เชิญเที่ยว “บุญมะโหลาน” งานช้างที่หงสา
เมืองหงสา แขวงไชยบุรี สปป ลาว เป็นเมืองที่นักพัฒนาหลายชาติหลายสาขารวมหัวกันคิดวางแผนการอนุรักษ์พัฒนาให้เป็นเมืองแห่ง 7 E ก็มี Eco-tour Elephant Environment แล้วก็มีอีอะไรอีกสี่อี จำไม่ได้แล้ว
วันนี้จะเล่าถึง อีลาฟ็อง พูดทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศสที่พี่น้องหงสาหลายคนยังติดปากมากกว่าภาษาอังกฤษครับ
เมืองหงสา เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีช้างเลี้ยงจำนวนมากมาย สมัยก่อนมีมากถึงพันกว่าตัว ตอนนี้แม้ว่าจะลอจำนวนลงบ้างแต่ก็ยังถือว่ามีมากที่สุดในประดาหัวเมืองภาคเหนือของลาว
งานช้างที่หงสาริเริ่มเมื่อสี่ปีก่อน (ปี 2007) โดยสมาคมนักอนุรักษ์ช้างจากยุโรปร่วมกับทางแขวงไชยบุรี ในปี 2008 ย้ายไปจัดที่เมืองปากลายด้วยเหตุผลว่าอยู่ใกล้เวียงจันทน์เดินทางสะดวก ปี 2009 ย้ายมาจัดที่ตัวแขวงไชยบุรี และปีนี้ 2010 เวียนกลับมาจัดงานที่เมืองหงสาอีกครั้ง
ดูตารางและแผนผังการจัดงานของปีนี้ สรุปได้เบื้องต้นดังนี้
สถานที่จัดงาน อยู่ที่บ้านเวียงแก้ว ห่างจากตัวเมืองหงสาราวสี่ กม. บ้านเวียงแก้วเป็นหมู่บ้านชาวลื้อและได้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านแรกของเมือง
องค์ประกอบของงานก็มี การแสดงของช้างในวันที่ ๒๐ และ ๒๑ กุมภา มีมหกรรมขายสินค้าลาวเทค (เหมือนตลาดนัดบ้านเรา) และมีบูธแสดงจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมสินค้าโอทอปของสิบเจ็ดหัวเมืองภาคเหนือด้วยครับ เขาเริ่มมาตั้งร้านกันตั้งแต่วันที่สิบห้าแล้วนะครับ
เรื่องที่พักเท่าที่ทราบ ตอนนี้โรงแรมเรือนพักทุกแห่งล้นแล้วครับ ยกเว้นส่วนที่เป็นโฮมสเตย์นอนกับชาวบ้านที่เวียงแก้วและหมู่บ้านใกล้เคียงยังมีอยู่ ตามใบปลิวเขามีเวปไซด์ให้คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ http://festivalelefantasia.org สำรองที่พักที่ home...@elefantasia.org ถือว่าพักกับชาวบ้านกระจายรายได้สู่ชาวบ้านครับ
ขอเล่าถึงการเดินทางเข้าหงสาครับ
๑ หากเข้าทางด่านน้ำเงิน อ.เฉลิมพระเกรียติ ขึ้นรถทัวร์มาลงที่ทุ่งช้าง จากทุ่งช้างต่อรถบัสประจำทางมาที่บ้านปอน จากนั้นวัดดวงว่าจะมีรถโดยสารมาชายแดนห้วยโกร๋นหรือไม่หากไม่มีก็เหมามาในราคา ๖๐๐บาท จากด่านชายแดนไทยเดินมาด่านลาวประมาณ ๑ กม. อย่าเอาของมามากนะครับเดี๋ยวแบกไม่ไหว ที่ด่านลาวหลังจากเข้าด่านแล้ววัดดวงต่อว่าจะมีรถไปที่สามแยกเมืองเงินหรือไม่ หากไม่มีก็เดินต่ออีกสองสามกม. (วันงานผมจะแนะนำอ้ายน้องให้จัดมอเตอร์ไซด์รับจ้างท่าจะดี) ที่สามแยกเมืองเงินก็รอต่อรถโดยสารเข้าเมืองหงสาอีกประมาณ ๓๕ กม.