บุนมะโหลาน งานช้างเมืองหงสา

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 24 กุมภาพันธ 2010 เวลา 11:34 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2061

บ่ได้ไปดูเอง ฝุ่น ร้อน ขี้คร้านแต่งตัว รถบ่มี ใช้รถไปส่งลูกน้องขึ้นเครื่องหลวงพระบาง

ขอบคุณภาพจาก ท่านน้องคมเพ็ด แก้วพิลา

ไปเดินซื้อผ้าทอคืนก่อน กลับหนาวมากๆ ได้ผ้ามาหลายผืนงามๆ แต่บางผืนก็ต้องซื้อเพื่อให้กำลังใจพี่น้องที่มาขาย

เดินผ่านร้านไหน เขาก็ร้องทัก อาจานเปลี่ยน อุดหนุนหน่อย ก็ต้องแวะซื้อทุกร้าน ซื้อแม้กระทั่งกระดึงแขวนคอวัว

ทราบว่าวันงานมีท่านรัฐมนตรีมาเป็นประธานร่วมกับท่านฑูตอาเมลิกา

จบข่าว เชิญชมภาพ


เชิญเที่ยว “บุญมะโหลาน” งานช้างที่หงสา

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 16 กุมภาพันธ 2010 เวลา 12:06 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1879


