของผู้ร่วมสัมมนา แล้วก็กล่าวรายงานประธานในพิธีเปิด แล้วเป็นวิทยากรบรรยาย เป็นพี่เลี้ยงกลุ่มย่อย ช่วยประกอบความเห็น ทำบทสรุปและกล่าวรายงานก่อนปิดการสัมมนา พอเสร็จงานเห็นร่างกระดาษต่างๆที่ได้ขีดเขียนไว้ในระหว่างการประชุมสัมมนา จะขยำทิ้งก็น่าเสียดายหากนำมาถ่ายทอดก็ไม่เสียหาย  

จึงขอเปิดชุดบันทึกนี้ด้วย ร่างคำกล่าวรายงานสรุปต่อท่านประธานก่อนที่จะเชิญท่านกล่าวปิดกองประชุม

“เรียนท่านหัวหน้าแผนกท่องเที่ยวแขวงฯที่เคารพนับถือ เรียนท่านหัวหน้าแขนง หัวหน้าห้องการ นับถือฮักแพงวิชาการ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน ข้าพเจ้าในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้รับการมอบหมายจากผู้พัฒนาโครงการให้ต่างหน้ามาร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ขออนุญาตรายงานสรุปความเป็นมา และเนื้อในของการจัดกองประชุมสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดเทศกาลงานบุญช้างอันเป็นประเพณีประจำปีของแขวงไชยะบุรี อันนี้ก่ย้อนว่า ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของช้าง คนเลี้ยงช้าง และประเพณีการจัดงานบุญช้างอันเป็นเอกลักษณ์ของแขวงไชยบุรี โดยเฉพาะก่แม่นในเมืองหงสา ซึ่งเเป็นพื้นที่พัฒนาโครงการ ดังนั้นผู้พัฒนาโครงการ ธนาคารเจ้าของเงินทุน และทางพรรคทางรัฐผู้กำกับเบิ่งแยงโครงการ จึงเห็นพ้องกันว่า จำเป็นต้องหาเชี่ยวชาญมาทำการศึกษาวิจัย ซึ่งเราได้บริษัทที่ปรึกษาจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นผู้ศึกษาวิจัย โดยได้เริ่มเข้ามาศึกษาสภาพตัวจริง ตั้งแต่เดือนกุมภาในระหว่างที่มีงานบุญช้างที่เมืองปากลาย ในเทื่อนั้นทีมงานเชี่ยวชาญวิชาการได้ลงเก็บกำข้อมูลรอบด้าน เป็นต้นแม่น การสัมภาษณ์นักท่องเที่ยว นักธุรกิจชาวขาย กรรมการจัดงาน ควาญช้าง ภายหลังจากเสร็จงานบุญช้างแล้ว คณะผู้ศึกษายังได้สืบต่อเก็บกำข้อมูลรายละเอียด จากบุคคล และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงการประชุมระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มย่อยภายในเมืองที่เกี่ยวข้อง ประกอบมี เมืองปากลาย ทุ่งมีไซ ไชยะบุรี และเมืองหงสา แล้วจึงได้วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่สังลวมได้

การจัดกองประชุมสัมมนาในครั้งนี้เป็นอีกเทื่อหนึ่งของขั้นตอนการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ประการแรก เพื่อผ่านบทรายงานผลการศึกษาที่ได้เก็บกำข้อมูลในเทื่อที่ผ่านมาให้บรรดาท่านได้กวดกาดัดแก้ ประการที่๒ เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างเมือง และระหว่างภาคส่วนต่างๆเกี่ยวกับการจัดงานบุญช้างที่ผ่านๆมา และประการที่ ๓ เพื่อวางแผนการจัดงานบุญช้าง ตลอดจนการสร้างแผนรองรับสำหรับช้าง และคนเลี้ยงช้างให้สามารถอยู่ได้อย่างยืนยงในแขวงไชยะบุรี

