To Do Tag

6 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2009 เวลา 12:32 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1607

ได้รับ tag จากพี่บางทราย เลยจัด to do ชนิดที่ผู้ tag ต้องถูกใจมอบให้เป็นการบูชาครู เพราะพี่เขาเป็น “ครู” ด้านการศึกษา พัฒนาสังคมของผมนั่นเอง งานเขียนด้านสังคมจึงเป็นสิ่งที่อยากนำมาถ่ายทอด สิ่งที่จะทำคือการเขียน
“ไพรัชนิยายวัฒนาการทางสังคมของเมืองหาน”
“ชื่อเรื่อง เมืองหาน….ธาตุม่าน…ผ่านกาลเวลา”
เกริ่นนำ
บ่าย ๓ โมงของวันหนึ่งในฤดูเก็บเกี่ยว ที่วัดธาตุบ้านเมืองหาน ผมนั่งประชุมปรึกษาหารือท่ามกลางหมู่พี่น้อง ระหว่างช่องว่างของการสนทนาเสียงกระดิ่งกังวานใสจากยอดพระธาตุสอดแทรกเข้ามากระทบโสต ทำให้นึกถึงครั้งที่ได้มาศึกษาข้อมูลชุมชนอย่างมีส่วนร่วม (PRA) เมื่อปีก่อน ครั้งนั้นได้ซักถามถึงประวัติการก่อตั้งชุมชนบ้านหาน ได้ทราบว่าบ้านหานก่อตั้งขึ้นเป็นบ้านเป็นเมืองจากการที่ชาวบ้านมาหาเครื่องป่าของดง แล้วมาได้ยินเสียงกังสดาลจากยอดพระธาตุร้างแห่งนี้ จึงชักชวนกันมาตั้งบ้านเรือนอยู่รอบพระธาตุ
เสียงส่ายใบของใบโพธิ์บนต้นขนาดแปดคนโอบยามลมพัดต้อง ดังราวกับเสียงงึมงำของผู้เฒ่าบอกเล่าความหลังกับเหตุการณ์ที่ต้นโพธิ์โบราณได้ผ่านพบ สอดประสานกับเสียงกังสดาลกังวานใสเหมือนกับจะเป็นลูกคู่คอยขานรับคำบอกเล่า น่าเสียดายที่รหัสลับจากเสียงใบโพธิ์ยากยิ่งที่มนุษย์จะเข้าใจ น่าเสียดายหากเรื่องราวจะลางเลือนไปกับสายลมที่พัดผ่าน สายลมที่ผ่านไปอย่างไร้ร่องรอย
อย่ากระนั้นเลย ทุกสิ่งย่อมมีเหตุ ทุกสิ่งต้องมีความผูกพัน อาจเป็นได้ที่ตัวเรามีสัญญาผูกพันกับที่แห่งนี้มาแต่หนใดภพหนึ่ง อาจบางทีตัวเราอาจมีภารกิจที่ “ต้อง”มาถ่ายทอด (หรืออาจเป็นเพียงความเพ้อฝัน บ้าจินตนาการหลุดโลกของตัวเรา) กระไหนเลย ข้าพเจ้าจะขอหาญอาสา เจ้าของเรื่องราวของบ้านหาน ลองร่ายอักษรสักหลายบท เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่ท่านอยากบอกเล่าสู่ลูกหลาน โดยจะอาศัยภูมิปัญญาที่ผ่านการสั่งสมมาค่อนชีวิตหลายสาขาวิชาที่ได้เพียรเขียนอ่าน บวกกับการทำงานของสมองซีกจินตนาการ
หากเรื่องราวที่ข้าพเจ้าถ่ายทอดมีความถูกต้องแม่นยำแม้เพียงเท่าหนึ่งเมล็ดงาในกระชุใหญ่ ขออุทิศคุณความดีให้ครูบาอาจารย์ ตำรับตำราที่ได้ประสิทธิ์ความรู้ให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่หากจินตภาพของข้าพเจ้าผิดเพี้ยนแต่ยังอวดดีนำมาถ่ายทอดแบบผิดๆ กราบขออภัยเจ้าของเรื่องราวในอดีตอย่างเป็นที่สุด ขอให้ถือเสียว่าข้าพเจ้าได้แต่งไพรัชนิยายขึ้นเรื่องหนึ่งโดยอาศัยฉากท้องเรื่องของบ้านหาน
ขอกำลัง ปัญญา และเวลา จงมีแก่ข้าพเจ้าเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่คิดฝันได้อย่างสมบูรณ์