เมืองหงสา แขวงไชยบุรี สปป ลาว เป็นเมืองที่นักพัฒนาหลายชาติหลายสาขารวมหัวกันคิดวางแผนการอนุรักษ์พัฒนาให้เป็นเมืองแห่ง 7 E ก็มี Eco-tour Elephant Environment แล้วก็มีอีอะไรอีกสี่อี จำไม่ได้แล้ว
วันนี้จะเล่าถึง อีลาฟ็อง พูดทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศสที่พี่น้องหงสาหลายคนยังติดปากมากกว่าภาษาอังกฤษครับ
เมืองหงสา เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีช้างเลี้ยงจำนวนมากมาย สมัยก่อนมีมากถึงพันกว่าตัว ตอนนี้แม้ว่าจะลอจำนวนลงบ้างแต่ก็ยังถือว่ามีมากที่สุดในประดาหัวเมืองภาคเหนือของลาว
งานช้างที่หงสาริเริ่มเมื่อสี่ปีก่อน (ปี 2007) โดยสมาคมนักอนุรักษ์ช้างจากยุโรปร่วมกับทางแขวงไชยบุรี ในปี 2008 ย้ายไปจัดที่เมืองปากลายด้วยเหตุผลว่าอยู่ใกล้เวียงจันทน์เดินทางสะดวก ปี 2009 ย้ายมาจัดที่ตัวแขวงไชยบุรี และปีนี้ 2010 เวียนกลับมาจัดงานที่เมืองหงสาอีกครั้ง
ดูตารางและแผนผังการจัดงานของปีนี้ สรุปได้เบื้องต้นดังนี้
สถานที่จัดงาน อยู่ที่บ้านเวียงแก้ว ห่างจากตัวเมืองหงสาราวสี่ กม. บ้านเวียงแก้วเป็นหมู่บ้านชาวลื้อและได้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านแรกของเมือง
องค์ประกอบของงานก็มี การแสดงของช้างในวันที่ ๒๐ และ ๒๑ กุมภา มีมหกรรมขายสินค้าลาวเทค (เหมือนตลาดนัดบ้านเรา) และมีบูธแสดงจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมสินค้าโอทอปของสิบเจ็ดหัวเมืองภาคเหนือด้วยครับ เขาเริ่มมาตั้งร้านกันตั้งแต่วันที่สิบห้าแล้วนะครับ
เรื่องที่พักเท่าที่ทราบ ตอนนี้โรงแรมเรือนพักทุกแห่งล้นแล้วครับ ยกเว้นส่วนที่เป็นโฮมสเตย์นอนกับชาวบ้านที่เวียงแก้วและหมู่บ้านใกล้เคียงยังมีอยู่ ตามใบปลิวเขามีเวปไซด์ให้คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ http://festivalelefantasia.org สำรองที่พักที่ home...@elefantasia.org ถือว่าพักกับชาวบ้านกระจายรายได้สู่ชาวบ้านครับ
ขอเล่าถึงการเดินทางเข้าหงสาครับ
๑ หากเข้าทางด่านน้ำเงิน อ.เฉลิมพระเกรียติ ขึ้นรถทัวร์มาลงที่ทุ่งช้าง จากทุ่งช้างต่อรถบัสประจำทางมาที่บ้านปอน จากนั้นวัดดวงว่าจะมีรถโดยสารมาชายแดนห้วยโกร๋นหรือไม่หากไม่มีก็เหมามาในราคา ๖๐๐บาท จากด่านชายแดนไทยเดินมาด่านลาวประมาณ ๑ กม. อย่าเอาของมามากนะครับเดี๋ยวแบกไม่ไหว ที่ด่านลาวหลังจากเข้าด่านแล้ววัดดวงต่อว่าจะมีรถไปที่สามแยกเมืองเงินหรือไม่ หากไม่มีก็เดินต่ออีกสองสามกม. (วันงานผมจะแนะนำอ้ายน้องให้จัดมอเตอร์ไซด์รับจ้างท่าจะดี) ที่สามแยกเมืองเงินก็รอต่อรถโดยสารเข้าเมืองหงสาอีกประมาณ ๓๕ กม.ครับ คิดว่าวันงานน่าจะมีรถวิ่งอยู่หลายเที่ยว เป็นรถสองแถวนะครับเตรียมผ้าปิดจมูกกันฝุ่นมาด้วย ส่วนผมไม่ต้องโกรกสีมานะครับ เดี๋ยวเส้นทางนี้จะเปลี่ยนสีให้เอง
๒ สำหรับผู้ที่มีพาสปอร์ตและมีเวลาหลายวันผมแนะนำให้ใช้เส้นทางนี้ครับ
นั่งรถทัวร์มาลงเชียงแสน เอหรือเชียงของ (จำไม่ได้แล้ว สับสน) เพื่อข้ามไปยังเมืองห้วยทรายแขวงบ่แก้ว จากนั้นนั่งเรือสำราญลำใหญ่ล่องชมทิวทัศน์สองฝั่งโขงจากเช้าจดเย็น มีฝรั่งเต็มลำเลยครับ เรือแวะนอนพักค้างคืนที่เมืองปากแบง รุ่งเช้าแปดโมงกว่าๆเดินทางต่อประมาณสิบเอ็ดโมงเรือมาถึงท่าช่วงขึ้นจากเรือตรงนี้ครับ แล้วก็นั่งรอคิวรถออกไปเมืองหงสา สามสิบกว่ากม. แต่รถเขาจะรอจนถึงห้าโมงเย็นถึงจะออกนะครับ รอรอรอไปก่อน รอไม่ไหวก็เหมามาสองพันบาท แพงไปนะผมว่า
