เที่ยวในงานแขวงเวียงจันทน์ ๑ ขึ้นเขาข้ามห้วยฝ่าดงทากพิชิตเมืองหลงเก่า

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2012 เวลา 10:17 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1641

 

พี่น้องบ้านเมืองหลงใหม่ บอกว่าอยากไปทำนาอยู่ที่บ้านเก่า บอกว่ามีที่ราบกว้างขวางพอเพียง ท่านเจ้าเมืองฮ่มและคณะนำก็เห็นชอบ เอาไงดีล่ะ ลุงเปลี่ยนไม่ไปดูก็ไม่มั่นใจว่าพื้นที่เหมาะสมจริงหรือไม่ อีกทั้งการสร้างถนนไปที่แห่งนั้นต้องตัดผ่านเขาสูงชัน ผ่านป่าไม้ แม่น้ำลำห้วย นอกจากจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาทแล้วยังต้องตัดไม้หลายสิบหลายร้อยต้น สอบถามทิศที่ตั้ง และระยะทาง พี่น้องชาวม้งบอกว่าไปแค่ ๓๐ นาทีก็ถึง แต่พอหันกลับไปถามอ้ายน้องรัฐกรกลับบอกว่า ๓ชั่วโมง สอบถามใจตัวเองบอกว่าต้องไปเห็นสักครั้ง สอบถามกายตัวเองดันตอบว่าไม่ไหวกระมังใช้เด็กๆเขาไปดูเถอะ แต่ใจกลับแย้งมาว่าไหวไม่ไหวก็ลองดูก่อนสิ โอกาสในการเดินป่าที่เป็นเขตทหารเก่าสมรภูมิรบ”เจ้าฟ้า”นี่ไม่ใช่หาได้ง่ายๆนะ ตกลงใจว่าไปก็ไป(ว่ะ) ชักชวนนัดหมายรองนายบ้านวัยหนุ่มชื่อลงกงเอาไว้ บอกให้หาคนวัยหนุ่มไปเป็นเพื่อนอีกคนสองคน(เผื่อเอาไว้หามลุงกลับ) กวาดตาไปมองบรรดารัฐกรที่มาช่วยงานหมายตาไว้แล้วไปหว่านล้อมมาร่วมขบวน ๒คน คนแรกเป็นเด็กพนักงานกสิกรรมจบใหม่ไฟแรงชาวม้ง อีกคนเป็นพนักงานห้องการสิ่งแวดล้อม(ที่บังเอิญเป็นน้องชาย ของเลขาเก่าผมที่เมืองหงสา ธรรมะจัดสรรจะให้ได้มาพึ่งกันกันที่นี่…ไม่รู้ล่ะตีซี้มั่วเหมาเอาไว้ก่อน งานนี้เมิงต้องช่วยตรูม่ายงั้นตรูจะฟ้องพี่ ฟ้องลุง อา ฟ้อง…เมิง) เป็นอันได้ขบวนครบถ้วนปานว่าเป็นทีมนายพรานรพินทร์ไพวัลย์จะออกเดินทางสู่ภูเขาพระศิวะในนิยายเพชรพระอุมา

(วันรุ่งขึ้น) กว่าจะเคลื่อนขบวนได้ก็สายโด่ง แจกจ่ายข้าวคนละห่อน้ำคนละขวดให้รับผิดชอบของใครของมันแล้วก็ออกเดินทาง ลุงเปลี่ยนสะพายย่ามกล้องห้อยคอมือถือขวดน้ำ รองนายบ้านคนนำทางชี้ให้ดูต้นไม้ใหญ่บนสันเขาที่สูงจนต้องแหงนคอตั้งบ่า บอกว่าเดี๋ยวเราไต่ขึ้นไปทางโน้น ไอ้หยา สูงปานนั้น ตรูถอยตอนนี้ดีไหมน้อ แต่ใจกลับรู้สึกกลัวเสียหน้าหากจะถอยตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม

เลี้ยวเข้าชายป่าก็เจอบททดสอบแรก กับเส้นทางที่ลาดชัน กับก้าวขาที่หนักอึ้ง กับหัวใจที่เต้นโครมๆราวกับจะเต้นหลุดออกมาข้างนอก กับลมหายใจหอบแฮกๆ และเหงื่อที่ไหลโทรม พอรู้ว่าไม่อาจร่วมอัตราเร็วกับคนนำทางชาวม้งได้ก็ค่อยๆผ่อนฝีเท้าลง หยุดพักเมื่อไปไม่ไหว(แอบจับชีพจร หากเต้นโครมๆเกินร้อยซาวครั้งต่อนาทีก็หยุดยืนพักก่อน) ยี่สิบก้าวพักหอบสิบครั้ง พร้อมกับปลอบใจตัวเองว่าร่างกายน่าจะปรับตัวได้ดีหากเดินต่อไปอีกสักระยะ ตกลงถึงตอนนี้ทีมนำชาวม้งทิ้งห่างนำหน้าไปหลายร้อยเมตร ถัดมาเป็นเจ้าน้องชายรัฐกรสิ่งแวดล้อมที่ไปๆหยุดๆ พอเห็นลุงโผล่พ้นโค้งก็ออกเดินดุ่มนำหน้าไป แต่พอหยุดรอหลายครั้งเข้า คงเห็นท่าลุงจะพาย่ามไปไม่รอดแน่ๆเจ้าหนุ่มจึงย้อนกลับมารับย่ามไปสะพายให้   ข้างหลังลุงเป็นรัฐกรกสิกรรมที่ตามประกบ เขาคงแบ่งงานกันตั้งแต่แรกเห็นคุยภาษาม้ง เสียงในฟิล์มตั้งแต่ชายป่า

ยักแย่ยักยันขึ้นไปจนทันพรรคพวกที่นั่งตบยุงรออยู่ นั่งพักพอหายเหนื่อย ชวนกันออกเดินต่อ อ้ายน้องม้งบอกว่าที่ผ่านมายังเป็นเชิงเขา ต่อไปข้างหน้าถึงจะเรียกว่าขึ้นภูของจริง ใจหล่นไปกองอยู่ที่ตาตุ่ม โอย ตรูกลับดีไหมเนี่ย แต่สุดท้ายก็ฝืนลากสังขารค่อยๆไต่ขึ้นไป เส้นทางเป็นดังคำที่อ้ายน้องบอก ชันชนิดแหงนคอตั้งบ่า ถึงตอนนี้อ้ายน้องตัดไม้ไผ่ให้ใช้เป็นไม้เท้า แล้วก็ออกเดินนำลิ่วหายไปในเส้นทางสูงชันข้างหน้า ปล่อยให้ลุงปีนป่ายขึ้นลงๆตามไปช้าๆ จนมาถึงลำธารน้ำใสที่เขานั่งสูบบุหรี่รออยู่ วักน้ำลูบหน้าแล้วออกเดินต่อ

ยิ่งเดินยิ่งสูง ทางก็ยิ่งชัน นับเวลาได้ชั่วโมงเศษๆ อ้ายน้องชี้ให้ดูต้นยางยักษ์ที่เป็นเครื่องหมายทางตั้งแต่เชิงเขา แล้วก็ปีนป่ายกันต่อด้วยความชันที่เหมือนเดินขึ้นบันไดตึกสิบชั้น

เมื่อพ้นป่าไม้ยืนต้น ทางเดินเริ่มชันน้อยลง แต่กลับพาลัดเลาะไปในดงไผ่ที่ขึ้นเบียดเสียดทรงพุ่มหนาทึบ พื้นดินเปียกชุ่ม และแล้วก็เจอกองทัพทากชูลำตัวกวัดแก่วงหาเหยื่อ เจ้าทากคงตื่นตัวจากกองหน้าที่เดินผ่านไปอย่างเร็วๆ พอมาเจอกองหลังอย่างลุงที่เดินต้วมเตี้ยมก็โอชะหวานคอแร้งคอทากละสิทีนี้ ไอ้หนุ่มคนเดินตามหลังละว้าละวนปัดทากออกจากตัวเองแล้วยังต้องมาคอยปัดให้ลุง(น่าสงสารแท้) ลุงก็พยายามเร่งฝีเท้าเต็มที่แต่ขาไม่เป็นใจ ทางไม่ชันมากก็จริงแต่ต้องเดินไวๆไม่ให้ทากเกาะ เหนื่อยแทบขาดใจ หยุดพักเหนื่อยแต่ละทีก็ต้องเลือกช่องว่างที่พอมีแสงแดดส่อง ยืนไปก็ปัดตัวทากไป ในที่สุดก็ขึ้นถึงอีกหนึ่งสันเขาอย่างสะบักสะบอม พรรคพวกรีบมาช่วยจับทากออกนับได้สิบกว่าตัว ยังมีหน้ามาแซวกันอีกว่า ไหนอาจานว่ากินยาปัวพะยาดหลายเม็ดทากมันไม่กัด เออ ทากมันคงป่วยมั้งถึงอยากกินเลือดผสมยาของลุง   

อ้ายน้องพูดให้กำลังใจว่า เส้นทางต่อไปนี้ไม่มีทางชันอีกแล้ว ทากก็ไม่มี(เยอะ)แล้ว ชันก็ชันน้อยๆธรรมดา ว่าแล้วก็เดินลิ่วหายขึ้นภูไปอย่างรวดเร็ว ไหนว่าไม่ชันไง(ว่ะ) ตรูว่ามันก็ชันเท่าๆกับที่ผ่านมานั่นแหละ เดินไปอีกสักครึ่งชั่วโมงระดับทางเดินค่อยๆลาดลง และแล้วก็ถึงเสียที ทุ่งบ้านเมืองหลงเก่า

ทุ่งบ้านเมืองหลงเก่า เป็นที่ราบบนหุบเขากว้างขวางเวิ้งว้าง มีกระท่อมชาวบ้านมาเลี้ยงวัวอยู่สองสามหลัง ฝูงวัวสองฝูงเลาะเล็มหญ้า อากาศเย็นสบาย ความกว้างของทุ่งราวหนึ่งกิโลเมตร และความยาวน่าจะราวๆสามกิโลเมตร มีลำห้วยสองสายไหลผ่านทางด้านเหนือ และตะวันออก พอวัดระดับความสูงดูแทบหงายหลัง ค่าที่ออกคือ ๑๑๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล นี่ลุงเดินขึ้นมาจากระดับ ๖๒๐ นะเนี่ย เออ เก่งจริงโว้ยเรา ดอกหญ้าสีสดกระจิดจิ๋วประดับพรมผืนหญ้า ผีเสื้อสีสดนับร้อยๆตัวขยับปีกบางบินว่อน แต่ก็มีโอกาสชื่นชมเพียงน้อยนิด ต้องรีบวิ่งตามพรรคพวกที่พากันเดินตัดทุ่งไปเก็บผลฝรั่งป่ากินแล้วก็แวะพักทานข้าวที่กระท่อม(โธ่ โธ่ ทำไมไม่พากันกินข้าวเสียงตรงขอบด้านนี้นะอ้ายน้อง ให้ตรูเดินตัดทุ่งอีกตั้งไกลเนี่ยนะ ไม่รู้หรือไงว่าห้เมตรสิบเมตรลุงก็ไม่อยากเดินแล้ว นี่ตั้งกิโลเมตรเชียวนะ ไปกลับก็สองพันเมตรสี่พันก้าวเข้าไปแล้ว ลุงอยากถนอมกำลังเอาไว้ขากลับ) อ้ายน้องหยิบชิ้นส่วนระเบิดสมัยสงครามปลดปล่อยมาให้ชม แถมบอกว่าตรงลำห้วยข้างบนยังมีลูกใหญ่ๆที่ยังไม่แตกอีกหลาย

หลังจากกินข้าวอิ่ม นั่งร่างแผนที่ และแผนงานปรับปรุงพื้นที่ (หากต้องการใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว…แต่ความจริงแล้วอยากเก็บไว้เป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติให้สัตว์ป่ามาเลาะเล็มหญ้าระบัดน่าจะดีกว่า) บ่าย ๒โมง๑๐นาที ได้เวลาจรลีกลับ(จากสวรรค์เมืองบนแดนดิน) ลงสู่พื้นราบเบื้องล่าง จ้ำอ้าวร่วมขบวนเดินตัดทุ่ง และไต่ขึ้นสู่เนินขอบทุ่ง และแล้วลุงก็ขอใช้อัตรา ไปช้าๆเนิบๆแบบลุงโดยมีกองระวังหลังเจ้าเก่าประกบอัดท้ายขบวน แถมขากลับอาสาถือขวดน้ำให้ลุงอีก

ทางลงชันเหมือนลงบันไดวัดพระธาตุแต่ไม่มีขั้นบันไดราบๆให้เหยียบยั้งเท้า ไม้เท้าช่วยพยุงข้างหนึ่ง อีกมือหนึ่งโหนเกาะยึดต้นไม้รายทาง ตอนขาลงนี่มองเห็นทางลาดชันด้านล่างไปไกลๆ ไม่เหมือนตอนขาขึ้นที่ได้แต่ก้มหน้าก้มตามองเท้าตัวเอง มีหลายจุดที่หยุดมองด้วยความแปลกใจว่าตอนขามาขึ้นเมื่อตะกี้พาตัวเองขึ้นมาได้อย่างไร พร้อมกับเป็นกังวลว่า….แล้วตรูจะพาตัวเองลงไปท่าไหนดี

