เทศบาลบ้านทุ่ง (วิ่งมาส่งการบ้านเรื่องชนบท?)

โดย silt เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 1:55 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1844

 
มีคนถามว่าที่หงสาผมอยู่อย่างไร กินอย่างไร
ผมตอบเธอไปว่า ที่ทำงาน และที่พักในหงสาของผมไม่ถึงกับกันดารแร้นแค้น เพราะผมอยู่ในเขต “เทศบาลหงสา” เรามีไฟฟ้าใช้ ( และไฟฟ้าก็มักดับบ่อยๆๆ) เรามีน้ำประปา มีสำนักงานไปรษณีย์ มีตำรวจคอยดักจับคนที่ไม่สวม “หมวกกันกระทบ” เรามีตลาดเช้า (ที่ผมตื่นไปทีไรตลาดวายเสียทุกครั้ง) ตลาดเย็น มีร้านตัดผมสองร้าน มีเรือนพัก (โรงแรม) เกือบสิบแห่ง (แห่งละห้าห้องสิบห้อง) แม้ว่าเราจะไม่มีไฟแดงกับสายทางปูยาง (ถนนลาดยาง) ก็ตามเหอะ
เทศบาลเมืองหงสา อย่างไรก็เป็นเทศบาลภูดอย สภาพสังคมและวิถีชีวิตแบบชาวชนบทยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ตามริมถนนยังคงมีวัวควายเลาะเล็มหญ้า ยามเย็นมีเด็กๆมาปักเบ็ด ดักไซตามท้องร่อง นอกรั้วหน้าบ้านมีเป็ดเทศอารมณ์เปลี่ยวมาดักกิ๊กเป็ดสาวบ้านข้างๆ บนท้องถนนมีฝูงห่านนักเลงโตห้าตัวมาส่งเสียงโวกเวกเดินส่ายไปมา เสาไฟฟ้าหน้าบ้านมีนกเอี้ยงโทนขี้เหงาอยู่ตัวหนึ่ง บางวันก็เดินมาเอียงคอเหมือนจะคุยด้วย บางวันก็เห็นไปเดินกับฝูงไก่งวงบ้าง ฝูงเป็ดบ้าง เดินออกจากย่านบ้านเรือนไปไม่เท่าไรก็เจอทุ่งนา และภูเขารอบด้าน จึงเรียกว่าเป็นเทศบาลบ้านทุ่งของจริง 
พูดถึงเขตเทศบาล ทำให้นึกถึงหนังสือที่เคยอ่านเล่มหนึ่งที่ได้มาจากกองหนังสือมือสอง ชื่อ “Muang Metamorphosis” (ขออภัย ถูกผิดอย่างไรไม่รับประกัน เพราะนานมาแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่รู้เอาไปเก็บไว้ตรงส่วนไหนของห้องสมุดส่วนตัว) จำได้ว่าเป็นวิทยานิพนธ์ที่มาทำการศึกษาในแถบทางเหนือของไทยขึ้นไปจนถึงสิบสองปันนา ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของระบบการปกครอง โครงสร้างการปกครองระดับเมืองของชาว “ไท” ที่สมัยก่อนจะแบ่งเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย มีเจ้าเมือง ขุนกว๊าน ลดหลั่นกันไป ต่างมีอิสระในการปกครองตนเองแต่ก็ต้องผูกพันไว้กับเมืองใหญ่ ดังที่นิยายอิงประวัติศาสตร์ล้านนาของคุณ กฤษณาฯ เปรียบไว้ว่าเป็น “เวียงแว่นฟ้า” นั่นเอง ระบบการปกครองในสังคมแถบบ้านเรา ได้ถูกปรับเปลี่ยนเรื่อยมา จากรัฐอิสระที่มีเจ้านายปกครองไพร่ฟ้าแบบต่างพึ่งพาอาศัย จนถึงยุคประชาธิปไตย ยุคแห่งความเสมอภาค(ตามที่เขาว่ากัน) จากบ้านมาเป็นหมู่บ้าน รวมกันเป็นตำบล อำเภอ จังหวัด แล้วก็ยังมีการปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นคือ “เทศบาล” นั่นเอง (ไชโยสำเร็จแล้ว ผมลากเข้ามาหาเทศบาลจนได้)  
ผมมีประสบการณ์กับ “เทศบาล”มาบ้าง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา สมัยที่เมืองไทยเราประกาศ ให้ยกเขตสุขาภิบาลทั่วประเทศขึ้นเป็นเขตเทศบาล พร้อมทั้งยกเลิกตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในเขตเทศบาล ตอนนั้นผมสัมผัสถึงความสับสนวุ่นวายของผู้คนในชุมชนของผม เนื่องจากพี่น้องเคยรวมศูนย์อยู่ที่ “ผู้ใหญ่บ้าน” ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ย การร้องทุกข์ การรับรู้ข่าวสารจากทางอำเภอ ตลอดจนถึงการแจ้งเกิด แจ้งตาย หรือแม้กระทั่งการเชิญผู้ใหญ่บ้านมาเป็นประธานงานศพ  เมื่อไม่มีผู้ใหญ่บ้านแล้วพี่น้องจึงนึกไม่ออกว่าชุมชนจะดำเนินไปอย่างไร เป็นความกังวลที่เกิดขึ้นเนื่องจากการรับรู้ข่าวสารไม่ชัดแจ้งนั่นเอง นี่เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงของวิถีชนบทไทยที่ผมพยายามจะตอบโจทย์ของท่านครูบาฯนั่นเองครับ ก่อนหน้านี้ชุมชนบ้านแพะพัฒนาของผมก็ถูกแบ่งแยกเป็นสองส่วน ฟากบ้านผมอยู่ในเขตสุขาภิบาลมีกรรมการสุขาฯ ส่วนอีกฟากคลองไปทางโน้นอยู่ในเขตอ.บ.ต. สับสนวุ่นวายกันไปหมดในการขอรับงบประมาณการพัฒนาหมู่บ้าน อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากฝ่ายปกครอง
ต่อไปจะพูดถึง โครงสร้างทางสังคมที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจและโรคร้าย โดยการยกเอาคำของพี่ใหญ่ บำรุง บุญปัญญา ที่ว่า “สังคมกำพร้า” ครอบครัวชนบทในสมัยก่อนมักมีคนอยู่สามรุ่นได้แก่ ตายาย พ่อแม่ และหลานเล็กๆ เป็นครอบครัวที่อบอุ่น มีการถ่ายทอดภูมิปัญญากันรุ่นต่อรุ่น แต่มาทุกวันนี้เป็นครอบครัวกำพร้าเป็นสังคมกำพร้าไปเสียแล้วจริงๆ ผมเห็นต้นเหตุของความ “กำพร้า” มาจาก

