แผนกิจกรรม เฮฯ๑๐ “เยือนล้านนาตะวันออก-ล้านช้าง”

8 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 22 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:39 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1633

ก่อนวันแรก: สำหรับท่านที่เดินทางมาด้วยรถส่วนตัว ค่อยๆขับมาถึงเมืองน่านตอนเย็นๆ ไปแวะเล่นบ้านครูสุก็แล้วกัน หรือไปไหว้พระธาตุดอยน้อย พระธาตุร่วมสมัยกับพระธาตุแช่แห้ง ชมทิวทัศน์เมืองน่านจากบนนั้นรับรองมองแป๊บเดียวเที่ยวทางสายตาได้ทั่วเมือง
พักที่ โรงแรมฟ้า น่าน
วันแรก: ต้อนรับสู่เมืองน่าน ชมเมืองน่าน “วัดในเมืองน่าน”
เช้า: วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดภูมินทร์ คุ้มเก่า (เพื่อนอาม่ารึเปล่า? เดี๋ยวนี้จัดแสดงของโบราณ ผ้าโบราณ น่าสนใจมากๆ) รอรับคณะที่เดินทางมากับพีบีแอร์
บ่าย: วัดหนองบัว (สุดยอดจิตรกรรมฝาผนังที่พ่อครูบายังไม่ได้ไปดู ชมบ้านลื้อ และกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้ผู้สูงอายุมารวมกันทำอย่างมีคุณค่า)
บ่ายแก่ๆ: ใช้เวลาให้กับการเสวนาศึกษาแลกเปลี่ยนกับกลุ่มฮักเมืองน่าน หากไม่จุใจคุยกันต่อได้ถึงกลางคืน
พักที โรงแรมฟ้าน่าน
วันที่สอง: ภูผาป่าดงดอกไม้เมืองน่าน
ชมกิจการสวนกล้วยไม้ของสมาคม อ.ภูคา แวะกอดเด็กหญิงภูคาน้อย
เยี่ยมชมโครงการ “ภูฟ้า” โครงการในพระองค์ของเจ้าฟ้าที่ปวงชนชาวไทยรัก ใช้เวลาที่นี่นานๆ ศึกษากิจกรรมการพัฒนาชนบท การฟื้นฟูป่าไม้ หาพื้นที่ปลูกป่ารักษาต้นน้ำน่านกับโครงการที่นี่น่าจะได้
พักที่ภูฟ้า หรือที่ปัว
วันที่สาม: เยือนหงสา แดนเจ็ดE (ในฝัน)
Eco-tour, environment, elephant, ethnic, economic อีกสองอีเชิญมาหาเอาเองครับ
เช้า: เดินทางเข้าด่านน้ำเงิน ด่านสากลที่เจ้าหน้าที่ยังไม่สากลลุ้นระทึกว่าต้องเจออะไรบ้างถึงจะได้ผ่าน พี่บางทรายไปนั่งอดข้าวอดน้ำมาแล้วสี่ชั่วโมง
แวะชมวัดบ้านขอน หรือวัดบ้านหลวงศิลปชาวลื้อที่เมืองเงิน แวะชมหมู่บ้านชาวลื้อเวียงแก้ว
อาหารกลางวันตำรับหงสา (ลาบไก่งวง ขะแนบบอนใส่หนังเค็ม เอาะหลามหลวงพระบาง) ที่ร้านป้าแพงเมืองหงสา
บ่าย: กิจกรรมพัฒนา “ปลูกดอกไม้พื้นเมืองประดับลานวัด” ทางนี้จะรวบรวมกิ่งพันธุ์ดอกชบา และดอกไม้พื้นเมืองต่างๆที่ใกล้จะสูญหายไปจากเมืองหงสา มาไว้รอพรรคพวกมาปลูก เพื่อประดับลานและรั้ววัดบ้านนาส้าน คุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ถวายสังฆทาน
เย็น: พาชมคูเมืองสองชั้นที่ซ้อนกันเป็นวงสามวง บันทึกในพงศาวดารล้านช้าง ชื่อเมืองเลือก ร่วมสมัยกับเจ้าฟ้างุ้มมหาราช หรือสมัยพระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา หรือ
