ขออย่าได้เป็น เมียบุญธง รถเชียงสง โถงจารย์เปลี่ยน
อ่าน: 1549“ขออย่าได้เป็น เมียบุญธง รถเชียงสง โถงจารย์เปลี่ยน” คำพูดดังกล่าวเข้าหูผมมาได้สองสามปีที่หงสา เป็นคำพูดเล่นของพี่น้องชาวหงสาในทำนองหยอกเย้ากระเซ้าแหย่กัน ในทำนองรักดอกจึงหยอกเล่น ตั้งแต่ท่านรองเจ้าเมือง อ้ายน้องพนักงาน และพ่อเฒ่าผู้แก่ ที่พูดแซวผมด้วยสีหน้ายิ้มหัวยามอารมณ์ดี
แปลความหมายตามตรง ก็คือ ถ้าเลือกเกิดได้ ขออย่าได้เกิดมาเป็นเมียอ้ายบุญธง ขออย่าได้เกิดมาเป็นรถท่านเชียงสง และขออย่าได้เกิดมาเป็นโถง(ถุงย่าม)อาจารย์เปลี่ยน เพราะบรรดาท่านเห็นว่าเกิดเป็นสามสิ่งนี้ต้องรับภาระที่หนักหน่วงนั่นเองครับ พี่น้องชาวหงสาคงจะชินตากับภาพที่เห็นจึงเห็นพ้องกันกับคำพูดดังกล่าว
อ้ายบุญธง หรือสหายบุญธงเป็นชายร่างเล็ก ที่เกิดปีเดียวกับผม เราทำงานร่วมกันมาเมื่อครั้งที่ผมเข้ามาทำงานในหงสาครั้งก่อน ราวปี ๑๙๙๔ ท่านเป็นรัฐกร หรือข้าราชการที่ทำงานตรงไปตรงมา ไม่เกี่ยงงานหนัก เคยพาผมเดินลัดป่าตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงบ่ายสองโมงเพื่อไปบ้านห้วยเยอ ผมไปจับปลาในวังสงวนเพื่อศึกษาชีวะนานาพันธุ์ในน้ำโดยไม่ได้แจ้งกองหลอนบ้าน อ้ายบุญธงก็ไม่ละเว้นที่จะนำตำรวจมาจับมาปรับ อ้ายบุญธงนับเป็นพนักงานที่ซื่อตรงโดยแท้ ยามทำงานอ้ายจะทำหนักไม่พูดไม่จากับใคร ความรู้ที่ไปเรียนจบมาจากเวียดนามก็แน่นปึก ชาติตระกูลก็ดี มีพี่น้องจบป.เอกประจำกรมกองที่นครหลวง แต่ผมก็สงสัยว่าทำไมอ้ายท่านไม่ได้เป็นหัวหน้ากับเขาสักที อาจเป็นเพราะการเป็นคนตรงๆแบบเจอตอก็ไม่หลบของอ้าย หรืออาจจะเป็นเพราะประการหลัง นั่นคือการเป็นนักดื่มของอ้าย ที่เป็นที่มาของฉายานั่นเอง อ้ายบุญธงดื่มบ่อยมาก เมาจนชินตาคนทั่วเมือง จนวันไหนไม่เมาถือว่าผิดปกติ แต่เวลาเมาก็ไม่ได้ไปเกะกะทำร้ายสิ่งของผู้คนแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าเมาเป็นพับต้องเป็นภาระให้เมียมาหิ้วปีกพากลับบ้านทุกที คนหงสาจึงกลัวที่จะเป็นเมียอ้ายบุญธง
ท่านเชียงสง หรือ พี่ทิดบุญส่ง เป็นรัฐกรระดับหัวหน้าห้องการ เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่พวกเราได้พึ่งพาอยู่ตลอด นอกเหนือจากทำงานราชการแล้ว ท่านเชียงสงยังมีบ่อเลี้ยงปลาอีกสามแห่ง ท่านครูพักลักจำวิธีขยายพันธุ์ปลามาทำเองจนสำเร็จ ปีหนึ่งขายทั้งปลาใหญ่และลูกปลาได้หลายเงิน นอกจากนี้ยังมีแปลงนาที่ปลูกข้าวนาปรัง แม่บ้านและลูกๆของท่านเชียงสงก็ขยันขันแข็งในการงาน ลูกสาวคนหนึ่งเคยขอมาเรียนเพาะเห็ดกับผมจนนำไปขยายผลเพาะเองที่บ้านได้ ทุกวันนี้ท่านเชียงสงออกรถยนตร์มาขับได้ด้วยเงินสดแล้ว แต่รถคันที่ติดตาจนมาปากชาวหงสา กลับเป็นรถมอเตอร์ไซด์เอนดูโร่คันที่ท่านขี่ลุยป่าลุยเขาไปทำงานอย่างไม่ได้หยุดได้พัก คนหงสาจะติดตากับท่านเชียงสงกับมอเตอร์ไซด์คู่ชีพวิ่งว่อนไปทั่วทั้งในเขตเทศบาล และเขตซอกหลีกที่ห่างไกล จึงพูดติดตลกกันว่า ขออย่าได้เป็นรถเชียงสง
โถง หรือถุงย่ามจารย์เปลี่ยน เดิมทีชาวหงสาท่านว่า “โถงจานทัน” หมายถึงถุงย่ามท่านอาจารย์ทัน ผู้เฒ่าคนหนึ่งที่มีคนนับถือ เป็นผู้นำในพิธีกรรมทางศาสนา เป็นหมอพรทำขวัญ ท่านสะพายถุงย่ามเก่าครำคร่าจนไม่รู้สีเดิมติดตัวอยู่ตลอดเวลา ตอนหลังท่านชรามากจนออกงานไม่ไหว พอดีมี”จารย์เปลี่ยน”มาปรากฏร่างเคลื่อนไหวอยู่ในเมืองหงสาพร้อมๆกับย่ามคู่กาย แถมมีถุงเป้โน๊ตบุคอีกใบพะรุงพะรัง พี่น้องหงสาจึงพร้อมใจกันถ่ายทอดฉายา โถงจารย์เปลี่ยน ซึ่งก็ถือเป็นมรดกฉายาที่ผมเต็มใจสืบทอด
มานั่งทบทวนดูก็สมควรที่ผมจะได้รับฉายานี้ เพราะตัวเองสะพายย่ามติดตัวไปเกือบทุกแห่ง มัดการาวัตผูกเนคไทต้อนรับผู้ใหญ่ก็ยังสะพายย่าม ไปตลาดเช้าก็ใช้ย่าม ไปลงชุมชนทุกที่ต้องมีย่าม ไปวัดยังเอาขันเงินใส่ย่ามสะพายไป
อีกนัยยะหนึ่งที่คิดแบบเข้าข้างตัวเอง ก็คือการที่ได้รับการยอมรับจากสังคม จากชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจของนักพัฒนาชุมชน แม้ว่าผมไม่เคยเข้าชุมชนด้วยการไปนั่งกลางวงเหล้าก็ตามเถอะ (แต่ผมก็ไม่ได้ปฎิเสธว่านั่นอาจเป็นวิธีการเข้าสังคม การลงชุมชนที่ได้ผล) วิธีของใครก็ของใครก็แล้วกัน แล้วแต่ถนัดเต๊อะ
แต่หัวใจสำคัญอยู่ตรง บทเรียนแรก
นี่เป็นบทเรียนบทแรก ของนักพัฒนาชุมชน “การเข้าไปนั่งในใจคน การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”