๓ หรือสำหรับผู้ที่จะมาแวะเที่ยวหลวงพระบางก่อน หลังจากนั้นก็ขึ้นเรือสำราญแบบเดียวกันกับ #๒ข้างบน เรือออกจากท่าแปดโมงเช้า ทวนน้ำมาถึงท่าช่วงราวห้าโมงเย็น อย่าลืมห่อข้าวมาทานบนเรือด้วยครับ จากนั้นก็ขึ้นรถคิวต่อมาเมืองหงสา ขาขึ้นนี้ไม่ต้องรอรถนานครับพอเรือเทียบท่ารถก็วิ่งไปรับแล้วก็ออกเลย
ว่าด้วยช้างเมืองหงสา
ช้างเมืองหงสาเคยเป็นเพื่อนเป็นสัตว์เลี้ยงคู่เรือนที่ช่วยเหลือแรงงานให้ตามความจำเป็นมาช้านาน ในสมัยก่อนเล่ากันว่าชาวหงสาใช้ช้างไถนา (มีการขุดพบไถโบราณยาวเกือบเมตรที่ต้องใช้ช้างเท่านั้นถึงจะลากได้ที่หงสาด้วย) ใช้ช้างขนข้าวจากสวนเข้าบ้าน ใช้ช้างบรรทุกเกลือมาขาย เป็นต้น นอกจากนี้ช้างยังเป็นสิ่งแสดงฐานะของคนรวย ต่อมาเมื่อโลกภายนอกมาช่วยเมืองลาวใช้สอยไม้ซุงจากป่า อุตสาหกรรมการทำไม้โดยนายทุนทั้งในลาวเอง และจากต่างชาติต่างเข้ามาดำเนินกิจการในหัวเมืองลาวทางเหนือ ช้างของชาวหงสาก็รับบทบาทหนักในการชักลากไม้ มาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันจำนวนช้างบ้านของเมืองหงสาลดลงอย่างรวดเร็ว หลายคนที่มีช้างก็ขายช้างไปซื้อรถยนต์มารับจ้างแทน  ช้างที่มีอยู่ก็ถูกจ้างไปทำไม้ในที่ต่างๆทั่วภาคเหนือของลาว ทำรายได้ให้กับเจ้าของเป็นกอบเป็นกำ มีช้างบ้านหลายตัวได้ถูกเช่าเข้าไปให้บริการในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว งานนี้ก็สร้างรายได้ให้กับเจ้าของจำนวนสูงเหมือนกัน
ปัญหาของช้างเมืองหงสาที่มองเห็นทุกวันนี้ สืบเนื่องจากบทบาทหน้าที่ของช้างที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวข้างต้น และสืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสังคมของเจ้าของช้าง ทำให้มองเห็นความทุกข์ของบรรดาช้างอยู่สองสามประการคือ
(หนึ่ง) ช้างทำงานหนักมากขึ้น เพราะการไปรับจ้างทำไม้ในป่าต้องทำงานชักลากทุกๆวัน ช้างบางตัวเป็นช้าง “มูลมรดก” คือเป็นช้างของคนรุ่นพ่อแม่ที่เสียชีวิตลง พอตกมารุ่นลูกๆต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน จะแบ่งเป็นส่วนๆเหมือนที่ดินก็ไม่ได้ จีงต้องผลัดกันเป็นเจ้าของเป็นผู้พาไปรับจ้าง เจ้าของทุกคนก็อยากได้เงินมาก ต่างก็ใช้งานช้างมาก ช้างก็เลยไม่มีวันหยุด
(สอง) ช้างที่ไปบริการภาคท่องเที่ยว ต้องจากเมืองหงสาไปอยู่เมืองท่องเที่ยว เช่นหลวงพระบาง ปากแบง ทำให้แหล่งอาหารไม่เพียงพอไม่อุดมสมบูรณ์
(สาม) การนำช้างออกจากเมืองแยกย้ายไปทำงานแหล่งต่างๆกัน ทำให้ช้างขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง สัญชาตญาณ การพึ่งพาการช่วยเหลือ และโอกาสในการสืบพันธุ์ของช้างลดลง ท้าวคำสี ผู้ช่วยขับรถของผมเคยมาบ่นให้ฟังว่าสงสารลูกช้างน้อยของเขาที่แม่ไม่ยอมให้กินนม แม่ช้างของเขาเป็นแม่หัวสาวหรือแม่มือใหม่ หล่อนไม่ยอมให้ลูกกินนม พอสามสี่วันถัดมาก็ตีหน้าเศร้ามาบอกว่าลูกช้างตายแล้ว ชงนมข้นให้กินอย่างไรก็ไม่รอด
กรณีการออกลูกการเลี้ยงลูกของช้างนี่ ผมเคยได้แอบดูแม่ช้างหัวสาวออกลูกที่ลำปางสมัยทำโครงการอนุรักษ์ช้างฯ เห็นการออกลูกของช้างเป็นเรื่องใหญ่พอๆกับของคนเราเลยทีเดียว เห็นโกลาหลกันทั้งฝูงมีแม่หมอตำแยช้างมีพี่เลี้ยงมาช่วยกันเบ่ง แต่แม่ช้างมือใหม่ที่บ้านหานต้องออกลูกเองเพียงลำพังคงสร้างความลำบากให้แก่แม่ช้างไม่น้อยเลยทีเดียว
การจัดงานช้างที่หงสาและไชยะบุรีเท่าที่ผ่านมา ถือว่ามีผลดีต่อช้างเลี้ยงของเมืองหงสาไม่น้อย ช้างจากที่ต่างๆจะกลับมาบ้าน ได้อยู่ด้วยกัน ได้พักผ่อนจากงานหนัก จะได้กิ๊กกันก็ในงานช้างนี่แหละ
เชิญมาเที่ยวงานช้างเมืองหงสา แขวงไชยะบุรีกันนะครับ
ปีนี้มาไม่ทัน มาปีหน้าก็ได้ครับ