หากไม่เบื่อวัด ก็ไปชมสิมโบราณที่วัดบ้านศรีมงคล สิมที่สมเด็จพระเทพฯทรงสนพระทัย และเสด็จเยือนหงสาถึงสองครั้งเพื่อทรง “ตามหา”
ค่ำ: อาหารเย็นตำรับหลวงพระบางที่ร้านหงคำ (แกงกระหรี่หลวงพระบาง ยำสลัดหลวงพระบาง ซุปผักใส่งาขาว ล้างคอด้วยของหวานข้าวฮางเปียกบวบสุดยอดขนมประจำลาวเหนือ) มโหรีขับกล่อมระหว่างมื้อด้วยเหตุว่าเขาห้ามร้องเพลงไทย ใครร้องเพลงลาวไม่ได้ก็อด เพราะฉะนั้นลุงเปลี่ยนจะจองไมค์นะครับ บอกไว้ล่วงหน้าอาจจะต้องทำใจเตรียมไว้ฟัง
พักที่เรือนพักสุพาพอน เพิ่งสร้างใหม่ๆเสร็จเมื่อเดือนที่แล้ว
วันที่สี่: ลาหงสา
เช้ามืด: ชมตลาดเช้าหงสาหน้าเรือนพักสุพาพอน
๖ โมงครึ่ง ไปตักบาตรที่วัดศรีบุญเรือง สุภาพสตรีโปรดเตรียมผ้าซิ่น ห้ามใส่กางเกง ผู้ชายควรพาดผ้าเบี่ยง แต่หากท่านใดไม่ไปก็พลาดโอกาสฟังเรื่องราวของ “เจ้าหลักคำ”
๘ โมงรีบรับอาหารเช้า ท่านที่จะกลับเครื่องบินจากน่านต้องออกจากหงสาไม่เกินแปดโมงสิบห้าครับ
ท่านที่มารถส่วนตัว เชิญตามสะดวก จะกลับออกทางน่านขับรถเลาะไปทางอำเภอบ่อเกลือชมทิวทัศน์เส้นทางลอยฟ้าก็มาออกที่น่านได้
ท่านที่ประสงค์จะไปหลวงพระบางต่อ มีสองเส้นทางให้เลือกผจญภัย
ทางเลือกที่ ๑ ไปทางตรง หงสา-บ้านปากห้วยยาง-เมืองจอมเพ็ด-หลวงพระบาง ระยะทางเก้าสิบสามกม. ปกติไม่เห็นมีใครเดินทางกัน เขาว่าทางแคบแต่สภาพพอไปได้ หากฝนไม่ตกนะครับ หาจ้างรถจากหงสานำไปสักคันก็ดี
ทางเลือกที่ ๒ ไปทางไชยะบุรี เป็นทางอ้อม จากหงสา-ภูแลง-ไชยะบุรี-ท่าเดื่อ-หลวงพระบาง ระยะทางสองร้อยกว่าๆกม. สภาพทางดีกว่าทางตรงถ้าฝนไม่ตกนะครับ ปกติใช้เวลาเดินทางประมาณหกชั่วโมงกว่าๆครับ
หากท่านใดมีพลาสปอร์ตทำวีซ่าท่องเที่ยวมา สามารถไปล่องเรือที่ท่าช่วง (ห่างจากหงสายี่สิบกว่ากม.) เป็นเรือนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่จุคนได้เป็นร้อย ขาล่องแวะรับนักท่องเที่ยวสิบโมงไปถึงหลวงพระบางห้าโมงเย็น เตรียมข้าวห่อไปทานในเรือ
หรือหากเฮียเหลียงจะกลับห้วยทรายก็มีเรือขาขึ้น จากท่าช่วงสี่โมงเย็นไปแวะนอนที่เมืองปากแบง(มีโรงแรมสะอาดๆมากมาย) รุ่งเช้าเรือออกเดินทางต่อเย็นๆก็ถึงห้วยทรายครับผม
ทั้งหมดนี้เป็นความฝันส่วนตัวของผมนะครับ
หากทางอาจารย์ภูคา และกลุ่มฮักเมืองน่านมีความเห็นเช่นใด เชิญแลกเปลี่ยน ปรับแก้ได้ตามสะดวกครับ
หรือหากแขกท่านใดสนใจกิจกรรมใดเพิ่มเติม โปรดแจ้งได้ครับ
นี่เป็นแผนเวอร์ชั่น๑ เดี๋ยวมีปรับแก้เวอร์ชั่นสองสามสี่ห้าตามมาครับ

 


เทศบาลบ้านทุ่ง (วิ่งมาส่งการบ้านเรื่องชนบท?)