ภาคส่วนที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาเทื่อนี้ ประกอบมี  ผู้แทนจากบรรดาห้องการระดับแขวง และเมือง มีบรรดาผู้แทนจากสมาคมการค้า ธุรกิจการท่องเที่ยวภาคเอกชน มีคณะกรรมการจัดงานบุญช้างระดับแขวง เมือง และระดับบ้าน และนอกจากนั้นยังมีบรรดาเจ้าของช้างจากเมืองต่างๆที่เคยนำช้างมาร่วมงาน  แล้วก็ยังมีผู้แทนจากองค์กรพัฒนาภาคเอกชนอันได้แก่ อีเลฟองซ์อาซี (มูลนิธิอนุรักษ์ช้างอาเซีย) และโครงการพัฒนาชนบทจากเยอรมัน (GTZ)

พวกเฮาได้เฮดเวียกอย่างคุ้มเคี่ยวมาตลอดสองมื้อ หมากผลที่ได้รับมีเนื้อในสรุปได้ดังนี้

 มื้อทำอิด พวกเราได้ร่วมกันพิจารณาการผ่านบทรายงานผลการเก็บกำข้อมูลของคณะที่ปรึกษา ในนั้นหมู่เฮาได้รับฮู้เถิงมุมมองของนักท่องเที่ยว เกี่ยวกับการจัดงานบุญช้างของพวกเฮา ทั้งในด้านความประทับใจ และข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงด้านต่างๆ ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับสถิติตัวเลข และข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันของช้างและการเลี้ยงช้างภายในแขวงไชยบุรีนั้น พวกเฮาเห็นว่าคณะผู้ศึกษา ได้เก็บกำสังลวมได้อย่างถูกต้องเป็นส่วนหลาย มีเพียงข้อปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆเท่านั้นที่ต้องดัดแก้

ในตอนสายของมื้อทำอิด (บ่ายโมงกว่าๆ….ผู้เขียน) กองประชุมสัมมนาได้ร่วมกันวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนโดยใช้กระบวนการ SWOT นอนอยู่ในนั้น พวกเราได้วิเคราะห์ว่า จุดแข็ง(S) ของการจัดบุญช้างของแขวงไชยบุรีนั้นมีหลายๆด้าน เป็นต้นแม่น การที่แขวงไชยบุรีเฮายังมีช้างเลี้ยงหลายกว่าหมู่ ประชาชนบันดาเผ่ามีความสมัครสมานสามัคคี มีสถานที่ท่องเที่ยวภายในแขวงหลายบ่อน อย่างไรก่ตามสำหรับจุดอ่อน (W) ในการจัดงานของพวกเฮาก็ยังคงมีอีกหลายด้าน ในนั้นส่วนหลายก่แม่นความบ่สดวกความบ่พร้อมในการกะเกียมสะถานที่ การเดินทาง และการเผยแพร่ควบคุมตาตารางการแสดงเป็นต้น ในด้านปัจจัยภายนอกที่เป็นโอกาส(O)ที่จะมาส่งเสริมผันขยายการจัดบุญช้าง พวกเฮาก่ได้วิเคราะห์ว่ายังมีหลายภาคส่วนองค์กรมหาชน เอกชนต่างๆจากภายนอก ที่มาซุกยู้ส่งเสริมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิช้างเอเชีย และสุดท้ายพวกเฮาได้เว้ากันถึงปัจจัยภายนอกที่เป็นความเสี่ยง (T) ต่อการจัดบุญช้าง เป็นต้นแม่น นโยบายการปิดป่า การพัฒนาทางอุตสาหกรรม และการขุดค้นบ่แร่

ในตอนแลงของมื้อทำอิด พวกเฮาได้ช่วยกันกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์ของการจัดบุญช้าง   ผ่านการอภิปรายค้นค้วา สุดท้ายก่ได้ข้อสรุป ทิศทางและวิสัยทัศน์การจัดบุญช้างไว้ว่า “สืบต่อการจัดบุญประเพณีบายศรีช้าง สืบทอดฮีตคองบูฮาณ”