น่อแล้วบือ

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 11 กุมภาพันธ 2010 เวลา 12:37 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1192

ภาษาลาววันละคำวันนี้ ขอเสนอ ภาษาของพี่น้องชาวม้ง หรือชาวลาวสูงครับ
“น่อ” แปลว่ากิน เช่น “น่อมอ” คือกินข้าว งานบุญกินเจียงหรือบุญขึ้นปีใหม่ เรียกว่า น่อเปเจา
ส่วน “บือ” แปลว่า นอน
เรื่องของเรื่องก็คือ เวลาที่เจ้านายพนักงานงานข้าราชการจากในเมืองไปลงพื้นที่ทำงานกับพี่น้องตามหมู่บ้าน ก็เอาแต่นั่งสั่งงาน ให้พี่น้องฆ่าเป็ดไก่มาเลี้ยง สั่งเอาเหล้าแรงๆมากิน กินอิ่มแล้วเมาแล้วก็นอนกลิ้งกันอยู่ตรงนั้น
พี่น้องชาวลาวสูงเขาเห็นแล้วจึงสั่งสอน เจ้าหมาที่เลี้ยงไว้ว่า
“เจ้าอย่าเฮดคือนาย ที่ น่อแล้วบือ”
หมายความว่า เจ้าอย่าทำตัวให้เหมือนพวกเจ้านาย ที่เอาแต่กินแล้วนอน
แควกๆๆๆ
เรื่องของพี่น้องชาวลาวสูงกับเจ้านายยังมีอีกเรื่องหนึ่ง
ว่ากันว่ามีอยู่วันหนึ่งเจ้านายขับรถไปทับหมาของพี่น้องตาย เจ้าของหมามาขอค่าชดเชย เจ้านายถามว่า “หมาของเจ้าเฮดอันใดได้แน” เจ้าของหมาตอบไปว่า “หมาเฮาเป็นหมาพราน แจ้งมาเฮาเกือข้าวแล้วกะพามันออกป่ามันไปไล่เอา ตัวแลน ตัวเหง็น ตัวฮอก ตัวหนู ตัวฟาน ตัวไก้(กระจง) มาให้เฮา” เจ้านายเลยบอกให้เจ้าของหมาตามไปเอาเงินที่ห้องทำงาน พี่น้องม้งอุตส่าห์เดินลงเขาเหงื่อไหลไคลย้อยมาเอาเงินค่าหมาในวันรุ่งขึ้น พอมาถึงเจ้านายตกลงจ่ายค่าหมาไปเจ็ดสิบพันกีบ แต่ก่อนกลับเจ้านายก็เรียกเจ้าของหมามาซักถามว่า “หมาเจ้าเคยได้ฟานจักโต” พี่น้องตอบไปว่า “หมาเฮาเคยได้ฟานตัวหนึ่ง ได้ไก้สี่ตัว” ครั้นเจ้านายได้ยินก็หยิบหนังสือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสัตว์ป่ามาเปิดอ่าน แล้วบอกพี่น้องม้งว่า “หมาเจ้ากัดสัตว์ป่าหวงห้าม เฮาจะไหมเจ้าตัวละซาวพันกีบ ทั้งหมดเป็นเงินหนึ่งแสนกีบเด้อ” สรุปแล้วพี่น้องเดินลงเขามาเหนื่อยฟรีๆ แถมยังเสียเงินค่าปรับมากกว่าที่ได้ค่าชดเชยหมาอีกต่างหาก
เดือนถัดมาเจ้านายท่านนั้นก็บังเอิญไปขับรถทับหมาอีกตัวของพี่น้องม้งผู้เคราะห์ร้ายคนเดิมเข้าอีก เจ้านายก็ลงจากรถมาบอกให้พี่น้องไปเอาเงินค่าหมาที่ห้องการเหมือนเดิม แต่คราวนี้พี่น้องส่ายหน้าบอกว่าบ่ไปแล้ว เพราะหมาตัวนี้มันบ่แม่นหมาพราน “มันเป็นหมาตัวที่เฮาเลี้ยงไว้อะนาไมอาจมของลูกเฮา”
“เจ้านายจ่ายเงินแทนบ่ได้ดอก เจ้านายเฮดหมาเฮาตาย เจ้านายต้องมากิน ขอ สระอี ไม้โท ของลุููกเฮาแทนหมา”
แควกๆๆๆ