  • พ่อแม่ไปทำงานในเมืองใหญ่ ปล่อยให้ “ผู้เฒ่าเลี้ยงลูกน้อย”
  • ในภาคเหนือระยะสิบปีมานี้ พบว่าพ่อแม่ชิงจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควรด้วย “โรคเอดส์” ทิ้งลูกไว้เป็นกำพร้า
  • ในภาคอีสาน พบเจอกรณีพ่อแม่อพยพไปรับจ้างกรีดยางพาราที่ภาคใต้ภาคตะวันออก ทิ้งลูกชายวัยมัธยมกำลังคึกคะนองไว้ให้อยู่คนเดียว คบเพื่อนฝูงพากันไปเสียผู้เสียคน

การเปลี่ยนแปลงในชนบทไทย ประเด็นสุดท้ายที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของ การปรับเปลี่ยนปรุงแต่งขนบประเพณี ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจหรือจำใจก็ตาม ไม่ว่าจะเขาเหล่านั้นจะทำไปเพื่อการท่องเที่ยวก็ตาม จะเห็นได้ว่าประเพณีสงกรานต์ ไหลเรือไฟ บุญบั้งไฟเมืองคน บั้งไฟพญานาค งานแข่งเรือ ลอยกระทง ล้วนได้รับการปรุงแต่งด้วยเหตุผลเพื่อเชิงธุรกิจการท่องเที่ยวไปเสียหมด  เมื่อมีเป้าหมายเชิงธุรกิจมานำฮีตรอยประเพณีนั่นย่อมทำให้ความหมายที่แท้จริงเลือนหาย กรอบปฏิบัติของสังคมที่ถูกกำหนดโดยขนบประเพณีย่อมบางเบาลง แล้วสังคมจะเอาอะไรมายึดเหนี่ยว นอกจากนี้แล้ว การปรุงแต่งประเพณีทำให้อัตลักษณ์ของพื้นถิ่นเจือจางลง เมื่อไม่ใช่ของจริงแล้วก็คงไม่มีความยั่งยืน

จะหาทางออกได้อย่างไร ผมว่าเราต้องเดินตามแนวทางสามข้อใหญ่นี้ครับ
ประการแรก ฟื้นฟู รักษาโครงสร้างทางสังคมแบบเก่า เช่นระบบผีปู่ย่า เจ้าโคตรลุงตา เจ้าจ้ำ พ่อล่าม หมอใช้ เป็นต้น เพื่อให้ระบบดังกล่าวช่วยในการปกครองคนในสังคม
ประการที่สอง สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชนบท ไม่ให้พึ่งพิงสังคมเมือง สังคมจะได้ไม่ “กำพร้า”
ประการที่สาม สืบทอดประเพณี โดยให้รู้ซึ้งถึงแก่นและความหมายที่แท้จริง ไม่ปรุงแต่งเพื่อจุดประสงค์เชิงธุรกิจ เพื่อใช้จารีตมาเป็นกรอบของชุมชน

« « Prev : (กะ)ปูไท

Next : แผนกิจกรรม เฮฯ๑๐ “เยือนล้านนาตะวันออก-ล้านช้าง” » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

บันทึกนี้ไม่อนุญาตให้แสดงความคิดเห็น!!!

Main: 0.1155059337616 sec
Sidebar: 0.020163059234619 sec