อาการปวดเข่าด้านขวาที่มีมาตั้งแต่สมัยไปขึ้นภูที่ดงหลวงเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วเริ่มกำเริบอีกครั้ง เดือนก่อนไปเดินป่าน้ำกงก็แสดงอาการครั้งหนึ่งแล้ว ด้วยเหตุที่รับน้ำหนักมากตอนขาลงเขาชัน ทำให้ต้องใช้ขาซ้ายค้ำยันลงเขาแบบเอียงๆแล้วค่อยลากขาขวาพาเท้ามายืนขาคู่ก่อนที่จะก้าวเท้าซ้ายลงภูต่อ ก็เลยยิ่งช้าไปกันใหญ่

หยุดฟื้นกำลังขาที่ลานตะพัก ก่อนที่จะรวบรวมกำลังพาตัวเองวิ่งกลิ้งผ่านป่าไผ่ดงทาก แต่ละครั้งที่เท้าขวาย่ำลงคราใด มันเหมือนกับมีเข็มเป็นร้อยเล่มมาทิ่มแทงสะบ้าหัวเข่า มาถึงยอดเขาต้นไม้ยางยักษ์เอาเมื่อเวลาสี่โมงเย็น โขยกเขยกลงอีกสองเนินลาดชันๆ แล้วก็มาถึงชายเขา ระยะทางใกล้ๆจากจุดนั้นลงมาหาพื้นราบเมื่อตอนขามารู้สึกว่าเป็นบททดสอบ แต่ตอนขากลับนี่ยิ่งกว่าเป็นบททดสอบ เป็นเหมือนเส้นทางสายบดขยี้หัวเข่า ตอนนี้ขาซ้ายเกิดหมดแรงยกได้แค่เพียงลากไปกับพื้น ส่วนเจ้าเข่าขวานั้นเจ็บจนไม่รู้สึกเจ็บอีกต่อไปแล้ว แต่กลับควบคุมไม่ได้งอเข่าไม่เป็นพอเผลอไม่ประคองให้วางถูกตำแหน่งปวดแปล๊บขึ้นมาจนหูอื้อ กำหนดจิตพิจารณาทุกข์ ห้าสิบก้าวสุดท้ายต้องกัดฟันน้ำหูน้ำตาไหลนับจำนวนก้าวแต่ละก้าวย่าง

มาถึงพื้นราบเอาเมื่อเวลา ๕โมงเศษๆ ตะวันบ้านเมืองหลงใหม่ลับขุนเขาไปก่อนหน้านี้แล้ว

กลับมาถึงห้องพักพบว่ามีคุณทากเกาะมาในร่มผ้าอีกสี่ตัว กินเลือดอิ่มนอนตัวกลมเชียว….

มั่วนคักๆ แต่ไม่เอาอีกแล้ว

…………………

ตอบแทนอ้ายน้องชาวม้งคนนำทางไปคนละแสน(กีบ) กับอีกหนึ่งแผนงานที่จะเป็นทางออกของชุมชนม้งบ้านเมืองหลง

ตอบแทนสองน้องชายรัฐกรด้วยการนั่งสอนวิชาเขียนบทรายงานสองบทในสองเย็นถัดมา

ตอบแทนยังไงก็คงไม่คุ้มกับการที่คอยลากจูงลุงขึ้นเขาลงห้วย

ขอบใจเด้อ


ไปเที่ยวงานที่ลาวใต้ (๓) ตามรอยพระเจ้าไชยเชษฐามหาราชแห่งล้านช้าง หลานตาของพระเจ้าเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2012 เวลา 2:22 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3153

จากฝั่งเมืองที่ตั้งแขวงอัตปือ ข้ามลำเซกองไปอีกฟากหนึ่ง เป็นเมืองไชยเชษฐา ตั้งชื่อเมืองตามพระนามของมหาราชพระองค์ที่ ๒ ของล้านช้าง พงศาวดารล้านช้างได้บันทึกถึงเรื่องราวของพระองค์ไว้ว่า “ส่วนพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าแต่ได้เสวยศิริสมบัติทั้งมวญนานประมาณได้ ๒๔ วรรษาถ้าจักกล่าวแต่ชาติมา อายุทั้งมวญได้ ๓๙ ปี ก็ไปกระทำยุทธกรรมสงครามในเมืองรามรักองการ กาลวิปริตผิดกองเลยถึงแก่พระองค์ก็หลงเสียในเมืององการนั้น ในปีระวายเม็ดเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ศักราชได้ ๙๓๓ ตัวนั้นแล”

พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างมาอยู่ที่เวียงจันทน์

คือพระองค์ที่ในประวัติศาสตร์อยุทธยาบันทึกไว้ว่า ทรงขอพระเทพกษัตรีย์พระธิดาในสมเด็จพระศรีสุริโยทัยไปเป็นมเหสี แต่ทางกรุงไทยส่งพระแก้วฟ้าธิดาในพระสนมไปแทน แล้วพระองค์ทรงส่งคืน

คือพระองค์ที่ทรงเป็นหลานตาของพระเจ้าเชียงใหม่ที่เคยรับเชิญมาครองเมืองต่อจากพระเจ้าตา(พระเมืองเกษฯ) ก่อนที่จะเสด็จคืนไปครองล้านช้างต่อจากพระบิดา และเป็นหลานยายของพระนางจิรประภามหาเทวีกษัตรีล้านนา (ที่คุณต่ายเพ็ญพักตร์ รับบทในหนังเรื่องสมเด็จพระสุริโยทัยได้อย่างอร่ามตา)

ในบั้นปลายรัชกาล พงศาวดารฉบับหลวงบันทึกไว้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาทรงหายสาบสูญไปในคราวราชการทัพเมืององการตามที่ได้แสดงไว้ข้างบน

แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กลับมีเรื่องราวที่ต่างออกไป ชาวประชาในเมืององการซึ่งปัจจุบันคือเมืองไชยเชษฐา เชื่อว่าพระองค์ทรง”ถูกปลงพระชนม์” และพระศพได้ถูกฝังไว้ ต่อมาพระโอรสชื่อ พระไชย ซึ่งเกิดจากนางสามผิวมเหสีชาวเมืององการ ได้มาขุดเอาพระอัฐิมาก่อเจดีย์ศิลาแลงเล็กๆไว้ พระไชยได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่เตรียมอัญเชิญพระอัฐิพระบิดาขึ้นบรรจุ แต่พระไชยก็มาประสบชะตากรรมสิ้นพระชนม์ลงอีก เจดีย์ที่สร้างไว้จึงได้บรรจุอัฐิของพระโอรส แทนพระบิดา

วัดพระธาตุไชยเชษฐา ปัจจุบันมีเจดีย์สององค์นี้อยู่ และยังมีอีกสองเจดีย์ องค์หนึ่งบรรจุอัฐิของพระครูผู้สร้างวัด และอีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์หลักเมือง คุณลุงผู้เฝ้าวัด นำบรรยาย เล่าประวัติศาสตร์ฉบับท้องถิ่นอธิบายไว้อย่างนี้ครับ

ถัดไปอีกสามร้อยเมตรมีวัดเก่าอีกหนึ่งวัด ชื่อ วัดหลวงเก่าเมืองไชยเชษฐา ที่ป้ายไม้เขียนไว้ว่า สร้างโดยพระองค์เมื่อปีพุทธศักราช สองพันหนึ่งร้อยยี่สิบกว่าๆ พระอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรมไปตามกาล แต่ยังมีร่องรอยของความงดงามอลังการ (นักวิชาการไทยจากมูลนิธิท่านอาจารย์องุ่นเคยเขียนไว้ว่าวัดเก่าทั้งสองแห่งมีร่องรอยศิลปะล้านช้างแกมล้านนา….)

ถ้าประมวลความตามเรื่องราว นักประวัติศาสตร์ลูกทุ่งสมัครเล่นอย่างข้ากระผม ก็เชื่อว่าพระเจ้าไชยเชษฐิราชเจ้าทรง “เคลื่อนไหว”อยู่ที่เมืองนี้ระยะหนึ่งจริงๆ ในช่วงนั้นมีความยุ่งยากในราชสำนักล้านช้างแตกเป็นหมู่เป็นเหล่า พงศาวดารจึงบันทึกข้ามไป ซึ่งถัดจากที่ปันทึกว่าพระองค์สาบสูญไปไม่นานพงศาสดารก็เขียนไว้ว่า มีชายชาวเมืองนี้อ้างตนเป็นพระองค์ยกทัพไปยึดกรุงเวียงจันทน์ได้ ดังนี้ “เมื่อศักราชได้ ๙๔๑ ตัวปีกัดเม้านั้น ยังมีคนอุบาทว์ผู้หนึ่งฉลาดด้วยสาตรศิลป์สำแดงตนว่า แม้นพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าล้านช้างอันไปหลงเสียที่องการนั้น มันก็ปดประโลมเอาข่าส่วยทั้งหลาย …..แล้วก็ไปตั้งรั้วยกเวียงโรงศาล อยู่ในทุ่งแอกกระบือ ความไทยเราว่าทุ่งคี่ควาย มูลควาย ……แล้วก็ยกรี้พลไปรบพุ่งรี้พลพระเจ้า เวียงจันนี้แล ครั้งนั้นพระมหาอุปราชเจ้า จึ่งให้…… ขับเอารี้พลไปรบเขาที่นั้น ชาวแอกกระบือเขาก็เอารี้พล มารบท้าวพระยาฝ่ายเหนือนี้ เลยชนะกระจัดกระจายหนีมาคราวนั้น เขาเลยไล่เข้ามาถึงเมืองนครนั้นแล้ว ……ก็เลยแตกฟุ้งเสียเมืองเวียงจันปีนั้นแล……”(ที่มา พงศาวดารล้านช้าง)

ได้น้อมคารวะพระองค์ท่านด้วยความเคารพ ในฐานะข้าไทสายเลือดล้านนาคนหนึ่ง

พระเจ้าไชยเชษฐามหาราช ทรงเป็นสะพานเชื่อมสองฝั่งโขงมาช้านาน ดังเช่น พระธาตุศรีสองรักที่พระองค์ทรงสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความร่วมมือไท-ลาว พระองค์ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ พระธาตุพนม และอีกหลายๆศาสนสถานทั่วสองฝั่งโขง

หากผู้เกี่ยวข้องคิดเป็นเล่นเป็น หยิบยกเอาประเด็นเป็น อยากให้นำเรื่องราวของพระองค์ท่านมาเป็นสะพานใจเชื่อมสองฝั่งโขง จะได้ผลดีกว่าสร้างสะพานคอนกรีตหลายเท่านัก

(แทนที่จะกำหนดเพดานประวัติศาสตร์ไทย-ลาวไว้ที่ช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ให้หมองน้ำใจไทย-ลาวกันดังเช่นทุกวันนี้….เสนอถึงลุงเอก สสสส.ครับผม)


วิพุทธิยาจารย์อาสา จุฬาฯน่าน สิ่งที่ได้พูด ความหมายที่อยากบอก

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 เวลา 6:21 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2937

ที่ประชุมกลางดึกในห้องหัวหน้าคณะ”พ่อครู” ได้รับมอบหมายให้ลุงเปลี่ยนอยู่ในกลุ่มครูห้อง ๒ “บริบทการพัฒนาการเกษตร การพัฒนาชุมชน ในชนบทภาคเหนือ และ ประเทศเพื่อนบ้าน” หัวขบวนตั้งธงมาให้อย่างนี้ ทราบแล้วก็ไม่ได้วิตกว่าจะเอาอะไรไปเล่า แต่แอบกังวลว่าจะเล่าอย่างไรให้น่าสนใจ จะสื่ออย่างไรดี เรียกร้องหาผู้กำกับเวทีด่วน โชคดีที่ได้ครูใหญ่ผู้มากประสบการณ์มากำกับ และได้พี่หมอเจ๊ กับครูอาราม มาช่วยเติมเต็ม ดูไปแล้วทีมเราก็ครบเครื่องทีเดียว ครูใหญ่เรียกประชุมกลุ่มย่อยเตี๊ยมทางหนีทีไล่อีกนิดหน่อย เป็นอันหมดกังวล

ภาคเช้าหลังจากพ่อครูเปิดประเด็น ครูป้อมชวนนิสิตผ่อนคลาย แล้วแบ่งกลุ่มนิสิตออกเป็นสามกลุ่ม ทีมครูกลุ่มสองเตรียมพร้อม อ้าว..ทีมครูกล่มสามของหมอป่วนประสงค์ดีไปจองลานโล่งๆเสียแล้ว ทีมลุงอยู่ห้องสองเพิ่นว่า ดีเหมือนกันห้องสองมีอุปกรณ์สื่อสารครบจะได้ฉายรูปประกอบ ว่าแล้วก็ติดตั้งอุปกรณ์…