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 1:55 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1843

 
มีคนถามว่าที่หงสาผมอยู่อย่างไร กินอย่างไร
ผมตอบเธอไปว่า ที่ทำงาน และที่พักในหงสาของผมไม่ถึงกับกันดารแร้นแค้น เพราะผมอยู่ในเขต “เทศบาลหงสา” เรามีไฟฟ้าใช้ ( และไฟฟ้าก็มักดับบ่อยๆๆ) เรามีน้ำประปา มีสำนักงานไปรษณีย์ มีตำรวจคอยดักจับคนที่ไม่สวม “หมวกกันกระทบ” เรามีตลาดเช้า (ที่ผมตื่นไปทีไรตลาดวายเสียทุกครั้ง) ตลาดเย็น มีร้านตัดผมสองร้าน มีเรือนพัก (โรงแรม) เกือบสิบแห่ง (แห่งละห้าห้องสิบห้อง) แม้ว่าเราจะไม่มีไฟแดงกับสายทางปูยาง (ถนนลาดยาง) ก็ตามเหอะ
เทศบาลเมืองหงสา อย่างไรก็เป็นเทศบาลภูดอย สภาพสังคมและวิถีชีวิตแบบชาวชนบทยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ตามริมถนนยังคงมีวัวควายเลาะเล็มหญ้า ยามเย็นมีเด็กๆมาปักเบ็ด ดักไซตามท้องร่อง นอกรั้วหน้าบ้านมีเป็ดเทศอารมณ์เปลี่ยวมาดักกิ๊กเป็ดสาวบ้านข้างๆ บนท้องถนนมีฝูงห่านนักเลงโตห้าตัวมาส่งเสียงโวกเวกเดินส่ายไปมา เสาไฟฟ้าหน้าบ้านมีนกเอี้ยงโทนขี้เหงาอยู่ตัวหนึ่ง บางวันก็เดินมาเอียงคอเหมือนจะคุยด้วย บางวันก็เห็นไปเดินกับฝูงไก่งวงบ้าง ฝูงเป็ดบ้าง เดินออกจากย่านบ้านเรือนไปไม่เท่าไรก็เจอทุ่งนา และภูเขารอบด้าน จึงเรียกว่าเป็นเทศบาลบ้านทุ่งของจริง 
พูดถึงเขตเทศบาล ทำให้นึกถึงหนังสือที่เคยอ่านเล่มหนึ่งที่ได้มาจากกองหนังสือมือสอง ชื่อ “Muang Metamorphosis” (ขออภัย ถูกผิดอย่างไรไม่รับประกัน เพราะนานมาแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่รู้เอาไปเก็บไว้ตรงส่วนไหนของห้องสมุดส่วนตัว) จำได้ว่าเป็นวิทยานิพนธ์ที่มาทำการศึกษาในแถบทางเหนือของไทยขึ้นไปจนถึงสิบสองปันนา ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของระบบการปกครอง โครงสร้างการปกครองระดับเมืองของชาว “ไท” ที่สมัยก่อนจะแบ่งเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย มีเจ้าเมือง ขุนกว๊าน ลดหลั่นกันไป ต่างมีอิสระในการปกครองตนเองแต่ก็ต้องผูกพันไว้กับเมืองใหญ่ ดังที่นิยายอิงประวัติศาสตร์ล้านนาของคุณ กฤษณาฯ เปรียบไว้ว่าเป็น “เวียงแว่นฟ้า” นั่นเอง ระบบการปกครองในสังคมแถบบ้านเรา ได้ถูกปรับเปลี่ยนเรื่อยมา จากรัฐอิสระที่มีเจ้านายปกครองไพร่ฟ้าแบบต่างพึ่งพาอาศัย จนถึงยุคประชาธิปไตย ยุคแห่งความเสมอภาค(ตามที่เขาว่ากัน) จากบ้านมาเป็นหมู่บ้าน รวมกันเป็นตำบล อำเภอ จังหวัด แล้วก็ยังมีการปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นคือ “เทศบาล” นั่นเอง (ไชโยสำเร็จแล้ว ผมลากเข้ามาหาเทศบาลจนได้)  
ผมมีประสบการณ์กับ “เทศบาล”มาบ้าง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา สมัยที่เมืองไทยเราประกาศ ให้ยกเขตสุขาภิบาลทั่วประเทศขึ้นเป็นเขตเทศบาล พร้อมทั้งยกเลิกตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในเขตเทศบาล ตอนนั้นผมสัมผัสถึงความสับสนวุ่นวายของผู้คนในชุมชนของผม เนื่องจากพี่น้องเคยรวมศูนย์อยู่ที่ “ผู้ใหญ่บ้าน” ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ย การร้องทุกข์ การรับรู้ข่าวสารจากทางอำเภอ ตลอดจนถึงการแจ้งเกิด แจ้งตาย หรือแม้กระทั่งการเชิญผู้ใหญ่บ้านมาเป็นประธานงานศพ  เมื่อไม่มีผู้ใหญ่บ้านแล้วพี่น้องจึงนึกไม่ออกว่าชุมชนจะดำเนินไปอย่างไร เป็นความกังวลที่เกิดขึ้นเนื่องจากการรับรู้ข่าวสารไม่ชัดแจ้งนั่นเอง นี่เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงของวิถีชนบทไทยที่ผมพยายามจะตอบโจทย์ของท่านครูบาฯนั่นเองครับ ก่อนหน้านี้ชุมชนบ้านแพะพัฒนาของผมก็ถูกแบ่งแยกเป็นสองส่วน ฟากบ้านผมอยู่ในเขตสุขาภิบาลมีกรรมการสุขาฯ ส่วนอีกฟากคลองไปทางโน้นอยู่ในเขตอ.บ.ต. สับสนวุ่นวายกันไปหมดในการขอรับงบประมาณการพัฒนาหมู่บ้าน อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากฝ่ายปกครอง
ต่อไปจะพูดถึง โครงสร้างทางสังคมที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจและโรคร้าย โดยการยกเอาคำของพี่ใหญ่ บำรุง บุญปัญญา ที่ว่า “สังคมกำพร้า” ครอบครัวชนบทในสมัยก่อนมักมีคนอยู่สามรุ่นได้แก่ ตายาย พ่อแม่ และหลานเล็กๆ เป็นครอบครัวที่อบอุ่น มีการถ่ายทอดภูมิปัญญากันรุ่นต่อรุ่น แต่มาทุกวันนี้เป็นครอบครัวกำพร้าเป็นสังคมกำพร้าไปเสียแล้วจริงๆ ผมเห็นต้นเหตุของความ “กำพร้า” มาจาก