พล๊อตเรื่องจึงเริ่มปรากฏลางๆในความคิด โดยจะอาศัยข้อมูลจากพงศาวดารล้านช้าง พงศาวดารล้านนาเท่าที่จำได้ลางๆในสมอง(หนังสือไม่ได้อยู่ใกล้ตัวแล้ว) ร่วมกับข้อมูลประวัติศาสตร์ปากเปล่าจากกลุ่มผู้อาวุโสที่กรุณาบอกเล่าให้ฟังในคราวที่ทำ PRA (ครั้งนั้นท่านพี่บางทรายได้มาช่วยสอนอ้ายน้องลาวทำ พีอาร์เอด้วย) ตั้งใจจะเริ่มจินตนาการตั้งแต่ยุคสมัยที่เผ่า “ไท-ลาว”เริ่มสร้างอาณาจักร ผลของศึกสงครามระหว่างนครรัฐ การล่มสลายของเมือง การฟื้นตัวของบ้านหาน บ้านหานกับเรื่องที่พบผ่านในรศ. ๑๑๐ บ้านหานในยุคที่ขึ้นกับจังหวัดล้านช้างของ “สหรัฐไทย” บ้านหานเมื่อผ่านการต่อสู้กับจักรวรรดิ การต่อสู้ระหว่างระบบราชอาณาจักรกับระบอบใหม่    บ้าน หานยุคสังคมนิยมประชาธิปไตย และการเปลี่ยนแปลงตามกระแสตะวันตกในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเกษตร หรือด้านสังคม รวมถึงแนวโน้มที่บ้านเมืองหานจะเป็นไปจะเผิชญในอนาคต
ตั้งใจจะสอดแทรกความจริง ข้อเท็จจริงในเรื่องเล่า แต่ไม่ต้องการให้นำไปอ้างอิงหรือใช้เป็นเอกสารอ้างอิง จึงแต่งเป็นนิยาย เรื่องราวที่จะเขียนมีประมาณนี้
๐ ปฐมบท หุบเขาแห่งควันไฟ ภูไฟไหม้ เจ้าฟ้าเงี้ยว เจ้าหูด เมืองเลือก
๑ เมืองเลือกกับเจ้าฟ้างุ้มมหาราช การล่มสลายจากศึกม่าน
๒ ชาวบ้านน้ำแหล้มาหาหวายเจอธาตุเก่า ย้ายมาตั้งบ้าน ชาวไทย้อจากทางเหนืออพยพลงมาสมทบ
๓ บ้านหานช่วงเจ้าเมืองเงินมีสองคน บ้านหานช่วงไทยปกครอง
๔ บ้านหานระบอบเก่า บ้านหานยุคต่อสู้จักรวรรดิตะวันตก
๕ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายราชอาณาจักรกับฝ่ายระบอบใหม่ และเรื่องราวของไทเหมา(เซตุง)
๖ บ้านหานระบอบใหม่
๖.๑ การยกเลิกประเพณีเก่า ผีเจ้านาย ม้าทรง
๖.๒ การพัฒนาการทางสังคม
๖.๓ การพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
๖.๔ พูไฟ
๗ การล่มสลายของสังคมเกษตรกรรมบ้านหาน
๘ บ้านหานโฉมใหม่ในจินตนาการ
หมายเหตุ “ไพรัชนิยาย” ไม่ทราบความหมายว่าเป็นนิยายประเภทไหน แต่เคยอ่านเรื่องราวของคน “ไท” จากนิยายหลายๆเรื่องของนักเขียนท่านหนึ่ง “ลพบุรี” ท่านอาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ที่เคยติดนิยายอิงพงศาวดารของท่านอย่างงอมแงม จำชื่อนิยายที่ท่านแต่งได้ลางๆ เช่น ทหารดาบเชียงรุ้ง เศวตฉัตรน่านเจ้า หมื่นด้งนคร เป็นต้น เลยกราบขออนุญาตนำแนวทางเขียนมาลอกเลียน (โดยไม่คิดเทียบรุ่นหรือคิดจะทำได้ดีเท่าท่านแม้แต่นิดเดียว)
กำหนดแล้วเสร็จ ไม่อาจกำหนดเวลาได้ แต่จะพยายามให้เสร็จโดยเร็ว (เพราะชีวิตคนมันสั้นนัก) แต่สัญญาว่าจะเขียนให้จบ ไม่มั่นใจว่าจะเขียนออกมาเป็นนิยายได้หรือไม่ อาจออกมาเป็นบทความหรืองานวิจัยทางสังคมก็ได้ แต่อย่างไรก็จะเขียนให้จบครบกระบวนความหัวข้อที่ประมาณไว้ข้างบน