ชุดแรก…นิสิตมารอแล้ว เอ้าหนูๆจัดห้อง เอาโต๊ะออก นั่งแบบห้องเรียนไม่เข้าท่าจัดเก้าอี้เป็นวงกลมดีกว่าจะได้เห็นหน้ากัน ระหว่างนั้นลุงก็พยายามหาบันทึกในลานฯที่แต่งโคลงร่ายกาพย์กลอนชมวัดในเมืองน่านไว้ กะว่าจะนำเข้าสู่บทเรียนด้วยคำเหล่านั้น แต่จนแล้วจนรอดด้วยความหลงๆลืมๆหาไม่เจอ จนครูใหญ่สแกนนิสิตเสร็จเริ่มโยนไมค์มา พี่หมอเจ๊ลุกมาช่วยหาบันทึกแทน ลุงเปลี่ยนนี่ติดอยู่อย่าง ถ้าวางขั้นตอนไว้หากติดอยู่ขั้นที่หนึ่งก็จะไปขั้นสองสามสี่ไม่ได้ เขียนรายงานก็เช่นกันหากไม่จบบทสองก็ไปต่อบทอื่นไม่ได้ แต่เมื่อผู้กำกับรายการโยนไมค์มา ก็จำต้องงัดเอาเรื่องที่ตั้งใจจะพูดมาจากบ้านชิงเอามาขายไอเดียเสียก่อน นั่นคือเรื่อง ระบบนิเวศน์วัฒนธรรมเกษตร โดยยกตัวอย่างเล่าถึงประสบการณ์กับพี่น้องโส้ที่ดงหลวง อยากให้น้องๆนิสิตที่จะกลับไปทำงานด้านพัฒนาชุมชนเกษตรกรรม คำนึงถึงสองคำหลักคือ ระบบนิเวศน์ของพื้นที่ที่จะไปอยู่ และคำหลักที่สองคือ วัฒนธรรมของพี่น้องที่จะไปพัฒนา แถมท้ายด้วยการโฆษณาบล็อคให้ไปติดตามรายละเอียดเพิ่ม

นิสิตชุดแรก ย้ายกลุ่มออกไป ทีมครูรวมหัวสรุปบทเรียน แล้วก็ต้อนรับนิสิตกลุ่มที่ ๒ ครูใหญ่สแกนกลุ่มด้วยการยื่นไมค์ให้น้องๆพูดถึงความคาดหวัง เรื่องที่อยากรู้ หรือเล่าที่ไปที่มาของตัวเอง แล้วอวยไมค์ ลุงเปลี่ยนจับคำว่า “ยางพารา” และ ระบบเกษตรแบบการค้า มาขยายความ ได้เล่าถึง เรื่องราวของยางพาราตั้งแต่แรกเริ่มเข้ามาที่ภาคใต้ แล้วขยายมาภาคอีสานภาคเหนือได้อย่างไร และต่อด้วยเรื่องของการสัมปทานปลูกยางในประเทศเพื่อนบ้าน จบด้วย ผลกระทบของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องแผ้วถางป่าจนเลี่ยนเตียนโล่ง ปีนี้พี่น้องเมืองภูวง จะอดข้าวด้วยเหตุการณ์ถางป่าปลูกยางฯ ทำให้กองทัพตั๊กแตนกัดกินข้าวไร่จนผลผลิตหายไปกว่าครึ่ง และในที่สุดบันทึกชมวัดเมืองน่านก็หาเจอ เลยได้อ่านบทกลอนชมวัดให้นิสิตฟังหนึ่งบท ก่อนที่จะโยกย้ายฐาน

นิสิตชุดที่สาม เข้ามา ลุงเปลี่ยนอาสานำเข้าสู่การสนทนาด้วยบทกวีชมวัดในเมืองน่านอีกสามสี่วัด ที่แต่งไว้เป็น ค่าวฮ่ำ ร่ายโบราณ โคลงสี่สุภาพ ตั้งใจจะแสดงให้นิสิตที่มาจากต่างถิ่น หรือนิสิตเมืองน่านเอง ให้รู้จักการ “เข้าถึง”ท้องถิ่น และให้รู้จักการมองอย่างพินิจ มองให้เห็นรายละเอียด ไม่ใช่ไปวัดกราบพระสามทีแล้วก็ได้แค่นั้น (แต่ลืมสรุป ฮ่า ฮ่า ดีที่ ท่านรอง ผอ. อาจารย์ไก่ ช่วยสรุปให้ว่า เป็นการทำงานด้วยสมองสองซีก …) ถึงรอบส่งไมค์จากครูใหญ่ ลุงเปลี่ยนจับประเด็นที่นิสิตหลายคนเล่าว่าอยากกลับคืนถิ่นไปช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังไม่รู้จะเริ่มตรงไหน จึงได้หยิบยกเรื่องราวของ ท่านลาวมาลี ที่ยกให้เป็นบิดาของยางพาราในเมืองลาว ตั้งใจให้น้องๆศึกษารูปแบบวิธีการ (แต่ไม่ได้ให้ดูเรื่องยางพาราที่ส่งเสริม) และรอบสุดท้ายได้เล่าถึงเรื่องที่ประเทศเมืองหนาวเขาทำท่อน้ำร้อนไปอุ่นดินเพื่อปลูกมันฝรั่ง อยากให้เห็นว่าต่างชาติเขาเห็นความสำคัญของการเกษตร

ขอบคุณโอกาสที่ได้พูด ขอบคุณนิสิตที่ตั้งใจฟัง ขอบคุณผู้กำกับรายการที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เยี่ยมยอด และขอบคุณผู้ร่วมทีมครูกลุ่ม๒ ที่เติมเต็มเรื่องราวให้สมบูรณ์…พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ คริ คริ


ไปเที่ยวงานที่ลาวใต้ (๒) ปากเซ เซกอง อัตตะปือ สายัญตะวันรอน

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 25 ตุลาคม 2012 เวลา 1:37 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4296

 

รถของน้องๆจากมหาวิทยาลัยแห่งซาด(มอซอ) ที่ออกเดินทางจากเวียงจันทน์ตั้งแต่ตีห้า แวะมารับผมที่ปากเซเวลาสี่โมงเย็นตรงตามเวลานัด แต่กว่าจะเจอกันได้ก็ขลุกขลักอยู่หลายนาทีทีมงานได้รับแจ้งว่าให้มาแวะรับ”คนไท”แต่ไหงโทรมาคุยแล้วเว้าลาวจ้อยๆทำให้น้องๆไม่แน่ใจเกรงจะรับผิดคน จากนั้นก็รีบห้อตะบึงต่อ ระยะทางยังเหลืออีกสองร้อยกว่ากิโลจึงจะถึงอัตตะปือ

รถแล่นผ่านตัวเมืองปากเซ เด็กนักเรียนนักศึกษากำลังเลิกชั้นเรียน พากันขับขี่รถถีบรถเครื่องกลับบ้านกันเต็มท้องถนน ชุดนักเรียนชายที่แขวงนี้ทั้งเด็กเล็กเด็กโตเขาใส่กางเกงขายาวสีกากี แปลกกว่าที่แขวงอื่น

“จากปากช่องมา เจ้าลืมสัญญา สัญญาเมื่อสายัณห์ …ก่อนเคยรัก ใจรักไม่เปลี่ยนผัน ทำไร่ใกล้กันจนตะวันตกดิน” แอบฮัมเพลงลูกทุ่งของพี่ไท ธนาวุธ เบาๆเมื่อรถวิ่งผ่านตัวเมืองปากช่อง(ปากซอง…น่าจะถูกต้องกว่า) ที่ไม่ใช่อำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมาบ้านเรา แต่เป็นเมืองปากซองแขวงจำปาศักดิ์ เมืองปากซองตั้งอยู่บนภูเพียงบอละเวน หรือ ที่ราบสูงบอละเวน แหล่งผลิตกาแฟลาวลือชื่อ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟดาวเรือง กาแฟสีหนุก และอีกหลายๆยี่ห้อ ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยฝรั่งเศสนำเข้ามาปลูก ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เย็นสบายตลอดปี มีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ อยู่บนระดับความสูงจากน้ำทะเลที่พอเหมาะ และที่สำคัญคือดินสีแดงที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารพืช ทำให้ที่ราบสูงบอละเวนเป็นแหล่งปลูกไม้ผล และพืชผักนานาชนิด แล้วส่งออกไปเลี้ยงชาวลาวทั่งประเทศ ระหว่างทางจะมีรถบรรทุกพืชผักวิ่งสวนเข้าเวียงจันทน์หลายสิบคัน ตามริมถนนมีรถบรรทุกผักกำลังจอดลำเลียงผักขึ้นรถเตรียมเดินทางอีกหลายคัน ฤดูนี้ผักที่กำลังตัดขายได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว แตงร้าน ฟักทอง แตงไท และฟักแม้ว หรือบวบหวาน(ที่ชาวลุ่มน้ำโขงเรียกหมากซู ส่วนคนเจียงใหม่บ้านอ้ายเรียก บะเขือเครือ ส่วนยอดของเจ้าต้นนี้พอเอาไปผัดน้ำมันหอยขึ้นโต๊ะกลับเรียก ชาโยเต้ผัดน้ำมันหอย) ชาวเมืองปากซองขยันทำมาหากิน ประเภทที่ว่าข่วงบ้านไม่ปล่อยให้ว่าง ลานบ้านท่านจะมีค้างบะเขือเครือจนเกือบเต็มพื้นที่ บางบ้านก็ปลูกกาแฟจนชิดตัวเรือนเลยทีเดียว ที่ว่างที่พอจะมีนิดหน่อยก็ใช้เป็นลานตากกาแฟ    

เปรียบกับเมืองไทย เมืองปากซองน่าจะเหมือนกับแถวๆกลางดง  แหล่งปลูกข้าวโพดหวาน และผลไม้ ที่นักเดินทางแวะซื้อกันทุกบ่อยพ้นเขตเมืองปากซองก็โพล้เพล้สิ้นแสงตะวัน

จากปากซอง รถแล่นเข้าเขตแขวงเซกอง อ้ายน้องที่นั่งมาในรถเล่าให้ฟังว่า แขวงนี้มีเพียงสี่เมือง และหนึ่งในนั้นคือเมืองชื่อ “ดากจึ่ง” ก่อนที่จะคิดแปลเตลิดไปกันใหญ่ น้องเขาไขความต่อให้กระจ่างว่า “ดาก”เป็นภาษาชนเผ่า แปลว่าน้ำนั่นเอง หยิบเอาเรื่องที่น้องชายเล่าให้ฟังมาถ่ายทอดต่อ เขาเล่าว่าเมืองชื่อประหลาดนี้เจ้าเมืองเป็นผู้หญิง สาว โสด เป็นชนเผ่าลาวเทิงที่เรียนจบมาจากรัสเซีย เสียดายเที่ยวนี้ไม่มีโอกาสแวะชมโฉมแม่เมืองคนเก่ง

รถแล่นเข้าสู่แสงไฟของเมืองอัตตะปือเวลาใกล้สองทุ่ม(รถตู้ของท้าวเวียงออกจากเวียงจันทน์ตอนตีห้า มาถึงอัตตะปือสองทุ่มใช้เวลาเดินทาง ๑๕ชั่วโมงเต็มๆ) เลี้ยวเข้าจอดที่โรงแรม อาลูนสดใส เจ้าของเป็นชาวหลวงพระบาง เรียนจบหมอแล้วมาเป็นผู้อำนวยการโรงหมอแขวงอัตตะปือที่นี่ ด้านหลังโรงแรมเปิดเป็นคลินิกด้วย พักที่นี่ได้อยู่ใกล้หมอ น่าจะเหมาะสำหรับคนขี้โรค ราคาห้องพักสูงสุดไม่เกิน ๔๐๐บาทมีแอร์มีน้ำอุ่นพร้อม วันนี้มีรับเชิญไปกินพาข้าวแลงที่ร้านชาวเวียดนามชื่อ “เด็กร็อค” ฟังแต่ชื่อนึกว่าเป็นร็อคคาเฟ่ แต่ไม่ใช่ เป็นเพียงร้านขายอาหารธรรมดา ต้มปลา ผัดผัก อร่อยสมกับที่มีคนโฆษณาไว้ แต่ที่ขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมของคนลาวได้แก่เครื่องในหมูต้มแล้วหั่นเป็นคำๆ เห็นชมกันว่าทำได้ไม่มีกลิ่นเหมือนที่ร้านอื่นๆทำกัน

มื้อเช้าก่อนออกไปพื้นที่ทำงาน เจ้าถิ่นพาไปกินเฝอที่ร้านชื่อดังของเมือง ชื่อร้านแสงสุลิจัน คนเยอะจนต้องต่อคิวรอโต๊ะนั่ง ปอเปี๊ยะทอด(แหนมจืน) และปอเปี๊ยะสด(แหนมขาว) ของร้านนี้ผมชวนให้ชิมครับ

อิ่มท้องแล้วออกเดินทางไปเมืองพูวัง ก่อนออกจากเมืองข้ามแม่น้ำเซโดน สะพานโค้งแบบเก่าสวยแปลกตา ที่เชิงสะพานเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของเมือง

เท่านี้แหละครับเมืองอัตตะปือที่ได้เห็น หนึ่งค่ำคืนกับหนึ่งเช้าตรู่

ทิ้งท้ายด้วยคำว่า “อัตตะปือ หรือ อัตปือ” กร่อนมาจากคำว่า อิด-กระ-บือ แปลเป็นลาวว่า “ขี้ควาย” ที่ไปที่มาจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อในตอนหน้า