  • พ่อแม่ไปทำงานในเมืองใหญ่ ปล่อยให้ “ผู้เฒ่าเลี้ยงลูกน้อย”
  • ในภาคเหนือระยะสิบปีมานี้ พบว่าพ่อแม่ชิงจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควรด้วย “โรคเอดส์” ทิ้งลูกไว้เป็นกำพร้า
  • ในภาคอีสาน พบเจอกรณีพ่อแม่อพยพไปรับจ้างกรีดยางพาราที่ภาคใต้ภาคตะวันออก ทิ้งลูกชายวัยมัธยมกำลังคึกคะนองไว้ให้อยู่คนเดียว คบเพื่อนฝูงพากันไปเสียผู้เสียคน

การเปลี่ยนแปลงในชนบทไทย ประเด็นสุดท้ายที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของ การปรับเปลี่ยนปรุงแต่งขนบประเพณี ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจหรือจำใจก็ตาม ไม่ว่าจะเขาเหล่านั้นจะทำไปเพื่อการท่องเที่ยวก็ตาม จะเห็นได้ว่าประเพณีสงกรานต์ ไหลเรือไฟ บุญบั้งไฟเมืองคน บั้งไฟพญานาค งานแข่งเรือ ลอยกระทง ล้วนได้รับการปรุงแต่งด้วยเหตุผลเพื่อเชิงธุรกิจการท่องเที่ยวไปเสียหมด  เมื่อมีเป้าหมายเชิงธุรกิจมานำฮีตรอยประเพณีนั่นย่อมทำให้ความหมายที่แท้จริงเลือนหาย กรอบปฏิบัติของสังคมที่ถูกกำหนดโดยขนบประเพณีย่อมบางเบาลง แล้วสังคมจะเอาอะไรมายึดเหนี่ยว นอกจากนี้แล้ว การปรุงแต่งประเพณีทำให้อัตลักษณ์ของพื้นถิ่นเจือจางลง เมื่อไม่ใช่ของจริงแล้วก็คงไม่มีความยั่งยืน

จะหาทางออกได้อย่างไร ผมว่าเราต้องเดินตามแนวทางสามข้อใหญ่นี้ครับ
ประการแรก ฟื้นฟู รักษาโครงสร้างทางสังคมแบบเก่า เช่นระบบผีปู่ย่า เจ้าโคตรลุงตา เจ้าจ้ำ พ่อล่าม หมอใช้ เป็นต้น เพื่อให้ระบบดังกล่าวช่วยในการปกครองคนในสังคม
ประการที่สอง สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชนบท ไม่ให้พึ่งพิงสังคมเมือง สังคมจะได้ไม่ “กำพร้า”
ประการที่สาม สืบทอดประเพณี โดยให้รู้ซึ้งถึงแก่นและความหมายที่แท้จริง ไม่ปรุงแต่งเพื่อจุดประสงค์เชิงธุรกิจ เพื่อใช้จารีตมาเป็นกรอบของชุมชน


(กะ)ปูไท

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 5 กรกฏาคม 2009 เวลา 11:27 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1931