สำหรับในตอนเช้า จนฮอดตอนแลงของมื้อนี้ กองประชุมสัมมนา ได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นแต่ละเมือง แล้ววางแผนการจัดงานบุญช้าง โดยอาศัยการถอดถอนบทเรียนที่ผ่านมา แต่ละเมืองที่ได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน ได้วางแผนการจัดงานซึ่งประกอบมี การวางแผนผังสถานที่บ่อนจัดงาน บ่อนเวทีแสดง ก้อนกำลัง(ขบวนพาเหรด….ผู้เขียน) ตาตะลางการแสดงของช้างและการแสดงศิลปะวัฒนธรรม การวางแสดงสินค้า การกะเกียมต้อนรับแขกเกียรติยศ(วีไอพี) แขกต่างด้าวท้าวต่างแดน และพี่น้องที่มาร่วมงานทั้งในด้านบ่อนพัดเซา ร้านอาหาร บ่อนรับชมการแสดง บ่อนประชาสัมพันธ์

ตีรวมแล้วถือว่าการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จเกือบร้อยส่วนร้อย

บรรดาท่านที่นับถือ

เวียกงานเกี่ยวกับช้างและการอนุรักษ์ช้างของแขวงไชยบุรีนี้ ทางผู้พัฒนาโครงการ และเจ้าของแหล่งทุน ภายใต้การชี้นำของพรรคของรัฐ ได้ตีราคาสูง(ให้ความสำคัญสูง…..ผู้เขียน) ย้อนว่าช้างเป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองลาวมาแต่โดนนานบูฮานกาลพู้น ดั่งนั้น จึงบ่เพียงแต่พวกเฮาจะมาวางแผนเฉพาะการจัดบุญช้างเท่านั้น พวกเฮายังต้องสืบต่อเวียกงานการวางแผนอนุรักษ์ช้างและการส่งเสริมให้คนเลี้ยงช้างสามารถมีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดี มีรายรับที่เหมาะสม และเบิ่งแยงช้างให้มีความสบายตามอัตภาพ บ่ใช้งานจนหลายเกินกำลัง ซึ่งแน่นอนว่าทางโครงการฯที่ข้าพเจ้าเฮดเวียกอยู่นี้ต้องสนองงบประมาณให้ตามความเหมาะสม

อีกเทื่อหนึ่ง ข้าพเจ้าในฐานะต่างหน้าโครงการ และต่างหน้าของบริษัทที่ปรึกษาที่มาจัดสัมมนาในครั้งนี้ ขอแสดงความรู้บุญคุณ ทางคณะนำที่ได้กรุณาเข้าร่วมประกอบความคิดความเห็น ขอแสดงความรู้บุญคุณบรรดาท่านที่ได้สละเวลามาร่วมประชุมตลอดสองมื้อนี้

ขอขอบใจ

และขอเรียนเชิญท่านประธานขึ้นกล่าวให้โอวาท ให้ทิศชี้นำ และปิดกองประชุม…..ขอเรียนเชิญ

 หนังตัวอย่างตอนต่อไป

 (๒) ถอดบทเรียน จากการจัดงานช้าง “ท้องถิ่น ศูนย์กลาง สากล” หากไม่ยึดช้างเป็นตัวกลางระวังจะล้มเหลว

( คำสำคัญ บายศรีแล้วต้องพัก ช้างติดสัญญาจ้าง นักจัดงานมีอาชีพเหมาจัดการระวังชาวบ้านไม่ได้อะไร การมีส่วนร่วมภาคท้องถิ่น)


ส่งให้เดินทางข้ามผ่านภพ

6 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 11 มิถุนายน 2011 เวลา 6:32 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1268