ไปเที่ยวงานที่ลาวใต้ (๑) รถนอนสายใต้ น้ำใจเถ้าแก่เนี้ย

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 23 ตุลาคม 2012 เวลา 7:52 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3970

 

มีงานที่อัตตะปือ มีงานที่เวียงจันทน์ มีนัดคุณหมอที่ขอนแก่น สามงานติดๆกัน จึงต้องเลือกใช้เส้นทาง กรุงเทพ-นั่งนครชัยแอร์ไปขอนแก่น-นั่งรถบัสข้ามประเทศไปเวียงจันทน์-นั่ง(นอน)รถทัวร์เตียงนอนไปปากเซ-นั่งรถตู้ทีมงานไปอัตตะปือ-นั่งรถต่อไปทำงานที่เมืองพูวงชายขอบลาวติดเขมร-นั่งรถย้อนกลับมาค้างปากเซ-นั่งรถข้ามประเทศผ่านช่องเม็กเข้าอุบล-บินเข้ากรุงเทพฯ

หลังจากรับยาหอบใหญ่จากหมอพร้อมคำขู่อีกครั้งว่ารอบหน้าถ้าไม่ดีขึ้นจะขออนุญาตเพิ่มยาอีกหนึ่งขนานหรือฉีดยาไปเลย(หุ หุ หมอใจดีพี่ท่านก็คงขู่ไปยังงั้นแหละ) นั่งรถเที่ยวเช้าจากขอนแก่นไปถึงเวียงจันทน์ตอนเที่ยง เข้าพักโรงแรมอนุพาราไดซ์สามคืน ทำงานในเวียงจันทน์ลุล่วงกับสองการประชุม อ้าวทีมงานเพิ่งมาบอกว่าขอตังค์ออกสนามวันพรุ่งนี้ เบิกจากไหนก็ไม่ทัน ข้ามกลับไปกดเอทีเอ็มของตัวเองให้ไปก่อนก็ได้(ว่ะ…เงินแสนกว่าบาทกดจากสามบัตรเต็มอัตรา….ธนาคารกสิกรที่เวียงจันทน์และทั่วลาวไม่มีนะครับ…เรื่องมันยาวเขาเล่าๆกันมา…สรุปคือต้องข้ามมากดเงินฝั่งไทย) ทีนี้ก็วางแผนเดินทางไปอัตตะปือ เที่ยวบินมีตอนเจ็ดโมงเช้าไม่ไหวแน่ๆตื่นไม่ทันแหงๆ(ตื่นจริงก็ทันนะ แต่เจ้าของงานดันจะไปไฟท์เดียวกันอีก…ไม่อยากไปครับๆเจ้าๆทั่นๆ) ทีมงานบางส่วนชวนขึ้นรถตู้ไปบอกว่าจะมารับตอนตีสี่ อันนี้ก็ไม่ไหวอีกเหมือนกัน จึงมาลงตัวที่ทางเลือกสุดท้าย คืนขึ้นรถบัสเตียงนอนไปถึงปากเซตอนเช้าแล้วรอขึ้นรถตู้ให้ไปแวะรับต่อไปอัตตะปือ

เปิดดูที่ฝรั่งแบกเป้เที่ยวเขียนกันไว้ เขาก็ว่ารถสภาพดีนอนไปตื่นที่ปากเซเลยทีเดียว ไปแวะจองตั๋วจำปาสักทัวร์ไว้ในราคาหนึ่งแสนเจ็ดสิบพันกีบน้องนางคนขายปี้เลือกที่นั่งเบอร์๕ให้  รถออกที่คิวรถขนส่งสายใต้ ออกจากตัวเมืองไปอีก ๙ กม. นอกจากมีรถไปทั่วทุกแขวงในลาวใต้แล้วยังเห็นมีรถไปหลายเมืองของเวียดนาม ใกล้เวลารถออกแบกเป้ไปแจ้งปี้แล้วก็ขึ้นประจำบ่อนนอน ไอ้หยา…เป็นเตียงนอนขนาดกว้างหนึ่งเมตรเรียงรายกันสองฟากตัวรถช่องทางเดินตรงกลางขนาดเดินได้เรียงเดี่ยว แต่ละเตียงมีหมอนสองใบผ้าห่มสองใบ โว้ว…แสดงว่าต้องนอนเบียดกันสองคน (แล้วผู้ใดจะมาเป็นคู่นอนตรูละเนี่ย) ถอดรองเท้าโดดขึ้นเตียงรอลุ้นดูหน้าคู่นอน อ้าวแล้วรองเท้าจะเอาไว้ตรงไหนล่ะขืนเอาไว้ตรงทางเดินสงสัยถูกเหยียบย่ำเตะกลิ้งไปๆมาแน่ๆ เจ้าหนุ่มเด็กรถมาช่วยจัดการยกรองเท้าวางบนชั้นเก็บของชั้นบน (โธ่ นี่แสดงว่าคุณเกือบได้อยู่ชั้นบนคนอยู่ข้างล่าง) ลองเหยียดหลังวัดความยาวปรากฏว่าพอดีกับตัวเองที่สูงร้อยหกสิบ(แล้วพวกที่ตัวยาวกว่านี้คงต้องงอตัวเวลานอน) งัดกระดานชนวนไฟฟ้ามาเปิด(เล่นเกมส์)รอรอรอ

ชะโงกมองหามุมถ่ายรูป จัดการเก็บรูปไว้อวดชาวบ้าน ได้ยินเสียงเด็กอืออออ้อแอ้อยู่เตียงใกล้ๆ แวะไปเก็บรูปเด็กตามประสาคนเฒ่าบ่มีลูกมีหลาน เจ้าหนูวัยซักขวบนิดๆนั่งอยู่ตรงกลางยิ้มใส่กล้องอย่างกับเด็กที่คุ้ยเคยกับกล้อง นั่งปุ๊กลุ๊กอยู่ตรงกลางระหว่างแม่กับยาย แวะไปเล่นด้วยก็ยิ้มโชว์ฟันสองซี่แบบไม่กลัวคนแปลกหน้า ยายของเจ้าหนูพูดภาษาเวียดกับลูกสาวด้วย(มาแอบเฉลยกันตอนหลังว่ากำลังช่วยกันดูว่าอีตาถือกล้องที่มายืนหยอกหลานตัวเองนั้นใช่คนลาวหรือไม่)

คู่นอน ใกล้เวลารถออกมีเสียงกลุ่มคนเดินคุยกันขึ้นรถมา แว่วบอกกันมาว่าที่นั่งหกถึงสิบ อ้อคู่นอนข้อยมาแล้ว ฮ่า ฮ่า ได้เจอหน้าค่าตากันเสียที อ้ายบ่าววัยใกล้เคียงกับผมในชุดซาฟารีถือถุงซาลาเปาอีกมือหนึ่งถือซาลาเปาที่กัดกินครึ่งลูกเดินเคี้ยวตุ้ยๆมาหยุดตรงเตียง พร้อมยื่นถุงซาลาเปามาชวนกิน ตอบไปว่า “สบายดีอ้าย ขอบใจเด้อ เซินแซบ น้องกินข้าวอิ่มแล้ว” พี่แกรกระโดดขึ้นเตียงกินซาลาเปาต่อ กินพลางชวนคุยกันไป “ขออนุญาตเด้อหัวหน้า เจ้าไปปากเซบ่ ยืมแว่นตาแนข้อยสิตึ่มเงินโทละสับเบิ่งบ่เห็นเลข ข้อยกินเบียร์หมดมื้อ มางานศพอ้ายช่วยเวียกเพิ่นได้สี่มื้อแล้วบ่ได้หลับได้นอน มื้อนี้เผาแล้วสิกลับปากเซ” (โห พี่ท่านจากงานสีดำมา อาบน้ำเปลี่ยนชุดมาป่าวว่ะเนี่ย…ช่างเหอะไม่เป็นไรเราเองก็ไปประชุมมาทั้งวันบ่ได้อาบน้ำเปลี่ยนชุดคือกัน ฮ่า ฮ่า สมน้ำสมเนื้อ) รถออกไม่ทันถึงสามแยกแรก พี่ท่านก็กลายร่างเป็นโรงสี โรงสีที่ปล่อยกลิ่นส่าเหล้าออกมาด้วย ก็พี่แกรไม่ได้นอนมาตั้งสามสี่วัน ทนได้ ทนได้ เดี๋ยวง่วงจัดๆลงหลับไปเองเรา ระหว่างนี้เอาหูฟังแบบเสียบเข้าไปในรูหูมาฟังเพลงจากกระดานชนวนไฟฟ้าไปพลางๆก่อน

รถวิ่งแบบกระฉึกกระชักตามแต่ที่จะตกหลุมเล็กใหญ่ขนาดไหน พอถึงเมืองใหญ่ๆก็เปิดไฟสว่างโร่พร้อมเด็กรถมาตะโกนบอกให้ผู้โดยสารที่จะลงกลางทางรีบเตรียมตัวลง เที่ยงคืนถึงเมืองปากซัน อีกสองชั่วโมงถึงเมืองท่าแขก ตีสี่ถึงเมืองสวรรณเขต ตอนนี้พี่ท่านตื่นมาดื่มน้ำแล้วไปห้องน้ำ ได้โอกาสลงไปห้องน้ำบ้างพี่แกรชี้ทางให้บอกว่าเดินไปทางท้ายรถแล้วมีบันไดลงไป ทุลักทุเลพอใช้กว่าจะเปิดประตูได้ หาที่เปิดไฟยังไงก็ไม่เจอ อาศัยแสงจากมือถือ

รถเสีย ม่อยหลับไปตอนไหนไม่รู้มารู้สึกตัวอีกทีตอนฟ้าสาง อ้ายคู่นอนปลุกรับผ้าเย็น รับมาแล้วนอนต่องัวเงียถามอ้ายว่าสิฮอดแล้วบ่อ้ายบอกว่าอีกร้อยกว่าหลัก แว่วเสียงคนคุยกันว่ารถช้ารถจอดมาสองครั้งแล้ว เออจริงแฮะ รถวิ่งแบบไม่มีความเร่ง ไปต่ออีกหนึ่งชั่วโมงก็จอดสนิท ผู้คนเริ่มทยอยกันลงไปใช้”ห้องน้ำรวม”สองข้างทาง เราลงมั่งดีกว่า เห็นเด็กรถลงไปนอนยาวใต้ท้องรถเคาะกันโป้งๆ สักพักก็เรียกขึ้นรถ คิงส์บัสเคลื่อนตัวเอื่อยๆอีกครั้ง และสุดท้ายก็แวะเข้าจอดที่ปั๊มน้ำมันที่อีกสี่สิบเจ็ดกม.จะฮอดปากเซ โชเฟอร์บอกว่าเดี๋ยวมีรถมารับ พร้อมให้เด็กยกกระเป๋าสัมภาระทุกใบลงกองไว้ที่ข้างรถ

รอ รอ รอ รอไปก็เล่นกับเจ้าตัวเล็กไป ซนใช้ได้วิ่งๆไปหกล้มไปร้องไห้ไปเดี๋ยวก็ยิ้มไป เดินมาป้วนเปี้ยนแถวกระดานชนวนพอเปิดเกมส์ให้เล่นก็วิ่งหนี ระหว่างนั้นบรรดาผู้โดยสารก็ทยอยกันให้ญาติมารับ แต่ไม่มีเสียงบ่นเรื่องรถเสีย บางคนบอกว่าชินแล้ว เสียประจำ ยายของเจ้าตัวเล็กบอกว่าเที่ยวนี้ดวงไม่ดีขาขึ้นเวียงจันทน์ก็เจอรถพัง ขากลับเปลี่ยนบริษัทรถทัวร์แล้วก็ยังไม่วายพังอีก เจ็ดโมงครึ่งรถปิกอัฟสี่ประตูของเถ้าแก่รถทัวร์มาดูอาการ รับแขกไปห้าคนและบอกว่าเดี๋ยวจะไปหาซื้อเฟืองเกียร์มาซ่อมแล้วจะส่งรถมารับคนโดยสารที่เหลือ(หมายความว่าต้องรออีกพักใหญ่ๆ ช้านานเท่าไรขึ้นอยู่กับว่าจะหาเฟืองเจ้ากรรมได้เร็วแค่ไหน)