ครับ คิดว่าวันงานน่าจะมีรถวิ่งอยู่หลายเที่ยว เป็นรถสองแถวนะครับเตรียมผ้าปิดจมูกกันฝุ่นมาด้วย ส่วนผมไม่ต้องโกรกสีมานะครับ เดี๋ยวเส้นทางนี้จะเปลี่ยนสีให้เอง
๒ สำหรับผู้ที่มีพาสปอร์ตและมีเวลาหลายวันผมแนะนำให้ใช้เส้นทางนี้ครับ
นั่งรถทัวร์มาลงเชียงแสน เอหรือเชียงของ (จำไม่ได้แล้ว สับสน) เพื่อข้ามไปยังเมืองห้วยทรายแขวงบ่แก้ว จากนั้นนั่งเรือสำราญลำใหญ่ล่องชมทิวทัศน์สองฝั่งโขงจากเช้าจดเย็น มีฝรั่งเต็มลำเลยครับ เรือแวะนอนพักค้างคืนที่เมืองปากแบง รุ่งเช้าแปดโมงกว่าๆเดินทางต่อประมาณสิบเอ็ดโมงเรือมาถึงท่าช่วงขึ้นจากเรือตรงนี้ครับ แล้วก็นั่งรอคิวรถออกไปเมืองหงสา สามสิบกว่ากม. แต่รถเขาจะรอจนถึงห้าโมงเย็นถึงจะออกนะครับ รอรอรอไปก่อน รอไม่ไหวก็เหมามาสองพันบาท แพงไปนะผมว่า
๓ หรือสำหรับผู้ที่จะมาแวะเที่ยวหลวงพระบางก่อน หลังจากนั้นก็ขึ้นเรือสำราญแบบเดียวกันกับ #๒ข้างบน เรือออกจากท่าแปดโมงเช้า ทวนน้ำมาถึงท่าช่วงราวห้าโมงเย็น อย่าลืมห่อข้าวมาทานบนเรือด้วยครับ จากนั้นก็ขึ้นรถคิวต่อมาเมืองหงสา ขาขึ้นนี้ไม่ต้องรอรถนานครับพอเรือเทียบท่ารถก็วิ่งไปรับแล้วก็ออกเลย
ว่าด้วยช้างเมืองหงสา
ช้างเมืองหงสาเคยเป็นเพื่อนเป็นสัตว์เลี้ยงคู่เรือนที่ช่วยเหลือแรงงานให้ตามความจำเป็นมาช้านาน ในสมัยก่อนเล่ากันว่าชาวหงสาใช้ช้างไถนา (มีการขุดพบไถโบราณยาวเกือบเมตรที่ต้องใช้ช้างเท่านั้นถึงจะลากได้ที่หงสาด้วย) ใช้ช้างขนข้าวจากสวนเข้าบ้าน ใช้ช้างบรรทุกเกลือมาขาย เป็นต้น นอกจากนี้ช้างยังเป็นสิ่งแสดงฐานะของคนรวย ต่อมาเมื่อโลกภายนอกมาช่วยเมืองลาวใช้สอยไม้ซุงจากป่า อุตสาหกรรมการทำไม้โดยนายทุนทั้งในลาวเอง และจากต่างชาติต่างเข้ามาดำเนินกิจการในหัวเมืองลาวทางเหนือ ช้างของชาวหงสาก็รับบทบาทหนักในการชักลากไม้ มาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันจำนวนช้างบ้านของเมืองหงสาลดลงอย่างรวดเร็ว หลายคนที่มีช้างก็ขายช้างไปซื้อรถยนต์มารับจ้างแทน ช้างที่มีอยู่ก็ถูกจ้างไปทำไม้ในที่ต่างๆทั่วภาคเหนือของลาว ทำรายได้ให้กับเจ้าของเป็นกอบเป็นกำ มีช้างบ้านหลายตัวได้ถูกเช่าเข้าไปให้บริการในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว งานนี้ก็สร้างรายได้ให้กับเจ้าของจำนวนสูงเหมือนกัน