Tag
ใครดีเอ่ย
Tag คนใกล้เคียง (ในหนังสือ จปฝ๒) คือองค์ที่๑๒ “นักการหนิง” ขอรับ โปรดรับไป
Tag ที่สอง ตอนนี้คิดถึงใครดีเอ่ย คิดถึงพี่สาวทั้งสามคนในลานปัญญา ที่ได้อ่าน “เป้าหลอมตัวตนฯ” ฉบับ “ไม่เผยแพร่” ในนั้นมีเรื่องราวของ “เธอ”คนนั้นตั้งแต่เริ่มสบตากัน อิ อิ พี่สาวคนหนึ่งก็คอยดูแลห่วงใยร่างกายที่เจ็บป่วย พี่สาวอีกคนก็คอยเชียร์เรื่อง “หัวใจ” แต่สองรายนี้จะไม่ Tag
Tag ที่ ๒ มอบให้พี่สาวเจ้าของลาน “มณีแดง” เห็นบล็อกร้างมานาน ป้าแดงครับโปรดรับ Tag


ปล่อยกายใจ เอื่อยไหลล่อง ลำน้ำโขง

10 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2009 เวลา 4:02 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1477

เมื่อคนที่จ่ายเงินเดือนให้ทุกเดือน เชิญให้ไปพบที่หลวงพระบางวันจันทร์
ผมจึงฉกฉวยโอกาส
ทำวันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อนสบายๆ

ปล่อยใจกายเอื่อยไหลล่องไปกับสายน้ำโขง
ไปกับเรือโดยสารลำใหญ่ จุคนได้ราวร้อยชีวิต (ในนั้นมีคนลาว ๓ คน คนไทยคือผมอีก ๑ คน นอกนั้นเป็นคนผมสีทองหมด)
เรือลำใหญ่ เลื่อนลอยไปตามสายน้ำ
สายน้ำ คือสายน้ำ แปรเปลี่ยนไปตามสภาวะท้องน้ำ
เอื่อยไหล ใสเย็น ยามแล่นผ่านที่ราบ หาดทรายขาว
เกรี้ยวกราด กระแทกโถม ยามเมื่อไหลผ่านแก่งหิน

หาดทรายขาว โขดหินงาม ตลอดเส้นทาง

ใบไม้ช่วงปัจฉิม เปลี่ยนสีเหลืองแดง แต่งแต้มป่า
ก่อนปลิดใบ ร่วงพรูราวสายฝน ยามลมพัดต้อง

ชีวิตสบายริมสายน้ำ
ทุกสรรพสิ่ง ล้วนได้รับความเอื้อเฟื้อ การแบ่งปันจาก “แม่”โขง

เรือแห่งความสุข ผู้คนล้วนผ่อนคลาย พักผ่อน สันทนา

เป็น ๖ ชั่วโมงที่มีความสุข เป็นความสุขที่หาได้ยากยิ่ง
ในโมงยามปกติที่ต้องตรากตรำกรำงาน

นำความสุขมาแบ่งปัน
ครับผม

 


คนชายป่าเชิงเขาเล่าเรื่องเมื่อวันวาน (๑) เห็ดแพรก เห็ดหอม เห็ดตะลอม ตอมหญ้า

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 เวลา 4:44 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2905