บันทึกนี้ไม่เหมาะสำหรับ”คนซึมเศร้า” โปรดอย่าอ่านยามวิกาลหากท่านอยู่คนเดียว

เป็นเรื่องราวธรรมชาติของวงจรการทำงานทางสังคม ที่ต้องพาตัวเองเข้าไปพัวพันเป็นสักขีพยานในหลากหลายพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็น กินแขกแต่งดอง ทำขวัญเดือนแอน้อย(ผูกแขนทารกอายุครบเดือน) อุ่นเดือน(ไปเยี่ยม ดื่ม เล่นไพ่ เป็นเพื่อนคนอยู่ไฟ) รับโชค ผูกแขน ขึ้นบ้านใหม่ เฮดกองทานเฮือนผ้า แปลว่าอะไรบ้าง บางงานก็เขียนเล่าไว้ในบันทึกก่อนๆ แต่บางงานก็ยังไม่ได้เขียน….ขอแปะไว้ก่อนครับ

แต่วันนี้จะบันทึกเกี่ยวกับประเพณีหลังความตาย หรือ การ”ส่งสะก๋าน”

อันที่จริงผมก็สนใจประเพณีหลังความตายมาบ้างแล้ว หลังจากที่ได้ยินเพื่อนร่วมงานท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่านเคยเห็นงานส่งสะก๋านคนไทกลุ่มหนึ่งริมน้ำโขง ท่านส่งสะก๋านโดยการต่อแพไม้ไผ่ เอาร่างผู้วายชนม์วางบนแพกางร่มแดงให้ แล้วฝากธาราแม่ของพาร่างไหลล่องเดินทางข้ามภพ มีโอกาสผมจะดั้นด้นไปเมืองนั้นไปพูดคุยกับคนเก่าๆถึงรายละเอียดดูสักครั้ง แล้วจะนำมารายงานครับ

ภาษาหงสา “เฮือนดี หมายถึงบ้านที่กำลังมีผู้เสียชีวิต” “ขอน คือ ร่างที่ไร้ลมหายใจ”

กลับจากแปลงสาธิตบ่ายแก่ๆของวันศุกร์ วันนี้ฝนตกหนักเกรงจะออกจากพื้นที่ไม่ได้ จึงพาพี่น้องกลับก่อนค่ำ แวะส่งคนงานที่หมู่บ้านจัดสรร มีคนวิ่งมาแจ้งข่าวร้าย ข่าวการจากไปของอดีตพนักงานท่านหนึ่ง ที่ป่วยเรื้อรังยากที่จะรักษา ตามการพยากรณ์โรค และตามประสบการณ์ที่คนรอบตัว(รวมถึงพ่อ)ที่จากไปด้วยโรคไตวาย พอเห็นผลเลือดตอนที่ตรวจร่างกายชาวบ้าน ผมก็ทราบว่าอย่างไรก็ต้องเกิดสักวัน แต่เป็นการรู้ที่เหมือนน้ำท่วมปาก บอกใครก็ไม่ได้ยกเว้นไปปรึกษาท่านหมอที่โรงหมอแขวงสองท่าน เพราะอยากจะยื้อเวลาในการเข้าอยู่บ้านใหม่ให้นานอีกสักหน่อย ไม่อยากให้มีงานสีดำในช่วงนี้ ดังนั้นสำหรับผู้จากไปรายนี้ไม่สนิทก็เหมือนสนิทกัน เพราะติดตามเรื่องราวอยู่ตลอด