เถ้าแก้เนี้ย คุณยายของเจ้าตัวเล็กรีบยกหูบอกให้ที่บ้านออกมารับด่วน บอกว่าบ้านอยู่หลักห้า ห่างจากจุดรถทัวร์ตายไปแค่สามสิบกิโลเอง ไม่ถึงยี่สิบนาทีรถสี่ประตูสีแดงสดของเถ้าแก่ก็มารับเจ้าหนูกับแม่และยาย เถ้าแก่เนี้ยเปิดประตูขึ้นนั่งตำแหน่งคนขับพร้อมเอ่ยปากชวนให้ไปด้วย แถมบอกว่าเดี๋ยวไปส่งในเมืองให้ (บ้านเถ้าแก่อยู่ก่อนถึงตัวเมืองห้ากิโล) ยกเป้ขึ้นรถอย่างจำยอมด้วยหมดหนทางและเกรงใจ บอกท่านไปว่าเอาผมไปส่งระหว่างทางก่อนถึงบ้านเพิ่นก็ได้ครับเอาบ้านพักโรงแรมแถวข้างๆทาง เดี๋ยวเย็นๆลูกน้องผมจะแวะรับไปอัตตะปือครับ ได้ยินเถ้าแก่กับเนี้ยคุยกันเรื่องโรงแรมโน้นโรงแรมนี้อยู่ตรงไหน สุดท้ายเถ้าแก่เนี้ยตัดสินใจให้ว่า ไปพักในเมืองดีกว่า หาของกินง่าย ไม่ต้องเกรงใจ งั้นขอแวะอาบน้ำที่บ้าน สั่งงานแล้วจะไปส่ง เจ้าตัวเล็กตื่นมาเล่นด้วยอีกครั้งจึงถอดกำไลกัลปังหาที่ซื้อมาคราวไปกระบี่ให้เจ้าตัวเล็กไปเป็นเครื่องคุ้มครอง

รถแล่นมาถึงร้านของเถ้าแก่ จอดรถแล้วเรียกให้ลงมากินน้ำกินท่า “ไม่ต้องเกรงใจ ไม่ใช่พี่น้องก็ให้คิดว่าเป็นบ้านตัวเอง” เอากับพี่ท่านสิ คำพูดนี้ทำให้ลบความทรงจำด้านลบที่เคยมีต่อพี่น้องชาวไทยเชื้อสายเวียดนามไปจนหมดสิ้น ร้านคำเลิดแสงสว่าง แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นร้านกลึง และมีป้ายใหม่เป็นโพนสีใคออโตร์ ดูโอ่อ่าหรูหรา นอกจากสี่ประตูสีแดงสด(ซึ่งน่าจะเป็นรถลูกชาย เพลงวัยรุ่นเครื่องเสียงกระหมึ่มเกินหรู) แล้วเห็นมีปราโด้จอดอยู่อีกคัน เถ้าแก่เนี้ยหายเข้าไปในบ้าน เถ้าแก่ใหญ่ยกน้ำชามาให้ ไอ้หนุ่มผมยาวลูกชายเถ้าแก่แวะมาถามว่าจะรับกาแฟไหม สักพักเถ้าแก่เนี้ยออกมาเผากระดาษไหว้เจ้า แล้วก็เรียกขึ้นรถ(เถ้าแก่เนี้ยขับเหมือนเคย เถ้าแก่ใหญ่นั่งประกบ) คุยกันมาในรถ มอบนามบัตรให้เถ้าแก่ใหญ่ เผื่อจะมีอะไรรับใช้หากไปเมืองไทย ถามอายุกันเถ้าแก่เนี้ยหัวเราะร่วน บอกว่าอายุเท่ากัน แถมยังสารภาพว่านึกว่าผมอายุหกสิบ (ปาดโท๊ะอาเจ๊นี่ ถ้าไม่ติดที่ใจดี มีเคืองกันนะเนี่ย) แต่ก็ได้แต่โทรศัพท์ไปหาคนรู้จักพรรคพวกกันที่อยู่หงสาสามสี่คน ที่นึกออกว่าเป็นคนทางปากเซ พูดให้ทางโน้นรู้ (และทางเถ้าแก่เนี้ยได้ยินด้วย) ว่ามาปากเซเจอคนใจดีช่วยเหลือชื่อร้านนี้นี้ อย่างน้อยเป็นการบอกทางอ้อมว่าเรารู้สึกขอบคุณจริงๆ

ตกลงเจ้าบ้านใจดีเลือกให้ผมมาพักที่โรงแรมแสงอรุณ โรงแรมนี้ก็เข้าท่าครับเช็คเอ้าท์สี่โมงเย็นคิดราคาแค่ครึ่งเดียว

มาปากเซ เจอแต่คนดีๆ จริงๆครับท่านผู้ชม


ภูเก็ต วีไอพี ขอบคุณไมตรีจาก Hillton Puket Arcadia และทอฝัน

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 14 ตุลาคม 2012 เวลา 1:46 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3238

 
ก่อนที่จะเดินทางกลับเข้าลาว ตามที่ได้หลวมตัวใจอ่อนรับปากรับงานระยะสั้นๆมาอีกสองโครงการ ในวันพรุ่ง ไปเที่ยวงานคราวนี้ได้ไปเยือนถิ่นลาวใต้แถวมหานทีสี่พันดอน ไปเยือนถิ่นชาวกะเบา (นี่เป็นเหตุผลหลักที่รับงานชิ้นนี้)
ก่อนที่จะลืมเลือน ถือโอกาสเขียนถึงเรื่องราวการแปลกวิเวกของตัวกระผมในภูเก็ต เป็นการขอบคุณท่านเจ้าบ้านผู้อารี
น่าจะเป็นเรื่องปกติของหลายผู้คนที่มักมีช่วงเวลา “เข้าเงียบ ปลีกวิเวก แปลกวิเวก…ตามแต่จะเรียกขาน” ตัวข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน ไหนๆก็ซื้อตั๋วมากระบี่แล้ว หลังจากพรรคพวกเดินทางกลับเจียงใหม่ ตัวกระผมเลยวางแผนที่จะแปลกวิเวกอยู่ภูเก็ตต่อสักสองคืน (ความจริงตั้งใจจะเขียนรายงานเจ๋งๆสักฉบับ รวบรวมผลงานห้าปีในหงสาส่งเจ้าของงาน ตามที่ฝาหรั่งเขาเรียกว่า คอมพลีชั่นรีพอร์ท นั่นเอง)
แจ้งต้นสังกัดเรียบร้อย มีวันลาเหลือตั้งยี่สิบวันยื่นครั้งนี้สี่วันไม่มีการทัดทาน แล้วก็เริ่มหาข้อมูลที่พักออนไลน์ พระเจ้าช่วยกล้วยทอดที่พักในภูเก็ตมีมากหลายลายตาเลือกไม่ถูก จัดแจงส่งข้อความปรึกษาท่านเจ้าเกาะฝ่ายพระอัยการ ท่านตอบมาสั้นๆว่า “จัดให้” แล้วถามมาอีกครั้งหนึ่งว่าชอบทะเลหรือในเมือง
เย็นวันที่ ๗ตุลา หลังจากญาติสายเหนือจับเที่ยวบินคืนสู่ล้านนา ครอบครัวเจ้าบ้านอันมีหนูทอฝันคุณปู่คุณย่าคุณพ่อคุณแม่และคุณอานิวก็พาผมมาแวะทานมื้อเย็นที่ร้านบายพลาสซีฟู๊ด ทอฝันสนใจนักร้องบนเวที ในขณะที่ผู้ใหญ่สั่งอาหารกันเต็มโต๊ะ มีทั้งไก่ทอดเกลือ กุ้ง ออส่วน ปลาทอดขมิ้น แกงหน่อไม้ดองกะทิใส่ปลาชิ้นโตๆ กับอีกหลากหลายเมนู
สี่ทุ่มครึ่งคุณปู่คุณย่าพาผมเข้าเมืองภูเก็ตแล้วผ่านเลยไปหาดกะรน เลี้ยวรถเข้าไปส่งที่ล็อบบี้ต้อนรับของ Hillton Puket Arcadia สวัสดีกันแล้วท่านก็กลับส่วนผมทางโรงแรมส่งรถมารับไปตึกเช็คอิน ไกลเข้าไปในสวน พอไปถึงมีผ้าเย็นกับน้ำลิ้นจี่มาเวลคัม น้องนางขอหลักฐานแสดงตนไปทำสำเนา แล้วแนะนำสถานที่พร้อมแจกแผนที่และคีย์การ์ด ชี้ทางให้ลุงว่าซ้ายมือไปไหนขวามือเป็นอะไร ทะเลอยู่ตรงไหน แล้วเรียกหาคนพาไปที่ห้อง เก็บความสงสัยไว้ไม่ได้ถามน้องนางร่างท้วมไปว่าผมต้องจ่ายเท่าไหร่ น้องนางคนงามตอบว่า “ไม่ต้องค่ะท่าน เป็นคอมพลีเมนทารี่รูมจากโอนเนอร์ค่ะ” อ้าวอะไรยังไงเนี่ย ลุงงงงง น้องนางเห็นสีหน้าลุงเลยยกหูโทรไปตรวจสอบกับที่ไหนไม่รู้ แต่ยืนยันมาว่าห้องนี้เป็นคอมพลีเมนทารี่จากคุณสงัดโอนเนอร์ค่ะ เอ้าคอมก็คอม ลุงเคยอ่านแถวขวดน้ำบนห้องพักว่าคอมฯเหมือนกัน อันนั้นแถมฟรีแต่น้ำดื่ม แต่ของลุงวันนี้แถมทั้งห้องทั้งอาหารเช้า …ขอบคุณครับ เข้าห้องไปคุณปู่ทอฝันโทรมาเช็คความเรียบร้อย เรียนท่านไปว่าเรียบทั้งร้อยครับแต่เขาไม่เก็บตังค์ผมอ่ะ
ห้องพักหรูเตียงใหญ่ดี มีโซฟานอนเล่น มีโต๊ะทำงาน แถมถาดผลไม้ ออกไปนอกระเบียงเห็นวิวทะเลยามดึกแสงจากเรือทะเลวิบวับ มีเตียงเล็กให้นั่งเล่นพร้อมหมอนอีกสามใบ ห้องน้ำหรูสมราคามีส่วนอาบน้ำฝักบัวแยกจากอ่างอาบน้ำ (แต่กับคนชอบลั่นดาลประตูห้องน้ำอย่างผมกลับรู้สึกโหวงๆพิกลกับประตูห้องน้ำที่เพียงแค่เลื่อนกระจกไม่มีที่ล็อค)
เช็คสัญญานอินเตอร์เน็ต น้องนางตอบว่าต้องซื้อชั่วโมงละ๒๕๐ ดีใจแบบลิงโลด ได้จ่ายตังค์แล้ววุ้ย ลงมาซื้อ๒๔ชั่วโมงเหมาจ่ายไป ๖๕๐บาท
มื้อเช้าที่ห้องอาหารริมสระ ดีทีเดียวชอบตรงที่มีพนักงานพาไปนั่งโต๊ะไม่ต้องไปเดินเก้ๆกังๆหาที่ว่าง ที่นี่เขาเสริฟกาแฟหรือชาคนละเหยือก ซดจนจุก มีน้ำผลไม้สกัด เจ้าหนุ่มคนสกัดน้ำคอยถามว่าเรดออร์กรีนกินน้ำแอปเปิ้ลแดงหรือเขียว อาหารมีให้เลือกครบทุกโซนทวีป
กินจนจุกแล้วก็กลับมาเขียนงานสองชั่วโมง พนักงานมาสปีคอิงลิชขอทำห้องขอเช็คหลอดไฟ เที่ยงๆออกไปเดินดูฝาหรั่งอาบแดดริมหาด น้ำทะเลฝั่งอันดามันนี่สวยจริงๆ เสียแต่คลื่นออกแรงไปหน่อย เดินเลาะลัดชายหาดไปจนถึงย่านการค้า แวะกินข้าวผัดปูกับน้ำแตงโมหมดไปไม่ถึงสองร้อย (ใครว่าของกินภูเก็ตแพง…ราคาเดียวกับหงสาแหละน่า) อิ่มแล้วเดินกลับมาโรงแรมตั้งใจจะว่ายน้ำ เดินเลือกระหว่างสามสระ เริ่มตั้งแต่สระริมทะเล สระร้านอาหาร(ตรงนี้มีสองสระใหญ่) ไปลงตัวที่สระในสวนชื่อสระเซฟตี้พอลงไปถึงได้รู้ว่าเป็นสระที่ปลอดภัยจริงๆเพราะทำระดับเสมอและน้ำลึกไม่เกินหนึ่งจุดห้าเมตร (ถึงว่าสิทำไมมีแตผู้สูงวัยฟ่ะ แฮะ แฮะ) ขึ้นจากสระแวะเวียนไปซาวน่าพักใหญ่หมดแรงแล้วลากสังขารขึ้นมาแวะซื้ออาเมลิกาโน่เย็น(แก้วละร้อยหกสิบบาท)ก่อนมางีบเอาแรงบนห้องพัก
มื้อเย็นชั่งใจว่าจะเลือกร้านไหนดี ร้านริมสระมีเทศกาลบาร์บีคิวแกะหัวละพันหนึ่ง ร้านอิตาเลี่ยนก็น่ากินแต่อยู่ตรงไหนไม่รู้สงสัยเดินไกล เปลี่ยนใจไปร้านอาหารไทยดีกว่า สั่งหมี่สะปำกับน้ำอะไรสักอย่างเห็นมีใบสะระแหน่เลยชี้ๆไป นางงามในชุดไทยสะสวยยกเวลคัมดริ๊งเป็นน้ำตะไคร้มาให้พร้อมผ้าอุ่นๆ ตามด้วยลาบไก่มาเรียกน้ำย่อยสองช้อน แล้วจึงได้กินอาหารที่สั่ง ก่อนกลับบอกน้องนางว่าลุงขอชำระสดที่นี่ไม่ต้องไปรวมบิล(กลัวคนมาแย่งจ่ายเป็นคอมพลีเม้นท์อีก) ทั้งค่าเสียหายกับทริปหมดไป๗๐๐บาท เอาน่ะคุ้มค่าจานอาหารที่ตกแต่งมาวิจิตร(แถมคนงามมาดูแล)
รุ่งเช้ารับอาหารที่เดิมแล้วเดินเก็บรูปกว่าจะทั่วใช้เวลาโข สถานที่เขากว้างขวาง มีอาคารแยกกันตามหมู่ไม้ มีสระน้ำบึงน้ำมีสนามกอล์ฟมีสนามเทนนิสมีห้องฟิตเนส และมีสปาที่แยกอยู่บนเกาะกลางบึงเป็นสัดส่วน เดินไปติดต่อรถไปสนามบิน น้องนางบอกราคาหนึ่งพันบาทแต่หากเป็นของโรงแรมเริ่มที่พันสี่ร้อยบาท เช็คเอ้าส์พร้อมรอยยิ้มไหว้งามๆและคำว่า”ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ” ก่อนขึ้นรถโรงแรมมาลอ็บบี้นอกต่อรถแท็กซี่ไปสนามบิน  
อีกครั้งหนึ่ง ขอได้ความขอบคุณครับผม ปัจจัยที่พึงใช้จ่ายในครานั้นกระผมได้นำไปจ่ายเป็นค่าตั๋วขี่นกไปทำงานจิตอาสาที่น่าน เด้อครับเด้อ