เล่าเรื่องเมืองหงสา: “คนลี้กิ๋นนก คนผกกิ๋นฮอก”

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 6 กุมภาพันธ 2010 เวลา 8:58 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1310

เล่าเรื่องเมืองหงสา: “คนลี้กิ๋นนก คนผกกิ๋นฮอก”
โปรยหัวเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว จนคนรออ่านเลิกรอแล้วกระมัง
วันนี้ได้อ่านบันทึกพ่อครูบาฯ เรื่องมุมส่วนตัว ๒ คูณ ๔ เมตรของท่าน ทำให้เกิดแรงเหนี่ยวนำให้บรรเลงเรื่องนี้ต่อ
หากแปลตามตัวตรงๆ  “คนลี้กิ๋นนก คนผกกิ๋นฮอก” หมายถึง คนจำพวกที่แอบซุ่มตัว อำพรางไพร เพื่อจับนกจับกระรอกกิน
“ลี้” ในที่นี้หมายถึง การซุ่มดัก ซุ่มโป่ง เพื่อดักยิงสัตว์ป่า ไม่ได้หมายถึงคนอำเภอลี้จังหวัดลำพูน ที่คณะชาวเฮฯไปปลูกต้นไม้กันที่วัดพระบาทห้วยต้มแต่ประการใด
“ผก” เป็นคำลาว และคำเมืองของชาวยวน แปลว่า การแอบดู (ปกติจะใช้คู่กับคำว่า “ผ่อ” “ผกผ่อ ถึงจะแปลว่าแอบดู) การดักจับ เช่น ดักจับขโมยได้คาหนังคาเขา
“ฮอก” มาจากคำ กระรอก หมายรวมถึง สัตว์ป่าตัวเล็กตัวน้อยทั่วๆไป เช่นกระรอก กระแต หนู คนเมืองเรียกรวมๆว่า “ฮอก หนู ไหน่”
“คนลี้กิ๋นนก คนผกกิ๋นฮอก” ในที่นี้หมายถึง คนหลังเขา คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซอกหลีกห่างไกล คนที่พวกเราชาวเมืองคิดว่า พี่น้องเหล่านั้นด้อยพัฒนา หรือขาดการพัฒนาด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยี อันนี้ตามมาตรฐานความคิดของพวกเราเองนะ
ได้คำนี้ยินมาจากไหน ได้ยินจากปากของท่านข้าราชการผู้ใหญ่ของเมืองหงสาในกองประชุมคราวหนึ่ง ท่านกล่าวว่า “
โครงการน้ำเทิน๒น่ะ เขาย้ายคนจากป่ามาอยู่ใกล้เมือง คนเหล่านั้นเขาเป็นพวกลี้กินนกคนผกกินฮอก แค่ย้ายเขาเข้ามาอยู่เฮือนแน่นหนาฝาแอ้มไม้ เขาก็ดีใจแล้ว ไม่เหมือนกับโครงการเราที่ต้องย้ายคนจากในเมืองไปอยู่ใกล้ป่า คนของเฮาอยู่ในบ้านถี่ที่เต็ม มีทุ่งมีนา มีวัดวาอาราม หากย้ายเขาไปแล้วบ่เฮดให้ดีคือเก่า พวกเขาย่อมบ่พอใจ”
วิเคราะห์ตามคำของท่านผู้นี้ ผมก็เห็นด้วยในส่วนหนึ่ง พร้อมกับนึกชื่นชมยกย่องที่ท่านมีวิสัยทัศน์ยาวไกลกว่า หลายๆท่านที่มีตำแหน่งสูงกว่าด้วยซ้ำไป  ด้วยเหตุที่ว่าท่านไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบการพัฒนาของโครงการน้ำเทินนั่นเอง (จะว่าไปแล้ว จะตำหนิท่านๆที่ติดยึดกับน้ำเทินก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะขนาดองค์กรสากลชาติตะวันตก ธนาคารโลกอะไรเขาก็มายกย่องชื่นชม เอ็นจีโอหลายๆกลุ่มก็เคยถูกพาไปชมผลงานในส่วนที่นำมาโฆษณากันหลายสิบคันรถบัส)
ผมเห็นพ้อง และชมเชย ท่านในแง่ที่ว่า ท่านเห็นในความแตกต่างของประชาชน ในแง่ของการพัฒนาที่ต้องขึ้นกับพื้น ฐานความแตกต่างและความต้องการของประชาชน
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ งานฟื้นฟูวิถีชีวิตของพี่น้องที่หงสานี่ จึงเป็นงานที่ต้องวางเดิมพันไว้สูงมากๆสำหรับตนทำงาน

