ประเพณีเกี่ยวกับความตายของชาวลั๊วะบ้านเสาเดียว

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 20 มกราคม 2009 เวลา 3:31 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2148

๒ มกราคม ๕๒ วันแรกของการทำงานในปีนี้ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชุมชนชาวไปร (หรือที่บ้านเราเรียกว่าชาวลั๊วะ) ที่บ้านเสาเดียว บนยอดภูสูงของเมืองหงสา เป้าหมายของการเยี่ยมยามก็เพื่อไปดูว่าจะไปส่งเสริมอาชีพการปลูกชาแถวนั้นได้หรือไม่ เพราะเป็นที่สูงเกิน ๑๐๐๐ เมตร บริษัทจีนเขาว่าปลูกยางพาราไม่ได้ จึงน่าจะเหมาะสำหรับปลูกชา  อีกทั้งแถบนี้ก็ยังมีสวนเมี่ยงปลูกอยู่แล้วหลายสวน แต่เป้าหมายแฝงก็คืออยากจะไปท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตของพี่น้องชาวไปรนั่นเอง

นั่งรถไต่ระดับขึ้นไปราวสี่สิบกิโลเมตร ก็ถึงบ้านเสาเดียวครับ ข้ามเนินเขาข้างหน้าก็เป็นชายแดนไทยเรา พี่น้องบอกว่าเดินไปราวสองชั่วโมงก็ถึงฝั่งไทย ชื่อบ้านเสาเดียว เรียกตามที่เมื่อก่อนมีชาวบ้านท่านหนึ่งปลูกสร้างบ้านแบบที่มีเสาเพียงต้นเดียว (แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว น่าเสียดายไม่อย่างนั้นจะถือเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านได้) ชุมชนบ้านเสาเดียวตั้งอยู่บนสันเขาซึ่งน่าจะเป็นธรรมเนียมของพี่น้องชาวไปรที่เลือกทำเลจุดสูงที่สุดตั้งบ้านเรือน ตัวบ้านสร้างด้วยไม้กระดานหลังกระทัดรัด มุงหลังคาด้วยสังกะสี ถามดูได้ความว่าเอาของป่า ดอกเลา ข้าวไร่ แบกเดินข้ามไปขายที่ชายแดนไทยแล้วก็ซื้อสังกะสีแบกกลับมา ลักษณะ บ้านถาวรไม้กระดานนี้ พ่อเฒ่าแนวโฮมเล่าว่าเพิ่งมาปรับเปลี่ยนได้ราวยี่สิบกว่าปีมานี้เอง แต่ก่อนบ้านเรือนสร้างด้วยไม้ไผ่มุงหญ้า พ่อเฒ่าเป็นผู้เลื่อยไม้มาปลูกบ้านเป็นคนแรก ตอนนั้นลูกเมียไม่กล้าขึ้นนอนบนบ้าน เพื่อนบ้านก็คอยเฝ้าดูว่า “ทำผิดฮีตผิดผี” จะถูกลงโทษอย่างไรบ้าง จนกระทั่งเวลาผ่านไปสี่ห้าปี เพื่อนบ้านถึงได้เชื่อมั่นและพากันเลียนแบบ

รอบๆหมู่บ้านเป็นไร่เลื่อนลอย ผู้ช่วยผมกับพนักงานขับรถที่ต่างเคยทำงานโครงการ CARE และเคยรับผิดชอบกลุ่มบ้านนี้ทั้งสองคน ต่างชี้ให้ดูป้ายแปลงสาธิตเก่าๆตามริมทาง ได้รับการบอกเล่าว่า โครงการดังกล่าวมาจัดทำแปลงสาธิตปลูกไม้ผลสี่แปลงและมาแจกกล้าไม้พันธุ์ไม้ให้พี่น้องไม่น้อยกว่าหมื่นต้น โครงการสิ้นสุดลงเมื่อสองปีก่อนเมื่อไปติดตามดูในวันนี้ สิ่งที่พบเห็นกลับคืนเป็นไร่ร้างหมดแล้ว นี่เป็นอีกตัวอย่างของการพัฒนาที่ล้มเหลว (เหมือนกับการไปส่งเสริมให้ชาวไทบรูปลูกผักบนขอบสระ) ก็พี่น้องเขาหายใจเข้าออกเป็นข้าว ขอให้มีข้าวในเล้าก็อุ่นใจ “ส่วนส้มสุกลูกไม้นั้นเป็นของว่างหาเก็บหากินเอาตามป่าก็ได้ หมากแงว หมากคอแลน หมากค้อ หมากแฟน หมากไฟ….แซบกว่าหมากไม้พื้นล่างเสียอีก”