กระบี่ครั้งที่สาม มาตามฟ้าลิขิต

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 ตุลาคม 2012 เวลา 4:29 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2983

มากระบี่ครั้งที่สาม สารภาพตามตรงว่าพอดีประจวบเหมาะกับที่ปิดงานหงสา มีเวลาเหลวไหลให้กำไรรางวัลตัวเองบ้าง

ประจวบเหมาะกับ มีชาวคณะญาติสายเหนือคิดการมาร่วมกิจกรรม นำทีมโดยพ่อครูสุดจ๊าบส์ของผองชาวเฮ.

ที่สำคัญไปกว่านั้น เจ้าแม่หมอผู้ฝ่ายเหย้าได้ตกปากรับคำว่า “จะไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกับความหวานของผม” อิอิ

บินไปวันที่ ๔ ตุลา เวลาค่ำ แล้วก็ดวลปูนึ่ง

วันที่ ๕ เคลื่อนไหวอยู่ในโรงพยาบาลกระบี่ มีสาวๆพยาบาลมาร่วมรายการให้ระทึกระทวยใจกับความหลังฝังรากลึก

(โอ้วววว…เขียนหวานสำนวนหยดย้อยไปหน่อยมั๊ง ปกติอาว์เปลี่ยนเขียนวิชาก๊านวิชาการนะ นี่แค่ไปอยู่กับเจ้าสำนักสวนป่ามาสองสามคืน ถ่ายทอดวิชาได้ถึงเพียงนี้ทีเดียวเชียวหรือ) ถือโอกาส ลิ้งค์ ให้ตามไปอ่านบันทึกของพ่อครูก็แล้วกัน note เรื่องไปเติมความรักที่กระบี่ พ่อท่านได้บรรยายแบบละเอียดครบถ้วนทั้งภายในภายนอกไว้หมดแล้ว คนอะไรไม่รู้เห็นเงียบๆเรื่อยๆแต่เก็บประเด็นไว้ได้หมดแม้กระทั่งน้าอึ่งกินปูกี่ตัว

หลังจากส่งพระเอกขึ้นเครื่องกลับไปแล้วน่ะสิ การเคลื่อนไหวหลังจากนั้นใคร่ขอรายงานโดยสังเขปให้ท่านครูบาฯ (ที่ครูใหญ่กับอุ้ยสร้อยว่า วาสนาอักเสบ) ได้ทราบว่าพวกเราที่ค้างอยู่กระบี่ อรยนท คิดถึงท่านเพียงไหนนะขอรับ

วันเวลาที่เหลือ หมอเจ๊ผู้ช่ำชองในการทัวร์สุขภาพประจำถิ่น บอกว่าจะพาไปคลองท่อม แล้วลงเรือไปนอนเกาะ เอาละสิ อันตัวข้าพเจ้าก็เป็ดดอนนั่งลุ้นข่าวพายุกูมีกูไม่มา กรมพยากรณ์ท่านว่าอันดามันจะมีคลื่นสองเมตรห้ามออกเรือ สงสัยแสดงออกทางสีหน้าชัดเจนไปหน่อย ชาวเฮฯที่ดูหน้าก็รู้ใจจึงตกลงงดโปรแกรมไปเกาะ แต่รายการทัวร์เสียเหงื่อตามแบบฉบับหมอเจ๊ก็ยังมิได้คลายความสนุก

เริ่มที่การบอกกล่าวไว้ว่า ไปคลองท่อมเดินประมาณเจ็ดกิโล เอาเข้าแล้วสิ ลูกทัวร์ชั้นดีต้องตื่นแต่เช้ามาฟาดข้าวขาหมูตุนเอาแรง แล้วเจ้าถิ่นคือหมอเจ๊กับพี่อี๊ด ก็พาเราไปสระมรกตที่คลองท่อม เดินลัดเลาะชมป่าชมไม้ไปก็บ่นถึงคนวาสนาอักเสบไปว่า หากท่านมาเห็นคงชื่นชอบ และคงช่วยเล่าบรรยายให้เราได้เพิ่มรอยหยักในสมอง เดินจากสระมรกตไปยังสระฤาษี อุ้ยตั้งชื่อลานบุษราคัม ไว้ด้วย เดินต่อไปชมผักกูดเจ็ดสี จนถึงสระกินรี หรือสระผุดที่สวยงาม มีพรายน้ำพร่างผุดตามเสียงปรบมือ หรือเสียงผิวปาก เดินกลับออกมาครูใหญ่กินไอติมแท่งที่สอง อุ้ยกินข้าวโพด

ที่ต่อไปคือ น้ำตกร้อนครับ สายน้ำตกทั้งสายร้อนพอแช่สบาย มีฝรั่งแขกจีนหญิงชายลงนอนแช่เล่นตามแอ่งโตรก หลังจากพาน้ากับครูอารามดูคนนุ่งน้อยชิ้นแช่น้ำตกแล้ว พวกเราก็มานั่งแช่เท้าในน้ำอุ่น

ย้อนกลับมาทางออกได้แวะชมบ่อน้ำพุเค็มในป่าโกงกาง สถานที่เขาสร้างเป็นบ่อให้แช่น้ำเรียงรายกันเจ็ดแปดบ่อ มีบ่อแม่ที่พบคุณป้าพาลูกหลานมาอธิษฐานอาบรักษาโรคเจ็บไข้ อยากมีเวลานานๆได้นอนแช่บ้าง…ฝากไว้ก่อน..เอาไว้กระบี่เที่ยวที่สี่จะแอบไปไม่บอกใคร

เวลาสามโมงบ่าย ถึงเวลาที่เจ้าถิ่นพาแวะร้านไก่กอแระเจ้าอร่อย

แล้วก็พากันไปแวะดูสวนพี่หมอ ทีนี้เราก็รู้พิกัดเซฟเฮ้าส์หมอแล้วว่าอยู่ตรงไหน ช่วยกันไปยืนวาดฝันเติมฝันแบ่งปันความรู้ โดยมีครูอารามเดินท่อมๆไปดูต้นนั้นตันนี้ที่ปลูกไว้ แล้วก็ผันผายเข้าเมือง

ชี้ชวนกันดูเจดีย์สิบสองชั้นแบบจีนที่ศาลเจ้า มัคคุเทศก์สั่งเลี้ยวขวับพาแวะทันที ที่ไหนได้อาโกของหมอท่านเป็นที่ปรึกษาขอศาลเจ้าแห่งนี้นี่เอง บัตรเบ่งไม่เคยหายไปจากชาวเฮฯจริงๆ

แล้วเราชาวดอยก็ได้สัมผัสทะเลเอาตอนโพล้เพล้แสงสวยราวสรวงสวรรค์

นึกๆแล้วก็เสียดายมัวแต่กลัวเจ้ากูมิกูมี แต่กูดันไม่มาเลยไม่ได้นอนเกาะ

เช้าวันถัดมา จะไปสนามบินภูเก็ต อาว์เปลี่ยนสังหรณ์ว่าเจ้าของทัวร์สุขภาพจะต้องพาเดินถ้ำแถวพังงาแน่ๆ แอบเตือนเพื่อนร่วมก๊วนว่าตุนข้าวไว้บ้างก็ดี อิ อิ

แต่ไม่ใช่หรอก หมอเจ๊ไม่ได้พาแวะถ้ำ กลับพาไปไหว้พระที่วัดบางเหรียงแทน แม้จะไม่ใช่ถ้ำ แต่ระยะทางเดินขึ้นบันไดไปไหว้พระธาตุ แล้วก็ไต่ลงไปยังยอดเจ้าแม่กวนอิม จากนั้นก็วกผ่านยอดพระนาคปรกกลับมาขึ้นรถ ก็ทำเอาชาวคณะโดยเฉพาะผู้เขียนต้องทำทีเป็นแวะถ่ายรูปไปหลายจุด เออ้อออ… ผู้อาวุโสท่านใดไปปล่อยไก่จนต้องไถ่โทษตัวเองน้อ…ครูใหญ่น่าจะเฉลย (แอบกระซิบให้พ่อครูฟังหน่อยเด้อ) ฮ่า ฮ่า

แล้วเราก็แวะกินข้าวกลางวันที่บางพัฒน์ โฮมสเตย์ที่มีธนาคารปูม้า ที่นักศึกษาเทคนิคพังงามาพาออกรายการคนพันธุ์อาร์ ได้เห็นวิถีชีวิตคนท้องถิ่น ได้กินอาหารทะเลสดๆ(โปรดสังเกตว่าไม่มีใครสั่งปู) ได้คุยกับปราชญ์ชาวบ้านผู้ก่อตั้งธนาคารปู(แหมมมมมมๆๆๆ อยากให้สองปราชญ์ได้มาเจ๊อะกันจริงๆ ท่านนี้ก็ปลูกป่าชายเลน ตั้งธนาคารปู น่าจะผูกเสี่ยวให้คนของแผ่นดินที่หากยากมากๆ) แม้ท่านจะแวะมาคุยได้ไม่นานแต่ผมถือว่าการเจอท่านครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งคุณค่าของชีวิต นอกเหนือจากการได้มาเห็นอ่าวพังงาตามฝัน ที่ในวัยเด็กแอบอ่านนิยายของน้าสาวเรื่องตะวันขึ้นที่อ่าวพังงา ของเพ็ญแข วงค์สง่า (แม่นบ่น้อ???)

เดินทางต่อมารอท่านอัยการกับคุณแอ๊ด ที่หาดในยางรำลึกถึงงานเฮฯภูเก็ต มะรุมมะตุ้มกอดกันคุยกัน แล้วก็เคลื่อนขบวน พร้อมของฝากคนละถุงเบ้อเร้อเห้อจากครอบครัวทองตัน ของลุงเปลี่ยนไม่มีขนมเลยแม้แต่ชิ้นเดียว จริงจริ๊งครับพี่หมอ มารอแม่หนูทอฝันที่สนามบิน คุณพ่อเนติกำลังพาห้อมาจากสุราษฎร์ โผล่มาให้คุณย่าๆๆๆกอดสมใจอย่างฉิวเฉียด แล้วก็แยกย้ายกลับอย่างอิ่มใจ

จบรายงานทริปกระบี่

เรียนมาเพื่อโปรดทราบ ในโอกาสที่พ่อครูวาสนาอักเสบผู้เยาว์เห็นสมควรให้ท่านซ่อมทริปนี้ให้เต็ม มีตั๋วภูเก็ตกรุงเทพฯอยู่แล้วนี่ขอรับ ไฉนเลยหลังเสร็จภารกิจที่น่าน บินเชียงใหม่ภูเก็ตพร้อมทั่นอัยการก็ได้นะครับ ไปหอมแม่สาวทอฝันแล้วค่อยบินอ้อมกลับกรุงเทพฯครับ


9-11 เมื่อสิบเอ็ดปีก่อน

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 15 กันยายน 2012 เวลา 10:00 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2570

วันที่ ๑๑ กันยายนที่ผ่านมา นั่งดูข่าวทีวีชาวอเมริกาจัดพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์วินาศภัย

จบแล้วเปลี่ยนช่องไปดูหนังวีรบุรุษสงครามข่าวเปอร์เซีย ช่างแตกต่างกันทางมุมมอง แนวคิด และอารมณ์ แต่สุดท้ายฝ่ายที่ถูกกระทำก็ย่อมสูญเสีย

รบกันไป รบกันมา เฮ้อ…มนุษย์นี่หนอ

 

ย้อนกลับไปเมื่อสิบเอ็ดปีก่อน วันที่ ๑๑ เดือน ๙ ท่านกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน จำได้ไหมเอ่ย

ผมจำได้ว่าตัวเองเพิ่งถูกโยกย้ายออกจากสำนักงานใหญ่เมืองกรุง ไปรับตำแหน่งที่มุกดาหาร