ทีนี้ลองเปลี่ยนประเด็นมาคิดกันเรื่องกันในบริบทของ “คนลี้กินนก…”กันต่ออีกสักหน่อย
สำหรับประเด็นนี้ ผมเองกลับคิดในมุมที่ต่างออกไป ผมว่าเราไม่ควรมองจากฝ่ายเราแล้วไปตัดสินว่า คนที่อยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาธรรมชาติอย่างสมถะอย่างนั้น เป็นกลุ่มคนที่ล้าหลัง
พวกคนเหล่านั้นเขาอาจมีความสุขมากกว่าที่จะพาเขามาอยู่ในโลกที่ศิวิไลซ์ ตามที่เราตั้งมาตรฐาน โลกที่ต้องซื้อทุกอย่าง โลกที่มอมเมากันด้วยสิ่งฟุ้งเฟ้อ ต้องจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบัตรโทรศัพท์
เป็นไปได้ไหมที่จะปล่อยให้พี่น้องบ้านป่า อยู่กับป่าอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย
เพียงแต่พวกเราคนเมือง คนต่างถิ่นทั้งปวง อย่าได้ไปบุกรุก อย่าได้ไปเบียดเบียนพื้นที่อยู่ที่หากินของพี่น้องบ้านป่า แค่นั้นก็พอ
ที่หงสานี่ มีโครงการเงินช่วยเปล่าจากนานาชาติ มาทิ้งเงินจำนวนไม่รู้เท่าไหร่ ในการมาชวนพี่น้องชนเผ่าหันมาปลูกไม้ผลกัน มีหลักฐานการมอบกล้าไม้ให้ชาวบ้านนับล้านต้น ห้าปีให้หลังเมื่อกลับไปดู กลายเป็นป่าหญ้าคารกร้าง มองไม่เห็นต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว
ผมละเหนื่อยใจ กลัวใจจริงๆ



Main: 0.85298490524292 sec
Sidebar: 0.12749695777893 sec