รับลมหนาวที่ลาวเหนือ (๑) ทวนกระแสน้ำของ จากท่าซ่วงไปปากแบง

โดย silt เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 เวลา 1:25 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2480

ปฐมบทของบันทึกการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์ รอบนี้ของผมเริ่มต้นที่บ้านท่าซ่วง เมืองหงสา ไปขึ้นฝั่งที่บ้านปากแบงเมืองฮุน แขวงอุดมไซครับ
เช้าวันเดินทางร้านเจ้าประจำที่หงสาเสริฟข้าวเหนียวกับไส้อั่ว แทนที่จะเป็นข้าวเหนียวกับไข่ดาว เหตุเพราะระยะนี้หงสาขาดแคลนไข่นั่นเอง โรคไข้หวัดสัตว์ปีกระบาด ทางเมืองเขาจึงห้ามการซื้อขายไข่ในตลาด แต่ไม่ว่าจะเป็นไส้อั่วหรือไข่ดาวก็ทำให้ท้องอิ่มก่อนการเดินทางไกลได้
ใช่ครับผมจะท่องเที่ยวไปรับลมหนาวในลาวเหนือ ตามไปเที่ยวด้วยกันนะครับ
รถของโครงการมารับที่บ้านพักเวลา ๗:๓๐น. ค่อยๆพาแล่นฝ่าม่านหมอกหนาบนเส้นทางที่คดโค้งราว ๓๕ กม. ใช้เวลาเดินทางเกือบหนึ่งชั่วโมง ก็พาผมมาถึงบ้านท่าซ่วงริมฝั่งแม่น้ำโขง จุดเริ่มต้นของการเดินทางไปยังเมืองสิงจุดมุ่งหมายของผมในครั้งนี้ บ้านท่าซ่วงเคยเป็นประตูออกสู่โลกภายนอกเพียงแห่งเดียวของเมืองหงสามาช้านาน จนกระทั่งเมื่อมีการตัดถนนจากเมืองหงสา เชื่อมกับชายแดนไทย และแขวงหลวงพระบาง ปัจจุบันถึงแม้นจะมีถนนแล้ว แต่ความนิยมเดินทางด้วยเรือตามแม่น้ำโขงของพี่น้องชาวหงสาก็ไม่ได้ลดน้อยลงแต่ประการใด จากท่าซ่วงหากล่องไปตามน้ำสามารถไปได้ถึงหลวงพระบาง ท่าเดื่อ(ไชยบุรี) ปากลาย และเวียงจันทน์ ถ้าหากทวนน้ำขึ้นไปจะเป็น เมืองปากแบง ห้วยทราย(แขวงบ่อแก้ว) จนถึงเชียงรุ้งได้ เรือโดยสารมีตั้งแต่ขนาดร้อยกว่าที่นั่งไปจนถึงเรือเร็วประเภทเช่าเหมาลำ ผมถามถึงเรือไปปากแบง ชาวเรือบอกบอกว่ามีหลายประเภทหลายราคา หากจะรอเรือเร็วที่ออกตามคิวค่าโดยสารคนละ ๓๕ พันกีบแต่อาจได้ออกตอนสายๆ หรือหากจะเหมาเรือเร็วไปเลยเขาคิดค่าเหมาเรือ ๒แสน๕หมื่นกีบ(๑พันบาท) ระยะทางไม่กี่สิบกม.ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงครึ่งชั่วโมง กำลังชั่งใจว่าจะเอาอย่างไหนดี พอดีมีเจ้าของเรือใหญ่ขนาดหนึ่ง๘๐ที่นั่ง เสนอว่าพอดีเรือจะตีขึ้นไปรับแขกฝรั่งที่ห้วยทรายหากให้เขา ๑แสน๕หมื่นเขาจะอาสาไปส่ง ให้ เลยรีบตกลงไปกับเจ้านี้

นั่งเรือใหญ่ราวกับเป็นเศรษฐีค่อยๆทิ้งท่าซ่วงไว้เบื้องหลัง เรือเขามีเบาะนั่งเหมือนรถทัวร์ มีห้องน้ำห้องท่าสะอาดสะอ้าน ครอบครัวเจ้าของเรือมีพ่อแม่และลูกชายวัยรุ่นสองคน คุยกับอ้ายคนพ่อเล่าว่า ปกติก็วิ่งคิวหลวงพระบางห้วยทราย แต่ฤดูท่องเที่ยวอย่างนี้มักมีงานเหมาเข้ามาบ่อย ดังเช่นคราวนี้ที่บริษัททัวร์เช่าเหมาให้ขึ้นไปรับนักท่องเที่ยวชาวฝรั่ง ที่เมืองห้วยทราย(ตรงข้ามกับเชียงแสน) สองคน ขาขึ้นเขาค่อยๆขึ้นมาเพราะไม่อยากสิ้นเปลืองน้ำมันเลยต้องแวะนอนรายทางสองคืน ส่วนขาล่องจะแวะค้างคืนที่ปากแบงเพียงคืนเดียว
แอบถามราคาค่าเหมาเรือแต่ละเที่ยว อ้ายเขาบอกแต่เพียงว่าก็พอเหลือเก็บ ก็แหงละสิเที่ยวนี้ได้จากผมไปอีกกว่าหกร้อยบาท เรือผ่านบ้านปากงึมอ้ายบอกว่าขอแวะเอาของที่บ้านญาติหน่อย ผมรีบสนับสนุน เพราะอยากมาดูบ้านปากงึมมานานแล้วครั้งนี้ถือเป็นโอกาส ปากงึมคือบริเวณที่แม่น้ำงึมไหลลงสู่แม่น้ำโขง ผมรู้สึกคุ้นเคยกับปากงึมเพราะว่า น้ำแก่นอันเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านเมืองหงสาแล้วไหลไปรวมกับน้ำงึมก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขง แวะทักทายปากงึมหน่อยก็ดีเหมือนกัน เผื่อจะเจอกับสายน้ำแก่นชาวหงสาบ้านเดียวกัน บ้านปากงึมวันนี้มีเรือแพมาจอดหลายลำ มองไปบนตลิ่ง อ้อเขามีตลาดนัดริมโขงนั่นเอง