ทุกหลังเรือนที่บ้านเสาเดียวในวันที่ไป ต่างมีหนามพุทราปักไว้ที่หัวบันไดบ้าน พี่น้องบอกว่าเอาไว้กันผี มีคนตายในหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อคืน บ้านคนตายอยู่ติดกับบ้านของนายครูที่เราจะแวะไปแกะห่อข้าวกินนั่นเอง ติดกันมากกะระยะห่างไม่ถึงสิบเมตร นับเป็นการกินข้าวกลางวันที่บรรยากาศแปลกๆ แต่ด้วยความหิวเลยไม่เป็นอุปสรรคต่อการกิน งานศพพี่น้องชาวไปรดูไม่ค่อยโศกเศร้าเท่าไร กินข้าวไปก็ฟังขับลำชาวไปรไป เขาจะขึ้นขับลำด้วยคำว่า     “เย้อๆๆๆๆๆๆ” เสียงสูงๆทำนองโหยหวน แล้วก็ต่อด้วยภาษาไปรเป็นวรรคๆ นายบ้านแปลให้ฟังว่า เป็นการบอกกล่าวให้ผู้ตายไปอยู่กับพ่อแม่พี่ๆที่ตายไปแล้ว อย่าได้ห่วงลูกหลานทางนี้ อย่าได้มาอยู่รบกวนคนทางนี้ อย่าได้พาคนเป็นทางนี้ไปด้วยเลย ให้เขาโรคภัยไข้เจ็บของตัวเองไปด้วย อย่าทิ้งไว้ให้คนแถวนี้ ญาติพี่น้องจะช่วยกันผลัดเปลี่ยนกันขับลำตลอดเวลาที่ศพตั้งอยู่บนบ้าน (อาจจะหนึ่งคืนหรือสองคืน) บางคราวหากพี่น้องขับไม่เป็นต้องไปจ้างคนขับลำมาจากบ้านอื่น งานศพของชาวไปรเมื่อญาติมิตรมาเยี่ยมศพเขาจะมีสำรับอาหารวางไว้ข้างๆผู้ตาย ผู้มาเคารพศพต้องปั้นข้าวเหนียวจ้ำอาหารวางไว้ให้ผู้ตายได้กิน ฝ่ายเจ้าภาพจะจุดประทัดหรือยิงปืนตอบแทน ค่าลูกกระสุนปืนถือเป็นรายจ่ายหลักที่บางครั้งต้องขายวัวขายควายหลายตัว ยิ่งแขกที่เป็นเจ้าเป็นนายมาจากข้างล่างแล้วเขายิ่งยิงปืนชุดใหญ่จนหูดับตับไหม้เลยทีเดียว ประเพณีการจุดประทัดยิงปืนตอบรับแขกในงานศพนี่เหมือนกับที่ผมเคยพบในเขตชนบทของมณฑลเสฉวน ตอนบ่ายๆเห็นมีกลุ่มญาติสนิทของผู้ตายห้าหกคน ถือเครื่องพิธี และสะพายปืน เดินขับลำไปรอบหมู่บ้าน ได้ความว่าเป็นคณะที่ไปเลือกสถานที่ฝังศพ เขาจะใช้วิธีการเสี่ยงโดยการโยนไข่เช่นเดียวกับชาวเผ่าลาวสูง

ถามพี่น้องว่าเอาศพไว้กี่วัน ได้รับคำตอบว่าปีนี้อดอยากข้าวเลยเอาไว้แค่คืนเดียว ปีนี้ฝนตกชุกมาก พี่น้องไม่สามารถเผาไร่ปลูกข้าวได้ คงอดอยากหาเผือกหามันกินสักเดือนสองเดือน ก่อนที่ดอกเลาดอกแขมจะแก่สามารถเอาไปขายแลกข้าวได้ เฮ้อ เห็นไหม เราว่าเราลำบากกลับมาคนลำบากกว่าเราอีก 