เดินฝ่าผู้คนและเสียงร่ำไห้ไปนั่งข้างร่างที่นอนสงบ ปลอบโยนให้กำลังใจคนข้างหลังไปตามโอกาส โลกช่างสีดำเทาทมึนเพราะเป็นช่วงที่ญาติทยอยกันมาถึง คนนี้มาร้องคนโน้นมากอดร่างคร่ำครวญ เห็นท่าจะปรึกษากันเรื่องงานในบ้านไม่ไหว ค่อยๆปลีกตัวออกมาดูภายนอก เห็นผู้ชายพากันแบกไม้กระดานมาคนละแผ่นสองแผ่น พร้อมฆ้อน ตะปู เลื่อย แว่วๆได้ยินเสียงคนพูดถึงกระดาษสี หมึก กาว ผ้าขาว และเครื่องใช้อีกสองสามอย่าง เลยรีบเสนอตัวออกไปจัดหาที่ตลาดแล้วขออนุญาตแวะลงจัดการกับตัวเองทั้งเรื่องอาหารใส่ท้องและยาเพื่อเตรียมตัวไปรอบดึก ไหว้วานทีมงานช่วยนำของไปส่ง ช่วยเป็นธุระพาพี่น้องไปซื้อหมูมาหนึ่งตัวเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงแขก แล้วก็ไปรับพระ ไปขนโต๊ะเก้าอี้

ค่ำๆทีมงานมารับ ไปฟังสวดหนึ่งจบ แล้วก็เป็นรายการอยู่เป็นเพื่อน ที่นี่ถือเป็นหน้าที่ที่คนทุกครอบครัวต้องมีตัวแทนมาอยู่เป็นเพื่อน “เรือนดี” หมายถึงให้มาอยู่ตลอดคืน ได้ยินว่าบางหมู่บ้านมีการขานชื่อกันตอนหกโมงเช้าหากครอบครัวไหนขาดมีการปรับไหมสี่สิบพันกีบ ก็นั่งคุยกันเป็นวงๆแล้วแต่ใครสนใจเรื่องไหน มีเมี่ยง บุหรี่ เหล้าขาวไว้บริการ มีเลี้ยงข้าวรอบดึก แล้วก็มีวงไพ่ เล่นกินน้ำ กินเหล้า กินลูกอม ทั้งในบ้านนอกบ้านมีเกือบยี่สิบวง แต่เห็นมีวงที่เล่นกินเงินกีบกันเพียงเจ้ามือเดียวเท่านั้น ผมขอตัวกลับตอนใกล้ตีหนึ่ง กลับมาอาบน้ำ สระผมเสร็จตอนตีสอง

เช้าวันเสาร์ไปถึงบ้านเรือนดีราวสิบโมง เห็นคนวิ่งมาขอรถไปรับพระมาสวดรอบที่๑ ใช้พระเณรแปดรูปบทสวดไม่คุ้น (ก็จะคุ้นได้อย่างไรไม่ได้ไปงานสีดำเต็มๆแบบนั่งแถวหน้าอย่างนี้สักที) ถามพ่อเฒ่าข้างๆท่านว่ามีสองยก ยกแรกเรียกสวดกุสลา ยกสองเป็นสวดเทวดา แล้วก็ไปส่งพระที่วัด อีกสักพักราวครึ่งชั่วโมงก็พาพระท่านมาสวดอีกรอบที่๒ แล้วก็นิมนต์ท่านกลับไปรับเพลที่วัด รถรอรับท่านกลับมาสวนรอบที่๓ นิมนต์ท่านไปพักผ่อนอีกหน่อย ระหว่างนี้ผมอาสาแว๊ปออกไปซื้อน้ำมันมาสามแกลลอน ปรากฏว่าไม่มีแกลลอนเปล่าให้ยืมทั้งๆที่เห็นๆว่ามีกันอยู่โทนโท่ มีคนมากระซิบว่าเอาแกลลอนไปใช้ในการนี้เขาไม่ยืมกัน เลยใช้วิธีใหม่”ขอ… ไม่ใช่ยืม” มีคนไปหยิบมาให้จนเกินพอ อืม….แล้วก็มาสวดรอบที่๔ เป็นชุดใหญ่ก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายไปสุสาน

ไม่สามารถหารถบันทุกไปได้ ด้วยความเชื่อของคนทางนี้ที่แม้แต่ญาติพี่น้องกันก็ไม่อยากทำ ที่หมู่บ้านอื่นมีรถอีแต๋นที่รับงานนี้โดยเฉพาะแต่ช่วงนี้พัง (หากเป็นพนักงานมักจะใช้รถของหน่วยงานไม่ใช้รถส่วนตัว) เจ้าภาพก็ออกจะเกรงใจในข้อนี้เกินกว่าที่จะออกปากขอ หนุ่มๆจึงเสนอตัวว่า ใช้วิธีแบกไส่ไม้คานหามสี่ผลัดกันไป เกือบสองกิโลครับท่านฝนก็ปรอยๆ รถทีมงานผมใช้ขนส่งพระเณรล่วงหน้าไปก่อน ขณะเคลื่อนขบวนโดยการหามและมีเณรเดินนำหน้า ผมก็เดินจ้ำเดินตามขบวนแทบไม่ทัน อาสาเดินเพราะอยากไปส่งและไม่อยากอยู่ที่บ้านท่ามกลางเสียงร้องไห้อาลัยของบรรดาญาติฝ่ายหญิงที่ไม่สามารถร่วมมาส่งได้ เจ้าหน้าที่อาวุโสทีมงานผมสองท่านอาสาอยู่เป็นเพื่อนฝ่ายหญิง การเคลื่อนขบวนงานนี้มีแต่ผู้ชายเท่านั้น แต่ละคนขัดมีดใส่ฝักสวยไว้กับเอว มีคุณแม่บ้านท่านหนึ่งเรียกผมไว้บอกว่าจะหามีดมาให้พอดีท่านเห็นสร้อยคอผมโผล่จากคอเสื้อท่านเลยบอกว่า “มีคำแล้วบ่ต้องเอามีดไปกะได้” เป็นความเชื่อที่ว่าเวลาไปสถานที่แห่งนี้ป่าอย่างนี้ต้องพกของแข็งของคมไปด้วย สิ่งชั่วร้ายจะทำร้ายไม่ได้ ยกเว้นเจ้านายที่มีทองคำท่านว่าป้องกันได้ทุกอย่าง (อย่างนี้นี่เองทองคำถึงเป็นโลหะมีค่า)

ป่าเฮ่ว ป่าช้า ป่ากำ เป็นป่าประเพณีที่จำเป็นและชาวบ้านปกปักรักษา ไม่เหมือนบ้านเราหลายแห่งที่รถไถมักจะบุกรุกป่าเฮ่ว แต่ที่นี่ยังคงเป็นป่าไม้ดงหนา ป่าไม้เป็นขน ต้นไม้ขนาดใหญ่หลายคนโอบ มีเถาวัลย์ห้อยระโยงระยาง ทรงพุ่มเบียดชิดจนแดดส่องไม่ถึงพื้น ตะไคร่น้ำเกาะตามต้นไม้ พรมหญ้าพื้นล่างรกทึบแน่นหนา ต้องเดินผ่านป่าสภาพอย่างนี้เข้าไปจนลึก จนถึงที่ประกอบพิธี ที่ที่หมู่ไม้เปิดโล่งไว้หน่อยหนึ่ง มีคนมาเตรียมการไว้ มาเอาฟืนใส่เชิงตะกอน มาก่อกองไฟเล็กๆไว้หนึ่งกอง แล้วก็มีไม้แปก(ไม้สน)เป็นท่อนๆยาวคืบกว่ากองไว้ห้าหกสิบชิ้น