เห็ดแพรก สีขาวเจือน้ำตาล ชอบขึ้นตามป่าหญ้าคาในที่รกเรื้อ เนื้อออกเหนียว พอเคี้ยวอร่อย บางแห่งเรียกเห็ดคา
เห็ดหอม สีขาวแจ้ง ชอบขึ้นตามสนามหญ้าที่โล่งๆ มีกลิ่นหอมเฉพาะจึงเป็นที่มาของชื่อ
เห็ดตะลอม ชอบขึ้นคู่กับเห็ดหอม เป็นเห็ดรูปร่างกลมๆเหมือนเห็ดเผาะ แต่กินไม่ได้ จึงไม่มีใครใยดี นอกจากเด็กบ้านป่าจะเหยียบเล่นกันไปตามประสา เมื่อคิดจะเขียนบันทึกเรื่องเห็ดก็นึกถึงเห็ดแพรก เห็ดหอมก่อนเพื่อน เพราะเป็นเห็ดประเภทเดียวที่ผมได้รับอนุญาตให้ไปเก็บโดยลำพังได้ (เพราะไม่ต้องเข้าป่า) และเป็นเห็ดประเภทเดียวที่สามารถหามากินเองได้ พอคาบพอมื้อ แถมยังไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นเห็ดพิษ

ทั้งเห็ดแพรก และเห็ดหอม เป็นอาหารชายป่าท้ายบ้านที่เด็กๆเชิงเขาชวนกันออกไปเก็บพร้อมๆกับการหาเหตุออกไปเล่นกัน บางคนก็ออกไปเลี้ยงควาย ก็หาเก็บมาให้แม่ทำอาหาร นิยมเอาเห็ดต้มใส่เกลือ หรือหากได้มานิดหน่อย “ไม่พอหม้อแกง” ก็เอาเห็ดห่อด้วยใบตองโยนเข้าในขี้เถ้าร้อนๆใต้เตาอั่งโล่ ปล่อยให้ใบตองที่ห่อไหม้เกรียม พอแกะออกมาจะได้เห็ดหมกหอมฉุย เท่านี้ก็พอเพียงสำหรับกับข้าวมื้ออร่อยของเด็ก (ที่เบื่อหมูทอด แคบหมู ปลาปิ้ง หรือไข่ป่าม อาหารประจำขันโตกของไอ่หน้อยลูกโตน) 

พยายามจะนึกว่า เด็กชายป่าพวกเราไปหาเห็ดกันฤดูไหน แต่ก็สับสนในความทรงจำที่ลางๆ ว่าตอนต้นฝนเราก็ไปหาเก็บกัน จนกระทั่งเห็ดเผาะออกมา ผู้คนถึงได้มองข้ามไปกินเห็ดเผาะที่ถือเป็นเห็ด “ชั้นสูง” กว่า แต่นึกดูอีกที เราก็เคยไปหาเห็ดช่วยปลายฝนต้นหนาวท่ามกลางน้ำหมอกน้ำเหมยอยู่เหมือนกัน จึงสรุปเอาเองว่าเห็ดหอมน่าจะออกช่วงต้นฝน พอเป็นอาหารแก้ขัดก่อนเห็ดป่าประเภทเห็ดเผาะ เห็ดไข่ห่าน เห็ดหล่ม เห็ดแดง ออกมาให้กิน ส่วนเห็ดแพรกนั้นน่าจะออกยามปลายฝน เพราะจำได้ว่าเคยไปหาตามคันนาหลังเกี่ยวข้าวก็มี

เด็กๆมักจะชวนกันไปหาเก็บเห็ดเวลาบ่ายคล้อย เรียกว่า “เห็ดแลง” ส่วนคนที่ขยันตื่นเช้าก็สามารถไปเก็บ “เห็ดเช้า”ได้เช่นเดียวกัน พวกเราจะพากันเดินอ้อมชายบ้าน ผ่านไปทางคันคลองชลประทาน ผ่านเขตป่าช้า เข้าไปหาในสนามโรงเรียน แล้วก็วนเข้าหมู่บ้าน
นอกจากเห็ดแพรก เห็ดหอมแล้ว ในบางฤดูเรายังโชคดี ได้เก็บเห็ดโคนที่มักขึ้นตามบริเวณจอมปลวก เห็ดโคนเนื้อเหนียวหวานอร่อย แต่หาเก็บยากแถมต้องบุกเข้าไปในพงรกๆ แถวรอบบ้านมีเห็ดโคนอยู่ ๒ ชนิด เห็ดโคนดำจะมีขนาดเล็กกว่า มีสีดำตามชื่อ แต่เจอทีมักจะออกเป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนเห็ดโคนใหญ่มีขนาดใหญ่สมชื่อ สีออกขาวๆ เคยขุดลงไปดูส่วนที่เป็นรากยาวร่วมศอกก็มี