ฉากท้องเรื่อง ที่ทุ่งนาท้ายบ้านดอนไช เวลา ๖ โมงเย็นกว่าๆ
ชายหนุ่ม(ใหญ่)ตัวเล็กๆเดินกระย่องกระแย่งเลาะมาตามทางเดินที่ทำหน้าที่เป็นคันนาไปด้วย 
มองไกลๆ ดูจากท่าสะพายย่ามที่เอาสายย่ามคาดหน้าผากแล้ว เขาน่าจะเป็นชาวลั๊วะที่เดินลงมาจากภูตุ้ย เอาของป่ามาขาย
แม่ป้าวัยกว่าหกสิบในชุดชาวนาที่เปลี่ยนจากสีเดิมมาเป็นสีโคลน กำลังก้มดำนาอยู่คนเดียว ยืดเอวขึ้นบรรเทาความปวดเมื่อยมองดูด้วยความแปลกใจ
เมื่อเห็นเจ้าลั๊วะเดินๆหยุดๆ ควักเอากล้องจากย่ามออกมาถ่ายรูปไร่นา ถ่ายรูปควายที่กำลังไถนา
“เบิ่งซงคือบ่แม่นพี่น้องลั๊วะภูดอย เบิ่งลาวใส่เกิบหุ้มคือสิแม่นคนญี่ปุ่น แต่ว่าญี่ปุ่นผีบ้าหยังมาย่างเลาะคันนาเล่นแนวนี้” แม่ป้าคิดในใจเมื่อชายนั้นเดินเข้ามาใกล้ 
“สะบายดีแม่ป้า คือมาปูกนาผู้เดียว ค่ำแล้วเด้อ” ชายหนุ่มส่งเสียงทักทายพลางยกกล้องถ่ายรูปแม่ป้า
“คนลาวตั้วนี่”…แม่ป้ารำพึงกับตัวเองแล้วตอบออกไป
“โอ้ย แม่มาปูกเข้าซ่อมบ่อนที่กะปูมันกัด”
พลางชี้ให้ดูบริเวณที่ต้นกล้าถูกปูกัดเป็นบริเวณกว้างเกือบครึ่งค่อนกระทงนาขนาดราว ๒๐x๔๐เมตร
ชายหนุ่มมองด้วยความตกใจ “ฮ่วยมันแม่นกะปูหยังมากัดกินต้นกล้าบักหลายกะเดี้ยกะด้อแท้แม่ป้า ข้อยเกิดใหย่มายังบ่เคยพ้อจักเทื่อ”
แม่ป้ายืดตัวคลายเมื่อย เอื้อมไปหยิบกล้ามัดใหม่มาอีกกำ
กะปูไท ลูก” “ตะกี้ตะก่อนบ่มีจักเทื่อ หากะมีมาหว่างปีแล้วนี้” “คนไปขายเคื่องขายของชายแดนเพิ่นเอามาแต่เมืองปัวจังหวัดน่านพู้น”
“เอามาใหม่ๆคนกะนึกว่าดี โตมันใหย่สีปั๋งๆ(สีม่วงๆ)นึกว่าจะกินแซบ”
“แท้ๆแล้วกะบ่แซบอองมันแข็ง ขี้มันกะขม เอาเฮดน้ำปู๋กะบ่นัว ขุดฮูอยู่กะบักลึกๆ คันนารั่วหมด”
“หอยปากกว้าง(หอยเชอรี่)นี่กะมาแต่ไท นี่กะกัดกินเข้าบักดีๆ” “อันนี้มาใหม่กะซื้อมาปล่อยในนากันหกโตห้าพันกีบ นึกว่ามันจะแซบ”
แม่ป้าชี้ให้ดูไข่หอยเชอรี่สีชมพูสดใสที่ติดอยู่กับต้นหญ้าริมคันนา
“พี่น้องคนอื่นอ้อมข้างนี่เขาไปซื้อยาฆ่ากะปูมาแต่เมืองน่านมาใส่นา ลางส่วนกะตายส่วนที่บ่ตายมันเลยหนีมาอยู่นาแม่ป้านี่”
“แม่ป้าใส่ยาฆ่ากะปูบ่ได้ ปีก่อนใส่ในนาโท่งพู้นไปเอาหญ้านาเทื่อเดียวแพ้ยามาผมร่วงหมดไปปัวที่ไทหมดเงินไปบักหลายๆ”
“ลูกนายลุกมาแต่ศูนย์กลางพรรคบ่ ป้าฟังเสียงปากคือคนเวียงจันทน์”
“เจ้า แม่นแล้วแม่ป้าลูกมาแต่เวียง…” ชายหนุ่มตอบเบาๆ เขานึกดีใจที่แม่ป้ามองไม่ออกว่ามาจากที่เดียวกับกะปูไท
“ไปก่อนเด้อแม่ป้า….” แล้วเขาก็เดินลากเท้าหนักๆด้วยความหนักอึ้งในใจลาจากแม่ป้า
เขาหนักใจที่
      นาข้าวที่หงสาจะเสียความบริสุทธิ์ไปเสียแล้วด้วยสารเคมีฆ่าปู
      จะหาวิธีกลทางไหนมาจัดการแก้ปัญหานี้ให้ชาวบ้าน
นอกจากปูไท หอยปากกว้างไทแล้ว หากที่นาผืนนี้ของแม่ป้าจะต้องถูกเวนคืนไปทำกิจกรรมอื่นโดยการลงทุนร่วมของคนไท เขาจะหาวิธีชดเชยวิถีชีวิตของชาวนาเหล่านี้ได้อย่างไร
      แต่เขายังเชื่อมั่นว่า รัฐบาล เจ้าของเงินกู้จากธนาคารสากล และผู้พัฒนาโครงการ จะไม่ทอดทิ้งประชาชน
ขอพลังให้เขา ได้วางแผนงาน แผนงบประมาณให้รอบคอบรัดกุม
ขอปัญญาให้เขา

 



Main: 0.076734066009521 sec
Sidebar: 0.015228986740112 sec