ปัญหาของช้างเมืองหงสาที่มองเห็นทุกวันนี้ สืบเนื่องจากบทบาทหน้าที่ของช้างที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวข้างต้น และสืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสังคมของเจ้าของช้าง ทำให้มองเห็นความทุกข์ของบรรดาช้างอยู่สองสามประการคือ
(หนึ่ง) ช้างทำงานหนักมากขึ้น เพราะการไปรับจ้างทำไม้ในป่าต้องทำงานชักลากทุกๆวัน ช้างบางตัวเป็นช้าง “มูลมรดก” คือเป็นช้างของคนรุ่นพ่อแม่ที่เสียชีวิตลง พอตกมารุ่นลูกๆต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน จะแบ่งเป็นส่วนๆเหมือนที่ดินก็ไม่ได้ จีงต้องผลัดกันเป็นเจ้าของเป็นผู้พาไปรับจ้าง เจ้าของทุกคนก็อยากได้เงินมาก ต่างก็ใช้งานช้างมาก ช้างก็เลยไม่มีวันหยุด
(สอง) ช้างที่ไปบริการภาคท่องเที่ยว ต้องจากเมืองหงสาไปอยู่เมืองท่องเที่ยว เช่นหลวงพระบาง ปากแบง ทำให้แหล่งอาหารไม่เพียงพอไม่อุดมสมบูรณ์
(สาม) การนำช้างออกจากเมืองแยกย้ายไปทำงานแหล่งต่างๆกัน ทำให้ช้างขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง สัญชาตญาณ การพึ่งพาการช่วยเหลือ และโอกาสในการสืบพันธุ์ของช้างลดลง ท้าวคำสี ผู้ช่วยขับรถของผมเคยมาบ่นให้ฟังว่าสงสารลูกช้างน้อยของเขาที่แม่ไม่ยอมให้กินนม แม่ช้างของเขาเป็นแม่หัวสาวหรือแม่มือใหม่ หล่อนไม่ยอมให้ลูกกินนม พอสามสี่วันถัดมาก็ตีหน้าเศร้ามาบอกว่าลูกช้างตายแล้ว ชงนมข้นให้กินอย่างไรก็ไม่รอด
กรณีการออกลูกการเลี้ยงลูกของช้างนี่ ผมเคยได้แอบดูแม่ช้างหัวสาวออกลูกที่ลำปางสมัยทำโครงการอนุรักษ์ช้างฯ เห็นการออกลูกของช้างเป็นเรื่องใหญ่พอๆกับของคนเราเลยทีเดียว เห็นโกลาหลกันทั้งฝูงมีแม่หมอตำแยช้างมีพี่เลี้ยงมาช่วยกันเบ่ง แต่แม่ช้างมือใหม่ที่บ้านหานต้องออกลูกเองเพียงลำพังคงสร้างความลำบากให้แก่แม่ช้างไม่น้อยเลยทีเดียว
การจัดงานช้างที่หงสาและไชยะบุรีเท่าที่ผ่านมา ถือว่ามีผลดีต่อช้างเลี้ยงของเมืองหงสาไม่น้อย ช้างจากที่ต่างๆจะกลับมาบ้าน ได้อยู่ด้วยกัน ได้พักผ่อนจากงานหนัก จะได้กิ๊กกันก็ในงานช้างนี่แหละ
เชิญมาเที่ยวงานช้างเมืองหงสา แขวงไชยะบุรีกันนะครับ
ปีนี้มาไม่ทัน มาปีหน้าก็ได้ครับ
Next : บุนมะโหลาน งานช้างเมืองหงสา » »
1 ความคิดเห็น
ความรู้ใหม่ ลาวก็จัดงานช้างเมี๊ยนกัน
วันหลังลองแนะนำให้จัด ช้างว่ายน้ำแข่งกัน เหมือนที่บุรีรัมย์ก็ดีนะครับ