อื่อข่า อื่อไปร
อ่าน: 1684วันก่อนไปร่วมตั้งกองประชุมกับพี่น้องชาวบ้าน ร่วมกับคณะปกครองของเมืองหงสา
ทางนี้เรียกว่า “ลงเฮดเวียกแนวคิด” หากเป็นทางสากลหน่อยเขาก็เรียก Public Consultation
ตามขั้นตอนของการประชุม ต้องเริ่มที่การกล่าวรายงานจุดประสงค์ของการประชุมโดยผู้ประสานงานโครงการที่เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งจากศูนย์กลาง
ตามมาด้วยคิวของผมที่นำเสนอรายละเอียด แล้วก็เลยเป็นฟาร์กระตุ้นให้ที่ประชุมแสดงความคิดเห็น แล้วก็รับหน้าที่ตอบคำถามจากที่ประชุม
จากนั้นเมื่อถึงตอนก่อนจบการประชุม ก็เป็นการประกอบความคิดเห็นจากข้าราชการผู้ใหญ่ของเมือง วันนี้มีคำพูดที่น่าสนใจอยู่คำหนึ่งคือ “อย่าอื่อข่าอื่อไปร”
ความหมายของคำ “อื่อ” เป็นคำขานรับในเชิงเห็นด้วย แบบ agree with เทียบกับคำบ้านเราจำพวกคำ เออ อือ ครับ ขอรับ ส่วนทางคนเมืองภาคเหนือและคนลาวใช้คำ “เจ้า”เหมือนกันแต่ผิดกันที่คนเมืองจะ “เจ้า”เฉพาะผู้หญิง แต่ที่ลาวนี่ “เจ้า”กันทั้งหญิงทั้งชาย
ข่า หมายถึง ชาวข่า เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาในกลุ่มมอญเขมร แบ่งเป็นหลายกลุ่มย่อย เช่น ข่ามุ(กิมมุ) ข่าโส้ ข่าตะโอย ข่าเมต ข่าฮอก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยในภูมิภาคนี้ก่อนที่คนกลุ่มที่พูดภาษา ไท จะมาอาศัยอยู่ร่วมดินแดนเดียวกัน ในหนังสือ ๓๐ชาติพันธุ์ในเชียงรายของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ท่านว่า ชาวข่าคือกลุ่มชาวเขาที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากจีน ส่วนกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากจีนนั้นท่านเรียก ชาวแข่ ปัจจุบันในลาวเรียกพี่น้องชาวข่าว่าเป็นกลุ่ม ลาวเทิงนั่นเอง
ไปร หรือไพร แปลว่าป่า ในที่นี้หมายถึง ชาวไปร หรือที่บ้านเราเรียก ชาวลั๊วะ
อื่อข่า อื่อไปร หมายถึง การรับปากรับคำของชาวข่า ชาวไปรนั่นเอง
ความหมายหรือนัยยะของคำ เป็นเชิงดูแคลน หรือเชิงลบต่อพี่น้องชาวข่า ชาวไปร แบบกรายๆ
เป็นคำพูดในหมู่ชาวลาวลุ่ม หรือชาวเมืองที่พัฒนาแล้ว เช่นในที่ประชุม ท่านรองเจ้าเมืองพูดกับชาวบ้านว่า “รับปากแล้ว อย่าให้เหมือนอื่อข่า อื่อไปรเด้อ”
เพื่อนฝูงคนลาวลุ่มที่ทำงานพัฒนาชนบทห่างไกลในชุมชนชาวข่า ชาวไปร เล่าให้ฟังว่า
หากในที่ประชุมชาวข่า กิจกรรมใดที่พี่น้องตกปากรับคำว่า “อื่อ” นั้น กลับไปติดตามผลภายหลัง ไม่เห็นมีพี่น้องชาวข่าคนไหนรายใดปฏิบัติตามแม้แต่คนเดียว ครั้นพอถามว่า วันก่อนถามทำไมรับคำ พี่ท่านก็ตอบว่า “ก็วันนั้นเจ้านายมาบอกมาสั่ง ไม่รู้จะทำไงก็ อื่อไปให้แล้วๆ
เรื่องนี้ผมกลับมองว่า การพัฒนาชุมชนต้องให้เจ้าของพื้นที่ หรือผู้ที่เราจะเข้าไปทำงานด้วยนั้นเห็นพร้อมยินดีจากใจจริงๆ ไม่ใช่ใช้อำนาจจากขั้นเทิงหรือเบื้องบนมาสั่งการ หาไม่แล้วหากขั้นเทิงท่านกลับ ก็เหมือนกับเอาโครงการกลับไปด้วย
เขายังเล่าต่อ ในกรณีของพี่น้องชาวไปร หากงานใดที่พี่น้องขานรับว่า อื่อ แปลว่าพี่น้องรับฟังเฉยๆแต่จะไม่ทำตาม แต่หากงานใดที่พี่น้องขานรับว่า “แอ๊ะ” แล้วละก็งานนั้นพี่น้องเชื่อฟังและทำตามอย่างสุดตัว
ในกรณีนี้ แปลว่า เราต้องเข้าใจภาษาของพี่น้องให้ถ่องแท้ ไม่ใช่ใช้การตีความโดยภาษาของเราเอง
สำหรับผมแล้ว อื่อข่า อื่อไปร ไม่ได้มีความหมายในเชิงดูแคลนพี่น้องทั้งสองชาวนั้นอย่างแน่นอน หากแต่ตีความหมายว่า งานพัฒนาชุมชน ต้องมีการสื่อสารกันอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น การที่คิดว่าจะเข้าไปช่วยให้คนอื่นดีขึ้นตามมาตรฐานของเรานั้น ต้องเข้าใจพี่น้องให้ปรุโปร่ง ต้องไม่คิดเอาเองจากฝ่ายเราแต่ฝ่ายเดียว