แม้นว่า ที่นี่ไม่มีพลุสีสวย
เสียงฆ้องกลองฉิ่งฉาบจังหวะเร้า….
เรียกร้องให้ผู้คน ออกมารวมกันที่ลานวัด
เรือไฟกาบกล้วยลำเขื่องตั้งสง่า
ชาวพาราหน้าเปื้อนยิ้ม…. ถือกระทง..ถือธูปเทียน
จุดบูชารายเรียงตามกำแพงวัด บนฐานเจดีย์ วับแวม
เจ้าศรัทธาผู้มีทรัพย์..ถวาย “บอกไฟดอก” เป็นพุทธบูชา
สรวลเสเฮฮายามบั้งไฟขึ้น…รื่นระบำรำฟ้อนกันทั่วหน้า
นี่คือยามค่ำคืนวันออกพรรษา..ไหลเรือไฟที่หงสา
แต่ที่โน่นมีพลุสีสวย
มีแสงสีสวยงามมีเครื่องเสียงเปิดเพลงไพเราะ
มีการแสดงนาฏศิลป์ประกอบแสงสีที่สวยงาม (เกินความเป็นพื้นบ้าน)
ผู้คนล้นหลามแออัด
เขามีถ่ายทอดออกโทรภาพไปทั่วฟ้าเมืองไทย
แล้วเขาก็กั้นพื้นที่ส่วนที่ดีที่สุดเอาไว้
ตั้งโต๊ะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีเงินมีทองซื้อบัตรมานั่งชมอย่างสบาย
ปล่อยให้ผู้ไม่มีบัตรแออัดกระยื้อกระแย่งชม…
ปล่อยให้ผมเห็นแต่ “ง่อน = ท้ายทอย” ผู้คนจนไม่เห็นอะไร
เปรียบเทียบให้ดูบรรยากาศการจัดงานของชาวบ้านจริงๆที่เมืองหงสา ที่ไม่มีการปรุงแต่งใดๆครับ
เปรียบเทียบกับบรรยากาศการจัดงานเทศการเชิงพาณิชย์ โปรโมทเพื่อการท่องเที่ยวของบ้านเรา
ที่มักมองข้ามการนึกถึงหัวอกคนท้องที่
แต่คิดในแง่ดี จัดแบบเราก็มีดีเนาะ….เขาว่าช่วยให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น เงินไหลเข้าบ้านเข้าเมือง…..อันนี้ก็ไม่ว่ากัน
เปรียบเทียบให้ดูเฉยๆหรอก
« « Prev : ท้องทุ่ง ท้องฟ้า ห่าฝน ที่เสียมเรียบ
Next : ผุกร่อนไปตามกาลเวลา » »
3 ความคิดเห็น
เพิ่งทราบว่าหงสามีประเพณีไหลเรือไฟด้วย !!!
แต่ชอบบอกไฟดอกที่ไม่แพรวพราวเหมือนพลุหลากสีแต่สวย ซื่อใสตรงไปตรงมาดีน่ะค่ะ
พี่เปลี่ยนมีภาพเรือกาบกล้วยของเค้ามั้ยคะ อยากเห็นจัง (ทางโน้นมีบั้งไฟพญานาคมั้ยคะ)
เห็นพลุแบบนี้นึกถึงตอนเด็กๆ ที่หมู่บ้านจะมีน้าสำลีคนข้างบ้านเป็นผู้เก่งในเรื่องนี้ จะทำเอาไปจุดที่วัดกัน ในปากแกจักินหมาก และชอบแหย่เด็กๆเล่น เด็กๆชอบไปรุมดูผู้ใหญ่ทำพลุแบบนี้ จึงเป็นการเรียนรู้ไปในตัว
สมัยเด็กๆ เจียงใหม่จะได้เล่นบอกไฟน้ำต้น…กับปล่อยโกมลอย…ก็ต้องรอวันเป็งเดือนยี่
ตอนนี้บอกไฟบ่าค่อยมีแล้ว…งานไหนๆ ก็จะมีพลุ มีโกมลอย…บ่าเดียวคนปล่อยโกมลอยกั๋นเจื่อ…คงเพราะคนยุคนี้คงทุกข์เคราะห์นักแต้ๆ บ่าว่าวันสำคัญอะหยังบ่าว่าวันดี วันฮ้าย…ก่อต้องปล่อยโกมลอย แถมจุดบอกไฟเสียง..จี๊ดบุ่มๆ …เหมือนระเบิดลง..อย่างกับว่าจะปล่อยหื้อทุกข์หนักทุกข์หนามันไปพ้นๆ….อย่างนั้น….(อุ้ยจ่ม)