ไปแบบฉุกละหุกเมื่อต้นเดือน ทิ้งงานผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสม และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกรมชลประทานไว้ให้พี่น้องรับผิดชอบต่อ พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ก็เลยต้องนั่งรถทัวร์กลับมาช่วยเพื่อนฝูงเก็บกวาดงานที่คงค้าง มาตัดต่อทำบทบรรยายวีดีโอการสำรวจดินเค็มที่ชัยภูมิ

นั่งรถมาจากมุกดาหารเย็นวันศุกร์ ถึงเมืองกรุงเสาร์เช้าแวะเข้าสำนักงานอาบน้ำที่นั่นแล้วก็ลุยงานต่อถึงค่ำ แล้วมาโต๋เต๋หาที่พักแถวบางกะปิ เริ่มเห็นข่าวครั้งแรกในร้านขายทีวี คืนนั้นเช็คอินที่เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ข้างเดอะมอลล์นอนดูข่าวเครื่องบินชนตึกจนถึงค่อนรุ่งทั้งๆที่คืนก่อนหน้านั้นนั่งหลับๆตื่นๆมาในรถทัวร์

นี่ก็กำลังมีเหตุบานปลายประท้วงกันวุ่นวายจากคลิปหนังอเมริกันที่เป็นที่ไม่พอใจของฝ่ายพี่น้องมุสลิม ไม่รู้ว่าจะลุกลามไปถึงไหน เหตุเกิดมาจากพวกที่ชอบทำอะไรไม่นึกถึงหัวใจคนอื่น เอาความคิดเอาฮีต คองวัฒนธรรมของตัวเองมาเป็นบรรทัดฐาน ไม่ให้ความเคารพสิ่งกราบไหว้บูชาของเผ่าพันธุ์อื่น พวกตาน้ำข้าวที่ชอบเอาพระพุทธรูป พุทธศิลป์มาประกอบฉากถ่ายรูปกับนางแบบนุ่งน้อยห่มน้อย หรือเอาองค์พระไปวางในอ่างเลี้ยงปลา ประดับสวนหย่อม น่าจะได้สำนึกบ้าง

สงครามที่เกิดจากเหตุขัดแย้งในศรัทธา เป็นเรื่องที่มีมาเนิ่นนาน สงครามคูเสดสร้างความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินให้กับมวลมนุษยชาติอย่างหลวงหลาย หรือแม้แต่ยุทธภพตงง้วนเภทภัยที่เกิดจากการขัดแย้งรบรากับลัทธิสุริยันจันทราหรือที่ชาวยุทธเรียกว่าพรรคมารก็ปรากฏในนิยายกำลังภายในหลายเรื่อง ล้วนเป็นเภทภัยในยุทธจักร

ขอข้ามผ่านไม่กล่าวถึงเรื่องราวใกล้ตัวในด้ามขวานทอง เห็นทีวีตีข่าวการจับมือชื่นมื่นกันอยู่ขอให้สงบทีเถิด (แต่กรอบข่าวติดๆกันก็ยังมีข่าวการสูญเสียอีกสี่ชีวิตที่ยะลา…ขอร่วมแสดงความเสียใจกับญาติผู้สูญเสีย..)

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙

ขัดแย้งก็ขัดแย้งกันไป

ทั้งมวลนี้สมควรแก้ไขที่ตัวตนภายในของตนเองของแต่ละคน แล้วค่อยขยายหาหมู่พวกในทำนองขั้วดีดึงดูดกัน

 

วันเวลาแห่งยุคพระศรีอารย์คงจะมาถึงวันใดวันหนึ่ง หรือไม่ก็ถึงยุคโลกาวินาศไปเลย

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙

ข่าวการรำลึกถึงครบรอบ ๑๑ปีของกันยาวิปโยคทำให้ได้หยุดมองกลับคืนถึงการเดินทางแห่งชีวิตตนเอง เพราะไปประจวบเหมาะกับการเปลี่ยนแปลงแบบ Metamorphosis ในการทำงานของตนเองอยู่พอดี

ชีวิตการทำงานของผู้เขียนผ่านมาสามสิบปีโดยประมาณ แบ่งงานออกเป็นสามช่วงๆละสิบปีได้พอดิบพอดี

สิบปีแรก เป็นพนักงานประจำทำงานตามกิจวัตร และคำสั่งของหมอ ของแถมที่พิมพ์ไว้ในความทรงจำ ก็ที่ได้เคยได้เอาใจใส่เป็นพิเศษ(เป็นบางครั้ง) กับคนไข้บางราย(แต่บางคราวอย่างไม่รู้สึกตัวอย่างขาดสติก็คงจะมีบ่อย) ย้อนนึกถึงคราวใดก็สุขใจยามนั้น

สิบปีถัดมา เป็นนักวิชาการวาดฝันวิเคราะห์เหตุสร้างแผนในกระดาษ ยึดหลักทฤษฏีวิทยาศาสตร์และสังคมเป็นบ่อนอ้างอิง ความสำเร็จความถูกต้องแม่นยำตามหลักวิชาการนำมาซึ่งความสุขความภาคภูมิใจ(หลายๆงานที่ล้มเหลวก็ลืมๆมันไป อย่าได้นำพามาบั่นทอนความสุข)

ช่วงสิบปีที่สาม คือเริ่มตั้งแต่ กันยาวินาศภัยที่อเมริกาปีนั้น ประจวบกับเป็นเวลาที่ผมกระโจนออกจากเล่มรายงาน ลงไปคลุกคลีตีโมงกับชุมชน(ภาษาหงสาว่า ลงไปกลิ้งเกลือกลีเลือหรือใกล้ชิดติดแทด) ไปนั่งจับเข่าคุย ไปจับมือทำ ไปร่วมเรียนรู้ ตลอดหกปีที่มุกดาหารกับอีกห้าปีที่หงสา   หลายๆประสบการณ์หลายๆเรื่องราวที่ผ่านพบหากเลือกที่จะจำที่จะนำมาทบทวนถอดถอนบทเรียนก็น่าจะเป็นหยดน้ำทิพย์บำรุงใจได้ในวันหน้า

ระยะต่อหน้านี้ นี่ก็น่าจะเข้าสู่ช่วงทางเดินระยะที่สี่แล้ว อย่างไรก็ต้องmetamorphosis ต่อไป แต่ไม่ อาจหวังว่าจะอยู่ถึงการ metamorphosisรอบต่อไป จึงได้วาดฝันไว้ว่าจะได้มีโอกาสคุยกับตัวตนภายในของตนเองได้มากขึ้น ควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้เดือดช้าลงเหมือนกับฝืนน้ำยามเมื่อลมสงบไม่วูบวาบดังเปลวเพลิง หวังว่าจะได้ควบคุมดูแลร่างกายภายนอกให้ได้พักผ่อนซ่อมเสริมให้ภาวะจิตได้สงบ รับงานให้น้อยลง รับงานที่อยากทำ และคบค้าสมาคมกับมวลมิตรในขั้วที่จะนำพากับประกอบกรรมดี

(ย่อหน้าสุดท้ายนี่ บันทึกไว้เตือนตัวเอง ว่าอย่าได้หลงใหลอาลัยกับลาภยศ ตำแหน่ง ที่บรรดาท่านหยิบยื่นเสนอ แม้กระทั่งกับชื่อเสียง หรือกับความภาคภูมิใจในผลงานก็อย่าพึงติดยึด เพราะวันเวลาไม่อาจรอถ้า อย่าได้ใจอ่อนต่อการร้องขอ….ขอพลังสำหรับการ metamorphosis)  

ขอบคุณ 9-11 ที่ทำให้ได้คิด

 

 

 

    

 

 

 

 

 

 


ชุดบันทึกตามเก็บรอยเท้า: ดอยเต่า

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 26 สิงหาคม 2012 เวลา 11:27 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3427

 นักเรียน SPN หนีแอ่วดอยเต่า

(คนบะเก่าเพิ่นว่าตายไปเป็นผีแล้วต้องมาตวยเก็บฮอยตี๋น คนมักเขียนขอถือก๋าละโอกาสเก็บเล่าเป๋นก๋านเก็บฮอยเท้าไว้เหียเมื่อยังคน)

ดอยเต่า เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ต้องตามเก็บรอยเท้า ไปค้นดูรูปเก่าๆเจอรูปหมู่สมัยเป็นนักเรียนผู้ช่วยพยาบาลหนีไปแอ่วดอยเต่า น่าจะเป็นช่วงแรกๆที่เปลี่ยนจากชุดนักเรียนขาสั้นมานุ่งกางเกงขายาว เมื่อซาวปีก่อนใครๆก็ไปแอ่วดอยเต่า รวมกลุ่มกันได้เก้าคนสิบคนเหมารถสองแถวแดงไป แล้วก็ลงเรือต่อไปนั่งกินข้าวบนแพ บ่ายๆนั่งเรือมาขึ้นรถกลับ ตอนหลังๆมาได้ไปเที่ยวอีกครั้งสองครั้งกับหมอพยาบาลที่วอร์ด ไปดอยเต่าต้องแวะออบหลวงเพราะอยู่เส้นทางเดียวกัน  

อันที่จริงผมรู้จักพี่น้องชาวดอยเต่ามาตั้งแต่วัยก่อนเข้าโรงเรียน ตั้งแต่พ่อแม่พาย้ายจากบ้านหนองหล่ม มาอยู่บ้านแพะซึ่งเป็นบ้านจัดสรรให้กับพี่น้องชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนยันฮี มีครอบครัวพ่อน้อยจู แม่ต๋าแก้ว แม่ต๋านิล อ้ายหนานเหล็ง เป็นต้น พี่น้องเล่าว่ามาจากบ้านน้อยมืดก๋า ยามใกล้วันบุญศิลกิ๋นตาน แม่มักชวนพี่น้องบ้านมืดก๋าจุมนี้มาขึ้นมะพร้าวขุดแล้วก็ตั้งกะทะใบบัวคนขนมปาดอันเป็นขนมประจำถิ่นชาวดอยเต่า

ปี ๒๕๐๗ ผมเพิ่งเริ่มตั้งไข่ แต่พี่น้องชาวดอยเต่ากำลังวิตกอกไหม้จากข่าวที่ทางการมาแจ้งว่าน้ำจากเขื่อนจะเอ่อมาท่วมบ้านท่วมเมือง ทางการท่านสร้างนิคมสร้างตนเองหลายแห่ง ชาวบ้านบางคนที่เชื่อก็อพยพโยกย้ายไปตามทางการ แต่ส่วนที่ไม่เชื่อว่าน้ำจะมาท่วมก็ไม่คิดย้าย ด้วยคิดไม่ถึง ไม่เคยรู้เคยเห็นว่าสร้างเขื่อนใต้ลงไปตั้งไกลน้ำที่ไหนจะมาท่วมถึง ด้วยห่วงไร่นาต้นหมากรากไม้วัวควายหมูเห็ดเป็ดไก่ ด้วยอาลัยวัดวาอาราม สมัยนั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารคงไม่ทั่วถึงเหมือนสมัยนี้ เสียงตามสายไม่มี ทีวีไม่ต้องพูดถึง วิทยุทรานซิสเตอร์ก็มีเฉพาะที่บ้านพ่อหลวงกำนันเป็นประเภทที่ใช้ถ่านสามสิบแปดก้อน ทีนี้พอน้ำท่วมมาจริงๆ ขึ้นมาทีละคืบทีละศอก เอาใต้บ่ได้เหนือ บ้านเฮือนบ่ทันได้ม้างได้ขน ได้มาแต่ผ้าติดเนื้อเสื้อติดตั๋ว นี่เป็นเรื่องราวที่แม่อุ้ยดีแม่ของแม่ต๋าแก้วเคยเล่าให้ฟัง

ค่าวน้ำท่วม ที่กวีท่านเผยแพร่ไว้ใน https://sites.google.com/site/pumpanyadoitao/home/4-6-sakha-phasa-laea-wrrnkrrm สะท้อนภาพเหตุการณ์ตอนนั้นได้ชัดแจ้งเลยทีเดียว ขออนุญาตคัดมาเผยแพร่สักหนึ่งตอน ดังนี้

“อกตีบใจ๋ตั๋น พ่องนั่งฮ้องไห้          จักเยี๊ยะจะได  ปี้น้อง

ปู่ป้าน้าอา  ปากั๋นนั่งซ้อง                 ปรึกษากั๋นอั้น   ตางไป

กั๋นดื้ออยู่แต้ น้ำจะท่วมต๋าย              กั๋นว่าย้ายไป กลั๋วต๋ายอดกั้น

แม่งัวตัวควาย  ไฮ่นาเฮือนบ้าน        จักเตปัง  แตกม้าง

วัดวาอาราม ก็จักเป็นฮ้าง           จ๋มอยู่ใต้ วังวน

ก๋าละครั้งนั้น เหมือนมารผจ๋ญ     หัวอกตุ๊กคน เหมือนสายฟ้าต้อง”

ขอขอบคุณ กวีผู้แต่งที่บ่ได้ระบุนาม (น่าจะเป็น อ้ายศรีโหม้ เลิศสุวรรณไพศาล ผู้แต่งค่าวเขื่อนเจ้าน้ำตาที่อยู่ในเวปไซด์เดียวกันนี้)