จากเห็ดชายบ้านทีนี้มาว่าถึงเห็ดในป่าอ้อมบ้านบ้าง เด็ก(พิเศษ)บ้านป่าอย่างผม ไม่ค่อยได้ไปบ่อยนัก นอกจากจะตามพ่อแม่ไปปีละครั้งสองครั้ง ก่อนไปแม่ก็จะเอามะนาวลูกสุกๆใส่ตะกร้าไปด้วยเพื่อกันงู  แถมปู่ก็เอาแหวนแก้วมหานิลใส่ไปกันงูอีกหนึ่งวง เห็ดเผาะจะเริ่มออกก่อนยามต้นฝน ชาวเจียงใหม่เรียก “เห็ดถอบ” หากไปถามแม่ค้าขายเห็ดที่ตลาดวโรรสว่ามาจากไหน แม่ค้าทุกคนจะตอบว่า “เห็ดถอบแม่แต๋งเจ้า” แสดงว่าเห็ดบ้านผมนั้นดีจริงๆ เห็ดถอบต้นฤดูเก็บได้น้อย ได้มาพอสักกำมือแม่ก็จะเอามาแกงไส่ใบหมากเม่า พอเห็ดออกมากก็เอามาต้มกินกับน้ำพริกหนุ่ม พอเห็ดแก่ก็เอามาฝานบางๆคั่วกินกับดอกข่า การหาเห็ดหลังฝนตกเรียกว่าการหา “เห็ดเขิน” คือเห็ดที่น้ำพัดพาหน้าดินออกไปปล่อยให้เห็นลูกเห็ดโผล่ออกมา คนไปหาต้องแยกแยะให้ออกว่าอันไหนก้อนหิน อันไหนเห็ด ส่วนในยามฝนแล้งพวกเราไปหา “เห็ดแตก” คือต้องดูดินข้างพุ่มไม้ที่มีรอยแตกปรินูนขึ้นมา แสดงว่ามีเห็ดอยู่ใต้ดินตรงนั้น

ส่วนเห็ดใบมักจะขึ้นหลังจากเห็ดถอบวายไปแล้ว การเก็บเห็ดใบต้องระมัดระวังเห็ดพิษด้วย มีเห้ดที่กินได้หลายชนิดรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันออกไป เช่น เห็ดหล่ม(อีสานเรียกเห็ดไค) เห็ดไข่ห่าน(เห็ดละโงกของอีสาน) เห็ดแดง เห็ดถ่าน(สีดำ) เห็ดกาบปลี(สีแด๊งแดง) เห็ดหน้าม่อย(ดอกมีสีเทาๆ) เห็ดตุงน้ำฝน(ดอกเป็นทรงถ้วย) เห็ดฟาน(สีน้ำตาลแดง) เห็ดข่า(รสเผ็ดเผื่อนเหมือนข่า) เห็ดขมิ้น(เหลืองสด) แล้วก็เห็ดขะ-หลำ-หมา(อีสานเรียกเห็ดหำพระ) (ฮิ ฮิ ฮิ)
จาการทบทวนเรื่องราวของเห็ดจะเห็นภาพหรือได้ข้อคิดว่า

  • การเลาะเล่นของเด็กสมัยก่อน เป็นการเรียนรู้เรื่องการหาอยู่หากินไปในตัว
  • สมัยก่อน พระธรรมชาติช่วยจุนเจือการดำรงชีวิตของชาวชนบทจริงๆ

• ที่รกร้างว่างเปล่า ก็มีประโยชน์ สำหรับคนชายป่า

 
 



Main: 0.069620132446289 sec
Sidebar: 0.024174928665161 sec