เล่าเรื่องเมืองหงสา: “คนลี้กิ๋นนก คนผกกิ๋นฮอก”
เล่าเรื่องเมืองหงสา: “คนลี้กิ๋นนก คนผกกิ๋นฮอก”
โปรยหัวเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว จนคนรออ่านเลิกรอแล้วกระมัง
วันนี้ได้อ่านบันทึกพ่อครูบาฯ เรื่องมุมส่วนตัว ๒ คูณ ๔ เมตรของท่าน ทำให้เกิดแรงเหนี่ยวนำให้บรรเลงเรื่องนี้ต่อ
หากแปลตามตัวตรงๆ “คนลี้กิ๋นนก คนผกกิ๋นฮอก” หมายถึง คนจำพวกที่แอบซุ่มตัว อำพรางไพร เพื่อจับนกจับกระรอกกิน
“ลี้” ในที่นี้หมายถึง การซุ่มดัก ซุ่มโป่ง เพื่อดักยิงสัตว์ป่า ไม่ได้หมายถึงคนอำเภอลี้จังหวัดลำพูน ที่คณะชาวเฮฯไปปลูกต้นไม้กันที่วัดพระบาทห้วยต้มแต่ประการใด
“ผก” เป็นคำลาว และคำเมืองของชาวยวน แปลว่า การแอบดู (ปกติจะใช้คู่กับคำว่า “ผ่อ” “ผกผ่อ ถึงจะแปลว่าแอบดู) การดักจับ เช่น ดักจับขโมยได้คาหนังคาเขา
“ฮอก” มาจากคำ กระรอก หมายรวมถึง สัตว์ป่าตัวเล็กตัวน้อยทั่วๆไป เช่นกระรอก กระแต หนู คนเมืองเรียกรวมๆว่า “ฮอก หนู ไหน่”
“คนลี้กิ๋นนก คนผกกิ๋นฮอก” ในที่นี้หมายถึง คนหลังเขา คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซอกหลีกห่างไกล คนที่พวกเราชาวเมืองคิดว่า พี่น้องเหล่านั้นด้อยพัฒนา หรือขาดการพัฒนาด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยี อันนี้ตามมาตรฐานความคิดของพวกเราเองนะ
ได้คำนี้ยินมาจากไหน ได้ยินจากปากของท่านข้าราชการผู้ใหญ่ของเมืองหงสาในกองประชุมคราวหนึ่ง ท่านกล่าวว่า “
โครงการน้ำเทิน๒น่ะ เขาย้ายคนจากป่ามาอยู่ใกล้เมือง คนเหล่านั้นเขาเป็นพวกลี้กินนกคนผกกินฮอก แค่ย้ายเขาเข้ามาอยู่เฮือนแน่นหนาฝาแอ้มไม้ เขาก็ดีใจแล้ว ไม่เหมือนกับโครงการเราที่ต้องย้ายคนจากในเมืองไปอยู่ใกล้ป่า คนของเฮาอยู่ในบ้านถี่ที่เต็ม มีทุ่งมีนา มีวัดวาอาราม หากย้ายเขาไปแล้วบ่เฮดให้ดีคือเก่า พวกเขาย่อมบ่พอใจ”
วิเคราะห์ตามคำของท่านผู้นี้ ผมก็เห็นด้วยในส่วนหนึ่ง พร้อมกับนึกชื่นชมยกย่องที่ท่านมีวิสัยทัศน์ยาวไกลกว่า หลายๆท่านที่มีตำแหน่งสูงกว่าด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุที่ว่าท่านไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบการพัฒนาของโครงการน้ำเทินนั่นเอง (จะว่าไปแล้ว จะตำหนิท่านๆที่ติดยึดกับน้ำเทินก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะขนาดองค์กรสากลชาติตะวันตก ธนาคารโลกอะไรเขาก็มายกย่องชื่นชม เอ็นจีโอหลายๆกลุ่มก็เคยถูกพาไปชมผลงานในส่วนที่นำมาโฆษณากันหลายสิบคันรถบัส)
ผมเห็นพ้อง และชมเชย ท่านในแง่ที่ว่า ท่านเห็นในความแตกต่างของประชาชน ในแง่ของการพัฒนาที่ต้องขึ้นกับพื้น ฐานความแตกต่างและความต้องการของประชาชน
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ งานฟื้นฟูวิถีชีวิตของพี่น้องที่หงสานี่ จึงเป็นงานที่ต้องวางเดิมพันไว้สูงมากๆสำหรับตนทำงาน
ทีนี้ลองเปลี่ยนประเด็นมาคิดกันเรื่องกันในบริบทของ “คนลี้กินนก…”กันต่ออีกสักหน่อย
สำหรับประเด็นนี้ ผมเองกลับคิดในมุมที่ต่างออกไป ผมว่าเราไม่ควรมองจากฝ่ายเราแล้วไปตัดสินว่า คนที่อยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาธรรมชาติอย่างสมถะอย่างนั้น เป็นกลุ่มคนที่ล้าหลัง
พวกคนเหล่านั้นเขาอาจมีความสุขมากกว่าที่จะพาเขามาอยู่ในโลกที่ศิวิไลซ์ ตามที่เราตั้งมาตรฐาน โลกที่ต้องซื้อทุกอย่าง โลกที่มอมเมากันด้วยสิ่งฟุ้งเฟ้อ ต้องจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบัตรโทรศัพท์
เป็นไปได้ไหมที่จะปล่อยให้พี่น้องบ้านป่า อยู่กับป่าอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย
เพียงแต่พวกเราคนเมือง คนต่างถิ่นทั้งปวง อย่าได้ไปบุกรุก อย่าได้ไปเบียดเบียนพื้นที่อยู่ที่หากินของพี่น้องบ้านป่า แค่นั้นก็พอ
ที่หงสานี่ มีโครงการเงินช่วยเปล่าจากนานาชาติ มาทิ้งเงินจำนวนไม่รู้เท่าไหร่ ในการมาชวนพี่น้องชนเผ่าหันมาปลูกไม้ผลกัน มีหลักฐานการมอบกล้าไม้ให้ชาวบ้านนับล้านต้น ห้าปีให้หลังเมื่อกลับไปดู กลายเป็นป่าหญ้าคารกร้าง มองไม่เห็นต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว
ผมละเหนื่อยใจ กลัวใจจริงๆ
2 ความคิดเห็น
แล้วทั้งนก ทั้งฮอก กินอะไรดีครับ แต่คงมีกินล่ะ ไม่อย่างนั้นคนลี้ คนผกก็ต้องไปกินอย่างอื่น นะลุงนะ
ตอนนี้นอกจากห่วงโซ่อาหารแล้ว ยังมีเรื่องห่วงโซ่พลังงาน ห่วงโซ่น้ำ(เทิน) ห่วงโซ่การศึกษาอีก จะทำอะไรก็ทำ แต่อย่างทำอย่างเมืองไทยก็แล้วกัน เพราะมันจะไม่ไปไหน
บางครั้ง เราคิดว่าจะนำความเจริญไปสู่เขา เป็นการคิดแทนชาวบ้านเหมือนที่เขาบอกจริงๆ คงเหมือนกับหลาย ๆ โครงการในเมืองไทย ที่คิดแทนชาวบ้าน แต่ชาวบ้านจริง ๆ เขาอาจไม่ได้ต้องการอย่างที่คนให้คิดก็ได้เนาะค่ะ สุดท้ายก็เหมือนโยนหินลงน้ำไป แล้วกระเพื่อมนิดหน่อยก็หายไปเหมือนเดิม อิอิ