บทเรียนจากการอพยพโยกย้ายผู้คน และการเผยแพร่ข่าวสาร นี่แสดงว่ามีมาพร้อมๆกับที่ผมเกิดโน่น หากมีการถอดบทเรียนปรับปรุงแก้ไข ทุกวันนี้อะไรๆน่าจะดีขึ้น

สมัยก่อนที่จะมีทางรถไฟเชื่อมต่อเชียงใหม่-กรุงเทพ(รัชกาลที่ ๖ พ ศ.๒๔๖๔) การเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างเมืองล้านนากับบางกอกต้องอาศัยขึ้นล่องตามลำน้ำปิงเป็นเส้นทางสายหลัก  บ้านมืดก๋าเป็นพื้นที่จอดพักเรือตระเตรียมผูกมัดเครื่องของ หาแรงงานท้องถิ่นก่อนที่จะพาเรือล่องผ่าน ๔๙แก่งไปถึงเมืองตาก เคยได้อ่านเรื่องราวการล่องแม่ปิงสมัยนั้นอยู่สองสามเล่มได้แก่ (๑) บันทึกแม่น้ำปิงในวารสารเมืองโบราณ แต่งโดย มล. สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ท่านตามรอยหนังสือพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงถวายพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ (๒)  A Half Century Among Siamese and the Lao by Daniel MeGilvary (๓) ระยะทางไปมณฑลพายัพ โดยพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (พ.ศ. ๒๓๖๕)  และ (๔) โคลงนิราศล่องแก่งแม่ปิง โดยจางวางเอก พระยาบุรุษรัตนราชวัลลภ ที่แต่งไว้ในคราวที่ได้ติดตามเสด็จพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ไปเชียงใหม่ปี๒๔๗๐ แม้นว่าทุกวันนี้ทางน้ำแก่งเกาะทังมวลจมอยู่ใต้ทะเลสาบหน้าเขื่อนไปเสียแล้ว แต่ก็ยังพอมีเรื่องราวร่องรอยให้สืบค้น หากวันไหนจัดระเบียนหนังสือเสร็จท่านใดสนใจหยิบยืมได้ครับ

สำเนียงภาษาของพี่น้องดอยเต่าเป็นที่คุ้นหูต่อมหาชนเมื่อเพลง “ไอ่หนุ่มดอยเต่า” ของวง นกแล โด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง สระไอ พี่น้องจะออกเสียงเป็นสระ ออย ไปตี้หนอย ไปตางดอย ไก่มันกิ๋นก๋อยกิ๋นก๋างโต้งต้อยหยับบ่ด้อยมันแห เป็นคำที่ชาวพื้นถิ่นแม่แตงมักจะพูดหยอกพี่น้องชาวบ้านแพะที่ยกย้ายมาจากบ้านน้อยมืดก๋า

บ่าอ้ายลูกโตนเกิดมาพร้อมยี่ห้อคนขี้โรคป้ออุ้ยแม่ป้าไผๆก่มัดมือผูกแขนเอาเป๋นลูกเป๋นเต้า ยันต์ห้อยเต็มคอ ฝ้ายหมัยมือเต็มสองข้อแขน ตอนยังหน้อยเพิ่นก่ะเลยฮ้องว่า”อ้ายหมัย”กั๋นหมดบ้านหมดเมืองย้อนฝ้ายไหมมือเต๋มแขนเคาะเลาะ ทีนี้ลองนึกดูสิพี่น้อง ว่าอาวอาว์หมู่ฟู่ชาวดอยเต่าจะฮ้องบ่าอ้ายว่าจะได ฮ่า ฮ่า ฮิ้ว


โฉบไปเชียร์ครูบา ที่เชียงใหม่

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 สิงหาคม 2012 เวลา 1:58 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2994

พอได้อ่านบันทึกพ่อครูชวนไปเชียร์(หิ้วปีกเข้ามุม) ในการขึ้นเวทีสัมมนาที่เชียงใหม่ ตัดสินใจจัดการปรับแผนชีวิตให้ลงตัว แล้วก็หิ้วกระเป๋าข้ามชายแดนกลับมาเมืองน่าน เครื่องบินเจ้ากรรมงดบินก็ช่างปะไรมีรถเมล์เขียวให้นั่ง

สนใจงานนี้เพราะ ๑) ตั้งใจมาเป็นขะโยมหิ้วกระเป๋าติดตามพ่อครู ๒) อยากพบเจอพี่น้องประดาสานุศิษย์พ่อครูแซ่เฮฯสายเหนือ ๓) อยากมาฟังว่าบรรดาท่านจะมองชุมชนอาเซียนในอีกยี่สิบปีข้างหน้าอย่างไรบ้าง ๔) เจ้าของงานคือมหาวิทยาลัยราชมงคล ที่สมัยยังเป็นเทคโนฯตีนดอย เจ้าตัวเคยไปเป็นมือปืนรับจ้างสอนวิชาดินอยู่ เลยเหมาเอาว่าเป็นสถาบันที่ผูกพันกันมา และ ๕) มีธุระที่บ้านนิดหน่อย ตูบน้อยที่ไหว้วานพี่น้องมาปรับปรุงเผอิญสื่อสารกันผิดตรงที่ครัวไฟหาย

กะว่าจะไปบ้านแบบนินจาไม่ให้ใครรู้ โทรเรียกแท็กซี่ตามเบอร์ที่ได้จากพรรคพวก พอเจอหน้ากลับกลายเป็นพี่น้องบ้านใกล้ ข่าวการปิ๊กบ้านเจียงใหม่ของบ่าอ้ายเลยแพร่กระจายไปในหมู่ญาติมหาสาขา แถมยังเผลอไปโพสต์ไว้ในเฟสอีก บรรดาเพื่อนฝูงน้องนุ่งลูกหลานอีกหลายสาขาก็พากันรู้ข่าวอีก…ปานดาราคิวทอง

วันแรกไปบ้าน ได้กินน้ำพริกเห็ดหล่มกับยำเห็ดโคน ได้ไปแฮกนาของตัวเองที่ไม่ได้ทำมายี่สิบกว่าปีแล้ว กลับมาพักในเมืองกินข้าวกับญาติกลุ่มที่หนึ่ง ไม่ได้กินโรตีรอคิวยาวเกิน (ซื้อโรคีกรอบมาชิมสามแผ่น) อุ้ยพาครูบาและคณะไปกินข้าวหนมเส้นลืมเรา ฮึ วันนี้ได้กำไรตรงที่ได้กินของโปรดกับได้ไปแฮกนา

วันที่สองครูใหญ่กับครูอารามมารับไปเจอพ่อครูที่คาบข้าวตอน ข้าวคลุกกะปิร้านภูเก็ตลายครามรสชาติสุดยอดเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไปจากที่เคยกินสมัยอยู่คณะเกษตรฯ แล้วครูใหญ่ก็พานั่งรถแดงจากคณะเกษตรฯไปลงหน้าคณะพยาบาลฯ เฮ้อกึดเติงหาสมัยเมาสาวหน้อยคณะเดียวกัน ต้องกะเวลาขึ้นรถแดงสายนี้แหละไปลงสวนดอกยามแลง บ่ายวันนี้ธรรมะจัดสรรให้มีโอกาสเกาะขบวนพ่อครูไปเยี่ยมคณะพยาบาลฯ ไปแบบเป็นทางการครั้งแรกในรอบกี่สิบปีก็ไม่รู้ หลังจากเรียนจบรับใบประกาศฯปี ๒๓ แล้วก็จำได้ว่าปี ๒๙ไปคุยกับอาจารย์ลออเรื่องย้ายคณะครั้งหนึ่ง จากนั้นก็ไม่ได้ไปอีก ยกเว้นตอนปี ๓๐-๓๑ไปดูโต้วาทีเกษตร-พยาบาลอีกสองครั้ง มื้อเย็นหมอเมืองปายพ่อน้องสบายสกาวมาร่วม วันนี้กำไรหลายต่อ ตั้งแต่ได้ไปเยี่ยมคณะฯได้กินร้านภูเก็ตลายคราม ได้นั่งรถแดงระทึกระทวยถึงความหลัง กำไรสุดยอดก็คือได้อภินันทนาการน้ำเมี้ยงหนึ่งกระบอกจากครูอาราม

วันที่สาม มะหลุกขลุกขลิกกับญาติโกเล็กน้อย พาตัวเองมาถึงที่สัมมนาสายๆ เดินกรำฝนเข้าอาคาร ผ่านด่านลงทะเบียนเข้าห้องไปตอนที่พ่อครูร่ายกลอนแนะนำตัวเอง ว่ามาจากเมืองน้ำดำตำน้ำกิน ที่ประชุมหัวเราะกันเกรียวกับกลอนอ้อนหาคนอกหัก โอ๊ย อย่างนี้ไม่ต้องหาคนหิ้วปีกเข้ามุมแล้ว หาคนจัดคิวแฟนๆดีกว่า อิ อิ ป้าดโท๊ะ ครูภูมิปัญญาท่านอื่น ท่านมาแสดงผลงานในบูธ แต่ครูภูมิปัญญารุ่นหนึ่งท่านนี้ไม่ธรรมดา เพราะท่านเป็นครูบา ท่านนั่งเป็นคีย์โน้ตคู่กับคุณชายดิศนัดดา กับหมอซินเธีย กับอาจารย์ฝาหรั่ง นับเป็นเกียรติต่อวงค์ตระกูลแซ่เฮ ไอ้กระผมอยู่ข้างล่างได้ทีแอบอ้างกับเพื่อนฝูงครูบาอาจารย์ใหญ่เลย พ่อผมๆ กำลังเว้าเปิดๆอยู่เทิงเวทีพู้น

แล้วพ่อครูก็กระตุกปัญญาด้วยเรื่อง การเรียนรู้โดยใช้ไอที การระดมมันสมองจากเครือข่ายออนไลน์ การจัดการความรู้ แถมโฆษณาหมู่บ้านโลกนิดหน่อย รอบสองพ่อครูพูดถึงที่ไปที่มาของการเลี้ยงวัวด้วยใบไม้สับเพื่ออุปมามัยให้นักศึกษากระโดดออกจากกรอบ ลุกออกจากเก้าอี้ไปหาความรู้ “รู้ได้อย่างไรว่าวัวจะกินใบไม้ …ก็หักกิ่งไม้มาลองยื่นให้วัวสิถ้ามันกินก็แสดงว่าวัวกิน…อิ อิ”

หมอซินเธีย เล่าถึงการทำงานด้านสุขภาพของท่านกับชาวกระเหรี่ยงที่ชายแดนพม่า-ไทย ปัญหาสุขภาพแม่และเด็ก กลยุทธในการป้องกันและควบคุมโรค และการสร้างโครงข่ายความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ

ดอกเตอร์ฝรั่ง อีกท่าน พูดเรื่องอะไรก็ฟังไม่ทัน มัวแต่ไปสวัสดีท่าน ผอ.เก่า ถึงตั้งใจฟังก็ไม่น่าจะจับประเด็นได้ หูเรื้อภาษาไปนานปี งานนี้มีแจกเครื่องแปลให้คณะอาจารย์กับเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งแต่ส่วนมากจะไม่มีให้ จับคำสำคัญได้ว่า มีพูดถึง Triple bottom line     รอบสองท่านพูดภาษาไทยชัดแจ๋ว คงสงสารนักศึกษาที่ทำตาลอยไปในอากาศ รอบนี้พูดว่าเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมของคนไทยที่ไม่ค่อยเก่ง

คุณชายดิศนัดดา ท่านแปล Triple bottom line ว่า “เจ็บ จน ไม่รู้” รู้สึกว่าท่านจะกัดเจ้าสัว และนายทุนที่ทำให้ภูเขาหัวโล้นเพราะ เอาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาส่งเสริมให้ชาวบ้านเสพติด รอบสองท่านให้แนวทางรอดด้วย 3S Survival = การอยู่ให้รอด Sufficient= อยู่อย่างพอเพียง  Sustainable= อยู่อย่างสมดุลและยืนยง

เหตุการณ์ต่อไปเป็นอย่างไรไม่ทราบ ก่อนที่ผมจะแวปออกจากห้องเห็นคุณชายเดินมาโอบกระซิบอะไรกับพ่อครู ต้องถามเจ้าตัวเองว่ากระซิบกระซาบอะไรกัน

ผมแวะไปให้ครูบุญศรีรัตนังต่อเพลงขลุ่ยปราสาทไหว อุดหนุนหนังสือค่าวซอกับขลุ่ยมาหนึ่งเลา แวะไปไหว้สาพ่อครูขลุ่ยอีกท่านต่อเพลงโศกพม่า อุดหนุนขลุ่ยอีกหนึ่งเลา เดินไปดูลายผ้าทอของแม่ครูอีกสองสามท่าน พอดีกับญาติกาอีกสายหนึ่งโทรมาตามไปแวะกินข้าว(แกล้งแวะกินร้านเจซะให้เข็ด) แวะไปให้สาวพยาบาลฉีดวัคซีน แล้วบึ่งมาท่ารถ มาถึงน่านสี่ทุ่มครับ

จบข่าว



Main: 0.4648380279541 sec
Sidebar: 0.035454988479614 sec