จากปากงึมเรือลำใหญ่แต่มีผู้โดยสารเพียงคนเดียวค่อยๆแล่นทวนน้ำขึ้นไปปากแบง  ใจผมเริ่มร้อนนิดๆ เกรงจะไม่ทันรถเที่ยวเที่ยงวัน(เที่ยวสุดท้ายที่จะไปอุดมไชย) แต่ก็ไม่กล้าบอกอ้ายเพิ่นเร่งเครื่อง
ก็ลาวกับไทยผลิตน้ำมันไม่ได้เหมือนกันนี่ครับ เขาประหยัดน้ำมันก็ควรสนับสนุนเขา ยิ่งตอนนี้เจ้าลูกชายมาถือพังงาบังคับเรือเปลี่ยนให้พ่อไปกินข้าว ยิ่งใจเย็นอ่านร่องน้ำทุกร่อง ช่างเป็นวัยรุ่นที่ไม่ชอบความเร็วเหมือนวัยโจ๋ซิ่งแมงกะไซด์บ้านเราเลยพ่อคุณเอ๋ย
พี่อ้ายคนพ่อเสร็จจากกินข้าวก็มานั่งดูดยาคุยกับผม พอถามถึงการเปลี่ยนแปลงของน้ำโขงในระยะหลังจากที่มีการปิดเขื่อนทางต้นน้ำ พี่อ้ายในฐานะที่ใช้ชีวิตขึ้นล่องกินนอนในแม่น้ำโขงมากกว่าอยู่บนบกเล่าให้ฟังว่า “น้ำโขงเดี๋ยวนี้มันไม่มีฤดูแล้ว” “แต่ก่อนพอถึงหน้าน้ำมากน้ำก็มา พอถึงเวลาน้ำน้อยน้ำก็ลด
แต่ละปีจะเหมือนกันตลอด” “แต่เดี๋ยวนี้เขานึกอยากปล่อยน้ำมายามใดเขาก็ปล่อย อาชีพปลูกผักปลูกถั่วสิสงแถวชายหาด ถูกน้ำท่วมเสียหาย เดือดร้อนกันตลอดทุกบ้านทุกคุ้ม แวะจอดท่าไหนก็มีแต่เสียงบ่น”
นี่เป็นเสียงสะท้อนจากพยานที่รู้เห็นความเป็นไปของ “แม่ของ” ถึงแม้นจะเป็นเสียงเล็กๆที่ขาดสถิติ ไร้หลักฐานยืนยัน แต่ใจผมก็โอนเอียงไปทางเชื่อ เชื่อเพราะอ้ายเพิ่นอยู่กับแม่น้ำโขงมาตลอด เชื่อในสิ่งที่อ้ายพบเห็น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงหนึ่งเดียว ในหลายร้อยพันตัวอย่าง ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้แสดงถึงผลที่ตามมาจากสิ่งที่มวลมนุษยชาติได้กระทำต่อธรรมชาติ ซึ่งมีวิถีของธรรมชาติ แล้วผลที่ตามมาก็คือความเดือดร้อนของคนเล็กๆทางปลายเหตุ
เมื่อมวลมนุษยชาติพากันไปปรับเปลี่ยนธรรมชาติ แล้วมวลมนุษย์ก็ไปกล่าวโทษว่าธรรมชาติวิปริต แปรปรวน ไม่ว่าจะเป็น ฝนฟ้าที่ตกผิดฤดูกาล ฝนมากน้ำท่วม ฝนน้อยน้ำแล้ง พายุลูกเห็บ พายุฤดูร้อน ไฟป่า ทอร์นาโด ดินถล่ม และนานาวิบัติภัยธรรมชาติ ที่สร้างความเดือดร้อนให้มวลมนุษย์
โธ่เอ๋ย…มนุษย์
ไม่รู้จักโทษตัวเอง

« « Prev : บันทึกแฉตัวเอง คุณ เปลี่ยนศรี(สี)

Next : ขีดเขียนวันซึมเศร้า » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14804601669312 sec
Sidebar: 0.014641046524048 sec