พระท่านไม่ได้บังสุกุลที่สี่มุมเหมือนบ้านเรา แต่ท่านยืนเรียงแถวด้านทางหัว จับด้ายโยงแล้วก็สวดอีกหนึ่งจบ คนที่ร่วมขบวนมาส่งมีราวห้าสิบคนแต่มีคนปฎิบัติการจริงๆหกเจ็ดคน ที่เหลือก็แล้วแต่”ความกล้า” ว่าจะเข้าไปช่วยใกล้เพียงไหน บางคนก็ยกเสื้อขึ้นปิดจมูก ขั้นตอนที่มีการคว่ำหีบหลายคน(รวมถึงผมด้วย)ก็หันหลังให้ เมื่อจัดแจงเสร็จแล้ว ท่านก็เอาท่อนไม้สนไปจุดไฟในกองถือไปให้พระท่านเอาไปจุดในเชิงตะกอน พระท่านใส่ท่อนไม้ไฟ(บ้านเราคงเป็นดอกไม้จัน…เขียนไม่ถูกแหงๆ ขออภัย) ครบแล้วก็เป็นรอบของชาวบ้านต่างก็ถือไปคนละท่อนวางที่กองฟอนพร้อมอวยชัยให้พรให้ผู้เดินทางข้ามภพ

พระท่านอยู่เป็นเพื่อนสักครู่ก็เดินทางกลับ งานนี้ลุงเปลี่ยนพลาดที่ไม่ได้กลับพร้อมท่าน เพราะหลังจากนั้นชาวบ้านก็อยู่เป็นสักขีพยานการเดินทางข้ามผ่านแม้ว่าบางคนอยู่แบบห่างๆไม่มองกองไฟ ไม่มีใครขยับตัวกลับ มีเจ้าภาพรินเหล้าขาวจอกเล็กๆเวียนแจกทุกคน เมื่อรับมาแล้วผมเห็นเขายกมาจิบนิดหนึ่งส่วนที่เหลือเทล้างมือ อืม…น่าจะเป็นกุศโลบายของคนโบราณเพื่อลดการติดเชื้อกระมัง

ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ เสียงผู้คนพึมพำแผ่วทุ้ม เสียงลูกไฟแตกเปลวไฟสะบัดไหว เสียงลมพัดต้องใบไม้ซู่ดัง น้ำค้างยอดไม้ร่วงกราว เสียงกิ่งไม้เป๊าะหัก เสียงสูงต่ำของหมู่นก ตัวฮอกตัวไหน่กระรอกกระแตผลุบโผล่ไต่เต้น ผมเริ่มมองลึกลงไปในตัวตน ในจิตใจ และมองเห็นธรรมชาติ ว่าที่สุดทุกคนก็ต้องกลับสู่ผืนดิน (ไม่แน่ใจว่าเจ้าเหล้าจิบแรงๆนั้นจะเป็นตัวเร่งหรือไม่) เราอยู่เงียบๆกันอย่างนั้นกว่าหนึ่งชั่วโมง

เดินออกจากป่า ทุกคนเปลี่ยนทิศทางพาตัวเองผ่านวัด บางคนก็แวะไหว้พระเจดีย์ แล้วพวกเราก็กลับมายังบ้านงาน ทุกคนต้องไปที่กระด้งหน้าเรือนที่มีด้ายผูกข้อมือ หัวข่าหั่นแว่น มีด และเคียววางอยู่ แม่เฒ่าเรียกผมเข้าไปท่านให้เอาด้ายพันข้อมือหลวมๆพร้อมอวยชัยให้พร ให้แคล้วคลาด ให้ข่า(ม)ให้คง พร้อมจับมีดกับเคียวแตะแขนเบาๆ

ฝ่ายหญิงที่ไม่ได้ไปป่าด้วย จัดแจงแต่งดาสำรับกับข้าวและเหล้าไว้รอ ส่วนผมนั้นมีเวียกประชุมตอนสี่โมงแลงต้องขอตัวกลับ   คืนนี้พี่น้องคงจะมาอยู่เป็นเพื่อนกันจนค่อนรุ่ง จนถึงอีกหลายๆคืน ข้อนี้ผมไม่ห่วง เพราะ”สายใยสังคม”ของที่นี่ยังเหนียวแน่นยิ่งนัก

จบบันทึก แต่ยังไม่จบงาน



Main: 0.10572910308838 sec
Sidebar: 0.014618873596191 sec