ได้เห็นประเพณีเกี่ยวกับความตายของชาวไปร แล้วนึกถึงบทกวีมหากาพย์ท้าวฮุ่งท้างเจือง ตอนที่กล่าวถึงงานศพขุนจอมธรรมพระบิดาท้าวฮุ่งท้าวเจือง ที่บรรยายไว้ว่า
“สว่าสว่าไห้ฮ่ำฮ้อง ส่งสะกาน (พากันร้องไห้ไปส่งสะกาน)
……..
พระบาทท้าวกวัดแกว่ง คึงแขน (ส่วนท้าวฮุ่งเดินแก่วงแขน)
อาวกอเยียวคิงแยะย่องไป ปุสฟ้อน (ส่วนอาวพวงฟ้อนแยะย่องไป)
คอนนวนนิ้วปะแหวมือ ไกวแก่วง (แองคอนก็แบมือไกวแก่วง)
จ่าช้อนไว้เชิงช้า  เมื่อลุน (เฒ่าจ่าช้อนฟ้อนช้าๆไปตามหลังพวก)
อึกๆพ้อมสาวหนุ่ม ยินหัว (สาวหนุ่มพากันหัวเราะอึกๆ)
…….”
ผมว่าคล้ายๆกันอย่างไรก็ไม่รู้


เสียงสะท้อนของแม่เฒ่าชาวโส้ที่นากาย

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 7 มกราคม 2009 เวลา 11:02 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1683


ผมดั้นด้นพาคณะกรรมการมาศึกษาดูงานการยกย้ายจัดสรรที่นากาย
ด้วยเป็นโครงการต้นแบบที่นานาชาติยอมรับ ให้ใบหย้องยอมามากหลาย
เดินทางจากหงสาค้างคืนสามคืนจึงมาถึงนากาย เขื่อนน้ำเทินสอง
เขาพาไปดูหมู่บ้านตัวแบบที่เขาอยากโชว์
ตัวบ้านใหญ่โต ถนนหนทางกว้างขวาง ไฟฟ้า น้ำบาดาล โรงเรียน ตลาดร้าง ครบครัน
ฝรั่งทางธนาคารโลก ธนาคารเอเซีย เขาให้ guideline ของการหลุดพ้นความยากจน ไว้ที่การเข้าถึงการศึกษา โรงหมอ ถนนหนทาง
ฝรั่งคงคิดผิด
เพราะว่าถ้าเอาอันนี้มาจับ มาเป็นไม้วัดแทก ชาวบ้านที่นี่ก็หลุดพ้นความยากจน
ระหว่างที่เจ้าหน้าที่บรรยายอย่างเมามัน
ผมแว่วยินสำเนียงภาษาที่เด็กน้อยมามุงดูรถคุยกันเป็นภาษาที่คุ้นเคย
ภาษาโส้ดงหลวงพี่น้องผมนั่นเอง
อย่ากระนั้นเลย ผมรีบเดินไปคุยกับแม่เฒ่าที่นั่งคุยกันอยู่ใต้ถุนเรือน
อาจอ(หมา) อะลิก(หมู) อะกร๊วย(ไก่) เจี่ยอะอวา(กินข้าว) ต๊ะเนีย(ทำนา) เซี๊ยะ(ปลา) ตรวจสอบคำกันแล้วเห็นว่าเกือบตรงกับพี่น้องดงหลวง ไม่รู้เป็นไรผมไปเขมรก็เจอโส้ มาลาวก็เจอโส้ สงสัยมีความผูกพันกันมาแต่ปางก่อน
ถามอะย๊ะ(แม่เฒ่า) ว่าเขาพามาอยู่นี่สุขสบายดีไหม
แม่เฒ่าบอกว่า “สบายดีแต่ไปหากินลำบากน้ำท่วมหมด ที่ในห้วยในป่าที่เคยไปหาหน่อไม้ไปซ้อนกุ้งก็ไม่มีแล้ว” “ไปทำไร่ข้าวเหมือนเก่าก็ไม่ได้แล้วเขาจัดสรรที่ให้เป็นเจ้าๆปลูกอะไรก็ไม่งาม” “ตะเรียะตะแกง วัวควายก็ไม่มีที่เลี้ยง” “เขาเคยมาจ่ายข้าวสารก็หยุดจ่ายแล้ว” “น้ำหลาย(เดอะอับ) ปลาหลายก็จริงแต่ผู้หญิงผู้เฒ่าไปจับไม่ได้ เด็กน้อยจมน้ำตายไปก็หลายคนเดือนก่อนหลานแม่ก็ตาย”
เจ้าหน้าที่โครงการเขาเดินมาเสียก่อนเลยรีบอำลาแม่เฒ่าด้วยความจำใจ “กวยอับเด้ออะย๊ะ กอนจูก่อน” ให้ร่ำรวยครับคุณยายลูกหลานขอลาก่อน
ถอดบทเรียนว่า ฝรั่งถูกหลอก
โธ่เอ้ย ผมทำได้ดีกว่านี้ พี่น้องหงสาไม่ต้องเป็นห่วง
 



Main: 0.063234090805054 sec
Sidebar: 0.015374898910522 sec